ผมสืบเท้าก้าวเข้าสู่ซอยเจริญกรุง 103 ทางเดินแคบๆ สะอาดและร่มรื่น พาผมลัดเลาะผ่านบ้านหลังเล็กหลังน้อยที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมคลอง เพื่อไปพบ พี่นา-จิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1 

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

“เราอยากอนุรักษ์ความเป็นอยู่ตามวิถีชุมชนของพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีอัตลักษณ์ เรามีทั้งมัสยิด โรงเรียน บ้านโบราณอายุนับร้อยปี มีเมนูอาหารดั้งเดิมที่ปรุงจากสูตรเก่าแก่ของแต่ละครอบครัว เวลาคนชมบ้านว่าสวย คนอยู่ก็ดีใจ และอยากรักษาไว้”

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

วันนี้ผมมีนัดกับพี่นาแบบเต็มวันเพื่อผู้อ่านไปทำความรู้จักกับชุมชนประวัติศาสตร์แห่งนี้ ลองเดินตามเราไปร่วมกันแกะรอยบ้านโบราณหลังสวยว่าเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใด 

ชุมชนประวัติศาสตร์

“ชุมชนเรามีมัสยิดเก่าแก่ที่เราภูมิใจ ตั้งแต่ครั้งที่บรรพบุรุษย้ายถิ่นฐานมาจากปัตตานี” พี่นากล่าวขึ้นเมื่อผมหยุดชื่นชมความงามของมัสยิดอัลอะติ๊ก ที่เก่าแก่สุดในย่านเจริญกรุง และตั้งตระหง่านเป็นศูนย์รวมใจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2352

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

เมื่อครั้งสงครามเก้าทัพที่ไทยรบกับพม่า ในคราวสงครามทัพที่หนึ่ง พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพหลวงลงมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ของไทย ไล่ตั้งแต่ระนองไปจนถึงนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จนำทัพเรือไปตีพม่าที่นครศรีธรรมราช เมื่อชนะแล้ว ได้เสด็จต่อไปยังหัวเมืองอื่นๆ ทางภาคใต้ เช่น ปัตตานี เพื่อทรงนำชาวไทยมุสลิมกลับมายังกรุงเทพฯ 

เอกสารประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า “ได้ทรงกวาดต้อนชาวเมืองปัตตานีขึ้นมายังพระนครมากถึงครึ่งหนึ่งของชาวเมืองทั้งหมด” ต่อมาชาวเมืองปัตตานีได้ตั้งถิ่นฐานกันอยู่ตามริมน้ำ ได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยไปตามคลองสายต่างๆ รวมถึงบริเวณชุมชนสวนหลวง 1 แห่งนี้

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ได้ทรงดำเนินพระราชวิเทโศบายสานสัมพันธไมตรีกับมิตรประเทศในแถบยุโรป เพื่อป้องกันการรุกรานจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งนำโดยอังกฤษและฝรั่งเศส โดยทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยที่จะกระชับความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรเดนมาร์ก บริษัทอีสต์เอเชียติก จำกัด ภายใต้การนำของ นายฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน (Mr.Hans Niels Anderson) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับการส่งออกไม้สักและไม้คุณภาพนานาชนิด โดยมีการก่อสร้างท่าเรือและโกดังเก็บสินค้าขึ้นบนถนนเจริญกรุง ไม่ไกลจากชุมชนแห่งนี้

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

ถนนเจริญกรุงได้พัฒนามาเป็นย่านการค้าสำคัญ และส่งผลให้ชุมชนสวนหลวง 1 เติบโตขึ้นตามไปด้วย เป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน เข้ามาอาศัยร่วมกับชาวไทยมุสลิม ต่างช่วยกันประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ทำประมง ชุมชนนี้จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบอาหารนานาชนิด มีสถาปัตยกรรมหลากวัฒนธรรมตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่ขนาด 15 ไร่ กลางกรุงเทพฯ โดยมีจุดเด่นคือสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดเหมือนพี่น้องครอบครัวใหญ่ เป็นเสน่ห์ของชุมชนที่ทำให้ผมกลับมาเดินเที่ยวตลาดฮาลาลทุกเดือน

แกะรอยบ้านลับ

ผมยืนใจเต้นอยู่หน้าประตูรั้วไม้ระแนงสีเขียว ต้นมะม่วงต้นใหญ่มอบเงาร่มรื่นให้กับบ้านโบราณหลังลึกลับ ที่ผมเคยมาแอบส่องอยู่หลายครั้ง ก่อนหน้านี้ได้แค่สำรวจเพียงภายนอก แต่ครั้งนีโอกาสได้เข้าไปภายในเสียที

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

“พี่นีใจดี แกไม่ว่าอะไรหรอก พี่บอกไว้แล้วว่าจะมีคนมาขอดูบ้าน” พี่นายืนยัน วินาทีต่อมา ผมก็ได้พบกับ น้านี-รัชนี สมานแก้ว ผู้อาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 40 ปี

“พื้นที่นี้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ คุณพ่อคุณแม่สามีของน้านีมีอาชีพรับซื้อตะปูเก่ามาทำความสะอาด แล้วมาตีให้สวยคืนสภาพเดิม ก่อนนำกลับไปขายใหม่ คุณพ่อได้ขายตะปูให้เจ้าของคนเดิมที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มาก่อน ทั้งคู่ก็เลยเป็นเพื่อนสนิทกัน เมื่อคุณพ่อขอสิทธิ์อาศัยต่อ เจ้าของเดิมก็ยินดีให้คุณพ่อได้สิทธิ์นั้น น้านีก็ไม่แน่ใจว่าบ้านหลังนี้สร้างสมัยรัชกาลที่เท่าไหร่ รู้แต่ว่าอายุหลายปีแล้ว อย่างน้อยก็นานกว่าอายุของน้านีแน่นอน” น้านีเล่าอย่างอารมณ์ดี 

ไม่เป็นไรครับน้านี วันนี้ผมจะขออาสาแกะรอยบ้านหลังนี้ให้เองนะครับ

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

วิธีการแกะรอยของผมเริ่มจากการถ่ายภาพส่วนต่างๆ ของบ้าน เพื่อนำไปสืบค้นจากหนังสือ 2 เล่ม คือ หนังสือ แบบแผนบ้านเรือนในสยาม โดย น.ณ ปากน้ำ และหนังสือ บ้านในกรุงเทพ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325 – 2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต พร้อมกับส่งรูปไปให้เพื่อนรุ่นน้องที่เป็นสถาปนิกอนุรักษ์ร่วมกันวิเคราะห์ และแล้วผมก็ได้ความว่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั่นแปลว่าบ้านน้านีมีอายุใกล้ 100 ปีแล้วนะครับ

จุดสังเกตที่ยืนยันคำกล่าวข้างต้นคือ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมโดยรวมนั้นค่อนข้างเรียบ ไม่มีลวดลายหรูหรา ทั้งนี้เพราะสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนั้นกำลังประสบปัญหา อันสืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตามด้วยการพังทลายของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา จนเกิดวิกฤตทางการเงินแผ่ขยายไปทั่วโลก ดังนั้นรูปแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลนี้จึงลดทอนความฟุ่มเฟือยลงไปโดยปริยาย คงไว้แต่ความเรียบ โก้ ที่ดึงดูดผมให้แวะเวียนมาแอบดูอยู่หลายครั้ง 

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

หากเริ่มแกะรอยจากภายก่อนก็จะพบว่า บ้านน้านีเป็นบ้านโครงสร้างไม้สองชั้น ยื่นหน้ามุก สีที่ใช้ทาบ้านเป็นสีเขียวเข้มและอ่อน ซึ่งเป็นสียอดนิยมในสมัยนั้น หลังคาจั่วและมีปีกนก ที่หน้าจั่วปรากฏช่องระบายอากาศเป็นทรงกลม ผสานกับลายเรขาคณิตเรียบๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้กับบ้านที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เช่นกัน 

หากเราย้อนกลับไปดูหน้าจั่วและช่องระบายอากาศของสถาปัตยกรรมยุคก่อนหน้านี้ จะพบว่าเต็มไปด้วยลายฉลุที่หรูหรากว่ามาก ช่องระบายอากาศนั้นมีความสำคัญเสมอ เพราะช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ใต้หลังคา ไม่ให้แผ่ลงมาสู่ห้องเบื้องล่างได้ 

“มิน่าล่ะ… น้านีแทบไม่เคยใช้เครื่องปรับอากาศเลย บ้านนี้อยู่แล้วเย็นจริงๆ” น้านีสนับสนุน 

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

จุดสังเกตอีกประการคือผนังไม้ภายนอกจะตีซ้อนเกล็ดเป็นแนวนอนแบบเล่นจังหวะ มีทั้งหนาสลับบาง ซึ่งมักพบเสมอตามบ้านคหบดีในเขตสาทร สีลม หรือสุขุมวิท ที่สร้างขึ้นในยุคใกล้เคียงกัน ฝ้าเพดานในบ้านเป็นกระเบื้องกระดาษ ขนาดประมาณ 60 x 60 เซนติเมตร กระเบื้องกระดาษแต่ละแผ่นจะตีทับแนวด้วยคิ้วไม้ ในสมัยนั้นถือว่าเป็นวัสดุที่ล้ำทีเดียว 

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

จุดสังเกตต่อมา คือช่องลม ช่องแสง และลูกกรงไม้ที่ประดับอยู่เหนือหน้าต่างประตูโดยรอบ ล้วนปรากฏเป็นลวดลายเรขาคณิตแบบเรียบ อันได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแนวอาร์ตเดโค ซึ่งต่างจากยุครัชกาลที่ 6 ที่จะใช้ไม้ฉลุลายอันวิจิตรพิสดารกว่ามาก สาเหตุที่จำเป็นต้องลดทอนรายละเอียดลง ก็ด้วยข้อจำกัดทางสภาพเศรษฐกิจดังที่กล่าวไป สำหรับราวบันไดนั้นก็มีลักษณะเป็นลูกกรง มีหัวเสาไม้แบบเรียบ แกะลวดลายตามแบบอาร์ตเดโคที่ลดทอนรายละเอียดลงไปด้วยเช่นกัน

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

ผมขออนุญาตน้านีซอกแซกเข้าไปชมบานประตูหน้าต่างในระยะประชิด แล้วผมก็พบว่าบานขนาดใหญ่ มีทั้งแบบบานเปิดเดี่ยวและบานเปิดคู่ มีทั้งลูกฟักไม้และลูกฟักกระจก หน้าต่างหลายบานยังคงเป็นบานกระทุ้ง และยังใช้กลอนสัณฐานกลม อย่างที่เราเรียกกันว่า ‘กลอนสตางค์’ อยู่เช่นเดิม ผมเคยพบกลอนสตางค์วางขายระเกะระกะตามร้านขายของเก่าอยู่บ้าง แต่ทุกครั้งที่เห็นวัสดุเก่าๆ ยังไม่ถูกปลดระวางเมื่อใด ผมจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจเป็นพิเศษ

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

“เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่มาอยู่ใหม่ๆ สภาพบ้านดีมากๆ เพราะเป็นบ้านไม้สัก คุณพ่อบอกว่าเป็นไม้จากห้างเอเชียติกด้วย ทุกวันนี้ตัวบ้านก็ยังเป็นแบบเดิมทั้งหมด น้านีเป็นคนรักบ้านเก่า เพราะช่วยเชื่อมเราสู่บรรยากาศที่อบอุ่นและคุ้นเคย เหมือนว่าเรายังอยู่ใกล้ๆ บรรพบุรุษ แล้วบ้านหลังนี้ก็มีแต่ความสงบ ตัดความวุ่นวายของเมืองอย่างกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด น้านีไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย”

สิ่งที่น้านียอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปนั้นมีเพียง 2 จุด ซึ่งเสื่อมอายุขัยไปตามกาลเวลา จุดแรกก็คือศาลาไม้หลังโบราณริมคลอง ที่เคยตั้งอยู่หน้าบ้านนั้น ผุพังลงจนไม่อาจซ่อมได้ แต่เจ้าของบ้านคิดว่าสักวันหนึ่งจะพยายามทำขึ้นมาใหม่ แล้วมานั่งเล่นๆ รับลมเย็นๆ กัน 

จุดที่สองคือต้นมะม่วงใหญ่อายุใกล้ร้อยปี ที่เคยแผ่กิ่งก้านสาขาคลุมบ้านแทบจะทั้งหลัง น้านีเล่าว่าเป็นมะม่วงทูลถวายพันธุ์โบราณ อาจปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ก็เป็นได้ ต้นใหญ่มากๆ เสียดายที่ล้มไป ผลมะม่วงจะออกรสมันตอนดิบแต่หวานจัดตอนสุก เนื้อจะออกสีส้มจำปา มีกลิ่นหอมมาก ที่ชื่อทูลถวายก็น่าจะเป็นเพราะหวานอร่อยจนนำไปทูลเกล้าฯ ถวายได้ แต่ยังดีที่เหลือมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ต้นโบราณที่ยังทำหน้าที่มอบความร่มรื่นให้กับบ้านหลังนี้ต่อไป และออกผลรสหวานชื่นใจปีละ 4 ครั้ง

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

หน้าบ้านน้านีมีกองกระเบื้องว่าววางเรียงไว้อยู่หลายกอง ทำให้ผมทราบว่าการบูรณะหลังคากำลังจะเริ่มขึ้น 

“กระเบื้องเก่ามากจนต้องเปลี่ยน เมื่อก่อนเปลี่ยนบ้างเป็นบางแผ่น แต่ครั้งนี้คือการซ่อมใหญ่ และเมื่อตัดสินใจจะเปลี่ยนแล้ว น้านีก็อยากได้กระเบื้องที่ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด การตามหากระเบื้องว่าวแบบนี้ไม่ง่ายเลย ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะมาก หากันอยู่นานหลายเดือน จนมาถูกใจกระเบื้องว่าวจากโรงงานที่ลำลูกกา”  น้านีเล่าให้ฟัง พร้อมชวนลูกชาย อธิพล สมานแก้ว มาร่วมวงสนทนา

“ลูกๆ น้านีก็เหมือนเด็กรุ่นใหม่ เมื่อก่อนเขาอาจไม่เข้าใจว่าทำไมแม่จะต้องอนุรักษ์บ้านเก่าไว้ ตอนแรกๆ เขาก็เคยบอกแม่ว่า รื้อเหอะ สร้างใหม่ไปเลย แต่น้านีก็คอยอธิบายให้เขาเข้าใจ แล้วเมื่อลูกเห็นว่ามีแต่คนชื่นชมบ้านของเรา เขาก็เริ่มซึมซับคุณค่าของบ้านหลังนี้ ทุกวันนี้น้านีเก็บทุกอย่าง ทั้งกลอนประตู กลอนหน้าต่าง รักษาเอาไว้อย่างเดิม พยายามไม่เปลี่ยนแปลงอะไร และคงต้องฝากลูกๆ ให้ช่วยกันดูแลต่อไป”

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

“บ้านเก่าดูแลยากครับ ยิ่งมาช่วยแม่ก็ยิ่งเรียนรู้ว่าฝีมือช่างโบราณนั้นละเอียดแตกต่างจากช่างสมัยใหม่ การจะซ่อมบำรุงก็ต้องใช้เวลาเฟ้นหาวัสดุ หากจะเลือกช่าง ก็ต้องเลือกให้ดี ปัญหาที่ผมเจอคือช่างมักจะบอกว่าซ่อมไม่ได้ แล้วแนะนำให้รื้อทำใหม่ไปเลย จึงต้องพยายามหาช่างที่มีความรู้จริง” คุณอธิพลช่วยเสริม

น้านีบอกว่าเวลามีตลาดฮาลาลในเดือนต่อๆ ไป หากใครสนใจอยากแวะมาดูบ้านก็มาได้ “อีกหน่อยน้านีอาจจะเสิร์ฟชาทานกับขนม ให้นั่งซึมซับบรรยากาศไปจิบน้ำชาไป ชาบ้านน้านีอร่อยนะ เป็นชาซีลอนแท้ หอมมาก ชงกับนมสดร้อนๆ  รับรองจะเพลินมาก แล้วมาอีกนะ” น้านีกล่าวชวน และแน่นอนว่าผมก็รับคำชวนไปแล้วเรียบร้อย

แกะรอยบ้านไม้

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

ยังมีบ้านอีกหลังในซอยเล็กข้างบ้านน้านี ที่ผมเคยแอบไปส่องอยู่เสมอเวลามาเดินเล่นที่ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 กลุ่มบ้านไม้จำนวน 4 หลังตั้งเรียงรายอยู่ในซอยแคบๆ โดยปราศจากรั้วล้อม ทุกหลังเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูง ทั้งหมดหันหน้ามาทางเดียวกัน มีกระไดไม้ทอดจากทางเดินขึ้นสู่ตัวบ้าน จุดเด่นที่สังเกตได้ชัดเจนที่สุด คือการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายงดงาม ที่ประดับอยู่บนฝาผนังบ้านบริเวณใต้หน้าต่างและใต้หลังคา มีหน้าต่างหลายบานทอดตัวเรียงกันไปตามแนวยาวของบ้าน

เมื่อผมใช้หนังสืออ้างอิงชุดเดิม ประกอบกับการวินิจฉัยของเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นสถาปนิกอนุรักษ์แล้ว เราได้ข้อสันนิษฐานว่า บ้านโบราณกลุ่มนี้เป็นบ้านตามแนวสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 สิ่งที่ยืนยันคำกล่าวข้างต้นได้ดีที่สุด คือลายฉลุไม้ที่ประดับบ้าน เพราะเป็นลายฉลุที่อ่อนช้อยหรูหรา ซึ่งเป็นไปตามพระราชนิยมในสมัยนั้น อันเป็นช่วงที่โลกยังไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพียงแต่ว่าลายฉลุทั้งหมด น่าจะยกมาประดับบนผนังบ้านในภายหลัง ไม่ได้ประดับในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่แรกสร้าง เพราะลายฉลุดังกล่าวมักใช้ประดับระหว่างเสาเรือน ไม่ได้ปิดทับลงบนผนังเรือน บานหน้าต่างเองก็ช่วยยืนยันว่าเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยมีขนาดเล็กกว่าที่พบในบ้านน้านี อีกทั้งยังเป็นทั้งบานกระทุ้งและบานเกล็ดประกอบกันด้วย

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ
แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

“ครูอยู่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่เกิด แต่ครูก็ไม่ทราบประวัติของบ้าน ความจริงไม่ได้คิดว่าบ้านของเราสวยกว่าบ้านคนอื่นหรอก ก็เป็นบ้านไม้ธรรมดาๆ แต่พอเพื่อนๆ ที่เรียนทางด้านสถาปัตย์มาเห็นเข้า ก็พากันตื่นเต้นมากๆ โดยเฉพาะการสร้างบ้านโดยไม่ใช้ตะปู ใช้เพียงคานรับกับตงเท่านั้น และยังใช้ไม้เสากลมท่อนใหญ่ที่ทำจากไม้ทั้งต้น” คุณครูผ่องศรี บุญเจริญผล เจ้าของบ้านเอ่ยปากเล่าให้ฟัง

“พอทราบว่าบ้านเรามีคุณค่าทางสถาปัตย์มากขนาดนั้น สิ่งที่ตามมาคือความพยายามดูแลบ้านหลังนี้ให้ดีที่สุด บ้านเก่าย่อมต้องมีความเสื่อมโทรมเป็นธรรมดา ที่กังวลมากคือเรื่องปลวก ส่วนที่เป็นไม้สักจะไม่เป็นปัญหา และคงสภาพเดิมดีมาก ส่วนที่เป็นไม้อื่นๆ อย่างฝาบ้านที่เป็นไม้ยาง ก็ต้องซื้อน้ำยามาทาประจำ และพยายามหาวิธีกำจัดปลวก” คุณครูกล่าวทิ้งท้าย

ผมรู้สึกขอบคุณพี่นาและชาวชุมชนสวนหลวง 1 เป็นอย่างยิ่ง ความงามของบ้านโบราณที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็ก ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาปัตยกรรม แต่เป็นจิตใจของคนที่รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้

แกะรอยบ้านไม้เก่าในซอยเจริญกรุง 103 ชุมชนประวัติศาสตร์ที่อพยพมาจากปัตตานี, บ้านไม้โบราณ

ขอขอบพระคุณ

คุณจิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1 และผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ทุกท่าน

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้ช่วยสืบค้นข้อมูลทางสถาปัตยกรรมของบ้านโบราณทั้งสองหลัง

เอกสารอ้างอิง

  • พัฒนาการของบางกอกฝั่งตะวันตก พ.ศ. 2325 – 2369. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย ฉัตราภรณ์ พิรุณรัตน์
  • แบบแผนบ้านเรือนในสยาม โดย น.ณ ปากน้ำ 
  • หนังสือบ้านในกรุงเทพ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325 – 2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ