ในวันที่ยังอ่อนต่อแอฟริกา ในวันที่แอฟริกายังเหมือนเป็นคนแปลกหน้า ผลงานของ ชาร์ลส์ เซกาโน (Charles Sekano) ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ที่หนีภัยการเมืองของการแบ่งแยกสีผิวทำให้ผม ในขณะเป็นเจ้าหน้าที่การทูตวัยละอ่อน ทั้งอ่อนวัยและอ่อนต่อโลก ได้เข้าใจและรู้จักประเทศและทวีปที่ห่างไกลกับความรู้สึกเช่นนี้

ในอดีต ทุกประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกาอาจเหมือนดั่งถูกคำสาป แม้มีทรัพยากรธรรมชาติล้ำค่ามหาศาล ตั้งแต่ของป่า เพชรพลอย จนกระทั่งถึงหินแร่มีค่าที่ถูกขนออกไปทั่วโลกในช่วงประวัติศาสตร์สมัยที่ผ่านมา แต่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงจากผู้คนที่มาจากภายนอกทวีป ยุคที่น่าเห็นใจที่สุดเห็นจะไม่พ้นช่วงอาณานิคม ที่ประเทศมหาอำนาจในยุโรปเข้ามาประชันขันแข่งขยายอาณานิคมกันจ้าละหวั่น

การเข้ามาของคนต่างถิ่น โดยเฉพาะคนผิวขาวเช่นชาวยุโรป ทำให้เกิดการแบ่งแย่งสีผิว แบ่งแย่งชนชั้น ในรูปแบบทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ที่เห็นจะแย่ที่สุด คงไม่พ้นการแบ่งแยกซึ่งทำให้เหมือนถูกต้องด้วยกฎหมายและการปกครอง ตัวอย่างชัดที่สุดเห็นจะไม่พ้นการปกครองแบบแบ่งแยกสีผิว หรือ Apartheid ในแอฟริกาใต้ที่ผ่านมา

แรงกดดันและความร้ายกาจของการแบ่งแยกที่กดขี่คนผิวดำให้ต่ำต้อยกว่าคนผิวขาว ดั่งเรื่องเล่าที่ถูกนำมายกตัวอย่างบ่อยๆ ว่า หมาของคนขาวยังมีสิทธิมากกว่าคนผิวดำ ซึ่งเดินอยู่บนท้องถนนในยุคสมัยรัฐบาลแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

นั่นคือเรื่องราว Charles Sekano ศิลปินที่ทำให้ผมได้รู้จักและเข้าใจแอฟริกาเป็นคนแรก

รู้จัก Apartheid การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาและการปลดปล่อย ผ่านภาพวาดของ Charles Sekano
1

ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของทวีป มีภูมิประเทศสวยงาม เต็มไปด้วยทุ่งโล่งสลับกับที่ราบสูงและเทือกเขาเป็นทิวริมชายฝั่งทะเล นอกจากจะโด่งดังเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีเมืองเคปทาวน์ เป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ ซึ่งรวมถึงเพชร ทองคำ และทองคำขาว การผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ การต่อเรือพาณิชย์ ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้เมืองหนาวด้วย

รูปแบบการปกครองบนแนวคิดแบ่งแยกชนชั้นจากสีผิวที่เรียกว่า Apartheid (อะพาไทด์) เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1948 และเพิ่งจบลงไปเมื่อไม่ถึง 30 ปีก่อน ในต้นทศวรรษ 1990 ถือเป็นฝันร้ายของชาวแอฟริกาใต้และตราบาปของโลก

การปกครองแบบแบ่งแยกที่ผู้ปกครองเป็นคนผิวขาว และใช้อำนาจปกครองแบบเผด็จการ บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า คนผิวขาวแม้จะเป็นเพียงคนส่วนน้อยที่มีอยู่เพียงหยิบมือ จะต้องเป็นใหญ่ในประเทศแอฟริกาใต้ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เหนือคนท้องถิ่นที่เป็นคนผิวดำที่มีอยู่เดิม และคนผิวสีมาจากชนเผ่าต่างๆ ในแอฟริกา รวมทั้งคนอินเดียที่เดินทางมาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ หรือคนจีน

ในภาษาอาฟรีกานส์ (Afrikaan) ซึ่งเป็นภาษาของคนขาวที่มีรากศัพท์มาจากภาษาดัตช์ Apartheid แปลว่า การแบ่งแยก (Separateness หรือ Apart-hood)

ในช่วง ค.ศ. 1948 – 1950 รัฐบาลของคนขาวใช้แนวคิดนี้ในการปกครอง โดยเฉพาะการออกกฎหมายแบ่งแยกชนชั้นตามสีผิว กฎหมายแรกๆ ที่เริ่มแสดงให้เห็นเป้าประสงค์ทางการเมืองของผู้ปกครอง คือการออกกฎหมายห้ามแต่งงานกันข้ามสีผิว และกฎหมายที่กำหนดว่าการมีสัมพันธ์ข้ามสีผิวถือเป็นการผิดศีลธรรม

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน รัฐบาลคนขาวเจ้าของลัทธิการแบ่งแยกก็ได้ออกกฎหมายมาอีกฉบับ เพื่อให้มีการสำรวจและทำสำมะโนประชากร แต่นั่นมิได้เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูล หรือช่วยให้รัฐบาลกระจายทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงตามที่ควรจะเป็น แต่มีไว้แบ่งคนให้ชัดเจนตามสีผิว บนพื้นฐานของรูปลักษณ์ บรรพบุรุษที่สืบเสาะหาได้ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และรูปแบบการใช้ชีวิต โดยแบ่งเป็นคนผิวดำ คนผิวขาว คนผิวสี และคนอินเดีย ซึ่งมีสถานะย่อยๆ อีกมาก

การปกครองแบบ Apartheid ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติมากมาย และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ได้รับการรับรองหรือดำเนินการโดยรัฐบาลด้วยซ้ำ โดยผ่านการออกกฎหมายและการออกกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย เช่น คนผิวดำจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้ามาในถิ่นที่อยู่อาศัยหรือศูนย์กลางธุรกิจของคนขาว ไม่นับรวมว่าคนผิวดำจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจหรือเปิดกิจการใดๆ ในถิ่นคนขาวได้

…หากคนผิวสีดำจะต้องเข้าไปทำงานในถิ่นของคนผิวสีขาว ต้องมีบัตรแสดงตัวที่ออกให้กับเฉพาะคนผิวสีดำเท่านั้น และจะต้องทำงานเฉพาะงานรับใช้เท่านั้น

…คนผิวดำไม่สามารถเข้าโรงหนังที่อยู่ในเขตคนผิวขาวได้ (แต่ในเขตคนผิวดำก็ไม่มีโรงหนังตั้งอยู่สักโรง) หรือชายทะเลก็มีการแบ่งว่าหาดนี้เล่นได้เฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น ไม่นับว่าห้องน้ำยังต้องมีการแบ่งแยกกันเป็นธรรมดา

ปมในใจ การเลือกปฏิบัติ และการถูกกดขี่ภายใต้ระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ เริ่มแรกอาจจะเป็นที่ยอมรับและเกิดขึ้นได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้การปกครองยังไม่รับรู้หรือรู้เรื่อง แต่เมื่อคนผิวดำเริ่มได้รับการศึกษา อ่านออกเขียนได้ และเข้าถึงระบบและกระบวนการทางความคิดต่างๆ ก็เริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นสิบๆ ปี

คงไม่ต้องบอกว่า ความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะที่คนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นคนผิวขาวที่เป็นประชากรเพียงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวได้รับโอกาสมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเช่นนี้จะลงเอยอย่างไร

รู้จัก Apartheid การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาและการปลดปล่อย ผ่านภาพวาดของ Charles Sekano
รู้จัก Apartheid การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาและการปลดปล่อย ผ่านภาพวาดของ Charles Sekano
2

Charles Sekano เป็นคนแอฟริกาใต้โดยกำเนิด หนีความย่ำแย่ของประเทศตัวเองที่ปกครองด้วยรัฐบาลคนขาวซึ่งชูนโยบาย Apartheid หรือการปกครองแบบแบ่งแยกเป็นหลัก ไปยังหลายประเทศทั่วแอฟริกา ก่อนจะมาลงหลักปักฐานในเคนยา

ที่นั่น ในทศวรรษ 1990 เขาได้ใช้ชีวิตดั่งฝัน ในสังคมที่เต็มไปด้วยความหวัง เพราะเคนยาเพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษ และการทะเลาะเบาะแว้งในประเทศได้สิ้นสุดไปแล้ว มีรัฐบาลนำโดยประธาธิบดีผิวดำที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาเอง

Charles Sekano ใช้ชีวิตแบบ Bohemian คนที่รู้จักเขาอธิบายได้ด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร P 3 คำในภาษาอังกฤษ

Pianist เขาเล่นเปียโนที่ผับบาร์ในกรุงไนโรบี เป็นอาชีพหลักที่ทำให้เขาอยู่อาศัยในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้โดยไม่ขัดสน

Painter เขาเป็นศิลปินที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาจากโรงเรียนศิลปะ สีและลายเส้นที่เขาวาดลงบนกระดาษ อธิบายสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ อันโหยหาความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก และหญิงสาว

Poet ความเป็นศิลปินของเขาทำให้รู้จักพูดจา และเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน

เขาได้รับทั้งเงินเจือจุนชีวิตในฝัน และความสุขที่จุนเจือชีวิตบนความเป็นจริง

รู้จัก Apartheid การแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาและการปลดปล่อย ผ่านภาพวาดของ Charles Sekano
ทำความรู้จัก ‘Charles Sekano’ ศิลปินแนว Cubism แห่งแอฟริกาใต้ ผู้หนีการปกครองแบบแบ่งแยกชนชั้นสีผิว สู่อิสรภาพ ความเท่าเทียม และศิลปะ
3

ภาพวาดของ Charles Sekano ละม้ายงานของ ปิกัสโซ (Picasso) ที่ทุกคนรู้จัก

ลายเส้นแบบ Cubism ผสมกับเส้นสีเทียน ร่ายม้วนเลี้ยวไปมาบนกระดาษ การลงสีสดใสและภาพที่ปรากฏออกมาชวนให้คิดถึงความจริงบนโลก โลกที่เต็มไปด้วยความสวยงาม ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเท่าเทียมและความหลากหลาย ซึ่งเขาได้แสดงออกมาผ่านภาพของหญิงสาวต่างสีผิว ความรู้สึกรักใคร่ชอบพอกันของหญิงชาย ความฝัน ความหวัง และความจริง

เหล่านี้แม้เป็นความรู้สึก เป็นธรรมชาติ เป็นสัญชาตญาณของคนทั้งโลก แต่เราอาจพอจะนึกต่อไปได้ว่า คนที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาช่วงนั้นจะรู้สึกแบบเดียวกัน แต่คงรู้สึกอย่างแรงกล้ากว่ามาก สภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่กดดัน จะรู้สึกมากกว่าคนที่อยู่ที่อื่นมากมายเช่นไร

ทำความรู้จัก ‘Charles Sekano’ ศิลปินแนว Cubism แห่งแอฟริกาใต้ ผู้หนีการปกครองแบบแบ่งแยกชนชั้นสีผิว สู่อิสรภาพ ความเท่าเทียม และศิลปะ
4

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ในวันแรกๆ ที่เดินทางถึงเคนยาใหม่ๆ

ผมรู้จักกับ Charles Sekano ศิลปินผู้ทำให้ผมเข้าใจอดีตของแอฟริกาที่นำมาสู่ปัจจุบัน จากแกลเลอรี่ชื่อดังใจกลางกรุงไนโรบี ในยุคสมัยใกล้ร่วงโรย

เศรษฐกิจโดยรวมของเคนยาไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน สงครามกลางเมืองที่เกิดจากความไม่ลงรอยกันของชนเผ่าในเคนยา หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่กี่ปี ไม่นับเหตุการณ์การวางระเบิดสถานทูตอเมริกันโดยกลุ่มก่อการร้าย ทำให้กรุงไนโรบีในวันนั้น วันที่ผมเดินทางถึง ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ไม่ได้ครึกครึ้นและครื้นเครงเหมือนแต่ก่อน

ผมเดินเข้าไปในแกลเลอรี่ที่ดูหงอยๆ พนักงานเก่าแก่พาผมไปชมรูปที่ฝุ่นจับเกรอะกองซ้อนๆ กันอยู่ สายตาและความรู้สึกของผมในแวบนั้น สะดุดกับรูปภาพหลายภาพที่ทำให้บรรยากาศความหงอยเหงาของตัวเองที่ไปถึงไปทำงานใหม่ๆ ในสถานที่แห่งใหม่สดชื่นขึ้นมาทันทา

สนนราคาหลายพันดอลลาร์ ทำให้ผมไม่กล้าที่จะซื้อภาพที่ผมชอบ เพราะผมยังจะต้องซื้อรถ ซื้อของเข้าบ้าน และยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้สตางค์ที่นำมาจากประเทศไทยทำอะไรอีกไหม ผมทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้กับพนักงานเฝ้าแกลเลอรี่คนนั้นอย่างแกนๆ

แล้วก็ไม่คิดว่าจะได้งานของเขามาครอบครอง

จนกระทั่งวันหนึ่งเกือบ 2 ปีผ่านไป ขณะที่ผมกำลังนั่งรถไปสนามบิน เพื่อไปพักร้อนที่ประเทศแอฟริกาใต้ ผมได้รับโทรศัพท์จากสุภาพสตรีที่ผมไม่รู้จัก

เธอแนะนำตัวว่า เธอเป็นลูกสาวของหุ้นส่วนเจ้าของแกลเลอรี่แห่งนั้น เธอได้เบอร์โทรศัพท์ผมมาจากพนักงาน และโทรมาถามว่าผมยังสนใจในงานของ Charles Sekano อยู่ไหม เธอต้องการขายภาพทั้งหมดที่อยู่ในแกลเลอรี่ของพ่ออย่างรวดเร็วที่สุด เพราะกำลังมีเรื่องที่ยังตกลงไม่ได้กับหุ้นส่วนอีกคน ซึ่งดูเหมือนกำลังจะพยายามฮุบทุกอย่างเอาไว้ เธอร้อนรนและร้อนใจมาก

เครื่องบินกำลังจะออกไปยังนครโจฮันเนสเบิร์ก-บ้านของ Charles Sakano ในแอฟริกาก็คงอยู่แถวๆ นั้น

คงเดาออกว่า ผมตอบและพูดคุยกับเสียงสุภาพสตรีปลายสายนั้นว่าอย่างไร

ทำความรู้จัก ‘Charles Sekano’ ศิลปินแนว Cubism แห่งแอฟริกาใต้ ผู้หนีการปกครองแบบแบ่งแยกชนชั้นสีผิว สู่อิสรภาพ ความเท่าเทียม และศิลปะ
ทำความรู้จัก ‘Charles Sekano’ ศิลปินแนว Cubism แห่งแอฟริกาใต้ ผู้หนีการปกครองแบบแบ่งแยกชนชั้นสีผิว สู่อิสรภาพ ความเท่าเทียม และศิลปะ
5

ปัจจุบัน Charles Sekano อายุใกล้ 80 ปีแล้ว

เขากลับไปแอฟริกาใต้อยู่ในเมืองเล็กๆ ใกล้กรุงพริทอเรีย เมืองหลวงของแอฟริกาใต้ ได้เป็นสิบปีแล้ว

เขาเลิกเล่นเปียโน เลิกวาดรูป และเลิกแต่งกลอนแล้ว

Writer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน