25 พฤศจิกายน 2019
3 K

ทุกปีผมจะช่วยหมู่บ้านห้วยหินลาดในการจัด Honey Journey Workshop เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเรื่องราวของน้ำผึ้งป่าได้มีประสบการณ์การใช้ชีวิตกับชาวบ้านปกาเกอะญอ 3 วัน 2 คืน เราจะจัดกันช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ช่วงก่อนเข้าฤดูฝน เพราะคนมักตื่นเต้นกับคำว่าน้ำผึ้งเดือน 5 ปีนี้จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว 

ผู้ร่วมกิจกรรมเตรียมตัวกันมาเต็มที่ บางคนมาถึงเชียงใหม่แล้ว แต่สถานการณ์ไฟไหม้หนักกว่าทุกปี ทุกคนเรียกมันว่าไฟป่า แต่ความจริงแล้วมันคือไฟที่เกิดขึ้นด้วยมือของมนุษย์นี่แหละ การที่กิ่งไม้เสียดสีกันจนติดไฟแล้วลามมักจะเกิดขึ้นได้แต่ก็ยาก

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

เราประสานกับทางชุมชนตลอด และ 2 วันก่อนเวิร์กช็อปเราก็ตัดสินใจโทรไปยกเลิกผู้จะมาร่วมงานเพื่อความปลอดภัย ผมกับเชฟแวนจากร้าน DAG ที่มีความผูกพันกับหมู่บ้านห้วยหินลาดในมาหลายปี คุยกับพี่ทศ ตัวแทนจากหมู่บ้าน ว่าทุกครั้งที่เรากลับไปที่หินลาดใน พ่อหลวงชัยประเสริฐ ผู้นำหมู่บ้านพูดกับเราเสมอว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน” และเราก็รู้สึกเช่นนั้นทุกครั้ง 

เราได้กลับบ้าน แต่วันนี้ไฟกำลังจะไหม้บ้านเรา เมื่อส่งผู้เข้าร่วมคนอื่นกลับบ้านเขาเสร็จแล้ว เราก็จะขึ้นไปช่วยดับไฟที่บ้านเรา โดยมีอีก 2 คนขึ้นไปด้วย เชฟโป้ง Top Chef Thailand และซันซัน 

เราเรียนรู้มาจากร้านซักอบรีดมิสไวท์ ที่ซักผ้าให้เจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ถ้ำหลวงว่า ถ้างานที่เราถนัดช่วยผู้ปฎิบัติหน้าที่ได้ เราก็ทำตัวให้มีประโยชน์ได้ สถานการณ์คือคนในหมู่บ้านต้องผลัดกันไปดับไฟ ไปนอนในป่าที่เป็นจุดเฝ้าระวัง เราจึงจะขึ้นไปทำหน้าที่เตรียมอาหารให้ 

กลุ่มก่อนหน้าเราที่ผลัดกันขึ้นไป เราเรียกกันเล่นเล่นว่าเป็นผลัด 1 เชฟก้อง Locus Native Food Lab จังหวัดเชียงราย และผลัด 2 พี่แอน รถชำเปลี่ยนโลก ส่วนกลุ่มของผมเป็นผลัด 3 โดยมีเชฟแบล็คและเบียร์จากร้าน Blackitch เชียงใหม่ เป็นคนรวบรวมวัตถุดิบที่มิตรสหายส่งมาช่วย เราก็ขนของขึ้นไปใช้ครัวของบ้านพี่ทศเป็นครัวสนาม เชฟแวนก็เริ่มออกแบบเมนู ต้องห่อใบตอง ต้องเป็นอาหารที่ใช้มือทานได้ (ไม่ต้องง้อช้อน) ต้องเก็บไว้ได้ เพราะบางทีทีมดับไฟป่าอาจต้องเอาใส่เป้ไว้สัก 3 ห่อ 

เชฟแวนจากร้าน DAG
เชฟแบล็คและเบียร์จากร้าน Blackitch เชียงใหม่

ผมตามพี่ทศเข้าไปอยู่กับทีมดับไฟ การดับไฟในป่านั้นเป็นลักษณะของการคุมพื้นที่ลุกไหม้ของไฟ โดยเป็นการเคลียร์ใบไม้แห้งหรือกิ่งไม้แห้งที่จะกลายเป็นเชื้อไฟออกให้ได้มากที่สุด สร้างแนวกันไฟ ให้ไฟไหม้ในพื้นที่ที่เราควบคุมไว้ 

เมื่อทีมเฝ้าระวังเห็นควันก็จะส่งมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปดูพื้นที่ ประเมินว่าต้องใช้คนและอุปกรณ์ปริมาณเท่าไหร่ แล้วรีบเตรียมกำลังคน น้ำมัน เสบียง ที่หมู่บ้าน เพื่อรีบขึ้นไปดับไฟ

หนึ่งหมู่ดับไฟป่าจะมีตำแหน่ง ‘พร้า’ ใช้เรียกคนที่ถือมีดพร้าเพื่อถางทาง ถางเถาวัลย์ กิ่งไม้ ที่ขวางทาง เพราะลักษณะพื้นที่เป็นป่ารก 

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

‘Blower’ ใช้เรียกคนที่แบกเครื่องเป่าลมที่ทำงานด้วยน้ำมัน จะเป่าเศษใบไม้ออกเป็นแนวกว้าง 1 เมตรครึ่งให้เห็นหน้าดินเพื่อสร้างขอบเขตตัดเชื้อเพลิงที่ไฟจะลาม 

เครื่องนี้มีประโยชน์มาก ทางหมู่บ้านห้วยหินลาดในได้รับแบ่งมาจากน้องมนต์ กลุ่มรักเชียงดาว ซึ่งที่นั้นก็ต่อสู้กับปัญหาเดียวกันอยู่

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

 ‘Water Spray’ ใช้เรียกคนที่ถือเครื่องพ่นละอองน้ำที่ใช้งานด้วยแรงมือปั๊ม ฉีดพรมน้ำลงบนท่อนไม้หรือเชื้อไฟที่มีลักษณะเป็นถ่านไฟเก่าที่มันจะรอวันรื้อฟื้น 

พอเหนื่อยก็นั่งพักดื่มน้ำ ระหว่างที่นั่งพักก็จะได้ยินเสียงปะทุของกิ่งไม้หรือใบไม้กำลังโดนไฟไหม้อยู่ตลอดเวลา ผมมองไปที่พื้นเห็นแมลงบางชนิดที่ไม่เคยเห็นอพยพออกจากด้านที่ไฟไหม้ข้ามมาอีกด้านนึงที่เรานั่งกันอยู่ บางตัวเหมือนกิ่งไม้ ตอนมาเดินป่าเวลาปกติก็ไม่เคยเจอเดาว่ามันคงพรางตัว แต่ตอนนี้พวกมันคงไม่ต้องพรางตัวอะไรแล้ว ทั้งแมลงผู้ล่าหรือเหยื่อนาทีนี้กลายเป็นผู้ประสบภัยจากไฟป่าเท่าเทียมกันทุกสายพันธุ์

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย
จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

แวบแรกก็คิดว่าเรานี่โคตรฮีโร่เลยมาดับไฟป่า เข้ามาเป็นที่พึ่งให้กับสัตว์ต่างๆ แต่คิดอีกทีก็รู้สึกอาย ถ้าเอามนุษย์ใจร้ายอย่างเราออกไป ป่าที่เป็นบ้านของพวกนี้ก็คงจะไม่เดือดร้อน สมควรแล้วที่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่บนโลกครั้งหน้าที่จะมาถึง มีมนุษย์นี่แหละที่เป็นสาเหตุ 

เราใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งกับการดับไฟป่า ใช้แรงคน 6 คน ในวันที่ร้อนกว่า 40 องศาเราก็บ่นกัน ค่าควันขึ้นเราก็บ่นกัน แต่ชาวบ้านข้างบนต้องฝ่าเปลวไฟหายใจในควันโขมง บนทางเขาที่ลาดชันรกทึบเพื่อดับไฟ 

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย
จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

พื้นที่ที่ผมเข้าไปนี่ยืนตรงๆ ยังจะล้ม แนวกันไฟที่บางทีใบไม้ก็ร่วงลงมาให้ไฟลามต่อหรือบางทีกิ่งไม้เล็กๆ กลิ้งข้ามแนวกันไฟที่สร้างขึ้น เราก็ต้องเริ่มต้นดับกันใหม่อีก บางทีทำแนวกันไฟอยู่ เงยหน้าขึ้นอีกทีก็อยู่ในวงล้อมของไฟ เดินลงไปแต่ละก้าวบนพื้นดินระอุ รองเท้าเดินป่าที่ว่าพื้นหนาๆ ยังร้อนถึงฝ่าเท้าเลยนะครับ 

ครั้งแรกที่ดับไฟเสร็จแล้วเดินขึ้นมาถึงจุดรวมพล ผมไม่เคยดื่มน้ำอุ่นแล้วรู้สึกสดชื่นแบบนี้มาก่อน ผมขึ้นไปช่วยแค่ 3 วัน แต่ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตแบบนี้กว่า 2 เดือน แรงงาน ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายทุกอย่าง หมู่บ้านรับผิดชอบกันเอง หมู่บ้านห้วยหินลาดในมีเงินกองทุนที่ชาวบ้านเก็บเข้าจากการขายน้ำผึ้งจากป่าชุมชนในแบรนด์ HIN LAD NAI เป็น Social Enterprise ของหมู่บ้าน เอากำไร 30 เปอร์เซ็นต์จากการขายกลับเข้ามาเป็นเงินกองทุนของหมู่บ้าน 

นี่ขนาดหมู่บ้านที่เข้มแข็งและมีการจัดการที่ดียังลำบาก นึกสภาพที่อื่นที่มีปัญหาไฟป่าแบบเดียวกันนี้ไม่ออกเลย ยิ่งมีสื่อตราหน้าว่าพวกเขาเป็นชาวเขา เป็นพวกเผาป่า ยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจคนมากเช่นกัน 

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วย ดับไฟป่า บนดอย

การเผามันเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีมุมมองของความยั่งยืนทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่เกี่ยวกับชาวเขาหรือชาวเรา การเผาเกิดจากคนที่มีความโลภและความเห็นแก่ตัวอยู่ในใจ ผู้ซึ่งพร้อมที่จะฆ่าแม่ห่านเพื่อไข่ทองคำแบบในนิทานอีสป ในขณะที่เพื่อนของผม ชาวปกาเกอะญอแห่งหมู่บ้านห้วยหินลาดใน และอีกหลายพื้นที่อีกหลายชาติพันธุ์ที่กำลังทำสิ่งเดียวกัน พวกเขารวบรวมทุกสรรพกำลังเท่าที่จะมีออกไปนอนเฝ้า ออกไปลงมือดับไฟ เพราะผืนป่าเป็นบ้าน เป็นอาหาร เป็นต้นน้ำ ไม่มีใครเผาบ้านตัวเองหรอก มีแต่มาช่วยกันดับไฟ ไข่ทองคำของหินลาดในคือน้ำผึ้ง ป่าที่สมบูรณ์ เกสรต้นไม้ที่หลากหลายทำให้น้ำผึ้งที่หินลาดในเป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติพิเศษ 

ล่าสุดเมื่อต้นปีมีงานสัมมนา International Conference on Pollination Assessment ที่ผู้เชี่ยวชาญน้ำผึ้งจากหลายหลายประเทศมาที่หินลาดใน และร่วมกันชิมน้ำผึ้ง ผมได้ชิมน้ำผึ้งป่ายูคาลิปตัสของสวีเดนรสชาติเหมือนยาหม่อง น้ำผึ้งบ้านเรารสชาติดีมากๆ ดีจนเสียดายถ้ามันจะหายไป 

คนที่นี่ปกป้องแม่ห่านด้วยทุกอย่างที่มีเพราะเขาจะได้เก็บน้ำผึ้งทุกปี หรือไข่ทองคำของบ้านแม่จันใต้ หมู่บ้านของ ลี-อายุ จือปา ชาวอาข่า คือกาแฟ เป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตที่ดีทุกปี แม่จันใต้ก็ปกป้องไร่กาแฟจากไฟป่าด้วยทุกอย่างที่มี 

แล้วข้าวโพดมันยั่งยืนมั้ย? 

มันเป็นพืชล้มลุกก็ต้องเผาทุกปี บนภูเขาที่แค่ยืนตรงๆ ยังจะล้ม เขาคงไม่เดินถางซังข้าวโพดออกหรอก แล้วลองเดาดูว่าถ้าจะปลูก ต่อไปเขาจะทำยังไงกับซังข้าวโพด 

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วยดับไฟป่าบนดอย

ผมสังเกตว่าจุดที่ไฟไหม้ส่วนมากมักจะไม่ไกลจากถนน และจุดที่ต้องเดินผ่านหมู่บ้านเข้าไป ในป่าชุมชนนี่ไม่มีไฟไหม้เลย (สงสัยกลัวเผาแล้วออกมาไม่ทัน) 

ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งสำคัญคือเราต้องหาทางออกร่วมกัน เพราะธรรมชาติเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เราต้องค่อยๆ แยกให้ออกว่าใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการเผา เราช่วยกันบีบไม่ให้เขาได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ และหวังว่าวันหนึ่งการเผาป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์จะหมดไป

จากทริปเข้าป่าศึกษาเรื่องน้ำผึ้งของเชฟ กลับกลายเป็นทริปเฉพาะกิจเพื่อช่วยดับไฟป่าบนดอย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า ใน ‘ป่าเขา ลมหายใจเรา’ ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ณ ตลาดจริงใจ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 21.00 น. ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น เวิร์กช็อปอาหาร ทำน้ำผึ้ง ทำแหนม ชงกาแฟ เสวนาประเด็นรู้และเข้าใจป่า ตลาดนัดสินค้าและอาหารชุมชน การประมูลสินค้าเพื่อระดมทุน มื้อค่ำแบบเชฟส์เทเบิ้ล โดยวัตถุดิบอาหาร เช่น ข้าว พืชผักในงาน จะสั่งตรงมาจากหมู่บ้านเครือข่ายทั้งหมด 

เข้าไปสอบถามรายละเอียด จองเวิร์กช็อป มื้ออาหาร และทริปต่างๆ ได้ที่ Facebook : ป่าเขา ลมหายใจเรา

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พงษ์ศิลา คำมาก

มะเป้ง นักสิ่งแวดล้อมที่ย้ายตัวเองหนีน้ำท่วมไปอยู่เชียงใหม่พอน้ำลดก็ไม่กลับ ตั้งรกรากเพื่อใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ต่ออย่างมีความสุข เคลื่อนไหววงการอาหารและกาแฟ เพราะมีความเชื่อว่า “ถ้าอาหารดี สิ่งแวดล้อมจะดี”