“น้องอยากตายดีไหม” – นี่เป็นคำถามแรกที่เราได้รับจากหญิงสาวตรงหน้า 

“ถ้าน้องอยากตายดี น้องต้องวางแผนอยู่ดีตั้งแต่ต้น” เธอกำลังไกด์หนทางตายดีให้เรา

เธอคนที่เรากำลังพูดถึง คือ นุชชี่-ขนิษฐา ตั้งวรพจน์วิธาน จาก ‘ชีวามิตร’

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เราคุ้นหูกับคำว่า ‘อยู่ดี-กินดี’ แต่คำว่า ‘อยู่ดี-ตายดี’ ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ความตาย ก็สำคัญ เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า ชีวามิตร เป็นใคร แล้วข้องเกี่ยวอย่างไรกับความตาย ทำไมก่อนตายต้องวางแผนอยู่ดี ถ้าท่านที่ฝันใฝ่อยากตายดีกำลังตั้งข้อสงสัยเหมือนเรา (เพราะเราก็อยากตายดี) ขอชวนทำความรู้จักองค์กรภาคประชาชนที่อาสาเป็นกัลยาณมิตรช่วยวางแผนการเดินทางจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตในหลากหลายมิติ เพื่อให้คนไทยสร้างคุณภาพชีวิต ‘อยู่ดี-ตายดี’ อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

ราว 6 ปีก่อน ชีวามิตร ก่อตั้งโดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์) ด้วยประสบการณ์วัยเด็กทำให้ท่านข้องเกี่ยวกับความตาย ทั้งการสูญเสียคุณแม่ขณะที่เธออายุเพียง 2 ขวบ การอยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนรัก 4 ขาตัวจ้อยกำลังสิ้นลมหายใจไปต่อหน้า กระทั่งความเจ็บป่วยในวัยสูงอายุ และการรับรู้ถึงปัญหาของระบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในสังคมไทย เป็นเหตุผลให้ท่านสนใจใคร่รู้เรื่องความตาย (ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติ) และตระหนักถึงความสำคัญของวาระสุดท้ายในชีวิต

“ป้าสนใจการตาย กระบวนการตาย มาตั้งแต่เด็ก แม่ตายตั้งแต่ 2 ขวบกว่า ป้าโตขึ้นมาโดยจำแม่ไม่ได้ ทำให้ป้ารู้สึกว่าเราไม่เหมือนเด็กคนอื่น ถึงแม้ตอนนั้นจะไม่เข้าใจความตายตั้งแต่ต้น แต่ว่ามันเหมือนหยดอะไรบางอย่างที่ผสมเจืออยู่ในชีวิตของป้ามาโดยตลอด ซึ่งมันเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาตินะ

“แล้วก็มีเหตุการณ์ตอนราว ๆ 9 ขวบ เจ้าแดง หมาตัวเล็ก ๆ ที่วิ่งเล่นกันอยู่ถูกรถขับมาชน ทั้งที่ก่อนหน้านัั้นเล่นกันสนุกสนานมาก เขาเจ็บป่วย แล้วก็ตายโดยเราอยู่กับเขาตลอดเวลา เราเห็นความตายเกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ได้เศร้าโศกเสียใจ แต่เป็นความสงสัย เพราะเราเห็นกระบวนการตายของสิ่งที่เรารัก

“ถ้าถอยกลับไปคงจำลองความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้ แต่เหตุการณ์ยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งเป็นความอัศจรรย์นะ มันสว่างวาบขึ้นมา เหมือนเราตื่นรู้ว่า อ๋อ นี่หรือคือความจริง”

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ผูกโยงคุณหญิงจำนงศรีเข้ากับความตายในหลากหลายช่วงวัย บ้างทางตรง บ้างทางอ้อม จนมองเห็นว่าคนส่วนใหญ่มักวางแผนชีวิตเฉพาะการเกิด แก่ และเจ็บ 

แต่ ‘ตาย’ ดันถูกมองข้าม ฉะนั้นการเตรียมตัวตายอย่างสงบ หรือ ‘ตายดี’ จึงสำคัญต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ ‘อยู่ดี’ เช่นกัน จนนำมาสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจนถึงลมหายใจสุดท้ายให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน

เพื่อนบ้านที่ชีวามิตรจับมือผนึกกำลังมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเพื่อนชีวามิตร เผยแพร่ ส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติการแพทย์ มิติจิตใจ มิติสื่อสาร / สังคม มิติกฎหมาย และมิติเศรษฐกิจ รวมถึงงานวิจัย นวัตกรรมด้านการดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้าย การเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล คนรอบข้าง และครอบครัว ผ่านกิจกรรมและสื่อหลากหลาย ตลอดจนพัฒนาระบบจัดทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิตแบบออนไลน์ (e-Living Will) เพื่อให้ปลายทางของทุกคนมีทางเลือกที่เหมาะสมและพอดี

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

นุชชี่เล่าให้เราฟังว่ากลุ่มเป้าหมายของชีวามิตร คือกลุ่มผู้ป่วยและผู้ดูแลที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 มีกลุ่มคนอายุ 20 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น แสดงว่า ‘ความตาย’ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ แถมไม่ขึ้นอยู่กับอายุ นุชชี่เน้นกับเราว่า เธออยากให้ชีวามิตรเป็นเพื่อนเดินทางของทุกคนตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเพื่อนคนนี้ยามป่วยหนักหรือใกล้ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น

“ยุทธศาตร์ของเราคือการทำให้คนเข้าใจว่า ถ้าคุณอยากจะตายดี ควรวางแผนอยู่ดีใน 5 มิติให้ได้ ข้อสำคัญของเครื่องมือที่ทำให้อยู่ดีและตายดี คือต้องเข้าใจเรื่องการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care)”

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

การดูแลแบบรักษาแบบประคับประคอง ทำให้เรารู้ว่ามีทางเลือก (ในการรักษา) 

“มีเคสหนึ่งที่เราทำกับเยือนเย็น คุณยายท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ท่านเลือกกลับไปใช้วาระสุดท้ายที่บ้านเกิด บ้านท่านติดทะเล พอกลับถึงบ้านก็เปลี่ยนชุดว่ายน้ำลงทะเลเลย ราว 10 วันหลังกลับบ้านก็เสียชีวิต เรากำลังจะบอกว่า การดูแลรักษาแบบประคับประคอง คุณมีสิทธิ์เลือกว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างไร จะรักษาที่บ้านก็ได้ จะรักษาที่โรงพยาบาลก็ได้ แต่ต้องเป็นการรักษาที่ผู้ป่วยยังมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่การต่อสู้กับโรคหรือยื้อความตาย

“เรากำลังทำวิจัยถึงประสบการณ์ของคนที่วางแผนอยู่ดีมาเพื่อตายดีแล้วใช้การรักษาแบบประคับประคอง จากที่เก็บข้อมูลมาเล็กน้อย เรากล้าพูดว่าครอบครัวผู้ดูแลที่เลือกรักษาแบบนี้ เขาไม่ฟูมฟายหรือรู้สึกผิด แต่เขาเข้าใจและยอมรับการจากไปได้ นี่คือสิ่งที่พยายามคอนเฟิร์มว่ามันเป็นทางเลือกที่ดี” นุชชี่อธิบายให้เราฟัง

เป้าหมายในอนาคตของชีวามิตร คือการสร้างความรู้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างนักสื่อสาร

ปัจจุบันชีวามิตรจัดกิจกรรมและอบรมให้กับประชาชน ผู้ป่วย ผู้ดูแล บุคลากรทางการแพทย์ จนถึงองค์กร ผ่านโครงการ ‘วิชาชีวิต’ หลักสูตรออนไลน์-ออนไซต์ แบ่งปันองค์ความรู้เรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคอง โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายโรงพยาบาล ซึ่งเปิดอบรมให้ผู้สนใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

“พื้นฐานเรามาจากคนโฆษณา เลยวางยุทธศาสตร์ว่า ถ้าเราเผยแพร่ความรู้ให้ระดับองค์กรได้ก็ยิ่งขยายผลเร็ว สมมติองค์กรหนึ่งเราเทรนพนักงานได้ 10,000 คน เขากลับไปบอกพ่อ แม่ หรือคนในครอบครัว มันก็คูณสองแล้ว เป็นทั้งการให้ความรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็สร้างนักสื่อสารด้วย” นุชชี่เล่า

ยุทธศาสตร์ถัดมา คือสร้างนักบริบาลชุมชน ด้วย ‘วิชาเพื่อนตาย’ หลักสูตรอบรมเสริมทักษะสื่อสารและการดูแลจิตใจให้กับบุคลากรสุขภาพ ผสมผสานองค์ความรู้และทักษะทางสังคมกับทักษะทางการแพทย์ หลักสูตรนี้สำคัญกับบุคลากรสุขภาพอย่างมาก เพราะต้องรับหน้าที่เป็นคนกลางที่สื่อสารและดูแลใจผู้ป่วยกับครอบครัว 

“หมอ พยาบาล มาลงเรียนวิชาเพื่อนตายกับเราเยอะมาก ปัญหาหลักที่เขาเจอ คือเขาไม่มีเครื่องมือสื่อสาร เราเลยช่วยสร้างคู่มือ สร้างวิดีโอ จัดคลาสเรียนให้ เพื่อให้เขาสื่อสารเก่งขึ้น ซึ่งมันถือเป็นซูเปอร์สกิลล์เลยนะ”

ยุทธศาสตร์สุดท้าย คือระดับนโยบาย ชีวามิตรพยายามผลักดันให้เกิด Palliative Care Insurance ที่โรงพยาบาลและที่บ้าน ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกันบริษัทประกันและช่วยผลักดันให้เกิดกฎหมายรองรับ 

นอกจากนโยบายและวิชาเรียน ชีวามิตรยังจัดทำ คู่มือชีวามิตร : อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข Happy Leaving Journey เล่มกะทัดรัด แต่อัดแน่นด้วยความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ฉบับเข้าใจง่าย

ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคมที่แบ่งปันองค์ความรู้เพื่อวางแผนและเตรียมพร้อมตายดี เพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดีในทุกมิติ

เรากลับมาชวนคุณหญิงจำนงศรีพูดคุยถึงการวางแผนการอยู่ดี-ตายดี ต่ออีกสักนิด

“ป้าศรีไม่ค่อยได้วางแผน (หัวเราะ) แผนที่วางไว้ คือขอตายที่บ้าน ตอนนี้เริ่มรีโนเวตและออกแบบพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมสู่การตาย ป้าว่าจะไปวันนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ ยังไงก็ต้องตายสักวัน เป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นอยู่แล้ว ถ้าถึงวันนั้นจะลูกจะมาก็ได้ ไม่มาก็ได้ มาไม่ทัน ฉันไม่รอเธอหรอก” ป้าศรีพูดด้วยอารมณ์ขัน

“ป้าศรีข้องเกี่ยวกับความตายมาหลายครั้งหลายคน ป้าศรีเรียนรู้อะไรจากความตายคะ” – เราถาม

“ป้าเรียนรู้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด” หญิงวัย 84 ตอบเราด้วยรอยยิ้ม

ชีวามิตร : องค์กรที่วางแผนอยู่ดี-ตายดี และเป็นเพื่อนเดินทางจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เว็บไซต์ : cheevamitr.com

Facebook : ชีวามิตร Cheevamitr Social Enterprise

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์