The Cloud X สาคดีสัญชาติไทย

“ชีตาห์ตัวนั้นกำลังเดินตรงไปที่รถที่จอดอยู่กลางทุ่งตรงนั้น” ซูยี ชายวัยกลางคนชาวเคนยาผู้ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย บอกผมก่อนจะค่อยๆ เคลื่อนรถขยับเข้าไปหามุมให้ผมบันทึกภาพ

“ระวังนะ มันอาจจะปีนขึ้นไปบนหลังคารถเพื่อมองเหยื่อ” พูดแทบไม่ทันขาดคำ ชีตาห์ตัวนั้นก็กระโจนขึ้นหลังคารถขับเคลื่อนสี่ล้อคันที่จอดอยู่ข้างหน้าเราทันที ในจังหวะที่ผมวางกล้องที่ติดเลนส์ Super Telephoto ขนาด 600 มิลลิเมตรลงแล้วหยิบกล้องอีกตัวที่ติดเลนส์ซูม 120 – 300 มิลลิเมตร ขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาทีนั้น

คนที่นั่งอยู่ในรถดูเหมือนจะไม่รับรู้ถึงการมาของชีตาห์ตัวนั้น คนหนึ่งนั่งคุยโทรศัพท์อยู่ ในขณะที่อีกคนดูเหมือนจะเล่น Ipad อยู่ ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่ชีตาห์กระโดดขึ้นมาจากท้ายรถและเดินไปบนหลังคาที่เปิดโล่งเป็นช่องขนาดใหญ่ ก่อนที่จะกระโดดลงทางด้านหน้าของรถยนต์ และมุ่งหน้ากลับไปหาฝูง

ทุกวินาทีที่เราอยู่ในท้องทุ่งของแอฟริกา เรื่องราวอันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที

“ชีตาห์เป็นนักล่ากลางแดด และมันชอบขึ้นไปมองเหยื่อจากที่สูงๆ ไม่ว่าจะเป็นบนก้อนหิน เนินดิน และในท้องทุ่งมาไซมาร่าแห่งนี้ รถยนต์ที่จอดอยู่นิ่งๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชีตาห์ขึ้นไปมองเหยื่อที่อยู่ห่างออกไปในระยะไกลได้” ซูยีบอกผม

ตามติดวินาทีล่าเหยื่อของแม่ชีตาห์ ลูกอ่อน นักวิ่งฟลมกรดแห่งแอฟริกา
ชีตาห์ชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งโล่ง และชอบขึ้นไปบนก้อนหินหรือจอมปลวกขนาดใหญ่เพื่อเฝ้าดูทิศทางการเคลื่อนไหวของเหยื่อจากระยะไกลเป็นระยะๆ เพื่อเคลื่อนที่ไปดักรอจับเหยื่อ

ด้วยประสบการณ์นับสิบปีที่เขาเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในมาไซมาร่า ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นไกด์ขับรถพานักท่องเที่ยวและทีมงานสารคดีชื่อดังจากทั่วโลกมาบันทึกภาพสัตว์ป่าในท้องทุ่งแห่งนี้ เขาบอกเล่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเบื้องหน้าผมได้ราวกับพ่อมดผู้หยั่งรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอีกไม่กี่นาที

มันมักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ…

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอะไรทำให้ผมผูกพันกับทวีปแอฟริกา อาจจะเป็นเพราะหนังสือที่เคยอ่านสมัยเด็กๆ หรือภาพประทับใจจากภาพยนตร์ ที่ทำให้ผมเดินทางมาแอฟริกาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ไม่เคยไปเหยียบทวีปยุโรปกับเขาสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส โรม มิลาน แต่ทวีปแอฟริกา ที่ซึ่งเราเชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันออกไปอาศัยอยู่บนพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกในทุกวันนี้ กลับกลายเป็นดินแดนที่เราไม่คุ้นเคย ทั้งๆ ที่ที่นี่อาจจะเป็นบ้านแห่งแรกของมนุษย์ทุกคนบนโลกด้วยซ้ำ…

เราขับรถตามชีตาห์แม่ลูกคู่นั้นไป ซูยีกระซิบบอกผมว่า ถ้าเราโชคดี เราอาจจะได้เห็นฉากชีวิตอันน่าประทับใจของชีตาห์ เนื่องจากชีตาห์ที่มีลูกอ่อนจะต้องล่าเหยื่อแทบทุกวัน

ตามติดวินาทีล่าเหยื่อของแม่ ชีตาห์ ลูกอ่อน นักวิ่งฟลมกรดแห่งแอฟริกา
แม่ชีตาห์ที่มีลูกน้อยจะต้องออกล่าเหยื่อทุกวัน เพราะว่าชีตาห์จะไม่กลับมากินเหยื่อตัวเดิม เนื่องจากจะมีนักล่าขนาดใหญ่เช่นสิงโตหรือไฮยีนาเข้ามาแย่งเหยื่อ ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับลูกของมันได้

ซูยีหยุดรถในระยะที่ห่างออกมาพอสมควร ชีตาห์ตัวแม่ค่อยๆ คืบคลานตัวลงไปตามพื้นหญ้าสูง เมื่อเห็นฝูงทอมสันส์กาเซลล์ (Thomson’s Gazelle) ฝูงหนึ่งกำลังหากินอยู่กลางทุ่งไกลออกไป

“เราต้องหยุดรอตรงนี้ เพราะระยะที่ชีตาห์ซุ่มอยู่ยังห่างเกินไปที่จะ Sprint ตัวเข้าไปล่าเหยื่อ ถ้าเราขยับเข้าไปใกล้กว่านี้จะไปรบกวนการล่าเหยื่อของมัน” ซูยีบอกก่อนจะดับเครื่องยนต์ ดูเหมือนว่ารถคันอื่นๆ ที่ได้ข่าวสำคัญนี้ก็ทยอยเข้ามาและหยุดดูห่างออกไปหลายร้อยเมตรเช่นเดียวกับเรา

อาหารในแต่ละมื้อของชีตาห์ไม่ได้ได้มาง่าย โดยเฉพาะชีตาห์แม่ลูกอ่อนที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อยซึ่งกำลังโต ยิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กลางป่าแห่งนี้ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ต หรือถึงจะมี แม่ชีตาห์ก็คงไม่มีเงินไปซื้อเนื้อมาให้ลูกๆ ของนางกินเป็นอาหาร การล่าเหยื่อแต่ละครั้งจึงต้องใช้การวางแผนบวกพละกำลังมหาศาล และไม่ใช่ทุกครั้งที่การล่าจะประสบผล

ชีตาห์ทิ้งลูกน้อยไว้ด้านหลังห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรแล้วค่อยๆ ขยับตัวเข้าไปใกล้ฝูงทอมสันส์กาเซลล์

ดูเหมือนระยะทางและเวลาที่ผ่านไปช่างยาวนานเหลือเกิน…

ในที่สุด การรอคอยอันยาวนานของพวกเราก็สิ้นสุดลง เมื่อนางชีตาห์กระโจนตัวออกจากที่ซ่อนเข้าไปหาฝูงทอมป์สันกาเซลล์ที่แตกกระจายออกไปอย่างไร้ทิศทาง

ระยะที่ผมอยู่ห่างเกินกว่าจะบันทึกภาพได้ ผมมองภาพนั้นผ่านกล้องส่องทางไกล เห็นภาพการวิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอดของผู้ถูกล่า และความพยายามที่จะล่าเหยื่อเพื่อมาเป็นอาหารให้กับลูกๆ ของชีตาห์

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่สติปัญญาของเราจะเข้าใจได้

ตามติดวินาทีล่าเหยื่อของแม่ ชีตาห์ ลูกอ่อน นักวิ่งฟลมกรดแห่งแอฟริกา
ช่วงเวลาที่น่ามหัศจรรย์กลางท้องทุ่งของแอฟริกาเกิดขึ้นได้ทุกวินาที และหลายๆ ครั้งเราอาจจะพลาดโมเมนต์ที่สำคัญของชีวิตไปหากมัวแต่คุยโทรศัพท์มือถือหรือเล่นโซเชียล ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามาไซมาร่า สรรพสัตว์ในท้องทุ่งจะคุ้นเคยกับรถยนต์และมนุษย์มาก บ่อยครั้งมันจะปีนขึ้นมาบนหลังคารถเพื่อเฝ้าดูทิศทางการเคลื่อนที่ของเหยื่อ ก่อนที่จะก้าวไปสกัดในทิศทางที่เหยื่อเดินไป โดยไม่สนใจรถยนต์หรือว่าคนที่อยู่ในรถเลย

ในที่สุดการล่าก็จบลง เมื่อชีตาห์ใช้เล็บตะปบให้ทอมสันส์กาเซลล์ล้มลง และนั่นคือภาพสุดท้ายที่ผมเห็นท่ามกลางฝุ่นควันฟุ้งหนาราวกับหมอกที่ลงจัดในยามเช้า

ผมได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของรถซาฟารีหลายคันถูกสตาร์ทแทบจะพร้อมๆ กันในวินาทีที่ทอมสันส์กาเซลล์ตัวนั้นล้มลง รถทุกคันพุ่งตรงไปยังตำแหน่งนั้นทันที

ภาพแรกที่เราเห็นเมื่อเข้าไปใกล้ก็คือ นางเสือชีตาห์กำลังงับคอทอมสันส์กาเซลล์ตัวที่เพิ่งล่ามาได้คาปากอยู่ ในขณะที่ดวงตาใสของเจ้าทอมสันส์กาเซลล์ยังคงไม่ดับสนิท ในปากยังมีเศษหญ้าที่ยังไม่ทันเคี้ยวติดอยู่ และเขาที่คดงอของมันสื่อถึงความไม่สมบูรณ์ในสายพันธุ์

แน่นอนที่สุดว่าการล่าของชีตาห์ไม่ใช่การล่าเพื่อ Trophy หรือเพื่อเอาเขาที่งดงามมาประดับฝาบ้าน หากแต่เป็นการล่าเพื่อหาอาหารมาต่อชีวิตให้ตัวนางเองและลูกๆ ในฐานะสัตว์ที่ช่วยควบคุมประชากรและคอยคัดสายพันธุ์ของท้องทุ่งมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล 

แต่กระนั้น การล่าแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นางชีตาห์ยังคงงับคอทอมสันส์กาเซลล์อยู่อย่างนั้นไปเกือบ 10 นาที จนกว่านางจะมั่นใจว่าเจ้าทอมสันส์กาเซลล์ตายสนิทแล้วและหนีไปไหนไม่ได้ ก่อนที่นางจะส่งเสียงเล็กๆ เรียกให้ลูกๆ เข้ามากินอาหาร ในขณะที่นางทิ้งตัวลงไปนอนด้วยท่าทีที่เหนื่อยอ่อนจากการเรียกพลังงานทั้งหมดมาใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที

แม้ว่าชีตาห์จะเป็นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าวิ่งเร็วที่สุดในโลก หากในความเป็นจริง ชีตาห์วิ่งด้วยความเร็วเท่านั้นได้เพียงระยะทางสั้นๆ ในเวลาจำกัด ถ้าหากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ชีตาห์ก็เหมือนนักวิ่งลมกรด 100 เมตร คนที่วิ่งเร็วมักไม่ใช่นักวิ่งมาราธอนที่จะวิ่งระยะทางไกลๆ ได้ดีเสมอไป ถ้าหากระยะทางในการล่ายืดยาวออกไป โอกาสที่ชีตาห์จะล่าเหยื่อสำเร็จก็ยิ่งน้อยลง

ตามติดวินาทีล่าเหยื่อของแม่ ชีตาห์ ลูกอ่อน นักวิ่งฟลมกรดแห่งแอฟริกา
จังหวะชีวิตที่อาจจะพลิกผันเพียงแค่เสี้ยววินาทีกลางท้องทุ่งของผู้ล่าและผู้ถูกล่า การล่าของสัตว์กินเนื้ออย่างชีตาห์มีจุดประสงค์ทางธรรมชาติเพื่อควบคุมประชากรและคัดสรรสายพันธุ์ เหยื่อตัวที่ช้าและอ่อนแอที่สุดจะตกเป็นอาหาร ดังเช่นทอมสันส์กาเซลล์ตัวนี้ที่มีเขาบิดเบี้ยวและวิ่งช้าที่สุด จะตกเป็นเหยื่อเพื่อต่อชีวิตให้เธอและลูกๆ ของเธอ

อีกเกือบครึ่งชั่วโมงต่อมาหลังจากลูกๆ ของนางกินอาหารมื้อนั้นเสร็จเรียบร้อย นางก็เริ่มต้นกินอาหาร ในขณะที่ลูกๆ เริ่มเรียนรู้บทเรียนในการล่าด้วยการเข้าไปงับที่คอของทอมสันส์กาเซลล์ตัวนั้นบ้าง บ้างก็กระโจนขึ้นไปบนตัวเหยื่อที่นอนนิ่งอยู่กับพื้น

ชีตาห์จะกินอาหารของมันให้มากที่สุดในคราวเดียว และมักจะไม่กลับมากินต่ออีก เพราะเหยื่อที่ถูกทิ้งไว้กลางทุ่งโล่งจะชักนำสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นสิงโตหรือฝูงไฮยีนา ชีตาห์ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่านั้น ไม่ต้องคิดเลยว่าจะไปต่อกรกับสัตว์นักล่าขนาดใหญ่พวกนั้นได้ และสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับลูกๆ ของชีตาห์ก็คือสิงโตตัวผู้ ที่มักทำร้ายและฆ่าลูกชีตาห์ที่อยู่ในอาณาเขตของมันอยู่เสมอ

หลายๆ คนอาจจะสับสนระหว่างชีตาห์กับเสือดาว สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดก็คือลวดลายบนลำตัว ของชีตาห์จะเป็นจุดสีดำกลมๆ ในขณะที่เสือดาวจะเป็นลายที่เรียกกันว่า ลายขยุ้มตีนหมา เมื่อพิจารณาถึงรูปทรงของมัน ชีตาห์เป็นสัตว์ที่มีหัวและกรามค่อนข้างเล็ก ไม่มีกล่องเสียงเหมือนกับเสือขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆ ลักษณะลำตัวผอมเพรียว บริเวณใบหน้ามีเส้นสีดำพาดลงมา เรียกว่าเส้นหยาดน้ำตา หรือ แอ่งน้ำตา (Tear Lines) ซึ่งช่วยลดแสงสะท้อนที่เข้ามาสู่ดวงตา เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ออกล่าเหยื่อกลางแดด เป็นหลักการเดียวกันกับการที่ทหารเรือพลซุ่มยิงเอาสีดำมาป้ายเหนือแก้มเพื่อลดแสงสะท้อน

ตามติดวินาทีล่าเหยื่อของแม่ ชีตาห์ ลูกอ่อน นักวิ่งฟลมกรดแห่งแอฟริกา
หลังจากกินอาหารเสร็จ ลูกชีตาห์จะเข้ามาให้แม่ทำความสะอาดร่างกาย ก่อนจะผละจากซากที่กินจนอิ่มแล้ว

ในขณะที่เสือดาวซึ่งจัดเป็นนักล่าขนาดใหญ่หรือ Big 5 แห่งท้องทุ่งแอฟริกานั้น จะมีหัวขนาดใหญ่กว่า มีช่วงขาที่สั้นกว่า และมีรูปร่างลักษณะลำตัวที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แบกเหยื่อที่มีขนาดพอๆ กับมันขึ้นไปไว้บนต้นไม้ได้ เพื่อหลบให้พ้นจากสายตาของสิงโต  

ชีตาห์อาศัยอยู่ในทุ่งโล่ง ส่วนเสือดาวมักจะรอดักเหยื่ออยู่บนต้นไม้ในบริเวณที่รกทึบ

ในอดีต ชีตาห์เคยอาศัยอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกาตะวันออกกลางและบางส่วนของทวีปเอเชีย แต่ปัจจุบันคงเหลืออยู่ในบางส่วนของทวีปแอฟริกาเฉพาะตามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่านั้น

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม