เบื้องหลังแห่งชัยชนะ คือ…การสร้างรากฐานที่ยั่งยืน นี่คือบทสัมภาษณ์ ‘โค้ชเช’ หรือ ชเว ยอง-ซอก หัวหน้าผู้ฝึกสอนกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย กับ 17 ปีท่ีรอคอย สู่วินาทีพา เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ก้าวขึ้นสแตนด์รับเหรียญทองโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ นำธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา เพลงชาติไทยบรรเลงก้องสเตเดี้ยม เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนําเหรียญโอลิมปิกกลับมาสู่คนไทยทั้งชาติแล้ว ถึง 6 เหรียญ 5 สมัยติดต่อกัน

นับได้ว่าหลังจากคนไทยรู้จักโค้ชเช ก็ไม่มีครั้งไหนที่ประเทศไทยไม่ได้เหรียญจากการแข่งขันระดับชาติอีกเลย

แม้ในหน้าจอเราจะเห็นแต่ภาพของนักกีฬากับโค้ช แต่นอกจอยังมีผู้คนอีกมากมายที่มารวมตัวกันเพื่อทำให้ฝันของคนไทยเป็นจริง

ทรู King of Sport ผู้เห็นคุณค่าและสนับสนุนเรื่องกีฬามาโดยตลอด เชื่อเหมือนโค้ชเชว่า การมีกันและกันเป็นพลังให้ทุกสิ่งเป็นจริงได้ เลยเลือกโค้ชเช และ แต้ว-สุดาพร สีสอนดี ให้เป็น ฮีโร่ ทรู 5G อย่างรวดเร็ว พร้อมกับชื่นชมฮีโร่ตัวจริงที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือ พี่น้องชาวไทยผู้ส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาของเรามาโดยตลอด

ในวาระนี้ ทรูชวน The Cloud เข้าไปพูดคุยกับโค้ชเชแบบสุดพิเศษ เพื่อเจาะลึกทุกเรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จที่ใช้เวลาวางรากฐานถึง 2 ทศวรรษ

ชีวิตโค้ชเชนั้น ‘ไม่ง่าย’ ทั้งปูมที่มา ความใฝ่ฝัน อุปสรรค ความสูญเสีย การต่อสู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชีวิตโค้ชเชน่าจะน่วมจากการโดนเตะไม่น้อยไปกว่านักกีฬาของเขา

ในขณะที่น้องเทนนิสหรือนักกีฬาคนอื่นๆ ถูกคู่ต่อสู้เตะส่วนหัวหรือกลางลำตัว ชีวิตโค้ชเชกลับถูก ‘ชีวิต’ นั้นเองที่ส่งเท้าลึกลับจากฟากฟ้าเตะซ้ำกระหน่ำซัด จนหลายครั้งเสียหลัก กรรมการกดคะแนนให้ไม่ทัน

แต่ก็เป็น ‘ชีวิต’ นั้นเองที่เตะโค้ชเชแล้วมอบรางวัลล้ำค่าระดับ ‘เหรียญทองโอลิมปิก’ กลับคืนมาให้

อย่างรวบรัด, เพราะกับความสำเร็จ อย่าไปฟินนาน นี่คือบทสัมภาษณ์ที่โค้ชเชได้มันมาจากไลฟ์โค้ชซึ่งเรียกขานกันว่า ‘ชีวิต’ และพิสูจน์ด้วยพลังที่ได้รับมาจากคนไทยทั้งชาติอย่างแท้จริง

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

นี่ก็ผ่านมาแล้วหลายวัน ความรู้สึกของโค้ชที่พาน้องเทนนิสคว้าเหรียญทองได้ยังเหมือนเดิมไหม

แน่นอนครับ ตอนนี้ผมก็ยังดีใจมากๆ ครับ ไม่พอ ไม่รู้จะพูดยังไงดี แต่ว่าดีใจสุดๆ ครับ ทั้งชีวิตของผมนี่เป็นเป้าหมายหรือเป็นความฝันสูงสุดของผมเลย อยากนำเหรียญทองมาให้ประเทศไทย เพราะฉะนั้น (คิดนาน) ดีใจสุดๆ ครับ รู้สึกเป็นเกียรติจริงๆ

ก่อนจะลงแข่งรอบชิงฯ โค้ชคุยอะไรกับน้องเทนนิสบ้าง

ผมก็บอกว่านี่เป็นรอบสุดท้ายแล้วนะ ครั้งสุดท้ายแล้ว แต่ไม่ต้องคิดว่าเป็นรอบชิงฯ จะได้ไม่ตื่นเต้น คุณต้องคิดว่าเป็นรอบแรก เพราะปกติรอบแรกไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมบอกว่านี่ก็เป็นรอบแรกนะ เจอสเปน ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะสเปนเขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ ผมอยากให้กดดันน้อยที่สุดครับ ถ้าเราบอกเด็กว่ารอบชิงฯ คุณต้องสู้ๆ นะ ชนะนี่เราได้เหรียญทองแน่ๆ ถ้าพูดแบบนี้เขาก็ตื่นเต้นมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น ผมเลยบอกว่าไม่ต้องคิดว่าเป็นรอบชิงชนะเลิศ คิดว่าเป็นรอบแรก แพ้ก็ได้ ชนะก็ดี แต่ว่าสิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องเล่นเต็มที่จนหมดเวลาเหมือนตอนที่ซ้อมมา ผมบอกแค่นี้ครับ

มันช่วยได้ใช่ไหม การไม่ทำให้นักกีฬาเราแบกรับความกดดัน

ผมเชื่อว่าช่วยได้ครับ เพราะผมอยู่กับเทนนิสมานานนะ อยู่กันมาสิบกว่าปี ตั้งแต่รุ่นเยาวชน เราผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาด้วยกัน เคยแพ้ เคยชนะ เคยร้องไห้ เคยดีใจ หลายเรื่องครับ เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราเชื่อในกันและกัน ผมรู้ว่าเขารู้ดีว่าแมตช์นี้สำคัญแค่ไหน แต่ผมอยากให้เขามีสมาธิมากที่สุด ไม่รู้ว่าได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผมเชื่อว่าช่วยได้แน่นอนครับ

โค้ชพอประเมินได้ว่าหลังจากบอกให้ไม่กดดันไปแล้วน้องเทนนิสเป็นยังไง

เขาก็รู้ว่านี่เป็นรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิกแหละ ยังไงมันก็เป็นความฝันของเขา ของคนไทยทั้งประเทศ เขารู้ว่าคนไทยทุกคนกำลังดูอยู่ ดูหน้าตาเขา ผมรู้ว่าเขาตื่นเต้น แต่มันเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องทำให้เขาข้ามมันไปให้ได้ พอบอกว่าไม่ต้องกดดันนะ เขาก็รับทราบ เขาบอกว่าไม่เครียด ก็เล่นสบายๆ เหมือนเล่นรอบแรก

ถามจริงๆ คิดว่าแมตช์นั้นน้องจะชนะได้ไหม

ผมเชื่อจริงๆ ว่าได้ครับ จุดที่ผมอยู่คือตรงกลาง มองเห็นนักกีฬาทั้งสองคน น้องเทนนิสได้เรื่องเทคนิค ประสบการณ์เราดีกว่าเขาจริงๆ แต่ทางฝั่งสเปนเขาไม่กดดันเลย เพราะเขามาจากรุ่นเยาวชน เขาอายุแค่สิบเจ็ด สิบแปด มาถึงรอบชิงได้เขาก็ดีใจแล้ว เขาเลยไม่กดดัน ซึ่งนั่นแหละอันตรายสำหรับเรา เพราะบางทีสู้ด้วยความไม่กดดันก็ดีกว่า การที่เรามีประสบการณ์บางทีก็ทำให้เรากลัว

น้องเทนนิสเองก็เคยมีประสบการณ์คราวที่แล้วที่แพ้มาด้วย

ใช่ คราวที่แล้วเทนนิสแพ้ช่วงสามวินาทีสุดท้าย ผมถึงบอกว่าบางทีประสบการณ์ก็ช่วยได้ แต่ไม่เยอะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าใจรับความกดดันได้ไหม ใช่ เราอยากชนะ เขาก็อยากชนะ แต่อย่าลืมว่าเขาแพ้ได้ ไม่มีบาดแผลอะไร แพ้ได้เหรียญเงิน ได้ประสบการณ์ที่มีค่า แต่เราเคยผ่านตรงนั้นมาแล้ว มีบาดแผลมาแล้ว คราวนี้เรามีเป้าหมายว่าต้องเหรียญทอง เราเป็นฝ่ายที่รับมือกับความกดดันและความเครียด ดังนั้น ผมก็อยากช่วยน้องว่าไม่ต้องกดดัน เล่นเต็มที่ให้เหมือนกับที่ซ้อมมา เราชนะได้แน่ เพราะทุกอย่างเราดีกว่าเขาเยอะจริงๆ เทนนิสก็รับทราบและเต็มที่ครับ

ก่อนยกสุดท้าย กล้องถ่ายทอดสดจับมาตอนที่โค้ชพูดกับน้องเทนนิส ตอนนั้นโค้ชพูดอะไร

ตอนนั้นคะแนนเรานำอยู่ ผมก็พูดเหมือนเดิมว่า คุณไม่ต้องคิดเรื่องคะแนน เล่นเต็มที่ให้หมดเวลา แค่นั้นพอ

ทำไมถึงย้ำเรื่องไม่ต้องห่วงเรื่องคะแนนนำ คะแนนตาม

จากประสบการณ์ของผม หลายคนแพ้นาทีสุดท้ายเพราะมัวแต่กังวลเรื่องคะแนน ผมบอกเทนนิสเลยว่าห้ามคิดเรื่องคะแนนนะ เล่นให้เต็มที่ตามปกติ หยุดเมื่อกรรมการบอกให้หยุดแค่นั้นพอ

ความสนุกมันอยู่หกหรือเจ็ดวินาทีสุดท้ายก่อนจะหมดยกสาม เราตามอยู่ แล้วเหลือเวลาน้อยมากๆ ที่จะพลิกสถานการณ์ ความรู้สึกโค้ชตอนนั้นเป็นยังไง ถอดใจไหม คิดว่าเราได้เหรียญเงินอีกแล้วแน่ๆ ไหม

เรามีการฝึกซ้อมเรื่องสถานการณ์แบบนี้ ยกสุดท้ายเหลือสามสิบวินาที สิบห้าวินาที สิบวินาที เราต้องทำยังไง ก็ต้องเตะเยอะๆ ครับ พยายามอยู่ให้ใกล้ๆ เขา เตะให้เยอะที่สุด จริงๆ ตอนนั้นผมก็ตื่นเต้นนะ พยายามบอกเทนนิสว่าเราทำได้ พยายามเตะต่อ เตะจนหมดเวลา เวลาเจ็ดวินาทีแป๊บเดียวก็หมดแล้วครับ ตื่นเต้นเกือบตายจริงๆ ครับตอนนั้น (หัวเราะ)

สุดท้ายก็แซงนำคว้าแชมป์จนได้ เราเห็นภาพน้องเทนนิสวิ่งลงไปกอดโค้ชร้องไห้ เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุยอะไรกัน

อืม ผมก็ร้องไห้ด้วยครับ (หัวเราะ) หลังจากนั้นผมบอกว่าขอบคุณ ขอบคุณที่อดทนถึงวันนี้ ผมรู้สึกแฮปปี้มากจริงๆ จริงๆ ตอนนั้นไม่รู้จะพูดยังไงดี แต่ผมกอดแล้วก็บอกว่าขอบคุณๆ

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

ในฐานะโค้ช การที่เราจะทำให้นักกีฬาคนหนึ่งขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดของโลก คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ ต้องใช้เวลาแค่ไหน ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

มันเป็นงานยาก ต้องใช้เวลานานนะครับ อย่างน้องเทนนิสได้เหรียญทองโอลิมปิก หรือเหรียญทองชิงแชมป์โลกได้เนี่ย ผมใช้เวลามากกว่าสิบปี ต้องมีความอดทนและต่อเนื่องครับ เพราะเวลาสิบปีมันมีเรื่องต่างๆ เยอะ มีชนะ มีแพ้ เคยร้องไห้ เคยบาดเจ็บ เคยผ่าตัด ท้อถอย

คำถามคือแล้วยอมแพ้ไหม พยายามสู้ต่อไหม ลืมเป้าหมายตัวเองหรือเปล่า ไม่ลืมความฝันตัวเองใช่ไหม ถ้าไม่ลืม จำเป้าหมายได้ ต้องพยายามอย่างต่อเนื่อง ต้องอดทน เพราะฉะนั้น ที่เห็นประสบความสำเร็จได้เหรียญทองภายในสิบกว่านาทีนั้นน่ะ กว่าจะถึงจุดนั้นต้องใช้เวลา ต้องพยายาม ต้องอดทนเป็นสิบๆ ปี

สิบปีนี่ก็นานนะ โค้ชมีวิธีที่ทำให้คนคนหนึ่งไม่ล้มเลิกกลางทางได้ยังไง

วิธีการของผมก็คือ ถามนักกีฬาทุกคนซ้ำๆ ว่า “เป้าหมายของคุณคืออะไร” ทุกคนตอบว่า “อยากได้เหรียญทองโอลิมปิก” ไม่มีใครอยากได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ไม่มีหรอก เพราะทุกคนมีฝันสุดท้ายเป็นเหรียญทองโอลิมปิกทั้งนั้น ก่อนหน้านี้น้องเทนนิสเคยได้เหรียญทองมาหมดแล้ว ยกเว้นยกเว้นโอลิมปิก ผมก็ถามเสมอว่า “เป้าหมายจริงๆ คืออะไร” เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ กีฬามหาวิทยาลัยโลก ชิงแชมป์โลกเหรอ

เวลาที่เขาได้เหรียญทองอะไรมา ผมจะดีใจกับเขาแค่แป๊บเดียวครับ หลังจากพิธีมอบเหรียญแล้ว ผมบอกว่าคุณยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้คือเหรียญทองโอลิมปิกอยู่ดี เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามต่อ ความสำเร็จของเมื่อวานก็ต้องเลิกดีใจให้เร็วๆ คุณต้องพยายามเขียนเรื่องขึ้นมาใหม่ พรุ่งนี้ อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า ผมให้ตั้งเป้าหมายใหม่ๆ เสมอ ชื่นชมได้ แต่เลิกเร็วๆ

ฉลองความสำเร็จหน่อยไม่ได้เหรอ ขอฉลองสักหนึ่งเดือน

(หัวเราะ) ปกติแข่งเสร็จก็มีแข่งต่อครับ แข่งชิงแชมป์โลกเสร็จ มีเอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ต่อครับ ไม่ใช่แข่งเสร็จปีนี้ แข่งอีกทีปีหน้า ไม่ใช่ บางทีแข่งเดือนนี้เสร็จ เดือนหน้ามีแข่งอีกสามครั้ง เรื่องฉลองผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เป็นคนชื่นชมใครก็ชื่นชมไม่นาน เต็มที่สุดๆ ก็วันที่ได้เหรียญ

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

นอกจากนักกีฬาและโค้ชแล้ว มีคนมากมายที่ต้องทำงานร่วมกันอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องเทนนิส ทีมงานของโค้ชประกอบด้วยใครบ้าง

การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ ครับ คนทั่วไปอาจเห็นในทีวีว่ามีแค่สองคน โค้ชกับนักกีฬา แต่ความสำเร็จของน้องเทนนิสมีคนอยู่เบื้องหลังอีกมากมาย ทุกคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จนี้ทั้งหมด

คนแรกคือสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยครับ สมาคมสนับสนุนพวกเราเต็มที่ สตาฟโค้ชต้องการอะไร นักกีฬาต้องการอะไร อยากเก็บตัวที่ไหน อยากไปแข่งที่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ถ้าไม่มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นต้องให้เครดิตสมาคมฯ และ คุณบิ๊ก (ธนฑิตย์ รักตะบุตร) เลขาธิการสมาคมฯ ที่เชื่อใจกัน ผมขอบคุณจริงๆ แล้วก็ภูมิใจที่ได้ทำงานให้สมาคมเทควันโดฯ ของเรา ต่อจากสมาคมฯ ก็เป็นสตาฟโค้ชทุกคน หัวหน้าผู้ฝึกสอน โค้ชไทยทั้งสี่คน

สี่คนทำอะไรกันบ้าง

ตอนซ้อม สตาฟโค้ชก็ถือเป้าครับ (หัวเราะ) ไปให้นักกีฬาซ้อมเตะ โดนเตะหนักมาก มีโค้ชหนึ่งดูแลเรื่อง Physical ผมให้ความสำคัญส่วนนี้เป็นพิเศษ เพราะ Physical ของเทควันโดไม่ใช่เรื่องกล้ามเนื้อแข็งแรงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเทคนิคทางร่างกายสำหรับกีฬาเทควันโด

อีกคนหนึ่งคือ โค้ชชิต (วิชิต สิทธิกัณฑ์) เขาดูแล จูเนียร์ (รามณรงค์ เสวกวิหารี) ครับ อีกคนก็ โค้ชแม็ก (ร.ต.ท.ชัชวาล ขาวละออ) เขาดูแลเทนนิสตอนซ้อมตีเป้าแรง ตีเป้าใหญ่ ผมจะคุยกับเขาว่าผมอยากให้เทนนิสทำท่านี้ เทคนิคนี้ คุณช่วยถือเป้าหน่อย (หัวเราะ) อีกคนหนึ่งคือโค้ชต่อครับ เขาก็ถือเป้าด้วย เพราะฉะนั้น เหรียญทองนี้ก็เป็นของพวกเขาด้วย

เวลาซ้อม เราห้าคนซ้อมร่วมกับนักกีฬา คงบอกว่าเป็นความสำเร็จของคนใดคนหนึ่งไม่ได้ นักกีฬาคนเดียวทำอะไรไม่ได้ครับ เราต้องคิดด้วยกัน เข้าใจกันและกัน วางแผนร่วมกัน และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราต้องผ่านไปด้วยกันครับ

สมาคมฯ สตาฟโค้ช แล้วยังมีใครอีกไหม

นักโภชนาการ อันนี้สำคัญมากครับ เพราะว่านักกีฬาเทควันโดเรามีหลายรุ่น หลายน้ำหนักครับ รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง กินไม่เหมือนกัน เราวางแผนคุมน้ำหนักก่อนแข่งสองเดือน การเลือกกินสำคัญมาก แล้วก็มีนักกายภาพบำบัดอีก เพราะเทควันโดเป็นกีฬาต่อสู้ เตะกันไม่รู้กี่ครั้ง หัวมีโอกาสเจอเตะด้วยเท้าจนบาดเจ็บ นักกายภาพมีความสำคัญมากในการดูแลและฟื้นฟู นักกีฬาเทควันโดถ้าข้างในเจ็บ ต้องรีบทำกายภาพบำบัดหรือทำอัลตราซาวนด์รักษาทันที

แล้วก็ยังมีคนมาช่วยเรื่อง Psychologic หรือการสร้างกำลังใจด้วยครับ ผมมี อาจารย์ปลา (ดร.วิมลมาศ ประชากุล) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาช่วยดูแล อาจารย์ก็จะเข้าไปคุยกับนักกีฬาเพื่อไม่ให้เครียด ไม่ให้กดดันครับ ทั้งหมดนี้รวมเป็นทีมเดียวกัน การทำงานเป็นทีมสำคัญมากจริงๆ ครับ

จำได้ว่าน้องเทนนิสต้องพบจิตแพทย์ หลังจากที่พลาดเหรียญทองโอลิมปิกคราวที่แล้วใช่ไหม

ใช่ครับ ไปพบอาจารย์ปลานี่แหละครับ อาจารย์ทำงานกับทีมเรามาเกือบสิบปีแล้วครับ เทนนิสคุยกับอาจารย์ปลาทางโทรศัพท์ ก็ช่วยได้จริงๆ ผมไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกัน คงพยายามให้กำลังใจ ทำให้เครียดน้อยลง กดดันน้อยลง ผมเชื่อว่าช่วยได้จริงๆ ครับ

ทั้งหมดที่พูดมานี้ คือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเหรียญทองเทควันโดไทยในวันนี้

ก็ต้องขอบคุณทางสมาคมฯ ที่ให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ ไม่มีก้าวก่าย ไม่มายุ่งว่านักกีฬาคนนี้ต้องฝึกอย่างนี้ ถึงวันนี้ผู้ใหญ่ในสมาคมฯ ไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่แล้วครับ หน้าที่ของทีมอยู่ในความรับผิดชอบของผม ผมเลือกทีมงานทุกคนเอง จัดการทุกอย่าง ไม่ใช่สอนเทควันโดอย่างเดียวครับ ยี่สิบปีก่อนตอนมาใหม่ๆ ผมแค่สอนเทควันโดอย่างเดียว ผมก็ขอขอบคุณทางสมาคมฯ ที่คอยสนับสนุนเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ผมทำงานแบบไม่กดดัน ไม่เครียดครับ

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

โค้ชมีหลักในการทำงานอย่างไรบ้าง

สิ่งที่สำคัญคือระเบียบวินัยครับ นักกีฬาที่เก่งมากๆ แต่ไม่มีระเบียบวินัย ผมก็ไม่เลือก เพราะระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาอย่างเดียวครับ ทุกอาชีพจำเป็นต้องมีวินัยในการทำงานทั้งนั้น ถ้าวินัยดี ผมคิดว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จ ผมเป็นคนใช้ระเบียบวินัยเข้มข้นมาก

เข้มข้นมากนี่เป็นยังไง

ช่วงแรกๆ ถ้าผมนัดซ้อมแล้วใครมาสาย ผมไม่ให้ซ้อมเลยนะ ไล่กลับ แต่หลังๆ ก็ดูว่ามีเหตุผลอะไร ฟังขึ้นไหม บางคนมาสายด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ผมก็จะบอกว่าเขายังไม่พร้อม ใจของเขายังไม่พร้อมที่จะซ้อม เพราะฉะนั้น นั่งดูคนอื่นซ้อมไปก็แล้วกัน แต่ไม่ให้ซ้อม

การมีระเบียบวินัยช่วยพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาได้ใช่ไหม

ผมคิดว่าได้ ตอนซ้อมถ้าตั้งใจ มีวินัยในการดูแลตัวเองดี สตาฟโค้ชพูดอะไรไป สั่งอะไรไป เขาต้องตั้งใจฟัง ผมว่ามันจะช่วยเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ กับนักกีฬาบางคนที่ไม่มีวินัย คิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าสตาฟโค้ชไม่สำคัญเท่าไหร่ ผู้ใหญ่ไม่สำคัญเท่าไหร่ ให้ความสำคัญแต่ตัวเอง

อ้าว แล้วถ้าเขาเก่งมากๆ มีพรสวรรค์มากๆ ล่ะ แค่ไม่มีวินัย

อย่างนั้นผมก็ไม่เอาครับ (หัวเราะ) ไอ้เรื่องร่างกาย เรื่องเทคนิคที่ทำให้เก่งนี่เราสอนได้ แต่ว่าเรื่องของใจ เรื่องวินัยเราสอนได้ยาก เพราะมันขึ้นอยู่ที่ตัวของนักกีฬา ว่าเขารู้หน้าที่ตัวเองไหม ถ้าวินัยไม่มี เก่งมาจากไหน ผมก็ไม่รับครับ แต่ส่วนใหญ่นักกีฬาทั่วไปที่ผมทำงานมาเขาพูดรู้เรื่องนะครับ ไม่มีที่มีอีโก้มากขนาดนั้น

ในช่วงพิธีมอบเหรียญทองโอลิมปิก มีการบรรเลงเพลงชาติไทย ถามจริงๆ ในใจโค้ชตอนนั้น ความรู้สึกเป็นยังไง

ผมดีใจสุดๆ ผมอยู่ที่นี่มานาน จนรู้สึกว่าผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง นักกีฬาไทยเหมือนลูกสาว ลูกชายของผม แล้วลูกสาว ลูกชายผมได้เป็นที่หนึ่งของโลก อืม (หยุดนาน) บางทีน้ำตามันไหลออกมา ผมรู้สึกดีใจสุดๆ

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง
“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

คืนนั้นที่โค้ชกลับที่พักไปแล้ว โค้ชโทรหาใคร คุยอะไรกัน

ผมโทรหาภรรยาครับ โทรไปขอบคุณ

ขออนุญาตถามละเอียดนิดหนึ่ง พูดอะไรกัน

เราทำได้แล้ว!! (หัวเราะ) เราได้เหรียญทองแล้ว!! ภรรยาร้องไห้ ผมก็ร้องไห้ด้วย เพราะเขารู้ว่าผมเครียดแค่ไหน ก็มันอยากได้จริงๆ น่ะ เพราะฉะนั้นคนข้างๆ ผม เขารู้ทุกอย่าง ตอนที่ผมโทรไปไม่ค่อยได้พูดหรอก พูดไม่ออก ได้แต่ร้องไห้กันอย่างเดียว

แล้วโทรหาใครอีก

เพื่อนอีกคนหนึ่งครับ ชื่อ ชางชุนโฮ แต่ผมเรียกเขาว่าคุณแจ็ค เป็นคนเกาหลีแต่อยู่ที่กรุงเทพฯ เขาสนับสนุนเทควันโดเราเยอะมาก ไม่ว่าจะตอนที่ไปเก็บตัวซ้อมที่เกาหลีหรืออยู่ที่ไทย เขาก็เลี้ยงข้าวเราเสมอ (หัวเราะ) หลังจากโทรหาภรรยาแล้ว ผมโทรหาเขา แล้วก็เหมือนเดิม

ร้องไห้

เขาก็ร้องไห้ด้วยครับ พอฝั่งโน้นร้องไห้ ผมก็ร้องไห้ด้วย (หัวเราะ)

มันกลั้นความรู้สึกดีใจไว้ไม่ไหว

ทุกคนดีใจมากครับ ไม่ใช่แค่คนไทยอย่างเดียว คนต่างชาติที่อยู่ในไทยทุกคนก็มีความสุข ผมว่านะ

เวลาเราพานักกีฬามาร่วมทัวร์นาเมนต์ใหญ่นานาชาติ กำลังใจจากครอบครัว จากเพื่อน สำคัญแค่ไหน

สำคัญมากๆ ครับ เวลาที่เราต้องจากบ้านไปนานๆ เราก็ต้องเตรียมใจไว้ก่อนครับ สมัยก่อนตอนที่ลูกชายผมอายุเพิ่ง สองถึงสามขวบ ตอนนั้นผมต้องทิ้งภรรยาให้อยู่คนเดียว เลี้ยงลูกคนเดียว เพราะผมต้องพาทีมมาแข่ง มันก็ลำบากใจหลายเรื่องครับ บางทีลูกไม่สบาย ลูกต้องไปหาหมอ แต่ผมไม่ได้อยู่ด้วย ภรรยาผมก็เหนื่อย เขาเคยถามผมนะครับว่า “ทีมชาติไทยก็มีสตาฟโค้ชเยอะแยะ แล้วทำไมคุณต้องไปทุกแมตช์” ผมก็ไม่รู้จะตอบว่ายังไง ผมรู้ว่าเขาเหนื่อย ตอนแรกภรรยาไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่หลังๆ เราได้รับความสำเร็จจากเหรียญโอลิมปิก รางวัลใหญ่ๆ เขาก็เริ่มเข้าใจและภูมิใจในตัวผมด้วย ตอนนี้เลยกลายเป็นคนที่สนับสนุนผมอย่างชัดเจน คอยให้กำลังใจผม ลูกผมตอนนี้สิบเอ็ดขวบแล้ว ก็ไม่ต้องดูแลใกล้ชิด กำลังใจจากภรรยาและลูกสำคัญกับผมมาก แล้วก็ยังมี…

(หยุดพูด โค้ชพูดอะไรไม่ออกนานชั่วอึดใจ เงยหน้า ก้มหน้า มองออกไปนอกหน้าต่าง แล้วพูดต่อ หลังจากนี้เสียงสั่นเครือ-ผู้เขียน)

พ่อกับแม่ เวลาไปแข่งที่ไหน ถ้าพอมีเวลา ผมจะนั่งหลับตาแล้วคิดถึงพ่อกับแม่ เหมือนคุยกับเขาว่า ครั้งนี้เราไปแข่ง ผมอยากได้เหรียญทอง คราวนี้โอลิมปิกด้วยครับ ขอให้พ่อกับแม่ช่วยผมด้วย ผมก็ได้พลังจากตรงนี้ มีกำลังใจ มันอธิบายไม่ได้ครับ ความเครียดหลายอย่างก็เบาลง

ตอนนี้เราอยู่ในวิกฤตการณ์โควิด-19 ทีมเทควันโดของโค้ชประสบปัญหาอะไรจากวิกฤตนี้บ้างไหม

เราต้องเปลี่ยนแผนหลายอย่าง อย่างปีที่แล้วเราต้องให้เด็กกลับบ้าน แต่หยุดซ้อมไม่ได้ เพราะมีเวลาเตรียมตัวแข่งโอลิมปิกแค่เจ็ดเดือนเอง เพราะฉะนั้น เราทำได้แค่ซ้อมออนไลน์ครับ ผมนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ สอนนักกีฬาอยู่ที่บ้านประมาณสามเดือน

ได้ผลเหรอ

(ส่ายหัว) ไม่เวิร์ก เพราะว่ามันทำให้ความกระตือรือร้นลดลงไป แต่เราทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องซ้อมออนไลน์กันไป เช้า กลางวัน เย็น เสาร์-อาทิตย์ด้วย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนต้องปลอดภัยจากโควิด-19 ก่อนใช่ไหมครับ ก็ลำบากมากครับ ไม่เวิร์ก แต่ว่าทำได้แค่นี้ครับ (ยิ้ม)

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง
“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

แต่อย่างน้อยโค้ชก็ได้สร้างความสุข สร้างกำลังใจ สร้างความภาคภูมิใจ ให้คนไทยในสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ เหรียญทองนี้นอกจากเป็นของน้องเทนนิส เป็นของโค้ช โค้ชคิดว่ามันมีส่วนยกระดับจิตใจคนไทยยังไงบ้าง ให้เขามีความสุขได้ยังไงบ้าง

มีหลายคนบอกว่าตอนที่เราชนะสเปน เราได้เหรียญทอง ที่ไทยทุกคนดีใจมาก คนทั้งประเทศไทยเชียร์เราจากหน้าจอทีวี ทุกคนเย่ๆๆ (ชูมือ) ทุกคนยิ้ม ผมก็เชื่อว่ารอยยิ้ม ความดีใจนั้น จะช่วยให้ทุกข์จากเรื่องโควิด-19 ลดลง ผมรู้ว่าโควิด-19 ทำให้ทุกคนลำบาก มีคนเสียชีวิต ติดโควิด ไม่สบาย เรื่องทำธุรกิจต่างๆ ทั้งหมดแย่มาก คงไม่มีโอกาสได้ยิ้มหรือดีใจเลย

แต่อย่างน้อย วันที่ 24 กรกฎาคม เวลานั้น ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศไทยมีความสุขได้บ้าง เพราะว่าเราได้เหรียญทองกลับมา เพราะทุกคนก็รู้ว่านักกีฬาเราอดทน สู้ ไม่ยอมแพ้ ผมเชื่อว่ามันอาจทำให้หลายคนมีกำลังใจสู้กับเวลาแบบนี้ด้วย ตอนที่ผมกักตัวอยู่ที่ภูเก็ต ทุกคนที่เจอเราเขาก็ยิ้มให้ตลอดครับ ทุกคนบอกว่าขอบคุณมากที่ทำให้คนไทยมีความสุข ที่สร้างชื่อเสียงให้นักกีฬาไทยดังไปทั่วโลก เพราะฉะนั้น เรารู้สึกดีใจมากๆ จริงๆ แล้วก็รู้สึกเป็นเกียรติจริงๆ เหรียญทองโอลิมปิกก็สำคัญมาก แต่การที่เราทำให้คนไทยมีความสุข มีโอกาสให้กำลังใจคนไทยทั้งประเทศ อันนี้สำคัญกว่า

สิ่งที่เจอมาตลอดยี่สิบปีของการเป็นโค้ชทีมชาติไทย ทั้งเสียงชื่นชม คำวิจารณ์ การเป็นคนต่างชาติ ทั้งหมดนั้นแลกกับเหรียญทองเหรียญนี้ โค้ชคิดว่าคุ้มค่าแค่ไหน

เวลาผ่านไปเร็วมากครับ ยี่สิบปีผ่านไปผมก็ แน่นอน ก็ดีใจ เสียใจ เสียดาย บางทีอยากกลับบ้าน บางทีไม่อยากทำหน้าที่โค้ชแล้ว มีหลายเรื่องครับ แต่ผมก็พยายามอดทนจนมาถึงวันนี้ วันที่ลูกศิษย์ของเราเป็นที่หนึ่ง ได้เหรียญทอง น้องชาย-น้องสาวของผมเก่งที่สุด แล้วธงชาติไทยก็ขึ้นไปอยู่จุดสูงสุด…

(โค้ชหยุดพูด กลั้นน้ำตา เสียงสั่นเครือ-ผู้เขียน)

บางทีก็เหนื่อย คิดอยากกลับบ้าน แต่เมื่อไหร่ที่เห็นความสำเร็จ เห็นลูกศิษย์ชนะ ผมลืมเรื่องเหล่านั้นทันที แล้วก็พยายามต่อไป อยากได้เหรียญทองโอลิมปิกอีก เทนนิสเป็นคนแรก แต่ผมอยากทำให้อีกหลายๆ คนได้เหรียญทองโอลิมปิก จริงๆ หลังจากโอลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง เราได้เหรียญเงินมา (จาก บุตรี เผือดผ่อง) หลายชาติก็ติดต่อผมครับ เขาถามว่าที่ไทยให้เงินเดือนเท่าไหร่ สัญญาเป็นยังไง

เขาให้มากกว่าเหรอ

มากกว่าแน่นอนครับ (หัวเราะ) มากกว่าสามถึงสี่เท่าครับ แต่ผมคิดเรื่องครอบครัวด้วย มันไม่ใช่ผมคนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวผมทำอะไรก็ได้ แต่นี่ต้องคิดว่าครอบครัวผมอยู่ที่ไหนแล้วมีความสุข อยู่แล้วปลอดภัย ผมก็คิดหลายวันครับ ถามอาจารย์ ถามเพื่อน ถามรุ่นพี่ ถามครอบครัว ทุกคนบอกว่าแล้วแต่ผม ถ้าคุณไปไหนมีความสุข ไปไหนดีกว่าที่ไทยก็ไปแน่

แล้วทำไมโค้ชไม่ไป

ผมก็ไม่รู้ครับว่าทำไมผมไม่ไป แต่ถึงวันนี้ผมคิดว่าที่ไม่ไปนั้นถูกต้องแล้ว ครั้งนั้นตอนได้เหรียญเงิน ผมไม่รู้จริงๆ ว่าผมจะไปถึงเป้าหมายคือเหรียญทองโอลิมปิกไหม เมื่อไหร่ ครั้งนี้ได้แล้วก็ดีใจ แต่ตอนนี้หลายคนถามว่าโค้ชเชได้เหรียญทองโอลิมปิกแล้ว บรรลุเป้าหมายแล้ว จะกลับไปเกาหลีไหม

(หยุดคิดนาน)

…ไม่ใช่ ถึงเป้าหมายแรกแล้ว แต่ผมอยากได้มากกว่านี้ สองเหรียญทอง สามเหรียญทอง ไม่ใช่แค่น้องเทนนิสคนเดียวครับ ผมต้องพยายามสร้างคนใหม่ๆ แล้วถ้าเมื่อไหร่ที่ผมทำหน้าที่โค้ชเทควันโดของไทยจบ ผมก็ต้องการ ผมอยากเป็นคนไทย ผมอยากช่วยเด็กๆ ที่ลำบาก เด็กๆ ที่ไม่มีพ่อแม่ ให้…

(โค้ชหยุดพูด กลั้นน้ำตา-ผู้เขียน)

…เพราะพ่อแม่ผมเสียชีวิตแล้ว ผมอยู่คนเดียวมาครึ่งชีวิต ต้องสู้ด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยผม เหรียญทองนี้ ผมเสียดายที่ (น้ำตาไหล) ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ ผมก็อยากให้เห็นความสำเร็จของผม

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่โค้ชเห็น

ครับ (สูดลมหายใจ)

อะไรคือสิ่งที่ทำให้โค้ชยังอยู่กับเรา

ลูกศิษย์ผม และผมรักเมืองไทย รักคนไทย ผมอยากได้สัญชาติไทย แล้วก็อยากสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ช่วยวงการเทควันโดไทยให้ได้มากที่สุด

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

โค้ชคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย ที่นี่เป็นบ้านของโค้ชหรือยัง

ก็อยู่มายี่สิบปี ใช้ชีวิตที่เมืองไทยมาครึ่งชีวิตครับ เพราะฉะนั้นก็ ตอนนี้ผมยังเป็นคนเกาหลีครับ เพียงแต่อยากได้สัญชาติไทย

เหรียญทองโอลิมปิกครั้งนี้ กับเหรียญเงินสองเหรียญแรก เอเชียนเกมส์ 2002 เหรียญไหนเปลี่ยนชีวิตโค้ชมากกว่ากัน

เหรียญทองครั้งนี้ครับ จริงๆ เหรียญครั้งแรกก็สำคัญด้วยครับ เพราะถ้าไม่ได้เหรียญแรก…

จะทำยังไง

(หัวเราะ) จริงๆ เหรียญที่ทำให้เทควันโดเริ่มได้รับความนิยม เป็นเหรียญที่เปลี่ยนชีวิตผมคือเหรียญทองแดง โอลิมปิก 2004 ที่เอเธนส์ วิว เยาวภา (เยาวภา บุรพลชัย) ได้มาครับ หลังจากนั้นเทควันโดไทยจึงเริ่มเป็นที่นิยม ก่อนหน้านั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก แล้วก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าไหร่ แต่พอน้องวิวได้เหรียญทองแดง คนก็หันมาสนใจเรามากขึ้น

ยังจำตอนที่โค้ชเข้ามาทำงานสมาคมฯ ใหม่ๆ ได้ไหม ตอนนั้นกีฬาเทควันโดไม่ใช่กีฬาที่คนไทยสนใจเลย วันแรกที่โค้ชมาเทควันโดไทยในตอนนั้นมันเป็นยังไง

จำได้ครับ ผมมาทำงานวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 สัญญาถึงเดือนตุลาคม แค่แปดเดือนครับ ตอนนั้นสตาฟโค้ชส่วนใหญ่เป็นนักกีฬามวยไทยครับ บางคนเป็นมวยไทยแชมป์โลกด้วย ถึงมวยไทยกับเทควันโดจะเป็นกีฬาต่อสู้เหมือนกัน แต่กฎ กติกา ไม่เหมือนกันครับ บางคนคิดว่าเป็นนักกีฬามวยไทย ดึงมาให้เป็นนักกีฬาเทควันโดก็ได้ แต่มันเป็นคนละกีฬากัน

ผมคุยกับทางนายกสมาคมฯ ว่า ผมเป็นโค้ชเทควันโด ทำหน้าที่สอนเทควันโด แต่ถ้าเอานักกีฬามาจากมวยไทย ถึงจะเก่ง แต่ผมสอนไม่ได้ ผมต้องการนักกีฬาเทควันโดแท้ๆ ไม่ใช่มวยไทยห้าสิบเปอร์เซ็นต์ มวยไทยเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วก็เพิ่มทักษะเทควันโดอีกสามสิบเปอร์เซ็นต์เข้าไป แบบนั้นผมทำใจไม่ได้ ถ้าวันนั้นนายกฯ บอกว่าไม่ได้ ถ้าเขาไม่ยอม ผมก็ไม่ยอม ถ้าวันนั้นเขาไม่โอเคกับผม ผมอาจจะกลับเกาหลีไปแล้วครับ

ถ้าวันนั้นเขาไม่โอเค อาจจะไม่มีวันนี้ใช่ไหม

เขาเป็นห่วง นักกีฬาชุดนั้นหลายคนเป็นนักมวยทีมชาติมาก่อน ถ้าผมเป็นโค้ช ในเวลาแปดเดือน ผมจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม ทำตรงนั้นได้หรือเปล่า ผมก็พูดตรงๆ ว่าถ้าชุดนั้นไปแข่งเอเชียนเกมส์ ยังไงก็ไม่ได้เหรียญ ผมขอให้ได้เปลี่ยนยกชุด เปลี่ยนเป็นนักกีฬาเทควันโดร้อยเปอร์เซ็นต์ ท่านนายกฯ ก็ยอม ให้โอกาสผมทำงาน เดือนเมษายน ผมก็เปลี่ยนเป็นนักกีฬาเทควันโดใหม่ยกชุดนั้น เราก็เลยมี วิว เยาวภา พอได้เหรียญเงินจากเอเชียนเกมส์ สมาคมก็เริ่มเชื่อใจโค้ชเช ให้ทำหน้าที่ต่อ แล้วก็ ค.ศ. 2003 เป็นครั้งแรกที่ได้เหรียญทองแดงจากชิงแชมป์โลกสองคน แต่ที่ทุ่มจริงๆ ที่เอเธนส์ โอลิมปิก 2004 หลังจากได้เหรียญนั้นมาเทควันโดไทยเราก็บูม

นอกจากนักกีฬา ผู้ฝึกสอนที่เป็นนักกีฬามวยมาก่อน ยังมีปัญหาอะไรอีกไหมในตอนนั้น

ผมไม่ได้เงินเดือนสามเดือนแรก

ทำไมล่ะ

เดือนแรกเขาบอกเดี๋ยวจะให้เดือนหน้า สรุปว่าสามเดือนถึงจะได้ครับ (หัวเราะ) แต่ผมมาที่ไทยไม่ใช่เพื่อมาหาเงิน เพราะผมอยู่ที่เกาหลี ผมได้เงินเดือนมากกว่าที่ไทย ผมมาที่นี่ไม่ใช่เรื่องเงินครับ ผมอยากให้เกิดการพัฒนาวงการเทควันโดไทย สอนนักกีฬามวยผมไม่เอา ผมอยากสอนเทควันโดจริงๆ ครับ

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

ยี่สิบปีผ่านมา โค้ชคิดว่าได้สร้างอะไรให้กับวงการเทควันโดไทยบ้าง

จะพูดว่าไงดีครับ อย่างน้อยซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก เราได้เหรียญจากเทควันโด คนทั่วไปก็รู้จักกีฬาเทควันโด มีสมาคมสอนเทควันโดเกิดขึ้นจำนวนมาก แล้วตอนนี้จำนวนคนที่เรียนเทควันโดก็เกินหนึ่งล้านคนแล้ว ผมว่าเทควันโดไม่ใช่กีฬาที่แปลกสำหรับคนไทยอีกแล้ว แค่นี้ก็น่าดีใจแล้ว

สถานะการโอนสัญชาติของโค้ชไปถึงไหนแล้ว

พอกักตัวเสร็จ เราคงทำได้ครับ เรื่องเอกสารก็เตรียมครบหมดครับ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงกรุงเทพฯ แล้วก็น่าจะยื่นเอกสาร ผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหาครับ ผมไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ แต่คนไทยทุกคนให้กำลังใจผมเรื่องนี้ ผมว่าน่าจะไม่มีปัญหาครับ

โค้ชรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นบ้านของโค้ชจริงๆ หรือยัง

เป็นครับ ตอนนี้ผมมั่นใจว่าพร้อมเป็นคนไทยครับ

ชีวิตของโค้ชเหมือนหนังสือหรือหนังดีๆ สักเรื่องหนึ่ง เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก เหตุการณ์พลิกผันต่างๆ มากมาย ถ้าเราอยากเขียนหนังสือให้โค้ช อยากให้โค้ชเล่าเรื่องของตัวเองจากสายตาคนนอก เรื่องของ ชเว ยอง-ซอก คนนี้เป็นอย่างไร

อืม เรื่องของผม ก็คงมีแต่เรื่องที่ยากลำบาก (หัวเราะ) ลำบากตั้งแต่เด็ก พ่อผมเสียตอนผมอายุเจ็ดขวบครับ พ่อเป็นมะเร็ง เขาอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณสามปีกว่า บ้านเราก็ไม่รวยมาก ฐานะกลางๆ แต่หลังจากพ่อเข้าโรงพยาบาลไปสามปีกว่าเงินก็หมด สุดท้ายพ่อเสียชีวิตครับ แม่ก็เลยต้อง…

(หยุดรวบรวมความคิด)

ไม่ใช่แม่คนเดียวครับ ผมมีอีกพี่สาวคนหนึ่ง แล้วก็คุณย่าด้วย เราสี่คนลำบากครับ ตอนเด็กๆ ผมเลยมีเป้าหมายว่าอยากช่วยแม่ ที่เกาหลี ถ้าเป็นนักกีฬาจะได้โควต้านักกีฬา ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน เพราะฉะนั้น ผมเลยเลือกเทควันโดเพราะอยากช่วยแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเรียน จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อนผมมีเป้าหมายอยากติดทีมชาติ อยากไปแข่งโอลิมปิก ชิงแชมป์โลกอะไรต่างๆ แต่ว่าผมไม่คิดแบบนั้น

ไม่อยากติดทีมชาติ

ใช่ ผมอยากไปทำงานเมืองนอก เพราะผมดูรุ่นพี่ที่ทำงานในอเมริกาหรือชาติอื่นน่าจะได้เงินมากกว่าที่เกาหลี ผมอยากหาเงินเยอะๆ มาช่วยที่บ้าน แต่ ค.ศ. 2001 แม่ผมเสียชีวิต หลังจากนั้นผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อดี ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุยี่สิบเจ็ด ผมใช้ชีวิตเพื่อแม่อย่างเดียว อยากช่วยแม่ พอแม่เสียชีวิต ผมก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศ ไม่ต้องทำอะไรต่างๆ แล้ว

ต่อมา ค.ศ. 2002 ผมมาที่ไทย ตอนนั้นลำบากที่สุดในชีวิตครับ ไม่รู้จักใครเลย มีแค่ความตั้งใจว่าอยากสร้างนักกีฬาเทควันโดไทย หนึ่งเหรียญทองชิงแชมป์โลก หนึ่งเหรียญทองแดงโอลิมปิก หนึ่งเหรียญเงินโอลิมปิก หนึ่งเหรียญทองโอลิมปิก ชิงแชมป์โลกโอลิมปิก อยากให้ได้เหรียญต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

หนึ่งเหรียญทองโอลิมปิกในวันนี้ใช้เวลายี่สิบปี ทุกคนชื่นชมผม ผมอยากจะคุยกับพ่อ คุยกับแม่ แต่ว่าไม่มีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ผมก็ไม่ใช่เด็กๆ ตอนนี้ผมมีภรรยา มีลูกชาย จนทุกวันนี้ผมก็ชื่นชมโค้ชเช 

เรื่องของผมมันก็เป็นแบบนี้ สุดท้ายมันก็มีแต่ผม บางทีผมก็เศร้า เพราะข้างๆ ผมไม่มีใคร แต่จริงๆ ผมก็ไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะคนไทยทั้งหมดให้กำลังใจผม เชียร์ผม ผมก็ไม่เหงาครับ ที่ผมตัดสินใจทำเรื่องสัญชาติไทยก็เพราะเรื่องนี้ด้วยครับ

คำถามสุดท้าย คิดถึงคนดูในสนามไหม

คิดถึงครับ (หัวเราะ) ยังรอที่จะเงยหน้าไปแล้วเห็นคนนั่งเชียร์เราอยู่ในอัฒจันทร์

“ให้ชีวิตฝึกสอนเรา” ปรัชญาชีวิตของโค้ชเช ผู้ทุ่มเท 20 ปีเพื่อพานักกีฬาไทยสู่เหรียญทอง

บทสรุปของการสร้างรากฐานที่ยั่งยืนตลอดเวลากว่า 20 ปี ก็เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในวันนี้ ในวันที่บทสรุปกำลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ กับการได้เข้าสู่อ้อมกอมของครอบครัวที่อบอุ่น ‘ครอบครัว ทรู 5G ฮีโร่’ ยิ่งเป็นภาพที่ชัดเจนจนแนบสนิทกับสิ่งที่ทางทรู วางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และคือผู้นำตัวจริงในเรื่องกีฬา สมฐานะ King of Sport ที่สุดของกีฬาในทุกเวลาที่คุณต้องการ เพราะทรูไม่ได้มองเห็นเพียงแค่การแข่งขัน หรือผลแพ้ชนะ แต่มิติที่สะท้อนภาพลักษณ์ได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการมีกันและกัน พลังใจและจุดศูนย์รวมของคนไทยทั้งประเทศ และพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังท่ีแท้จริง…คือพลังใจของคนไทยทุกคน

ทรู 5G เครือข่ายท่ีพร้อมสนับสนุนคนไทย ให้ไปได้ไกลกว่า

Writer

Avatar

จักรพันธุ์ ขวัญมงคล

บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล

Photographer

Avatar

อธิวัฒน์ สุขคุ้ม

เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ทำเพจรีวิวชื่อ ‘วาดแสง’ ชอบในการท่องเที่ยว เขา ทะเล ถ่ายภาพ กล้องฟิล์ม แคมปิ้ง รักอิสระ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด