26 กันยายน 2020
19 K

ยิ่งผมเดินลึกเข้าไปในซอยเจริญกรุง 103 เรื่อยๆ ก็ยิ่งได้กลิ่นหอมชวนหิวจากอาหารสารพัดชนิด

ทั้งกลิ่นแกงกุรุหม่า แกงมัสมั่น ข้าวหมกแพะ เนื้อย่าง โรตี มะตะบะ ฯลฯ จนผมเผลอกลืนน้ำลายไปหลายเอื๊อก เสียงพูดคุยสรวลเสเฮฮาจากพ่อค้าแม่ขายและขาช้อปหลากวัยหลายรุ่นดังขึ้นอยู่โดยรอบ พวกเขามีนัดรวมตัวกันเดือนละครั้ง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์แรกของเดือนในกิจกรรมที่เรียกว่าตลาดฮาลาลหรือตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ซึ่งริเริ่มขึ้นโดยพี่ๆ น้องๆ ผู้อาศัยอยู่ในชุมชนสวนหลวง 1 โดยผมเองก็เป็นขาประจำของตลาดแห่งนี้เช่นกัน

วันนี้ผมจะตามไปร่วมกันสืบตำนานอาหารสูตรเด็ดที่เป็น Heritage Menu ของชุมชนชาวมุสลิม เมื่ออิ่มตาอิ่มท้อง รับรองว่าจะกลับบ้านแบบอิ่มใจแน่ๆ 

แกะรอยกิน 

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

“ตำราอาหารเป็นภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม บรรพบุรุษของเราอุตส่าห์นำขึ้นเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วย ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สักวันหนึ่งก็จะสูญหาย ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร แต่อุปกรณ์การครัว วิถีการกิน รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิต ก็จะสูญหายไปด้วย กลายเป็นเพียงของเก่าในกรุ เราน่าจะรื้อฟื้นตำนานเหล่านี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ต่อยอดให้กลายเป็นความภูมิใจ และเป็นวิชาชีพที่ลูกหลานจะนำไปใช้เลี้ยงตัวได้ในอนาคต” พี่นา-จิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1 เอ่ย 

วินาทีนี้อาหารคาวหวานหลากเมนูกำลังรอผมอยู่แล้ว งั้นลุยเลยครับพี่นา ผมพร้อมเสียยิ่งกว่าพร้อม

01

ปลาบูดู

“ปลาบูดูต้องทำจากปลายี่สกถึงจะอร่อย ให้นำปลายี่สกทั้งตัวไปคลุกกับเกลือและข้าวคั่ว หมักลงในโอ่ง ทิ้งไว้นานเป็นเดือน พอได้ที่แล้ว เราก็เอามาล้างข้าวคั่วออก นำปลาไปทอด แกะก้างออก แล้วซุยเนื้อปลาให้ยุ่ย ชิมรสเสียก่อน ถ้ายังเปรี้ยวไม่พอ ก็บีบมะนาวหรือส้มมะขามเพิ่มจนได้รส เวลากินก็เอามาคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ ทานกับผักสด บางทีก็นำมาทำหลน หรือจะทานกับข้าวไข่เจียวก็ได้นะ” ป้าระเบียบ สมานแก้ว อธิบายวิธีทำอาหารผัดส่งกลิ่นหอมเปรี้ยวๆ ในร้านของเธอ

“ปลาบูดูน่าจะมาจากมุสลิมยะวาหรือมลายู ปู่ย่าตายายทานกันมานานแล้ว แต่อย่าถามป้านะว่านานแค่ไหน ป้าไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าทานแล้วจะสะด๊ะฮ์ สะด๊ะฮ์ แปลว่าอร้อยอร่อยจ้ะ” ว่าแล้วป้าระเบียบก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี แล้วผมก็พบว่าสะด๊ะฮ์ สะด๊ะฮ์ จริงๆ เมื่อผมได้ลองทานกับไข่เจียวโปะข้าวสวยร้อนๆ

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

02

ขนมบูตู

ขนมสีสวยรอผมอยู่แล้วที่ร้านของ สรายุทธ และ เนตรชนก จารุพันธุ์ เมื่อไปถึงก็พบว่าเพิ่งทำเสร็จร้อนๆ ออกมาจากหม้อนึ่งพอดี แป้งร่วนนุ่มๆ ที่ห่อหุ้มความหอมหวานของน้ำตาลมะพร้าว ทำให้ผมหลับตาพริ้ม

“ขนมบูตูสูตรนี้สืบทอดมาจากคุณย่า คุณย่ารับมาจากคุณทวดซึ่งมาจากอินโดนีเซีย เรามักจะทานขนมบูตูกับกาแฟร้อนๆ หลังละหมาดตอนเช้า” พี่นก เนตรชนก เล่าให้ฟัง

พี่นกฝึกฝีมือกับคุณย่ามาตั้งแต่เล็กๆ โดยมีคุณแม่ร่วมถ่ายทอดวิชาด้วย แต่ก็วางมือไปนานหลายปีหลังจากคุณย่าเสีย จนเมื่อมีโครงการตลาดฮาลาล จึงได้ฤกษ์กลับมาลงมือใหม่อีกครั้ง โดยยังยึดสูตรเดิมอย่างเหนียวแน่น

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

“ขนมบูตูทำจากข้าวสารที่เราใช้หุงนี่แหละ แต่วิธีบดจะซับซ้อนหน่อย เริ่มจากต้องแช่ข้าวก่อน แล้วนำมาตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำไปบด รุ่นคุณย่าก็จะบดบนแท่นหินแกรนิตทรงสี่เหลี่ยม เหมือนบดสมุนไพรเลย บดแล้วร่อน ร่อนแล้วบดใหม่ ใช้เวลานานกว่าจะได้แป้งเนื้อละเอียด นำแป้งมาผสมใบเตย หรืออัญชันให้เกิดสี สอดไส้ที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าว จากนั้นก็นำส่วนผสมมานึ่งจนสุก คุณย่าจะนึ่งทีละชิ้น ตอนนี้เราก็ยังนึ่งทีละชิ้นเช่นเดิม”

“ขนมบูตูเป็นขนมประจำชุมชนมาตั้งแต่แรกเริ่ม กรรมวิธีในการสืบทอดใช้การจดจำ ไม่ได้บันทึกไว้เป็นตำรา พอทำเสร็จแล้วก็นำมาแบ่งปันกันในชุมชนจนได้รับความนิยม เรียกได้ว่าชุมชนคือผู้อนุมัติว่าขนมนี่อร่อยแล้วหรือยัง ถ้าคนในชุมชนชื่นชอบ ก็ถือว่าสอบผ่าน พอเราสองคนมาสืบทอดต่อ แล้วคนในชุมชนบอกว่า โอ้โห นี่รสเดิมแบบย่าทำเลย เราก็รู้สึกว่าเราสอบผ่านแล้วเช่นกัน” พี่พันธุ์ สรายุธ เอ่ยเสริม

ส่วนผมชิมแล้ว ก็ให้ผ่านแบบเต็มร้อยเช่นกันครับ 

03

ขนมซูยี

ขนมสีขาวที่ดูคล้ายพุดดิ้งบรรจุอยู่ในถ้วยใบน้อย เมื่อเปิดออกดูจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของเครื่องเทศ ขนมซูยีนั้นเป็นขนมหวานที่ให้พลังงาน และนิยมทานกันในช่วงเดือนถือบวชหรือรอมฎอน ผู้ที่เล่าให้ผมฟังถึงตำนานขนมซูยีคือ น้องดา-ญาดา ศรีนาคาร์

“สูตรนี้คุณย่าเป็นคนสอน ตอนเด็กๆ ได้ทานฝีมือคุณย่าแล้วติดใจ เลยฝึกทำกับคุณย่า ส่วนประกอบหลักของซูยีคือแป้งซูยี ซึ่งเป็นแป้งเฉพาะของขนมชนิดนี้ เราเอาแป้งมาผัดกับนมสดแล้วเติมรสหวานด้วยนมข้น ผัดไปกวนไปจนแป้งสุก แล้วค่อยใส่ลูกเกดและเมล็ดอัลมอนด์ลงไป สูตรของที่บ้านจะเติมเม็ดกระวานลงไปด้วย โดยนำเม็ดกระวานมาตำจนละเอียด แล้วผสมไปพร้อมกับแป้งซูยี วิธีนี้จะทำให้ซูยีหอมมากขึ้น เวลาทานก็ขอแนะนำว่าให้เอาไปแช่เย็นเสียก่อน เนื้อซูยีจะกอดกัน แล้วจะนุ่มๆ เย็นๆ หนึบๆ คล้ายพุดดิ้งค่ะ”

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

นอกจากซูยีแล้ว ร้านนี้ยังมีขนมโบราณหาทานยากอย่างขนมฝักบัวด้วย ซึ่งน้องดาเล่าว่าเป็นสูตรคุณย่าอีกเช่นกัน โดยจะใช้แป้งข้าวเจ้าผสมกับน้ำตาลปี๊บ กะทิ แล้วก็กล้วยหอม วิธีการผสมคือการขยำทุกอย่างรวมกันและนวดไปเรื่อยๆ จนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็พักไว้จนกว่าแป้งจะขึ้น ส่วนกระทะที่ใช้ทอดนั้น เป็นกระทะพิเศษสำหรับใช้ทอดขนมชนิดนี้ เป็นกระทะโบราณเรียกว่ากระทะใบบัว ซึ่งจะทำให้ขนมทรงกลมเกิดรอยโป่งนูนอยู่ตรงกลาง เวลาทานก็จะนิ่มๆ หนุบๆ ส่วนวงรัศมีรอบๆ จะให้ความกรอบ ที่สำคัญคือ เราจะได้กลิ่นหอมชื่นใจของกล้วยหอม

ก่อนจะเดินต่อไป ผมหันไปเห็นขนมแป้งจี่ที่กำลังส่งเสียงฉ่าจากกระทะเหล็กที่ตั้งบนเตาถ่าน พี่ไก่-ศุภารัตน์ ศรมณี ช่วยไขปริศนาเมนูนี้ว่าเป็นสูตรจากคุณแม่ ซึ่งทำมาน่าจะเกิน 50 ปีแล้ว 

“ที่ร้านจะใช้เตาถ่าน เพราะจะหอมกว่า แป้งจี่ของพี่จะใส่นมสดและไข่ลงไปด้วย ทำให้เนื้อนุ่มนวลขึ้น นอกนั้นก็มีน้ำตาล มีแป้งข้าวเหนียว จะเป็นข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำก็แล้วแต่สีที่ต้องการ แล้วเราใส่มะพร้าวขูดลงไปในส่วนผสมด้วย”

งั้นรบกวนจัดมาทั้งขนมซูยี ขนมฝักบัว และแป้งจี่พร้อมกันเลยครับ ผมฟังจนเคลิ้มไปหมดแล้ว

04

ขนมครองแครงกรอบ

ครองแครงกรอบสูตรนี้ พี่ภรณ์-สุรีภรณ์ พิณประดิษฐ บอกว่าได้รับสืบทอดมาจากคุณแม่ และจุดเด่นคือเป็นครองแครงกรอบที่กรอบจริงๆ ไม่ใช่ครองแครงเหนียวหนุบหนับติดฟัน 

“สูตรของแม่พี่ต้องนวดแป้งด้วยกะทิ แล้วก็ใส่ไข่ด้วย เราจะไม่นวดด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำมันเด็ดขาด นวดเสร็จแล้วก็หมักทิ้งเอาไว้อีกสองสามชั่วโมงให้แป้งขึ้น ก่อนเอามาคลุกกับแป้งมันซ้ำ แล้วก็หมักทิ้งไว้ รอจนแป้งเซ็ตตัว จึงนำมาทอด จากนั้นก็ฉาบ” 

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

ทีนี้มาถึงช่วงสำคัญแล้วนะครับว่าฉาบอย่างไรให้กรอบ “ส่วนมากเขาจะใช้แบะแซ ซึ่งทำให้เหนียวติดฟัน แล้วกลายเป็นครองแครงเหนียวไปแทน แต่สูตรพี่ต้องใช้น้ำตาลแท้เท่านั้น ไม่ใช้อย่างอื่น น้ำตาลแท้จะฉาบได้ทั่วและไม่คืนตัว จบด้วยการโรยด้วยพริกไทย แล้วต้องโรยทั้งพริกไทยบดและพริกไทยเม็ด พริกไทยบดจะทำให้รสชาติและความหอมของพริกไทยกระจายไปทั่ว ส่วนพริกไทยเม็ดทำให้กรุบและรสชาติน่าตื่นเต้น”

โอ้โห กรอบจริงๆ ด้วยครับ ผมหยุดไม่ได้แล้ว…ช่วยด้วย !!!

05

ขนมหัวเราะ

ขนมชื่ออารมณ์ดีชนิดนี้ พี่มาเรียม-มาเรียม ศรีนาคาร์ เป็นผู้สืบทอดมาจากคุณแม่ และเป็นขนมสายพันธุ์พิเศษ ที่ผสานเอาความหนึบของโดนัทและความกรุบของคุกกี้มารวมไว้ด้วยกัน สาเหตุที่เรียกว่าขนมหัวเราะ ก็เพราะรอยแยกที่ปรากฏอยู่บนขนมนั้นช่างเหมือนคนกำลังหัวเราะเสียจริงๆ

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

“หลักการสำคัญคือแป้งต้องร่อน ไม่ชื้น ไม่เช่นนั้นจะไม่กอดตัวเป็นก้อน ไข่ต้องใช้ไข่สด ส่วนเนยก็ต้องละลายแล้วถึงนำมาผสมแป้งให้ทั่ว ใส่น้ำตาลพอเหมาะ อย่าให้หวานไป เพราะแป้งเองก็มีความหวานอยู่แล้ว การทอดนั้นสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เกิดเป็นรอยแตกเหมือนคนกำลังหัวเราะ ต้องใช้ไฟปานกลาง และใช้เวลาทอดนานหน่อย จึงจะหัวเราะออกมาพอดี ถ้าจะทานให้ครบสูตรดั้งเดิมก็ควรจะทานกับชานมร้อนๆ”

ความจริงทานเปล่าๆ ก็อร่อยแล้วล่ะครับ ว่าแล้วผมก็เหลือบมองถุงขนมหัวเราะที่ว่างเปล่าในฝ่ามือ หลังจากที่ผมเพิ่งจัดการชิ้นสุดท้ายไปเมื่อวินาทีที่แล้ว

06

ข้าวยำ

หากไปถามชาวชุมชนสวนหลวง 1 ว่าข้าวยำร้านไหนเด็ด ทุกคนจะผายมือไปที่ร้านของ ป้าอ้อน-ฉะอ้อน บูชาวงศ์ เพราะน้ำปรุงที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และเป็นสูตรดั้งเดิมที่ป้าอ้อนรับต่อมาจากคุณป้า 

“น้ำปรุงสูตรของป้าต้องใช้ทั้งหัวปลาอินทรีกับปลาทูเค็ม ทุบตะไคร้ใส่ลงไป ใส่ข่า ใส่ใบมะกรูด ใส่น้ำตาล ทั้งหมดลงไปรวมอยู่หม้อเดียวกัน แล้วก็เคี่ยวไปเรื่อยๆ ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ เคี่ยวไปเรื่อยๆ ถึงจะได้น้ำปรุงรสอร่อย”

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

ที่สำคัญ ผักหลายชนิดไม่ว่าตะไคร้ ถั่วงอก หรือดอกอัญชัน ที่เป็นส่วนประกอบของข้าวยำนั้น มาจากสวนน้อยๆ หลังบ้านป้าอ้อนนี่เอง 

“ข้าวยำเป็นอาหารที่คนใต้กินกันมานานแล้ว เวลาทานข้าวยำคือต้องยำรวมกัน ต้องใส่ผักทุกชนิดคลุกไปกับข้าวสวย แล้วก็คลุกรวมกับน้ำปรุงอีกครั้ง ทานพร้อมๆ กันไปถึงจะอร่อย”

ไม่ใช่อร่อยอย่างเดียวนะครับ เมนูนี้ได้สุขภาพด้วย เพราะเป็นอาหารที่คลีนมากๆ เลยครับ

07

ยำทวาย

พี่จอย-สลักจิต ผดุงคำ บอกผมว่ายำทวายสูตรนี้มาจากมะหรือคุณแม่ สันนิษฐานว่าได้รับสูตรต่อมาจากเพื่อนบ้านชาวพม่าที่เข้ามาอาศัยในชุมชนนี้เมื่อนานมาแล้ว และเป็นสูตรที่พี่จอยต้องทดลองทำอยู่นานกว่า 6 เดือน มะจึงอนุมัติว่าผ่าน

“คนโบราณนี่แม่นจริงๆ เขาชิมแล้วรู้เลยว่าอะไรขาดอะไรเกิน เวลามะบอกให้เพิ่มรสนั้นขึ้นอีกนิด รสนี้อีกหน่อย คำว่านิดกับหน่อยเนี่ยทำเอาพี่แทบถอดใจ เพราะกะยากมาก กว่ามือเราจะแม่นเท่าเขา” พี่จอยเล่าพร้อมรอยยิ้ม แต่ผลพวงจากความอุตสาหะในวันนั้นได้ส่งผลแล้วในวันนี้ เพราะยำทวายกลายเป็นหนึ่งในเมนูฮิตของตลาดไปแล้ว

“ยำทวายเป็นงานละเอียด อย่างหั่นผักบุ้งนี่ ไม่ใช่ซอยง่ายๆ เลยนะ ต้องฝานให้บางเฉียบ และหั่นเป็นเส้นริ้วๆ กว่าจะหั่นเสร็จก็สักสามชั่วโมง นี่ขนาดช่วยกันสองคนนะ”

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

ความอร่อยของยำทวายมาจากน้ำปรุงเข้มข้น รสจัด ที่ช่วยเพิ่มรสให้กับความจืดของผักได้เป็นอย่างดี น้ำปรุงทำจากถั่วบดจำนวนมาก นำมาเคี่ยวกับน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ แล้วโรยเกลือปรุงรสอีกนิดหน่อย การเคี่ยวต้องใช้เวลานับชั่วโมงอีกเช่นกัน เพื่อให้ส่วนผสมแตกมัน ผักที่ทานร่วมกับน้ำปรุงรสเด็ดนี้ ประกอบด้วยผักบุ้ง หัวปลี มะเขือยาว ถั่วฝักยาว และพริกชี้ฟ้า และก่อนทานก็ต้องโรยงาขาวคั่วสักนิด รับรองจะติดใจ

งานละเอียดพิถีพิถันเช่นนี้ สมควรแล้วที่จะเป็นอาหารเด็ดอีกเมนูของชุมชน

08

รอยะ

สิ่งที่สะดุดตาที่สุดเมื่อแวะมาที่แผงรอยะของ ป้าฝัก-สุนี ศรีสุวรรณ คืออุปกรณ์ครับ ไม้บดที่เป็นเอกลักษณ์นั้นทำจากรากไผ่ ทรงโค้ง ปลายทู่ ขนาดเหมาะมือ เพื่อจะใช้บดส่วนผสมให้ละเอียดและถึงรส ส่วนภาชนะที่ใช้ปรุงรอยะนั้นก็ควรได้รับรางวัลอุปกรณ์ดีเด่นเช่นกัน เพราะป้าเอาโอ่งดินเผามาเลื่อยออก แล้วเอาแต่ก้นโอ่งมาใช้เป็นอ่างปรุงรอยะ อย่างอ่างที่ใช้อยู่นี้มีอายุกว่า 50 ปีแล้ว

รอยะของป้าฝักมีคนต่อแถวแน่นตลอดเวลา และทุกๆ ออร์เดอร์นั้น ป้าฝักจะลงมือทำอย่างตั้งใจ

“ป้าได้สูตรรอยะมาจากแม่ ส่วนประกอบก็มีกะปิ ต้องเอากะปิดีมาปิ้งให้หอม อย่าอบเตาอบนะ ต้องปิ้งเตาถ่านเท่านั้น นอกจากกะปิก็มีน้ำตาลปี๊บ เกลือเม็ด มันกุ้ง มะขามเปียกต้องเอามาต้มให้สุกก่อน เวลาทานจะได้ไม่ปวดท้อง”

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

ผักที่ใส่มี 5 ชนิด ได้แก่ มะละกอดิบ มันเทศ แครอท แตงกวา และมันแกว ทั้งหมดนี้เอามาฝานเป็นแผ่นบางๆ หากไม่ครบทั้ง 5 ชนิดไม่ถือว่าเป็นรอยะแท้ เมื่อก่อนจะใส่ลูกยอกับกล้วยตานีดิบลงไปด้วย “แต่คนยุคใหม่ทานกันไม่เป็น ป้าก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย” ป้าฝักเล่าถึงรอยะเวอร์ชัน 4.0 

ที่สำคัญ เราได้ลองสืบค้นมาแล้วแต่ยังไม่เคยพบว่ามีรอยะต้นฉบับเช่นนี้ขายที่ไหน ป้าฝักจึงอาจเป็นมือวางอันดับหนึ่งรอยะเพียงคนเดียวในประเทศไทยก็เป็นได้

ถ้าอย่างนั้นผมต้องเบิ้ลรอยะอีกกระทงแล้วล่ะครับ

09

โรตีโรย

รสจัดจี๊ดจ๊าดของรอยะทำให้ผมอยากหาอะไรหวานๆ ทานเสียหน่อย พี่นาเลยชวนไปที่ร้านโรตีโรยที่มี น้องมิ้นต์-ชมาพร วิศาลวรรณ์ กำลังโรยแป้งลงบนกระทะเหล็ก ระหว่างที่น้องมิ้นต์กำลังสาธิต ผมเลยชวนพี่นามาเป็นผู้ไขปริศนาเมนูนี้

“โรตีโรยมาจากชวา ส่วนประกอบสำคัญคือแป้งสาลี ไข่ นม และเกลือ นำมาตีรวมกันจนได้เนื้อละเอียด เมื่อก่อนเราจะใช้กระป๋องนมข้นเจาะรูเพื่อใช้โรยแป้ง ไม่ได้ใช้อุปกรณ์อย่างทีเห็นอยู่”

9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103
9 อาหารมุสลิม เก่าแก่ไม่ควรพลาด ในตลาดฮาลาลเจริญกรุง 103

โรตีโรยเป็นเมนูที่เด็กๆ ชอบ เพราะจะได้ลองหัดโรยให้เป็นรูปต่างๆ ถือเป็นความสนุกในวัยเด็ก เมื่อก่อนจะทานกับแกงที่ทำจากถั่ว แต่ปัจจุบันนี้นำมาทานกับนมข้นหวาน และมักทานกันในช่วงเดือนถือบวชหรือเดือนรอมฎอน เพราะให้พลังงานและอิ่มท้อง การโรยต้องอาศัยทักษะพอสมควร จึงจะได้แผ่นตาข่ายลายสวย ที่มีเส้นแป้งบางเฉียบกระจายไปทั่ว และได้ขนาดที่พอเหมาะ เมื่อน้องมิ้นต์ทำเสร็จแล้ว ผมก็ไม่รีรอที่จะชิมโรตีโรยเป็นเมนูปิดท้ายในวันนี้

ผมกล่าวอำลาพี่นาด้วยความขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่กรุณาสละเวลามาพาผมตระเวนไปทั่วชุมชนสวนหลวง 1 เพื่อรับฟังตำนานอันน่าตื่นใจของอาหารจานอร่อย ที่ทุกคนตั้งใจรักษาสูตรเด็ดของครอบครัวไว้ไม่ให้สูญหาย ตลาดเล็กๆ แห่งนี้ช่วยอนุรักษ์วิถีชุมชนดั้งเดิมไว้ให้คงอยู่ พลังความรักและสามัคคีของคนทั้งชุมชนเป็นเสน่ห์ที่สัมผัสได้ และผมก็สัญญากับพี่นาว่าผมจะกลับมาอีกเหมือนที่ผมเคยปฏิบัติมา เสาร์อาทิตย์ต้นเดือนหน้า เรามีนัดกันที่ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 นะครับ

ส่งท้ายก่อนสลายตัว : ตลาดฮาลาล หรือตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 มีประจำทุกวันเสาร์- อาทิตย์สัปดาห์แรกของทุกเดือน โดยจะมีขึ้นอีกในวันที่ดังต่อไปนี้ 

  • 3 และ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563
  • 31 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
  • 5 และ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103

ขอขอบคุณคุณจิตรลัดดา แสงน้อยอ่อน ประธานตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 ชุมชนสวนหลวง 1 และผู้ร่วมให้สัมภาษณ์ทุกท่าน

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ