24 กรกฎาคม 2024
2 K

‘ภูพัฒน์’ ใน สืบสันดาน เป็นบทบาทล่าสุดของ ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ และเป็นครั้งแรกของการร่วมงานกับ Netflix บทบาทลูกชายคนโตที่ต้องการสืบทอดตระกูลจากพ่อพร้อมปมมากมาย 

นี่ไม่ใช่บทแปลกใหม่สำหรับชาย หรือคนดูเองก็เคยเห็นเขากับบทเช่นนี้แล้ว เลยเป็นเป้าหมายหนึ่งของการเป็นนักแสดงที่ชายเล่าให้เราฟังว่า เขาอยากเล่นบทคล้ายเดิม แต่ให้คนดูรับรู้ถึงความแตกต่าง ไม่ใช่ความคาดเดาได้ที่รู้สึกจำเจ

70 เรื่อง คือจำนวนละครที่ชายเล่นตลอด 25 ปีในวงการ ตัวเลขนี้มากขนาดที่เจ้าตัวยังถามว่า “จริงเหรอ!” ไม่ใช่การกล่าวเกินจริง ถ้าใครเป็นแฟนละครช่อง 3HD การได้ดูละครที่ชายแสดง 7 วันติดถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

และถึงใน 70 เรื่องจะมีบทคล้ายกันวนเวียนอยู่ แต่ผลงานที่เป็นภาพจำของชายมีไม่น้อย อย่างบท ‘นายใบ้’ ใน ไทรโศก ‘พ่อเลี้ยงตะวัน’ จาก เมื่อดอกรักบาน ‘คุณกวง’ สามีคนที่ 2 ของลำยองใน ทองเนื้อเก้า

บท ‘พ่อเกรซ’ จาก มาตาลดา ผลงานปีที่ผ่านมาทำให้ชายคว้ารางวัลและใจคนดูเพิ่มมากขึ้น เขาบอกว่านับเป็นความโชคดีที่ยังได้รับโอกาสให้เล่นละครอยู่เรื่อย ๆ 

“นักแสดงไทยพออายุเยอะขึ้นจะเริ่มคิดว่า เราจะมีงานต่อไปหรือเปล่า” ชายเอ่ยขึ้น แม้ว่าเขาจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนักแสดงมากฝีมือ และมีงานเรื่อย ๆ ที่ชายบอกว่านับเป็นความโชคดีที่ยังได้โอกาส

เราใช้เวลาคุยกับชาย 1 ชั่วโมงถ้วน เรื่องที่เราอยากคุยมีมากมาย แต่เวลาจำกัดทำให้เราต้องเลือกเรื่องสำคัญ ๆ ที่คนอ่านจะรู้จักชีวิตเขาหลากหลายมุม ตั้งแต่เด็กชายที่เผชิญการโยกย้ายบ่อย ๆ จนเป็นคนขี้อาย มาเจอความชอบด้านดนตรีจากการดูฉากหนึ่งในภาพยนตร์ เข้าสู่วงการบันเทิง ทำอาชีพที่ห่างไกลตัวสุด ๆ เพื่อได้รู้ว่า นี่แหละเป็นวิธีแก้ความขี้อายที่เป็น 

วันนี้ชายสวมทักซิโดสีดำ พร้อมใบหน้าทรงผมที่เตรียมไว้สำหรับงานเปิดตัวซีรีส์ แต่เขาแวะมาพบเราก่อนเพื่อเริ่มบทสนทนากว่าจะมาเป็น ชาย ชาตโยดม ในวันนี้

เด็กชายขี้อาย

“การโยกย้ายเป็นปมและเป็นสิ่งที่ Shape ชีวิต เราเป็นเด็กติดบ้านมาก ๆ แล้ววันหนึ่งก็เกิดการโยกย้ายขึ้น ย้ายครั้งแรกน่าจะตอนชายอยู่ ป.2 ไปอยู่สหรัฐอเมริกากันทั้งครอบครัว”

ชายเติบโตมากับพี่น้อง 4 คน และบรรยากาศครอบครัวที่ทำให้เขารักสิ่งนี้ จนเมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ชายเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือการโยกย้าย

“ช่วงแรก ๆ ปรับตัวแทบไม่ได้เลย พูดภาษาเขาก็ไม่ได้ สัมผัสได้ว่าคนมองเราเป็นตัวประหลาด มีการแบ่งแยกสีผิวชัดเจน มันยากสำหรับเด็กคนหนึ่งมาก ๆ ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะพูดหรือเริ่มสื่อสารกับคนภายนอกได้ พอเข้าปีที่ 3 เราเริ่มคุ้นเคยกับชีวิตที่นั่น แต่ก็ได้ย้ายกลับมาไทย”

การโยกย้ายยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ย้ายกลับมาไทย ย้ายไปประเทศอื่น ๆ ทำให้ชายเป็นคนขี้อาย กลัวการต้องเข้าไปอยู่ในสังคมใหม่ ๆ เพราะกังวลว่าจะทำอะไรผิดแผกจากคนอื่น เพื่อรับมือ ชายเลือกเก็บเนื้อเก็บตัว ลดการสื่อสารกับโลกภายนอก สร้างกำแพงเพื่อซ่อนตัวเองไว้

“มันเป็นปมมาจนถึงทุกวันนี้ เราไม่ชอบการโยกย้าย ไม่ชอบการเดินทาง ไม่ชอบสนามบินเอามาก ๆ เห็นแล้วกลัวทันที ตอนที่ชายเริ่มทำงานรู้สึกไม่อยากไปที่ไหนเลย อยากตั้งรกรากที่นี่ จนมาเจอ กี้ (วิกกี้-สุนิสา เจทท์ – ภรรยา) ที่ชอบการเดินทางมาก ๆ เขาชอบที่ได้ไปเห็นอะไรใหม่ ๆ ทำให้เราพลอยรู้สึกสนุกกับสิ่งนี้ได้บ้าง แต่ความกลัวก็ยังคงฝังอยู่ในใจ”

หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ชายซึ่งกำลังเรียนชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Mechanical Engineering) มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ตัดสินใจดร็อปเรียนเพื่อกลับไทยมาเก็บเงินกลับไปเรียนต่ออีกครั้ง และอาชีพในวงการบันเทิงทำให้ชายเก็บเงินตามเป้าหมายได้แน่ ๆ ช่วงเริ่มต้นชายผ่านบทบาทพระเอกมิวสิกวิดีโอ วีเจ ไปจนถึงนักแสดง

ชายไม่ได้กลับไปเรียนต่อ แต่ทำงานในวงการบันเทิงเรื่อยมา บทละครแรก คือ กองทัพ จาก รักเล่ห์เพทุบาย รับบทเป็นเกย์เพื่อนสนิทนางเอก บทบาทที่แจ้งเกิดเขา ฉายแววความเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท

“ตอนรับเล่นบทนี้เราไม่ได้คิดอะไรมาก พี่คิง (สมจริง ศรีสุภาพ) บอกว่า รับบทเป็นเกย์นะ เหมือนผู้ชายทั่วไปเลย แค่ชอบผู้ชายด้วยกัน เราก็รับเล่น ไม่ได้คิดว่าดีหรือไม่ดี หรือมีอะไรให้ต้องกังวล แต่มีคนเข้ามาถามเหมือนกันว่าคิดอะไรอยู่ถึงรับบทนี้ เรารู้สึกว่า ทำไมล่ะ ต้องคิดอะไรเหรอ เราเลยได้เรียนรู้ว่าสังคมในเวลานั้นว่าอาจยังมีช่องว่างหรือสิ่งที่เราไม่ได้คิดถึง ซึ่งก็ดีแล้วที่เราไม่ได้คิดอะไร 

“ตอนนั้นเรายังไม่มีประสบการณ์การแสดง เลยเป็นการเล่นจากใจและความรู้สึก ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่ได้คิดว่าเดี๋ยวต้องมองกล้องแบบนี้ ต้องทำท่าแบบนั้น เราแค่เดินเข้าฉากไปเป็นกองทัพ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาจะพูดหรือตัดสินใจอย่างไร ชายว่านั่นคือบทบาทที่บริสุทธิ์ที่สุดของเรา เพราะคนเรายิ่งรู้เยอะ ก็ยิ่งประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ลงไปในตัวละคร”

ความฝันเป็นมือกีตาร์

ชายไม่ได้ฝันอยากเป็นนักแสดง แต่เขาอยากเป็นนักกีตาร์ ในวัย 9 ขวบ เขาได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ฉากที่ทำให้ตื่นเต้นและตราตรึงใจคือฉากที่ มาร์ตี้ แม็กฟลาย ดีดกีตาร์อยู่บนเวที มันช่างแสนเท่ เป็นความฝันในใจชายว่าต้องมีโอกาสเล่นกีตาร์บนเวทีเช่นเดียวกัน

“ชายพกปิ๊กกีตาร์ติดตัวเสมอ” ไม่พูดเปล่า เจ้าตัวล้วงกระเป๋ากางเกงทั้ง 2 ข้างไปด้วย ก่อนจะตอบว่า “แต่ตอนนี้ไม่ได้พกนะ” เขาหัวเราะก่อนอธิบายต่อ “ที่พกเพราะคิดว่าจะมีโมเมนต์แบบ… อ้าว! พี่ชายช่วยเล่นกีตาร์ให้หน่อยได้ไหม แต่ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น”

ความขี้อายเป็นเหตุผลหลักที่ชายไม่ได้ไปต่อกับความฝันนี้ เจ้าตัวยังจำความรู้สึกยืนอยู่ข้างเวทีก่อนจะขึ้นไปแข่งในงานประกวดต่าง ๆ หัวใจมันเต้นตุ๊บ ๆ มือไม้เย็นคล้ายจะหมดแรงไปดื้อ ๆ เขาจึงมักตกรอบแรก

“ชายเพิ่งมายอมรับช่วงหลัง ๆ ว่า คงได้แค่เล่นเพลิน ๆ ในบ้าน เล่นอยู่ในห้อง แต่ความฝันว่าจะได้ขึ้นไปบนเวทีเล่นกีตาร์ด้วยปิ๊กที่พกมาก็ยังวน ๆ อยู่นะ ตอนเป็นนักแสดงช่วงแรก ๆ มีค่ายมาถามเหมือนกันว่าอยากทำเพลงไหม แต่ชายคิดว่าเป็นนักแสดงไปก่อนแล้วกัน มีงานเข้ามาก็ทำไปก่อน ค่อยไปเป็นนักดนตรีทีหลังก็ได้ เป็นความคิดแบบเด็ก ๆ ว่าเอาไว้ก่อนก็ได้ จนผ่านมาทุกวันนี้อาจจะไม่มีโอกาสนั้นแล้วล่ะ” 

ความฝันตามรอยมาร์ตี้อาจต้องรอไปก่อน ทุกวันนี้ชายสะสมและเล่นกีตาร์อยู่ภายในพื้นที่ที่เขารู้สึกสบายใจ

กลายมาเป็นนักแสดงเพื่อแก้ความขี้อาย 

จากเด็กขี้อายที่กลัวการอยู่ต่อหน้าคน ต้องมาอยู่ในสปอตไลต์ทำการแสดงให้คนจำนวนมากดู ชายบอกว่านี่เป็นวิธีแก้ความขี้อายของเขาเอง

“ในความขี้อาย เราจะตั้งกำแพงให้ตัวเองเรื่อย ๆ กลายเป็นบีบตัวเราให้อยู่ในกรอบ แต่ชายเชื่อว่าคนเราต้องการแสดงออก ต้องการปลดปล่อยความเป็นตัวเอง อาชีพนี้เลยเป็นข้ออ้างที่บอกตัวเองว่าเป็นหน้าที่นะ เขาให้ทำเลยต้องทำไง ซึ่งทำให้ชายกล้าพูด กล้าทำ และได้ทำในสิ่งที่เก็บไว้ในใจ

“แต่ชายต้องหลอกตัวเองเยอะมากนะกว่าจะเดินเข้าฉากได้ ต้องบอกว่านั่นคืออีกโลกหนึ่ง ทุกวันนี้ยังเป็นอยู่เลย เวลาต้องเข้ากองใหม่ ไปขึ้นเวที ไปร่วมงานต่าง ๆ ชายมักบอกตัวเองว่านี่เป็นฉากหนึ่งที่เรากำลังเดินเข้าไป เป็นอีกโลก มันช่วยลดความตื่นเต้นได้บ้าง ทำให้เรารู้สึกสงบในช่วงเริ่มต้น ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ก็เบาแล้ว”

นี่เป็นมุมที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นจากชาย กล่าวด้วยความสัตย์จริงว่าเราเติบโตมากับละครของชายหนุ่มตรงหน้า เพราะแม่เราเป็นแฟนละครตัวยง (เมื่อรู้ว่าเราจะได้คุยกับชายก็ย้ำตลอดว่า บอกเขาด้วยว่าแม่ชอบมาก ๆ) ในสายตาเรา ชายเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท ดูเหมือนไม่มีบทไหนที่เขาทำไม่ได้ แต่หลังจากคุยกัน เราถึงได้รู้ว่าท่าทางมืออาชีพของเขากลับซ่อนความตื่นเต้นเอาไว้ไม่น้อย

เคยคิดอยากทำอาชีพอื่นไหม – เราถามหลังจากฟังว่าเขาต้องหาวิธีมากมายเพื่อเป็นนักแสดง

“คิดหลายรอบมาก ยิ่งช่วงแรก ๆ ยิ่งคิดเยอะเลย เพราะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เลิกกองปุ๊บกลับบ้านมาร้องไห้ตลอด รู้สึกว่าทำไมถึงยากขนาดนี้ ไม่อยากทำแล้ว จนทำไปนาน ๆ เข้าเราเริ่มเข้าใจมากขึ้น เริ่มเห็นคุณค่าของการเป็นนักแสดงที่ให้เราหลาย ๆ อย่าง ได้สัมผัสอะไรมากขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มความผูกพันความรักจนการแสดงเป็นสิ่งที่เราขาดไปไม่ได้”

นักแสดงที่เจอความอิสระ

สืบสันดาน เป็นผลงานที่ชายได้ทำงานแตกต่างจากที่ผ่านมา หากเป็นเรื่องอื่น ๆ การเข้าฉากหนึ่งจะวางบล็อกกิ้งไว้ว่า นักแสดงต้องยืนจุดไหน ทำท่าอะไร มองกล้องตัวไหน ทุกอย่างวางไว้ชัดเจน หน้าที่ของนักแสดงคือใส่ความน่าสนใจลงไปในตัวละคร สร้างรสชาติกลมกล่อมให้คนดู

แต่การแสดงใน สืบสันดาน ต่างออกไป เพราะนักแสดงได้รับอิสระในการทำงาน 100% ไม่มีการวางทิศทาง ไม่กำหนดว่านักแสดงเข้าฉากไปต้องทำอะไร นอกจากพวกเขาคิดตัดสินใจเอง

“ชายงงเหมือนกันตอนแรก อ้าว ต้องไปยังไงต่อ ต้องนั่งตรงไหน จะคุยกับใคร เพราะเราชินกับการมีคนวางให้ พอ พี่กานต์ (ศิวโรจณ์ คงสกุล) ผู้กำกับ เปิดโอกาสให้ทำความเข้าใจตัวละครเต็มที่ และให้ออกแบบเองเลยว่า ถ้าเจอสถานการณ์นี้ตัวละครจะแสดงออกมาอย่างไร 

“ตอนแรกโหยหาทิศทางสุด ๆ แต่พอได้เป็นอิสระและเข้าใจ ทำให้เราทำงานสนุกขึ้น รู้สึกคุ้มค่าทุกนาทีที่ใช้ไปเพื่อทำความเข้าใจตัวละคร ภูพัฒน์เป็นตัวละครหนึ่งที่เราทำการบ้านเยอะมาก เราจึงได้เข้าไปในโลกที่ไม่เคยไป อย่างคนติดยา น่ากลัวดีแต่ก็สนุก

“พี่กานต์ปล่อยให้เราทำด้วย ไม่ต้องมากองพร้อม 100% บางทีมาหาไปด้วยกันก็ได้ มาช่วยกันหน้างาน สมมติกองทั่วไปฉากหนึ่งใช้เวลาถ่ายประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ที่นี่ครึ่งวันบ้าง 1 วันบ้าง หรือคราวหน้ามาใหม่ยังได้”

Method Acting เป็นวิธีแสดงที่ได้รับความนิยม คือนักแสดงจะใช้ชีวิตเป็นตัวละคร 100% ทั้งในและนอกกองถ่าย ชายบอกว่าตัวเองไม่ค่อยใช้วิธีนั้น เพราะเขาก็มีชีวิตของตัวเอง แต่เลือกที่จะเก็บคาแรกเตอร์ตัวละครไว้ 10 – 20% เพื่อให้แสดงได้ต่อเนื่อง

“ชายโชคดีที่ได้เล่นละครมาระยะหนึ่งจนฝึกตัวเองเข้าออกจากตัวละครได้ คือ สั่ง 5 4 3 2 1 แอคชัน ชายเป็นตัวละครได้ 100% ตั้งแต่หัวจรดเท้า คัตเสร็จก็หลุดออกมาเป็นตัวเอง เราเข้าออกแบบนี้บ่อยจนชิน แต่บางทีเราก็ชอบเก็บไว้สักนิดหนึ่ง เพราะมันช่วยให้เวลาเข้าฉากง่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับบท ถ้าเป็นบทพ่อเกรซ กลับบ้านไปก็ยังเป็นได้อยู่ ลูกชอบด้วย

“แต่ภูพัฒน์จะมีความหม่นเยอะ ชายเลือกที่จะเก็บเขาไว้น้อยหน่อย อาจมีบางช่วงที่ขับรถคนเดียวกลับบ้านแล้วรู้สึกว่ากำลังขาดยา ก็สนุกดี เอาไว้แค่พอบันเทิงใจและเข้าไปเป็นตัวละครได้ง่ายขึ้น เพราะสุดท้ายเราก็ต้องใช้ชีวิตเป็นเรา เป็นชาย เป็นสามี เป็นพ่อของลูก”

ยิ่งเล่นมานาน นักแสดงบางคนจะยิ่งสร้างตัวละครจนบางครั้งออกมาไม่สมจริง การบาลานซ์เลยเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ถ่ายทอดตัวละครออกมาธรรมชาติที่สุด ซึ่งเป็นการบาลานซ์ระหว่างทำความเข้าใจตัวละคร ออกแบบมันออกมา แต่เมื่อถึงเวลาแสดงจริงต้องลืมสิ่งเหล่านี้ไป เพื่อให้ตัวละครได้ใช้ชีวิตของตัวเอง

“การถ่ายทอดตัวละครให้เป็นมนุษย์จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือทักษะในการคิดและออกแบบตัวละคร แล้วก็ต้องลืมมันไป เพราะเราสร้างเขามาแล้วตั้งแต่เกิดจนเจอประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ หล่อหลอม จนเขากลายเป็นมนุษย์ เราก็ต้องลืมไปแล้วปล่อยให้เป็นคนคนหนึ่งที่มีความคิด มีชีวิต กว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ชายใช้เวลาเหมือนกันนะ ต้องวนลูปเล่นไปหลายตลบ ยิ่งรู้เยอะก็ยิ่งต้องเคลียร์ออกเพื่อไม่ให้ทำลายตัวละคร”

ผลงานชิ้นนี้ออกมาช่วงหลังจากบทพ่อเกรซสร้างชื่อเสียงให้ชาย ความคาดหวังของคนดูอาจเป็นสิ่งที่ตามมาได้ สำหรับชาย เขาไม่กังวลเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เขากังวลมากกว่านั้น คือการเล่นบทที่เคยเล่นแล้วคนดูรู้สึกว่าไม่แปลกใหม่ ไม่มีความแตกต่าง 

“ชายเล่นบทที่คล้ายกันหลายรอบ ทุกครั้งชายจะทำการบ้าน หาความแตกต่างของตัวละครให้เจอ เพราะเชื่อว่ามนุษย์มีความหลากหลาย คน 2 คนไม่มีทางที่จะเหมือนกันอยู่แล้ว แม้แต่คู่แฝดที่เกิดพร้อมกัน การหาให้เจอ สร้างความโดดเด่นของตัวละครให้ได้ต้องใช้เวลา ต้องขยันทำการบ้าน”

ชายบอกเรา นี่เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเป็นนักแสดงตอนนี้ Career Path ของการเป็นนักแสดงที่อยากเล่นบทที่เคยเล่นแล้วทำให้แตกต่าง ชายยังไม่เจอสูตรว่าต้องทำอย่างไร แต่เขาคิดว่าการใช้เวลาได้ลองเล่นไปเรื่อย ๆ จะทำให้เขาค้นพบคำตอบหรือวิธีการ

“นักแสดงมีโอกาสหลุดไปอยู่ในกล่องสักใบแล้วต้องอยู่ไปเรื่อย ๆ อาจเด้งไปกล่องอื่นบ้าง ส่วนชายอยากหลุดออกไปเลย อยากเล่นบทที่ไม่เคยทำมาก่อน อยากทำอะไรที่ให้ตื่นเต้นและกลัว”

กล่องที่ชายอยู่ระยะนี้เป็นกล่องพ่อใจดีหรือไม่ก็พ่อที่โหดร้ายไปเลย เป็นสิ่งที่นักแสดงหลายคนเจอการตีกรอบว่าพวกเขาเหมาะกับบทแบบนี้เท่านั้น ในมุมชายมีความกลัวว่าเล่นให้คนดูรู้สึกถึงความแตกต่างไม่ได้หรือเกิดอาการตัน ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร

“ชายยังหาวิธีการไม่เจอเสียทีเดียว ตอนนี้น่าจะพอทำให้เห็นว่าต่างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่โอเค เราจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพราะคงไม่ใช่เรื่องที่จะปิ๊งในหัวครั้งเดียวแล้วรู้เลย ต้องอาศัยการทำงานไปเรื่อย ๆ”

ผู้กำกับละคร

ตะวันฉายในม่านเมฆ, สามใบไม่เถา และ The Single Mom คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง ละครที่ชายมีส่วนร่วมแต่ไม่ใช่ในฐานะนักแสดง เป็น ‘ผู้กำกับ’ โดยมี จิ๋ม-มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช เป็นคนชวน พร้อมกับช่อง 3HD ที่อยากให้ชายลองทำบทบาทอื่น ๆ ต่อยอดจากการเป็นนักแสดง

“ยากมาก!” คำตอบของชายหลังจากเราถามว่าทำงานตำแหน่งนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพราะบทบาทผู้กำกับเป็นคนละเรื่องกับนักแสดง แม้จะมีพื้นที่ทำงานเดียวกัน แต่มุมมองและหน้าที่ต่างกันลิบลับ ประสบการณ์อยู่กอง 20 ปีของชายต้องพับเก็บไป

ช่วงที่ทำงานชายใช้วิธีครูพักลักจำอาศัยดูผู้กำกับกองอื่น ๆ ว่าทำงานกันอย่างไร ศึกษาเรื่อย ๆ พยายามพัฒนาฝีมือตัวเอง แต่หลังกำกับเรื่องที่ 3 ชายบอกว่าถึงเวลาหยุดเพื่อไปพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง

“ได้มาทำถึงเข้าใจว่าผู้กำกับกับนักแสดงอยู่กันคนละโลก ตอนเป็นนักแสดงเราเดินเข้าฉากที่เขาเตรียมไว้หมดแล้ว มีคนเลือกตัดสินใจทั้งหมดมาแล้ว เรามีหน้าที่รับผิดชอบตัวละครของเรา แต่การเป็นผู้กำกับอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ต้องทำงานหนักหลายล้านเท่า ตัวเราสบายมานาน ไม่รู้เลยว่าทุกอย่างผ่านการเตรียมมายังไง ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้างถึงจะมาเป็นฉากหนึ่ง

“คิดว่าเราต้องไปหาความรู้เพิ่มอีกเยอะมาก ไม่ใช่คิดว่าอยู่กองถ่าย 10 ปีเดี๋ยวก็ทำได้เอง คนอื่นอาจทำได้แต่ไม่ใช่ชาย คงต้องไปศึกษาให้มากกว่านี้”

แต่ชายก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาส อาจมีเรื่องที่ 4 รออยู่ในอนาคต หลังจากที่เขาผ่านการเตรียมตัวมาเรียบร้อยจนรู้สึกว่าพร้อมแล้ว

คนทำขนมหวาน

“ชายชอบทำขนมตั้งแต่เด็ก”

ตาที่เป็นประกายไปด้วยทำให้คนฟังเชื่อว่านี่เป็นอีกความชอบหนึ่งของเขาจริง ๆ ความชอบนี้ไม่ได้มีที่มาซับซ้อน ชายเป็นเด็กติดแม่มาก ๆ เวลาแม่เข้าครัวก็จะเดินตามไปด้วยตลอด ได้เห็นแม่ทำอาหารก็เริ่มซึมซับมาเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ทำเอง เมนูขนมหวานเป็นสิ่งที่ชายทำบ่อยที่สุดเพราะชอบกิน

Pancake Cafe และ Atomic Blondies เป็นผลผลิตของความชอบนี้ จากอบขนมให้คนรู้จักกิน ขยายไปทำให้คนอื่น ๆ ได้ลองชิมบ้าง ทั้ง 2 ร้านกำลังอยู่ในช่วงเติบโต แต่เจ้าตัวออกปากว่าไม่อยากทำให้ใหญ่ไปกว่านี้

“ชายไม่ค่อยชอบเอาสิ่งที่เราชอบมาทำเป็นธุรกิจเท่าไร ชายเป็นคนชอบเก็บแพสชันไว้กับตัว เพราะกลัวจะมีสิ่งที่มาทำลายมัน แต่ก็คิดว่าต้องหาทางบาลานซ์ให้ยังรู้สึกว่าอยากทำอยู่และพอเลี้ยงตัวเราได้ ขอแค่ให้ยังรู้สึกว่าอยากทำ อยากทำขนมจังเลย อยากทำไปให้คนชิมเยอะ ๆ ขอแค่ยังมีความอยากตรงนี้อยู่ก็โอเค”

การทำร้านขนมชายเคยเกิดคำถามว่า หรือจะเลิกเล่นละครแล้วไปทำร้านขนมจริงจังแทน

“ไม่ใช่เพราะเหนื่อยหรือการเป็นนักแสดงยากเกินไปนะ แต่เพราะไม่รู้ว่าอนาคตการเป็นนักแสดงจะยั่งยืนแค่ไหน นักแสดงไทยพออายุเยอะขึ้นจะเริ่มคิดว่าจะมีงานต่อไปหรือเปล่า ช่วงโควิดเราทำ Atomic Blondies รู้สึกว่าเป็นอาชีพเราได้จริง ๆ นะ เราดูแลครอบครัวด้วยสิ่งนี้ได้ เลยมีคิดแวบ ๆ ว่า หรือเราจะถอยมา เล่นละครให้น้อยลงดี”

แต่สุดท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ายังไม่คิดจะเลิกแสดงเร็ว ๆ นี้ 

ไม่ใช่แค่ความรักในอาชีพ แต่คือความศรัทธาในการเป็นนักแสดง

“นักแสดงคืออาชีพของชาย เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิต ทำให้ดูแลครอบครัวได้ ชายเข้าใจว่าตัวเองรักอาชีพนี้จนกระทั่งได้เรียนกับ หม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) หม่อมบอกมีหลายคนที่เข้ามาเพราะอยากได้ อยากมี ซึ่งได้หมดทุกอย่างแหละ แต่ถ้าใจไม่ได้รัก ไม่ได้ศรัทธา ไม่มีใครอยู่ได้นานหรอก ชายก็บอกท่านว่าชายรักมาก หม่อมถามว่ารักจริงหรือเปล่า รักแล้วรู้สึกยังไง

“หม่อมพูดต่อว่าเหนือกว่าความรักคือความศรัทธา ถ้าศรัทธาอะไรสักอย่าง เราจะยกเขาไว้เหนือทุกสิ่ง จะไม่ทำลายเขา จะไม่ทำชุ่ย ๆ ชายค่อย ๆ เข้าใจคำพูดของหม่อมมากขึ้นว่าอาชีพนักแสดงไม่ได้ให้แค่ชื่อเสียงเงินทอง แต่มันให้ใจเรา บางวันเข้าฉากไปไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ออกมาแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าเราขาดสิ่งนี้ไม่ได้”

จนถึงทุกวันนี้ชายยังคงตื่นเต้นทุกครั้งที่ทำการแสดง ยังคงกังวลประหม่าว่าจะทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีความสนุกที่ทำให้เขายังอยากทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

คำถามหนึ่งที่นักแสดงมักเจอ คืออยากเล่นกับนักแสดงคนไหน ชื่อของชายก็คงเป็นคำตอบของหลายคน เราเลยอยากรู้ของเขาบ้าง ไม่มีคำตอบเป็นชื่อ นอกจากความสนุกที่ได้ทำงานด้วยกัน

“ชายชอบการได้เจอนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ เขามีวิธีการแสดงแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน ของชายจะถูกสอนว่าต้องพูดแบบนี้ ต้องหันมองกล้องนั้น อย่าบังมุมกันนะ แต่นักแสดงรุ่นหลัง ๆ ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในตัวละครสูง ชายเจอ แก๊ป (ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล) หรือเด็กรุ่นใหม่ ๆ เขารู้ทันทีว่าตัวละครตัวเองจะไม่ทำแบบนี้ ไม่พูดแบบนี้ เขาแสดงออกมาตามที่คิด เราก็ถามว่าทำได้เหรอ เขาบอกว่าได้สิ ทำในสิ่งที่ช่วยให้ตัวละครออกมาสมบูรณ์

“มันเป็นสิ่งที่เรารู้นะ แต่ไม่กล้าทำ จนมาอยู่กับคนที่ทำได้เลยอยากทำบ้าง อยากเป็นตัวละครโดยไม่ต้องเกรงใจ ไม่กลัว ดีที่เรายังมีโอกาสได้เล่นกับคนใหม่ ๆ ได้เจอวิธีการมุมมองใหม่ ๆ ทำให้รู้สึกว่ายังพัฒนาได้ ชายอยากรู้ว่าจะมีทางไหนให้เราไปได้อีกบ้าง ทุกวันนี้กลับไปดูละครที่เคยเล่นก็เขิน ๆ เหมือนกัน มันต่างจากเราตอนนี้มาก ไม่รู้เลยว่าเมื่อก่อนเล่นแบบนี้นะ แสดงว่าเรายังมีการเติบโต ยังเรียนรู้ได้ ยังปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ”

Writer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์