เกาะรูปทรงประหลาดลอยเด่นอยู่เหนือน้ำ คลื่นหัวขาวซัดสาดชายหาดที่ทอดตัวยาวขนานไปกับสัณฐานเกาะ สายลมแห่งทะเลจีนใต้ซึ่งในอดีตเคยพยุงเรือสำเภาและสำปั้นให้ล่องทะยานสู่จุดหมาย ยังคงกระโชกแรงไม่มีเปลี่ยน แต่บัดนี้ทำได้เพียงมอบความชุ่มชื้นแก่ผิวกายนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากเกาะใหญ่มาเสาะหาความสงบ เมื่อเรือพาหนะบรรทุกคนโดยมากในยุคนี้เปลี่ยนเป็นเรือเฟอร์รี่ลำโตที่อาศัยเครื่องยนต์และน้ำมันในการขับเคลื่อนแทนที่ลม
ตึกโรงแรมใหญ่น้อยกองเกลื่อนอยู่ในคลองสายตา ทันทีที่เรือเฟอร์รี่แล่นลำมาจอดเทียบท่า ป้ายบอกทางทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษบ่งชัดว่าที่นี่คือ ‘เกาะเฉิ่งเจ๊า’ (Cheung Chau Island) เกาะเล็ก ๆ ที่เป็นดั่งแหล่งพักผ่อนวันหยุดของชาวฮ่องกง
เมื่อไรก็ตามที่พูดถึง ‘ฮ่องกง’ มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เคยเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษนานถึง 156 ปี เราคนไทยมักเผลอเติมคำว่า เกาะ ไว้หน้าชื่อเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่าฮ่องกงเป็นแค่เกาะเดียวอยู่โดดเดี่ยวกลางทะเล ทั้งที่จริงแล้ว ดินแดนที่ปัจจุบันถูกเรียกว่าฮ่องกงนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ที่ชื่อฮ่องกง ส่วนคาบสมุทรเกาลูนที่มีพื้นดินติดกับจีนแผ่นดินใหญ่ รวมไปถึงเกาะทั้งเล็กและใหญ่รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 263 เกาะ

เกาะเฉิ่งเจ๊าซึ่งมีเนื้อที่แค่ 2.46 ตารางกิโลเมตร ก็เป็นหนึ่งในบรรดาเกาะดังกล่าว ด้วยระยะทางเพียง 6.2 ไมล์จากเกาะฮ่องกงอันเป็นเกาะใหญ่และศูนย์กลางความเจริญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนในเมืองใหญ่เลือกมาดื่มด่ำความสงบกับกิจกรรมคลายเครียดสารพัด ทั้งเล่นน้ำทะเล แล่นวินด์เซิร์ฟ นอนอาบแดด เดินขึ้นเขา เข้าป่า หรือลุยถ้ำ บนเกาะที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติอย่างเฉิ่งเจ๊า
ตลอดทั้งปี วันและเดือนบนเกาะเฉิ่งเจ๊าจะเคลื่อนคล้อยไปอย่างสงบเงียบ คนต่างถิ่นที่มาเที่ยวคงมีเพียงนักเดินทางสายนิยมธรรมชาติที่แวะเวียนกันมาเยี่ยมชมเกาะที่มีรูปร่างเหมือนดัมเบลยกน้ำหนัก จนได้รับฉายาว่า ‘เกาะดัมเบล’ (啞鈴島)
ทว่าทุกฤดูร้อน ราวเดือน 4 ตามปฏิทินจีน ความสงบของเกาะเฉิ่งเจ๊าจะถูกแทนที่ด้วยมวลชนนับหมื่น ๆ คนที่พากันมาร่วมบรรยากาศในเทศกาลท้องถิ่นที่ต่างชาติขนานนามว่า Cheung Chau Bun Festival หรือ ‘เทศกาลภูเขาซาลาเปาเฉิ่งเจ๊า’ อันลือชา

ย้อนเวลาไปในสมัยศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จักรวรรดิอังกฤษจะเข้ามาล่าอาณานิคมในดินแดนนี้ ฮ่องกงและหมู่เกาะรายรอบยังเป็นเพียงพื้นที่ทุรกันดารของมณฑลกวางตุ้ง แม้แต่ทางการจีนก็ยังไม่รู้จักหรือใส่ใจในการมีอยู่ของเกาะแก่งละแวกนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะเหล่านี้มีน้อยจนแทบนับนิ้วได้ด้วยมือเดียว พวกเขาหาเลี้ยงชีพโดยการทำประมง หากุ้งหอยปูปลากินยังชีพไปตามอัตภาพ
ประชากรที่มีเพียงหยิบมือของเฉิ่งเจ๊าประกอบด้วยคนหลายกลุ่มภาษา ทั้งชาวจีนฮากกา (แคะ) จีนกวางตุ้ง จีนแต้จิ๋ว ตลอดจนชนกลุ่มน้อยชาวเรือที่ภาษาจีนกวางตุ้งเรียกว่า ต่านก๊า (Tanka People) ผู้เป็นที่มาของชื่อ ‘เรือตังเก’ ในภาษาไทย

ภาพ : Otosection
ไม่ว่าคนบนเกาะนี้จะพูดภาษาใด ปัญหาใหญ่หลวงที่พวกเขาทุกคนต้องประสบเหมือน ๆ กันคือการแพร่ระบาดของโรคร้าย และการรุกรานของเหล่าโจรสลัดที่ซ่องสุมกำลังอยู่แถบทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้ ชาวบ้านบางพวกจึงจัดพิธีกรรมบวงสรวง ขอพรจากเทพเจ้าปั๊กไตให้คุ้มครองสวัสดิภาพของพวกเขาเป็นประจำทุกปี ในที่สุดโรคภัยและโจรสลัดก็ค่อย ๆ ทยอยหายไป ไม่มาแผ้วพานพวกเขาในที่สุด
เทพเจ้าปั๊กไต (Pak Tai) ที่ชาวบ้านนับถือ เป็นเทพประจำทิศเหนือตามคติของลัทธิเต๋า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิศแห่งความตายและอายุขัย คนไทยเชื้อสายจีนเองก็บูชาเทพเจ้าองค์นี้ โดยนิยมเรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ‘เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่’ หรือ ‘ตั่วเหล่าเอี๊ย’ เป็นองค์เดียวกับเทพประธานในศาลเจ้าพ่อเสือ เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร (ชื่อเรียกศาลเจ้าพ่อเสือมาจากเทพเสือในศาล ที่จริงต้องเรียกศาลตั่วเหล่าเอี๊ย)
ในฮ่องกง เทพเจ้าองค์นี้ก็ได้รับความเคารพมาก ดังจะเห็นได้ว่าในฮ่องกงมีศาลเจ้าชื่อ Pak Tai Temple อยู่หลายแห่ง รูปเคารพเทพเจ้าองค์ใดที่ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิ ประทับเหยียบงูและเต่าไว้ใต้พระบาท องค์นั้นก็คือตั่วเหล่าเอี๊ยที่ในฮ่องกงเรียกว่า ปั๊กไต

ภาพ : Holidify

ภาพ : Zolima City Magazine
ยุคแรก พิธีบวงสรวงบูชาเทพเจ้าปั๊กไตดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ชาวบ้านเพียงแต่มารวมตัวกันสร้างปะรำพิธีและแท่นบูชาชั่วคราว ประดิษฐานรูปเคารพองค์ปั๊กไต สวดมนต์ขับไล่โรคภัยไข้เจ็บ แต่แล้วในสมัยหนึ่งที่ชาวบ้านบนเกาะเฉิ่งเจ๊ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พวกเขาจึงสร้างศาลเจ้าปั๊กไตหลังใหญ่ขึ้นเป็นวิหารถาวร และบูชาองค์ท่านในฐานะเทพเจ้าผู้คุ้มครองชุมชน
นอกจากเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ชนชาติจีนยังมีความเชื่อเรื่องผีสางวิญญาณร้ายในธรรมชาติ เมื่อใดที่บรรดาผีสางเหล่านี้เกิดความหิวโหยก็อาจอาละวาด สร้างโทษที่เลวร้ายแก่คนเป็นได้ แต่หากไหว้ดีพลีถูก ผีก็จะพึงพอใจ ไม่ทำอันตราย กล่าวได้ว่าทั้งเทพทั้งผีต่างก็สร้างคุณและโทษได้เหมือน ๆ กัน
เพื่อเป็นการปัดเป่าโรคร้ายและเหนี่ยวนำโชคลาภเข้าตัว ชาวบ้านบางคนเลยอบซาลาเปาร้อน ๆ ก้อนสีขาวนุ่ม เรียกว่า ‘เผ่งโอ๊นป๊าว’ (平安包) หรือ Ping On Bun แปลว่า ซาลาเปาสันติสุข มาถวายเทพเจ้าหรือเป็นเครื่องเซ่นแด่ผีสาง ก่อนนำมากินเสริมสิริมงคลแก่ตนเอง

ภาพ : Pinkoi
ด้วยจำนวนซาลาเปาที่มีมากมายมหาศาล ทำให้เกิดการนำซาลาเปามากองบนภาชนะคล้ายภูเขาสูง หนักข้อเข้าก็นำซาลาเปาสันติสุขมากองสูงเป็นภูเขาเลากาจริง ๆ
ถึงแม้ในกาลต่อมาปัญหาเรื่องโรคระบาดและโจรสลัดจะหมดสิ้นไปแล้ว หากผู้คนบนเกาะเฉิ่งเจ๊าก็เชื่อเสมอว่าเป็นเพราะพลังศักดิ์สิทธิ์ของทวยเทพที่ช่วยปกปักรักษาเกาะของพวกเขาให้แคล้วคลาดจากเรื่องร้าย ๆ ทั้งมวลมาได้ จึงจัดเทศกาลบวงสรวงบูชาเทพเจ้าและภูตผีสืบมาตลอดทุกปี

ปัจจุบันนี้ เทศกาลภูเขาซาลาเปาเกาะเฉิ่งเจ๊าถือเอาวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 4 ในปฏิทินจีนเป็นวันจัดงาน โดยวันนั้นถือเป็นวันประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธศาสนาแบบจีน และเป็นวันหยุดราชการในฮ่องกงที่ประชาชนคนทั่วไปจะสละเวลาเดินทางมาร่วมงานได้
การเฉลิมฉลองจะกินเวลาทั้งหมด 4 วัน แต่วันที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดขายประจำเทศกาลนี้ คือวันที่ 3 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันตรงของเทศกาลนี้
ในช่วง 2 วันแรกจนถึงครึ่งเช้าวันที่ 3 ชาวเกาะเฉิ่งเจ๊าจะทำการถือศีลกินเจโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อล้างท้องตระเตรียมกายใจให้สะอาดผ่องใส ตลอด 2 – 3 วันนี้ นอกจากร้านขายอาหารทะเลสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ไม่กี่ร้าน ทั่วทั้งเกาะจะมีแต่อาหารเจ ปราศจากเนื้อสัตว์ ผลผลิตจากการเบียดเบียนสัตว์ปนเปื้อน แม้แต่ร้านแมคโดนัลด์บนเกาะก็ยังงดเว้นการขายอาหารที่มีเนื้อสัตว์ประกอบ และเป็นโอกาสพิเศษในรอบปีที่จะนำเมนูประจำเทศกาลออกขาย คือเบอร์เกอร์เจ ใส่ไส้ถั่ว เห็ด แคร์รอต และผักอื่น ๆ

บรรยากาศที่เคยเงียบเหงาของเกาะเฉิ่งเจ๊าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยถนนหนทางจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายของงานฉลอง สิ่งที่ดึงดูดสายตาได้ดีนักคือซุ้มประดับที่สร้างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อโครงไม้ไผ่ แปะกระดาษสี เขียนอักษรจีนและตกแต่งเป็นลวดลายอันวิจิตร ประดับประดาธงหลากสี สวยงาม ส่วนมากเป็นที่ตั้งกองซาลาเปาบวงสรวง บางแห่งก็เป็นที่ประดิษฐานหุ่นเทพเจ้าทำจากกระดาษที่จะนำไปเผาไฟเมื่อเสร็จสิ้นเทศกาล


อักษรจีนที่พบได้ตามซุ้มนี้คือ 太平清醮 อ่านด้วยสำเนียงกวางตุ้งซึ่งเป็นภาษาหลักของฮ่องกงได้ว่า ‘ทายเผ่งเช้งฉี่ว’ หรือย่อว่า ‘ต๋าฉี่ว (打醮)’ เฉย ๆ เป็นชื่อพิธีกรรมการขอพรจากเทพเจ้าในลัทธิเต๋าให้ปัดเป่าโรคระบาดออกไป มีนักพรตในลัทธิเต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี ชาวจีนทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันนิยมทำพิธีต๋าฉี่วในช่วงต้นฤดูร้อน เนื่องจากฤดูร้อนในเมืองจีนมีโรคภัยไข้เจ็บมาก
ส่วนวันที่ทุกคนรอคอยมากที่สุด คือวันที่ 3 ของช่วงเทศกาล ซึ่งเต็มไปด้วยงานฉลองที่น่าตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ช่วงสายจรดกลางคืน เริ่มต้นด้วยขบวนแห่เจ้า


ราวบ่าย 2 โมง ศาลเจ้าต่าง ๆ บนเกาะจะอัญเชิญเทวรูปเทพเจ้าประจำศาลออกแห่แหนไปรอบเกาะ เพื่อโปรดสานุศิษย์พร้อมกับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งมวล นอกจากเทพเจ้าปั๊กไตที่อัญเชิญมาจากศาลใหญ่ของท่านแล้ว ในขบวนยังมีเทพเจ้าองค์อื่นหรือมาจากศาลเจ้าอื่นอีกหลายองค์ อาทิ เทพีทิ้นเห่า (Tin Hau) หรือเจ้าแม่ราชินีแห่งสวรรค์ผู้อารักขานักเดินเรือ กวู๊นยั้ม (Kwun Yam) พระโพธิสัตว์แห่งความเมตตาที่คนไทยรู้จักในชื่อ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ ในขบวนจะมีเชิดสิงโต แห่มังกร สร้างสีสันไปตลอดทาง
แต่จุดที่ชาวต่างชาติให้ความสนอกสนใจมากที่สุดในขบวนแห่เจ้าก็คือ ‘เด็กลอยได้’ ส่วนใหญ่เป็นเด็กท้องถิ่นตัวเล็ก ๆ อายุราว 3 – 8 ขวบ แต่ละคนจะยืนเด่นอยู่บนแท่นเสาสูงที่ผู้ใหญ่ในขบวนเดินประคองไว้ ด้วยรูปทรงของแท่นที่ดูบางเฉียบ ทำให้เด็ก ๆ แต่ละคนดูเหมือนกำลังลอยอยู่จริง


เด็กลอยได้พวกนี้จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ต่างกันไป มีทั้งพวกที่แต่งชุดจีนโบราณ บ้างแต่งกายเลียนแบบเทพเจ้าจีน เช่น โป๊ยเซียน กระทั่งชุดเลียนแบบตัวการ์ตูน ดารา นักร้อง และนักการเมืองชื่อดังก็มีให้เห็นบ่อยในขบวนแห่ของที่นี่ (น่าคิดว่าถ้าอยู่เมืองไทย เด็ก ๆ จะแต่งตัวเป็นใครกันบ้าง)
พอขบวนแห่กลับเข้าศาลเจ้าในช่วงเย็น กิจกรรมต่าง ๆ จะหยุดพักไปจวบจนมืดค่ำ หัวใจทุกดวงของผู้คนที่หลั่งไหลมาร่วมงานจะมุ่งตรงไปยังสนามฟุตบอลและลานอเนกประสงค์หน้าศาลเจ้าปั๊กไต ซึ่งที่นั่นมีซาลาเปาสันติสุขกองมหึมาอยู่ด้วยกัน 3 กองใหญ่

สิ่งนี้คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘ป๊าวซ้าน’ (包山) แปลว่า ภูเขาซาลาเปา สร้างขึ้นจากโครงไม้ไผ่ สานต่อกันเป็นทรงสูงสอบ แต่ถ้าใครมาหลังช่วงเตรียมงานย่อมอดเห็นโครงไม้ไผ่ด้านใน เพราะพื้นผิวทุกตารางนิ้วของประติมากรรมนี้ถูกปกคลุมไปด้วยซาลาเปาสันติสุขนับหมื่นลูก ดูคล้ายหอคอยสีขาวที่ตั้งตระหง่าน 3 หอท่ามกลางซุ้มประดับหลากสีสัน และธงเทศกาลที่ปลิวไสว
ภูเขาซาลาเปาแต่ละลูกมีความสูงถึง 45 ฟุต เทียบได้กับตึก 4 – 5 ชั้น ใช้ซาลาเปามากถึง 9,000 ลูกต่อภูเขา 1 ลูก โดยสิ่งที่ชาวเกาะเฉิ่งเจ๊าจะทำกับกองภูเขาเหล่านี้ไม่ใช่ ‘กิน’ แต่เป็น ‘ปีน’

เชื่อกันว่าธรรมเนียมนี้มีที่มาจากถิ่นฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว บรรพบุรุษของชาวเกาะเฉิ่งเจ๊าบางตระกูล ซึ่งในภูมิลำเนาเดิมของพวกเขามีประเพณีการแย่งชิงอาหารเซ่นไหว้ดวงวิญญาณ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นกับตัวผู้ฉกฉวยของไหว้เหล่านั้นมาได้
ผู้เข้าแข่งขันในเกมวัดใจนี้ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงปราดเปรียว มีผู้หญิงเข้าร่วมเป็นส่วนน้อย แต่ละคนจะติดหมายเลขประจำตัวไว้ที่หลัง ผูกถุงผ้าไว้ที่เอว สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือแข่งกันปีนกองภูเขาซาลาเปาขึ้นไปให้ไวที่สุด พร้อมทั้งเก็บซาลาเปาใส่ถุงส่วนตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีถ้วยและคำประกาศเกียรติคุณเป็นรางวัลเดิมพัน

ภาพ : South China Morning Post
สมัยก่อน ภูเขาที่สร้างจากโครงไม้ไผ่ทั้ง 3 เคยถูกใช้ปีนจริง และปฏิบัติสืบต่อกันมานานปี จนกระทั่งปี 1978 เกิดอุบัติเหตุภูเขาซาลาเปาโค่นล้มลง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100 คน หลังจากนั้นการแข่งขันปีนภูเขาซาลาเปาจึงถูกสั่งห้ามไปนานกว่า 20 ปี ก่อนจะกลับมาแข่งใหม่อีกครั้งเมื่อคนบนเกาะเรียกร้องให้กลับมาจัดใหม่ โดยเทศบาลเกาะเฉิ่งเจ๊าเป็นผู้จัดสร้างภูเขาซาลาเปาโครงเหล็กที่ทนทานมากขึ้น พร้อมทั้งจำกัดนักกีฬาให้เหลือเพียง 12 คนต่อการปีน 1 ครั้ง

แต่ละปีประเมินกันว่ามีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศแห่มาร่วมเทศกาลภูเขาซาลาเปามากกว่า 40,000 คน ร้านขายซาลาเปาเจ้าดังได้รับออร์เดอร์สินค้ามากกว่า 10,000 ลูก สร้างเงินสะพัดและรายได้มหาศาลแก่ชาวเกาะเฉิ่งเจ๊าอย่างที่ไม่มีเทศกาลอื่นใดเทียมเท่า

หลังจากการแข่งปีนภูเขาซาลาเปาเสร็จสิ้นลง กิจกรรมที่เหลือมีเพียงการไหว้เจ้า เผากระดาษ เทวรูปเหล่าเทพเจ้าที่แห่ออกมาจากศาลเจ้าจะได้รับการอัญเชิญกลับไปประดิษฐานในศาลเจ้าดังเดิม ส่วนซาลาเปาบนภูเขาจำลองจะถูกปลดลงมาแจกจ่ายแก่ชาวชุมชนโดยทั่วกัน
ล่วงเลยจากวันที่ 4 ของเทศกาลนี้ไป ก็ถึงเวลาที่เกาะเฉิ่งเจ๊าซึ่งคึกคักตลอด 4 วันที่ผ่านมา จะคืนสู่ความสงบเสงี่ยมในอ้อมกอดของคลื่นลมอีกครั้ง รอให้เดือน 4 ของปีหน้ามาถึง ภูเขาซาลาเปากองยักษ์จึงจะนำพาผู้คนเรือนหมื่นหวนกลับมา
ข้อมูลอ้างอิง
- www.cheung-chau.com/bun-festival
- explorepartsunknown.com/hong-kong
- thebeat.asia/hong-kong/nomads/explore
- www.hongkongfoodietours.com/cheung-chau-bun-festival
- hongkongcheapo.com/events/cheung-chau-bun-festival
- www.lcsd.gov.hk/en/bun/index.html
- https://thehkhub.com/cheung-chau-bun-festival/