5 กุมภาพันธ์ 2022
3 K

ตัวอักษรไทยลายฝีแปรงพู่กันจีนถูกประดับเหนือรั้วกรงเหล็กของร้านค้าเก่าขนาบ ‘ถนนตัดใหม่’ ที่ตอนนี้กลายเป็นถนนสายเก่าในย่าน ‘ย่านเจริญกรุง’ ถนนที่นำพาแสงสีและชาวต่างชาติเข้ามาจนเกิดวิถีชาวกรุงที่ไม่เคยหลับใหล แต่เวลาผ่านไปแสงสีถูกพัดพาไปยังถนนสายอื่น ความอู้ฟู่ของเจริญกรุงจึงถูกแทนที่ด้วยความเงียบเหงา 

แต่ความซบเซานั้นแทรกซึมได้ไม่นาน กลิ่นอายของสีสันก็ได้พัดพากลุ่มคนหวนคืนสู่เจริญกรุงอีกครั้ง ถนนสายนี้จึงเต็มไปด้วยร้านคาเฟ่และแหล่งรวมศิลปะ 

“เราไปคุยกันตรงไหนดีคะ งั้นไปนั่งคุยที่ร้านคุณเอ้ดีไหม”

ยิ้ม-กุลยา กาศสกุล ผู้จัดการโครงการ Charoen43 Art & Eatery ทักทายด้วยท่าทีสบาย ๆ ก่อนเดินนำพวกเราผ่านร้าน Madi Café เพื่อเข้าสู่ร้าน Chutie is baking ของเอ้ที่อยู่ด้านหลัง 

โครงการ Charoen43 Art & Eatery พื้นที่พลังสร้างสรรค์แห่งใหม่ตั้งบนถนนเจริญกรุง ปากซอย 43 เป็นกลุ่มอาคารที่ โด่ง-ปรกฤษฏ์ สุดสัตย์ ได้รับมรดกตกทอดจากครอบครัว

“พี่โด่งที่เป็นเจ้าของเวิ้งนี้คิดว่าจะทำอะไรกับพื้นที่นี้ดีโดยไม่ต้องขาย เพราะที่นี่คุณป้าที่รักเขาได้มอบให้ เขาต้องดูแลให้ถึงที่สุด ก็เลยให้ยิ้มมาช่วยดูโครงการ เราจึงเริ่มเลือกทำอะไรที่เป็นเรา”

จากไอเดียแรก ๆ คือการเปิดให้แบรนด์ดัง ๆ มาเช่าทำคาเฟ่ หรือทำโฮสเทล ในที่สุดสิ่งที่ PR ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าของร้านเสื้อผ้าดีไซเนอร์เลือก คือการทำพื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งพลังงานการสร้างสรรค์และความมีชีวิตชีวา เริ่มต้นจากการปรับปรุงตึกที่เคยมีทั้งหมด 10 คูหาซ้อนกัน ครึ่งหนึ่งอยู่ด้านหน้าริมถนน อีกครึ่งอยู่ด้านหลัง ยุบรวมเป็น 8 คูหาแล้วเปิดให้เช่าในราคายืดหยุ่นจับต้องได้

“อยากให้ตรงนี้เป็น Art Space มีอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มเติมสิ่งที่ยังมีไม่มาก เพราะที่นี่ 6 โมงเย็นก็เงียบแล้ว เราเลยมีบาร์เข้ามา มีพื้นที่สร้างสรรค์อย่างแกลเลอรี่ อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถนนนี้คึกคัก”

ร้านที่เข้าร่วมโครงการในปัจจุบันมีอยู่ 6 ร้าน และอีก 2 ร้านกำลังจะเปิดในเร็ว ๆ นี้ แต่ละร้านมีสไตล์และความฝันแตกต่างกัน เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนจากหลากหลายที่มาและมุมมอง การพัดพาผู้คนที่หลากหลายเหล่านี้มาอยู่รวมกันภายใต้โครงการ Charoen43 นี้ จะสร้างกลิ่นอายและมวลความสร้างสรรค์ให้เจริญกรุงแบบไหนบ้าง The Cloud อยากให้มารู้จักกับพวกเขาไปพร้อมกัน

Chutie is baking
ความสงบของคนอบขนม

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

เรานั่งคุยกับยิ้มที่ร้าน Chutie is baking ของ เอ้-ชุติมา บวรรัตนโชติ เจ้าของเดียวกันกับร้าน Sweet Pista ในโครงการ Warehouse 30 ห้องนิรภัยเดิมที่ผนังเต็มไปด้วยโครงเหล็ก ถูกปรับแต่งให้เป็นร้านอบขนมเล็ก ๆ หลังจากคุยกับยิ้ม เราก็ได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของร้านอบขนมเล็ก ๆ แห่งใหม่นี้

“เราขยายร้านเพราะอยากให้มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น ทำให้รับพนักงานได้มากขึ้นและได้ทำอะไรหลากหลาย อย่างการขยายไลน์เค้ก พอย้ายครัวมาที่นี่เราทำเค้กได้เยอะ เราได้คิดไลน์เค้กใหม่ให้ร้านนี้ด้วย ซึ่งเราไม่เน้นการค้าขาย ขายได้ก็ดีแหละ แต่สำคัญที่สุดคืออยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ของตัวเอง แค่อยากมีที่สงบ  ๆ ให้คิดอะไรได้มากขึ้น”

นอกจากการคิดลายใหม่ให้กับร้าน Chutie is baking เอ้เองยังใช้ครัวอบขนมที่นี่ทำขนมส่งไปยังร้าน Sweet Pista ด้วย นี่จึงเป็นพื้นที่ที่มอบโอกาสให้เอ้ได้แต่งแต้มไอเดียการทำขนมผ่านบรรยากาศแสนสงบ

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง
Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

แต่ความสงบอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เอ้ได้รับจากที่นี่

“ละแวกนี้เราอยู่กันเป็นเพื่อน เราแชร์กันมากกว่าเป็นคู่แข่ง เราแค่ต้องการสนุกกับสิ่งที่ทำมากขึ้น ชั้น 2 ของเราปล่อยว่าง เอาไว้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานนิทรรศการ ไม่ได้คิดว่าจะเอาไว้เพื่อนั่งกินขนม อย่างน้ำ เรามีแค่ Soft Drink น้ำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องชง เพราะลูกค้าจะได้เดินไปสั่งร้าน Madi Café อย่างเมื่อเช้าลูกค้าก็เดินวนไปมา 2 ร้าน สนุกมาก ดีกว่าที่จะต้องมาแข่งกันหรือแย่งลูกค้ากัน”

ก่อนเดินสำรวจรอบ ๆ ร้าน เอ้แนะนำเมนูน่าลองให้เรา 2 – 3 เมนู 

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

“ซีรีส์ Cake Parfait จริง ๆ ต้องใส่ไอติมด้วย แต่เราใส่ถ้วยแล้วออกมาเป็นเลเยอร์ต่าง ๆ ตอนนี้มี 4 รสชาติ คือกล้วย เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ และสตรอว์เบอร์รี่ ถ้าเป็นซีรีส์ทาร์ต มีแอลมอนทาร์ตเป็นส้มกับเชอร์รี่ และมีเลม่อนที่กำลังทำเพิ่ม กำลังค่อย ๆ เติมผลไม้อื่นตามฤดูกาล”

เราเดินขึ้นไปสำรวจชั้น 2 ของร้าน กลางห้องโถงมีโซฟาเนื้อกำมะหยี่สีแดงหรูหราตั้งอยู่ ข้าง ๆ กันเป็นกระจกบานใหญ่ มองทอดออกไปทางระเบียงจะเห็นร้านด้านหน้าเป็นชั้น 2 ของร้าน Madi Café ทำให้เรารู้สึกถึงมวลความอบอุ่นของการเป็นเพื่อนบ้าน และเชื่อว่านี่คือพื้นที่แห่งความสงบและความสบายใจของเอ้ได้จริง ๆ

Chutie is baking

วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 10.00 – 18.00 น.

Instagram : Chutie is baking

Bangkok MOJO
ความทรงจำของคนรักดนตรีคลาสสิก

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

ประตูไม้สีเขียวถูกเปิดต้อนรับเราโดย ซี-ภูรี​ หมวด​เมือง เจ้าของร้าน Bangkok MOJO ที่มองเห็นร้านได้จากทางเข้าซอยด้านหลังตึกของโครงการ Charoen43 เราทราบมาว่าที่นี่จะทำเป็นบาร์ แต่ก็ดูไม่ใช่บาร์แบบปัจจุบันที่แห่งอื่นเป็น

“ร้านเริ่มจากดนตรีเป็นหลัก ผมทำวงและเล่นดนตรีแต่แนวที่เล่นอยู่มันหาพื้นที่เล่นได้ยาก และเราไม่อยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ประกอบกับอยากมีบาร์เป็นของตัวเองมานาน เราเลยหาพื้นที่สักพักจนมาเจอที่นี่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้วงการผับ บาร์กลางคืน และดนตรีมีทางเลือกใหม่ เราอยากให้พื้นที่นี้เป็น Music Community”

ภายในร้านตกแต่งด้วยแก้วชากาแฟ แม้ขึ้นชื่อว่าเป็นบาร์ แต่ทางร้านยังขายเครื่องดื่มอื่นด้วย

“เราไม่เป็นผับกลางคืน 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น กลางวันเราจะทำให้พื้นที่นี้เป็น Music Community อย่างผมเรียนดนตรีคลาสสิกมา วงคลาสสิกหาที่เล่นยาก อย่างวงแชมเบอร์มิวสิกที่เขาอยากเล่น เขาจะได้มาเล่นที่นี่ช่วงเวลากลางวันได้ เล่นไปดื่มกาแฟไป ไวน์ก็ได้ เพราะเราไม่อยาก Stereotype ว่า ถ้าอยากฟังเพลงต้องไปบาร์ตอนกลางคืนหรือต้องเมาไปด้วย เพราะบางวงเขาอาจจะแฮปปี้ที่ได้เล่นตอนบ่ายหรือตอนเย็นก็ได้

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง
Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

อย่างผมเป็นครูสอนไวโอลิน ผมก็จะบอกพ่อแม่เขาได้ว่า ให้เอาลูกมาเล่นไวโอลินที่นี่ได้เลยตอนกลางวัน จะได้รู้ว่าที่เราสอนไปแล้วเขาเล่นเป็นยังไงบ้าง หรือเอาอาจารย์ของผมมาดูลูกศิษย์ของผมอีกทีหนึ่งก็ยังได้ ดังนั้นเราจึงอยากให้ร้านเป็น Music Bar and Community”

หันไปเห็นพรมสี่เหลี่ยมสีแดงปูพื้นอยู่ที่พื้น ตรงนั้นซีเล่าว่าอยากให้วงดนตรีมาตั้งและเล่นกันตรงนี้ อยากให้เป็นสถานที่ที่วงคลาสสิกวงไหน ๆ ก็มาเล่นได้ แนวเพลงที่เล่นในร้านอาจจะแตกต่างกันไป อย่างวันอาทิตย์ เพลงก็จะเป็นแนวบลูส์ หรือสุดสัปดาห์ วันพฤหัสบดี-วันเสาร์ อาจเป็นแนวดนตรีอเมริกัน ซึ่งแนวที่คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

“เราก็ต้องบริหารจัดการว่าจะลงเครื่องดนตรียังไงให้มันพอดีกับพื้นที่ เพราะผมจะไม่ถอยหลังไปทำวงเล็ก ๆ หรือแค่อะคูสติกส์ดูโอ เพราะมันหาที่ไหนก็ได้”

นอกจากพื้นที่ที่ต้องการจัดให้สำหรับนักดนตรีแล้ว ซียังคำนึงถึงพื้นใช้สอยสำหรับลูกค้าที่มาใช้งานอย่างดีด้วย

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

“ผมขี้บ่น เวลาไปบาร์ผมจะบ่นว่าเก้าอี้มันสูงไปทำให้เมื่อย บาร์ทำไมต้องครึ่งนั่งครึ่งยืนด้วย บาร์ส่วนใหญ่เขาทำที่นั่งแบบนั้นเพราะลูกค้าจะได้ Turnover กันเร็ว ๆ แต่เรื่องนั้นผมไม่ชอบ ผมยอมเสี่ยง ผมเลยลดระดับเก้าอี้ลงมา ทำให้บาร์กว้างขึ้น คนจะได้สอดขาเข้าไปใต้บาร์ได้ ลูกค้าจะนั่งนานแค่ไหนก็นั่งไป”

ร้านของซีดูไม่ทันสมัยเหมือนบาร์ร้านอื่น แต่ที่นี่ถือเป็นการนำพาบรรยากาศแห่งความทรงจำของคน Generation X ที่หลงใหลในเพลงคลาสสิก เพลงในยุค 70 – 90 รวมถึงกลิ่นอายของความเป็นบาร์สไตล์ Adhere 13th blues bar

“เรามาจากย่านพระอาทิตย์ บางลำพู bar ผมเคยเล่นที่ Adhere 13th blues คนคิดว่าเป็นร้านผม พี่ยิ้มก็เคยไปดูแต่ตอนนั้นเราไม่รู้จักกัน ผมก็อยากให้ร้านเป็นสไตล์นั้น เพราะบาร์แบบนี้มีน้อย และกำลังจะสูญพันธุ์แล้ว พอได้คอนเซ็ปต์ตรงนี้มา เราก็หาพื้นที่ เรามาได้โครงการนี้เพราะกราฟิกที่ทำงานกับพี่ยิ้มเป็นเพื่อนผม โลกมันกลมนะ สุดท้ายก็เลยได้มาคุยกันและได้อยู่ตรงนี้”

Bangkok MOJO

วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 17.00 เป็นต้นไป

Website : bangkokmojo.com

Small Dinner Club 
ความสากลของคนติดกระจกหลังให้อาหาร

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

ระหว่างที่นั่งคุยกับซีที่ร้าน Bangkok MOJO เราแอบได้ยินเสียงเคาะทุบและการปีนบันไดเป็นระยะ เสียงนั้นเป็นเสียงร้าน Small Dinner Club ที่อยู่ในช่วงตกแต่งร้านโค้งสุดท้าย ก่อนเปิดให้บริการในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ หลังคุยกับซีเสร็จ ไม่นานนัก ศรีล โรจนเมธินทร์ เจ้าของร้านอาหารไทยสไตล์ใหม่เดินเข้ามานั่งพูดคุยกับเราด้วยอาการหอบเล็กน้อย คาดว่าการแต่งเติมร้านคงทำให้เขาเหนื่อยเอาการ

“เราย้ายร้านมาจากออสเตรเลีย เราปิดที่นั่นเพราะอยากย้ายมาสร้างอิมแพคให้เกิดในวงการอาหารไทย ให้เกิดแรงบันดาลใจส่งต่อรุ่นต่อ ๆ ไป ตอนที่อยู่ออสเตรเลียมันก็ดี แต่เรื่องการเข้าถึงและเรื่องวัตถุดิบมันยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ คอนเซ็ปต์ของเราก็เลยมองอาหารเป็นทั้ง Space Philosophy Identity”

เราและศรีลเงียบกันสักพักเพื่อทำความเข้าใจกับความลึกซึ้งที่เขาอยากสื่อสารลงไปผ่านอาหารไทย

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

“อาหารที่ร้านเป็นอาหารไทย แต่ไม่ใช่ไทยแบบเราคุ้นชิน  ผมขอยกตัวอย่างวงชื่อ Paradise Bangkok เป็นวงหมอลำระดับสากล เขาเอาหมอลำผสมกับแนว Dub, Funk, Jazz, Rock and Roll อยู่ตรงนั้นคนไม่รู้ว่าเป็นหมอลำ แต่มันถูกสร้างสรรค์ใหม่ เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยทุกชาติด้วยเป้าหมายเดียวกันคือความสนุก ผมก็เห็นฝรั่งเซิ้งกัน ซึ่งเราก็อยากเป็นแบบนั้น อยากให้อาหารเป็น Full Experience ทั้ง Size, Sound, Taste, Smell”

การให้อาหารไทยเข้าถึงทุกเพศทุกวัย ยังคงไม่ใช่เป้าหมายหลักของศรีล เขามองว่าอาหารไทยเข้าถึงง่ายทุกเพศวัยและทุกชาติอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ศรีลสนใจคือการทำให้อาหารไทยมีความใหม่ แต่ยังคงกลิ่นอายไทยดั้งเดิมไว้ได้ และเป็นอาหารที่พร้อมเสิร์ฟต่อไปได้ในอนาคตอีกด้วย

“การที่เราจะคงวัฒนธรรมและความดั้งเดิมให้คงอยู่ได้ ถ้าทำแบบเดิม ๆ มันหายไปแน่นอน แต่ถ้าเพิ่มการนำเสนอแบบใหม่เข้าไป อาจทำให้อาหารไทยคงอยู่ในปัจจุบันจนไปถึงอนาคตได้ ซึ่งอาหารเราคือการเดินทางไปข้างหน้า โดยมีกระจกหลังคอยมองถึงรากฐานที่มา”

Small Dinner Club จัดเมนูอาหารเป็นคอร์ส มีทั้งหมด 16 คอร์ส โดยแต่ละเมนูมักเกิดจากการได้รับแรงบันดาลใจผ่านประสบการณ์และสิ่งที่เห็นในมุมกว้างของสังคมปัจจุบัน 

“อาหารจานเดียวผมสามารถส่งสารที่อยากสื่อได้ แต่ต่อให้คนไม่ได้อ่านถึงความหมายของอาหารจานนี้ อย่างน้อยก็มีความอร่อย มีคุณประโยชน์แน่ ๆ แต่ถ้าเขาอ่านก็จะเกิดการสื่อสาร เหมือนคุณเดินไปแกลเลอรี่ คุณจะเดินผ่าน ๆ หรือจะอ่านคำอธิบายก็ได้ เราทรีตอาหารแบบนั้นเหมือนกัน ทุกอย่างมีเรื่องราว มีชื่อ คุณจะอ่านหรือไม่อ่านก็ได้ กินอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่คุณจะเสพ”

นอกจากอาหารที่มีความเฉพาะตัว การตกแต่งที่ศรีลได้มีส่วนร่วมคิดกับนักออกแบบตกแต่งภายในก็สำคัญไม่แพ้กัน การตีความในความเป็นไทยที่ไม่จำเป็นใช้หวายหรือไม้ไผ่ของศรีล จะพาผู้เข้าไปเยือนพบประสบการณ์ใหม่แบบเต็มที่ไม่เหมือนใคร หากอยากทราบว่าภายในร้านมีกลิ่นอายความเป็นไทยสมัยใหม่อย่างไร สามารถเข้าไปจับจองโต๊ะอาหารเพื่อสัมผัสเส้นทางใหม่ของอาหารไทยผ่านเว็บไซต์ Small Dinner Club ได้เลย

Small Dinner Club 

เปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

Instagram : sdc.bkk

Website : www.smalldinnerclub.com

Madi Café
ความสุขของคนติดเพื่อน

Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง
Charoen43 Art&Eatery ฟื้นตึกแถวเก่า 10 ห้องเป็นพื้นที่รวมร้านสร้างสรรค์ในเจริญกรุง

แสงแดดลอดผ่านบานกระจกเคล้ากับเสียงเพลงสากลที่เปิดคลอในร้าน ร้าน Madi Café (มาดิ)  ด้านหน้าเราคือ จี๊พ-สาธิยา ศิริพจนากร ที่กำลังกล่าวทักทายและขอบคุณลูกค้าก่อนจะหันมาพูดคุยกับเรา

“เราและคุณเมย์ (เมธิกานต์ ขวัญเมือง) เคยเป็นคนทำงานประจำทั้งคู่ เราอยากทำร้านที่มีพื้นที่แสดงงานด้วย เราชอบอะไรคล้ายกันและเป็นคนติดเพื่อนทั้งสองคน คอนเซ็ปต์ก็เลยเป็น The Circle of Friends”

ร้าน Madi เป็นคาเฟ่สไตล์ Minimal Nordic ด้วยพลังงานเริ่มแรกที่เกิดจากความติดเพื่อน ทำให้อินทีเรียที่มาช่วยสร้างสรรค์ร้านนี้ให้ก็เป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่เคยเรียนออกแบบที่ญี่ปุ่นของจี๊พ ร้านนี้จึงเกิดจากการช่วยแหลือกันจากกลุ่มเพื่อนในหลาย ๆ เรื่อง 

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

“เพื่อนจี๊พตั้งแต่เรียนมหาลัยชื่อป๊อก เขาช่วยแนะนำเรื่องกาแฟด้วย เราเลยมองว่าคอนเซ็ปต์เพื่อนมันเป็นตัวเรามากที่สุด อย่างบรรยากาศในร้าน เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกว่าเหมือนมาบ้านเพื่อน อย่างชื่อร้าน มาดิ ก็เหมือนชวนสบาย ๆ ว่ามาเลยสิ มาดิ มาหากัน”

 แม้ว่าคาเฟ่มินิมอลสไตล์ญี่ปุ่นกำลังเป็นที่ยอดนิยมสำหรับการเที่ยวคาเฟ่เพื่อถ่ายภาพสวย ๆ แต่จี๊พยังยึดมั่นในมวลพลังงานของความเป็นเพื่อนมากกว่า

“เราไม่ได้คิดด้วยว่าความเป็น Nordic เป็นจุดขายของร้าน แต่ความเป็นเราคือจุดขายมากกว่า ตอนเปิดร้านไม่ได้คิดว่าร้านต้องสวยแล้วคนต้องมาอย่างเราเปิดร้านได้หนึ่งเดือนแล้วมีลูกค้าหิ้วหอยจ๊อมาฝาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราตั้งใจให้เป็นมันถูกแล้ว ปีใหม่ก็ส่งของขวัญปีใหม่มาให้ ลูกค้าเบื่อประชุมกับที่ทำงานแล้วขอช่วยพับกล่องก็มี เขาบอกว่าหาอะไรมาให้ทำหน่อยสิ จี๊พเลยให้เขาพับกล่อง”

เสียงหัวเราะระหว่างการพูดคุยเกิดขึ้นเป็นระยะ เราเห็นแสงแดดเริ่มลอดเข้ามาถึงบริเวณที่นั่งคุยกัน การออกแบบร้านมาดิในแบบของจี๊พและเมย์จึงมองถึงการรับแสงแดดธรรมชาติ และให้ความรู้สึกสบายเหมือนการได้อยู่บ้านจริง ๆ

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง
เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

“จี๊พไม่ได้คิดว่าต้องทำร้านสวยเพื่อให้คนมาถ่ายรูป ไม่ได้จะจัดมุมถ่ายภาพอะไรทั้งนั้น เรามองว่าร้านคือบ้านที่เราต้องอยู่ทุกวัน กาแฟและขนมต้องดีและเราต้องชอบ เพราะถ้าไม่อร่อยหรือเราไม่ชอบก็เหมือนโกงและโกหกคนอื่น มีหลายคนถามว่าทำไมไม่มีเมนูปั่น คำตอบจี๊พกับเมย์คือไม่ชอบเครื่องปั่นที่เสียงดัง อะไรที่ไม่ชอบเราจะไม่ใส่ลงไป อย่างมีบางเมนูที่กินวันแรกแล้วอร่อย แต่พอกินต่อวันที่สองมันไม่อร่อยแล้ว เราก็เอาออกเลย ถ้าเราโกงตัวเองก็เหมือนโกงคนอื่น”

เราเดินขึ้นไปสำรวจชั้น 2 ของร้านที่จัดแสดงผลงานศิลปะ และกำลังจะมีนิทรรศการของบางกอกดีไซน์วีกมาจัดแสดงด้วย

“ชั้น 2 เราไม่อยากเรียกว่าเป็นแกลเลอรี่ แต่อยากให้เป็น Player Hub อยากให้มันเป็นอะไรก็ได้ อย่างสุดสัปดาห์ก็มี เวิร์กชอปสีน้ำ จัดดอกไม้ เพราะคนเรามีความชอบหลากหลายกันไป เลยอยากให้ชั้นบนเป็นพื้นที่ใช้งานที่ตอบโจทย์ความชอบของผู้คนได้”

พูดคุยกันเสร็จก็ดื่มกาแฟกันเล็กน้อย เมนูแนะนำสำหรับคอกาแฟ คือ มาดิคัลเจอร์คอฟฟี่ กาแฟนมที่หวานมันกว่าลาเต้ แต่ไม่หวานเท่าเอสเพรสโซ่เย็น หวานมันนวล ๆ แต่ถ้าไม่ใช่สายกาแฟนม แนะนำเมนูยูสุอเมริกาโน่ ช่วงเปิดร้านใหม่ ๆ คนเอาไปรีวิวเยอะจนกลายเป็นเมนูขายดีที่สุด คนไม่ดื่มกาแฟนมหรือกาแฟดำก็แนะนำเมนูนี้เลย

Madi Café (มาดิ)

วัน-เวลาทำการ : เปิดทุกวัน 10.00 – 17.00 น. 

Instagram : madi_bkk

Facebook : Madi Bkk

 Bicycle Boys Clubhouse
ความหวังของคนคอจักรยาน

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

ถัดจากร้านมาดิคาเฟ่เป็นร้านอาหารที่กำลังจะเป็นความหวังและจุดนัดพบใหม่ของคอนักปั่นจักรยานในไม่ช้า เรานั่งบนลังไม้อัดสีอ่อนที่เพนต์ด้วยอักษรภาษาจีนของ กล้อง-ตุลลวัต เทศะแพทย์

เจ้าของร้าน Bicycle Boys Clubhouse เบาเสียงเพลงก่อนจะนั่งพูดคุยกับเรา

“ผมชอบปั่นจักรยานแล้วก็ปั่นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ปั่นไปทำงาน ปั่นไปนอนอ่านหนังสือที่สวนสาธารณะ ผมเลยอยากให้มีจุดศูนย์กลางของคอมมูนิตี้จักรยาน ให้มีจุดศูนย์รวมความเป็นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ เพลง เครื่องดื่ม ร้านจักรยาน ซึ่งในอนาคตผมก็อยากมีแบรนด์ที่เป็นไลฟ์สไตล์จักรยาน อย่างตอนนี้ในร้านก็มีอาหารอย่างเนื้อย่าง ในอนาคตก็อาจจะมีอาหารอื่น ๆ ด้วย อย่างแซนด์วิช ฮอตดอก เมนูเนื้อ เนื้อแกะ ส่วนชั้นสองแผนแรกจะทำร้านจักรยาน แต่ช่วงนี้ยังเป็นพื้นที่ว่าง ผมเลยทำนิทรรศการไปก่อน”

นิทรรศการจักรยานที่จัดแสดงภายในร้านดึงสายตาเราอยู่หลายครั้ง กล้องเล่าว่าจักรยานที่เตรียมจัดแสดงอยู่เป็นจักรยานสำหรับนิทรรศการ Bangkok Design week ระหว่างวันที่ 5 – 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ถูกโชว์อยู่เป็นจักรยาน Pursuit จักรยานวินเทจที่นักกีฬาโอลิมปิกปั่นทำลายสถิติโลก ใช้แข่งขันที่อิตาลี ช่วงปี 1960 – 1980 บางคันเป็นรุ่นลิมิเต็ด เพราะจำกัดจำนวนผลิตเฉพาะนักกีฬาโอลิมปิกเท่านั้น ดังนั้นในวันงานร้านนี้จะเต็มไปด้วยจักรยานสุดพิเศษเต็มบริเวณชั้น 2

การจัดนิทรรศการขึ้นมา แปลว่ายังมีคนสนใจในวงการจักรยานอยู่

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง
เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

“ชุมชนจักรยานยังแข็งแรงนะ คนรักก็รักเลย ถึงไม่ได้ปั่นแล้วก็ยังเสพอยู่ ยังซื้อและมีจักรยานติดบ้าน คนมักพูดว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมาะกับการปั่นจักรยาน สำหรับผมมันปั่นได้นะ ปกติผมปั่นรอบเจริญกรุง ย่านนี้ถนนค่อนข้างดี ผังเมืองสวย ปั่นจักรยานก็ทำให้เราไปหาของกินได้ไกลกว่าด้วย”

จุดศูนย์ของคนคอจักรยานเริ่มน้อยและห่างหายกันไป กล้องจึงฟื้นบรรยากาศที่ชวนคิดถึงของวงการจักรยานให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยกันใหม่

“เพื่อนต่างชาติของผมเวลามาไทย เขาก็จะถามว่าใครพานำเที่ยวได้บ้าง มีศูนย์รวมคนคอจักรยานไหม  พอเขาไปร้านจักรยาน กลับต้องเจอการขายจักรยาน เขาไม่ได้อยากถูกขาย เขาแค่อยากมีที่ที่ไปเจอคอมมูนิตี้จักรยาน ผมเลยอยากสร้างวัฒนธรรมตรงนี้ อยากให้เป็นที่โชว์จักรยานหลาย ๆ แบบได้ เป็นพื้นที่ของกลุ่มคนได้ และเป็นศิลปะได้ด้วย

“ทริปจักรยานก็อาจจะมีในอนาคต เพราะบรรยากาศมันเริ่มหายไป ผมอยากให้มีจักรยานทุกประเภท อย่างวันอังคาร-พฤหัสบดี อาจจะชวนปั่นเสือหมอบ วันศุกร์อาจจะปั่นรถล้อเล็ก ส่วนวันเสาร์จะจัดงานให้มา อยากให้มีที่ที่ไปคนเดียวแล้วเจอคนคอเดียวกัน ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้แชร์เรื่องจักรยานเหมือนกัน”

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

Bicycle BOYS Clubhouse จึงอยากมอบความหวังและมอบพื้นที่ที่เป็นหมุดหมายของคนคอจักรยาน ให้เรียกบรรยากาศเดิมกับเหล่าเพื่อนนักปั่นบนถนนเจริญกรุง

Bicycle Boys Clubhouse

วัน-เวลทำการ : เปิดทุกวัน 08.00 – 20.00 น.

Facebook : Bicycle BOYS

Instagram : bicycleboys_clubhouse

Website : www.bicycleboys.club

C43 : Fashion and Inspiration Space
ความยูนีกของของคนที่ใจเต้นกับแฟชั่นวินเทจ

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

เจ้าของชุดเบลเซอร์เดรสที่ปักเย็บด้วยผ้าลายวินเทจต้อนรับเราเข้าร้านสวยความสดใส ไม่ใช่ใครที่ไหน ยิ้ม-กุลยา กาศสกุล เจ้าของร้าน C43 : Fashion and Inspiration Space (เจ้าของร่วมกับ สมัชชา อภัยสุวรรณ) มานั่งพูดคุยกับเราเป็นร้านสุดท้ายของโครงการ Charoen43 นี้

ภายในร้านมี 3 ส่วน ส่วนที่เป็นเสื้อผ้าและแฟชั่นอยู่ที่ชั้น 1 โซนแรงบันดาลใจ คือด้านหน้าของชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับจัดเวิร์กชอป จัดนิทรรศการ และโซนด้านหลังของชั้น 2 เป็นสินค้าวินเทจ เสื้อผ้ามือสอง รวมถึงถ้วยชาและภาพวาดที่สะสมที่ยิ้มชื่นชอบ

“เราชอบของวินเทจมาก อย่างไปเดินจตุจักรวังหลังก็ชอบไปซื้อของวินเทจมาใช้ เราเคยเปิดร้านวินเทจอยู่ถนนพระอาทิตย์ เปิดที่หอศิลปกรุงเทพฯ ด้วย เลยเอาความชอบในเสื้อผ้าวินเทจหรือแนวเก่า ๆ มาทำเป็นแบบใหม่ที่เราลองใส่เองแล้วชอบ”

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง
เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

นอกจากการทำเสื้อผ้าออกมาเป็นแนวของตัวเองแล้ว ทางร้านได้รวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากจาก Thai Designer ที่มีความหลากหลายเฉพาะตัวด้วย ได้แก่ Good Mixer, Ek Thongprasert, Marsi, g.a.s, Deck Me, Heart Habits, Wishulada, The one and only, Sarran และเซรามิกสำหรับแต่งบ้าน Ceramic Selected By Ekarin Y.

“เราว่าสิ่งที่เติมเต็มเจริญกรุงคือการที่แถวนี้ไม่มีค่อยมีร้านเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ไม่แมสหรือค่อนข้างยูนีก เราพยายามเลือกแบรนด์ที่ไม่แมสและเหมาะกับทุกคน ไม่เล็กมากหรือไม่โป๊ไป ราคาจับต้องได้”

เสื้อผ้าที่ไม่แมสสำหรับยิ้ม ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มลูกค้าหรือคนที่สนใจแฟชั่นวินเทจนั้นมีน้อย

“กลุ่มลูกค้ามีเยอะ เพราะคนเราไม่ได้ตัวเล็กผมยาวตามพิมพ์นิยมเสียหมด คนที่ชอบงาน One and Only ก็เยอะ อย่างเราที่ใช้กระเป๋าเก่า เพราะเราเลือกจากความรู้สึกที่เมื่อเจอลายผ้าหัวใจจะเต้นแรง แค่เจอของที่ใช่มันก็คือใช่เลย”

เสกตึกแถวเก่าเป็นคาเฟ่ในห้องอบขนม บาร์ยุค 90 ของคนดนตรี คลับของนักปั่น และหลายพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์แห่งเจริญกรุง

คุยเรื่องใจเต้นแรงก็ทำให้เราและยิ้มนึกถึง คุณป้าไอริส แอปเฟล (Iris Apfel) แฟชั่นไอคอนของโลกที่อายุก็ทำอะไรเธอไม่ได้ เธอชัดเจนในความชื่นชอบเรื่องแฟชั่น ไม่ได้สนใจว่าสิ่งนั้นต้องแพงหรือเป็นของแบรนด์ชั้นนำ แต่แฟชั่นคือการสวมใส่ด้วยความรู้สึกต่างหากเป็นสำคัญที่สุด

ชื่นชมเสื้อผ้าที่ชั้นแรกกันจนพอใจก่อนจะเดินขึ้นไปยังชั้น 2 ถัดจากบันไดเป็นตู้ไม้สีเขียวลายวินเทจที่ตกแต่งด้วยกระเป๋าทรงน่ารัก ด้านหน้าตู้มีโซฟาตัวยาวที่มีความเข้าคู่กับตู้กระจกอย่างดี เราหันไปเห็นราวเสื้อผ้าวินเทจของยิ้มก็อดใจไม่ไหว ต้องขอเข้าไปหยิบจับเสียหน่อย

“ตรงนี้เราจัดไว้ให้เป็นเป็นตู้มุมน่ารัก ๆ  อาจจะเป็นที่ให้นั่งรื้อคนชอบเสื้อผ้าวินเทจ มาลองเสื้อผ้าและเลือกซื้อกัน น่าสนุกดี เป็นพื้นที่สำหรับคนชอบวินเทจจริง ๆ”

C43 : Fashion and Inspiration Space

วัน-เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 12.00 -19.00 น.

Facebook : www.facebook.com/charoen43

การรวมตัวของร้านทั้ง 6 กลายเป็นก้อนพลังงานใหม่อันหลากหลายที่กำลังแต่งแต้มสีสันให้กับย่านเจริญกรุง ระหว่างที่ร้านแผ่นเสียงและร้านขนมเบเกอรี่อีกแห่งใกล้จะเปิดตัว แสงไฟดวงน้อยของที่นี่จะค่อย ๆ เติบโตเป็นแสงไฟดวงใหญ่ นำพาคนหลากหลายประเภทมาอยู่ร่วมกัน และสร้างความคึกคักให้กับถนนเส้นนี้อีกครั้ง Charoen43 Art & Eatery สถานที่นัดพบแห่งใหม่ย่านเจริญกรุงกำลังรอคอยทุกคน ไปแต่งเติมความสนุกและความคึกคักให้กับย่านเก่านี้ไปด้วยกัน

Charoen43 Art & Eatery สถานที่นัดพบแห่งใหม่ย่านเจริญกรุง พร้อมพาทุกคนไปแต่งเติมความสนุกให้กับย่านเก่านี้ไปด้วยกันในงาน Bangkok Design Week 2022 นำโดยร้าน C43 : Fashion and Inspiration Space ที่เปิดพื้นที่ชั้น 2 ให้กับนิทรรศการผลงานการออกแบบของคุณเอก ทองประเสริฐ ตามด้วยร้าน Chutie is Baking กับนิทรรศการ “What’s The Hex” 6 ผลงานครีเอทีฟอาร์ตของนักศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต ศิลปากร และร้านสุดท้ายที่ร่วมสนุกกับเทศกาลนี้คือร้าน Madi BKK ที่เปิดชั้น 2 ให้กับนิทรรศการ TRANSLUCENT คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มตั้งแต่ 5 – 13 กุมภาพันธ์นี้

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน