11 ธันวาคม 2021
13 K

The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ตอบคำถามเราภายใน 10 วินาที เมืองเหนือสุดในสยามเมืองนี้คือเมืองใด

หลายคนอาจตอบได้ทันใด แต่หลายคนอาจต้องใช้เวลาคิดสักกะนิด สักกะหน่อย เราจึงขอเฉลยให้ผู้ที่ไม่รู้มาก่อนหรือไม่แน่ใจว่า เมืองเหนือสุดในสยามเมืองยิ้มนี้ไซร้ คือเชียงรายอันมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า 

“เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง” 

แต่แท้จริงแล้ว นอกเหนือจากคำขวัญประจำจังหวัด เมืองเหนือสุดในสยามแห่งนี้ยังมีเรื่องราวให้ค้นหาอีกหลายมิติ ทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่มท้องถิ่นที่คัดสรรมาแล้วว่าดี ที่พักพิงอิงแอบที่จะทำให้สัมผัสวัฒนธรรมของเมืองนั้นๆ อย่างลงลึกถึงราก กิจกรรมสุดสนุกทั้งขึ้นเขาลงห้วยที่รับรองว่าจะพาไปรู้จักเชียงรายอีกมุมหนึ่ง และสถานที่เรียนรู้ระบบนิเวศและภูมิปัญญาล้านนาจากนักพัฒนาที่อยากให้เชียงรายอยู่ยั้งยืนยง

แอ่วเหนือปีนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนไปสัมผัสเจียงฮายอีกมุมกัน

01

ร้านอาหารออร์แกนิกที่ใช้วัตถุดิบดีๆ จากภูชี้ฟ้า

พะลัง

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ภาพพิมพ์วงกลมจากแครอทตรงหน้า สื่อถึงดวงอาทิตย์อันเป็นแหล่งพลังงานที่ทำให้พืชผักเติบโต เพื่อส่งต่อพลังนั้นให้ร่างกายมนุษย์อีกทอดหนึ่ง-นี่คือโลโก้ของร้านอาหารออร์แกนิกนาม ‘พะลัง’ ที่เกิดขึ้นจากการรวมพลังของคนหลายอายุ หลากความสามารถ ผู้เชื่อว่าอาหารที่ดีคืออาหารที่อร่อยแถมยังต้องปลอดพิษ

เริ่มจาก เชฟก้อง-ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร จะหยิบวัตถุดิบจากฟาร์มออร์แกนิกบนภูชี้ฟ้าของน้าสาวเจ้าของ ป.โอ่ง ร้านขายส่งผักปลอดภัยและ Farm to Table อย่าง จอย-จิรภัสร เจียรรุ่งแสง, เจี๊ยบ-พรรณสุนันท์ พินิจพิชิตกุล และ จิ๊บ-จิราภา เจียรรุ่งแสง มารังสรรค์เป็นอาหารและเครื่องดื่มดีๆ หลากหลายแบบ

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ไม่ว่าจะน้ำสกัดเย็นและสมูทตี้ที่ทั้งสดชื่น อร่อย และสะอาด เพราะก่อนนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเหล่านี้ เชฟก้องนำวัตถุดิบที่มีไปล้างด้วยน้ำ RO (Reverse Osmosis Water) เพื่อชะล้างแบคทีเรียตกค้าง ก่อนนำไปสกัดด้วยเครื่องสกัดเย็นที่ยังคงเอนไซม์ดีไว้ได้ หรือนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นสุญญากาศ ทำให้เนื้อสมูทตี้เนียนได้ใจ นอกจากนั้น ยังมีเมนู Grab & Go ซึ่งรับรองว่าไม่จำเจและอุดมด้วยผัก 5 สีตลอดปี 

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ทั้งหมดนี้ปรุงขึ้นด้วยใจที่อยากส่งมอบสุขภาพดีๆ ให้ผู้คนตามที่เชฟก้องอธิบายว่า 

“มนุษย์เราตามใจปากกันจนเกิดโรคเต็มไปหมด เราเลยไม่อยากตามใจมนุษย์ทุกอย่าง ขอเชื่อใจในธรรมชาติ ให้เขาคัดเลือกสิ่งที่เราควรทานในแต่ละฤดูกาล แล้วใช้ปัญญาเท่าที่เรามีอยู่ ทำให้กลายเป็นเมนูที่อร่อย”

แม้พะลังจะเป็นร้านขนาดย่อม บรรจุคนได้ไม่กี่ที่นั่ง แต่พะลังนั้นทรงพลังมากกว่านั้น เพราะมุมหนึ่งของร้านมีสินค้าอินทรีย์ของคนในชุมชนวางขายให้เลือกสรร ซึ่งทุกครั้งที่เราซื้อ เงินจะส่งตรงถึงผู้ผลิตโดยไม่ถูกหักค่าเชลฟ์ ทั้งกระบวนการเพาะปลูกยังเป็นมิตรกับเกษตรกร และเมื่อนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาแปรรูปเป็นอาหาร ขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการยังถูกนำไปแปรเป็นปุ๋ยอีกต่อหนึ่ง

ที่ตั้ง : 640/5 ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 07.30 – 16.00 น. 

โทรศัพท์ : 09 0325 7006 

Facebook : Palang : พะลัง

02

คาเฟ่ชาออร์แกนิกของครอบครัวที่ปลูกชามากว่า 50 ปี

Suwirun TeaFé

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร
พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

บ้านไม้สองชั้นทรงสวยตรงหน้า หาใช่ที่พักหรือบ้านคนท้องถิ่น แต่คือ ‘ทีเฟ่’ หรือร้านชาของไร่ชา ‘สุวิรุฬห์’ ซึ่งยืนหนึ่งเรื่องชากว่า 50 ปี ตั้งแต่การเป็นไร่ชาในที่ราบสูงแทนที่จะเป็นไร่ชาบนดอยทั่วไป เป็นไร่ชาออร์แกนิกแห่งแรกในประเทศไทยและจังหวัดเชียงราย และเป็นไร่ชาที่หันมาทำร้านชาร้านแรกในเมืองชาเหนือสุดในสยามเมืองนี้

เหมียว-จารุวรรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ คือทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวทำชา เธอเล่าให้เราฟังว่า ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อากงและอาม่าเดินเท้ามาจากเมืองชาอย่างคุนหมิง ประเทศจีน แล้วมาตั้งรกรากบนดอยในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก่อนส่งต่อความรู้ให้รุ่นป๊าของเหมียว ซึ่งค่อยๆ ทำชาจากไม่กี่ไร่จนกว้างขวางกว่า 250 ไร่ในปัจจุบัน ทั้งมีร้านขายชาที่เปิดโอกาสให้คนมาชิมชาฟรีก่อนเลือกซื้อชาหลากชนิดในย่านธนาลัย ใจกลางเมืองเชียงราย 

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

เมื่อถึงรุ่นของเหมียว เธอขยายบริการชาของครอบครัวให้กว้างขวางกว่าเก่า เพื่อให้ชาและคนรุ่นใหม่เดินไปด้วยกันได้ เริ่มจากนำชาดำที่มีมาทำเป็นชานมไข่มุก ที่รับรองว่าหอมชากว่าร้านไหนๆ ทั้งยังปรับปรุงบ้านไม้เก่า แลนด์มาร์กเมืองเชียงรายให้กลายเป็นร้านชา 2 ชั้น ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าล้านนาเกือบทั้งสิ้น 

ชั้นล่างคือโซนทีเฟ่หรือคาเฟ่ ขายชาและขนมโฮมเมดจากชาและสมุนไพร เช่น คาโมมายล์ฮันนี่มูส ตัดเลี่ยนด้วยชาเขียวซิกเนเจอร์ ชีสพายมัทฉะจับคู่กับชาอู่หลงหอมหมื่นลี้ และครัวซองต์เนยสดทานคู่ทีปูชีโน่หอมมัน 

หากเดินขึ้นบันไดไปยลชั้นสอง เราจะพบกับโซนขายชาของสุวิรุฬห์หลากชนิด ทั้งเซ็ตชาออริจินอลอย่างชาอู่หลง ชาเขียว ชาจาเป่าหลง ฯลฯ เซ็ตทินนี่ชา ซึ่งเหมียวหยิบสมุนไพรไทยในไร่ออร์แกนิกมาผสานกับชา เพื่อนำเสนอความเป็นไทย เช่น ชาแดงกระเจี๊ยบ ชาดำใบเตย ฯลฯ ยังไม่นับรวมชาดอกไม้และชาอีกหลายเซ็ตที่เธอคิดค้นขึ้น จะซื้อไปชงกับเซ็ตชาที่บ้านก็ได้ หรือซื้อคู่กับอุปกรณ์ชงชาของสุวิรุฬห์ก็เข้าที 

ทีเด็ดอีกข้อของที่นี่คือ เธอยังคงคอนเซ็ปต์ร้านชาดั้งเดิมที่ให้คนชิมชาก่อนเลือกซื้อกลับบ้านได้ฟรีๆ เพราะอยากให้ทุกคนได้ชาที่ทั้งดีต่อสุขภาพจริงๆ และผ่อนคลายได้ทั้งวัน

ที่ตั้ง : 175 ถนนธนาลัย ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 18.30 น. วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.30 น.

โทรศัพท์ : 0 5371 2007

Facebook : Suwirun TeaFé

03

ร้านอาหารจากวัตถุดิบปลอดภัยในผืนนาเขียวขจี

บ้านปลายนาเวียงกาหลง 

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

เมื่อมองจากตรงที่เรายืนอยู่ จะเห็นนาข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวหอมมะลิปลูกเรียงรายไกลสุดลุกหูลูกตา แต่หากขยับเข้ามาอีกหน่อย จะพบแปลงผักผสมผสานและสัตว์นานา ที่นี่คือ ‘บ้านปลายนาเวียงกาหลง’ ของ แบงค์-กษิติ์เดช วิเทศวิทยานุศาสตร์ อดีตช่างภาพที่หวังให้บ้านปลายนาแห่งนี้เป็นมากกว่าร้านอาหาร

แบงค์ตั้งต้นให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมที คุณพ่ออู๊ด-ราเชนทร์ วิเทศวิทยานุศาสตร์ เป็นวิศวกรอยู่ที่ภูเก็ต แต่เมื่อถึงวัยเกษียณ คุณพ่อจึงกลับมาซื้อที่นาในจังหวัดเชียงราย แต่ยังใกล้บ้านเกิดอย่างเชียงใหม่ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์ด้วยตนเอง ด้วยแบงค์มีประสบการณ์การทำร้านอาหารที่เกาะพีพี จังหวัดภูเก็ตอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าผลผลิตที่พ่อตั้งใจปลูกมีจำนวนมากพอจะต่อยอด เขาและครอบครัวจึงตัดสินใจเปิดร้านอาหารขึ้นที่สุดปลายนาของพ่อ โดยมีพี่สาวอย่าง นัท-ณัฐชลี วิเทศวิทยานุศาสตร์ รังสรรค์เมนูอาหาร และมีคุณพ่ออู๊ดออกแบบอาคารไม้แห่งนี้

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

พื้นที่ภายในร้านแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือส่วนนาข้าวที่ครอบครัวบ้านปลายนาเวียงกาหลงปลูกข้าวแบบประณีต คือแทนที่จะหว่านเมล็ดและใช้เครื่องจักร พวกเขาเลือกขึงเชือกเป็นเเนวให้มีระยะห่างระหว่างต้นข้าว 40 x 40 เซนติเมตร ซึ่งมากกว่าการปลูกแบบทั่วไป เพื่อให้เหล่ารวงข้าวมีพื้นที่งอกงามจนพร้อมเก็บเกี่ยวและกำจัดวัชพืชได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ทั้งยังมีสวนผักและโซนเลี้ยงสัตว์ตามทฤษฎีเกษตรผสมผสาน หมุนเวียนมูลสัตว์ต่างๆ มาปรุงปุ๋ยเอง ส่วนพื้นที่สุดท้ายคือพื้นที่ร้านอาหาร เสิร์ฟอาหารอร่อยจากวัตถุดิบอินทรีย์เก็บสดๆ

เมนูแนะนำที่ใครมาถึงก็ต้องลองให้ได้ คือสลัดบ้านปลายนา ที่อุดมด้วยพืชผักปลอดสารพิษตามฤดูกาล เช่น เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก โตเหมี่ยว ลูกฟิก ลูกหม่อน สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ ผสมผสานกับธัญพืชกรุบกรอบเคี้ยวเพลิน แล้วประดับให้งามน่าทานด้วยดอกไม้กินได้ ทานคู่กับน้ำสลัดงาหรือบัลซามิก อีกเมนูคือต้มข่าไก่ พิเศษกว่าที่ไหนๆ เพราะใส่หัวปลีลงไปต้มเนื่องด้วยครอบครัวสวนเกษตรครอบครัวนี้ปลูกกล้วยจำนวนมากไว้ในสวน

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ด้วยพื้นที่นากว้างใหญ่ นอกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะได้พักผ่อนหย่อนใจ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้วิถีพื้นบ้าน ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างชิดใกล้ และได้ให้อาหารห่านจากพืชผักที่ตัดแต่งไว้ บ้านปลายนาเวียงกาหลงแห่งนี้จึงเหมาะกับครอบครัวเล็กใหญ่ทั้งสิ้น

มากกว่าการเป็นร้านอาหาร แบงค์ยังอยากให้ชาวบ้านรอบข้างหันมาใส่ใจสุขภาพและวิถีท้องถิ่นมากขึ้น บางครั้งจึงจัดกิจกรรมเวิร์กชอปเกษตรอินทรีย์ให้เกษตรกรที่สนใจบ้าง มีกิจกรรมทำขวัญข้าวบ้าง เพื่อรักษาภูมิปัญญาไทยให้อยู่ได้ยาวนานต่อไป

ที่ตั้ง : 124 หมู่ 2 ตำบลเเม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น. 

โทรศัพท์ : 09 8134 4395  

Facebook : บ้านปลายนาเวียงกาหลง 

04

พักกายในโรงแรมที่สร้างจากไม้สักเก่าและอิฐมอญทำมือ

Athita The Hidden Court Chiang Saen

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เชียงแสนหรือพื้นที่ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนั้น เคยเป็นเมืองหลวงของล้านนา แถมด้วยที่ตั้งอันติดกับแม่น้ำโขง พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นเมืองท่าสำคัญที่สร้างรายได้มหาศาล แต่เชียงแสนในปัจจุบันกลับไม่อยู่ในความทรงจำของคนสมัยนี้

แอน-นันทกาญจ์ ลิ้มเจริญ สาวเชียงแสนที่กลับบ้านเกิดมาพักใจเป็นระยะ และฟื้นฟูผืนดินขนาดย่อมให้เป็นสวนมะพร้าวน้ำหอม จึงเปลี่ยนพื้นที่หน้าวัดเก่าอายุกว่า 500 ปีในเวียงเชียงแสนอย่างวัดอาทิต้นแก้ว เป็นบูติกโฮเทลเพื่อให้คนรู้จักเชียงแสนมากขึ้น

แขกไปใครมาที่อาทิตาจึงได้สัมผัสกับความเป็นเชียงแสนอย่างเต็มที่ ผ่านอาคารที่สร้างด้วยอิฐมอญปั้นมือกว่าแสนก้อน โดยช่างท้องถิ่นที่ต้องก่อสร้างอย่างประณีต ไม้สักเก่าอย่างดีของเมืองเชียงแสน ที่ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเคยยืนเด่นเป็นสง่าเต็มเมือง ประดับประดาด้วยผ้าลายเชียงแสน ทอขึ้นโดยแม่บ้านท้องถิ่น และตุงที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นของพื้นเมือง ทั้งหมดนี้ออกแบบโดยสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญงานไม้ งานอิฐ และเข้าใจสถาปัตยกรรมล้านนาอย่างดี 

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร
พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ความพิเศษอีกข้อของอาทิตาที่หากไม่เล่าจะถือว่าผิด คือ แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นป่ากล้วย ทะลุไปยังวัดอาทิต้นแก้ว ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เข้าไปนมัสการได้ยากยิ่ง เมื่อก่อร่างสร้างโรงแรมขึ้นมา แอนจึงตั้งใจให้สถาปนิกสร้างทางเข้าสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าไปสักการะบูชา พร้อมชมความงามของวัดเก่าได้ง่ายๆ 

แถมด้านหน้าของเรือนพักยังออกแบบเป็น ‘ข่วง’ หรือลานหญ้าหน้าวัด ให้ล้อไปกับวัดเก่าที่เธอหลงใหล

สัมผัสความเป็นเชียงแสนผ่านอาคารกันแล้ว แอนยังมอบประสบการณ์สุดน่ารักผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เธอตั้งใจ เช่น ในโซนคาเฟ่และร้านอาหาร แอนจะเสิร์ฟอาหารเหนือและอาหารท้องถิ่นที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบปลอดสาร ทั้งยังมีกาแฟหอมกรุ่น ชงจากเมล็ดกาแฟออร์แกนิกของชาวเขา 

นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่เธออยากให้ผู้เข้าพักได้สัมผัส ยังเป็นกิจกรรมสุดคราฟต์ที่สืบทอดกันมายาวนาน เช่น การพิมพ์ผ้าด้วยใบสัก หรือหากใครอยากยืมจักรยานของโรงแรมปั่นชมเชียงแสนก็ย่อมได้ เพราะมากกว่าการทำโรงแรมให้คนได้สัมผัสเชียงแสนอย่างเต็มพิกัด เธอยังอยากอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน 

เล่าถึงตรงนี้ แอนฝากทิ้งท้ายว่าหากหลงเข้าไปพักตี้อาทิตาเมื่อใด เชียงแสนในความทรงจำของทุกคนจะเปลี่ยนไป

ที่ตั้ง : 984 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

โทรศัพท์ : 06 3426 9464 

Facebook : Athita The Hidden Court Chiang Saen

05

นอนโฮมเสตย์ไม้ที่หลับสบายและส่วนตัวเหมือนอยู่โรงแรม

Ahsa Farm Stay

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

“อาสามาจากคำว่า ‘อะสะ’ เป็นภาษาลาหู่ แปลว่า ชีวิต แล้ว อาสา ยังล้อกับคำว่า Casa คำอิตาเลียนที่แปลว่าบ้าน เราว่าอาสาเป็นคำที่เหมาะกับที่นี่ เราอยากเป็นโมเดลที่สร้างโฮมสเตย์มาตรฐานโรงแรมขึ้นมา”

อิม-รสวรรณ คำวัง มีประสบการณ์การจัดทัวร์ในประเทศไทยให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรปมาก่อน 3 – 4 ปีมานี้ อิมจึงเริ่มเห็นว่านอกจากเที่ยววัดวังซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นชื่อของไทย นักท่องเที่ยวเริ่มสนใจการท่องเที่ยวแบบลงลึกถึงรากวัฒนธรรมมากขึ้น บริษัททัวร์จึงเริ่มพานักท่องเที่ยวไปชมสถานที่ใหม่ๆ เพื่อให้ซึมซับวัฒนธรรมพื้นเมืองได้อย่างแท้จริง และแทนที่จะพานักท่องเที่ยวไปพักโรงแรมหลายดาว ก็เริ่มพามาพักที่โฮมสเตย์ที่ใกล้ชิดคนท้องถิ่น

พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร
พักก๋าย พักใจ๋ กับ 10 กิจการในเจียงฮาย เมืองเหนือสุดแดนสยามที่น่าฮักไม่เป็นรองใคร

ปัญหาคือโฮมสเตย์นั้นไม่ค่อยสะดวกสบายและไม่ค่อยมีความเป็นส่วนตัว ไอเดียการสร้างโฮมสเตย์ที่ยังรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่บริการแบบมาตรฐานโรงแรมอย่าง ‘อาสา ฟาร์มสเตย์’ จึงเกิดขึ้น ตัวอาคารพักของที่นี่สร้างขึ้นจากคอนเซ็ปต์ความยั่งยืนและการอนุรักษ์ โดยมีสล่าในชุมชนคอยให้คำแนะนำ ทั้งการเลือกใช้ไม้เก่ามาสร้างใหม่ด้วยเทคนิคของช่างท้องถิ่น และเลือกใช้ดินผสมปูนเพื่อให้บ้านเย็นสบายแต่ไม่ชื้น จนได้รับรางวัลการออกแบบจาก Demark Award และ Good Design Award 

ห้องพักทั้งหมดในอาสาฟาร์มสเตย์ยังมีห้องน้ำในตัวทุกห้อง และแต่ละห้องไม่มีส่วนที่ผนังชนกันเลยแม้แต่น้อยเพื่อมอบความเป็นส่วนตัวให้แขกบ้านแขกเมืองให้มากที่สุด แต่ในบริเวณบ้านยังคงมีพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนได้พบปะพูดคุยกัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวแบบโรงแรม และความเป็นส่วนรวมแบบโฮมสเตย์ 

นอกจากอิมจะมอบความสมดุลของประสบการณ์ต่างขั้วผ่านการออกแบบที่พักแล้ว เธอและพนักงานในท้องถิ่นยังมอบประสบการณ์ที่ว่าผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจด้วย

“ถ้าคุณคาดหวังว่ามาแล้วจะอยู่เงียบๆ คนเดียว ที่นี่อาจไม่ตอบโจทย์นั้น เพราะน้องๆ จะคอยชักชวนคุณทำอาหาร ดำนา เดินป่า บางวันเราก็พาลูกค้าฝรั่งหรือคนไทยน่ารักๆ ไปคุยกับพ่ออุ้ยแม่อุ้ยแถวนี้ ถัดจากเราอีกนิดมีศูนย์เด็กเล็ก แทนที่แขกจะทานอาหารในห้องอาหาร เราก็เปลี่ยนให้เขาไปช่วยกันทำกับข้าวเลี้ยงเด็กในศูนย์เด็กเล็กแทน” 

ที่ตั้ง : แม่สลองใน ซอย 1 ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 7248 4674 

Facebook : Ahsa Farmstay อาสา ฟาร์มสเตย์

06

ล่องซัพบอร์ดในลำน้ำกก ซึมซับวิถีชาวบ้านริมน้ำ

Sup Board Chiang Rai

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

แรกเริ่มเดิมที วุฒิ-วุฒิพงษ์ พงษ์สวรรค์ เป็นคนรักการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งได้เตร็ดเตร่ไปสูดกลิ่นต้นไม้เขียวขจีด้วยมอเตอร์ไซค์คู่ใจ แล้วต่อด้วยการตั้งแคมป์ยิ่งเป็นกิจกรรมโปรด แต่เมื่อเขาได้ลองชมธรรมชาติด้วยการล่องซัพบอร์ดครั้งแรก เขากลับตกหลุมรักกิจกรรมที่ว่าอย่างจัง จนอยากชักชวนให้ทั้งคนเจียงฮายและนักท่องเที่ยวต่างเมืองได้ชมธรรมชาติสลับวิถีชีวิตพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน

Sup Board Chiang Rai กิจกรรมท่องเที่ยวที่จะพาทุกคนไปล่องลำน้ำกก ลำน้ำสายสำคัญของเมืองเหนือสุดแดนสยามแห่งนี้จึงเกิดขึ้น โดยมีทริป 3 ทริปให้ทุกคนได้เลือกสรรตามระยะทางและเวลาที่ต่างกัน หากใครเป็นมือใหม่หัดพายและมีเวลาไม่มากนัก ทริปเอและบีซึ่งใช้เวลา 2 – 4 ชั่วโมงจึงเหมาะนัก แต่ถ้าใครเป็นสายโหดและมีเวลาเหลือเฟือ เราอยากแนะนำให้ล่องซัพไปหารักกับทริปซี ซึ่งจะพาเราตั้งต้นตั้งแต่ย่านกะเหรี่ยงรวมมิตรไปจนถึง The Space MRC รวมระยะทางกว่า 16 กิโลเมตรใน 6 – 7 ชั่วโมง 

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา
แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

อายุอานามที่วุฒิแนะนำว่าเหมาะแก่การเล่นและล่องซัพบอร์ดกับ Sup Board Chiang Rai คือ 8 ปีขึ้นไป ซึ่งพ่อแม่พี่น้องไม่ต้องกลัวว่าจะอันตราย หรือต้องมีทักษะทางน้ำมากถึงจะล่องซัพได้ เพราะก่อนก้าวเท้าขึ้นยานพาหนะชนิดนี้ วุฒิจะสอนวิธีเบื้องต้นและมีอุปกรณ์ชูชีพให้พร้อมสรรพ ระหว่างทางเขาจะพาล่องน้ำพลาง แนะนำสถานที่ต่างๆ ไปพลาง ว่าจุดไหนควรชมอะไร จุดไหนควรแวะพัก และจุดไหนควรระวังอะไรบ้าง 

หากมาในช่วงน้ำมาก ก็อาจไม่ต้องออกแรงบังคับมากนัก เพราะยานพาหนะทรงรีน่ารักจะพาเราไหลไปตามสายธาร แต่หากมาในช่วงน้ำแล้งในฤดูร้อน เราจะได้ออกแรงพายขึ้นมากกว่าเก่า บ้างวุฒิก็จะชวนพายไปทางซ้าย บ้างก็จะชวนพายไปทางขวา และบ้างก็จะให้เราปล่อยไม้ นอนหงาย และมองไปบนฟ้า 

ความพิเศษคือหากใครต้องการเครื่องดื่มแก้กระหายระหว่างกำลังล่องน้ำ ทีมซัพพอร์ตก็มีจำหน่าย หากใครอยากได้ภาพตัวเองท่ามกลางสายน้ำและขุนเขา วุฒิก็จัดให้ได้ ส่วนใครอยากฟินกับหมูกระทะร้อนๆ หลังล่องลำน้ำกกเสร็จ ก็เตรียมท้องไว้ได้เลย

ที่ตั้ง : ริมแม่น้ำกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 08 8783 6982

Facebook : Sup Board Chiang Rai

07

ถีบสองล้อชมเจียงฮาย กับครอบครัวนักปั่นที่หลงใหลธรรมชาติ

Chiang Rai Bicycle Tour

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

มาเมืองน่าฮักที่ครบครันทั้งวัดวา ธรรมชาติ และสารพัดร้านน่านั่งทั้งที จะโดยสารโดยยานพาหนะ 4 ล้อก็ใช่ที่ บี-ภูบดินทร์ ฐิติพงศ์กุล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เชียงรายไบซิเคิลทัวร์ จึงชวนปี้ๆ น้องๆ ลองถีบจักรยานรับลมชมเมืองกัน

บีเป็นคนเชียงใหม่ที่เติบโตท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าเขา การปั่นจักรยานจึงเป็นกิจกรรมสุดโปรดของบี ด้วยมีประสบการณ์การเป็นไกด์ที่เชียงใหม่เป็นทุนเดิม อีกทั้งเห็นว่าเชียงรายนั้นครบครันทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น หากมีทัวร์จักรยานที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติได้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติก็คงดีไม่น้อย ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2551 เชียงรายไบซิเคิลทัวร์ที่ดำเนินการโดยบีและครอบครัวจึงเกิดขึ้น 

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

ทริปทัวร์จักรยานของบีนั้นหลากหลาย มีทั้งแบบครึ่งวัน เต็มวัน และหลายวัน ตามแต่สายปั่นและอยากปั่นสะดวก มีทั้งทริปที่เหมาะกับนักปั่นมืออาชีพ ทริปที่เหมาะกับครอบครัวและผู้เริ่มต้น ใครใคร่อยากชมสถานที่สำคัญในเมืองก็ได้ หรือหากใครใคร่ขึ้นเขาลงห้วย บีและครอบครัวก็พาท่องไปได้ 

บ้างก็ปั่นเจอเจ้าควายน้อยใหญ่เดินไปมา บ้างก็เจอชาวบ้านตามท้องนาที่ออกมาทำงาน และหากใครร่วมทริปวันเสาร์ วันอาทิตย์ก็จะได้ชมการตีกลองสะบัดชัย เพราะบีและครอบครัวนักปั่นนั้นอัดแน่นด้วยประสบการณ์การเป็นไกด์ที่เชี่ยวชาญเรื่องราวชาวล้านนาและเชียงราย การปั่นจักรยานครั้งนี้จึงไม่ได้แค่รับลมชมไม้แต่ยังได้ความรู้เกี่ยวกับเมืองน่าฮักขนาดกลางแห่งนี้อีกด้วย

ที่ตั้ง : 222 ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 08 5662 4347

Facebook : Chiang Rai Bicycle Tour Thailand

08

สัมผัสทะเลหมอก ยลอาทิตย์อัสดง และเรียนรู้พหุวัฒนธรรม

ดอยผาตั้ง

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

หากขับรถออกจากตัวเมืองเชียงรายไปทางตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น เราจะป๊ะกับดอยผาตั้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น ซึ่งเป็นแนวเทือกเขาพรมแดนไทย-ลาวที่สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

สมัยที่ผู้คนยังอาศัยในหมู่บ้านเดียวกันตั้งแต่ตีนดอยถึงยอดดอย ชาวบ้านนั้นมองเห็นหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ณ ตีนดอย ‘ผาตั้ง’ จึงกลายเป็นชื่อดอยจนปัจจุบัน และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เพราะดอยผาตั้งนั้นไม่สูงจนเกินไป แต่ยังคงเห็นทะเลหมอก แม่น้ำโขงฝั่งลาว และเห็นยอดภูชี้ฟ้าด้วย

หากใครต้องการผจญภัยด้วยตนเองก็ย่อมได้ หากใครอยากได้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ไปด้วย ทุกวันหยุดจะมีมัคคุเทศก์น้อยที่ฝึกปรือฝีมือการนำทางอย่างดีมาแนะนำสถานที่ต่างๆ ให้ แต่หากใครเดินขึ้นไม่ไหว ชาวบ้านในพื้นที่ยังมีบริการขี่ม้าชมสถานที่ด้วยนะ

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

จุดตั้งต้นของการเดินขึ้นดอยในครั้งนี้คือประตูสยามหรือผาบ่อง เป็นผาที่มีช่องทะลุไปอีกทาง ว่ากันว่าเป็นประตูรักแห่งขุนเขา ที่จะช่วยส่งเสริมความฮักของเฮาให้งดงามยิ่งๆ ขึ้นไป จากผาบ่องนั้นเดินไปได้ 2 ทาง ทางซ้ายเป็นทางเดินบรรจบที่เนิน 104 ส่วนทางขวาจะพบจุดชมวิวหลายแห่ง ทั้งเนิน 102 และเนิน 103 เป็นเส้นทางที่นิยมกว่าทางแรก เพราะไม่ไกลจนเกินไป 

เราเลือกผจญภัยไปฝั่งขวา จะพบกับศาลาอนุสรณ์นายพลหลี่ป่าหินยูนนาน อันเป็นจุดรำลึกของนายพลหลี่ ผู้นำจีนคณะชาติที่เข้ามาในช่วงคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ พ.ศ. 2513 ถัดไปอีกหน่อยจะพบกับช่องผาขาด ซึ่งแขกไปใครมาก็ต้องแวะแชะภาพกับดวงอาทิตย์ที่ทอแสงส่อง 

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

ไม่ไกลกันนั้น เราจะพบกับเนิน 102 และเนิน 103 คนนิยมมาชมทะเลหมอกและอาทิตย์อัสดง นามของเนินนั้นก็มาจากช่วงคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาตั้งรกรากเช่นกัน เพราะ 102 หมายถึงทหารกองร้อยที่ 2 ส่วน 103 ก็คือทหารกองร้อยที่ 3 นั่นเอง ทัศนียภาพอันงามงดหมดจดทั้งหมดนี้หาชมได้เกือบทั้งปี แต่หากใครมาในช่วงต้นปีหรือหน้าหนาวก็อาจได้โชค 2 ชั้น เพราะเป็นช่วงที่ดอกพญาเสือโคร่งบานที่โรงเรียนบรรพตวิทยาพอดี

มากกว่าการเป็นสถานที่ศึกษาเส้นทางธรรมชาติอันงดงาม ที่นี่ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์และเป็นสถานที่พหุวัฒนธรรม เพราะนอกจากมีพี่น้องชาวม้ง ชาวเมี่ยน และชาวลาหู่ เป็นชาวเขาในท้องถิ่นอยู่แล้ว สมัยที่จีนคณะชาติเข้ามาตั้งรกรากและตั้งแนวรบกัน ผู้คนชาวจีนยูนนานก็เข้ามาตั้งรกรากที่นี่ด้วย แม้ปัจจุบันพี่น้องหลากชาติพันธุ์จะอาศัยรวมกันจนวัฒนธรรมค่อยๆ กลมกลืนกันแล้ว แต่แขกไปใครมาก็ต้องหาอาหารจีนยูนนานทานกันให้ได้ 

ที่ตั้ง : 17 หมู่ 14, ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 0 5391 8301 (จุดบริการนักท่องเที่ยวดอยผาตั้ง) 0 5371 0300 (องค์การบริหารส่วนตำบลปอ)

09

เรียนรู้ระบบนิเวศและซึมซับธรรมชาติกับโฮงเฮียนริมฝั่งน้ำ

โฮงเฮียนแม่น้ำของ

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

“ผมสงสารแม่น้ำของ นี่คือแม่น้ำสายสำคัญของโลก ไหลตั้งแต่ที่สูงจากทิเบตลงมา ทุกคนอาศัยประโยชน์จากแม่น้ำแห่งนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนที่จะรักแม่และดูแลแม่ มีแต่จะทำลายแม่ตัวเองทั้งนั้น” 

ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ผู้ก่อตั้งและครูใหญ่ของโฮงเฮียนแม่น้ำของบอกกับเรา ในวันที่ระบบนิเวศแม่น้ำของไม่เหมือนแต่เก่าก่อน เพราะมีการสร้างเขื่อนจำนวนมากกว่า 11 แห่งในประเทศจีน ซึ่งเป็นบริเวณส่วนบนของแม่น้ำ แถมยังมีเขื่อนและการกักเก็บน้ำอื่นๆ ที่ประเทศต้นน้ำประเทศอื่นสร้างขึ้น ระบบนิเวศของแม่น้ำของตอนล่างจึงผิดธรรมชาติไป 

จากที่น้ำขุ่นอุดมด้วยตะกอนสารอาหารก็กลับใส จากที่ปลาว่ายน้ำมาวางไข่ได้ก็ต้องว่ายกลับไปเพราะเจอกำแพงเขื่อน และจากที่เคยมีนกหลายพันตัวมาแวะวางไข่ ก็แทบไม่เห็นรอยเท้าในวันนี้ ยังไม่นับรวมโครงการระเบิดแก่งเพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่แล่นผ่านสะดวกซึ่งเกือบสำเร็จลุล่วง แต่ด้วยพลังของครูตี๋และคนตัวเล็กๆ ที่รักแม่น้ำของ โครงการที่ว่าจึงถูกพับไป

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา
แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

แม้โครงการระเบิดแก่งจะไม่ลุล่วง แต่คนรักษ์แม่น้ำของยังต้องส่งต่อความรู้เรื่องระบบนิเวศและวิถีชุมชน ใน พ.ศ. 2558 อาคารไม้สองชั้นริมฝั่งแม่น้ำของนามโฮงเฮียนแม่น้ำของ (สถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ) โดยกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายจึงเกิดขึ้น โดยมีลำน้ำของทอดยาว ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำเป็นบทเรียนสำคัญ ทั้งยังมีห้องสมุดขนาดย่อม รวบรวมงานวิชาการและหนังสืออันเกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำของและระบบนิเวศ ให้คนในท้องที่และผู้ที่สนใจได้ศึกษา

“กระบวนการให้ความรู้ของโฮงเฮียนแม่น้ำของคือการลงพื้นที่ เราใช้พื้นที่จริงเป็นตัวอธิบายให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของแม่น้ำของ ผ่านกายภาพ ผ่านเรื่องเล่าตำนาน มีสามเรื่องหลักที่สำคัญมาก คือ ประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม สามสิ่งนี้ร้อยเรียงกลายเป็นแม่น้ำของ”

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้น แต่หากใครสนใจ ก็เข้าไปเรียนรู้ที่โฮงเฮียนแห่งนี้ได้โดยติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์และช่องทางออนไลน์ก่อน หากมีเวลาไม่มาก จะได้เรียนรู้หลักสูตรฉบับเร่งรัดที่โฮงเฮียนไม้ แต่ถ้ามีเวลามากสักหน่อย ก็ลงไปเรียนรู้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำผ่านการล่องเรือได้

ที่ตั้ง : เลขที่ 260 หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ติดต่อนัดหมายล่วงหน้า

โทรศัพท์ : 08 1531 8203

10

เรียนรู้ ทดลอง และเข้าใจธรรมชาติ ผ่านของเล่นไม้พื้นบ้าน

โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา
แอ่วเชียงรายกับกิจการและกิจกรรมสนุก ทั้งท่องเที่ยวธรรมชาติ กินอาหารพื้นถิ่น จนถึงเรียนรู้ระบบนิเวศและวัฒนธรรมล้านนา

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 23 ปีที่แล้ว หนุ่มสาวนักพัฒนาอิสระกลุ่มหนึ่ง เดินทางจากเมืองกรุงมายังบ้านป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เพื่อค้นหาอะไรบางอย่างของชีวิต เมื่อสองท้าวก้าวย่ำเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ ธรรมชาติและวิถีชีวิตพื้นบ้านก็ทำให้พวกเขาหลงใหลบ้านป่าแดดโดยพลัน ขณะเดียวกัน สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญและควรได้รับการแก้ไข คือปัญหาการสื่อสารระหว่างคนต่างวัยที่กำลังเกิดขึ้น

“ในช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่เป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่หนุ่มสาวในท้องถิ่นก็ออกจากบ้านไปหางานทำที่อื่น เหลือเพียงเด็กและคนแก่ ซึ่งมีปัญหาการสื่อสารระหว่างวัยกัน คนแก่เริ่มกลายเป็นคนไร้ความสามารถ และค่อยๆ หมดบทบาทในชุมชน ‘กลุ่มคนเฒ่าคนแก่’ จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2541” ปุ๊-วีรวัฒน์ กังวานนวกุล ผู้ก่อตั้งโรงเล่นอธิบายถึงสถานการณ์ช่วงนั้นให้ฟัง

คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่นั้นมีความรู้เฉพาะทางหลากหลาย แต่ ‘ของเล่นไม้พื้นบ้าน’ คือสิ่งที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือชั้นดี จะทำให้คนเฒ่าและเด็กวัยกระเตาะเชื่อมโยงกันได้ นั่นคือคนเฒ่าสร้างของเล่นไม้ขึ้นมา ส่วนเด็กๆ ก็เป็นคนเล่นของเหล่านั้น ใน พ.ศ. 2545 พิพิธภัณฑ์เล่นได้หน้าวัดป่าแดด ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้เด็กๆ เข้ามาทดลองเล่นของเล่นพื้นบ้านได้อิสระจึงเกิดขึ้น จากที่เด็กเข้ามาเล่นของเล่นเฉยๆ ก็เริ่มพัฒนาตนเองมาเป็นมัคคุเทศก์และเป็นผู้ผลิตของเล่น จากที่คนเฒ่าคนแก่เริ่มหมดบทบาท ชีวิตของพวกท่านก็เริ่มสนุกสนานขึ้น

ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2559 พิพิธภัณฑ์เล่นได้แห่งนี้ได้ย้ายมาปักหลัก ณ สถานที่ใหม่ เพื่อเปิดเป็น ‘โรงเล่น’ ไม่จำกัดการเล่นว่าต้องเป็นแบบพื้นบ้านเช่นเดิม แต่เปิดพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น นอกจากจะมีเวิร์กชอปสอนทำของเล่นดั้งเดิม ยังมีการเดินป่าสำรวจธรรมชาติ และมีลานกลางแจ้งให้เด็กๆ เข้ามาเล่นอย่างอิสระ

โรงเล่นนั้นเปิดให้เข้าไปเล่นโดยไม่ต้องนัดหมายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันเสาร์จะมีเวิร์กชอปประกอบของเล่นง่ายๆ โดยมีคนเฒ่าคนแก่มาสอน ไม่ต้องเสียค่าเข้าแต่เสียเพียงค่าปุกรณ์ หรือหากใครอยากเข้ามาเล่นที่ลานกลางแจ้ง ซึ่งอยู่ใต้ต้นสนใหญ่ก็ได้ จะมานั่งอ่านหนังสือ หรือหยิบของเล่นในนิทรรศการของเล่นมาทดลองตรงนี้ ปุ๊ก็ยินดีอย่างยิ่ง ใกล้กันนั้นมีบ่อทราย เปิดโอกาสให้เด็กใช้จินตนาการในการเล่นอย่างไม่จำกัด และยังมีส่วนที่ให้เด็กๆ ได้ทดลองประกอบของเล่นใหม่ๆ ขึ้นจากวัสดุธรรมชาติและเครื่องพรินต์สามมิติ

ทั้งหมดนี้สร้างขึ้นจากแนวคิดว่า การเล่นอิสระคือเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ค้นพบศักยภาพที่หลบซ่อนไว้ และเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า หากเด็กๆ เติบโตจากการเล่นเช่นนี้ โดยมีพื้นที่และเครื่องมือที่ดีสนับสนุน ช่องว่างระหว่างชนบทกับเมืองจะลดลง และประเทศจะเดินต่อไปข้างหน้าได้จริงๆ 

ที่ตั้ง : 120 หมู่ 12 ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์-ศุกร์ นัดหมายล่วงหน้า วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น

โทรศัพท์ : 08 9999 8537

Facebook : โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้