“ภาพยนตร์สารคดีที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้คืออะไรรู้ไหม มันคือกล้องวงจรปิด”

“สมมติคุณเป็น รปภ. เห็นคนคู่หนึ่งเดินเข้าไป แล้วผู้หญิงเข้าไปท่าทางเมาๆ ผู้ชายเดินออก คุณก็นั่งจ้องมันได้เรื่อยๆ สักพักผู้ชายคนนี้พาผู้ชายคนหนึ่งเข้าไปในห้อง แป๊บหนึ่งผู้หญิงคนนั้นวิ่งออกมา 

“คุณคิดอะไรในหัวบ้าง คิดได้เยอะเลย” 

ชายหน้าตายิ้มแย้ม มีผมขาวแซม รู้ได้ว่าผ่านวัยกลางคนมาแล้ว ยกตัวอย่างให้ผมเข้าใจเรื่องพลังของความจริงในงานภาพยนตร์สารคดี 

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี 'เรื่องเล่ามีชีวิต' ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

เชิด-เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ เป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศมาตลอดชีวิตการทำงาน 

ตำแหน่งที่น้อยคนนักใฝ่ฝันว่าตัวเองจะเป็น ตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับแตกต่างกับหน้าที่อาชีพในฝันอย่างผู้กำกับแทบจะคนละเรื่อง อาชีพที่ต้องใช้ทักษะการจัดการและวางแผนอย่างมาก ในการทำอย่างไรก็ได้ให้กองถ่ายภาพยนตร์เดินหน้าไปอย่างราบรื่นที่สุด และให้ผู้กำกับได้มีพื้นที่การทำงานด้วยความสร้างสรรค์อย่างเต็มที่

เชิดถูกพูดถึงกันในวงการว่าเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่เก่งของผู้กำกับมือดีหลายท่าน เป็นเอก รัตนเรือง เคยบอกว่า เชิดพงษ์คือผู้ช่วยผู้กำกับที่ดีที่สุดของเขา

ในวัยปัจจุบันของเขา ถ้าหากรับข้าราชการ ก็เรียกว่าเข้าโค้งสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่เชิดกลับไม่คิดว่าตัวเองจะต้องหยุดทำงานในวงการภาพยนตร์ เขาขยับบทบาทจากผู้ช่วย ขึ้นมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แทนบ้าง และไม่ใช่หนังโฆษณาหรือหนังต่างประเทศอย่างที่เขาคลุกคลีมาตลอดชีวิตการทำงาน แต่เป็นหนังสารคดี ศาสตร์การเล่าเรื่องด้วยความจริงของภาพยนตร์ที่เขาสนใจส่วนตัวมาตั้งแต่วัยหนุ่ม 

เขาบอกว่างานสารคดีเป็นงานที่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ในบรรดาการเล่าเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหว

สารคดีที่เชิดเลือกทำ คือสารคดีแนววัฒนธรรม ซึ่งเขาพบว่าคนสนใจน้อยที่สุดในบรรดาสารคดีด้วยกันเองด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น หัวข้อเรื่องที่เขาสนใจ ก็เป็นหัวข้อที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยให้ความสำคัญด้วยซ้ำ 

นั่นคือเรื่อง ‘ผู้สูงอายุและสังคมผู้สูงวัย’ 

น่าสนใจตรงปัจจัยต่างๆ ที่เขาเลือกทำ ล้วนสวนทางกับสิ่งที่ยุคสมัยกำลังให้ความนิยมและสนใจ อะไรที่ยังทำให้เขาเชื่อมั่นในพลังของงานสารคดี และเลือกนำมาใช้เพื่อเล่าเรื่องคนแก่กับสังคมบ้านเราที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในเร็ววันนี้

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี 'เรื่องเล่ามีชีวิต' ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

สังคมผู้สูงวัย

“ในช่วง พ.ศ. 2554 – 2555 ผมทำรายการทีวีชื่อ ลุยไม่รู้โรย รายการเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างสวยงาม ทำแล้วก็ได้เรียนรู้อะไรจากผู้สูงอายุมาเยอะ สมัยนั้นเราอาจจะยังไม่มีวิกฤตสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบนะ แต่รายการนี้เปลี่ยนชีวิตผมไปเยอะเหมือนกัน จากการที่ได้ไปคุยกับผู้ใหญ่ คนแก่ๆ 

“ผมอาจจะเป็นคนหัวโบราณที่บอกว่า เราจำเป็นต้องมีครู แต่ผมรู้สึกว่าคนแก่เขาสอนเราเยอะมาก เราได้ศึกษาในฐานะที่เขาคนนั้นเป็นครูของเราคนหนึ่ง ผมคิดว่านี่คือข้อสำคัญในการเจริญเติบโต โชคดีตรงที่ผมมีครูที่ดีเยอะมากจากการทำรายการนี้ จากการได้ไปพูดคุยกับผู้สูงวัย ประสบการณ์ตอนนั้นมันเลยเป็นแบบฉบับที่เราอยากทำอะไรเกี่ยวกับคนแก่”

ผ่านมา 9 ปีนับตั้งแต่เชิดทำรายการ ลุยไม่รู้โรย สังคมยังพูดถึงเรื่องผู้สูงวัยกันอยู่ และในตอนนี้ก็เริ่มเห็นชัดขึ้นแล้วว่าเรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจริงๆ 

“สังคมผู้สูงอายุเป็นคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาสู่สังคม นี่คือคำพูดเชิงวิชาการที่เขาชอบพูดกัน เพื่อให้เราตระหนักว่ามันกำลังจะฉิบหาย เพราะว่าต่อไปนี้ พวกคนรุ่นใหม่ต้องดูแลคนรุ่นผมนะ ก็คือวัยทำงานทุกวันนี้ จะทางตรงหรือทางอ้อมก็แล้วแต่ คุณต้องทำงานหนักมากเพื่อดูแลคนแก่ที่ไม่ยอมตาย ผมไม่ยอมตายง่ายๆ เพราะว่าผมมีประกัน ผมมีสุขภาพที่ดี แล้วผมดูแลสุขภาพตัวเอง จะอยู่ไปอีกหลายปี 

“แล้วคุณจัดการอะไรกับคนเหล่านี้ล่ะ นี่คือสิ่งที่น่าคิดว่าเราต้องทำอย่างไร เป็นสาเหตุว่าทำไมในระยะหลังนี่เรื่องสูงวัยถึงได้บูมนัก ผมทำเรื่องคนแก่มาก่อน ประเด็นมันก็อยู่ในหัว พยายามตอบตัวเองว่าวันหนึ่งเราจะใช้ชีวิตอยู่ยังไงโดยไม่ให้ลูกเหนื่อยมาก มันก็ต้องมีอาชีพสิ เลยมีคำถามขึ้นมาว่า อาชีพอะไรที่คนหกสิบปีทำได้บ้าง ผมคิดง่ายมาก แค่เดินทางตระเวนไปหาคนที่ดูแลตัวเองได้ทั่วประเทศ” 

ผู้กำกับวัยเกือบ 60 ปีเล่าถึงประเด็นที่จุดประกายให้เขาลุกขึ้นมาทำสารคดี

“สองอย่างที่ผมค้นพบในระหว่างทำงาน หนึ่งก็คือ คำว่าเกษียณนี่ไม่มีจริง เกษียณใช้กับข้าราชการเมื่อคุณหกสิบปี เกษียณแล้วก็กินบำนาญอยู่บ้าน มันเป็นการจัดหมวดหมู่ที่ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ได้หมายความว่าเขาหมดประโยชน์เลยนะ เผลอๆ กำลังเริ่มต้นใหม่ด้วยซ้ำ 

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี 'เรื่องเล่ามีชีวิต' ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

“ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่รู้จักคำว่าเกษียณเลยก็มี คนพวกนี้ไม่รู้จักหรอกเกษียณแปลว่าอะไร เช่น ชาวนาคนเลี้ยงควายที่เขาไม่ได้อยู่ในระบบของราชการ เขารู้แค่ว่าเขาหยุดทำงานต่อเมื่อเขาทำไม่ได้ ผมไปตามหาคนที่อายุเกินหกสิบที่ทำงานตามปกติ ดูว่าอะไรที่เขายังทำได้บ้าง มีอะไรที่เราควรสนใจและควรศึกษาจากเขา”

“สองคือ เวลาไปคุยกับคนแก่คนเฒ่า เขาสนใจแค่ว่าเขามีความสุขยังไง เขาไม่เครียด เกิดมาไม่เคยเครียด ไม่มีวันเครียด มีแต่วันสนุกสนาน เข้าไปมัสยิด เข้าวัด เขาตอบแบบนั้น มันเป็นเรื่องพลังของคนสูงวัย พอเริ่มเข้าไปสู่สังคมสูงวัย เหมือนว่าคนมองเห็นแต่ข้อเสีย แต่จริงๆ มันมีข้อดีอยู่”

เมื่อพูดถึงหัวเรื่องว่าคนแก่ หลายคนอาจจะคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องราวที่ชวนหดหู่หรือน่าสงสาร เชิดไม่ปฏิเสธว่าอาจจะต้องมีความดราม่าผสมอยู่บ้าง แต่เขากลับมองความดราม่านั้นเป็นความจริงบางอย่าง​ ซึ่งไม่ได้ชวนหดหู่อย่างที่คนเข้าใจไปก่อน

“เรื่องคนแก่ดราม่าอยู่แล้ว ความสูงวัยมันดราม่าในตัวของมันเอง ถามว่าหดหู่ไหม ไม่ได้หดหู่นะ มันถ่ายทอดคนคนนั้นจริง เห็นชีวิตของคนคนนั้นจริง แต่พอเรื่องของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครได้ มันเป็นความสุขนะครับ สิ่งที่ผมถ่ายทอดมีเสียงหัวเราะ มีความสุขอยู่ในนั้น มันคือชีวิตธรรมดา” 

เชิดเล่าว่ากลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าอยากให้ดูสารคดีนี้ก็คือวัยเดียวกันกับเขา เป็นกลุ่มคนในวัยทำงานช่วงปลาย อายุราว 40 – 50 ปี เพื่อให้คนเหล่านี้พร้อมคิดถึงตัวเองว่าพวกเขาจะเจออะไรบ้าง 

“หนังของผมอาจจะไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นหรือวัยทำงาน แต่ถามว่าเราอยากจะได้วัยทำงานมาดูไหม เราอยากได้มาก เรื่องนี้ไม่มีดารามาดึงดูดแน่ๆ เพราะฉะนั้น เนื้อหาต้องนำ มันเป็นการบันทึกเรื่องราวไว้ประเภทหนึ่ง 

สารคดีชิ้นนี้มันชื่อว่า เรื่องเล่ามีชีวิต เพราะว่าเรื่องเล่าแบบนี้มันไม่ตาย เล่าได้เรื่อยๆ มันมีชีวิตคนที่น่าสนใจอีกตั้งเยอะตั้งแยะ”

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี 'เรื่องเล่ามีชีวิต' ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60
เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี เรื่องเล่ามีชีวิต ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

คนทำสารคดี

เชิดเลือกใช้ภาพยนตร์สารคดีในการเล่าเรื่อง เขาเรียนมาด้านภาพยนตร์โดยตรง และหลงใหลในการเล่าเรื่องผ่านสารคดีมากเป็นพิเศษ 

จากอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาและกองถ่ายระดับต่างประเทศที่ใช้ทักษะการจัดการสูง เพื่อให้ทุกอย่างในกองถ่ายราบรื่น แต่เมื่อต้องทำหนังของตัวเองบ้าง เขากลับเลือกใช้งานสารคดี ศาสตร์ที่การวางแผนให้เป็นไปตามใจแทบจะใช้ไม่ได้เลย

เขาเลือกใช้เพราะเชื่อในพลังว่า สารคดีคือความจริงและความเรียบง่ายในการถ่ายทอด

“ภาพยนตร์สารคดีที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้คือกล้องวงจรปิด ความทรงพลังของมันก็คือความจริง คุณนั่งจ้องอย่างนั้นได้เรื่อยๆ สนุกกว่าดู Netflix อีก มันเป็นพลังของสารคดี ตามหลักภาพยนตร์มีสองทฤษฎีใหญ่ที่กำลังปะทะกันตลอดเวลา คือ ทฤษฎีที่เรียกว่า Realism หรือสัจนิยม กับที่เรียกว่า Formalism หรือรูปแบบนิยม สารคดีเป็นสัจนิยม เนื้อหามาก่อนรูปแบบแน่ๆ 

“อย่างที่บอกว่าสิ่งที่ทรงพลังที่สุดคือกล้องวงจรปิด เพราะว่าเราต้องการเห็นความจริง แล้วเราก็ชอบความจริงเท่านั้นเอง เวลาคุณเห็นคนที่โดนรถชนช็อตเดียว กับคุณเห็นคนที่โดนรถชนด้วยสี่ห้าช็อตเนี่ย คุณเชื่ออะไร”

เราอาจจะคุ้นเคยกับสารคดีในปัจจุบันที่เล่าเรื่องชวนติดตาม มีภาพสวย เพลงประกอบเร้าใจ มีมุมกล้องแปลกตา และสร้างความยิ่งใหญ่ให้ได้กับบางเรื่อง แต่ภาพยนตร์สารคดีของเชิดกลับเรียบง่าย เป็นมุมมองที่เราเห็นในชีวิตปกติ เรียบง่ายจนบางคนอาจคิดว่าสิ่งนี้เชยไปเสียแล้วในยุคนี้

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี เรื่องเล่ามีชีวิต ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60
เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี เรื่องเล่ามีชีวิต ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

“คนดูเขาต้องการอะไรที่ทันยุค ทันสมัย ไอ้คำว่าทันยุค ทันสมัย ในสมัยนี้แปลว่าอะไรล่ะ แปลว่าคุณต้องเปรี้ยงปร้าง ไว ตีหัวเข้าบ้าน แต่สิ่งที่ผมกำลังทำมันแค่ตอบโจทย์ผมเองว่า ผมอยากให้ประทับใจ ผมต้องการเวลาในการเล่า พอต้องการเวลาในการเล่า แล้วสื่อไหนล่ะที่รองรับความตั้งใจแบบนี้ ก็มีแห่งเดียวคือโรงภาพยนตร์ เพราะว่าพอเข้าไปต้องปิดทุกอย่างให้มืดแล้วทุกคนมานั่งดู

“แล้วถามว่าสมัยนี้ใครจะเข้าไปนั่งดูสารคดีโรงภาพยนตร์บ้าง มันเป็นปัญหาอยู่ คนทำสารคดีก็ต้องปรับตัว คิดว่าจะทำอย่างไรให้ตรึงคนดูได้ในสมัยนี้ อย่างที่มีคนชอบบอกว่าเดี๋ยวนี้คนดูสามนาทีเขาก็ไปแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นสารคดีมันเลยยากขึ้น ยิ่งถ้าเราต้องการทำให้คนดูประทับใจก็ยิ่งยากขึ้น

“สารคดีบางเรื่องที่เห็นตามสื่อออนไลน์เขาเล่าเรื่องเร็ว สวย แล้วจบ แต่ประเด็นคือเราต้องถามต่อว่าเขาพูดว่าอะไร เขาพยายามบอกว่าอะไร แล้วเราได้สิ่งนั้นไหม 

“จะบอกว่าผมเป็นคนทำสิ่งที่เรียกว่าเชยก็ได้ แต่ผมทำในสิ่งที่ตัวเองทำเป็น เพียงแต่เรารู้สึกว่า ความรวดเร็วหรืออาจเรียกว่าความฉาบฉวยมันครอบคลุมไปทุกแห่ง 

“แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผมก็ทำงานมาเยอะ ความมั่นใจยังหายได้เลยนะ ระหว่างทำอยู่แล้วคุณเห็นของคนอื่น โอ้โห เขามีโดรนเว้ย เขามีนู่นมีนี่เว้ย เขามีอะไรเต็มไปหมดเลย โอ้โห เขาถ่ายสวยมากอย่างนั้นอย่างนี้ เราดู เราก็อยากได้ แต่ว่าเราก็ต้องกลับมาในโลกของเราว่า เออ จริงๆ เราต้องการเล่าเรื่องนะ เราต้องการพูดคอนเทนต์ รูปแบบเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ”

ความพิเศษอีกอย่างที่เราเห็นในสารคดีของเชิดพงษ์ คือการได้เรื่องเล่าที่เป็นชีวิตจริงของคนต้นเรื่อง ในบางสถานการณ์ การได้ฟุตเทจที่ดีมา เชิดบอกว่าต้องเดินทางไปหา และถ่ายเก็บไว้หลายต่อหลายครั้ง จนได้เรื่องเล่าที่ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่จะได้มา

“มีสารคดีอันหนึ่งที่ดี เป็นสารคดีของต่างประเทศว่าด้วยเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่อายุแปดสิบ ดูแลเมียตัวเองที่เป็นอัลไซเมอร์ ง่ายๆ แค่นี้เลย แต่เรานั่งดูแล้วเรา โอ้โห ประทับใจ เขาก็แค่ดูแลไปวันๆ แต่ว่ามันคือความรักแน่ๆ เห็นเลยว่าความรักของคุณตาคนนี้ที่ไม่ไปไหนเลย ดูแลเมียตลอด พอดูหนังจบก็จะมี Q&A ผู้กำกับบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เราใช้ในการทำงานของสารคดีคือความเป็นเพื่อน 

“ถ้าคุณไม่เป็นเพื่อนกับเขา คุณไม่มีทางได้สิ่งที่พิเศษ เข้าไปในห้องนอนได้ เข้าไปดูเขาอาบน้ำได้ เข้าไปอยู่ใกล้ๆ เขาได้ เอากล้องไปจ่อหน้าเขาขนาดนั้นได้ คุณคิดว่ามันคืออะไรล่ะ ไม่ใช่เงินแน่ๆ ที่คุณไปจ่ายให้เขา แล้วเอาเขาไปตั้ง 

“การทำงานสารคดี สิ่งแรกที่เป็นเครื่องมือสำคัญเลยคือความเป็นเพื่อน ถ้าคุณสร้างความเป็นเพื่อนกับคนที่คุณคุยไม่ได้ มันก็พาคุณเข้าไปลึกกว่านี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การทำงานสารคดีไม่ใช่การถ่ายทำ

“เรื่องความหวือหวาของสไตล์ไม่ตรงกับความคิดผมเลย ผมรู้สึกว่าไม่ควรจะหวือหวา เพราะมันเป็นปฏิปักษ์ต่อสัจนิยม รูปแบบมันทำลายความจริง ตัดต่อเยอะขนาดนั้น คุณเห็นความจริงอะไรบ้าง อันนี้คือมันเป็นตัวตนของสารคดีจริงๆ นะ 

“แล้วไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ผมพูดจะไม่มีคนดู อาจจะมีคนอีกแบบหนึ่งสนใจ”

เชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ ผกก.สารคดี เรื่องเล่ามีชีวิต ของผู้คนที่ยังไม่เกษียณในวัย 60

เรื่องเล่ามีชีวิต

เรื่องเล่ามีชีวิต คือสารคดีสั้น 6 ตอน เล่าเรื่องประสบการณ์ที่เรียนรู้ในชีวิตของคนแก่ 6 คน และความสุขในสิ่งที่พวกเขาทำในปัจจุบัน 

สารคดีทั้ง 6 ตอน เชิดใช้วิธีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยการตระเวนฉายให้กับชาวบ้านตามจังหวัดต่างๆ เหมือนวิธีการฉายหนังกลางแปลง เพื่ออยากรู้ผลตอบรับของผู้ชมจริงๆ 

แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดฉายเป็นการชั่วคราว และเลือกใช้วิธีเผยแพร่รูปแบบออนไลน์ โดยเขาเล่าเรื่องย่อๆ ไว้ดังนี้

เรื่องแรกชื่อว่า ‘ให้อาชีพนำทาง’ เป็นเรื่องของคุณลุงธนา ทำงานในธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แล้วโดนโกงเงินนับ 10 ล้าน เขานอนเศร้าแล้วก็ร้องไห้ คิดอยากจะตายในทุกๆ วัน ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว 

สิ่งที่ทำให้เขาหลุดพ้นมาจากภวังค์นั้นได้ คือ ครอบครัว เมีย และอาชีพ 

ลุงธนาคิดว่าเขาจะนอนติดเตียงอยู่แล้วป่วยอย่างนี้ไม่ได้ ต้องลุกมาช่วยครอบครัว ทำให้เห็นว่าที่สุดแล้วอะไรก็ไม่สำคัญเท่าครอบครัว 

เขาสู้ชีวิตใช้หนี้ไป บ้านโดนยึดก็หาใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ ทุกวันนี้เขามีความสุขมากที่ได้อยู่กับเมีย เขามีอาชีพใหม่ในวัยสูงอายุ คือไปสมัครเป็นพนักงานขายหนังสือ ในร้านหนังสือที่มีโครงการรับสมัครคนสูงอายุที่ยังทำงานได้ งานช่วยเหลือให้เขาหลุดจากภวังค์ที่พยายามฆ่าตัวตายวันละหลายๆ ครั้งได้

เรื่องที่ 2 ชื่อว่า ‘เสียงแว่วจากชายป่า’ เป็นเรื่องของปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ พูดถึงการมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมชาติ ด้วยป่า บอกว่าป่านั้นช่วยเหลือชีวิตคน อย่างคนที่คิดฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า ปีนี้เขาช่วยไปได้ 2 คนแล้ว ถามว่าทำยังไง ไม่มีอะไรเลย พาเขาเข้าไปเดินป่า ไปดูใบไม้ร่วง ไปดูมด ดูนู่นนี่ ให้ธรรมชาติบำบัด

เขาพูดว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อความสุขนะ มันเป็นดินแดนแห่งการร้องไห้ ภาษาเขาแปลว่าที่ที่สำหรับร้องไห้ มีใครไม่เคยร้องไห้บ้าง เขาเดินทางไปรอบโลก ไม่เห็นไม่มีใครไม่ร้องไห้เลย ก่อนตายคุณก็ร้องไห้ เพราะฉะนั้น ที่แห่งนี้คือที่สำหรับร้องไห้ คุณไม่ต้องกลัวความทุกข์ ถ้าคุณเข้าใจตรงนี้ได้ คุณไม่มีความทุกข์แล้ว

เรื่องที่ 3 ‘ควายเงินล้าน’ เรื่องชาวอีสานเกิดขึ้นที่นครพนม ลุ่มน้ำสงคราม อาชีพคนเลี้ยงควายไม่มีเกษียณ เลี้ยงไปกระทั่งคนเลี้ยงเดินจะไม่ได้ ควายหรือวัวเป็นเหมือนกระปุกออมสิน สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือการเก็บออม เชิดบอกว่าคนสูงวัยอย่างเขาเองต้องมีพลาดแน่ๆ เพราะใช้จ่ายเงินเยอะ แต่ไม่เคยมีการเก็บออม การซื้อวัวควายก็เป็นการเก็บออมประเภทหนึ่ง 

เรื่องที่ 4 ชื่อ ‘แพรอาภรณ์’ เรื่องของ แม่คำสอน สระทอง อาศัยอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อายุ 80 แล้วแต่ยังทอผ้าทั้งวัน ทอผ้าแพรอาภรณ์เพื่อให้มันคงอยู่ไปเรื่อยๆ รักษาไว้ ความสุขเขาคือความภูมิใจของเขาเอง ที่ได้เป็นครูสอนทอผ้าให้ส่วนในพระองค์ของ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง 

หนังจะพูดถึงการมีชีวิตอยู่ของเขาว่าใช้ชีวิตอย่างไร การดูแลตัวเอง การที่เราได้เรียนรู้จากเขา คือการมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่ตัวเองทำ มันเป็นการเรียนรู้ชีวิตคน ความสุขที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยความภูมิใจ

เรื่องที่ 5 ชื่อว่า ‘ตาลโตนด’ เป็นเรื่องราวของคุณลุงคนหนึ่งกับครอบครัวที่ใช้ชีวิตอยู่กับการปีนตาลที่จังหวัดสงขลา เชิดมองว่าเป็นความน่าสนใจทางวัฒนธรรม ต้นตาลก็เป็นลมหายใจสุดท้ายแล้ว เพราะคนที่ปีนโตนดทุกวันนี้เป็นคนแก่ ไม่มีรุ่นใหม่เข้ามา เพราะทั้งเสี่ยง ไม่สบาย และเหนื่อย คุณลุงเองก็จะทำจนทำไม่ไหว เป็นเรื่องที่พูดถึงความเกษียณด้วยวัย 

เรื่องสุดท้ายก็เป็นเรื่อง ‘เฒ่าทะเล’ เป็นเรื่องของการหากินในทะเลสาบสงขลาของชายชรา 2 คนที่ยังคงออกไป เขาเล่าถึง ‘โมระ’ อุปกรณ์ทำจากไม้ไผ่อันหนึ่งซึ่งเหมือนลอบดักปลา คลาสสิกตรงที่ต้องไปเหลาไผ่ ตัดต้นไผ่มา เราต้องเลือกต้นไผ่เป็นเพื่อมาทำ แต่ตอนนี้มันไม่มีแล้ว ในพิพิธภัณฑ์ไม่มีให้เห็นอีก 

เขาบอกว่าพอวิธีการดักปลาของคนฉลาดขึ้น ดักปลาได้ทีละมากขึ้น ตอนหลังเราจะดักปลาได้น้อยลง เพราะว่ามีปลาน้อยลง เป็นเรื่องสวนทางของอะไรบางอย่าง และเรื่องปกติของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไป 

เขายังมีความสุขกับชีวิตชาวประมง แล้วก็มีความสุขในการเลี้ยงลูก เพื่อสืบสานการทำประมงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล