ณ ร้านพันธุ์หมาบ้า สถาน ภายในตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ ชาติ กอบจิตติ หรือที่ใครหลายคนถือวิสาสะนับญาติเรียกว่า ‘น้าชาติ’ นั่งรอผมอยู่แล้วในเครื่องแต่งกายเรียบง่าย อันได้แก่เสื้อโปโลสีดำและกางเกงยีนส์แบรนด์พันธุ์หมาบ้าซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

บนกำแพงหน้าร้าน คือภาพเพนต์หน้าปกหนังสือ พันธุ์หมาบ้า ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2531 และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

ย่อหน้าด้านบนมีคำว่า ‘พันธุ์หมาบ้า’ กี่คำหาใช่สาระสำคัญ หากแต่สิ่งที่น่าสนใจคือสถานะของคำคำหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงชื่อหนังสือ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นทั้งร้านค้า เสื้อผ้า กางเกงยีนส์ แว่นตา กระเป๋า เข็มขัด ฯลฯ

ล่าสุดเขาเพิ่งโพสต์ภาพตัวเองสวมรองเท้าผ้าใบแบรนด์พันธุ์หมาบ้าที่จะจำหน่ายในอนาคต-เอากับเขาสิ

กล่าวโดยสรุปคือ ‘พันธุ์หมาบ้า’ กลายเป็นแบรนด์ที่ต่อยอดจากวรรณกรรม ซึ่งน่าจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเพียงแบรนด์เดียวในประเทศที่มีที่มาที่ไปเช่นนี้

ชอบอะไร นิยมสิ่งใด ถ้าทำได้ ก็ทำไป-ดับเบิลซีไรต์คนแรกของประเทศและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547 ย้ำเช่นนี้หลายครั้งระหว่างที่เรานั่งสนทนากัน

ไม่ใช่แค่ย้ำ เขายังทำให้ดู

นิยมวรรณกรรมเขาเขียน นิยมเสื้อผ้าเขาทำขาย นิยมงานศิลปะเขาแบ่งพื้นที่ในร้านให้เป็นสถานที่แสดงงาน

และแน่นอนว่าบทสนทนาในเย็นวันนั้นที่ พันธุ์หมาบ้า สถาน ก็เวียนวนอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่ชาตินิยม

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ

เห็นว่าคุณทำรองเท้าผ้าใบใส่เอง

ใช่ เราต้องเอามาลองใส่ก่อนจะทำขาย ต้องดูไอ้พวกข้อบกพร่องต่างๆ เพราะว่าเราเองก็ไม่อยากได้ของไม่ดี เราก็ต้องทดลองใช้ ถ้าไม่ดีเราแก้

อันนี้ไม่ได้หาเสียง คือเวลาขายของอย่าสักแต่ว่าขาย เราต้องเป็นตัวแทนของลูกค้าเราด้วย มันมีอะไรไม่ดีเราต้องเป็นตัวแทน 

คุณยึดหลักนี้ในการทำธุรกิจมาตลอด

ขายหนังสือก็เหมือนกัน

คิดแบบนี้มาตลอด มันให้ผลที่ดีไหม

ระยะยาวดี คือระยะสั้นเดี๋ยวนี้คนมันหากินง่าย แต่ระยะยาวก็อย่างที่เห็น อายุเราเยอะแล้ว แต่แฟนเขาก็ไม่ทิ้งเรา เพราะเขาเชื่อว่าไอ้สิ่งที่เราทำมาตั้งแต่หนุ่มมันเป็นเรื่องของคุณภาพ

เหมือนคุณเชื่อในผลิตภัณฑ์ที่สุด

ผลิตภัณฑ์สำคัญ ไม่อย่างนั้นเราจะมาลองใส่ทำไม เห็นสวยดีก็ขายเลย ถามว่าสำคัญเพราะอะไร ถ้าเขาใช้ไม่ดีหนเดียวเขาก็เลิก พอเขาเลิก เขาก็ด่าแม่เรา ไม่พอถ้าเขาโมโหเรา เขาก็บอกเพื่อนเขาว่าไอ้ห่านี่หลอก ไม่รู้หนังสือเมียมันเขียนหรือเปล่า เดี๋ยวก็พานไปไม่อ่านหนังสือมันเลย

ของเรา เวลาเราโฆษณาหรือไปคุยเรามั่นใจ เพราะเราใช้แล้วมันดี ไม่เชื่อมึงก็ไปใช้ก่อนสิ ถ้าไม่ดีมาด่ากู แต่กูรับรองเลยว่าดี กูกล้าขายมึง

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ

นักเขียนอย่างคุณทำรองเท้าผ้าใบเป็นได้ยังไง

เราเป็นคนชอบแต่งตัว แต่เราไม่ได้แต่งตัวแบบแฟชั่น เราแต่งแบบดูดี ดูดีมั้ยเล่า (หัวเราะ) หมายความว่าเราไม่ได้ใช้ของแพงอะไร แต่เอามาผสมกันแล้วมันดูดี ดูเข้ากับตัวเรา อาจจะไม่เหมาะกับคนอื่น แต่เราคิดว่าถ้าเราดูดี ไอ้คนที่มีรสนิยมคล้ายๆ เราเขาเห็นเขาก็อยากใส่

ที่ผ่านมาเราทำจะหมดแล้ว มีกางเกงยีนส์ มีเสื้อ มีเข็มขัด มีรองเท้า เหลือแค่แว่นตาที่ยังไม่ได้ทำ ข้าวเราก็ปลูกเอง บางคนบอกว่า มึงใช้ตังค์มั่งสิ (หัวเราะ) มึงไม่ใช้ตังค์เลยนี่หว่า

คุณเป็นพ่อค้าที่เก่งมั้ย ถ้าเทียบกับการเขียนหนังสือ

เราเป็นคนน่ะนะ เราก็ชอบใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากใช้ อยากทำอะไรเราก็ทำ ส่วนเรื่องเก่งมันต้องให้คนอื่นเขาดู แต่ถ้าคุณถามผม ผมก็ต้องบอกว่า ผมเก่งที่สุด (หัวเราะ) แต่พูดอย่างนั้นคนก็จะหมั่นไส้ พูดไม่ได้ๆ เรื่องเก่งมันต้องให้คนอื่นเขาดู มันไม่เหมือนการสอบได้ที่ 1 ที่เห็นผลการเรียนแล้วรู้ว่าคุณเรียนเก่ง แต่นั่นคุณเก่งเฉพาะเรื่องเรียนนะ แต่เรื่องกินเหล้าผมว่าผมไม่แพ้ใคร เรื่องเรียนผมยอมคุณ แต่เรื่องกินเหล้ามาสอบกันใหม่ (หัวเราะ)

ของทุกอย่าง ถ้าเราอยากจะทำแต่เราไม่รู้ เราต้องเรียน ถามเขาดู (ชี้ไปที่ช่างภาพ) เขาจับกล้องตัวแรกมันคล่องขนาดนี้เหรอ แต่เขาชอบไง บางทีมันมีสิ่งลึกๆ ที่เราอยากทำแล้วคนอื่นเขายังไม่ทำ ซึ่งมันไม่มีใครมาทำแทนเรา เราก็เลยทำ ถ้าเขาทำไปแล้วเราก็ไม่ทำ คือสะใจเราแล้ว นี่แหละที่กูอยากเห็นเป็นอย่างนี้ แต่ไอ้สิ่งที่เราอยากเห็นไม่มีใครทำ เหมือนที่เราทำกางเกงยีนส์ ยีนส์ทั่วๆ ไปมันแข็ง ใส่แล้วเหมือนจะไปขี่ม้า แต่ยีนส์เรานุ่ม เพราะเราแก่แล้ว เราอยากได้ยีนส์ที่นุ่มๆ แต่ยังดูเป็นยีนส์อยู่ เราก็เลยทำ

ชาติ กอบจิตติ

ถ้านับอายุตอนนี้คุณก็เลยวัยเกษียนแล้ว 

64 แล้ว

สิ่งที่คุณทำอย่างกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ มันควรจะเป็นเรื่องของคนหนุ่มมากกว่าไหม ไม่น่าเป็นเรื่องของคนวัย 64

เราอย่าไปกำหนดมันว่าอายุเท่าไหร่ เราอยากทำอะไร ถ้าทำได้ เราทำ บางคนบอกว่า “เฮ้ย ใกล้ 70 แล้ว เข้าวัดเถอะ” ก็กูไม่อยากไปอะ (หัวเราะ) มึงจะบอกให้กูไปทำไม กูยังอยากสนุกอยู่ มันเดือดร้อนมึงหรือเปล่าเล่า เดือดร้อนมึงก็นิดหน่อย เพราะว่าพอมึงเห็นของกูแล้วมึงชอบก็ต้องมาซื้อ แค่นั้นเอง

บางคนพอเกษียณแล้วเฉา เราไม่ได้พูดถึงร่างกายนะ ร่างกายแน่นอนว่ามันก็ต้องมีโรคมีอะไร เป็นปกติของชีวิต แต่ความคิดความอ่านเราว่าเรายังคุยกับเด็กได้ ยังแลกเปลี่ยนกันได้ ยังอำกันทัน ข้างในอย่าไปปล่อยให้มันแก่

พูดเหมือนกลัวความแก่

ไม่ๆๆ เราไม่ได้กลัวความแก่ จะไปกลัวทำห่าอะไรในเมื่อมันต้องมา เหมือนกับมึงเข้าแถวฉีดวัคซีน ไปกลัวเข็มทำไมในเมื่อสักวันก็ต้องถึงมึง กลัวแล้วได้อะไร เพราะยังไงมึงก็เข้าคิวอยู่แล้ว สนุกกับมันดีกว่า

พอมาทำธุรกิจ คุณทำงานหนักขึ้นกว่าตอนเขียนหนังสือไหม

คนละอย่าง เขียนหนังสือก็หนัก บางทีเราก็เขียนถึงเช้า ส่วนทำธุรกิจเหมือนเราท่องไปในโลกใหม่ที่เราไม่รู้จัก เราไม่เคยรู้จักใคร ไม่เคยรู้ว่ามีผ้ากี่ออนซ์ ไม่รู้ว่าจากผ้าดิบเอาไปฟอกแล้วเป็นยังไง ไม่เคยรู้จักคนในโรงงานทอผ้า ไม่เคยรู้จักคนในโรงงานฟอกยีนส์ เราก็ไปรู้จัก

มันเช่นเดียวกับตอนเราเขียนหนังสือใหม่ๆ เราก็ไม่รู้จักมัน จะพิมพ์ที่ไหนวะ ไปส่งที่ไหนวะ แต่เรารู้สึกว่าเราชอบเขียนก็เขียนไป พอหนักๆ เข้า พอเข้าไปอยู่ในวงการ เพื่อนฝูงก็เยอะแยะ แก่ไปก็เป็นขาใหญ่ในวงการวรรณกรรม อันนี้ก็เหมือนกัน เดี๋ยวอีกสักพักเราก็เป็นนายกสมาคมพวกสิ่งทอแล้ว (หัวเราะ)

ชาติ กอบจิตติ ชาติ กอบจิตติ

คุณทำเสื้อผ้าด้วยเซนส์ของศิลปินหรือนักธุรกิจ

มันรวมกัน เพราะว่าถ้าเป็นศิลปินเราไม่ต้องสนใจตัวเลข แต่นี่เราต้องสนใจตัวเลข เพราะเราเลี้ยงคน แต่ละเดือนเราต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน ไปเอาเสื้อเขามาเราก็ต้องใช้หนี้เขา เอาง่ายๆ เราต้องคิดว่าของจะขายได้มั้ย กำไรเท่าไหร่ จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายมั้ย แต่ศิลปินเขาไม่ต้องคิดนี่ ใช่มั้ย ทำเสื้อมา 2 ตัว ขายตัวละล้านห้าก็ตั้งไป จะไปคิดอะไร คนจะซื้อไม่ซื้อก็ช่างมัน แต่นี่เราต้องคิด เรารู้สึกว่าเราทำอะไรพื้นฐานเราคือความจริง เขียนหนังสือก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นศิลปินแล้วจับต้องยาก เรามีเหตุมีผล แต่ไม่เกี่ยวกับการทำงานนะ การทำงานบางทีไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล แต่การใช้ชีวิตจำเป็นต้องมีเหตุมีผล

การทำงานไม่ต้องมีเหตุมีผล ก็อย่างเช่นคุณเขียนหนังสือ คุณอยากทำเป็นโพสต์โมเดิร์นหรืออยากจะทำอะไรก็ทำไป ไม่ต้องมีเหตุมีผลหรอก แต่พอหนังสือขายไม่ได้ ทีนี้เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตแล้ว มันต้องมีเหตุมีผลว่าทำไมหนังสือเราขายไม่ได้ ทำยังไงให้ขายได้ ทำยังไงจะให้สำนักพิมพ์เขาไม่ขาดทุน อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องมีเหตุมีผล

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ

คุณใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผลมาตลอดมั้ย

เราเป็นคนมีเหตุมีผล ดูเราพูดสิ เป็นเรื่องเป็นราว (หัวเราะ)

ถ้าให้ย้อนมอง คุณเป็นคนกล้าได้กล้าเสียมั้ยเวลาทำธุรกิจ

ส่วนหนึ่งมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าทุนเราน้อย ถ้าเราไปลงทุนเยอะแยะแล้วเกิดออกมาขายไม่ได้มึงทำยังไงล่ะ

แต่เดี๋ยวนี้มันง่ายขึ้น เมื่อก่อนสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีออนไลน์ ถ้าไปลงนิตยสาร ไปโฆษณา มันเสียเงินเท่าไหร่แล้ว แล้วคนจะดูของเรากี่คน เดี๋ยวนี้พอลงเฟซบุ๊ก ลงไลน์ปุ๊บ คนพิมพ์มาแล้ว ‘จองนะน้า’ ‘โอนก่อนได้มั้ย’ ไม่ต้องเสียค่าโฆษณา แล้วเดี๋ยวนี้ไปอยู่หนังสือ โอกาสที่คนจะเปิดหนังสือเหล่านั้นมีสักกี่คน นอกจากคนที่เป็นสมาชิก แล้วอันนี้คนเห็นเท่าไหร่ (หยิบมือถือขึ้นมา) สมมติเรามีคนตามสักหมื่นสองหมื่นคน โพสต์ขายรองเท้าไปปุ๊บ พอคนเห็น แล้วมีคนสั่งสัก 500 คู่ก็จบแล้ว

การเปิดร้านเราต้องเสียค่าเช่า เสียค่าคน เสียค่าไฟ เสียเวลามาดู ต้องมานั่งอารมณ์เสีย เช็ดร้าน นั่งเฝ้า แต่ไอ้นั่นไม่ต้อง ขายได้ 24 ชั่วโมง สี่ห้าทุ่มดังแล้ว ตึ๊งๆๆ คนโอนเงินมาแล้ว ยุโรปเหรอ อเมริกาเหรอ สั่งได้ ค่าเช่าก็ไม่ต้องเสีย จากราคาขายหักต้นทุนผลิตเราได้เต็ม

ดูเหมือนคุณจะพอรู้เรื่องการตลาดออนไลน์

ผมเพิ่งมาเล่น เราต้องรู้ศักยภาพของมัน ทุกอย่างแหละ เรียนรู้มัน แล้วก็ใช้มัน เหมือนรถยนต์ก็มีไว้ให้มึงขับไปไหนมาไหน แต่ไม่จำเป็นว่าทุกเช้ามึงจะต้องมาเช็ดทุกวันหรอก มึงก็แค่ดูแลไม่ให้เครื่องมันเสียแล้วก็ใช้มัน ไปถึงที่ตรงเวลาหรือเปล่า จบ เทคโนโลยีก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นว่าพอมือถือรุ่นใหม่ออกแล้วต้องไปเปลี่ยนตามมัน ไอ้ที่มีอยู่ใช้ครบหรือยัง มันใช้ได้หรือเปล่า แล้วมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ที่จะตอบสนองการใช้เราได้มั้ย โอเค ถ้าเกิดมันไม่มีอย่างที่เราต้องการ ก็ไปซื้อใหม่

ชาติ กอบจิตติ

แล้วคุณเรียนรู้การตลาดออนไลน์จากไหน

ผมไม่ได้เรียน ผมก็ดูเอาสิ คุณว่าแจ็ค หม่า ทำอะไรเป็นบ้าง ทุเรียนผมว่าแจ็ค หม่า ปลูกไม่ได้ เขาทำอะไรเป็น มันคือออนไลน์ บางคนบอกว่าไม่เอาหรอกๆ คือมึงไม่เอามัน แต่มันจะเอามึง มึงปฏิเสธมัน แต่มันไม่ปฏิเสธมึง แล้วพอมึงไม่ทันปุ๊บ ทีนี้มึงตกขบวนแล้ว

แต่ไอ้พวกนี้มันก็เป็นวัฏจักร ต่อไปจะมีคนฉลาดกว่าเฟซบุ๊ก ฉลาดกว่าไลน์ แล้วมันก็จะมาแทนที่ แต่นั่นเราไม่ต้องไปกังวล เพราะหมายความว่าตลาดข้างบนมันเปิดแล้ว มันจะไม่ลงข้างล่างอีกแล้ว แต่ข้างล่างจำเป็นต้องมี ไม่ต้องมีเยอะ มีแค่หัวเมืองใหญ่ๆ ให้คนมาจับสินค้า ให้รู้ว่าเรามีตัวตน ยังจำเป็น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ยิ่งขยาย ยิ่งสาขาเยอะ ยิ่งดี เดี๋ยวนี้คุณยิ่งเปิดค่าโสหุ้ยมันยิ่งเยอะ

เท่าที่เห็นนักเขียนมักจะขัดๆ เขินๆ เวลาพูดเรื่องการค้าขาย เรื่องเงินๆ ทองๆ คุณเองเป็นอย่างนั้นไหม

บางทีเราก็ตลกนะ บางคนพอพูดถึงเงินมันไม่อยากพูด อ้อมแอ้ม พูดแล้วเดี๋ยวจะหาว่าเห็นแก่เงิน อ้าว ซื้อข้าวกินใช้เงินมั้ยล่ะ ค่าเช่าใช้เงินมั้ย ก็ในเมื่อเราใช้เงินเราก็จำเป็นจะต้องเข้าใจมัน รู้จักมัน ขณะเดียวกันถ้าเราจะบอกว่าเราปฏิเสธเงิน ไม่ชอบเงิน เวลาเดือดร้อนก็ไม่ต้องร้อง

เรามาทำตรงนี้เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราทำงาน ทำงานมันก็ต้องได้เงิน เพราะว่าเงินมันเป็นตัวลงทุน ถ้าเราลงทุนไปแล้วเราไม่ได้เงินเราก็ขาดทุน ขาดทุนเราก็เสียเงิน ทำยังไงจะให้เงินที่เราลงทุนไปมันงอกเงย โดยที่มันเลี้ยงตัวมันได้ เราไม่ต้องไปลงกับมันอีก มันก็ต้องบริหารมัน

ในฐานะคนที่เป็นดับเบิลซีไรต์ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ การที่ชีวิตให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่าการเขียน รู้สึกผิดมั้ย

ไม่ได้รู้สึกผิด เพราะว่ามันเป็นชีวิตเรา คนที่ให้รางวัลก็ไม่ใช่พ่อแม่เรา พ่อแม่เราเป็นคนให้ชีวิตเรามา แล้วเราก็เป็นคนใช้ชีวิตของเรา ชีวิตหนึ่งเราอยากทำอะไรเราก็ทำ แต่ถามว่าเราไม่ได้เขียนหนังสือเลยเหรอ เปล่า เราก็เขียนตลอด แต่คนอื่นไม่เห็น ถามว่าทำไมเราทำเสื้อผ้า เราทำก็เพราะเราสนุกและรู้สึกว่าความมั่นคงของชีวิตมันจำเป็น เพราะเราไม่มีลูกมีเต้า แต่เนื้อแท้ของมันคือมันสนุก ถ้าไม่สนุกเราก็ไม่ทำ ถ้าให้ไปทำโรงกลึงเพื่อจะได้ตังค์เราก็ไม่เอา เพราะเราทำไม่เป็น

แล้วทำเสื้อผ้า รองเท้า มันก็เหมือนทำงานศิลปะนะ กว่าจะได้มาไม่ใช่ง่ายๆ นะ สีนี้กับสีนั้นมันจะได้มั้ย ย้อมมาแล้วเป็นอย่างนี้ ลายนี้จะวางคอมโพสิชันยังไง คนไม่คิดถึงรายละเอียดไงว่าพวกนี้ก็เป็นศิลปะ

สมมติว่าปัจจัย 4 มีอันเดียวแหละที่ใช้ศิลปะน้อยที่สุด ปัจจัย 4 มีอะไรบ้าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ถามว่าอาหารไม่มีศิลปะเหรอ อาหารไทยมีการประดิดประดอย มันไม่ใช่แดกๆ กันอิ่มแล้วไปขี้ อย่างที่อยู่อาศัย ทำไมต้องมีสถาปนิก ทำไมจะต้องมีมัณฑนากร เสื้อผ้าก็เหมือนกัน ทำไมต้องมี Paul Smith มี Pierre Cardin มีไอ้เข้ (Lacoste) มีอะไรต่ออะไร แล้วพอกูทำบอกกูไม่มีศิลปะ เฮ้ย มึงดูถูกกูหรือเปล่า มีอันเดียวที่ใช้ศิลปะน้อยที่สุดคือยารักษาโรค เพราะกินแล้วมันต้องรักษาโรค แต่ศิลปะของมันอาจจะเป็นเรื่องบรรจุภัณฑ์ ในปัจจัย 4 มีอะไรล่ะที่ไม่มีศิลปะเข้าไปปน

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติล่าสุดเห็นคุณโพสต์ในเฟซบุ๊กถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่กำลังประสบปัญหา คุณมีทัศนะต่อประเด็นนี้ยังไง

เราไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เราคิดว่าประเทศไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่สนใจเรื่องนี้ เรื่องวรรณกรรม เรื่องศิลปะ มันศิวิไลซ์ไม่ได้หรอก มันเป็นประเทศป่าเถื่อน คุณไปดูยุโรปสิ ไปดูมิวเซียมเขาสิ ไปดูงานเขาสิ เขามี แล้วเรามีมั้ยล่ะ มันจำเป็นต้องมี ถ้าไม่มีมันเจริญไม่ได้

เวลาเราไปบ้านคน จะดีไม่ดีเราจะดู 4 อย่าง หนึ่ง ในบ้านมีหนังสือมั้ย สอง เลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง สาม บ้านมีต้นไม้บ้างมั้ย สี่ มีรสนิยมในเรื่องศิลปะ ดนตรี บ้างหรือเปล่า แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมีครบนะ ถ้ามีสักอย่างก็โอเคแล้ว แต่ถ้าบ้านไม่มีอะไรเลยกูไปก่อนแล้ว

4 อย่างนี้สำคัญยังไง

มันคือความเป็นมนุษย์ มันคือความเป็นผู้เจริญ สมมติเราเลี้ยงต้นไม้ มันก็ให้ความร่มเย็น ถ้าอ่านหนังสือเขาก็สามารถจะแลกเปลี่ยนความรู้กับเราได้ ถ้าเลี้ยงสัตว์คุณก็คงเป็นคนเมตตา ถ้าสนใจศิลปะ แน่นอน คุณก็มีสุนทรีย์ในตัวคุณ แล้วดูบ้านเราสิ บ้านที่หมายถึงประเทศ ศิลปะหรือหนังสืออะไรมันมีหรือเปล่าล่ะ

บางคนบอกว่าเอาเรื่องปากท้องไว้ก่อน ท้องไม่อิ่ม เงินไม่เหลือ ใครจะมีอารมณ์มาสนใจศิลปะ

แล้วไอ้คนที่อยู่ในถ้ำสมัยก่อน เช้าเขาออกไปหาอาหาร เพราะยังอุ่นไม่เป็น ต้มไม่เป็น ยังกินของสดอยู่ มันจะไปเขียนรูปบนผนังทำไม ศิลปะมันอยู่คู่กับมนุษย์ อย่างพวกนักเขียนบางทีก็จะบอกว่า ถ้ามึงอิ่มมากๆ มึงทำงานสร้างสรรค์ไม่ได้ มึงต้องหิว มันอาจจะจริงก็ได้ เพราะต้องหาเงินมาพิมพ์ (หัวเราะ)

ตอนเราเด็กๆ เราเคยเอาข้าวบูดมาซาวน้ำแล้วต้มกิน มันก็หิว แต่พวกนี้เราก็ไม่ได้ทิ้ง มันก็ยังอยู่ข้างใน ไม่รู้สิ มันอาจจะฝังอยู่ข้างในเรามั้ง

ชาติ กอบจิตติ

เจอกันครั้งก่อนคุณเคยบอกว่าศิลปะสูงสุดคือศิลปะการใช้ชีวิต

ใช่ เพราะเรามีชีวิตเดียว มันไม่เหมือนรถ พอคันนี้เก่าจะไปเปลี่ยนมันไม่ได้ พังแล้วพังเลย แล้วไม่มีใครที่จะอยู่กับตัวเราได้นานเท่าตัวเรา เพราะฉะนั้น จะทำยังไงให้ตัวเราไม่ลำบากมาก ทำยังไงให้ตัวเรามีความสุข

ใช้ชีวิตแบบไหนจึงเรียกว่ามีศิลปะการใช้ชีวิต

อยู่โดยที่เราดูแลตัวเองได้ แล้วก็มีความสุข อยากทำอะไรเราได้ทำ แต่ถ้าเราทำแล้วเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วยมันก็ดี และไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น แต่ตายไปคนจะรักไม่รักเราไม่รู้ เราตายไปแล้ว

ตอนโปรโมตหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ   (หา) เรื่องที่บ้าน ทำไมคุณบอกว่า “การทำงานนอกจากจะได้งานแล้ว งานยังช่วยให้เรารู้ตัวว่า ตัวเราเองยังมีค่า”

คนมันจะมีค่าที่การทำงาน เราทำงานทั้งชีวิต เพียงแต่หน้าที่การงานเราสลับกัน เราทำงานตั้งแต่สมัยเรียน พ่อแม่เราส่ง เราก็ทำงาน หรือคุณไปดูประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของโลกหรืออะไรก็แล้วแต่ คนพวกนี้ทำงานทั้งนั้นแหละ ศาสนาก็ทำงานนะ ไม่ใช่ว่าศาสดาอยู่ๆ มานั่งบรรลุ ศาสดาก็ต้องศึกษา วิเคราะห์ นั่นก็คือการทำงาน การทำงานทำให้เรามีค่า ถ้าเราไม่ทำงานชีวิตเราก็เรื่อยเปื่อย

เราเป็นคนสนุกกับการทำงานและชอบทำงาน บางทีเราเป็นคนเมา เราเมาเละนะสมัยหนุ่มๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีบ้าง แบบที่ตื่นมาแล้วไม่อยากนึกถึงเมื่อคืนเลย ซึ่งสมมติถ้าเราไม่ทำงาน ไม่เขียน คำพิพากษา คนก็คงบอกว่า ไอ้นี่แม่งขี้เมา ลามกจกเปรต อย่าไปคบมันนะ แต่พอมี คำพิพากษา เฮ้ย มันเก่งเว้ย เมาแล้วยังทำงาน

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรอก ลองเราไม่ทำงานสิ คนก็จะว่าเราเป็นตาแก่ที่เมาเหล้า ทำตัวเละเทะ แต่พอบอกเขาเขียน พันธุ์หมาบ้า นะ โอ้โห เมาแล้วยังทำงานเว้ย ภาพมันต่างไหมเล่าเมื่อมีงาน แล้วลองคิดดูสิ สมมติถ้าเราไม่มีงานที่เราทำไว้ คุณก็ไม่มาหาใช่มั้ย นั่นแหละ งานมันทำให้เรารู้สึกว่าตัวเรามีค่า แล้วสิ่งที่มันจะอยู่กับเราก็คืองานที่ทำ เงินทองหามาเดี๋ยวก็หมด แต่งานที่ทำแล้วมันจะยังอยู่

เราไม่ได้ประมาท ในขณะที่แดกเหล้ากันโครมๆ เพื่อนเราตายไปเยอะ เราก็ต้องทำงาน แล้วอย่างที่เราบอก ถ้าเราทำงานงานมันจะเลี้ยงเรา เดี๋ยวเดือนหน้า พันธุ์หมาบ้า ก็จะพิมพ์ครั้งที่ 29 คำพิพากษา พิมพ์ครั้งที่ 51

ตอนทำงานรู้มั้ยว่ามันจะหล่อเลี้ยงเราถึงวันนี้

ใครจะไปรู้ จะไปรู้ได้ยังไง ทำให้มันดีที่สุดก่อน แล้วขายไม่ได้ค่อยไปหาวิธีขาย

ชาติ กอบจิตติ

อายุมากขึ้น เวลาทำงานเอาอยู่มากขึ้นมั้ย

ส่วนหนึ่งที่มันช่วยเราคือประสบการณ์ เราได้ความชำนาญ ได้ทักษะ แต่บางทีทักษะมันก็เป็นภาพลวงตา พอเราชำนาญ เห็นว่าทำแบบนี้แล้วมันดี เราก็ยึดอยู่แต่กับตรงนี้ ไม่กล้าสละไปสิ่งใหม่ มันทำให้ศิลปินหลายคนกลายเป็นช่างฝีมือ เพราะไปติดทักษะ เขียนรูปมาทุกทีก็จะเหมือนรูปเดิม เขียนรูปมาก็จะเป็นรูปเก่า เพราะว่าไปติดกับทักษะที่ตัวเองชำนาญ อันตรายเหมือนกัน

อันตรายยังไง

หลงในทักษะ ไม่ได้ผ่านการคิด แต่บางทีการคิดงานชนิดใหม่มันใช้ทักษะเดิมไม่ได้ กระบวนการมันไม่ไปด้วยกัน

พอคุณเขียนหนังสือมานานเข้า เริ่มกลายเป็นช่างฝีมือด้วยไหม

ถ้าสังเกตดูงานเรามันจะไม่ซ้ำกัน เพราะเราไม่ได้ติดกับทักษะ ทักษะจะมีในเรื่องการโน้มน้าวอารมณ์ สมมติพอถึงตรงนี้กูอยากให้เขาร้องไห้ กูบี้เช็ดน่ะ อันนี้คือทักษะที่เราชำนาญ แต่มันไม่ใช่ว่าจะมาร้องไห้กันทุกเรื่อง เพราะเรื่องอื่นมันก็ไม่ใช่ คำพิพากษา ถ้าไปดูงานเราจะเห็นว่าไม่ค่อยมีซ้ำ แต่มันจะมีร่องรอยของคนเขียนอยู่

ถึงวันนี้ คิดว่าอะไรทำให้เวลาผ่านมา 30 ปี พันธุ์หมาบ้า ยังอยู่ในใจคน

เรื่องที่พูดมันเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นเรื่องเพื่อน เรื่องของวัยรุ่นที่คบกัน ซึ่งมันมีมาตั้งแต่ยุคหินแล้ว มึงไปล่าสัตว์มึงจะเอาคนไม่ไว้ใจไปเหรอ มึงก็ต้องเอาเพื่อนมึงไป ไม่อย่างนั้นเจอกระทิงแล้วไอ้นั่นวิ่งจู๊ดมึงทำยังไงล่ะ มึงก็ต้องเอาเพื่อนไป เรื่องเพื่อนมันมีตลอด เด็ก ม.4 ม.5 ก็ยังอ่านเพราะเขามีเพื่อน เพียงแต่ไอ้ฉากหลังมันอาจจะแตกต่าง ตอนนั้นอาจจะเป็นยุคฮิปปี้ ตอนนี้อาจจะเป็นยุคแร็ป ยุคฮิปฮอป แต่ไอ้ความเป็นเพื่อนมันยังอยู่

หรืออย่างเรื่อง คำพิพากษา ดูจากในอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวนี้คนก็ยังตัดสินกันง่ายๆ ยังแชร์ยังเชื่อกันอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปยังไง แต่รักโลภโกรธหลงยังอยู่ เนื้อมันอยู่ที่เดิม เครื่องแต่งกายต่างหากที่เปลี่ยน

ทุกวันนี้คุณยังเขียนงานที่ทรงพลังแบบตอนที่เขียน พันธุ์หมาบ้า หรือ คำพิพากษา ได้ไหม

ขอโทษนะ ไอ้ทักษะฝีมือเราทำได้ แต่ไอ้งานที่มันมีพลัง งานที่เป็นแบบนั้น มันเป็นเรื่องวัย เป็นเรื่องความคิด

ถ้าตอนมึงเป็นวัยรุ่นมึงไม่อยากล้างโลกมึงไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว มึงต้องผ่านชั่วโมงนั้นมา ที่คิดว่ากูจะต้องล้างโลกให้ได้ โลกนี้มันสกปรก แล้วถามว่าคิดแบบนั้นผิดมั้ย ไม่ผิด ถ้ามึงเป็นวัยรุ่นแล้วมึงไม่เป็นอย่างนั้นสิ มึงผิดปกติแน่ๆ

เราก็เคยเป็นเหมือนกัน แต่พอแก่แล้วก็เข้าใจว่า อ๋อ มันเป็นอย่างนั้นนี่หว่า นั่งดูเขาไป เมื่อก่อนกูก็เคยเป็นนะอย่างพวกมึงน่ะ พอเราโตขึ้น ผ่านอะไรมากขึ้น เราก็จะรู้สึกว่ามันก็เป็นบริบทของมัน แต่ถ้าตอนนี้จะไปล้างโลก ไปเย้วๆ เด็กมันคงถามเรา ไหวเหรอลุง ลุงดูหลานดีกว่ามั้ง (หัวเราะ)

คุณเป็นคนเข้าใจวัยรุ่น

อ้าว มันเป็นอย่างนั้น ตอนนั้นเราก็เป็น เราไปท้าผู้ใหญ่ชกก็ยังมี (หัวเราะ) คิดว่าความคิดความอ่านเขาแก่แล้ว โบราณ คร่ำครึ ล้าสมัย ก็ไปท้าเขาชก ตอนนั้นมันเด็ก ตอนนี้ถ้าเกิดมีเด็กมาท้าเราชกก็ เออ มึงเก่ง กูสู้มึงไม่ได้ กูเคยเป็นอย่างมึงนั่นแหละ (หัวเราะ)

ชาติ กอบจิตติ

แสดงว่าในวัยนี้คุณไม่สามารถสร้างงานแบบในวันวานได้อีกแล้ว

เช่นเดียวกันๆ ถ้าผมสร้างงานในวัยนี้ ไอ้คนหนุ่มคนนั้นก็สร้างงานอย่างนี้ไม่ได้ สมมติคุณชาติเมื่อสักอายุสามสิบกว่าก็สร้างงานแบบตอนที่คุณชาติอายุหกสิบกว่าไม่ได้ เช่นเดียวกัน มันเป็นช่วงชีวิต

เสียบางอย่างไปก็ได้บางอย่างมา

ไม่มีอะไรเสียไปหรอก มันมีแต่เราผ่านมาเท่านั้นเอง

ถ้าคุณไปคิดว่าคุณเสียอะไรคุณจะเสียตลอดแหละ มึงเสียอาหารเช้าตอนขี้กลางวัน ตอนเย็นมึงขี้ เสียอาหารกลางวันไปอีกแล้ว มันก็เสียตลอด แต่ไม่หรอก มันแค่ผ่านไปเฉยๆ

ไม่เสียแล้วคุณได้อะไรไหมเมื่ออายุมากขึ้น

มันก็คือประสบการณ์ไง กินไอ้นี่แล้วขี้แสบตูดทีหลังก็อย่าไปกิน ตอนสั่งก็บอกเขาว่าอย่าเผ็ดมาก ก็เท่านั้น เวลาผิดอย่าไปผิดซ้ำซากอยู่ที่เดิม ผิดครั้งแรก โอเค เราไม่รู้ ไม่เป็นไร ผิดครั้งที่ 2 ในจุดเดิม ไม่เป็นไร เป็นบทเรียน แต่ถ้ายังผิดครั้งที่ 3 ในที่เดิม อันนี้มึงโง่แท้ๆ เลย ชีวิตจำไว้ อย่าไปผิดที่เดิม 3 ครั้ง

ถึงวันนี้รู้หรือยังว่าสิ่งสำคัญในชีวิตแท้จริงคืออะไร

ไม่รู้หรอก เกิดอีก 3 ชาติก็ไม่รู้ (หัวเราะ) อย่าไปติดกับมันมาก อย่างของรักของชอบ เดี๋ยวนี้เวลาจานที่เก็บไว้ตก นาฬิกาที่เก็บไว้แมวไปตะกาย ก็ เออ ปล่อยไป

ไม่เสียดาย

ก็ถึงบอกไง ไม่รู้หรอก ของบางทีเก็บมาเกือบทั้งชีวิตแล้วสุดท้ายก็ อ๋อ แค่นี้เหรอ ช่างมันเหอะ อยู่ให้มันมีความสุข

พูดเหมือนไม่ยึดติดอะไรแล้ว

ถ้าเราไปติดกับอะไรมากมันก็กังวลเยอะ แค่ทำยังไงให้มันดีที่สุด ทำเต็มที่ แล้วไม่ต้องไปโทษตัวเองว่าทำไมกูโง่อย่างนี้วะ ทำไมกูไม่ฉลาดเท่าเขาวะ อย่าไปคิดอย่างนั้น กลับกัน ต้องชมว่า เฮ้ย มึงเก่งนะ เมื่อก่อนกูไม่เห็นมึงเก่งขนาดนี้เลย อย่างเรา ลูกค้าเข้าร้านมาก็แฮปปี้ ยิ้มมีความสุข เราทำได้ขนาดนี้นะ ไม่เชย ไม่อาย แค่นั้นก็จบ

พูดกันภาษาเด็กๆ คือ ชีวิตแม่งเศร้าหมองพอแล้ว มึงจะไปซ้ำเติมตัวเองอีกทำไม มึงต้องให้กำลังใจตัวมึงสิ

ชาติ กอบจิตติ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan