เราพิมพ์ชื่อ ‘เข็มอัปสร’ ลงใน Search Engine บนอินเทอร์เน็ต ผลลัพธ์คือเว็บไซต์ชื่อมงคลที่บอกว่า เข็มอัปสร แปลว่าจุดมุ่งหมายของนางฟ้า

การตั้งชื่อบทสัมภาษณ์นี้ด้วยความหมายนั้นก็ดูจะเหมาะสมดี เพราะคนที่นั่งตรงข้ามเราคือ เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นางเอกที่อยู่คู่วงการจอแก้วไทยมาเกือบ 20 ปี

เชอรี่เข้าวงการบันเทิงด้วยความบังเอิญ แต่อยู่ในวงการด้วยความสามารถ แม้จะไม่ได้มีผลงานให้เห็นบ่อยๆ แต่ทุกครั้งที่ได้แสดงละครเรื่องไหน ละครเรื่องนั้นจะดังพลุแตกและเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เธอก้าวขาเข้ามาในวงการสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยการตั้งกลุ่ม Little Help เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่างๆ อาทิ การระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาล หรือกิจกรรมปลูกต้นไม้ให้กลายเป็นป่าภายใต้โครงการ Little Forest เธอผันตัวจากคนที่ไม่คิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ระดับบุคคลต้องช่วยกันแก้ไข เป็นกระบอกเสียงรณรงค์ให้คนหันมาปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเล็กน้อยเพื่อสร้างผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นได้ และ Little Big Green คือ​โครงการล่าสุดที่เธอทำร่วมกับเพื่อนทั้งในและนอกวงการ บนความเชื่อที่ว่าใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้

นั่นคือมุมหนึ่งของเชอรี่ 

อีกมุมหนึ่ง เธอคือลูกสาว น้องสาวคนสุดท้อง และเพื่อนของหลายๆ คน เธอคือผู้หญิงที่ยังเถียงกับตัวเองเรื่องอารมณ์ความรู้สึก คือคนที่เคยใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยมาก่อน คือนักปฏิบัติธรรมที่พยายามฝึกฝนอย่างดีที่สุด เธอคือคนแข็งนอก อ่อนใน คือนางเอกในจอ แต่นอกจอเป็นเพียงคนธรรมดาที่ผ่านความสุขสุดๆ ความเศร้าสุดๆ ผู้ที่พยายามใช้ชีวิตให้รู้สึกกลางๆ ที่สุด เพราะเชื่อว่านั่นคือความสุขที่แท้จริง

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

บทสนทนาเกิดขึ้นในสวนทำมือหลังบ้านที่เธอรับช่วงต่อมาจากพ่อ สวนครัวที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่เราคุ้นชื่อ อย่างอ่อมแซบ กวางตุ้ง ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน มะรุม มะเขือเปราะ กะเพรา และมะนาว ซึ่งเธอให้กลับมาด้วยเต็มตระกร้า

ก่อนส่งต้นฉบับนี้ เราเลื่อนกลับไปทวนชื่อบทสัมภาษณ์อีกครั้งแล้วคิดว่าเธอจะเขินไหมที่มีคำว่า ‘นางฟ้า’ อยู่ในนั้น แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปล่อยไป เพราะนางฟ้าในความหมายของเราไม่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเชอรี่ หากแต่เป็นมุมที่เธอมองโลก สิ่งที่เธอคิด และหลายอย่างที่เธอทำ แม้จริงๆ แล้วเธอจะสวยอย่างที่เห็นในละครก็ตาม

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าเป็นแฟนคลับคุณตอนเล่นเรื่อง เรือนไม้สีเบจ จำได้ว่าไปซื้อนิยายมาอ่านด้วย

เขารู้วัยเลยนะ (หัวเราะ)

เราชอบ ‘น้องมุก’ ตัวละครที่คุณเล่น ครึ่งเรื่องแรกเขาคือนางเอกในอุดมคติ ดูอ่อนต่อโลก ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบประคบประหงม แต่พอครึ่งเรื่องหลังชีวิตเขาเข้มข้นมาก เจอเหตุการณ์มากมาย ทำให้เราเห็นอีกมุมของเขาที่แข็งแรงมากๆ ในชีวิตคุณก็ผ่านการสูญเสีย ผ่านเรื่องราวมามากมาย ตัวคุณเองคล้ายคลึงกับบทบาทนี้มากน้อยแค่ไหน

เรียกว่าอาจจะเป็นขั้วตรงข้าม น้องมุกเป็นผู้หญิงที่ข้างนอกดูเป็นคนอ่อนโยน อ่อนหวาน ค่อนข้างไปทางอ่อนแอ แต่ภายในเขาเป็นคนเข้มแข็งมาก เมื่อเขาเจอกับปัญหาอะไร เขาจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นมา แต่สำหรับเราเอง ถ้าเป็นเชอรี่ดั้งเดิมเลย ดูข้างนอกเหมือนเป็นคนเข้มแข็ง แต่ข้างในอ่อนไหวมาก ร้องไห้ได้กับทุกเรื่องแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างดูหนัง ฟังเพลง โดนเพื่อนแกล้ง โดนพี่แกล้ง เรียกว่าเป็นเด็กขี้แยใช้ได้คนหนึ่งเลย แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิต ด้วยการที่เราได้ไปเรียนรู้วิชาของพระพุทธเจ้า ที่พอรู้เราก็ได้ปฏิบัติ ได้ลงมือทำบ่อยๆ ได้เห็นความจริงในตัวเองบ่อยๆ มันทำให้เราเข้าใจสัจธรรมชีวิตมากขึ้น และตัวตนภายในก็เริ่มแข็งแรงจนไล่ทันภายนอกที่ดูแข็งแกร่งอยู่แล้ว

แล้วมุมมองที่มีต่อชีวิตเปลี่ยนไปไหม

จริงๆ ชีวิตเปลี่ยนตั้งแต่ตอนสูญเสียคุณแม่แล้ว เหมือนอยู่ๆ เราก็เจอโจทย์ใหญ่ เราอาจจะเคยสูญเสียคุณยายตั้งแต่ยังไม่เกิด เสียคุณตาคุณปู่ตั้งแต่ยังเล็กมาก จำความอะไรไม่ค่อยได้ แต่เราเสียคุณแม่ตอนอายุยี่สิบเอ็ด สำหรับวันนั้นมันเป็นโจทย์ยากมากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ มีแต่คำถามว่าแล้วจะใช้ชีวิตต่อไปได้ยังไง ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความสูญเสียและความเจ็บปวด ทุลักทุเลมาก แต่พอผ่านมาได้ มันทำให้มุมมองในชีวิตต่างๆ ของเราเปลี่ยนไปเยอะ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การวางแผน การทำงาน ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย จากตอนนั้นเราอยู่ปีสี่ สนุกกับการทำงาน สนุกกับอะไรต่างๆ ในชีวิต พอแม่เสีย สิ่งที่เราได้รับคือความรู้สึกผิด ทำไมได้ใช้เวลากับแม่น้อย เรายังไม่ได้ตอบแทนแม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่จริงๆ แล้วครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิด สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก อยู่ด้วยกันตลอด แต่เราก็ยังรู้สึกว่ามันไม่พอ เรามีแพลนอีกเยอะแยะเลยที่อยากทำให้แม่ 

แต่ต้องยอมรับว่าตอนเรายังเด็ก เราเป็นคนขี้เกรงใจ เวลาจะปฏิเสธอะไรใครก็ทำไม่ได้เต็มที่ ไม่แน่ใจว่าจะบอกว่าโตขึ้นแล้วความเกรงใจลดลง หรือจะบอกว่าเราเคารพความต้องการของตัวเองมากขึ้น (ยิ้ม) วันนั้นมีคนคนหนึ่งให้สติเราว่า “แต่เชอรี่ยังเหลือคุณพ่อนะ” เราก็เบนเข็มชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเลย เรากล้าที่จะจัดสรรเวลา ครอบครัวมาอันดับหนึ่ง คุณพ่อคืออันดับหนึ่ง

ถือเป็นบทเรียนยากที่เข้ามาในชีวิตเร็วเหมือนกัน

เร็วมาก ตอนนั้นทุกข์แบบกินไม่ได้นอนไม่หลับ พูดถึงไม่ได้ ร้องไห้ตลอด เป็นอย่างนั้นอยู่น่าจะสองปีได้ เคยอ่านหนังสือธรรมะเหมือนกัน ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เวลามีคนมาชวนไปปฏิบัติธรรมเราปฏิเสธตลอด เพราะไม่ชอบความลำบาก ไม่ชอบตื่นเช้าขนาดนั้น (หัวเราะ) วันที่ได้ไปครั้งแรกมันเป็นเหตุบังเอิญที่ได้ไป แล้วพบว่า โห เราพลาดสิ่งนี้ไปได้ยังไงตั้งยี่สิบเจ็ดยี่สิบแปดปี นี่คือวิชชาของชีวิต สิ่งที่เราควรเรียนคือสิ่งนี้ 

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

การปฏิบัติธรรมกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เมื่อไหร่

มันเหมือนกับการกินผักแล้วดี นึกออกไหมว่ามันจะมีผักบางอย่างที่เราชอบ และผักบางอย่างที่เราไม่ชอบ แต่เรารู้ว่ามันดี เราก็ทานมัน จนกลายเป็นทำทุกวันไปแล้ว อยู่บ้านก็สวดมนต์นั่งสมาธิเองอย่างน้อยวันละชั่วโมง 

ครั้งแรกที่ไปก็ไปเจ็ดวันเลย ในเจ็ดวันนั้นรู้สึกเลยว่าชีวิตได้พบเจอสิ่งที่เราตามหา เราอยากไปทางนี้แหละ แต่ช่วงแรกเรายังหาบาลานซ์ไม่ได้ เวลาไปแล้วกลับมาใช้ชีวิตทางโลก เราก็ไหลไปตามกระแสโลก เราไม่สามารถเอามารวมกันเป็นชีวิตเดียว มันแยกกันอยู่อย่างนั้นพักใหญ่เลย เวลากลับมาก็พยายามจะปฏิบัติธรรมทุกวัน ทำได้อาทิตย์สองอาทิตย์ก็เลิกไป กระแสโลกก็ตีพัลวันเข้ามาอีก หรือช่วงหนึ่งที่ไปปฏิบัติธรรมบ่อยๆ เราเบื่อทางโลก ไม่อยากเจอผู้คน มันหาบาลานซ์ไม่ได้ เราปฏิบัติธรรมมาน่าจะสิบปีได้แล้ว แต่เพิ่งมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันน่าจะช่วงสามสี่ปีหลังนี่เอง เพราะรู้สึกว่าเราจะเป็นสิงห์สนามซ้อม ที่พอเอาจริงก็โดนกิเลสโดนอารมณ์ตีจนน่วม เราเลยพยายามนำสิ่งที่เราไปฝึกมามาทำๆๆ ค่อยๆ ทำได้มากขึ้น พอทำมากขึ้นก็เลยอยากทำทุกวัน ถ้าไม่ทำทุกวันเราจะต้านกระแสไม่ไหว แต่มันไม่ได้ลืมวิธีการปฏิบัตินะ เราจะขี้เกียจแล้วก็จะหลงไปกับทุกอย่างบนโลกนี้ มันเหมือนขนม เหมือนขนมกับผักเลย

พอหาสมดุลได้ ตัวเองเปลี่ยนไปมากไหม

เปลี่ยน ถ้าเทียบกับตัวเราเอง คนอื่นเขาอาจจะดีมาตั้งแต่ต้นก็ได้นะ แต่เราไม่ใช่ (หัวเราะ) ถ้าเทียบกับเราในอดีต มาได้ถึงวันนี้ก็ถือว่าใช้ได้ เรากลับไปทบทวนตัวเองบ่อยมาก ในการปฏิบัติธรรม ในการเจริญสติ มันทำให้เราได้กลับไปพิจารณาทุกสิ่งที่เกิดขึ้น 

การที่เราทำสมาธิทุกวันช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองได้บ้าง จากที่เมื่อก่อนเราอาจจะว่าคนไปแล้ว ถึงเพิ่งมารู้ตัวว่าเมื่อกี้เราโกรธมาก เลยว่าเขาไปโดยไม่รู้ตัว แต่สมาธิและสติทำให้เรารู้ตัวว่า นี่กำลังโมโหอยู่ มันจี๊ดๆๆ ขึ้นมาแล้ว ก่อนที่เราจะกระทำอะไรลงไป เหมือนเป็นเพื่อนอีกคนที่คอยมองดูตัวเราอยู่ คอยเตือนว่า ณ ตอนนี้เรามีความคิดไม่ดีเกิดขึ้น แล้วมันเป็นยังไง แต่มันก็ไม่ได้ทันทุกอย่างนะ 

แปลว่าบางทีก็มีหลุดบ้าง

ไม่หลุดบ้างหรอก หลุดเลย (หัวเราะ) แต่เราถือว่าตัวเองเป็นนักเรียนรู้ เรียนรู้และพัฒนามันต่อไป เพราะเมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนมาก ใจร้อนทุกอย่าง ขับรถเร็ว ขี้โมโห ขี้หงุดหงิด ขี้รำคาญ กับที่บ้านคือเต็มที่ ดีหน่อยที่เวลาไปข้างนอกเรายังเกรงใจคนอื่น โมโหโกรธแหละ แต่ไม่พูด นิ่ง ทั้งๆ ที่หน้าและรังสีตีแผ่ออกไปขนาดที่ทุกคนสัมผัสมวลได้หมด ด้วยความที่เป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้รำคาญ อะไรนิดหนึ่งหน่อยหนึ่งก็จะสะกิดอารมณ์หมดเลย ตอนที่รู้เท่าทันอารมณ์ได้ มันทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย มีเมตตามากขึ้นด้วย เมื่อก่อนเราจะมองทุกอย่างออกจากตัวเองไปหาคนอื่น ทำไมเขาถึงไม่ทำแบบนี้ ทำแบบนี้มันดีกว่าแล้วทำไมไม่ทำ เราจะตำหนิทั้งที่พูดออกไปและคิดในใจ มาตอนหลังที่บอกว่าเข้าใจหมายความว่า มันมีเหตุผลหลากหลายมากที่คนคนหนึ่งจะทำอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้นึกไปถึงว่าเขาอาจจะมีปัญหาอย่างโน่นอย่างนี้ ไม่ได้ไปคิดเป็นสตอรี่ขนาดนั้น พอเรารู้สึกให้อภัยโดยไม่เก็บมาเป็นอารมณ์มันก็ไม่เป็นไร เราแค่เข้าใจมนุษย์มากขึ้นว่าคนก็เป็นแบบนี้ได้ ชีวิตมันเลยสบายมากขึ้น เบามากขึ้น สิ่งต่างๆ รอบตัวเลยไม่ได้มากระทบกระเทือนใจได้บ่อยเท่าเมื่อก่อน นอกจากจะมีบางเหตุการณ์หนักหน่วงจริงๆ จนเราต้านไม่ไหว

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

ผ่านชีวิตในวงการบันเทิงมาด้วยธรรมะด้วยหรือเปล่า

จริงๆ แล้วธรรมะทำให้เราเห็นว่ามันไม่จริงเลย ไม่ว่าจะในวงการบันเทิงเองหรือวงการไหนๆ ฟังอยู่แล้วอาจจะดูอุดมคตินะ แต่ทุกอย่างมันเป็นเรื่องสมมติไปหมด ถามว่าเราผ่านวงการบันเทิงมายังไง เราต้องขอบคุณความบังเอิญที่ทำให้เราได้เข้ามาทำงานตรงนี้ หนึ่ง เป็นโอกาสที่ดี กับสอง มันทำให้เรารู้ตัวว่าไม่ได้อยากมาทำงานนี้ตั้งแต่แรก เราเลยไม่รู้สึกว่าต้องอยู่ตรงนี้ให้ได้ ทำให้ไม่ยึดติด หรือคิดว่าเราจะต้องไม่ไปไหน เราเลยรู้สึกสบายๆ เราทำงานนี้ก็เหมือนคนอื่นที่ทำอาชีพอื่นๆ เวลาเราไปทำงาน เราต้องรับผิดชอบ ต้องมีวินัย ต้องทำการบ้าน ต้องมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน ทำงานตรงนั้นเสร็จ จบก็คือจบ เราไม่ได้เอากลับมาบ้านว่า เรื่องนี้เล่นเป็นนางเอกเลยนะ

ยังคุยกับพี่สาว (ปูเป้-รามาวดี นาคฉัตรีย์) อยู่เลย มีคนมาบอกว่าสมัยนั้นเชอรี่เล่นละครดังมาก เราได้แต่ตอบไปว่า เหรอคะ (หัวเราะ) เราบอกพี่สาวว่า ตัวเองไม่เคยรู้เลยว่าช่วงไหนเราดังหรือไม่ดัง แค่รู้สึกว่าเราทำงาน ละครเรื่องไหนดี มีคนชอบ แค่นั้นก็จบ ในทุกเรื่องเราได้เรียนรู้ ได้พัฒนาฝีมือในการเล่น จากตอนแรกๆ ที่เล่นไม่เป็นเลย ไม่เป็นเลยจริงๆ จนมาสนุกกับการแสดงมากขึ้น อยากเรียนรู้ศาสตร์นี้ให้มากขึ้น 

เพิ่งรู้ว่าคุณเข้าวงการมาด้วยความบังเอิญ

งานแรกเป็นโฆษณา ซึ่งงานโฆษณาอยากทำ ที่อยากทำไม่ใช่เพราะอะไรเลย แต่ตอนนั้นอยู่มอห้า มีคนมาชวนไปแคสต์งาน แล้วได้ตังค์ เราเลยรู้สึกว่าดีจังเลย ทำงานไม่กี่วัน ทำไมได้เงินง่ายขนาดนี้ งั้นต่อไปจะเล่นโฆษณาดีกว่า (หัวเราะ) ระหว่างแคสต์โฆษณาก็มีพี่ที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับกำลังทำละครอยู่ เขาชวนไปเรียนแอคติ้ง เราก็ไป เพราะตอนที่เล่นโฆษณาเขาให้ทำอะไรก็ทำไม่ได้เลย เราอยากรู้ว่าต้องทำยังไง ปรากฏว่าเขากำลังจะเปิดกล้อง ตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเปิดกล้องคืออะไร เขาชวนไปเล่น แต่เราไม่เอา ไม่ได้อยากเป็นนักแสดง จนตอนนั้นทะเลาะกับแม่เป็นเรื่องเป็นราวเลย แม่มองว่าเราไปทำให้เขาเสียเวลา ทำไมเราไม่รับผิดชอบ จนพ่อผู้ซึ่งไม่ชอบกิจกรรมใดๆ ชอบให้เรียนหนังสืออย่างเดียว ออกมาตัดสินว่าลูกควรจะรับผิดชอบ เล่นให้จบ แล้วหลังจากนั้นจะไม่ทำต่อก็ไม่เป็นไร แต่ก็ทำเรื่อยมา

นางสาวเข็มอัปสรในตอนนั้นอยากโตไปเป็นอะไร

อยากเป็นสถาปนิก เป็นอาชีพเดียวที่อยากเป็นมาโดยตลอด เพราะเราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ชอบดูเวลาเขาตกแต่งบ้าน ใฝ่ฝันว่าอยากจะทำแบบนั้นบ้าง แต่พอเข้าวงการก็ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ (หัวเราะ) มันทำให้ต้องเบนเข็มในชีวิตหลายอย่าง จากที่เรียนมอปลาย สายวิทย์ ก็ต้องมาสอบเข้าคณะที่เป็นสายศิลป์ เพราะอ่านหนังสือไม่ทัน คิดว่าไม่น่าจะมีหวัง เลยไปปรึกษาอาจารย์แนะแนว แล้วก็มีคณะหนึ่งที่อาจารย์แนะนำบอกว่าเรียนปรัชญา เรียนเรื่องระบบในสังคม มีผสมจิตวิทยาเข้าไปด้วย ซึ่งจิตวิทยาก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่เราสนใจ ก็เลยเอ็นทรานซ์เข้าคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันพูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมเสียส่วนใหญ่ เป็นเรื่องการขัดเกลาทางสังคม ระบบในสังคม สถาบันทางสังคม คนก็มีด้วย 

สิ่งที่เรียนได้เอามาใช้ในชีวิตบ้างไหม

โดยตรงไม่ได้ใช้ ถ้าจะใช้ต้องไปเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ นักสังคมวิทยา ซึ่งเมืองไทยไม่ค่อยมี แต่สิ่งที่เราเอามาใช้คือการมองทุกอย่างอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคน นักสังคมวิทยาเชื่อว่าระบบในสังคมประกอบด้วยสถาบันต่างๆ มากมาย เราก็จะเรียนเจาะลึกไปในสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันครอบครัว เรื่องเด็ก เรื่องเยาวชน ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหามันต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ นี่แหละถึงทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ 

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา
สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

ทุกอย่างในชีวิตเหมือนปูมาให้คุณมีความคิดแบบนี้ มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมด้วยหรือเปล่า

พอเรารู้ว่าแก่นของชีวิตคืออะไร เรารู้ว่าอะไรสำคัญ เราเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ มันอาจจะไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมทั่วไป พอเราได้เห็นถึงคุณค่าของคนรอบข้าง ของสิ่งรอบตัวมากยิ่งขึ้น ความรู้สึกที่เราอยากตอบแทนทุกๆ สิ่ง มันอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราหันมาสนใจสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของการที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตที่ผ่านมาเราใช้ไปโดยไม่นึกขอบคุณมันด้วยซ้ำ ไม่เคยคิดจะลงมือทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบบางอย่าง 

เรารู้สึกว่ามันไกลตัวมาโดยตลอด มองว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องเข้าไปยุ่ง เป็นหน้าที่ของคนอื่น ทั้งที่ตอนเด็กๆ เราก็เติบโตมากับธรรมชาติ คือรักนะ สวยนะ แต่ไม่มีใครเคยบอกว่าเราต้องดูแลมันยังไง จริงๆ แทบไม่เคยมานั่งนึกด้วยซ้ำว่าการใช้ชีวิตของเราส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมยังไง 

ตอนที่ทำโครงการ Little Forest แค่คิดว่าอยากแก้ปัญเรื่องภัยแล้ง ก็เริ่มหาข้อมูล ภัยแล้งมาจากไหน พบว่าต้องแก้ที่ป่าไม้ แล้วแก้ที่ป่าไม้ต้องทำยังไง ไม่ใช่แค่การไปปลูกต้นไม้ แต่ต้องทำให้ต้นไม้โตไปเป็นป่าด้วย เราก็ค่อยๆ หาคำตอบไปทีละเปลาะๆ แล้วก็พบว่าการจะทำให้ป่าเป็นป่าได้ เราต้องทำให้คนในพื้นที่รักพื้นที่ตรงนั้นด้วย ทำให้เขามีความรู้สึกหวงแหน แล้วเราก็รู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การบริโภคเนื้อสัตว์เยอะๆ จริงๆ ก็ส่งผลกระทบต่อป่าไม้ด้วย เพราะสาเหตุสำคัญของการบุกรุกที่ป่าคือการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือการที่เราใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ใช้น้ำในการผลิตเยอะ แรงงาน ไฟฟ้า ถ้าเราใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ก็ล้วนทำให้เกิดการเผาผลาญสิ้นเปลืองทั้งนั้นเลย เรารู้ว่าเราลดการสร้างขยะได้ เพราะขยะก็เป็นปัญหาสำคัญของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ดิน หรือมหาสมุทร ต่างปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีจากขยะและตัวขยะเอง 

เหมือนคุณค่อยๆ โยงปัญหาเข้าใกล้ตัวเองขึ้นเรื่อยๆ

ใช่ ตอนแรกเราพุ่งเป้าออกไปข้างนอก เราตั้งคำถามจากจุดที่ไกลก่อน ป่าไม้ต้องแก้ยังไง ปัญหาน้ำต้องแก้ยังไง ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นตัวก่อปัญหาก็เป็นเรานี่เอง เราก็เลยหันมาเปลี่ยนการใช้ชีวิต ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่าเราก็ยังไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น เรายังเป็นบุคคลหนึ่งที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยน แต่ทำคนเดียวอิมแพ็กมันไม่ใหญ่ เราเลยทำเป็นโครงการ Little Big Green ขึ้นมา ให้เป็นพื้นที่รวมข้อมูลต่างๆ ที่ย่อยให้เข้าใจง่ายไว้แล้ว เวลาคนอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะได้เข้ามาศึกษาได้ เราให้ความสำคัญกับข้อมูลมาก ตัวเราเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนเพราะรู้มากขึ้น ตอนแรกที่ไม่สนใจ พอเริ่มสนใจได้อ่านข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งหนึ่งนำไปสู่สิ่งหนึ่ง แล้วก็นำไปสู่สิ่งหนึ่ง ถ้าคนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ก็น่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้

ถ้ามองว่าตัวเองคนเดียวคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้วไม่ลงมือทำ มันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี นอกจากตัวเราแล้ว คนอื่นๆ ด้วย สังคมด้วย รัฐด้วย นโยบายด้วย ทุกส่วนจะต้องไปพร้อมๆ กัน เอื้อกันทั้งหมด จากที่เคยมองว่ามันคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลมั้งที่ต้องจัดการเรื่องนี้ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคนทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมดเลย แต่ละคนก็มีความสามารถที่จะรับผิดชอบในแต่ละส่วนของตัวเองไปได้ ถ้าต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง เราว่ามันจะเป็นการแก้ปัญหาได้จริงๆ สักที 

ชอบแนวคิดที่ว่า ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้

ตอนที่มีคนมาบังคับให้เราทำ เราก็ไม่อยากทำนะ พอวันหนึ่งที่เราอยากทำ เราก็ทำของเราเอง คอนเซปต์ของมันก็คือ AS GREEN AS YOU CAN คุณจะเขียวแค่ไหนก็ได้ 

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

ในเว็บไซต์ Little Big Green จะมีแบบทดสอบความเขียวของตัวเอง ของคุณคือเขียวแค่ไหน

เป็นมอส เขียวมอสอยู่ระดับสี่เต็มห้า (ยิ้ม)

การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมากไหมพอมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง

วิธีการใช้ชีวิต การใช้สตางค์ ค่านิยมของตัวเองในเรื่องต่างๆ เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนพอสมควร อย่างเช่น เรื่องช้อปปิ้ง แต่งตัว ช่วงแรกที่ไปปฏิบัติธรรมเราก็ยังแต่งตัว ใช้ของโน่นนี่ คนก็จะชอบตั้งคำถามกับเราว่า ทำไมศึกษาธรรมะแต่ยังใช้ของแพงอยู่ สำหรับเราในตอนนั้นมันเป็นคนละเรื่องกัน มันคือความชอบที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน สมมติเราสนใจแฟชั่น เราคลั่งไคล้เรื่องนี้ การที่จะให้เราลดเรื่องนี้ก็ต้องใช้เวลา บางคนอาจจะคลั่งไคล้เกมหรือฟุตบอล เขาก็ต้องใช้เวลาในการลด การที่เราได้มาปฏิบัติธรรม ได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้มาสัมผัสชีวิตคนจริงๆ ในพื้นที่ ได้เห็นคุณค่าของชีวิต เห็นคุณค่าของเงินจริงๆ มันทำให้เรารู้สึก… ต้องใช้คำว่า ‘ละอาย’ ละอายที่จะใช้ชีวิตแบบเดิม 

แรกๆ เราคิดว่ามันเป็นเงินของเรา เราหาได้ตั้งแต่เด็ก เรารับผิดชอบตัวเอง ส่วนที่เราควรจะให้คนอื่น ให้ครอบครัว ให้สังคม ให้อย่างที่เราควรจะให้เราก็ทำแล้ว ทำไมเราจะใช้ส่วนที่เหลือเองไม่ได้ แต่ในวันที่ค่านิยมของเราเปลี่ยนไป เรามองว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญในชีวิตอีกต่อไปแล้ว เมื่อก่อนตอนจะซื้อตอนจะได้มันจะตื่นเต้น แต่ความอยากค่อยๆ หายไป เหมือนเราไปสนใจสิ่งอื่นมากกว่า ทำให้เราช้อปปิ้งน้อยลงมากๆ มากๆ (เน้นเสียง) ใช้เงินซื้อของฟุ่มเฟือยน้อยลงมากๆ

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมคืออะไร

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสุดท้ายที่คนให้ความสำคัญ เท่าที่สัมผัสมา คนจะคิดว่าแค่ใช้ชีวิตประจำวันของเขาก็เหนื่อยมากแล้ว ต้องรับผิดชอบเรื่องงาน รับผิดชอบครอบครัว มีภาระเยอะแยะมากมาย เราเข้าใจว่ามันเป็นธรรมดาที่ทุกคนจะคิดอย่างนั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมมันกระทบกับเราทุกอย่างเลย เผลอๆ เป็นอันดับแรกๆ ด้วยซ้ำ ถ้าสมมติเรามีบ้านเมืองที่มีแต่ภัยพิบัติ อุทกภัย ความแห้งแล้ง มันก็กระทบกับเศรษฐกิจ หรืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ ก็ทำให้เกิดโรคระบาดได้มากกว่าเดิม ถี่กว่าเดิม รุนแรงกว่าเดิมก็ได้เหมือนกัน มันเกี่ยวเนื่องทุกๆ อย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อม ปากท้อง ความปลอดภัย ที่อยู่อาศัย

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา
สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

ชื่อเสียงที่มีอยู่ช่วยให้ง่ายขึ้นไหม

มันอาจจะทำให้คนหันมามองเฉยๆ ว่า คนนี้เขาทำเรื่องนี้อยู่นะ แต่ชื่อเสียงไม่ได้ช่วยอะไรในขั้นตอนต่อไป เพราะจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนจะทำมันต่อหรือไม่มากกว่า

ปีที่แล้วคุณตั้งใจอยากไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ แปลว่าไม่ได้อยากเป็นแค่กระบอกเสียง แต่อยากลงมือทำจริงๆ 

จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เรามองว่าการที่เราจะเป็นกระบอกเสียงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องเป็นกระบอกเสียงที่ลงมือทำ สังเกตจากตัวเองเวลาที่เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อใครสักคน ถ้าเขาผ่านประสบการณ์ตรงแล้วทำให้เราเห็น เราจะเชื่อเขาได้ง่ายกว่าที่เขามาพูดให้เราฟังอย่างเดียว เรารู้สึกว่าถ้าเราได้รู้จากสถาบันที่น่าเชื่อถือ ได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ เราก็น่าจะเข้าใจมันได้ดีมากขึ้น และเอามาประยุกต์ใช้กับโครงการที่เราทำ มันน่าจะมีประโยชน์

แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่คุณพ่อไม่สบายมาได้ประมาณปีหนึ่ง คุณพ่อเลือกที่จะไม่รักษา เขาบอกว่าถ้าเราไปเรียน เขาจะไปด้วย ยังจำได้เลยวันที่จะสมัครจริงๆ ถามย้ำเขาอยู่เลยว่า พ่อไปจริงนะ ถ้าพ่อไม่ไป ลูกก็ไม่ไปนะ ถ้าพ่อไป ลูกไป แล้วพ่อบอกว่าไป 

เราอยากให้พ่อได้ไปอยู่ในที่ที่อากาศดีๆ ได้มีที่เดิน ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีอาหารที่เป็นออร์แกนิกหาทานง่ายๆ ใจคิดแค่นั้นเลยว่ามัน win-win นะ 

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา
สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

เรียนรู้อะไรจากการไปอยู่ตรงนั้นบ้าง

หลายอย่างเลย ทั้งวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ แล้วก็สิ่งแวดล้อม อย่างภาษา เวลาที่เราใช้ภาษาไทยที่เคยชิน เราจะไม่ค่อยสังเกตคำที่เราเลือกใช้หรอก แต่เวลามันเป็นภาษาที่เราไม่ชิน เรากลับรู้สึกว่าภาษาอังกฤษหรือเพราะเป็นคนอังกฤษก็ไม่แน่ใจ เขาจะให้ความสำคัญกับการเลือกใช้คำ คำเล็กๆ น้อยๆ ตอนหลังเราเลยเลือกใช้คำมากขึ้น เช่น เลือกใช้คำที่แสดงความอ่อนน้อม แสดงความสุภาพ

ในแง่ของเศรษฐกิจ คนอังกฤษจริงๆ เขาไม่ค่อยใช้สตางค์กันนะ อาหารก็ไม่ค่อยไปทานข้างนอก ทำกับข้าวทานเอง เขาค่อนข้างพอเพียง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะออกซ์ฟอร์ดมันเป็นเมืองเล็กๆ ไม่ได้มีอะไรให้ช้อปปิ้งเยอะด้วย แล้วตัวเราเอง เราได้ค้นพบว่าการมีห้อง มีตู้เสื้อผ้าที่เล็กมากๆ เราก็อยู่ได้ เราไปโม้ให้ทุกคนฟังเลยว่าตู้เสื้อผ้ากว้างแค่นี้เอง แต่เสื้อผ้าเราไม่เต็ม มีที่เหลือด้วย เราเลยไม่ได้โฟกัสเรื่องการแต่งตัว แต่งซ้ำ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ เปลี่ยนกระเป๋าได้ทุกวันให้เข้ากับชุด (หัวเราะ) แต่อยู่โน่นใช้กระเป๋าใบเดิมทุกวัน โอเค ช่วงแรกเอาไปสามใบด้วยความติดนิสัยจากเมืองไทย เผื่อไว้ แต่พออยู่ไปสักพักเราเริ่มใช้กระเป๋าตามฟังก์ชันของมัน ใบนี้สำหรับใส่ของเยอะและกันน้ำ โค้ทก็มีตัวหนึ่งที่อุ่นและกันฝน จบ แล้วไม่ต้องเสียเวลาแต่งตัวเลย ชีวิตก็ง่ายขึ้น อีกเรื่องคือใช้สตางค์น้อย มีแค่ค่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าของใช้ประจำตัว

ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะบอกว่าเมืองนอกดีเนอะ รถไม่ติด เพราะเขาเดินเยอะ ไม่ก็ใช้ขนส่งสาธารณะมาก แต่จริงๆ ออกซ์ฟอร์ดก็ปัญหาเรื่องจราจรและมลพิษทางอากาศมาก ที่เปลี่ยนคือเรามี Carbon Footprint น้อยลงมาก เพราะส่วนใหญ่เดิน นอกจากวันไหนไกลหรือรีบมากๆ ก็จะนั่งรถเมล์ แท็กซี่มีบ้าง น้อยมาก แล้วที่โน่นเขาไม่ได้มีพื้นที่ป่าไม้หรือต้นไม้ใหญ่เยอะ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่ง เราก็ได้ไปฟังอาสาสมัครประชุมกันเรื่องจะปลูกต้นไม้บนพื้นที่เหล่านั้น คนที่อาศัยอยู่แถวนั้นมีทั้งนักวิชาการ อาจารย์ คนทำงานอาชีพทั่วไป แล้วเขาจะแยกกลุ่มกันชัดเจน กลุ่มนี้รับผิดชอบเรื่องนี้ อีกกลุ่มรับผิดชอบอีกเรื่องหนึ่ง พอประชุมเสร็จก็เอามารวมกัน แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ข้อสรุปเรื่องแผนการของเขา มันทำให้เราเห็นว่าภาคประชาชนเขาก็ลงมือทำกันเลยโดยไม่ต้องรอให้บริษัทใหญ่ๆ หรือรัฐบาลมารับผิดชอบ ได้ไปเห็นตรงนั้นมันก็ดี ได้มองเขาแล้วมาเปลี่ยนที่เรา

เป็นการออกจากบ้านไปอยู่คนเดียวครั้งแรกในชีวิตหรือเปล่า

ไม่ใช่ (ยิ้ม) จริงๆ มี พี่แตน (พรฤดี ศรีทองสุข) ที่คอยดูแลเรามาตั้งแต่ทำงานแรกๆ เขาไม่ได้เป็นแค่ผู้จัดการ แต่เป็นเพื่อนเป็นพี่ที่สนิทกัน พี่แตนบอกว่าจะไปเป็นเพื่อนในช่วงแรก เราก็เช่าบ้านเผื่อพ่อด้วย แต่พอวันจะเดินทาง พ่อบอกว่ายังไปไม่ไหว พ่อก็เลยส่งพี่แตนไป เพราะพ่อห่วงมากทั้งที่ลูกก็อายุจนป่านนี้แล้วนะ (หัวเราะ) เราบอกว่าอยู่ได้ อยู่คนเดียวได้ แต่พ่อก็กลัว

แปลว่าพ่อหวงมาก

มาก (ลากเสียง) พ่อมีระเบียบและเข้มงวดมาก ทำอะไรต้องขออนุญาต บ้านเราเป็นแบบนั้น ค่อนข้างจะหัว… สมัยก่อนนิดหนึ่ง ไม่อยากจะใช้คำว่าหัวโบราณ เราก็ติดมาบ้างเหมือนกันนะ หลายๆ ครั้งเวลาพูดอะไรออกไป คนจะชอบแซวว่า “นี่อายุเท่าไหร่แล้วเนี่ย” เราเหมือนเป็นคนแก่ที่มองโลกในยุคนี้ที่มันว้าวไปหมด

สมดุลชีวิตของ เชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ กับแนวคิดสิ่งแวดล้อมและเข้าใจว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา

อย่างที่คุยกันก่อนหน้านี้ คุณบอกว่าตัวเองเจอกับการสูญเสียครั้งถึงสองครั้ง คิดว่าตัวเองรับมือกับมันได้ดีขึ้นไหม

อย่างครั้งแรกที่คุณแม่เสีย รับมือได้แย่มาก มันคือการสูญเสียที่ทำให้เราเสียการทรงตัวไปเลย ใช้เวลาเป็นปีเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ไปในแต่ละวัน มันเหมือนคนคลำทาง ไม่รู้ว่าต้องไปทางไหน ต้องคลำดูว่าคงประมาณนี้แหละ และค่อยๆ พยุงตัวขึ้นจากการเสียการทรงตัวให้ลุกขึ้นมาได้ น่าจะประมาณสี่ปีกว่าเราจะพูดถึงแม่ได้โดยไม่ร้องไห้ แต่หลังจากที่ตั้งหลักได้ เราบอกตัวเองว่าชีวิตยังมีพ่ออีกคน เราเลยใช้ชีวิตเพื่อเตรียมตัวว่าจะดูแลเขายังไง ใกล้ชิดกับเขายังไง ให้เวลากับเขายังไงให้มากที่สุด เพราะเรารู้ว่าสุดท้ายคนเราก็ต้องจากกันนั่นแหละ ยิ่งพอมาปฏิบัติธรรมยิ่งเข้าใจว่ามันเป็นสัจธรรม เรามีเวลาจากวันนั้นจนถึงวันที่เสียพ่อประมาณสิบเก้าปี ณ วันที่รู้ครั้งแรกว่าคุณพ่อเป็นมะเร็งเมื่อสามปีที่แล้ว เรารับมือได้ดี วันนั้นรู้แค่ว่าเราต้องเป็นหลักให้พ่อ ไม่ร้องไห้ ไม่ฟูมฟาย หาทางเลือกว่าต้องรักษายังไง ถ้าพ่อไม่อยากรักษาแนวนี้ หาข้อมูลว่ามีทางไหนอีกบ้าง ตัวเราค่อนข้างเป็นระบบและเข้มแข็งขึ้นมาก เข้าใจไปเองว่าเราโอเคขึ้นมากจากการฝึกวิชามาเกือบยี่สิบปี แต่พอวันที่รู้ผลว่ามันกลับมาอีกครั้ง ตอนนั้นอยู่อังกฤษ ต้องบอกเลยว่ารวบรวมสติไม่ได้นะ ที่เข้าใจไปว่าเข้มแข็งมันไม่ใช่ โมเมนต์นั้นมีแต่ความกลัว กลัวๆๆ ไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เรารู้ว่าถ้ามันกลับมาแปลว่าเราเหลือเวลาไม่มากแล้ว วิชาของพระพุทธเจ้าที่ร่ำเรียนมาลืมไปหมดเลย พยายามจะนั่งสมาธิก็นั่งไม่ได้ ร้องไห้ตลอด พยายามติดต่อพ่อ ก็ติดต่อไม่ได้ เหมือนเขาเองก็ไม่อยากให้เราทิ้งการเรียนเพื่อกลับมา 

พอกลับมาไทย ตัวเองก็เข้มแข็งขึ้นมาอย่างนั้น บอกพ่อว่าจะเป็นเหาฉลาม จะอยู่กับพ่อทุกวัน ดูแลเกาะติดทุกสถานการณ์ แล้วก็ได้ทำอย่างที่พูด วันที่ท่านเสียก็ไม่ฟูมฟาย มีสติ มันอาจจะร้องไปหมดแล้วตอนที่รู้ข่าว และเราไม่เสียดายเลย โชคดีมากที่ได้ทำทุกอย่างให้หมดแล้ว ได้ดูแลอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว ได้ให้เวลาจนลมหายใจสุดท้ายของเขาที่เราจับมือพ่อ สวดมนต์ให้พ่อฟังจนพ่อนิ่งไป มันเป็นความรู้สึกเหมือน Mission Complete ไม่มีอะไรติดค้างในใจ

ได้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นไหม

ได้รู้จักตัวเองในวันที่เราคิดว่าแข็งแรงแล้วแต่ไม่ใช่ วันนั้นตกใจมากที่ตัวเองเป็นแบบนั้น ควบคุมไม่ได้ แต่มันทำให้เรารู้จักชีวิตชัดเจนมากขึ้น แบบที่เขาบอกว่าชีวิตมันไม่ใช่ของเรา ไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้ เราได้ยินได้ฟังก็เหมือนจะเข้าใจแหละ แต่มันไม่ได้เข้าไปอยู่ในใจจริงๆ จนวันนั้น แม้กระทั่งตัวเราเอง เรายังทำอะไรกับตัวเราไม่ได้เลย สั่งให้ตัวเองหยุดร้องไห้ยังทำไม่ได้ ร้องอยู่สามวันจนไม่ไหวแล้ว เราต้องกลับมาให้ได้

หลายๆ คนจดจำคุณในบทบาทของนางเอก ในวัยนี้ที่ชีวิตคุณเดินทางมาถึงวันนี้ อยากให้คนจดจำตัวเองในแบบไหน

เป็นคำถามที่น่าสนใจนะ (นิ่งคิด)

เคยคิดมาก่อนไหม

ไม่เคยคิดเลย แล้วก็ลืมคิดไปเลยว่าคนมองเราในฐานะนักแสดงหรือนางเอก ถ้าถามถึงเป้าหมายในการใช้ชีวิต หลักๆ เลยคือการหาคำตอบว่าทำยังไงให้ตัวตนของเราลดน้อยลง สละความเห็นแก่ตัวของตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด พอถามว่าอยากให้คนจำเราในแบบไหนเราเลยไม่แน่ใจ

แต่ถ้าให้ลองตอบสนุกๆ นะ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนโชคดี ถึงแม้ว่าจะผ่านการสูญเสียใหญ่ๆ มาถึงสองครั้งแล้วในช่วงวัยเท่านี้ก็ตาม ซึ่งมากกว่าคนทั่วไปหลายๆ คน แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเป็นคนโชคดีที่ได้เกิดมาท่ามกลางความรัก ความอบอุ่น ของครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง หลานๆ เราได้รับสิ่งดีๆ ได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากคนรอบข้าง เราเลยอยากเป็นผู้ที่นำส่งความรักให้กับคนอื่นๆ ด้วย เพราะเรารู้สึกว่าในวันที่ท้องฟ้ามันมืดมน การที่เรามองเห็นแสงสว่าง แล้วตาเรามองเห็นแสงนั้น มันน่าจะมีแรงที่จะก้าวขาแล้วเดินต่อไป

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล