ในวันอากาศดี อุณหภูมิหลักเลขสอง ลมพัดเอื่อยๆ พอให้เย็นสดชื่น เรามีนัดเยี่ยมบ้าน แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์ เจ้าของ Nakornsang studio ช่างไม้ผู้เปลี่ยนความหลงใหลเป็นงานอดิเรก และจริงจังขึ้นขนาดที่กล่าวลางานประจำ มาทำบ้านเป็นสตูดิโอทำงานไม้เต็มตัว

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

“กินข้าวมาหรือยังครับ มีกับข้าวนะ หรือถ้าจะเอาจานช้อนก็ได้ เดี๋ยวผมไปหยิบให้”

ชายเจ้าของบ้านเอ่ยทักทายเราด้วย ท่าทีสบายๆ ดวงหน้าแจ่มใส ก่อนรีบไปหยิบน้ำใบเตยมาต้อนรับ

ไม่นาน-เด็กหญิงในชุดลายดอกสีเหลืองสวยตัดเย็บโดยฝีมือแม่ ก็รีบวิ่งตามออกมาชวนเราเข้าบ้านไปดูภาพที่เธอวาดระบายสีไว้ เจ้าบ้านตัวน้อยพาเราเดินดุ่มไปดูมุมโปรดหลังผนังสีขาวเนียน ซึ่งติดม้วนกระดาษให้เธอสนุกกับจินตนาการไร้ขอบเขต (และถ้าจะลามออกนอกแผ่นกระดาษคุณพ่อบอกว่ายินดี)

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

ระหว่างก้าวเท้า เรากวาดสายตาสำรวจรอบๆ ภายในพื้นที่ขนาดอบอุ่นสำหรับ 3 คน จัดวางเครื่องเรือนอย่างเป็นระเบียบ แต่ละชิ้นล้วนเป็นของที่แอ็คทำขึ้น ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ ตู้ โคมไฟ บันได ฉากกั้น เอาเป็นว่าเห็นไม้ตรงไหน ฝีมือเขาทั้งหมด ส่วนของแต่งบ้านมีเพียงหิน ใบไม้ ต้นไม้ สร้างสรรค์ความงามโดยธรรมชาติและกาลเวลา

ที่น่ารักจนเผลอยิ้มกว้าง คือพวกงานศิลปะที่เห็นเป็นฝีมือน้อง ลินิน นครสังข์ ลูกสาว และ หนึ่ง-ชนานัน กุลจันทร์ ภรรยา ซึ่งเขานำไปออกแบบ ครอปตัด จัดวางใหม่ แล้วนำมาใส่กรอบประดับบ้าน

เมื่อจิตกรน้อยเผลอ เราได้จังหวะแอบย่องมาคุยกับแอ็ค ถึงเรื่องราวธรรมดาเป็นพิเศษที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้

พบว่านี่คือชีวิตและความสุขแสนเรียบง่ายจากมุมที่มองเห็นได้ไม่ไกลตัว

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

ช่างไม้

แอ็คเติบโตในบ้านหลังเดิมของครอบครัว เขาเป็นอดีตกราฟิกดีไซน์เนอร์ ผู้จดจ้องทำงาน Motion Graphic หน้าคอมฯ ทั้งที่ทำงานและบ้านนับ 10 ปี นั่นเป็นเหตุผลมากพอให้นักออกแบบเริ่มคิดถึงเส้นทางอื่นในชีวิต

จากคนที่ไม่เคยจับงานไม้ ไม่เคยคิดถึงภาพที่ตัวเองจะกลายมาเป็นช่างไม้ เมื่อได้เห็นงานของ จอร์จ นากาชิม่า (George Nakashima) และ เจมส์ ครีนอฟ (James Krenov) ก็ตรึงใจจนสลัดไม่ออก

“งานเขาเป็นทั้งของใช้ ทั้งเครื่องเรือน เป็นงานศิลปะด้วย และยังเก็บเซนส์ของธรรมชาติไว้สูงมากซึ่งเชื่อมโยงกับมนุษย์ได้โดยตรง มันกระตุกใจมนุษย์ได้ไว ตอนนั้นแค่เห็นงานภาพแบนๆ ในจอคอมฯ เรารู้สึกว่าอยากอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น แต่พอเข้าไปดูราคาแล้ว เก้าอี้ตัวละสามแสนกว่า เราก็คิด แก่แล้วจะมีปัญญาซื้อไหม รอซื้อตอนนั้นไม่ไหว วัยนี้ก็ซื้อไม่ไหว อาจจะได้เก้าอี้ตัวเดียวไม่ได้บ้าน มีทางเดียวคือสร้างขึ้นมาเอง” เขาเริ่มต้นเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

ประจวบเหมาะกับบ้านรุ่นพี่กำลังรีโนเวตบ้าน เขาได้โอกาสไปพบปะช่างไม้ผู้มาพร้อมเครื่องมือน้อยชิ้น และวิธีการซอยไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบขึ้นโครงอย่างรวดเร็วด้วยตะปูลมและปิดทับด้วยวีเนียร์

“พอเราเห็นทั้งกระบวนการก็รู้สึกว่า เฮ้ย จังหวะมันเร็วไปหน่อย ของที่มันต้องอยู่กับชีวิตคนไปช่วงเวลาหนึ่ง เนี้ยบไม่เนี้ยบนี่อีกเรื่องนะ ตอนนั้นโชคดีที่เพื่อนแนะนำให้รู้จัก อาจารย์พิษณุ นำศิริโยธิน เลยโทรไปคุยกับแก แกก็สัมภาษณ์เล็กๆ บังเอิญจุดเริ่มต้นที่ชอบผลงานของคนเดียวกัน แล้วทัศนคติตรงกัน เขาเลยรับสอน แบบเรียนตัวต่อตัว

“ประตูชีวิตอีกบานหนึ่งเปิดเลยครับ เราได้เข้าใจวิธีการทำงานไม้จริงๆ ใช้สิ่วคมๆ เฉือนไม้ เกิดร่องรอยความประณีต เอาเดือยเข้าเสียบในร่องแล้วประสานกาว วิธีการขึ้นฟอร์มเฟอร์นิเจอร์เป็นวิธีเดียวกับที่ธรรมชาติใช้สร้างฟอร์มต้นไม้ มันคือเสี้ยนจำนวนมหาศาลประสานกับยางไม้ขึ้นรูปเป็นลำต้น กาวก็คือยางไม้สังเคราะห์ แล้วก่อนทำงานก็เอาเครื่องมือมาวาง เอามาลับคม เครื่องมือก็ดูแลอย่างดี เราได้เห็นสิ่ว ได้เห็นกบ เหล็กเงาๆ สวยๆ น่าใช้

“จบคอร์สแรก ได้เก้าอี้มาหนึ่งชิ้น ตอนนี้เก้าปีแล้ว ยังใช้อยู่ วางในห้องนอนตรงโต๊ะคอมฯ มันเกิดความภูมิใจ มีคุณค่า แล้วเรารู้สึกว่าจังหวะในการสร้างของที่จะอยู่กับคนไปช่วงเวลาใหญ่ๆ มันควรประมาณนี้แหละ เลยโอเค ตั้งเข็มทิศให้ตัวเองว่าฉันจะเป็นช่างไม้”

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
ใช้ม่านแทนประตู โดยเจ้าตัวขอเอาไม้ที่มีใส่แทนโครงเดิมของร้าน

ช่างทำเอง

หลังได้รู้จักศาสตร์งานไม้ลึกเข้า จากช่างฝึกหัดใช้เวลาว่างหลังเลิกงานซ้อมมือไปเรื่อยๆ ด้วยจุดหมายใหญ่ในใจตอนนั้นคือ ทำเครื่องเรือนไว้ใช้งานและตกแต่งบ้านในบรรยากาศที่อยากอยู่-อยู่ๆ ภาพก็ใหญ่ขึ้น

“พอทำใช้จนมีทักษะแล้ว ก็อยากให้มันเป็นการอยู่ทำกินด้วยเลย ตอนนั้นตั้งธงไว้สิบปี แต่ว่าพอดีข้างในมันเรียกร้องแล้ว (หัวเราะ) เพราะช่วง COVID-19 เรารู้สึกว่ามันอาจเป็นสัญญาณบางอย่าง การเปลี่ยนผ่านที่คนทั่วโลกเขาเริ่มใหม่กัน และเรามองรอบๆ ตัวว่าบางคนเงื่อนไขยากกว่าเราอีก เราเตรียมตัวมาประมาณหนึ่งแล้วก็ขอติดบ่วงนี้ไปด้วย รู้สึกว่าเรามีเวลามากพอ ไม่ต้องเป็นการทำงานเงินร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนตอนทำงานประจำ กำไรมันจะมาในรูปแบบอื่น รูปแบบของการเจอผู้คน สถานที่ที่เราไป หรือการที่เราได้คุยกันอย่างนี้ รวมถึงเราเห็นพี่ๆ บางคนเป็นต้นแบบการใช้ชีวิต การเลี้ยงลูก หรือครูบาอาจารย์ เราไปเก็บเรื่องพวกนั้นมาเป็นข้อมูลเส้นทางที่เราจะเติบโต”

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

จากวันแรกที่จับงานไม้ เขาใช้พื้นที่หลังบ้านเดิม ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบ้านและโชว์รูม เป็นที่ทำงานชั่วคราวราว 3 ปี ทุกวันต้องยกประตูเก่ามาตั้งเป็นโต๊ะ ต้องย้ายเครื่องมือ ต้องเก็บของ ความไม่สะดวกหลายด้าน ทำให้แอ็ควางแผนว่าต้องมีที่ทำงานเป็นของตัวเอง สวนรกๆ ข้างบ้าน (ซึ่งเจ้าตัวกระซิบบอกแทบเรียกว่าสวนไม่ได้) เลยได้รับหน้าที่เป็นสตูโอขนาดย่อมตั้งแต่นั้น

“ออกแบบง่ายๆ ด้วยการเก็บแนวโมกข์ไว้ มีส่วนทึบด้านชิดกำแพงไว้ทำงานใช้สมาธิ เป็นโซนที่เราได้อยู่กับตัวเอง เก็บเครื่องมือ เก็บไม้ เลยให้กันลม กันฝนหน่อย เพราะถ้าจะทึบหมด ต้องเสียแนวโมกข์ไปครึ่งหนึ่ง ส่วนข้างนอกเป็นที่โล่งเราก็เอาไว้ทำงานหนักๆ ที่ฝุ่นเยอะ และวางระบบจัดการไว้”

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

เมื่อมีสตูดิโอทำงานและชิ้นงานจำนวนหนึ่งแล้ว โจทย์ถัดไป แอ็คอยากมีโชว์รูมเล่าผลงานด้วยบรรยากาศด้วย

“เราว่าการเล่าเป็นชิ้นก็ได้ภาพหนึ่ง แต่การเล่าเป็นบรรยากาศรวมก็ได้อีกภาพหนึ่ง มีกลิ่นอายของการเข้าไปในสถานที่จริง เลยตั้งใจว่าอยากมีห้องเล็กๆ เป็นโชว์รูมที่มองทะลุถึงกันจากสตูดิโอ จากเป็นแค่แพลน พอรู้ว่ามีลินิน เลยต้องทำแล้ว ทำไปทำมา ขออยู่ด้วยเลย พื้นที่มันเหมาะพอดีกับครอบครัวเล็กๆ

“ด้วยความที่เป็นส่วนหลังบ้านของบ้านอายุสามสิบปี ต้องลงเสาเข็มใหม่ โครงก็ง่ายๆ ทางเดินถูกบังคับให้เข้าทางริมรั้ว ที่นี่เคยน้ำท่วม เลยต้องยกสูง เป็นสเต็ปในการเข้าบ้านชั้นหนึ่ง เข้าไปแล้วเป็นโถงก่อน เราจัดวางของแบบอยู่อาศัยจริง ด้านหลังเป็นห้องน้ำ ครัว และพื้นที่เย็บผ้าของหนึ่ง ส่วนชั้นลอยเป็นห้องนอน

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
แสงแดดเข้าจากช่องเปิด ส่องเติมมิติให้เส้นบันได ทำหน้าที่คล้ายสปอร์ตไลท์ให้พื้นและชิ้นเฟอร์นิเจอร์ดูโดดเด่น

“ส่วนหน้าต่าง ถ้าเราวางในระนาบปกติ จะเห็นบ้านฝั่งตรงข้าม แล้วเราไปควบคุมสีหลังคาหรือหน้าต่างเขาไม่ได้ เลยเลือกวางหลบ อย่างหน้าต่างใต้ที่นั่งก่อนขึ้นโถง มองออกไปเห็นกำแพงเก่า เห็นต้นไม้ และกลายเป็นช่องแสง ซึ่งข้อดีของช่องแสงคือมันกลายเป็นองค์ประกอบอีกชิ้นที่เคลื่อนไหวให้ตลอด เติมแสงและเงาให้ข้าวของต่างๆ ในบ้าน ฤดูเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนฝั่ง เปลี่ยนข้าง” เขาค่อยๆ อธิบายแต่ละมุมของบ้านขนาด 55 ตารางเมตรอย่างใจเย็น

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
ยกพื้นให้สูงขึ้นอีกสเต็ปเพื่อแยกโซนทางเข้าบ้านกับพื้นที่โถงอย่างเป็นสัดส่วน
Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

จากที่แอ็คเกริ่นว่าโชว์รูมหลังนี้ไม่ได้คิดเผื่อการมีลูกไว้แต่แรก เราจึงถามเขาว่าบ้านที่มีเด็กต้องเตรียมการมากไหม ข้อกังวลมีอะไร เพราะดูจากบันไดไร้ราวกันตก มีเพียงไม้ไซส์จิ๋วติดไว้ตรงลูกนอนแทนเส้นนำสายตาก็เท่านั้น

“มันยืดหยุ่นได้” คุณพ่อน้องลินินตอบทันที

“เราต้องดูลักษณะเขาครับ อย่างบันได เราขึ้นป่าขึ้นเขาแล้วเห็นทางชาวเขาโหดกว่าเราอีก ลูกเขายังโอเค เรารู้ว่ามนุษย์สอนกันได้ เราต้องสอนให้ลูกระแวดระวัง เราเองก็ต้องระวังและดูแลเป็นพิเศษหน่อย ช่วงลินินเล็กๆ ก็มีกั้นตรงห้องข้างบนก่อนลงมา แล้วเขารู้ตัวว่าถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ขึ้นไปได้แค่สองขั้นนะ ส่วนอื่นๆ เราดูจากลักษณะนิสัยเขา เช่น กระบะทรายหน้าบ้านมีไว้ให้เล่น ตกแต่งดีๆ ก็เป็นสวนข้างบ้านด้วย ซึ่งทรายมันดีกับเด็กเล็กในการจัดการอารมณ์ หรืออย่างที่วาดรูประบายสี เราติดกระดาษกั้นระหว่างผนัง แต่ถ้าเขียนเลยไปผนังก็โอเคไม่เป็นไร พ่อชอบ

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
ติดรางไม้สำหรับม้วนกระดาษ เมื่อวาดเต็มแล้ว ตัดเก็บไว้ได้เรื่อยๆ

“อยู่แบบนี้ เราจัดการบรรยากาศในการเติบโตให้เขาได้ เด็กที่โตในบ้านที่ข้าวของพ่อทำเองทุกอย่าง ปล่อยไปตามธรรมชาติ สนับสนุนการเล่นและเรียนรู้ผ่านการขยับกล้ามเนื้อ ก็หวังว่าจะดี อีกเรื่องหนึ่งที่เราพยายามปลูกฝังหรือทำให้เขาเห็น คือนิสัยรักการอ่าน บ้านเลยแวดล้อมด้วยหนังสือ เราอยากให้เขามีสิ่งนี้ติดตัวไว้ ต่อไปถ้าโตขึ้น เขาอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ไปเลือกเอา หรือจะมาทำแบบพ่อก็แล้วแต่ แต่ระวังนิ้วหน่อย” แอ็คเล่าพลางขำๆ ก่อนบอกอีกว่า ลินินมักวิ่งมาเล่นในสตูดิโอ บางวันก็เข้าไปเอาชอล์กมาวาดรูป

ช่างเรียบง่าย

ด้วยเป็นคนใส่ใจในดีเทลเล็กๆ ซึ่งเห็นได้จากชิ้นงานของเขา หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่า บ้างขอเฉือนมุมให้เอียงหน่อยจนแทบมองไม่ออก บ้างขอเข้าเดือยให้เกินมาอีกนิด บ้างขอวางให้ไม่ต่อกันตรงสักทีเดียว หรือบางชิ้นก็ปล่อยให้เว้าแหว่ง ไม่สมบูรณ์ ตามแต่ไม้ที่ได้มา เขาว่าจุดเล็กจุดน้อยเหล่านี้ ทำให้เครื่องเรือนสวยขึ้นอย่างประหลาด ซึ่งเขาชอบมาก เราพยักตามหน้าหงึกๆ เพราะก็ชอบด้วย

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

ไม่ใช่เฉพาะโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ โคมไฟ ฉากกั้น ราวกันตก มือจับ ฯลฯ ที่ใช้ศิลปะการออกแบบ

บ้านหลังนี้ยังปล่อยให้ความงามตามธรรมชาติทำหน้าที่อย่างขันแข็งด้วยศิลปะการจัดวาง ทั้งต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งตามจังหวะเวลา งานศิลปะฝีมือลูกสาวและภรรยา ก้อนหินที่ยืนพลิกยืนเล็งหันมุมวางมุมประดับเป็นชั่วโมง รวมถึงหินที่เรียงเป็นวงบนพื้น

“การใช้ชีวิตก็เป็นงานศิลปะ ในวิถีชีวิตแบบเอเชียทุกอย่างคือศิลปะ การกินข้าว การจิบชา ถ้วยชาม อุปกรณ์ เราไปแยกอย่างๆ ไม่ได้ มันเป็นเรื่องเดียวกัน เราเองมองว่าบ้านคือเฟรมเปล่าๆ ของทุกชิ้นที่เอาไปวางในบ้าน คือการจัดวางบนกรอบศิลปะทั้งหมด แยกกันไม่ออกเหมือนกัน

“เราเข้มงวดแค่ในการเลือกตำแหน่งและการจัดวาง ขออย่าขยับ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องที่ออกมาจากคนในบ้านเราจริงๆ เราแค่หยิบหรือแค่มองว่าอันนี้งาม จังหวะมันได้ เช่น ใบไม้แห้ง ซึ่งเป็นของรอบตัวที่หาง่าย ราคาถูก หรือแวะร้านหินสักหน่อย แล้วใช้ความตั้งใจเพ่งพินิจในการจัดวางจริงๆ มันเลยกลายเป็นของที่ เฮ้ย อย่าไปขยับนะ”

“เห็นความรกแล้วอึดอัด เห็นอะไรผิดเพี้ยน อยู่ไม่ถูกที่ไม่ได้เลย แต่ว่าไม่ได้เป็นคนที่เข้มงวดแบบแก้วตรงนี้อย่าขยับ หรือคุณอยู่บ้าน ห้ามวางข้าวของเกะกะ ไม่ใช่ ถ้าคุณวางเกะกะ แปลว่าที่เก็บของไม่พอ เดี๋ยวทำตู้ให้อีก รกหรอ เดี๋ยวทำที่ปิดให้อีก เราไม่ได้แข่งกับคนอยู่ แต่เราให้บ้านรับใช้คนอยู่” เขาหัวเราะ หลังนับว่าตัวเองย้ำคำว่าอย่าขยับ 3 ครั้งถ้วน

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

การมองเห็นความงามในความเรียบง่ายและเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ แอ็คได้มาจากการทำงานไม้

“จริงๆ เรามีประเด็นเรื่องความเรียบง่ายตลอด ว่าเรียบแล้วข้างในมีอะไรอีก ข้อดีของความเรียบง่ายในฐานะคนทำไม้ หรือคนที่อยู่กับไม้ คือมันเปิดพื้นที่ให้ธรรมชาติได้เล่าเรื่อง แทนที่จะมีแต่ตัวฉัน ความคิดฉัน พออยู่กับเขาแล้วได้ตระหนักว่าโลกไม่ได้มีแค่เรา มีพื้นที่ของเขาด้วย ในโลกที่แข่งกันเรื่องความแปลก ความสดใหม่ เรารู้ว่าถ้าเปิดหน้าไม้มาเจอเรื่องใหม่แน่ๆ เลยหยิบเรื่องโครงสร้างที่เป็นมรดกส่งต่อกันมาหลายชั่วรุ่นและเรื่องความประณีตมาเล่าในรูปแบบของชิ้นงานร่วมสมัย สื่อสารกับคนรุ่นนี้ แล้วก็มองถึงคนรุ่นต่อไปด้วย เราคิดว่าจะบันทึกภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ในรูปแบบของงานเครื่องเรือน

“เราเปิดพื้นที่ให้ธรรมชาติเล่าเรื่อง ไม้มีอายุไขห้าสิบปี ร้อยปี ห้าร้อยปี เขาเป็นบันทึกของการเจริญเติบโต มีร่องรอย บาดแผลต่างๆ มีป่วย มีตายเหมือนคน ส่วนไม้ที่ถูกตัดมาแล้ว เขาจากชีวิตในรูปแบบยืนต้นมาอยู่ในมือเรา หน้าที่ของเราคือจะเล่าเรื่องเขาต่อยังไง จะวางชีวิตใหม่ของเขาในรูปแบบไหน และถ้าสิ่งเหล่านี้ได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ บางทีอายุเขาไปได้อีกไกล เครื่องเรือนไม้บางชิ้นอายุพันปีก็มี

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

“ไม้ที่เราได้มา ไม่ได้จัดการร้อยเปอร์เซ็นต์ ปล่อยให้เขามีคาแรกเตอร์เดิม ไปโรงไม้ก็จะเลือกไม้ที่คนอื่นไม่เอาเพราะมีตำหนิ แต่จริงๆ เป็นกระพี้ไม้ อย่างไม้ที่เป็นเส้นที่ขาวน้ำตาลตัดกัน เห็นแล้วขนลุกเลย บางคนจะบอกว่ามันไม่เป็นสีเดียวกัน แต่เรามองว่าไม่สม่ำเสมอก็คือความงาม บางแผ่นมีรู ก็ปล่อยไปแบบนั้น ตั้งใจไว้ตรงกลางเลยด้วยซ้ำ

“ส่วนข้อดีของความเรียบง่ายในมุมมองของบ้าน คือทำให้บ้านเป็นเขตแห่งการพักผ่อน ถ้าเราเหนื่อยๆ แล้วเปิดประตูบ้านมา เจอชิ้นงานที่ต้องตีความ เหมือนสมองถูกบังคับให้ทำงานต่อ กลับกัน ถ้าเรามองก้อนหิน มองต้นไม้ เขาเป็นเหมือนสุนทรียะที่ไม่ได้เรียกร้องความหมาย แต่อยู่ร่วมแล้วรู้สึกเบาหน่อย เป็นเส้นอิสระที่ไม่ได้ต้องการความหมายอะไร ในแง่การพักผ่อนนะ”

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
นำเศษไม้มาทำพื้นลายก้างปลา และบันไดที่กลายเป็นม้านั่งขณะวาดภาพได้

ช่างโชคดี

“บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยในความรู้สึกว่าฉันจะลงรากไปได้ พอรู้สึกว่าเป็นบริเวณของเรา เราก็อยากลงมือลงแรงดูแลรักษา บ้านที่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะมาดูแลรักษาเราอีกทีหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่” ช่างไม้เล่าต่อ

แม้จะบอกว่าบ้านคือพื้นที่แห่งการพักผ่อน การทำงานที่บ้านของแอ็คกลับไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าแยกงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ออก นั่นเพราะเขาคิดจะลงรากกับสิ่งนี้เช่นกัน

“เราโตมาในระบบ เรียนเป็นเวลา เลิกเป็นเวลา และเราทำงานประจำมาก่อน ชุดความคิดพวกนี้มันติดตัว กินข้าวเช้าเสร็จ ไปเข้างาน กลางวันไปกินข้าว แต่ดีตรงแทนที่จะไปกินข้าวกับคนอื่น เราได้กินข้าวกับครอบครัว กับลูกสาว ตอนเย็นเลิกงานเราก็ไม่ต้องขับรถกลับบ้าน จูงมือลูกสาวออกไปเดินเล่น มันเร็ว ทุกอย่างกระชับขึ้น กลางคืนพอลูกเข้านอน เราก็มีเวลาส่วนตัว ดูนู่นดูนี่ อ่านงานคนที่สนใจ แล้วพลังงานมันไม่ได้ใช้เกิน เรายังอยากมาตื่นมาทำกิจวัตรนี้ในวันถัดๆ ไป

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

“เรารู้สึกว่าไม่ใช่งาน เป็นโหมดอื่นได้ และมีเนื้องานอื่นที่ต้องทำ ไม่ได้อยู่ในสตูดิโอตลอดเวลา ที่เพิ่งเสร็จไปคือส่วนของเว็บไซต์ บางวันเราก็ถ่ายรูปของ เราเชื่อว่างานคราฟต์ งานฝีมือ ฝึกให้เราช่างสังเกต แรกเริ่มคือสังเกตความคิดตัวเอง พอหลุดความคิดไป ก็สังเกตร่างกายเราที่เคลื่อนไหวสัมพันธ์กับเครื่องมือ แล้วก็สังเกตตัววัสดุ อะไรที่มาจากธรรมชาติเขามีเรื่องของเขา เราจะกลายเป็นผู้ฟังมากขึ้น ฟังไม้ ฟังรูปแบบที่ขึ้นฟอร์มมา แล้วโอเค ผมจะถ่ายทอดตรงนี้ให้นะครับ จะไม่ตัดให้เสีย

“เราใช้ชีวิตช้าลงด้วยเมื่อเทียบกับตอนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกอย่างพุ่งมาเร็วมาก อันนี้ยูทูบ อันนี้เปลี่ยนเพลง ธรรมชาติของการอยู่หน้าคอมฯ มันจะพุ่งมา ไปซ้ายไปขวา เฮ้ย เดี๋ยวอ่านบทความนี้ก่อน แต่อันนี้บังคับให้เราสะกดอยู่กับเรื่องตรงหน้า ซึ่งถ้าคิดเรื่องอื่นเดี๋ยวนิ้วขาดนะเว้ย (หัวเราะ) ก็เอาแง่มุมเรื่องนี้มามองในเรื่องอื่นด้วย”

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

ถ้าให้วัดจากจุดเริ่มต้นไปถึงภาพใหญ่ในชีวิตที่วางไว้ แอ็คบอกว่าตอนนี้ระยะทางอยู่ในช่วงกลางๆ

“เรื่องทักษะเราอยู่กับมันมาช่วงเวลาใหญ่ๆ ของชีวิต ผลิตงานได้ในผลลัพธ์ที่รู้สึกว่าโอเคกับมันแล้ว ตอนนี้ก็เป็นส่วนของการเล่าเรื่องที่เรามี ซึ่งเป็นแผนใหญ่ ไกลๆ ส่วนใกล้ๆ กำลังจะทำงานนิทรรศการเล่าเรื่องจากการได้ไปดูผืนป่าต้นทางของวัสดุที่ใช้ ได้ฟังเรื่องราวความเชื่อจากชาวปกาเกอะญอ และได้เห็นความผูกพันของคนกับผืนป่า กำลังตกตะกอนอยู่

“ระหว่างนี้ก็ไม่ได้ไปแข่งว่าต้องถึงแล้วนะ การทำงานแบบนี้ ระยะเวลาที่ตั้งต้นไว้ ยิ่งต้องเผื่อมากกว่างานอื่นๆ เช่น สิบปีคุณอาจจะแค่เข้าใจงานที่คุณทำ แต่ถ้าคุณจะเก่งเลย อาจต้องยี่สิบปี หรือจะยิ่งกว่านั้นก็สามสิบปี ชีวิตที่เราเลือกเดินเส้นทางนี้ก็ไม่เร่งแล้วแหละ คล้ายๆ การปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้ไปเร่งดอกออกผล มีให้เก็บเกี่ยวก็เก็บ ถึงช่วงวัยหนึ่ง เราอาจมีเกสรบ้าง แต่ต้องรดน้ำพรวนดินอยู่ตลอด

“หลังการเรียนรู้วิธี ทฤษฎี ชุดความคิดบางอย่างของคนที่ไปเจอ สอนเราว่าการลองผิดลองถูก คือการทำงานนั่นแหละ ถ้าจะผิดเยอะ เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ ต้องมองให้อึดกว่างานด้านอื่น เช่น ทำธุรกิจคุณผิดปีแรก ปีสองคุณต้องได้ คุณผิดปีสอง ปีสามคุณต้องได้ หรือถ้าคุณผิดปีสาม ปีสี่คุณต้องเปลี่ยนไหม 

“แต่อย่างงานไม้งานฝีมือ คุณผิดสี่ปีห้าปี เจ็ดปี เก้าปี คุณก็ยังต้องอยู่กับมันและต้องเรียนรู้ ปรับมัน เช่นเรื่องสัดส่วนกับการเข้าไม้ ประมาณเซ็นครึ่งสองเซ็นจะรับน้ำหนักได้ประมาณนี้ หรือถ้าจะให้ยาวเท่านี้เราต้องเพิ่มเป็นสามเซ็น เรามี Data Base ในตัวเอง ผ่านการทดลองทำสม่ำเสมอ

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

“ด้วยความเป็นช่าง ทำผิดแล้วก็แก้ตรงนั้นได้เลย ไม่ใช่ผิดแล้วทิ้ง ทำใหม่ และได้ชุดความจำมาเพิ่มว่าอันนี้ผิดนะ ช่วงที่ทำใช้งานเอง ซื้อไม้ใหม่จากบางโรงไม้ที่ไม่ผ่านการอบ หน้าหนาวก็เปิดคล่องดีนี่หว่า ทำไมหน้าฝนเปิดไม่ออก ขนาดอยู่บ้านเรายังหงุดหงิดเลย แล้วถ้าไปอยู่บ้านลูกค้าแล้วเปิดไม่ออก เขาไม่ใช่ช่าง เขาแก้ไขไม่ได้ ถึงแม้เราอธิบายล่วงหน้าก็เถอะว่าไม้มีชีวิตอยู่นะ มันยังยืดหดหายใจ แต่ว่าจะดีกว่าถ้าเราลดความเสี่ยงเรื่องพวกนั้นแต่แรก

“อยากให้คนที่ได้รับของไปรู้สึกอยากส่งต่อ หรือเสียแล้วอยากซ่อมแซมแทนการทิ้ง รับรู้ว่ามีคนทุ่มเททำของชิ้นนี้ ภูมิใจในคุณค่าของมัน เพราะว่าไม้ นอกจากตัดมาใช้แล้ว ต้นที่ถูกตัดก็เหมือนสละพื้นที่ให้ต้นอื่นได้โตต่อ

“ไม้มัน Shape ชีวิตเรา เราคงไม่ได้เจอเรื่องพวกนี้ถ้านั่งอยู่หน้าคอมฯ ตลอด” เขาหยุดเล่า เราปล่อยให้ความเงียบพาคนตรงหน้าย้อนกลับไปขมวดความคิด คล้ายทบทวนชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันนี้ที่ยังออกสตาร์ทไปได้เพียงครึ่งทาง

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’
บันไดขึ้นบ้านที่ด้านล่างใช้เก็บซ่อนรองเท้าอย่างเป็นระเบียบ

เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าภาพใหญ่ที่เขาว่าไว้จะเป็นเช่นไรต่อ เพราะตอนนี้งานไม้พาเขาเดินไกลขึ้น-ไกลขึ้นกว่าการได้อาศัยอยู่ในบรรยากาศที่ตั้งใจไว้ทีแรก

แต่เชื่อว่าจะเป็นก้าวย่างที่มั่นคง แน่วแน่ด้วยแพสชันซึ่งคือแรงขับเคลื่อนชั้นยอด

น้องลินินเดินมาพร้อมแก้วนมในมือที่ดื่มเติมพลังจนหมดเกลี้ยง

เพราะใจทนต่อสายตาเว้าวอนไม่ไหว จึงถึงเวลาที่เราจะจบบทสนทนา และกลับไปวาดภาพกับเธอต่อแล้ว

Nakornsang studio สตูดิโอและบ้านทำมือไซส์อบอุ่นของช่างไม้ ‘แอ็ค-ชานนท์ นครสังข์’

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล