‘ย่านเมืองเก่าเชียงราย’ กำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงรายโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ. 2557 โดยตัวเมืองตั้งอยู่ตลอดแนวของถนน 4 เส้นหลักของเมือง ได้แก่ ถนนธนาลัย ถนนอุตรกิจ ถนนสิงหไคล และถนนบรรพปราการ มีพื้นที่ 1.27 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะทางกายภาพของเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นย่านการค้าที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้เหลืออาคารเก่าไม่มาก หน้าตาเมืองเก่าเชียงรายจึงแตกต่างจากเมืองเก่าทั่วไปที่ทุกคนรู้จัก
แม้เมืองจะเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ แต่หลังอาคารพาณิชย์สมัยใหม่นั้นยังมีย่านชุมชนชาติพันธุ์เก่าซ่อนตัว ให้เราได้เดินลัดเลาะ เที่ยว กิน รู้จักผู้คนในย่านเมืองเก่าเชียงราย รู้จักหน้าตาคนเชียงรายว่าเป็นอย่างไร

ไทเขิน คนเมือง (ไทยวน) กลุ่มคนบุกเบิกในยุคฟื้นฟูเมือง
คนเมือง ไทเขิน เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการฟื้นฟูเมืองเชียงรายหลังพม่าปกครองล้านนา ตรงกับยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2386 คนเมือง (ไทยวน) และไทเขิน ถือเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ของประชากรในเขตเมืองเก่าเชียงราย มีชุมชนเกาะลอย ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ชุมชนหนองสี่แจ่ง เป็นชุมชนดั้งเดิม

วัดพระสิงห์ เชียงราย วัดพระแก้ว วัดศรีบุญเรือง เป็นศรัทธาหลักของคนกลุ่มนี้ ส่วนวัดกลางเวียง (จั๋นต๊ะโลก) อันเป็นที่ตั้งของเสาสะดือเมืองเชียงราย (เสาหลักเมืองเชียงราย) นั้น มีรูปแบบของการบูชาสะดือเมืองด้วยการใส่ขันดอกในช่วงเดือน 9 ล้านนาแบบเมืองเชียงใหม่ ประเพณีนี้เคยหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนเกิดการฟื้นฟูประเพณีเต็มรูปแบบหลังจากสถานการณ์โควิดทุเลาลงใน พ.ศ. 2565 เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้เมืองและคน

นอกจากนั้น ภายในวัดพบพระพุทธรูปศิลปะไทเขิน ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารวัดกลางเวียง เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันการคงอยู่ของชาวไทเขินในเมืองเชียงรายในฐานะประชากรหลักของเมือง ที่หลายคนแทบหลงลืมไปแล้ว
ย่านจีนยูนนาน การอยู่ร่วมกันกับชุมชนจีน 4 สำเนียงภาษา ในย่านกาดหลวงเชียงราย
เสียงประกาศจากหออะซานของมัสยิดดารุลอามานหรือมัสยิดกลาง “อัลลอฮฺอักบัร อัลลอฮฺอักบัร” ดังเพื่อให้ทราบว่าเข้าสู่เวลาละหมาด

มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นมัสยิดมีรูปแบบศิลปะผสมผสานระหว่างศิลปะเปอร์เซียและจีน ตั้งอยู่กลางเมือง ในพื้นที่ย่านการค้าระหว่างถนนธนาลัยและถนนบรรพปราการ ใกล้กับตลาดสดเทศบาลนครเชียงรายหรือกาดหลวง เรียกบริเวณนี้ว่า ‘กองวัดแขก’ เป็นชุมชนจีนยูนนานที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงราย
ในละแวกนี้ ‘เจนตระกูล’ ถือเป็นตระกูลเก่าแก่สำคัญของชุมชน เป็นหนึ่งในทายาทของ ขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ (เจิ้ง ชงหลิ่ง) ชาวมุสลิมจีนยูนนานผู้นำการสร้างสุเหร่าอิสลามเชียงใหม่ ปัจจุบันรู้จักในชื่อ ‘มัสยิดบ้านฮ่อ’ มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองเชียงใหม่

การตั้งของมัสยิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวจีนยูนนานต่อการเป็นพ่อค้าผ่านทางกองคาราวานทางไกล ม้าต่าง และวัวต่าง เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคแรกของภาคเหนือ มัสยิดแห่งนี้ถือเป็นศูนย์รวมใจของชาวมุสลิมในเมืองเชียงราย ทำหน้าที่ประสานความสัมพันธ์ของกลุ่มชาวมุสลิมดั้งเดิมและผู้ที่เข้ามาอาศัยใหม่ คือกลุ่มชาวปากีสถาน หรือ ‘ปาทาน’ ที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ปุกตุน’ คนกลุ่มนี้อพยพมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากทางภาคเหนือของประเทศปากีสถาน เมืองบัตตากราม (Battagram) เดินทางผ่านประเทศอินเดีย บังกลาเทศ จีน พม่า ใช้วิธีการเดินเท้าต่อเข้ามายังชายแดนของประเทศไทย แล้วตั้งชุมชนในเมืองเชียงราย

เมื่อแรกเข้ามาในเชียงราย ชาวปาทานในฐานะมุสลิมใหม่มาร่วมประกอบศาสนกิจที่มัสยิดดารุลอามาน แม้ภายหลังจะมีการสร้างมัสยิดนูรุลอิสลามปากีสถานในชุมชนของตน แต่ในโอกาสสำคัญจะมาร่วมกับมัสยิดดารุลอามานเสมอ โดยเฉพาะในช่วงรอมฎอน การถือศีลอด เป็นช่วงที่กลุ่มจีนยูนนานดั้งเดิมที่เคยอยู่บริเวณรอบ ๆ มัสยิดกลาง ไปตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่รอบนอกตัวเมืองเชียงราย เช่น ชุมชนเด่นห้า กลับมารวมตัวที่มัสยิดนี้เพื่อร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเย็น
ในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่จะได้รับประทานอาหารเอกลักษณ์ของจีนยูนนาน คือยำวุ้นเส้นตำรับจีนยูนนาน คลุกเคล้าพริกปั่นคั่ว น้ำมันงา ซีอิ๊วหวาน น้ำส้มหมัก น้ำตาล และถั่วลิสงป่น ให้เข้ากัน อีกตำรับที่ห้ามพลาด คือฮวนถวย หรือ ต้มแป้ง ปรุงในน้ำซุป ต้มจากเนื้อและโครงไก่ รับประทานเคียงกับถั่วลันเตาสด หัวไชเท้า เผือก ถือเป็นตำรับสุดพิเศษที่หารับประทานได้เฉพาะช่วงเทศกาลนี้เท่านั้น เป็นเสน่ห์ของเมืองผ่านงานเทศกาล

นอกเหนือจากกลุ่มจีนยูนนานที่มีบทบาทการค้าในช่วงแรก ภายหลังการตัดทางรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟนครลำปาง ส่งผลให้การคมนาคมสะดวกมากขึ้น เกิดการอพยพของ ‘จีนโพ้นทะเล’ มาตั้งรกรากในเมืองเชียงรายจำนวนมาก โดยเลือกอยู่บริเวณถนนธนาลัย ทำการค้า และมีบทบาททางเศรษฐกิจ
จีนโพ้นทะเลในเชียงรายประกอบไปด้วยจีน 4 สำเนียงภาษา กลุ่มแรก คือจีนฮากกา (แคะ) เป็นกลุ่มที่มากที่สุดในเชียงราย และยังคงดำรงสืบทอดอัตลักษณ์ในเรื่องอาหารของกลุ่มไว้เป็นอย่างดี หากมีโอกาสในช่วงเย็นของทุกวัน บริเวณตลาดเย็น ‘กาดแลง’ ใกล้ ๆ กับหอนาฬิกาเชียงรายเก่า คุณจะได้ชิมขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของจีนฮากกาได้ทุกวัน คือ ‘ชูปยับป้าน’ หรือขนมเปี๊ยะสด สอดไส้ด้วยถั่วกวนและไส้งา ปั้นเป็นก้อนกลม กดลงบนแม่พิมพ์ขนม และนำไปนึ่งให้สุก ถือเป็นขนมมงคลและเป็นเอกลักษณ์ของจีนฮากกา

ส่วนจีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ จีนกวางตุ้ง ล้วนเป็นจีนกลุ่มที่มีประชากรรองลงมา ในย่านนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย ศาลเจ้าที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวจีนในย่านเพื่อทำงานด้านการสาธารณกุศล และเป็นพื้นที่ในการประกอบศาสนพิธี ชาวจีนมีความเคารพ ‘เจ้าพ่อและเจ้าแม่ดอยจอมทอง’ เป็นอย่างมาก เทพเจ้าดังกล่าวถือเป็นอารักษ์หรือผีหลวงของเมืองเชียงราย ที่เคยผ่านการเลี้ยงและสังเวยในคุ้มของเจ้านายเมืองเชียงรายมาก่อน ภายหลังอัญเชิญรูปเคารพไปประดิษฐานบริเวณดอยทอง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงราย ชาวจีนยังให้การเคารพเจ้าท้องถิ่น เรียกว่า ‘ปึงเถ่ากง-ปึงเถ่าม่า’

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีซึ่งเป็นวันก่อตั้งมูลนิธิ ชาวจีนในเชียงรายมีการอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ดอยจอมทองมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าใจกลางเมือง เพื่อชมอุปรากรจีนซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 60 ปี เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มชาวจีนต่อความเชื่อกับคนท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืนและเคารพต่อท้องถิ่นอย่างน่าสนใจ

ชุมชนอินเดียและชุมชนชาวปาทาน ความผูกพันของคน 2 กลุ่ม สู่การรวมประชากรของเมืองเก่า
“อินเดียและปาทาน เราเดินทางอพยพเข้ามาในเชียงรายด้วยกัน ในรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของเรา เวลาพี่น้องปาทานมีงานแต่งงานหรืองานอะไรที่สำคัญ เราไปมาหาสู่กันตลอด ชาวปาทานรีดนมวัวมาส่งให้เราดื่มมานานมาก”
นี่คือบทสนทนาส่วนหนึ่งของ ปริศนา อุปรา หนึ่งในกลุ่มชาวอินเดียที่ตั้งรกรากในย่านตัวเมืองเก่าเชียงราย ชุมชนอินเดียอาศัยอยู่บริเวณใกล้ ๆ วัดพระแก้วเชียงรายและโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ซึ่งเปิดร้านขายผ้า ร้านตัดผ้าม่าน ร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

กลุ่มนี้มีความพิเศษ คือเป็นกลุ่มที่นับถือ 2 ศาสนาร่วมกัน ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาซิกข์ โดยในวันพุธ พวกเขาจะไปสวดมนต์ที่วัดพระแม่อุมาเทวี ส่วนในวันอาทิตย์จะประกอบศาสนกิจทางศาสนาซิกข์ที่วัดคุรุดวารา ซาฮิบ โดยศาสนสถานของทั้ง 2 ศาสนาตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

ในวันอาทิตย์ นอกจากเป็นวันปิดร้านเพื่อพักผ่อนแล้ว ยังเป็นโอกาสที่ชาวอินเดียได้รับประทานอาหารดั้งเดิมร่วมกัน เปิดตำรับอาหารอินเดียที่ถือเป็นเส่นห์ของย่าน แกงกะเรระห์ คือแกงถั่วลูกไก่ กับผงมาซาลา เม็ดยี่หร่า มันอาลู กะเรระห์คือผัดมะระใส่มันอาลู นำไปผัดกับพริกป่น ผงขมิ้น พริกหนุ่ม ปรุงรสด้วยผงมาซาลา หอมหัวใหญ่ โรยหน้าด้วยต้นหอม ผักชี การได้ลิ้มรสชาติอาหารอินเดียแบบดั้งเดิม ช่วยทำให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนในเมืองและหน้าตาของคนในเมืองได้อย่างเข้าใจ


การลัดเลาะกอง (ตรอก ซอย) ย่าน ผ่านการเรียนรู้จากคนในเมืองเก่าเชียงราย ได้พูดคุย รับประทานอาหาร และเคารพในความเชื่อของเขาผ่านการสังเกต การมีส่วนร่วม ช่วยทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเมืองเชียงราย โดยมีคนท้องถิ่นเป็นพระเอก ทำให้เราได้เห็นหน้าตาของคนในเมือง รู้จักดีเอ็นเอของเมืองจากคนในย่านที่หลากหลายมากขึ้น