“คุณอยากสนิทกับเพื่อนบ้านหรือเปล่า?”

เช้าเดินไปซื้อกับข้าวกับพี่ข้างบ้าน บ่าย ๆ ไปธุระก็ฝากลูกไว้กับป้าบ้านตรงข้าม พลบค่ำตั้งวงนั่งเล่นกีต้าร์ร้องเพลงในซอย

เขาว่ากันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ไหนแต่ไร เผ่าพันธุ์ของพวกเรามักจะรวมตัวตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มเป็นก้อน ญาติพี่น้องอยู่ด้วยกัน คนเชื้อสายใกล้เคียงกันอยู่ด้วยกัน

เวลาผ่านไป ความเป็นเมืองและเทคโนโลยีคืบคลานเข้ามาในหลายพื้นที่ เราจึงดำรงชีวิตกันอย่างปัจเจกชนมากขึ้น มากเสียจนเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนข้างบ้านชื่ออะไร ตรงกันข้าม เราอาจสนิทชิดเชื้อกับเพื่อนที่อาศัยอยู่ห่างไป 100 กิโลเมตรมากกว่าเสียอีก

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

“เราสนใจแนวคิดเรื่องชุมชนมาตั้งแต่เริ่มตั้งสถาบันครับ” ทวี เรืองฉายศิลป์ จากสถาบันอาศรมศิลป์เล่าย้อน

“จนกระทั่งปี 2010 เราริเริ่มโครงการ Co-housing ‘บ้านเดียวกัน’ ขึ้น” เขาพูด Co-housing ที่ว่า หมายถึงชุมชนที่เกิดขึ้นโดยผู้คนที่ตั้งใจจะอาศัยอยู่ร่วมกัน มีกลุ่มบ้านส่วนตัวรายล้อมพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน “ตอนนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชุมชน หรือคำว่า Co-housing เป็นที่รับรู้ขึ้นในไทยมากกว่าสมัยก่อนหน้า แต่ก็ยังไม่ได้แพร่หลายเป็นวงกว้างในสังคม แม้จะมีโครงการบ้างแล้วก็ตาม”

วันนี้ กลุ่มสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ ภาณุมาศ ชเยนทร์, ธนา อุทัยภัตรากูร, ปิยะ พรปัทมภิญโญ, วริศรา ไกรระวี, ทวี เรืองฉายศิลป์ และ ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ จะมาพูดคุยเกี่ยวกับ ‘Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp’ โปรเจกต์ใหม่ที่กำลังเปิดรับสมัครสมาชิก ซึ่งคล้ายจะเป็นหนังภาคต่อของบ้านเดียวกันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่แตกต่างด้วยวันเวลา สังคม และความเข้าใจของคนสมัยใหม่ที่เพิ่มมากขี้น

ถึงเวลาแล้วที่ ‘เชียงดาว’ เมืองธรรมชาติสวยแห่งเชียงใหม่จะมีชุมชนที่ผู้คนต่างที่มาร่วมกันสร้าง

Co-housing ที่พวกเขากำลังปลุกปั้นกันในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปฏิเสธสังคมที่วิวัฒน์ไปข้างหน้า หากแต่เป็นอีกลักษณะของการอยู่อาศัย ที่จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทยต่อไปได้

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp
สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

มองหาความเป็นไปได้

“Co-housing เกิดจากกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันมาก่อน แต่อยากอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เลยมาร่วมกันออกแบบที่อยู่อาศัยของตัวเอง” ยิ่งยงเริ่มอธิบายนิยามของลักษณะการอยู่อาศัยที่ยังไม่มีคำแปลตายตัวในภาษาไทย

“จริง ๆ มีได้หลายรูปแบบเลยนะครับ” ทวีเล่าด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น “จะเป็นแก๊งเพื่อนที่รู้จักกันอยู่แล้วก็ได้ หรือเป็นญาติพี่น้องที่ชวนกันไปอยู่ก็ได้ครับ คล้าย ๆ ครอบครัวขยายในอดีต แต่แนวคิดการอยู่ร่วมกันในรูปแบบนี้ เปิดโอกาสว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติกัน แค่มีความสนใจบางอย่างตรงกันก็อยู่อาศัยร่วมกันได้”

“Co-housing แตกต่างจากบ้านจัดสรรตรงเราเลือกคนที่จะมาอยู่ด้วยกันได้” ภาณุมาศพูดถึงข้อดี “ถ้าเราซื้อบ้านจัดสรร ก็แค่เดินดูบ้านที่อยากได้ทำเลนั้น ๆ แล้วไปวัดดวงกันว่า คนที่อยู่ในซอยย่อยเดียวกับเรา ข้างบ้านเราจะเป็นใคร แต่พอเราทำแบบนี้ เราได้คุย ได้รู้จักกันก่อน และลดต้นทุนการผลิตด้วยการแชร์พื้นที่ส่วนกลางบางส่วนร่วมกันได้”

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

แนวคิด Co-housing ถือกำเนิดครั้งแรกที่เดนมาร์ก ในช่วงปี 1970 โดยเริ่มที่ Saettedammen เป็นแห่งแรก จากนั้นก็ออกเดินทางไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้คือ มีคนบางกลุ่มเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการอยู่ร่วมกัน จึงเริ่มรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชน การรวมกลุ่มนี้ตอบโจทย์พวกเขาหลายอย่าง ทั้งในแง่ของวิถีชีวิตที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จิตวิญญาณของการอยู่อาศัย การแชร์ทรัพยากร-สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน และในแง่เศรษฐกิจ ช่วยทำให้แต่ละคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กับประหยัดค่าใช้จ่าย

หลายปีต่อมา จากโลกตะวันตกก็มาสู่เอเชีย Co-housing เริ่มเกิดขึ้นทั้งในจีน ญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศไทย อาศรมศิลป์เองก็ริเริ่มโครงการ ‘บ้านเดียวกัน’ ขี้นมาในรูปแบบ Co-housing แม้ว่าแนวคิดในลักษณะนี้จะยังเป็นเรื่องใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นชินก็ตาม พวกเขาคิดว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ร่วมกันที่ว่าสมัยก่อนก็อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยาย อยู่กันเป็นชุมชน จึงน่าจะประยุกต์รูปแบบของ Co-housing เข้ามาใช้ได้

ถึงตรงนี้เราก็ตั้งข้อสงสัยว่า แนวคิดแบบ Co-housing นั้นดูจะแตกต่างจากการอยู่ร่วมกันของชุมชนไทยสมัยก่อนไหมนะ แถมวิถีชีวิตคนในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปมากด้วย

“เราไม่ได้คิดว่าอยากเอาของไทยสมัยก่อนกลับมา” ยิ่งยงอธิบายให้ชัดเจน “เราแค่คิดว่าความเป็นชุมชนไทยน่าจะฝังอยู่ใน DNA ความทรงจำ หรือความรู้สึกนึกคิดของเรา มันน่าจะมีต้นทุนที่เอาเรื่องนี้กลับมาได้”

“แล้วถ้านำ Co-housing เข้าไปอยู่ในแนวคิดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มันน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคม” ซึ่งโครงการบ้านเดียวกันนี้ เป็นทั้งวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท สถาบันอาศรมศิลป์ และเป็นทั้งโครงการที่ลงทุนจริง สร้างจริง มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยด้วยกันจริง ๆ

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp
สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

บทเรียนจากบ้านเดียวกัน

‘บ้านเดียวกัน’ เป็นชื่อโครงการที่เป็นร่มใหญ่ ซึ่งมีโครงการย่อยในหลายรูปแบบ โครงการหนึ่งเป็นกลุ่มบ้านที่ออกแบบให้พี่น้องที่เคยอยู่ด้วยกันตอนเด็ก ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในวัยชรา โครงการหนึ่งก็เป็นหมู่บ้านใกล้ที่ทำงานของเหล่าพนักงาน มีกระบวนการให้แต่ละคนออกแบบวิถีการอยู่อาศัยร่วมกัน อีกโครงการหนึ่งเป็นกลุ่มบ้านของผู้ปกครอง-เด็กโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ต้องการอยู่ใกล้โรงเรียน และสุดท้ายคือโครงการคอนโด Low-rise 8 ยูนิตย่านลาดพร้าว

สังเกตได้ว่า Co-housing ในความหมายของอาศรมศิลป์ ไม่ค่อยจำกัดรูปแบบอาคารเท่าไหร่ กลับกันคือ พวกเขาพยายามผลักดันให้เกิดความหลากหลายขึ้น โดยมีแนวคิดของการอยู่ด้วยกัน เกื้อกูลกัน แชร์ทรัพยากรซึ่งกันและกันเป็นจุดร่วม

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp
สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

“บ้านเดียวกัน มีบางโครงการที่ก่อสร้างจนสำเร็จ ในขณะที่บางโครงการก็ไม่” ยิ่งยงว่า

เป็นเรื่องปกติที่ระหว่างกระบวนการจะมีการเปลี่ยนหน้าสมาชิก เมื่อเงื่อนไขในชีวิตของบางคนเปลี่ยน ก็ต้องมีการหาสมาชิกใหม่มาแทนให้ครบ ทำให้ไม่ใช่ทุกโครงการจะประสบความสำเร็จจนได้ก่อสร้างจริง

“ตอนนั้นเราสรุปบทเรียนอยู่ 2 เรื่อง” ยิ่งยงสะท้อนหลังจากที่ผ่านเวลานั้นมาราวสิบปี

“อย่างแรกคือทักษะการคลี่คลายความขัดแย้ง การอยู่บนความแตกต่างของคนไทยที่ยังไม่มากพอ”

“บทเรียนที่ 2 คือ ยุคนั้นมันมีข้อจำกัดในการสื่อสาร ตอนทำบ้านเดียวกัน ช่องทางการสื่อสาร โซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลาย” เราคิดตาม ใช่ แม้ในปี 2010 จะมีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้คนทุกเพศทุกวัยไม่ได้ไลน์หากันเช้าเย็นอย่างถนัดมือเหมือนทุกวันนี้

นอกเหนือจาก 2 เรื่องที่มีปัจจัยมาจาก ‘คน’ ก็มีเรื่องการประชาสัมพันธ์อีกเรื่องที่ยิ่งยงได้สะท้อนออกมา

“ตอนนั้นเราประชาสัมพันธ์โครงการผ่านช่องทางเดียวกับตลาดทั่วไปเลย ออกงานแฟร์ โปรโมตแบบโครงการบ้านอสังหาริมทรัพย์เลยครับ” สถาปนิกจากอาศรมศิลป์พูด “เราคิดว่าเราประชาสัมพันธ์โครงการไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายของเราจริง ๆ คนไม่ค่อยรู้กัน ทีนี้พอมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ ก็หาคนเข้ามาทดแทนเพื่อไปต่อไม่ได้”

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

ครั้งใหม่ที่เชียงดาว

จนเมื่อปี 2021 มาถึง ก็มีสมาชิกในกลุ่มมะขามป้อมที่เชียงดาว ต้องการขายที่ดินขนาดประมาณ 5 ไร่ เพื่อหารายได้สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยมิตรภาพที่มีให้กันมาอย่างยาวนานของสมาชิกท่านนั้นและ แบน-ธีรพล นิยม ผู้ก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ ประกอบกับเห็นว่าเป็นการนำเงินไปใช้ประโยชน์กับกิจกรรมทางสังคม แบนจึงรับซื้อไว้ด้วยความเต็มใจ ซึ่งเมื่อเขาได้ไปดูที่ดินด้วยตาของตัวเอง ก็เล็งเห็นว่าที่ดินน่าจะมีศักยภาพในการขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนแห่งการแบ่งปันและเกื้อกูลอย่าง Co-housing ได้

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

“มันเป็นจังหวะที่เรารู้สึกว่า ผ่านมา 10 ปี สังคมก็เปลี่ยนไป สมัยนู้นตอนพูดว่า Co-housing เป็นสิ่งที่เฉพาะกลุ่มมาก ๆ แต่ยุคนี้คนทั่วไปเริ่มรู้จักแล้ว กลุ่มคนที่มีความต้องการเฉพาะก็มีมากขึ้น โซเชียลมีเดียเองก็เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากขึ้น เราเลยอยากทดลองดูว่า ถ้าเอาแนวคิดนี้มาทำในยุคสมัยนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ไหม”

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

ไซต์นี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตัวเมืองเชียงดาว มีท้องไร่ท้องนา มีทุ่งน้ำนูนีนอยอยู่ใกล้ ๆ ดอยหลวงเชียงดาวซึ่งมองได้จากไซต์ ก็เป็นพื้นที่ที่ยูเนสโกเพิ่งประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนทางชีวมณฑลแห่งล่าสุดของประเทศไทย เพราะตีนดอยเป็นเขตร้อน และบนดอยเป็นเขตอบอุ่น ทำให้พืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ที่นี่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก

ย่านนั้นเป็นพื้นที่ที่คนหลงรักเชียงดาวเข้ามาลงหลักปักฐานกัน โดย ‘Makhampom Art Space’ ของกลุ่มละครมะขามป้อม และ ‘มาลาดาราดาษ’ ที่เปิดเวิร์กชอปเกี่ยวกับศิลปะ เป็นหนึ่งในกัลยาณมิตรที่อยู่ในชุมชนนั้น การรวมตัวกันของทุกคนก็มีข้อดี ทำให้ได้พึ่งพาอาศัยกัน และที่สำคัญคือได้ใช้สาธารณูปโภคร่วมกันด้วย

เมื่อคิดภาพตามที่ยิ่งยงเล่า ทั้งวิวท้องนากว้างใหญ่ วิวภูเขาสวย ๆ ทั้งสังคมโดยรอบและกิจกรรมที่เกิดขึ้น ตัวเราเองก็คงมีความสุขทีเดียวที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นทุกวัน

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

ขยับทีละขั้นตอน

การที่ Co-housing สักที่จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ (รวมถึงที่เชียงดาวนี้ด้วย) จะต้องมีกระบวนการที่ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ๆ

ขั้นตอนแรกก็คือ การรวมกลุ่ม (Forming Group)

ทวีเล่าว่า ตอนที่เดนมาร์กเริ่มมี Co-housing ในยุค 60 – 70 เขาจะเริ่มจากการรวมกลุ่มสมาชิกที่คิดแบบเดียวกัน จากนั้นก็ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้วยการปรึกษานักอสังหาริมทรัพย์ นั่นคือเริ่มต้นด้วยการไม่มีที่ดิน

“โดยทั่วไป บางโครงการก็เริ่มต้นโดยไม่มีสถาปนิก อย่างโครงการหนึ่งที่เราทำอยู่ ชื่อว่า ‘สวนปันสุข’ เป็นกลุ่มเพื่อนวัยเกษียณที่เชียงใหม่อยากสร้างบ้านอยู่รวมกันในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งเริ่มจากเขามีที่ดินที่หางดง แล้วหาสมาชิกกันเอง พอเขาหาข้อมูล ก็เจอโครงการบ้านเดียวกันแล้วติดต่อเรามาโดยตรง” แต่สำหรับโปรเจกต์เชียงดาวของอาศรมศิลป์นั้น เริ่มมาด้วยที่ดินและสถาปนิก ก่อนที่จะเสาะหาสมาชิกมาร่วมแก๊ง

“ทุกวันนี้ในบางประเทศ จะมีพวกเว็บไซต์กลางของ Co-housing อยู่ค่ะ” วริศราพูดขึ้นมา “เราเข้าไปเริ่มโปรเจกต์ได้ บอกคร่าว ๆ ว่าอยากอยู่ย่านตรงไหน และอยากให้บ้านของเราเน้นไปที่อะไร”

วริศราบอกว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญของการรวมกลุ่ม คือการตั้งวิสัยทัศน์ (Vision) เพื่อเรียกคนที่เหมือน ๆ กันมารวมตัวกัน แล้วเธอก็ยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ที่กลุ่มอื่น ๆ เคยตั้ง อย่างเช่นที่เดนมาร์ก มีกลุ่มที่รวมตัวสร้าง Co-housing จากไอเดียว่า ‘เด็ก 1 คนไม่ควรถูกเลี้ยงมาด้วยพ่อแม่คู่เดียว’ และ ‘ผู้หญิงไม่ควรต้องเลือกระหว่างเลี้ยงลูกหรือไปทำงาน’ ซึ่งที่นั่นก็เป็นสังคมของคนมีลูก ที่ช่วยกันดูแลลูกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอยังพูดถึง Co-housing ที่เยอรมนี ที่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน ซึ่งเมื่อคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาอยู่รวมกันแล้ว ก็ทำให้ต้นทุนถูกลง

วิสัยทัศน์ไม่จำเป็นต้องซับซ้อน หากจะกำหนดกว้าง ๆ ว่าเป็นเรื่องเกษตร พลังงาน สังคม ก็ไม่มีปัญหา เป็นไปตามความสนใจของสมาชิกแต่ละกลุ่ม

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

ได้สมาชิกกันแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ กระบวนการออกแบบ (Design Process) ขั้นตอนนี้นี่แหละที่เราคิดว่าสนุกและคงวุ่นวายใช่เล่น โดยเฉพาะเมื่อเหล่าสมาชิกไม่ได้รู้จักมักจี่กันมาก่อน

สิ่งแรกที่พูดคุยกันในขั้นนี้คือการออกแบบวิถีชีวิต ทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องส่วนรวม ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมากับบุคลิก นิสัย ความชอบ หรืออาชีพของสมาชิกของแต่ละคน จากนั้นก็ถกกันเรื่องสภาพแวดล้อม ว่าอยากให้ Co-housing ที่จะสร้างนี้หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องของการศึกษากฎหมาย กรรมสิทธิ์ และข้อตกลงของการอยู่ร่วมกัน

“อย่างของบ้านเดียวกัน 2 ที่เป็นของผู้ปกครองและเด็กโรงเรียนรุ่งอรุณ เราก็เริ่มจากนัดกินข้าวกันก่อน” ทวีเริ่มยกตัวอย่างถึงขั้นตอนกระบวนการออกแบบที่เคยเกิดขึ้นกับเคสเก่า เขาบอกว่าการกินข้าวร่วมกันนั้นสำคัญ เพราะถือเป็นการทดลองใช้ชีวิตร่วมกัน แม้แต่การเอาน้องหมามาทำความคุ้นเคยก็สำคัญไม่แพ้กัน (บางคนเขาก็กลัวหมานะ)

“ตอนนั้นเราให้แต่ละคนพรินต์รูปบ้านมาคุยกัน ส่วนเด็ก ๆ ก็จะเป็นเวิร์กชอปให้วาดรูปบ้าน

“การเอาบ้านมาคุยกันมันเป็นเหมือนกระบวนการที่ได้รู้จักกันมากขึ้น เหมือนเล่าว่าบ้านในฝันของเรามันมีวิถีชีวิตยังไง เราก็จะเห็นจุดร่วมและจุดต่าง โดยโครงการบ้านเดียวกัน 2 จุดร่วมของเขาคืออยากให้ชุมชนตรงนี้เน้นเรื่องธรรมชาติ”

ธนาสรุปการพูดคุยของโครงการนี้ว่า ทำให้ได้ข้อตกลงเรื่องพื้นที่สาธารณะที่จะใช้ร่วมกัน อย่างชานไม้หลังบ้านริมน้ำตลอดแนว และการกำหนดพื้นที่จอดรถ ซึ่งการกำหนดพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นไปได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของสมาชิก บางทีก็มีห้องรับแขกกลางไว้ใช้ร่วมกัน บางทีก็มีครัวกลางสำหรับจัดปาร์ตี้สนุก ๆ เชื่อมความสัมพันธ์ คล้าย ๆ กับ Clubhouse ของหมู่บ้านใหญ่

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp
ชานไม้หลังบ้านของ ‘บ้านเดียวกัน 2’
สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

“ในฐานะที่เป็นกระบวนกร เราต้องตั้งคำถามและการดีไซน์ให้ไปสู่คำถามที่เขาไม่กล้าถาม” ภาณุมาศเผยเคล็ด “คือบางทีนั่งอยู่ด้วยกันไม่กล้าถาม เราก็ต้องเป็นคนถามให้ว่า ที่คนนี้บอกว่าต้องการให้มีสเปซแบบนี้ พี่รู้สึกยังไงบ้าง”

นอกจากนี้พวกเขาก็ย้ำว่า แม้ Co-housing จะเป็นพื้นที่ในการอยู่อาศัยร่วมกัน แต่ก็ต้องแบ่งชัดระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ไม่คลุมเครือทั้งในแง่การใช้งานในชีวิตประจำวัน และในแง่กรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งหากใช้โฉนดร่วมเป็นผืนเดียว สุดท้ายแล้วจะมีข้อจำกัดเกิดขึ้น วันหนึ่งหากใครจะนำบ้านไปจำนองเพื่อกู้เงินทำธุรกิจ ก็จะไม่ยืดหยุ่นมากพอ

เราถามถึงขั้นตอนกระบวนการออกแบบที่จะเกิดขึ้นกับโปรเจกต์เชียงดาว ธนาบอกว่าตอนนี้ได้กำหนดไว้เพียงคร่าว ๆ จะต้องดูก่อนว่าสมาชิกที่มาเป็นแบบไหน แต่ตอนเริ่มทุกคนจะได้เยี่ยมชมโครงการบ้านเดียวกัน พร้อมพูดคุยกับคนที่อยู่จริงมาก่อน เพื่อหาคำตอบว่าบ้านในลักษณะนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกับตัวเองกันแน่

“แล้วเราก็ต้องพาเขาไปเชียงดาว ให้เขาเห็นความเป็นกายภาพ และได้ใช้เวลาซึมซับบรรยากาศอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ทั้งตอนเช้า หัวค่ำ ตอนพัฒนาแบบร่วมกันจะได้อ้างอิงถึงสิ่งที่มีประสบการณ์ร่วมกันได้” ทวีบอกด้วยว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง สมาชิกก็ควรจะนัดรวมตัวกันเองโดยไม่มีสถาปนิกเป็นระยะ ๆ เพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ก่อนได้เป็นเพื่อน(ร่วม)บ้านกันจริง ๆ

และเมื่อกระบวนการออกแบบจบลงแล้ว ก็ไปถึงขั้นตอนท้ายสุด คือการก่อสร้าง (Construction) ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้ บางกรณีที่สมาชิกยังไม่ครบ อาจต้องมีกระบวนการตามหาสมาชิกที่เหลือผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ต่อด้วย

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

พลังวิเศษในผู้คน

ตอนนี้ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp กำลังอยู่ในช่วงเปิดรับสมัครสมาชิกในบ้าน เริ่มมีผู้ที่สนใจพากันยื่นใบสมัคร ทางอาศรมศิลป์ก็ปลื้มใจ และได้ติดต่อกลับไปพูดคุยกับเขาเหล่านั้นเป็นบางส่วนแล้ว 

“มีคนหนึ่งที่เราฟังเขาแล้วรู้เลยว่าเขามีความตั้งใจอยากสร้างชุมชนที่ดีจริง ๆ” ทวีเล่า เมื่อเราถามถึงความประทับใจที่ได้เริ่มทำโปรเจกต์นี้ “จากที่อยู่กันอย่างปัจเจก ผมเชื่อว่าถ้าได้มาที่นี่ทุกคนอาจจะได้มีโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต อาจจะได้ไปทำงานที่นั่น และมีคนในชุมชนที่พร้อมจะซัพพอร์ตกัน”

“อย่างที่เราพูดเรื่องวิสัยทัศน์ไป เรื่องช่วยกันเลี้ยงลูก หรือดูแลกันยามเจ็บป่วย เราว่าการอาศัยอยู่ร่วมกันในรูปแบบนี้ มันน่าประทับใจตรงที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ในหลาย ๆ ส่วนค่ะ” วริศราพูดบ้าง

“โครงการนี้มันท้าทายที่จะแสดงให้เห็นพลังของคำว่าชุมชน การที่คนมารวมกัน มันมีพลังในตัวของมันอยู่แล้ว” ปิยะเชื่อแบบนั้น เขาบอกว่า Co-housing ในสังคมไทย อาจชวนให้คนหันกลับมามองพลังของคนตัวเล็ก ๆ ที่รวมกลุ่มกันทำอะไรบางอย่าง สำหรับเขาแล้ว นี่เป็นโครงการที่ท้าทายสำหรับผู้คนที่จะมาสมัครด้วย

พูดถึงความท้าทายของผู้อยู่อาศัยไปแล้ว แล้วอะไรคือความท้าทายสำหรับสถาปนิกล่ะ-เราถามต่อด้วยความอยากรู้

“ในมุมสถาปนิกเรามองเรื่องพื้นที่ เราอยากสร้าง ‘พื้นที่บังเอิญเจอกัน’ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพบปะ ส่งเสริมความเป็นชุมชน เราต้องคิดว่ากายภาพแบบไหนที่ทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ขาดออกจากกันและดูมีชีวิตชีวา” ปิยะตอบอย่างมุ่งมาด ทำให้ยิ่งยงที่ฟังอยู่เสริมว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ศิลปินหนึ่งคนรังสรรค์ขึ้นมา แต่มันเป็นปฏิบัติการทางสังคม เพราะสถาปัตยกรรมส่งผลต่อชีวิตคนมากกว่าแค่ความสวยงาม

“อาจารย์ที่อาศรมศิลป์ชอบพูดว่า คนสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม แล้วสถาปัตยกรรมก็ย้อนกลับมาสร้างความเป็นคนของเรา” ยิ่งยงกล่าว

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

งานครั้งนี้สถาปนิกมีหน้าที่ ‘ฟัง’ เพื่อจับความต้องการของสมาชิกซึ่งเป็นนามธรรม แล้วออกแบบเป็นรูปธรรม เรียกว่าจริง ๆ แล้วสมาชิกเป็นผู้ออกแบบ แล้วสถาปนิกมาร่วมเป็นกระบวนกร ท้ายที่สุดแล้วชาวอาศรมศิลป์ก็อยากให้โปรเจกต์นี้สำเร็จลุล่วง และเป็นต้นแบบให้โปรเจกต์อื่น ๆ ต่อไปในอนาคตได้

“ไม่อยากให้รู้สึกว่าฉันไม่มีพื้นฐานด้านออกแบบ ฉันจะร่วมไม่ได้ เราล้วนมีความเป็นนักออกแบบในตัวอยู่แล้วครับ” ปิยะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านทุกคนที่สนใจร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Co-housing หลังใหม่แห่งเชียงดาว

สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp
สนทนากับสถาปนิกอาศรมศิลป์ เปิดแนวคิดและกระบวนการออกแบบโครงการ Chiang Dao Cohousing By Arsomsilp

ภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน