“ครูพบว่าหนังสือเด็กมีพลัง ถึงแม้ว่าไม่มีตัวหนังสือ”

นี่คือเหตุผลในการเลือกเข้าสู่เส้นทางการทำหนังสือภาพสำหรับเด็ก ของ ครูชีวัน วิสาสะ ผู้เขียนหนังสือ อีเล้งเค้งโค้ง เรื่องของเจ้าห่านตัวหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะทำอะไร อารมณ์ไหน มันก็จะร้องว่า อีเล้งเค้งโค้ง ซึ่งใครหลายคนน่าจะเคยร้องตามสมัยเด็กๆ

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

ไม่ใช่แค่หนังสือภาพสำหรับเด็ก แต่ครูชีวันเคยทำงานด้านสื่อสำหรับเด็กมามากมาย ทั้งรายการ สโมสรผึ้งน้อย รายการ เห็ดหรรษา ฉายทางช่อง ITV รายการ ผึ้งใหญ่ใจดี ทางช่อง 11 ทำฉาก เขียนบท ในสมัยที่ยังมีช่อง UBC ปัจจุบันคือ (True Vision) ทำละครสีสันวรรณกรรม แต่งเพลงสำหรับเด็ก ทำค่ายเด็ก ไปจนถึงเป็นที่ปรึกษา กึ่งบรรณาธิการและกึ่งนักเขียนให้กับสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ในเครืออมรินทร์ 

และเป็นชาวไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเชิญไปร่วมเสวนาในงานสัปดาห์หนังสือเด็กนานาชาติ ประเทศสวีเดน ถึง 2 ครั้ง

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

วันเวลาผ่านไป ด้วยเหตุผลมากมาย ทำให้ช่องทีวีและรายการสำหรับเด็กค่อยๆ จางหายไปจากจอทีวี พร้อมกับที่หนังสือภาพสำหรับเด็กเริ่มถูกแทนที่ด้วยแท็บเล็ต ทว่าเสียง “อีเล้งเค้งโค้ง” ยังคงดังชัด ยึดพื้นที่ในใจของเด็กๆ และผู้ปกครองได้ไม่เปลี่ยน ยืนยันด้วยยอดพิมพ์ซ้ำ 23 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 26 ปีหลังจากการพิมพ์ครั้งที่ 1 

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 เราได้ยินเสียงร้องอีเล้งเค้งโค้งผ่านหน้ากากผ้า มาคุยกับเด็กๆ อีกครั้ง ในหนังสือ อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด หนึ่งในชุดนิทานสร้างเสริมสุขภาพป้องกัน COVID-19 เพื่อให้ความรู้ในการรับมือโรคระบาด และส่งพลังให้เด็กๆ พิชิต COVID-19 ไปพร้อมกับครอบครัวและส่งพลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข และยังมีแผ่นเกมและภาพระบายสีออกมาต่อเนื่องเพื่อสร้างกิจกรรมระหว่างเด็กและผู้ปกครองในช่วงที่การปิดเทอมถูกเลื่อนออกไปอีกด้วย เราจึงติดต่อหาครู เพื่อถามไถ่ถึงสุขภาพของเจ้าห่าน และคุยถึงการเดินทางในวงการสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กของครูชีวัน วิสาสะ 

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

บ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์ ที่อากาศคล้ายจะเป็นวันสุกเสียมากกว่า ชายสวมแว่นตาทรงกลมท่าทางใจดี เปิดประตูต้อนรับให้เราเข้าไปในห้องที่ล้อมรอบด้วยชั้นวางหนังสือภาพ การ์ตูนและของเล่น ปริมาณของสะสมในตู้บอกถึงความชอบและประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายสิบปีของเจ้าของ

“ครูเจอหนังสือภาพดีๆ หลายเล่มในห้องสมุด แล้วรู้สึกว่าเราก็น่าจะทำได้ หนังสือเด็กมีพลังถึงแม้ว่าไม่มีตัวหนังสือ” ชายใจดีตรงหน้าเล่าให้ฟังถึงจุดเปลี่ยน ที่ทำให้คำว่าครูที่ใครหลายคนเรียกเขานี้ไม่ได้เป็นคำอธิบายถึงวิชาชีพของเขาในวันนี้

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

ย้อนกลับไป ครูชีวันจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูนครปฐม รับราชการครูก่อนจะลาไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิชาเอกศิลปะ วิชาโทการทำหนังสือ และเริ่มเดินเข้าสู่การเป็นนักสร้างสรรค์สื่อสำหรับเด็ก ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 เขียนหนังสือหลายเล่ม ให้หลายสำนักพิมพ์ เช่น สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก สำนักพิมพ์ปลาตะเพียนในเครือสำนักพิมพ์เมืองโบราณ สำนักพิมพ์ผู้จัดการเด็ก เป็นต้น และหนังสือเล่มแรกของครูชีวันได้แรงบันดาลใจมาจากภาพในเรื่อง เจ้าชายน้อย

“สมัยก่อนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจัดหลายที่ สนามหลวง สวนลุมก็เคย ที่จัดประจำก็ถนนลูกหลวงข้างกระทรวงศึกษาธิการ หอประชุมคุรุสภา ในยุคนั้นจะมีตลาดนัดต้นฉบับ คือตั้งโต๊ะ แล้วจัดตารางเวลาแบ่งเป็นหมวดหนังสือ แล้วมีบรรณาธิการของหลายๆ สำนักพิมพ์มานั่งเปิดรับต้นฉบับจากนักเขียนและนักวาด พิจารณาซื้อขายต้นฉบับกันตรงนั้นเลย

“ตอนนั้นครูเป็นศิษย์ อาจารย์วิริยะ สิริสิงห เจ้าของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ท่านบอกให้นักเรียนในคลาสเอาต้นฉบับไปเสนอ ครูก็เอาเรื่องที่เขียนตอนเรียนปีสุดท้ายไปเสนอ” ครูชีวันเล่าถึงหนังสือ (3) เล่มแรกในชีวิตนักเขียน คือ หนูจี๊ดกินจุ แข่งไม้เท้า และ หาหางมังกร ที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ธีรสาส์น ใน พ.ศ.2531

ภาพเจ้างูในเรื่อง เจ้าชายน้อย กลายมาเป็นหนังสือ หนูจี๊ดกินจุ เรื่องของเจ้าหนูจี๊ดตัวผอมที่แอบเข้าไปขโมยกินของจนตัวมันอ้วนเป็นรูปทรงต่างๆ แล้วมุดออกรูเดิมไม่ได้ ทำให้ต้องวิ่งวุ่นหนีเอาตัวรอดจากกรงเล็บของแมวเจ้าของบ้าน

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

ภาพข่าวสงครามที่คุกรุ่นอยู่ทั่วโลก บวกกับความอยากสื่อสารประเด็นนี้กับเด็กๆ กลายมาเป็นเรื่องของฝูงลิงที่ได้รับบทเรียนจากการประลองอาวุธของสิงโตและแพะในเรื่อง แข่งไม้เท้า 

และ หาหางมังกร ที่เอาประเด็นข่าวลือ การไปรู้ไปเห็นอะไรมาบางส่วน แล้วเอาไปเล่าต่อจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต มาแปลงเป็นนิทาน
เรื่องพวกนี้ยังดูทันสมัยอยู่เลย เราเอ่ยเมื่อฟังเรื่องย่อทั้ง 3 เรื่องจากครู

“วิธีของครูคือบอกไม่หมด เพื่อตั้งคำถามชวนให้เด็กคิด เอาเรื่องที่เจอในชีวิตประจำวันมาเขียน สร้างตัวละคร ใส่จินตนาการสร้างเรื่องราวขึ้นมาแล้วเล่าแบบการ์ตูน แต่แก่นมันคือความจริง” ชายตรงหน้าเผยเวทมนตร์ที่ทำให้หนังสือของเขาอยู่เหนือกาลเวลาเเละยังเล่าได้รุ่นต่อรุ่น “น่าเอามาวาดใหม่ใหม่เหมือนกันนะเนี่ย” ครูพูดพร้อมหัวเราะ

แล้ว อีเล้งเค้งโค้ง มาได้ยังไง เราถาม

“พ.ศ. 2534 ครูไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปเรื่องการเขียนและการสร้างสรรค์ โดยแอร์นส์ เอ. เอ็กเคอร์ นักเขียนและนักจัดรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กชาวออสเตรีย เขาตั้งโจทย์ให้เชื่อมโยงภาพจากในหนังสือของเขากับประสบการณ์ตัวเองแล้วแต่งออกมาเป็นเรื่อง”
ครูหยิบหนังสือจากชั้นใกล้มือมาเปิด แล้วชี้ให้ดูรูปนกสีขาวตัวหนึ่งที่กำลังนั่งเก้าอี้ชายหาด “เป็นนกอะไรไม่แน่ใจ แต่เห็นท่าทางแล้วรู้สึกว่ามันดูหงุดหงิดรำคาญ เลยนึกถึงห่าน เพราะตอนเด็กชอบเจอห่านส่งเสียงเอะอะโวยวาย แต่พอจะเอามาใช้ บุคลิกโวยวายมันดูไม่สร้างสรรค์ เลยมาคิดว่าตรงกันข้ามของเสียงเอะอะคืออะไร คือร้องเพลง เลยกลายมาเป็นกิมมิกที่ไม่ว่ามันจะทำอะไรหรือรู้สึกอย่างไร เจ้าห่านตัวนี้ก็จะส่งเสียงเป็นเพลงเพื่อแสดงความรู้สึก ส่วนเสียงร้องอีเล้งเค้งโค้ง มาจากเสียงเคาะกระทะที่ดังอีโล้งโช้งเช้ง” ครูชีวันเล่าถึงที่มาของเรื่อง อีเล้งเค้งโค้ง หนังสือที่เป็นขวัญใจเด็กและผู้ปกครองรุ่นต่อรุ่นมาหลายสิบปี

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19
ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

เรื่องของเจ้าห่านผู้ส่งเสียงเป็นเพลงถูกพัฒนาต่อจนเป็นต้นฉบับ ถูกนำไปเสนอให้กับสำนักพิมพ์ แม้จะเป็นที่ชื่นชอบเพราะความแตกต่างจากหนังสือเด็กเรื่องอื่นในตลาด แต่ก็ยังไม่ลงตัวที่จะได้ตีพิมพ์ คล้ายกับรออะไรบางอย่าง 

ครูชีวันสร้างสรรค์ต้นฉบับและสั่งสมประการณ์ด้านสื่อสำหรับเด็ก จนก้าวเข้ามาเป็นกึ่งนักเขียนกึ่งบรรณาธิการที่ปรึกษาให้กับช่วงก่อตั้งสำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก ในเครืออมรินทร์ ซึ่งขณะนั้นได้ อาจารย์ทาดาชิ มัตษุอิ ประธานสำนักพิมพ์ฟูกุอินคัง ของญี่ปุ่น ปรมาจารย์ด้านหนังสือภาพของญี่ปุ่นเป็นที่ปรึกษา ทำให้หนังสือของแพรวเพื่อนเด็กแตกต่างและโดดเด่นจากเพื่อนในยุค
เรามั่นใจว่าถ้าถามถึงหนังสือภาพที่เคยอ่านตอนเด็ก ในรายชื่อที่คุณนึกถึงจะต้องมีสักเล่มที่มาจากสำนักพิมพ์นี้ และเป็นฝีมือของครูชีวัน 

จน พ.ศ. 2537 โลกหนังสือภาพสำหรับเด็กก็ได้รู้จัก อีเล้งเค้งโค้ง พร้อมๆ กับที่โลกการทำงานภาพของครูลึกขึ้นไปอีกขั้น 

นิทานเรื่องนี้…. ให้ภาพเล่าเรื่อง 

ครูชีวันลุกไปหยิบแฟ้มต้นฉบับของ อีเล้งเค้งโค้ง มาเปิดให้ดูพร้อมอธิบาย ถ้าหากตอนนี้ไม่ใช่เวลาบ่าย 3 โมง เรามั่นใจว่าประกายจากดวงตาของชายที่กำลังเล่าเรื่องอยู่ตรงหน้า คงมีปริมาณมากไม่แพ้ดาวบนท้องฟ้าอย่างแน่นอน 

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“ต้นฉบับมีหลายเวอร์ชันมาก มีทั้งเส้นปากกา สีน้ำ สีโปสเตอร์บนกระดาษสา อันไหนที่ชอบก็จะดรอว์อิ้งจนครบทั้งเล่ม ชอบหลายเล่มเลย แต่ถ้าอันไหนรู้สึกว่าไม่ใช่ ก็ไม่เสียเวลาทำต่อ หรืออย่างอันนี้ก็เป็นดีไซน์ที่กล้ามากเลยนะ (ปกเวอร์ชันที่เดินแนวตั้ง) คือพอเราทำดีไซน์ที่มันไม่ปกติคนก็อาจจะงง แต่ในความงงน่าจะสร้างความประทับใจอะไรบางอย่างให้เขา เช่น เฮ้ย วาดผิดหรือเปล่า อะไรแบบนั้น” คุณครูอธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ 

แล้วทำไมถึงมาลงตัวที่รูปแบบนี้ เราเอ่ยถาม 

“เลือกจากองค์ประกอบภาพ แล้วก็เทคนิคการวาดที่เหมาะกับเรื่องที่จะสื่อ ตอนนั้นอาจารย์มัตซึอิให้มาคิดดูว่าจุดสำคัญและความรู้สึกของเรื่องคืออะไร แล้วชี้ให้เห็นว่าเล่ม อีเล้งเค้งโค้ง มันเป็นเรื่องของเสียง ฉะนั้นการจะใช้ภาพเล่าเรื่องของเสียงเนี่ย ถ้าใช้เทคนิคสีที่หนักมันจะรู้สึกตัน ไม่มีเสียง แต่พอใช้เทคนิคสีน้ำที่มันโปร่งกว่า มันเปิดโอกาสให้เสียงก้องสะท้อนอยู่ในภาพได้

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“ตั้งแต่นั้นมา เวลาครูออกแบบภาพในหนังสือภาพเลยต้องคิดมาก ไม่ใช่คิดแค่เราทำภาพแบบนี้เพราะมันคือสไตล์ของเรา ครูไม่ได้ยึดติดในเรื่องของสไตล์หรือสีที่ใช้ แต่จะดูว่ามันตอบโจทย์ในใจเราไหม เรื่องกับภาพมันประสานกันรึเปล่า”

คำแนะนำของอาจารย์ในวันนั้น ทำให้ครูให้ความสำคัญกับการออกแบบ ทดลองเทคนิคในการทำภาพในช่วงแรกอย่างมาก เพื่อให้ภาพสอดประสานกับเรื่องและตอบโจทย์ในใจที่อยากสื่อสารมากที่สุด 

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“แต่ไม่ได้แปลว่างานที่เราไม่ได้ใช้มันจะเสียไปนะ มันไม่ใช่งานที่ใช้ไม่ได้ มันคืองานที่เราไม่ใช้ต่างหาก แต่สิ่งที่เราได้คือทักษะ ได้เรียนรู้การใช้สีน้ำ สีหมึก หรือเทคนิคผสมกันระหว่างสีต่างชนิด ทั้งหมดคือการทดลอง บางเทคนิคที่ชอบแล้วไม่ได้ใช้กับเล่มนี้ก็เอาไปใช้กับเล่มอื่น” ครูกล่าวทิ้งท้าย

นอกจากเทคนิคการวาดภาพที่ผ่านการทดลองสารพัดชนิดสีเพื่อให้ตอบสิ่งที่อยากสื่อสาร ภาพทุกภาพผ่านการออกแบบอย่างละเอียดเพื่อสื่อสารเรื่องของตัวเองด้วย 

“ในเล่ม อีเล้งเค้งโค้ง เจ้าห่านมีโบแดงเป็นร้อยๆ อันแขวนไว้ แสดงว่าเขาชอบโบว์แดงมากๆ แล้วมันก็เหมือนกันทุกอันด้วยนะ ทำไมจะต้องเลือกล่ะ หรืออย่างเจ้ายีราฟมีผ้าพันแผล คือเขาตัวสูง เขาเลยไปชนกับพัดลมเพดานในห้องเรียน เป็นเรื่องราวที่ตั้งใจซ่อนไว้” ครูชี้ชวนให้ดูรายละเอียดในภาพต่างๆ หลายจุดที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน 

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“มีคุณแม่ส่งมาบอกว่า ลูกชอบภาพหนึ่งมากในเล่ม ก ไก่ไดโนเสาร์ ขอให้อ่านซ้ำๆ อ่านแล้วหัวเราะตลอด มันคือภาพที่เด็กคนหนึ่งเขาซน เขามาเติมอึให้ไดโนเสาร์ ซึ่งมันตรงกับนิสัยของเด็ก แต่อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มองข้าม เหล่านี้เป็นเรื่องรองที่แทรกเติมซ่อนไว้ ครูไม่ได้เขียนหนังสือโดยใช้แต่ภาษาของผู้ใหญ่เพื่อให้เด็กได้เชื่อตาม แบบนั้นเขาจะไม่ได้เกิดความคิดใหม่เลย แต่ถ้าเขาอ่านภาพได้เอง ได้ใช้ภาษาของเขา ให้เขาแสดงความคิดอะไรบางอย่างที่เขาอาจจะมีมากกว่าเรา ภาพพวกนี้เป็นเรื่องที่เราไม่ได้เขียน ตัวหนังสือก็จะเล่าไปเรื่องหนึ่ง ภาพก็จะเล่าอีกเรื่องหนึ่งกระตุ้นให้เด็กใช้จินตนาการ

“รายละเอียดพวกนี้อาจจะไม่มีใครมานั่งวิเคราะห์ แต่เราใส่ไว้ เพราะมันส่งผลต่อผู้อ่านโดยที่เขาไม่รู้สึกตัวนะ เหมือนเรากินอาหารที่เราไม่เห็นสารอาหาร แต่มันส่งผล” 

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

ความใส่ใจก็คงเหมือนเพชร ที่ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนก็เปล่งแสงให้คนที่เห็นค่าเสมอ รายละเอียดที่ครูซ่อนไว้ส่งผลให้ครูชีวันเป็นนักเขียนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเชิญไปร่วมเสวนาในงานสัปดาห์หนังสือเด็กนานาชาติ ณ หอสมุดแห่งชาติกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนถึง 2 ครั้งโดยครั้งแรกในฐานะนักเขียนที่คนอ่านโหวตว่าอยากพบ และครั้งที่ 2 ได้รับการโหวตจากคนในวงการหนังสือให้มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน

นิทานเรื่องนี้… สอนให้รู้ว่า ไม่สอนอาจจะดีกว่า

เราคุ้นชินกับการที่ตอนจบของเรื่องมักจะมาพร้อมบทเรียนอะไรสักอย่าง 

ยิ่งกับนิทาน ที่มักจะจบเล่มด้วยการสอนให้รู้ว่า…. 

แต่กับหนังสือของครูชีวัน ดูเหมือนจะไม่เป็นแบบนั้น ครูมีวิธีคิดเนื้อหาอย่างไร เราถาม

“มีประเด็นอะไรก็จดไว้ ทั้งจากสิ่งที่เห็นที่เจอหรือสะสมมาจากการอ่าน ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละเล่มก็ไม่เหมือนกัน อย่าง อีเล้งเค้งโค้ง คือประสบการณ์ส่วนตัวที่เราไม่มีความสุขตอนย้ายไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เลยเอามาถ่ายทอด เรื่องจึงเป็น อีเล้งเค้งโค้ง อยู่ต่างจังหวัด เข้าไปเที่ยวกรุงเทพฯ แล้วก็ได้ประสบการณ์บางอย่าง แล้วก็กลับบ้าน เรื่องมันเรียบง่ายแค่นี้เอง” ครูอธิบาย พร้อมกับหยิบหนังสือปกคุ้นอีกเล่มออกมาให้ดู
“เล่ม มดสิบตัว ครูอยากเล่าเรื่องจำนวนและท้าทายตัวเองในการใช้ชุดคำที่เหมาะกับเด็ก เราก็ทำม็อกอัปขึ้นมามีแต่ภาพ แล้วเอาไปลองเล่ากับเด็กเลย คิดคำสดขึ้นมาตรงนั้นจากรีแอคชันของเด็ก แล้วจดกลับมาเขียน

“เนื้อหาอยากบอกอะไร ใช้ภาษาอย่างไร มันต่างกันนะระหว่างอะไรกับอย่างไร” ครูกล่าวอย่างจริงจังเมื่อบทสนทนาเดินทางมาถึงความแตกต่างและวิธีการออกแบบหนังสือภาพสำหรับเด็ก

หนังสือภาพสำหรับเด็ก คือหนังสือที่ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง ขณะที่ฟังเสียงของผู้ใหญ่ สายตาของเด็กก็จะไล่ดูภาพตรงหน้า หนังสือภาพที่ดีจะทำให้ภาพที่สายตาเด็กเห็นผสานไปกับเสียงที่ได้ยินจนเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวในหัวเด็กที่ช่วยสร้างพลังจินตนาการ

“ภาษาที่ใช้จะกลายเป็นเสียงที่เด็กได้ยินจากหนังสือ ซึ่งคือเสียงอ่านของผู้ใหญ่ ดังนั้น คำ ประโยค ที่ใช้ในหนังสือจึงออกแบบสำหรับ อ่านเพื่อฟัง ซึ่งต่างจากหนังสือทั่วไป อย่างเล่มอีเล้งครูใช้กลอนสี่แบบดัดแปลง กลอนสี่ปกติจะมีสี่วรรค ครูเพิ่มคำขึ้นมาที่ผิดฉันทลักษณ์แต่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าห่าน และเป็นบุคลิคการเล่าเรื่องของครู 

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“ลองสังเกตดูนะ บางครั้งเรามักจะพูดแบบมีจังหวะจะโคนออกมาแบบไม่ตั้งใจ เช่น ไปไหนมาไหน กินข้าวกินปลา มันเป็นธรรมชาติของคน ครูจึงนำสิ่งนี้มาใช้ เวลาอ่านมันจะพอดีปากและเหมาะสำหรับเด็ก เสียงร้องอีเล้งเค้งโค้ง เป็นเอกลักษณ์ที่เขาร้องเพื่อแสดงอารมณ์ต่างๆ เล่มนี้เวลาเด็กกับผู้ปกครองอ่านด้วยกันก็จะสนุกในการปรับเสียงอีเล้งเค้งโค้งเป็นโทนต่างๆ”

หนังสือนิทานหรือหนังสือภาพสำหรับเด็กมักสอนอะไรสักอย่าง ตั้งแต่แปรงฟันไปจนถึงจริยธรรม หนังสือเด็กไม่สอนได้จริงหรือ (จำเป็นต้องสอนไหม) เราถามต่อ

“มันอยู่ที่เราเข้าใจคำว่าสอนว่าอะไร สอนให้เชื่อ กับไม่สอนแต่ให้เรียนรู้ มันเป็นความหมายเดียวกันรึเปล่า” ชายตรงหน้าถามเรากลับ พร้อมหยิบหนังสือ ก ไก่ไดโนเสาร์ ขึ้นมา

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“เล่มนี้ไอเดียมาจากการที่เด็กๆ ชอบวาดรูปเล่น โดยตั้งต้นด้วยรูปทรงง่ายๆ เลยนำสิ่งที่เด็กมีฐานอยู่แล้ว เช่น ความรู้กอ ไก่ ถึง ฮอ นกฮูก เขาจำได้จากที่โรงเรียนสอนอยู่แล้ว แต่มันยังไม่สนุก ก็มาชวนเขาคิดเชื่อมโยง กับสิ่งที่เด็กชอบอย่างไดโนเสาร์ ฝึกให้เขาได้จินตนาการต่อ

“มีช่วงหนึ่งครูรับงานวาดภาพประกอบหนังสือธรรมะเยอะ เลยอยากทำหนังสือธรรมะสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่มักเล่าด้วยพระ เลยใช้เณรมาสื่อสารกับเด็ก” ครูอธิบายถึง หนังสือ ระฆังเบิกบาน และ นิ่ง ผลงานที่ออกมาคู่กันและรับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น 

“ครูออกแบบตัวนิ่ง เป็นตัวละครเชิงสัญลักษณ์เชิงนามธรรมที่ดูโมเดิร์น ให้ดูหัวใหญ่ฐานเล็ก แต่มันตั้งอยู่ได้เพราะมันนิ่ง เราไม่ได้สอนเขาว่าต้องทำอะไร เราอธิบายความนิ่ง การหาความสงบในใจซึ่งก็เป็นธรรมะ สุดท้ายมันใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“ครูทำหนังสือเด็กด้วยการวางเป้าหมายเพื่อให้เด็กเรียนรู้ การสอนให้เชื่อหรือไปจนถึงสอนให้เชื่อง แม้มันจะเป็นความปรารถนาดีก็ตาม แต่มันไม่สนุก ถ้าเราวางเป้าหมายให้เขาเรียนรู้ แง่มุมของการสอนก็จะเปลี่ยนไป มันอยู่ที่วิธีการออกแบบการสื่อสาร เราอยากให้เด็กเชื่อก็จริง แต่เราอยากให้เด็กคิดเองได้ด้วย นี่คือโจทย์ของครู” 

มาถึงตรงนี้คงไม่เกินไปที่จะสรุปว่า คำว่าครูที่ใครหลายคนใช้เรียกเขาในวันนี้ ไม่ได้สะท้อนวิชาชีพในปัจจุบัน หากแต่เป็นการยกย่องในระดับฝีมือและหัวใจของคนที่หวังเพียงจะมอบสิ่งที่ดีให้กับเด็กๆ เสมอ 

นิทานเรื่องนี้… ไม่มีผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะ มีแต่ผู้ที่ทำในสิ่งที่เชื่อ

หลังจากเป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่หลายปี จนถึงยุคฟองสบู่แตก ครูชีวันจึงมาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว เขียนหนังสือ และพา อีเล้งเค้งโค้ง เดินสายทำอีกหลายกิจกรรม ทั้งเป็นทูตการท่องเที่ยว อีเล้งเค้งโค้งไปอยุธยา อีเล้งเค้งโค้งไปสมุทรสาคร อีเล้งเค้งโค้งจับแมลง ฯลฯ นอกจากนั้นทำงานด้านสื่อสำหรับเด็ก ทั้งรายการ สโมสรผึ้งน้อย รายการ เห็ดหรรษา ฉายทางช่อง ITV รายการ ผึ้งใหญ่ใจดี ทางช่อง 11 ทำฉาก เขียนบทให้รายการเด็กทางช่อง UBC และละครสีสันวรรณกรรม

หลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อทั้งค่านิยมและการเข้ามาของโลกออนไลน์ การแข่งขันช่วงชิงเวลาในหน้าจอทีวีที่ดุเดือด รวมไปถึงการเปลี่ยนจากหนังสือเล่มเป็นแท็บเล็ต และการประกาศปิดตัวของหลายสื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ 

สื่อสำหรับเด็กไม่ใช่ผู้แพ้ในเกมนี้ ทว่าไม่แม้แต่จะได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงเพื่อลงเเข่งเสียด้วยซ้ำ 

“บ้านเรามีคนเก่ง คนที่อยากทำสื่อดีๆ เพื่อเด็ก มีเด็กๆ ที่รอดู มีผู้ปกครองที่ต้องการสื่อให้ลูก แต่เราอาจขาดผู้มีอำนาจที่มีวิสัยทัศน์” คือข้อสรุปที่เราได้จากชายผู้อยู่ในวงการสื่อสำหรับเด็กมาหลายสิบปี และทำมาแล้วเกือบทุกอย่าง 

เมื่อรายการเด็กทางจอแก้วและสิ่งพิมพ์ลดลง ทำให้ครูมีเวลาทำงานใกล้ชิดกับเด็กๆ มากขึ้น และได้ไปร่วมงานกับทีม อสม. จังหวัดยโสธร 

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“เริ่มจากความบังเอิญที่ได้มาทำงานร่วมกับโครงการยโสธรเมืองแห่งการอ่าน ซึ่งผู้ที่ริเริ่มโครงการเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้มีมิติด้านสุขภาพเข้ามาบวกกับการอ่าน” ครูชีวันเริ่มเล่าถึงงานที่ทำในช่วงสิบปีหลังมานี้ ที่ให้ค่าตอบแทนทางใจสูง 

“เรามีพื้นฐานทำงานด้านนี้มา พอได้มาเห็นประเด็นต่างๆ ที่ควรพูดและคนในพื้นที่อยากพูด เลยเห็นว่าหนังสือสำหรับเด็กคือนวัตกรรมสื่อที่มาตอบโจทย์ตรงนี้ได้พอดี หนังสือเป็นเครื่องมือเชื่อมผู้ปกครองกับลูก และใช้การอ่านเพื่อพัฒนาสติปัญญาและสมองของเด็กด้วย

“พอหนังสือพวกนี้ไม่ได้ทำเพื่อการค้า เราเลยไม่ต้องห่วงยอดขาย ทำให้ครูได้โฟกัสกับประเด็นเต็มที่ เอาคุณภาพชีวิตมาเป็นโจทย์หรือเล่าเรื่องที่ในพื้นที่ต้องการสื่อสาร โดยมีปลายทางคือเด็กและพ่อแม่ให้เขาเอาหนังสือไปใช้งานได้จริงๆ”

พอเห็นว่าหนังสือภาพสำหรับเด็กตอบโจทย์ของคนในพื้นที่ห่างไกล ครูชีวันจึงเริ่มจากนำตัวละครที่คนรู้จักมาใช้ต่อ กลายมาเป็น อีเล้งเค้งโค้ง ลุยน้ำท่วม หนังสือภาพระบายสีแจกเด็กๆ ในศูนย์พักพิง จากนั้นมี อีเล้งเค้งโค้ง ฉบับพิเศษที่ทำงานร่วมกับทีมจังหวัดยโสธรตามมาอีกหลายเล่ม อาทิ อีเล้งเค้งโค้ง เดินป่า มณฑาธาร, อีเล้งเค้งโค้งสู้ภัยแล้ง, อีเล้งเค้งโค้ง เยี่ยมยามยโสธร, อีเล้งเค้งโค้งทำเกษตรอินทรีย์, อีเล้งเค้งโค้งไม่เอาถ่าน (หิน) และเล่มล่าสุด อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด

“การแจกหนังสือมันคือการเข้าไปในพื้นที่ พอมีวิกฤต COVID-19 ก็เอาหนังสือเข้าไปพร้อมกับยา ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ” ครูเล่าถึงภารกิจล่าสุดกับเจ้าห่าน 

“ต้นเดือนมีนา ครูไปจัดเวิร์กช็อปทำของเล่นให้ครู อสม. ช่วงนั้น COVID-19 เริ่มมาแล้ว แต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยสนใจ แต่คนที่ทำงานด้านสาธารณสุขเขามีข้อมูลมากกว่าคนทั่วไปเพราะเขาต้องเฝ้าระวัง เขาเลยชวนมาทำสื่อ ตอนนั้นก็ยังไม่อินนะ แล้วคุณ เอ๋-วิภาวี ฉกาจทรงศักดิ์ ผู้ช่วยเขาคิดว่าน่าจะทำเป็นเพลง เลยแต่งออกมาเป็นเพลง แล้วส่งให้คุณครูที่ยโสธรหาคนร้องและทำดนตรี เป็นเพลงให้ความรู้เรื่อง COVID-19 เป็นภาษาอีสาน โดยใช้ทำนองเพลง ตังหวาย ของชาวภูไท

“คนตระหนักและตระหนกเรื่อง COVID-19 กัน แต่เราได้ยินแต่เสียงของผู้ใหญ่ พอเรามาดูสื่อ เราเห็นว่าสื่อทั้งหลายมันสื่อสารในเชิงกับผู้ใหญ่ มีแถลงการณ์ทุกวัน แต่สำหรับเด็กไม่มี ทีวีก็ไม่มี เด็กไม่มีช่องทางที่จะสื่อสารทั้งที่เขาก็ได้รับผลกระทบ ไม่มีใครสื่อสารกับเด็กด้วยภาษาของเด็กเท่าที่ควร

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

อย่างเรื่องพื้นที่สื่อสำหรับเด็ก มีคนในวงการพูดว่าเราสู้เต็มที่แล้ว อันนี้ครูไม่ค่อยเห็นด้วย เราทำสิ่งดี เราไม่ได้จะสู้กับใคร ถ้าสู้เราต้องแพ้สิ่งที่ดีกว่าสิ แต่นี่เราแพ้เพราะเขาไม่เอา เราไม่ได้แพ้ เราไม่ได้สู้ เราทำสิ่งที่เราเชื่อว่าดีต่อไป ถ้าไม่มีใครเห็น เราก็ทำเองขึ้นมาก่อน ถ้าดี เดี๋ยวก็มีคนเข้ามาสนับสนุน”

ครูชีวันเริ่มทำเล่ม อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน ต้านโควิด จากการวาดและเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ดาวน์โหลดไประบายสี พอดีกับทีมแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านของ สสส. มาเห็น จึงเข้ามาสนับสนุนและพัฒนาออกมาเป็นเล่ม ตอนนี้แจกไปแล้วกว่า 20,000 เล่ม 

“การทำออนไลน์มันก็ดี แต่การมีเป็นเล่มให้จับมันต่างกัน เด็กเขาได้เป็นเจ้าของ เเละไม่ใช่ทุกบ้านที่มีเด็กจะมีที่พรินต์” ครูกล่าวทิ้งท้าย 

นิทานเรื่องนี้… พ่อแม่เล่าให้หนูฟังหน่อย

สิ่งที่เจอในพื้นที่บวกกับการทำงานกับเด็กที่สั่งสมมา บ่มให้อีกความฝันหนึ่งของครูสุกงอม 

ครูชีวันเริ่มโครงการนิทานเดินทาง โดยใช้ค่าลิขสิทธิ์จากทำหนังสือ อีเล้งเค้งโค้ง เยี่ยมยามยโสธร เป็นทุนดาวน์รถตู้มาคันหนึ่ง เพื่อบรรจุหนังสือภาพและอุปกรณ์ศิลปะ พิมพ์หนังสือภาพนิทานระบายสี เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในโรงเรียน ชุมชนห่างไกล และโรงพยาบาล ด้วยความตั้งใจที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ

“เวลาไปบรรยาย ไปสอน ระหว่างทางเราก็แวะทำกิจกรรมตามสถานที่ที่ผ่าน เวลาแวะจอดตามปั๊ม ก็จะถามพนักงานว่ามีลูกไหม มีลูกกี่ขวบ ก็เอาหนังสือไปให้” น้ำเสียงของครูตอนนี้ บอกกับเราว่าตอนนี้ความฝันของครูสุขแค่ไหน

“ให้หนังสือเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กรักหนังสือก่อน ยังไม่ต้องรักการอ่านก็ได้นะ เด็กบางคนเขาไม่เคยจับหนังสือเลย ผู้ใหญ่เห็นจะได้รู้สึกว่าหนังสือมันดีนะ มันอ่านไม่ยาก เลือกให้หนังสือที่เหมาะตามวัยของเขา และอธิบายวิธีการใช้หนังสือให้พ่อแม่ฟังด้วย”

ครูชีวันทำหนังสือภาพเพื่อเข้าโครงการนิทานเดินทางอีกหลายเรื่อง อาทิ อีเล้งระบายสี ดึ๋งดึ๋ง (จากทุนส่วนตัวทั้งหมด) หลังจากไปทำกิจกรรมหลายแห่ง และต้องอธิบายวิธีการใช้หนังสือภาพซ้ำๆ ครูจึงเกิดไอเดียทำหนังสือ ‘อ่านเพื่อ’ ขึ้นมา

“บางทีพอแม่ไม่เข้าใจการใช้หนังสือเลยส่งโทรศัพท์ให้ลูกเล่นแทน อ่านเพื่อ จึงเกิดขึ้นมาเป็นหนังสือภาพกึ่งคู่มือ เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจว่าการอ่านหนังสือให้ลูกนั้นดีอย่างไร เล่มนี้เลยอ่านเพื่อให้ลูกฟังได้และอ่านเพื่อให้ความรู้พ่อแม่ไปด้วย” 

ครูเล่าเสริมว่า เมื่อไปเยี่ยมหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล ทำให้ได้เห็นว่าพอเด็กเหล่านี้ป่วย ทำให้ขาดโอกาสในการไปโรงเรียน ไม่ได้เจอของเล่น ไม่ได้เจอหนังสือ คนมาเผ้าไข้ไม่มีใครอ่านหนังสือให้เด็กฟังเลย จึงตัดสินใจเปลี่ยนเป้าหมายของโครงการมาเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กที่นอนรักษาตัวตามโรงพยาบาล

ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19
ครูชีวัน กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

“ครูเจอเด็กที่ป่วย จึงมาคิดว่าถ้านอนป่วยอยู่นี่เขาต้องการอะไร เขาต้องการคนมาเยี่ยมให้กำลังใจ เลยแต่งเรื่อง พาขวัญ ขึ้นมา เล่าว่ามีใครมาเยี่ยมบ้าง มีพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา เพื่อน หมอ แล้วก็ตุ๊กตาพาขวัญ แต่งแล้วให้น้องๆ ในทีมบ้านหนังสือเด็กมาเลือกไปวาดกันคนละตอน โดยมีโจทย์ว่าตัวละครเป็นหนู เพราะเรื่องคือ หนูไม่สบาย คำว่าหนู เป็นทั้งตัวละครและแทนตัวเด็ก” ครูเล่าถึงหนังสือ พาขวัญ หนังสือที่ทำขึ้นเพื่อโครงการนิทานเดินทาง แจกพร้อมตุ๊กตาพาขวัญที่จะอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆ ยามป่วยไข้

“เล่มนี้ครูออกแบบให้นักวาดหลายคนมาช่วยกัน เพื่อวาดให้ดูเป็นคนละบ้านกัน แล้วร้อยเรียงด้วยคำว่าหนู แต่ไม่ได้มีหนูป่วยอยู่ครอบครัวเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้วเด็กที่ป่วยบางคนเขาอาจจะมีครอบครัวไม่ครบ ถ้าเราวาดภาพเป็นครอบครัวเดียวที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเพื่อนมาเยี่ยมครบเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องเฉลี่ยความเป็นจริง นึกถึงเด็กบางคนไม่มีพ่อแม่ ครูแต่งเองและเขียนเองทั้งหมดก็ได้ แต่มันจะเป็นมุมมองเดียว เล่มนี้เราหามุมมองมาสร้างความหลากหลาย”

นอกจากความละเอียดในเรื่องและภาพอันเป็นลายเซ็นของงานของครูชีวันแล้ว ตุ๊กตาพาขวัญยังมีกิมมิกด้านหนึ่งเป็นสีขาว เพื่อให้คนที่มาเฝ้าไข้เป็นคนเขียนหน้าตาแล้วมอบให้ลูกหลาน ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการทำอะไรให้ลูกหลานเขา เด็กที่ได้ไปก็ภูมิใจอีกด้วย

นิทานเรื่องนี้…. ไม่มีวันจบ

วันนี้โครงการนิทานเดินทาง เข้าสู่ปีที่ 5 ครูชีวันมีเป้าหมายพารถนิทานเดินทางไปเจอกับเด็กๆ ทั่วประเทศให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ขยายต่อจากโรงพยาบาลไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษ พร้อมเขียนและจัดพิมพ์หนังสือเพิ่มเข้าสู่โครงการ และยังอยากทำรายการทีวีเพื่อเด็ก 

“อยากไปชวนเด็กๆ ให้มองดูรอบบ้านของตัวเอง มองดูในอำเภอ ในจังหวัดของตัวเองว่ามีของดีอะไร ที่อาจเคยมองข้าม เมื่อเราเห็นเราจะได้มีความสุข อิ่มเอมใจว่าเราอยู่กับของดีๆ ที่บ้านเรา แล้วแบ่งปันให้เพื่อนหรือจังหวัดใกล้เคียงได้รับรู้ โดยเริ่มจากตัวเองภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเองก่อน”

ปัจจุบัน ครูชีวันทำภาพระบายสี เกม และสื่อเพื่อเด็กๆ เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และยังคงพานิทานเดินทางไปสร้างรอยยิ้มให้เด็กๆ อยู่เสมอ

ครูชีวัน วิสาสะ กับการพาเจ้าห่านกลับมาเปล่งเสียง 'อีเล้งเค้งโค้ง' ผ่านหน้ากากในช่วง COVID-19

ขอขอบคุณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Writer

Avatar

ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์

บัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาต่อสาขา design for social innovation ที่สถาบัน School of Visual Art ในนิวยอร์ก สนใจงานศิลปะ และการออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ