“เมื่อก่อนรั้วของอาคารศาลากลางกินบริเวณจนชิดถนนพระปกเกล้าเลย จนสมัยผู้ว่าฯ ชัยยา พูนศิริวงศ์ ถึงมีการขยับรั้วให้ชิดเข้ามาอยู่หน้าอาคาร พอรั้วเข้าไป เชียงใหม่ก็ได้จัตุรัสของเมือง เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งแรกของเชียงใหม่” อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติและคณะกรรมการบริหารเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ กล่าว

ในสวนด้านหลังสำนักงาน Chaing Mai Architects Collaborative สำนักงานสถาปนิกของอาจารย์จุลทัศน์ใจกลางเมืองเก่าเชียงใหม่ อาจารย์รำลึกความหลังถึงพื้นที่ก่อนจะมาเป็นข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่คนเชียงใหม่คุ้นเคย

“เมื่อก่อนผมพักที่นี่ (สำนักงานฯ-ผู้เขียน) มีธุระกับทางราชการก็เดินจากบ้านเลียบถนนราชดำเนิน เลี้ยวขวาไปนิดเดียวก็ถึงศาลากลางเชียงใหม่ ที่จำได้ดีไม่ใช่เพราะอยู่ใกล้บ้าน แต่อาคารหลังนี้เป็นอาคารทรงตะวันตกหลังแรกๆ ของเมือง คนเมืองเรียกกันในชื่อ ‘ตึกฝรั่ง’ เป็นอาคารที่สัดส่วนสวยและน่าประทับใจมาก ขณะเดียวกัน จัตุรัสด้านหน้าในยุคต่อมาก็กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่จัดงาน รวมไปถึงพื้นที่ทางการเมืองของคนเชียงใหม่” อาจารย์จุลทัศน์กล่าว

จากสำนักงาน ผมเดินไปตามเส้นทางที่อาจารย์บอก หันหน้าไปทางดอยสุเทพ เลียบถนนราชดำเนิน เลี้ยวขวาบริเวณสี่แยกกลางเวียงสู่ถนนพระปกเกล้า เดินต่ออีกไม่ถึง 5 นาที จะพบลานโล่งสุดสายตา เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พญามังราย พญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหง หนึ่งกษัตริย์ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ และอีก 2 สหายกษัตริย์ที่ปรึกษาในการตั้งเมืองตามพงศาวดาร  

ผู้คนรู้จักพื้นที่ดังกล่าวในชื่อ ‘ข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์’ ส่วนอาคารฝรั่งที่อาจารย์จุลทัศน์พูดถึงคือ ‘อาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่’ หรือ ‘หอศิลป์สามกษัตริย์’ ที่อยู่ด้านหลัง กระนั้นคนในท้องที่ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจะคุ้นปากเรียกว่า ศาลากลางเก่า ตามหน้าที่ดั้งเดิมของมัน

ศาลากลางหลังเก่าถูกเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมหลังใหม่และแห่งแรกของเมือง เมื่อ พ.ศ. 2545 หากตามราชกิจจานุเบกษา ระบุว่าอาคารหลังดังกล่าวแรกเริ่มถูกสร้างเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2462

อาคารศาลากลางหลังเก่า ก่อนมีการขยับรั้วเข้าไปด้านในเพื่อสร้างข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถ่ายโดยบุญเสริม สาตราภัย พ.ศ. 2512

แน่นอนว่า พ.ศ. 2562 นี้ อาคารมีอายุครบ 100 ปีพอดี  

ถ้าเทียบกับสิ่งปลูกสร้างในเมืองที่สถาปนาขึ้นเมื่อกว่า 700 ปี มาแล้วอย่างเชียงใหม่ อาคารอายุ 100 ปี ดูจะไปวัดไปวากับวัดวาอายุอย่างน้อยๆ ก็ 500 ปี ที่ตั้งอยู่โดยรอบไม่ได้ กระนั้น ถ้ามองในมุมกลับ จะมีอาคารที่สร้างขึ้นในยุคสมัยใหม่สักกี่หลังที่ยังคงตระหง่านข้ามเวลามาได้ถึงศตวรรษ และยังคงมีการใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่นับรวมความหมายเชิงพื้นที่ที่อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ ซึ่งเกาะเกี่ยวกับความเป็นเมืองเชียงใหม่มาเกินกว่าอายุของอาคาร ไม่รู้ต่อกี่เท่า 

ครับ, บทความนี้ผมจะพาไปสำรวจประวัติศาสตร์ของอาคารหลังนี้กัน ประวัติศาสตร์ของที่ดินก่อนอาคารจะปลูกสร้าง ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ประชุม และห้องรับแขกกลางเวียงของคนเชียงใหม่

1

ณ ที่ที่เป็นศูนย์กลาง 

เมื่อพิมพ์คำว่าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ใน Google Maps แผนที่ดาวเทียมจะเผยให้เห็นทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางเขตเมืองเก่า ที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำและแนวกำแพงเมืองเก่าในรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เสาหลักเมืองเชียงใหม่ หรือ ‘อินทขิล’ จึงรประดิษฐานไว้ ณ วัดสะดือเมือง (วัดอินทขิล-ชื่อปัจจุบัน) วัดที่ว่ากันว่าตั้งอยู่ในพื้นที่สะดือ หรือจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เพียงเดินข้ามถนน 

ในแผนที่เมืองเชียงใหม่ฉบับ พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นแผนที่ทางการฉบับแรกๆ ของเมือง ทำเลของหอศิลป์สามกษัตริย์ในปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในชื่อ หอพระแก้วร้าง สอดคล้องไปกับตำนานพระแก้วมรกตที่ระบุว่าเมื่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายลำดับที่ 9 อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเขลางค์นคร (ลำปาง) มายังเชียงใหม่ พระองค์ทรงสร้างโลหะปราสาทสำหรับประดิษฐานพระแก้วมรกตไว้ ก่อนจะมีการอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวงระหว่าง พ.ศ. 2011 – 2096

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
ภาพอาคารศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ เมื่อครั้งใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พ.ศ. 2468

ปัจจุบันพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ โลหะปราสาทที่เชียงใหม่ไม่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับหอพระแก้วร้างที่ปรากฏเพียงชื่อบนแผนที่โบราณ กระนั้นก็มีข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ว่า แนวกำแพงโบราณที่ถูกขุดพบและจัดแสดงอยู่ชั้นใต้ดินหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นภายหลัง) ด้านหลังอาคารหอศิลปวัฒนธรรมฯ อาจเป็นแนวกำแพงของโลหะปราสาท สถานที่ที่เคยใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกต  

ใช่เพียงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์และความเชื่อ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นศูนย์บัญชาการทางการเมืองและจุดเริ่มต้นของความทันสมัยของเชียงใหม่ ความที่ว่าในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ก่อนที่มณฑลพายัพ (ชื่อเรียกเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนืออื่นๆ ระหว่าง พ.ศ. 2442 – 2476) จะเป็นจังหวัดของสยาม ปรากฏหลักฐานของการสร้างคุ้มหลวงหรือสถานที่พำนักและว่าราชการของเจ้าผู้ครองนครในละแวกดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง ภายหลังโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของภาคเหนืออย่างโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ถือกำเนิดจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ประทานพื้นที่คุ้มหลวงบางส่วนสำหรับสร้างโรงเรียน โดยพื้นที่ที่ว่าอยู่เยื้องกับข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
แนวกำแพงโบราณที่มีการค้นพบด้านหลังหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

และนั่นเป็นช่วงเวลาไม่นานก่อนที่เชียงใหม่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และมีการจัดสร้างและเปิดใช้ อาคารศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพ ใน พ.ศ. 2462 อาคารก่ออิฐถือปูนความสูง 2 ชั้น ครอบด้วยหลังคาทรงปั้นหยา มีคอร์ตกลางอยู่ภายใน นี่คืออาคารทรงโคโลเนียลหลังแรกๆ หนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ของอดีตเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา

ศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพเปิดทำการอยู่ได้เพียง 13 ปี ภายหลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง สยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 อาคารหลังเดิมถูกเปลี่ยนนามให้เป็นที่รู้กันในเจเนเรชันหลังว่า ศาลากลางเชียงใหม่ 

เสี้ยวหนึ่งของความเคลื่อนไหวบนพื้นที่อันเป็นศูนย์กลางนครโบราณที่ยังคงมีชีวิต เป็นเช่นนี้

2

ย้ายศูนย์ราชการ

“แต่เดิมเกือบทุกสำนักงานของรัฐรวมอยู่ในอาคารนี้หมด แต่พอเมืองขยายขึ้น มีผู้คนมาใช้ชีวิตอยู่มากขึ้น พื้นที่เดิมจึงไม่อาจรองรับได้พอ” สุวารี วงศ์กองแก้ว ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ชี้ให้ผมดูตราสำนักงานคลังและตราสำนักงานสรรพากร ซึ่งประดับอยู่บนผนังด้านหลังของอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หลักฐานของการเคยมีอยู่ของสำนักงานราชการ

แม้ไม่ใช่อาคารทรงโคโลเนียลหลังแรก หากความที่ว่านี่เป็นอาคารทรงโคโลเนียลที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานภายในได้ การมีอยู่ของอาคารหลังนี้ในยุคแรกจึงเป็นเรื่องน่าตื่นตาสำหรับคนเชียงใหม่เป็นพิเศษ

สอดคล้องกับความเห็นของอาจารย์จุลทัศน์ ที่ชวนผมย้อนคิดถึงสภาพเมืองเมื่อศตวรรษที่แล้ว เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการลอดใต้ถุนเรือนเป็นสิ่งอัปมงคล คนเชียงใหม่จึงใช้ชีวิตอยู่ในเรือนไม้ชั้นเดียวเป็นหลัก กระทั่งช่วงรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้า และนำเทคโนโลยีและค่านิยมการสร้างอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นเข้ามา เหล่าเจ้าผู้ครองนคร ข้าหลวง และเศรษฐี จึงนิยมสร้างบ้านเรือนแบบตะวันตกเพื่อสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งและทันสมัย สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เข้ามาเปลี่ยนความคิดและความเชื่อของผู้คนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย กระนั้นสิ่งปลูกสร้างเกือบทั้งหมดก็ล้วนเป็นพื้นที่เฉพาะของอภิสิทธิ์ชน หรือไม่ก็สำนักงานของบริษัทเอกชน มีเพียงอาคารศาลากลางหลังนี้ที่เป็นพื้นที่สาธารณะหนึ่งในไม่กี่แห่งที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมพื้นที่ภายในได้ 

กระทั่งผ่านไปเกินครึ่งศตวรรษ ราวทศวรรษ 2520 ภายหลังที่เชียงใหม่เปลี่ยนสถานะจากจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทยสู่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำ รวมไปถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรัฐระดับภูมิภาคแห่งแรกของประเทศ อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่เริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่มีศูนย์ราชการบรรจุรวมกันอยู่ในอาคารทรงโคโลเนียลความสูง 2 ชั้นเพียงหลังเดียว ซึ่งไม่พอรองรับประชาชนผู้มาใช้บริการ 

“น่าจะเป็นช่วงต้นทศวรรษ 2520 ที่ผู้ว่าฯ ชัยยาริเริ่มแนวคิดในการย้ายศูนย์ราชการจังหวัดไปตั้งอยู่นอกเมือง และความที่พื้นเพของผู้ว่าฯ เป็นสถาปนิกผังเมืองมาก่อน ทศวรรษนั้นจึงถือเป็นการเปลี่ยนผ่านกายภาพเมืองครั้งสำคัญของเชียงใหม่” 

สุวารีพูดถึงชัยยา พูนศิริวงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2530) ผู้ว่าฯ คนเดียวกับที่อาจารย์จุลทัศน์บอกว่า เป็นผู้ดำริให้มีการขยับแนวรั้วของศาลากลาง ก่อนมีการจัดสร้างข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ใน พ.ศ. 2526 ซึ่งนอกจากผลงานที่ว่า เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้มีการบูรณะโบราณสถานภายในและรอบสี่เหลี่ยมคูเมือง โดยเฉพาะประตูท่าแพที่มีการสร้างแนวกำแพงและประตูขึ้นใหม่พร้อมกับลานอเนกประสงค์ด้านหน้าในปี 2528 ทั้งยังมีการทำทางเท้ารอบคูเมือง เปลี่ยนผ่านจากเมืองที่เคยซ้อนทับกับซากปรัก สู่เมืองที่กลมกลืนไปกับโบราณสถาน กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
ตราสัญลักษณ์สำนักงานคลังและสรรพากรเชียงใหม่

ข้อเสนอของผู้ว่าฯ ชัยยาในการย้ายศาลากลางออกไปนอกเมือง มาพร้อมกับคำถามที่ว่า แล้วอาคารโคโลเนียลหลังเดิมหลังนี้จะเปลี่ยนไปทำหน้าที่อะไร แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนอาคารศาลากลางให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่จึงเกิดขึ้นด้วยความเห็นชอบจากภาคประชาคมในเชียงใหม่

“คุณูปการที่สำคัญของการก่อสร้างข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์คือ มันได้กลายมาเป็นพื้นที่กลางที่ให้ชาวเชียงใหม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เห็นได้ชัดคือช่วง 6 ตุลาฯ นักศึกษาเชียงใหม่ออกมาประท้วงรัฐบาลในพื้นที่ดังกล่าว หรืออย่าง พ.ศ. 2529 ที่เกิดการเสนอโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ คนเชียงใหม่ก็รวมตัวกันคัดค้านกันที่นี่

“การมีพื้นที่สาธารณะแบบนี้มันเอื้อให้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ง อย่างการระดมความเห็นในการเปลี่ยนศาลากลางหลังเก่าให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมฯ รวมไปถึงการขับเคลื่อนให้ภาครัฐย้ายเรือนจำหญิงที่สร้างทับคุ้มหลวงเวียงแก้วในอดีต เพื่อปรับพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ ก็เกิดขึ้นที่นี่” สุวารีกล่าว

ผ่านการเคลื่อนไหวทั้งในภาคประชาชนและการผลักดันผ่านร่างนโยบายในรัฐสภามาเกือบทศวรรษ ท้ายที่สุด พ.ศ. 2539 จึงจัดได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะปีที่ครบรอบ 700 ปี ของการก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ หากยังเป็นปีที่สำนักงานราชการทั้งหมดได้ย้ายออกจากอาคารศาลากลางหลังเดิม และเริ่มต้นการบูรณะอาคารหลังนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมระดับภูมิภาคหลังแรกของประเทศไทย

3

เปลี่ยนผ่านอย่างมีวัฒนธรรม

“ก่อนหน้านี้ในเชียงใหม่แทบไม่มีโครงการบูรณะอาคารเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์เลย ทุกอย่างจึงเหมือนต้องเรียนรู้ใหม่หมด” ปานเทพ วิริยานนท์ วิศวกรผู้ควบคุมการบูรณะอาคารศาลากลางหลังเก่า กล่าว

ต้นทศวรรษ 2540 ภายหลังสำนักงานราชการทั้งหมดย้ายไปตั้ง ณ ศูนย์ราชการแห่งใหม่บนถนนโชตนา ชานเมืองทางทิศเหนือของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในฐานะเจ้าของโครงการได้ทำการว่าจ้าง บริษัท มรดกโลก จำกัด ออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่สวมทับเข้าไปในอาคารศาลากลางหลังเก่า โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด อลงกต ที่ปานเทพทำงานอยู่ รับหน้าที่บูรณะและก่อสร้าง

22 ปีให้หลัง วิศวกรรุ่นใหญ่ผู้นี้ได้กลับมายังอาคารที่เขาและทีมงานเคยใช้เวลาขลุกอยู่กับมันกว่า 4 ปี เปลี่ยนผ่านจากอาคารสำนักงานสู่พิพิธภัณฑ์ เขากำลังเดินนำผมสำรวจช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านนั้น

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

ปานเทพเล่าว่าหนึ่งในความท้าทายของโครงการนี้คือโจทย์ที่กรมศิลาปากรขอให้ผู้ก่อสร้างเก็บอัตลักษณ์เดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด กระนั้นในยุคสมัยดังกล่าว องค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์อาคารเก่ายังไม่ได้แพร่หลายหรือมีการศึกษาลงลึกเช่นทุกวันนี้ แต่เคราะห์ดีที่ว่าเชียงใหม่ไม่เคยขาดแคลนช่างหัตถศิลป์มากฝีมือ และเขาได้รับความร่วมมือจากผู้รู้และสล่าเหล่านี้เป็นอย่างดี 

“แต่ก่อนอาคารไม่ได้มีแปลนอย่างที่เห็น จะมีแค่พื้นที่ส่วนหน้าอย่างเดียว แล้วค่อยมีการต่อเติมในยุคต่อมาเรื่อยๆ เช่น อาคารด้านหลังฝั่งทิศเหนือนี่สร้างขึ้นหลังอาคารส่วนหน้าราวสามสิบปี ส่วนบริเวณด้านข้างฝั่งเจดีย์แปดเหลี่ยม (อาคารฝั่งวัดอินทขิล-ผู้เขียน) เดิมเป็นลานโล่ง เพิ่งมีการก่อสร้างอาคารรูปตัวแอล (L) มาล้อมจนเกิดเป็นคอร์ตด้านหลังในช่วงเวลาห้าสิบปีให้หลังมานี้” นั่นคือกายภาพล่าสุดของอาคารศาลากลางก่อนที่ปานเทพจะเริ่มบูรณะ 

จากภายนอก ปานเทพชี้ให้ผมเห็นหลังคาที่เขาต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่หมด เช่นเดียวกับกรอบประตู หน้าต่าง และฝ้า ทั้งนี้การเปลี่ยนใหม่ในความหมายของปานเทพ คือการถอดรื้อของเก่าออกจากอาคาร นำชิ้นส่วนที่ได้ไปตามหาช่างไม้พื้นเมืองที่สามารถแกะแบบ เพื่อผลิตซ้ำในเวอร์ชันที่สมบูรณ์ หรือใกล้เคียงกับของเดิมให้ได้มากที่สุด

“กลอนประตู กุญแจ กระเบื้องเซรามิก ปูนปั้น นี่ก็ทั้งหมด ต้องตระเวนไปทั่วภาคเหนือเพื่อหาสล่ามาผลิตให้ แต่ยังไม่ยากเท่างานผนัง ซึ่งเคยถึงกับถอดใจกันมาแล้ว” ปานเทพเล่าถึงส่วนที่ยากที่สุด คือการบูรณะผนังทั้งภายในและภายนอกอาคารที่ทรุดโทรมอย่างหนักจากความชื้นสะสม รวมไปถึงการทำตามข้อกำหนดกับกรมศิลปากรที่ว่าอาคารหลังนี้ต้องฉาบด้วยปูนโบราณ

เดินผ่านส่วนนิทรรศการที่อาคารด้านหน้า ปานเทพชี้ให้ผมมองไปยังปล่องระบายอากาศสีขาวที่ประทับอยู่บนผนังของทางเดินยาวในอาคารด้านหลัง ปล่องถูกวางเว้นระยะเท่าๆ กัน เรียงต่อกันยาวไปสุดผนัง เหล่านี้คือเทคนิคที่ทีมงานเลือกใช้ เจาะรูเนื้อคอนกรีตบนผนัง ต่อท่อออกมาเพื่อระบายอากาศและขับไล่ความชื้น จากนั้นนำตาข่ายเหล็กมาปิดพวกมันไว้ และหล่อปูนปั้นบริเวณขอบปล่องเพื่อความสวยงาม คอนกรีตถูกควบคุมอุณหภูมิด้วยวิธีดังกล่าว 

ปล่องระบายอากาศที่ใช้ระบายความชื้นภายหลังการบูรณะอาคาร

“พอจัดการความชื้นเสร็จ ต่อมาก็เรื่องการฉาบปูน ทีมงานต้องลงพื้นที่ไปสำรวจตามวัดเก่าแก่ต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ เพื่อหาส่วนผสมของปูนโบราณตามข้อกำหนด แต่กลับไม่พบวัดแห่งไหนเพิ่งมีการบูรณะผนังปูนเลย จึงตามไปถึงช่างปูนที่มีองค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในเชียงใหม่ เราเดินทางลงไปถึงวัดในจังหวัดเพชรบุรี แต่สุดท้ายก็ไม่พบอยู่ดี” 

หลังจากงมเข็มอยู่เป็นเดือนๆ ท้ายที่สุดปานเทพจึงปรึกษากรมศิลปากร และทดลองส่วนผสมปูนฉาบให้ได้บุคลิกแบบสิ่งปลูกสร้างโบราณในพื้นที่มากที่สุด ผ่านการทดลองอยู่หลายครั้ง เขาพบว่าหินที่เกิดจากการนำไปเผาเพื่อทำปูนขาวในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อนำมาผสมกับทราย น้ำ และปูนขาว หมักทิ้งไว้ราว 3 เดือน กลายเป็นคำตอบที่ใกล้เคียงที่สุดสำหรับการฉาบผนัง และพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่หลังนี้ก็มีพื้นผิวที่งดงามอย่างโบราณสมใจ

ปานเทพใช้เวลา 2 ปี (2540 – 2542) ในการบูรณะอาคาร และอีก 2 ปีให้หลัง (2542 – 2544) ในการทำงานร่วมกับนักออกแบบ นักวิชาการ และตัวแทนจากภาคประชาสังคมเชียงใหม่ จัดสร้างส่วนแสดงนิทรรศการภายใน โดยยังไม่ทันที่พิพิธภัณฑ์จะได้เปิดทำการ อาคารหลังนี้ก็ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทที่ทำการสาธารณะ โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2542  

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธีเปิด

“การที่อาคารที่เรามีส่วนในการบูรณะ ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่นั่นทำให้ผมปลื้มใจได้ไม่เท่าความประทับใจระหว่างการทำงานที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนเชียงใหม่ เหมือนได้เห็นว่าทุกคนต่างเฝ้าคอยและตระหนักดีว่า อาคารหลังนี้คือสมบัติของเมือง คือสมบัติร่วมของพวกเขา 

สุวารี วงศ์กองแก้ว (ซ้าย) และปานเทพ วิริยานนท์ (ขวา) ขณะพูดคุยในงาน Curator Talk 100 ปี การเปลี่ยนผ่านสู่อาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

“ขณะเดียวกันเมื่อมารู้ภายหลังว่าหอศิลป์ฯ แห่งนี้จุดประกายให้เกิดการบูรณะอาคารราชการหลังเก่า เพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดต่างๆ ก็ยิ่งพบว่าโครงการที่เราทำมันมีคุณค่าต่อชีวิตเรามาก” วิศวกรที่ปัจจุบันย้ายไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าถึงหนึ่งในโครงการก่อสร้างที่สำคัญอันดับต้นๆ ในชีวิตการทำงาน และเขายังคงจดจำในทุกการเปลี่ยนผ่านได้ดี

4

มากกว่าพิพิธภัณฑ์ 

สุวารี วงศ์กองแก้ว เป็นหนึ่งในคนเชียงใหม่อีกหลายคนที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่อย่างเป็นรูปธรรม หากแตกต่างก็ตรงที่ภายหลังหอศิลป์ฯ​ ได้รับการจัดสร้างแล้วเสร็จ เธอก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการของที่นี่ ปัจจุบันสุวารีดำรงตำแหน่งนี้มา 17 ปี

พื้นเพจากการทำงานในภาคประชาชน ก่อนจะรับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ ในบทบาทของผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ โจทย์ของการบริหารจัดการจึงแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ทั่วไป

“เชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้คนแอ็กทีฟต่อเรื่องเมืองมาก การเกิดขึ้นของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ก็มาจากกระบวนการการมีส่วนร่วม อันเป็นแรงขับเคลื่อนจากภาคประชาสังคม นี่คือบุคลิกสำคัญของการเกิดขึ้นของสถานที่แห่งนี้ เมื่อเราเข้ามาทำงานเราก็ต้องพยายามรักษาบุคลิกนี้ไว้” สุวารีกล่าว

บุคลิกที่ว่าคือการคงสถานะพื้นที่ส่วนกลาง หรือพื้นที่สาธารณะ ที่เปิดให้ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหว แสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะของเมืองอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

“แน่นอน ในฐานะหอศิลปวัฒนธรรม เราคือพื้นที่ที่รวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมตามกรอบของพิพิธภัณฑ์ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยทำเลที่อยู่กลางเมืองและการมีพื้นที่อเนกประสงค์รองรับกิจกรรมอันหลากหลายเหล่านี้ ถือเป็นต้นทุนที่ดีในการมีส่วนนำการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเราเริ่มต้นและปฏิบัติเช่นนี้เสมอมานับตั้งแต่หอศิลป์ฯ เปิดทำการ”

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนดังกล่าว เช่น การเปิดเวทีระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงทัณฑสถานหญิงที่สร้างทับคุ้มหลวงเวียงแก้วในอดีตให้กลายเป็นสวนสาธารณะ (ปัจจุบันข้อเสนอผ่านมติเห็นชอบจากรัฐมนตรี มีการย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปได้สำเร็จ และพื้นที่อยู่ระหว่างการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร)

การก่อตั้งโครงการ ‘ฟื้น บ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่’ ทำงานร่วมกับชาวบ้านในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อมภายในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ การเปิดห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่บริเวณด้านหลังหอศิลป์ฯ ห้องสมุดที่ผู้เขียนมองว่าเป็นห้องสมุดชุมชนที่เป็นมิตรและดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ 

การจัดตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ การจัดเสวนา Urban Talk เชื้อเชิญวิทยากรผู้มีความรู้เรื่องการพัฒนาเมืองหลากสาขามาแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนในชุมชน มีส่วนในการจัดทำเทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตพื้นที่เมืองเก่า รวมไปถึงเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเชียงใหม่ (พื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองและดอยสุเทพ) ให้เข้าไปอยู่ในลิสต์พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก ฯลฯ

สำรวจประวัติศาสตร์ในรอบหนึ่งศตวรรษของเมือง ผ่านอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (บูรณะจากอาคารศาลแขวงหลังเก่า)

“ทีมงานของหอศิลป์ฯ คอยตั้งโจทย์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งโจทย์ที่เป็นพื้นฐานอย่างจะทำอย่างไรให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเรามากขึ้น ไปจนถึงกระบวนการในการขับเคลื่อนเมืองให้เท่าทันสถานการณ์และเห็นผล โดยไม่ได้จมอยู่แต่กับรูปแบบเดิมๆ ด้วยเหตุนี้หัวใจสำคัญของหอศิลป์ฯ จึงไม่ได้อยู่แค่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม แต่เราพยายามทำทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว สิ่งแวดล้อม ผังเมือง การส่งเสริมการอ่าน และอีกหลากหลายเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการพัฒนา และทำให้เมืองเชียงใหม่น่าอยู่” สุวารีกล่าว

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ปิดปรับปรุงพื้นที่ส่วนนิทรรศการครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ. 2559 ก่อนจะเปิดทำการอีกครั้งพร้อมนิทรรศการที่มีการอัพเดตเนื้อหาและนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อปลาย พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ปัจจุบันหอศิลป์ฯ เปิดทำการ พร้อมกับหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (ตั้งอยู่ด้านหลัง) และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา (ซึ่งเกิดจากการบูรณะอาคารศาลแขวงเก่า ฝั่งตรงข้ามข่วงอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) ในนามเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ ภายใต้การบริหารจัดการโดยคณะกรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และตัวแทนจากภาคประชาชนหลากวิชาชีพ 

จากศูนย์กลางทางความเชื่อและศาสนาแต่ดั้งเดิม สู่ศูนย์กลางการเมืองตัวแทนจากสยาม และการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอด 1 ศตวรรษ อาคารทรงโคโลเนียลหลังเดิมยังคงตระหง่านเด่นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากความสัมพันธ์แบบบนลงล่าง (Top Down) มาสู่ศูนย์กลางร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในสังคมประชาธิปไตยร่วมสมัย ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนรักในการเดินพิพิธภัณฑ์

กล่าวตามตรง แม้มีนิทรรศการที่จัดแสดงได้มาตรฐาน ก็ไม่อาจบอกได้ว่าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ คือพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในประเทศ

กระนั้น หากมองในเชิงบทบาทของการมีส่วนร่วม และสถานะของการเป็นสถาบันที่มีส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง พูดได้เต็มคำว่า พิพิธภัณฑ์ของคนเชียงใหม่ในอาคารที่เพิ่งมีอายุ 100 ปี ไปหมาดๆ หลังนี้ ไม่เป็นสองรองใคร

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

ประกอบอาชีพรับจ้างทำหนังสือ แปลหนังสือ และผลิตสื่อ ใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีงานอดิเรกคือเขียนเรื่องสั้นและนวนิยาย ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ