โจทย์ข้อใหญ่ของเราคือทำยังไงให้ Public Art เป็นของสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงๆ ทำยังไงถึงไม่ต้องมีรั้วกั้นหรือป้ายห้ามจับ ให้มันได้ทำหน้าที่ของมันในฐานะศิลปะสาธารณะจริงๆ”

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย Vice President ฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมของ Frasers Property Holdings (Thailand) ผู้บริหารโครงการ The PARQ และ One Bangkok บอกกับเราด้วยเสียงหนักแน่น 

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

โปรดิวเซอร์, Account Supervisor, ภัณฑารักษ์อิสระ, ภัณฑารักษ์ฝ่ายเนื้อหาและพัฒนาองค์ความรู้, นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ, ผู้จัดการวางแผนนโยบาย และผู้บริหารฝ่ายศิลปวัฒนธรรม

คือรายชื่อตำแหน่งตลอดอายุการทำงาน 20 ปีของเธอ

จากประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC (ปัจจุบันเป็น Creative Economy Agency (CEA)) ในฐานะภัณฑารักษ์หนึ่งในผู้ดูแลโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสร้างสรรค์เจริญกรุง (Co-create Charoenkrung) การทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ทั้งนักออกแบบ ศิลปิน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ทำให้เธอรู้ว่าถ้าอยากขับเคลื่อนวงการสร้างสรรค์ ทุกคนต้องร่วมมือกัน 

ศิลปินหรือนักออกแบบจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างอาจมองไม่เห็นความสำคัญหากไม่มีนโยบายรัฐบาลจูงใจ และทั้งหมดทั้งมวลจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีผู้บริโภค

เธอเปลี่ยนหมวกมาทำงานร่วมกับหน่วยงานเอกชนในตำแหน่งเมื่อ 4 ปีก่อน ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับศิลปะจนมีหน่วยงาน Art & Culture ในบริษัทอย่างจริงจัง และผลงานล่าสุดคือโครงการ The PARQ ที่มีงานศิลปะแสดงอยู่ในบริเวณต่างๆ รวมถึงการแบ่งชั้น 15 ให้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ Bangkok Art Biennale 2020 ให้คนทั่วไปเข้ามาชมได้ 

ความฝันของจรินทร์ทิพย์ในวันนี้ นอกจากต้องการขับเคลื่อนวงการและสนับสนุนคนทำงานให้พัฒนาฝีมือต่อ เธออยากเห็นศิลปะสาธารณะในประเทศมากขึ้น ศิลปะที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีรั้วกั้นหรือป้ายห้ามจับ และตั้งใจให้บทบาทใหม่ในฐานะภาคเอกชนผลักดันความฝันนี้ให้เป็นจริง 

คุณเรียนปริญญาโทสาขา Design Study สาขานี้เกี่ยวกับอะไร

ตอนปริญญาตรีสาขา Graphic Design ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เรารู้อยู่แล้วตั้งแต่เด็กว่าตัวเองชอบงานสายออกแบบ แต่พอไปทำงานจริง เราอยากลองอะไรหลายๆ อย่าง อยากเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ศูนย์ เพื่อจะได้ลองทำทุกอย่าง ตอนแรกเลยไปทำงานสายโปรดักชัน เป็นโปรดิวเซอร์ในบริษัทออแกไนเซอร์แห่งหนึ่ง ทำให้ได้ทักษะการจัดการ แต่สำหรับเรางานมันชั่วคราวไปหน่อย คิดมาตั้งสองเดือน จัดงานสามชั่วโมงจบ เราเสียดาย แต่เราขอบคุณประสบการณ์ตรงนั้น หลังจากนั้นก็เบนเข็มมาทำเอเจนซี่โฆษณาเพราะอยากเข้าใจอุตสาหกรรมทั้งหมด ทำทั้งสายครีเอทีฟและตำแหน่งดูแลลูกค้า เราอยากรู้ เราอยากเข้าใจ ทุกครั้งที่สมัครงานใหม่ เรามีโจทย์ของตัวเองว่าเราทำงานที่นี่เพื่ออะไร เพื่อเรียนรู้อะไร

ก่อนไปเรียนต้องเลือกระหว่างไปอเมริกากับอังกฤษ อเมริกาค่อนข้างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น Up-to-Date เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด หรือทฤษฎีการออกแบบที่ใหม่ที่สุด เขาก็สอนตามนั้น แต่ถ้าเป็นฝั่งยุโรป ทฤษฎีอาจไม่ใหม่เท่า แต่มันทำให้เราได้ถกเถียง ได้คิดสิ่งใหม่ๆ ต่อจากตรงนั้น มันค่อนข้างเปิด คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยปริญญาตรีก็บอกว่าเราน่าจะเหมาะกับฝั่งนี้

Design Study เป็นคลาสที่ไม่มีเก็บคะแนนระหว่างคอร์สเลย เก็บคะแนนครั้งเดียวคือตอนทำวิทยานิพนธ์ ตกผ่านว่ากันตามนั้น ซึ่งระหว่างนั้นมีโปรเจกต์เยอะมาก ทั้งกับเพื่อนและงานเดี่ยว สิ่งที่เราชอบคือ คอร์สนี้ต้องการคนจากหลายสาขา ในคลาสเราจึงมีตั้งแต่นักดนตรีอายุหกสิบ คนฮ่องกงที่จบเศรษฐศาสตร์มา เขาต้องการการแลกเปลี่ยนจากคนหลายสัญชาติและหลายอาชีพ สิ่งที่เรียนมันคือการแลกเปลี่ยนความคิด เหมือนเป็นคอร์สที่ไว้หาตัวเอง แต่ใช้วิธีการ Design Research ในระหว่างทาง หลังจากเราเรียนจบเขาเปลี่ยนชื่อคอร์สเป็น Applied Immagination ซึ่งก็มีคนโวยนะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นอย่างนั้นนะ มันคือการจินตนาการ การสร้างไอเดียบางอย่าง แล้วใช้กระบวนการรีเสิร์ชมาหาคำตอบ

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

โดยที่ปลายทาง คนที่เรียนอาจจะไม่ต้องทำงานในวงการสร้างสรรค์ก็ได้

ใช่ แต่มันคือการใช้กระบวนการสร้างสรรค์เพื่อหาคำตอบอะไรบางอย่าง โปรเจกต์แรก จำได้ว่าเขาจับกลุ่ม กลุ่มละประมาณเจ็ดคน แล้วก็จับเราโยนไปในสถานที่ต่างๆ ในลอนดอน กลุ่มเราได้ห้าง Selfridges ชั้น Basement ที่ขายของดีไซน์ต่างๆ เขาให้เวลาสองวัน แล้วมาพรีเซนต์งานในคลาส โดยวิธีการใดก็ได้ที่ไม่ใช่พาวเวอร์พอยต์

โจทย์ของเขาคือ Sense of Place หรือความรู้สึกของเราต่อสถานที่นั้นๆ เพื่อนบางกลุ่มได้ไป Tate Modern บางกลุ่มได้ตลาด ของเราได้ห้าง สุดท้ายเราพรีเซนต์ออกมาเป็นเพลง เพราะมีเพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งเป็นนักดนตรี แล้วทั้งคอร์สจะเป็นประมาณนี้หมดเลย สนุกมาก

คุณมีธงในใจในการทำทุกอย่าง แล้วเป้าหมายของการไปเรียน Design Study คืออะไร

เราชอบเรียนศิลปะ ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก วิชานี้ได้คะแนนดีตลอด พอทำงานเอเจนซี่โฆษณาก็ชอบคุยกับครีเอทีฟมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ ตอนไปเรียนก็มีความตั้งใจเหมือนกัน มีโปรเจกต์หนึ่งให้พูดถึงกล่องของขวัญที่เล่าปลายทางหรืออาชีพที่เราอยากเป็น สิ่งที่เราทำคือ กระดาษห่อของขวัญสีขาวเหมือนกระดาษสา มีเลเยอร์ซ้อนกันๆ แล้วก็หยดสีลงไป กระดาษแผ่นแรกสีซึมเยอะแล้วก็ค่อยจางลงๆ ซึ่งเป้าหมายเราตอนนั้นคืออยากทำเรื่องการให้ความรู้ 

พอกลับมาเมืองไทย เพื่อนก็ยื่นหน้าหนังสือพิมพ์ Bangkok Post มาให้ เป็นประกาศรับตำแหน่งคิวเรเตอร์ของ TCDC ที่กำลังรวมทีม ซึ่งมันคืองานในฝัน เป็นคิวเตอร์ ทำคอนเทนต์ เป็น Public Service ทำงานให้คนหมู่มาก เราเป็น TCDC รุ่นสอง รุ่นแรกอยู่ทำเนียบรัฐบาล รุ่นสองอยู่ The Emporium 

TCDC เป็นเหมือนโรงเรียนที่ดีที่ทำให้เรายิ่งรักอุตสาหกรรมศิลปะและการออกแบบ ยิ่งอยู่ยิ่งรัก ยิ่งอยากทำให้ดี เป้าหมายคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยงานออกแบบ แล้วทีมงานทุกคนมีสปิริตแบบเดียวกัน มีความคิดแบบเดียวกัน และเราได้เจอความรู้ใหม่ทุกวัน ได้เจอผู้รู้จากหลากหลายวงการตั้งแต่วงการออกแบบ ศิลปะ ธุรกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ ทำให้งานออกแบบข้ามสายเยอะมาก

เหมือนมันจับต้องได้มากขึ้น

มันทลายความคิดที่ว่าการออกแบบเป็นเรื่อง Aesthetic อย่างเดียว

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

อุปสรรคของวงการออกแบบไทยคืออะไรในความคิดคุณ

เราว่ามันค่อนข้างต่างคนต่างอยู่ ในวงการออกแบบจะมี Segment ของเขาแล้วไม่ค่อยข้ามกัน ทั้งจากตัวนักออกแบบเองและการรับรู้ของคนนอก บางอันอาจจะเกี่ยวข้องกันชัดเจนอย่างดนตรีกับแฟชั่น แฟชั่นกับการถ่ายรูป ซึ่งจริงๆ แล้วมันเชื่อมกันได้หมด ศิลปะกับวิทยาศาสตร์ ศิลปะกับสังคม บางคนที่สายศิลปะเลยก็อาจจะบอกว่างานดีไซน์ไม่ใช่ศิลปะ สำหรับเราเราว่ามันคือเรื่องเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละฝั่ง Spectrum 

แล้วโลกในวันนี้มันลื่นไหลมาก เราไม่ใช่คิวเรเตอร์ที่เป็นสายอาร์ตจัดๆ เรามาจากวงการดีไซน์ แต่ก็ไม่ใช่นักออกแบบ เราเลยมองตัวเองเป็นสะพานที่เชื่อมทุกศาสตร์ในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ นี้

ทำยังไงให้คนจากหลายๆ อุตสาหกรรมเข้าใจว่างานดีไซน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

สิบห้าปีที่แล้ว TCDC บอกว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นๆ ในโลกนี้ เพราะทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง เช่น วัฒนธรรม และสิ่งเหล่านี้สร้างเงินกับประเทศได้ไม่รู้จบ เพื่อให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมงานออกแบบ สนับสนุนมันสิ ให้โอกาสมัน ดูแลมัน นั่นคือสิ่งที่เราบอกรัฐบาล

คนถัดมาที่สำคัญมากคือนักออกแบบ นักเรียนสายการออกแบบ ให้พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ไม่ต้องก็อปปี้ญี่ปุ่น ไม่ต้องก็อปปี้สวีเดน ใช้ความเป็นไทยนี่แหละ มันทำให้คุณแตกต่าง ส่วนผู้ประกอบกัน เราก็ให้ความรู้เขาเรื่องงานออกแบบว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องแพ็กเกจจิ้งนะ แต่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาแบบดีไซน์

จำได้เลยงานแรกที่ TCDC คือการไปออกงาน BIG (Bangkok International Gift Fair) สมัยนั้นประเทศเรายังไม่ค่อยมีงานดีไซน์แฟร์ แต่งานนี้รวมผู้ประกอบการที่ทำผลิตภัณฑ์สวยๆ เราไปเพื่อแนะนำองค์กรว่าเป็นใคร เราจะทำอะไร เราจะมีห้องสมุด ก็มีคนถามว่าเป็นองค์กรรัฐเหรอ ฟรีใช่ไหม เราบอกไม่ฟรี ต้องจ่ายเงิน เขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ 

ทีมเลยต้องผนึกกำลังเพื่อทำให้คนเข้าใจสิ่งที่เราทำ เข้าใจว่าการออกแบบมันดี มันอาจจะไม่เห็นผลภายในสามปี ห้าปี แต่​ ณ วันนี้มันก็พิสูจน์แล้วใช่ไหม วันที่เราทำนิทรรศการแล้วมีคนมาคอมเมนต์ว่าไม่เห็นด้วย เราโคตรดีใจ แปลว่าเขาอ่านสิ่งที่เราสื่อสารออกไป

วันนี้เราเลยเห็นเด็กรุ่นใหม่ไปพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่เยอะขึ้น

มันกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา อย่างงาน Design Week ก็ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในย่าน เราว่าทุกอย่างต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำ ออกแรงเยอะๆ แล้วเราก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย

แต่วงจรทั้งหมดต้องมีตั้งแต่รัฐบาล ผู้สนับสนุนในเชิงนโยบาย นักออกแบบที่เก่งและมีความรู้ แต่อีกสองห่วงโซ่ที่สำคัญมากคือภาคเอกชน ที่ต้องรับเอาสิ่งนี้ในปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้เกิดการว่าจ้างนักออกแบบ และสุดท้ายคือ ผู้บริโภค ต้องเข้าใจมูลค่าและคุณค่าในงานออกแบบ และยินดีจ่ายให้ตรงนั้น 

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

นั่นคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจเปลี่ยนหมวกจากภาครัฐมาเอกชนใช่หรือเปล่า

เราอยากให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญและลงทุนกับงานออกแบบกับศิลปะ สำหรับเรา รัฐบาลกับเอกชนมีอำนาจพอๆ กัน ในบางครั้งภาคเอกชนอาจมีแรงกระเพื่อมกว่าด้วยซ้ำ เพราะตัดสินใจทำได้เร็วกว่า เลยตัดสินใจมาทำงานที่นี่เพราะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ จึงว่าจ้างคนสายอาชีพเรามาทำงานนี้โดยตรง ถ้าเราสามารถนำเสนอสิ่งที่ดีให้กับเจ้าขององค์กร ที่ตอบโจทย์เชิงการค้า ในขณะเดียวกันประโยชน์ก็กลับมาสู่คน สู่เมือง 

วิธีที่ง่ายที่สุดขององค์กรเอกชนในการสนับสนุกวงการงานออกแบบหรือศิลปะอาจเป็นสปอนเซอร์ในเทศกาลงานสร้างสรรค์ต่างๆ กลยุทธ์ของคุณคืออะไร 

เราไม่ทำทุกอย่างด้วยความฉาบฉวย หนึ่ง ต้องตีโจทย์ขององค์กรก่อน ซึ่งโจทย์องค์กรท้าทายมาก เพราะเป็นเชิงธุรกิจ เราเลยต้องหากลยุทธ์แบบไหนที่จะไม่ผิวเผิน มันเลยไม่ใช่แค่การสปอนเซอร์และจบไป เราอาจจะสปอนเซอร์ได้ แต่คนที่เราไปทำงานกับเขาจะต้องมีวิสัยทัศน์ตรงกับองค์กร และมันจะเกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว Stakeholder ทุกคนได้ประโยชน์จากมัน

หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมมีหน้าที่ทำอะไร

งานเรามันอาจจะไม่ใช่งานที่สร้างกำไรโดยตรง โปรเจกต์ที่เราจะทำถือว่าสำเร็จ เมื่ออยู่ในกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้อย่างเหมาะสม ศิลปินหรือนักออกแบบได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม องค์กรได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม ไม่มีใครถูกเอาเปรียบ เรายึดถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ

เราเป็นคนตรงกลาง เราต้องรู้ใจเจ้าของโครงการว่าเขาชอบอะไร แล้วเราก็เลือกงานที่ดีที่สุดให้กับเขา ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องเข้าใจศิลปิน ให้เขาได้ทำเต็มที่ ช่วยส่งเสริมให้เขาคิดไอเดียอย่างสุดความสามารถ ถ้าเราเจอตรงกลางพอดีที่ทุกคนแฮปปี้ ศิลปินได้ทำงานดี งานสวย งานสร้างสรรค์แปลกใหม่ เจ้าของประทับใจ คนเสพงานประทับใจ นั่นคือความสำเร็จของงานเรา แต่ถ้าวันหนึ่งเราสามารถคิดโมเดลที่ทำให้เกิดรายได้กลับคืนมา หรือทำให้งานชิ้นนั้นมีมูลค่า ก็เป็นความท้าทายที่ดีอีกอย่างหนึ่ง

อุตสาหกรรมศิลปะมันซับซ้อน การซื้องาน การสะสมงาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้งานมีมูลค่า ให้ศิลปินมีโปรไฟล์ที่ดีขึ้น

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

แต่คนมักมองว่าซื้องานหนึ่งชิ้นคือการจ่ายเงินศิลปินคนเดียว ไม่ได้มองถึงคนที่อยู่เบื้องหลังอื่นๆ

มหาศาล การที่เราซื้องานหนึ่งชิ้นมาเก็บไว้คือการเพิ่มมูลค่า เอาออกมาอยู่ในตลาดก็เป็นการเพิ่มมูลค่า ทุกอย่างมีกลไกที่รองรับอยู่ อย่างงานของ คุณอ้อ (พรพรรณ สุทธิประภา) ที่อยู่ที่โถงใน The PARQ ก็มีคนมาติดต่อให้คุณอ้อทำแบบชิ้นนี้แล้ว คนที่ทำหน้าผลิตก็ได้งานต่อๆ ไปอีกหลายส่วน 

ความท้าทายของงานนี้คืออะไร

เราว่าความท้าทายของเราเหมือนตอนที่อยู่ TCDC แรกๆ เราต้องบอกว่า ‘เราเป็นใคร’ กับประชาชนทั้งประเทศที่ต่อว่ามากมายว่าใช้เงินเยอะ เอาไปทำอะไรกัน อันนั้นคือหนึ่งองค์กรบอกคนทั้งประเทศ แต่อันนี้คือยูนิตหนึ่งที่นอกจากต้องบอกคนนอกแล้ว ยังต้องบอกคนในองค์กรว่าเรากำลังทำอะไร เข้าใจในสิ่งที่เราทำ จะได้ค่อยๆ Appreciate มัน

อย่างตอนที่ทำออฟฟิศใหม่ ออกแบบภายในเรียบร้อย แต่ผนังยังว่าง เจ้านายก็มอบหมายหน้าที่ให้ทีมเราหารูปภาพมาติดผนัง ถ้าคิดง่ายๆ เราเอารูปอะไรมาติดก็ได้ แต่ทีมเราตั้งใจมาก เลือกกราฟิกดีไซเนอร์มาออกแบบภาพตามชื่อห้องที่ตั้งไว้แล้ว มีคอนเซปต์ และใช้กระบวนการผลิตแบบ Silkscreen กับใช้การปริ้นแบบ Artist Grade วันที่ติดรูป เราก็จ้างคนที่ติดรูปงานอาร์ตมืออาชีพ วัดตำแหน่งดีๆ มาทำให้ แล้วเราก็ถ่ายวิดีโอพร้อมส่งอีเมลหาทุกคนในบริษัทว่า ออฟฟิศเรามีรูปภาพใหม่มาติดนะ และเราโชว์ทุกอย่าง โชว์กระบวนการ โชว์เทคนิค ใครคือดีไซเนอร์ เขาอยู่สตูดิโอไหน เขาทำอะไรบ้าง ใครคือพรินเตอร์ แล้วก็ขอให้ทุกคนเอ็นจอย บางคนก็ส่งกลับมาว่าประทับใจมาก ขอบคุณจริงๆ 

ตอนแรกคนก็ไม่เข้าใจเยอะ คนที่คิดว่ามันไม่สวยก็มี ซึ่งไม่เป็นไรเลย เพราะความสวยงามเป็นเรื่องส่วนบุคคลอยู่แล้ว

คิวเรเตอร์น่าจะเจอคอมเมนต์จนชินแล้ว

มันเป็นการฝึกธรรมะส่วนตัวเลยนะ ยอมรับว่ามีเสียใจด้วยธรรมชาติของมนุษย์ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไร นานาจิตตัง 

เราชอบตีโจทย์ ถ้าเราตีโจทย์ออกแล้วงานนั้นมันตอบโจทย์ได้ เราจะอธิบายกลับไปว่าสิ่งที่คุณเห็นมันตอบโจทย์อะไรบ้าง แล้วเขาจะเข้าใจเอง มันไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล ถ้าเขาเข้าใจเหตุผล ที่มา และกระบวนการ ซึ่งเราบูชากระบวนการ ถ้ากระบวนการดี คิดมารอบด้าน มันจะโอเค

เราได้สิ่งนี้มาจากตอนเรียนศิลปกรรมฯ จุฬาฯ อาจารย์ให้คะแนนสเกตช์ช่วงระหว่างทำสัดส่วนเยอะกว่าตอนงานเสร็จ เรียกตรวจสเกตช์บ่อย เหมือนกันกับปริญญาโท งานตอนจบ ไอ ด้อน แคร์ เลย ยูจ้างคนอื่นทำก็ได้ แต่หลักการและเหตุผล ความคิดที่อยู่เบื้องหลังงานชิ้นนั้น ได้คะแนนมากกว่าปลายทาง

เวลาคนไม่ชอบเราเลยไม่เป็นไร แต่ถ้ามีโอกาสอธิบายก็จะอธิบายให้ฟังว่ามันเป็นแบบนี้เพราะอะไร ขณะเดียวกันก็เก็บเอาไว้ทดสอบตัวเองครั้งต่อไป เราจะได้เข้าใจเทสต์คนอื่น อาจจะเอาเทสต์ตัวเองตั้งต้นแหละ แต่จะทำยังไงให้กลมกล่อมที่สุด

คุณอยากเห็นงานศิลปะแบบไหนในบ้านเรา

เราอยากให้มี Public Art เวลาเราไปต่างประเทศ ไปนิวยอร์ก ไปลอนดอน ไปญี่ปุ่น เราจะตื่นเต้นมากที่มีงานของคนคนนี้อยู่ที่จัตุรัสนี้ ช่วงหนึ่งรู้สึกดีใจมากที่มีประติมากรรมในสวนของกรุงเทพฯ ตื่นเต้นมาก พอตัวเองได้มาทำสิ่งนี้กับ One Bangkok คือฝันเป็นจริง โจทย์ข้อใหญ่ของเราคือทำยังไงให้ Public Art เป็นของสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้จริงๆ คนมองเห็นและเข้าไปอยู่กับมันได้ ทำยังไงถึงไม่ต้องมีรั้วกั้นหรือป้ายห้ามจับ ให้มันได้ทำหน้าที่ของมันในฐานะศิลปะสาธารณะจริงๆ ซึ่งวัสดุออกแบบมาให้ทนแดดทนฝน จับแล้วไม่เป็นรอยอยู่แล้ว ล่าสุดเราไปเมลเบิร์นมา ที่ National Gallery of Victoria ประติมากรรมที่ตั้งโชว์ก็มีเด็กมาปีนป่ายกันสุดชีวิต

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

เราไม่ค่อยเห็นงานศิลปะแบบนี้ในประเทศ 

บ้านเราเติบโตมาจากพิพิธภัณฑ์แบบเดิม จนเริ่มมีองค์กรอย่าง BACC ที่แสดงงานร่วมสมัย มี TCDC ที่สนับสนุนงานดีไซน์ มีแกลเลอรี่อิสระเกิดขึ้นมากมาย งานก็เริ่มหลากหลายขึ้น Public Art ก็เป็นงานอีกรูปแบบหนึ่ง

อีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคคือการผลิต สมมติศิลปินมีไอเดียมากมายที่วาดออกมาได้ แต่หาวัสดุ หาคนทำไม่ได้ งานเลยไปไม่ถึง อย่างมีเพื่อนเราคนหนึ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาทำบริษัทที่รับขึ้นงานศิลปะชิ้นใหญ่ๆ ทำอย่างนี้อย่างเดียวเลย ศิลปินคนหนึ่งอาจจะทำโมเดลเซรามิกมาอันเท่านี้ แต่บริษัทนี้จะขยายให้ขนาดสี่เมตรได้ มันต้องใช้เทคโนโลยี แรงงาน วัสดุ และการลงทุนขนาดไหน เขามีอุปสงค์ มันเลยมีธุรกิจแบบนี้เกิดขึ้นได้

ภาคเอกชนจึงมีบทบาทมากๆ งานของเราคือการให้โอกาสศิลปินในการสร้างงานจากโจทย์ที่ท้าทาย พอนำมาแสดงในพื้นที่ขององค์กร มีคนมาเห็นแล้วอยากสะสม ศิลปินหรือดีไซเนอร์ก็ได้มีโอกาสสร้างงานต่อ ตอนนี้ก็มีองค์กรเอกชนหลายแห่งที่ทำแบบนี้ จะหยิบเอาดีไซน์มาเป็น Strategy ในการทำธุรกิจก็ได้ จะหยิบเอาดีไซน์มาเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาธุรกิจตัวเองก็ได้ แล้วแต่จะใช้ ซึ่งตอนนี้เอกชนทำกันเยอะกัน และเราได้เห็นนักออกแบบได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือมากขึ้น

ถ้างานคุณไม่ได้สร้างรายได้โดยตรงให้กับบริษัท คุณวัดผลของงานตัวเองยังไง

สุดท้ายมันอยู่ที่การวาง Positioning ของกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะในแต่ละองค์กร ถ้าองค์กรนั้นเป็น Marketing Strategy มันก็มีหน้าที่ดึงดูดคน ให้มารู้จักที่นี่ จบ บางองค์กรอาจจะใช้อาร์ตเป็นธุรกิจเลย โดยการสร้างมิวเซียมขึ้นมาเพื่อหารายได้ อันนั้นก็เหนื่อยหน่อย (หัวเราะ)

แต่องค์กรเรา อาร์ตถูกวางไว้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ที่เติมเต็มโครงการ พื้นที่ และย่าน โจทย์หลักของเราคือทำยังไงให้คนเห็นคุณค่าและเข้าถึงงานเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง คนดูชื่นชอบ เจ้าของงานชื่นใจ ซึ่งจะวัดผลได้ต้องกลับมาคุยกับเราอีกทีหลัง One Bangkok เปิดไปห้าปีแล้ว 

ยกตัวอย่างตอนสมัยทำนิทรรศการ TCDC กว่านิทรรศการจะ Kick Off ตอนแรกคนก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง หลงมาบ้าง จนถึงจุดหนึ่งเริ่มคอมเมนต์ เริ่มมีคนตาม แต่วันที่จะได้ผลจริงคือวันที่มีคนออกไปทำเอง เช่น องค์กรหรือหลายๆ ธุรกิจทำนิทรรศการขึ้นมาเพื่อบอกเล่าธุรกิจของเขา เริ่มเกิดวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้น 

อย่างการจ่ายเงินเพื่อเข้าห้องสมุด ตอน TCDC เปิดใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ใหม่มาก มาวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติ วันหนึ่งเราอาจจะมี Public Art ที่ไม่มีรั้ว แต่ก็ไม่มีใครไปขีดเขียนอะไร และคนไม่กลัวมัน วันนั้นแหละคือวันที่วัดผลได้

หรือวันก่อน มีงานเปิดตัวศิลปินที่ชั้นสามของ The PARQ แฟนคลับมาร่วมงานมากมาย คนจัดงานเขาเอารั้วมากั้นล้อมงานประติมากรรมชื่อ Cocoon ที่เป็นเหมือนเก้าอี้ใหญ่ๆ เราเลยบอกว่าเปิดรั้วเถอะ เปิดไปเลย มันแข็งแรงทนทาน ขย่มไม่หล่น นั่งได้ แต่เขาบอกไม่เอาครับ กลัว เราเข้าใจมุมเขานะ แต่มุมของเรา ถ้ามันเกิดมาเป็น Public Art แล้ว ศิลปินกับเราต้องช่วยกันคิดว่าจะออกแบบยังไงให้ทนทาน อยู่ได้ ไม่มีชิ้นส่วนแหลมคม ทนน้ำทนฝน แปลว่ามันใช้งานได้ 

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

คนอาจจะยังเข้าใจไม่เข้าใจศิลปะในบางบริบท 

คนคุ้นชินกับงานที่อยู่ในแกลเลอรี่ที่ห้ามจับ ก็จะเป็นคนเฉพาะกลุ่มไปดู ถ้าอยู่ตามห้างก็เป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อการตลาด ก็เกิดขึ้นเฉพาะกาลบางช่วง แต่มันยังขาดผลงานที่อยู่ในชีวิตประจำวันผู้คน แบบที่เราจะเดินผ่านไปโดยไม่รู้ตัวว่ามันคืองานศิลปะด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นธรรมดาไปแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้นได้ ทุกคนจะได้เสพงานศิลปะ

ในต่างประเทศมีหลายโครงการให้เช่ายืมงานศิลปะมาติดที่บ้าน แทนที่จะยืมหนังสือกลับไปอ่าน ก็ยืมงานไปเสพ มันคือกลไกที่ทำให้งานศิลปะอยู่กับคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องทำให้เห็นว่างานศิลปะมีหลายประเภท อันไหนที่ควรจะทะนุถนอมก็ทำ มีป้ายห้ามจับหรือกั้นรั้ว ดูแลไปตามความเหมาะสม บางงานใช้เพื่อบำบัด ใช้เพื่อตกแต่ง ใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ 

มันต้องเกิดจากการเห็นบ่อยๆ เสพบ่อยๆ มีคนทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่าง Bangkok Biennale นี่ดีมาก คนเริ่มเห็นว่าศิลปะก็อยู่ที่วัดได้ เข้าใจว่าต้องเคารพชิ้นงานยังไง พอมีเยอะๆ ซ้ำๆ มีบ่อยๆ คนก็จะคุ้นชิน อย่างงาน Cocoon ที่ชั้นสาม งานต่อไปอาจจะไม่มีใครเอารั้วมาล้อม เพราะไม่คิดว่ามันคืองานศิลปะ 

วันหนึ่งเราอาจจะใช้มันเป็นเวที

ใช่ มันคืองานศิลปะที่อยู่กับคน นั่นคือหน้าที่ของมัน แต่ทุกคนใช้อย่างเคารพ ไม่ไปขย่มมัน ไม่มีใครเอาสีสเปรย์ไปพ่นมัน วันนั้นแหละ

คุณสะสมงานศิลปะอยู่แล้วไหม

มีบ้าง ล่าสุดเพิ่งไปซื้องานจากเชียงใหม่มา เป็นของ อาจารย์กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย

เรามีนิสัยชอบสะสมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ชอบเก็บขวดน้ำ ขวดน้ำเปล่านี่แหละ เวลาไปเที่ยวจะซื้อขวดน้ำที่ออกแบบสวยๆ กลับมา สมัยที่ยังเอาน้ำขึ้นเครื่องได้ ทุกครั้งที่ไปเที่ยวเราจะพกสก็อตเทปกับบับเบิ้ลแร็ปติดกระเป๋าไปด้วย ยังเคยคุยกับแฟนเลยว่า ถ้าโจรขึ้นบ้านเรา จะไม่ได้อะไรเลยนะ เขาจะด่าเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

ตอนอยู่อังกฤษชอบเก็บของจากซูเปอร์มาร์เก็ต คนอังกฤษเป็นคนเทสต์ดีและทุกอย่างคือการออกแบบ ซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับเราคือแกลเลอรี่ชั้นดี ทุกอย่างมันมีดีไซน์ที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ด้านความสวยงาม แต่มีไอเดีย ถุงมันฝรั่ง แพ็กเกจต่างๆ ของไม่มีราคาก็มีดีไซน์ หรือตั๋วรถไฟก็เคยเก็บ เก็บใส่แฟ้มไว้ ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสได้กลับมาสอนหนังสือจะเอามาใช้ แต่ตอนหลังก็มีอินเทอร์เน็ต อยากดูอะไรก็ Google ได้หมดแล้ว

อาชีพนักออกแบบที่โน่นถึงรุ่งเรือง เพราะมีงานที่ดี มีโจทย์ที่ดีให้ทำ และ Ads ที่เราชอบมากๆ คือ Ads ที่รัฐบาลเป็นคนว่าจ้าง Appreciate สุดเลย โปรเจกต์ดีๆ ส่วนใหญ่คือโปรเจกต์รัฐ ห้ามทิ้งขยะ รณรงค์เรื่องนั่นนี่ ออกแบบดีทุกอัน เราถ่ายเก็บไว้หมดเลย 

หลังๆ เพื่อนก็ชอบซื้อขวดน้ำมาให้ ทั้งขวดแก้ว ขวดพลาสติก พอเราเรียนสายดีไซน์มา งานดีไซน์หนึ่งชิ้นจะมีเหตุผลว่าทำขึ้นมาเพื่ออะไร แก้โจทย์อะไร ถึงเกิดมาเป็นดีไซน์นี้

น่าสนใจ เพราะสุดท้ายมันคือขวดน้ำเหมือนกัน

ใช่

แปลว่ามันแก้โจทย์คนละอย่าง

ใช่ หรืออาจจะเป็น Positioning ของแบรนด์เขาที่ตั้งใจทำมาเพื่อพกพาก็ได้ มันมีเหตุผลในการออกแบบ มีเหตุ ส่วนดีไซน์เป็นผล

วงการงานสร้างสรรค์เปลี่ยนไปมากแค่ไหน

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้บริหาร Art&Culture บ.มหาชนที่อยากเห็นศิลปะไม่มีรั้วและป้ายห้ามจับ

ถ้าเทียบกับตัวเองสมัยเรียน เวลาจะหาแรงบันดาลใจจะต้องไปจตุจักร ฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับตึกแดง เป็นฝั่งที่ขายหนังสือฝรั่งและมักมีแมกกาซีนเมืองนอกมาเรื่อยๆ มีสองที่ที่เราจะไปยืนอ่านคือ ร้านนี้กับ Kinokuniya ที่อิเซตัน และแมกกาซีนที่ซื้อในตอนนั้น จำได้เลยคือ Elle Decor ยุคนั้นไม่มีอะไรจริงๆ นะ งานออกแบบที่รุ่งเรืองที่สุดคือวงการโฆษณา นอกนั้นก็ไม่มีอะไร

พอมาตอนนี้มันเหมือนระเบิด หลากลายมาก (ลากเสียง) เราอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างแอนะล็อกกับดิจิทัล เราได้เรียนคอมพิวเตอร์ในยุคที่ใช้ Apple แรกๆ กับสมัยที่วิชากราฟิกจะมีกระดาษหนึ่งแผ่น ตีเส้นและวัดพอยต์ด้วยไม้บรรทัด Pica ออกแบบหน้ากระดาษเอง คิดเองว่าควรจะมีตัวหนังสือกี่พอยต์ ถ้าอยากวางโลโก้ต้องตีกรอบโลโก้แล้วถมดำ ใช้ดินสอ Rotring วาดเอง แล้วเอากระดาษแผ่นนี้ไปที่ร้าน เขาจะคิดพอยต์ตามที่เราดีไซน์ เราต้องมาตัดเป็นชิ้นๆ แล้วมาแปะเพื่อส่งโรงพิมพ์ ให้โรงพิมพ์ทำเพลตต่อ

แต่เราชอบมากนะ มันทำให้เราเข้าใจวิวัฒนาการ ให้เราเขาใจสุนทรียะในแต่ละยุค อยู่กับมันมาเรื่อยๆ และงานกับไลฟ์สไตล์ของเราเป็นเรื่องเดียวกันตลอดเวลา แยกไม่ค่อยออก อย่างไปงาน Design Week ก็เป็นทั้งความชอบ ไปเจอเพื่อนเก่า ไปทำงาน เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็จะเป็นที่ที่ตัวเองสนใจ สำหรับเรามันเลยเป็นเรื่องเดียวกัน และนั่นคือความสุขที่สุด อาจจะอยากหน่อยที่มีเรื่องธุรกิจ แต่เราไม่รู้สึกฝืน

อย่าง Spectrum ที่เราพูดถึงช่วงแรกๆ วันนี้มันค่อยเขยิบเข้ามาหากัน อีกหน่อยเส้นแบ่งตรงนั้นจะค่อยๆ เบลอ แต่ต้องมีใครบางคนลุกขึ้นมาทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ให้เกิดแรงกระเพื่อม เช่น เทศกาลต่างๆ เป็นทางหนึ่ง งานแฟร์เป็นทางหนึ่ง ภาครัฐและเอกชนสำคัญมากๆ ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แล้วประโยชน์ที่จะได้คือพวกเราที่ทำงานสร้างสรรค์มีงานทำ มีคนรู้ว่าการถ่ายภาพที่ดีคืออะไร จะไม่มีใครต่อราคาเรา คนจะเข้าใจงานเขียน การฟัง การวิเคราะห์

คำถามสุดท้าย ทีสิสปริญญาโทที่เป็นคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ของทั้งคอร์สที่เล่าให้ฟังตอนแรก คุณทำเรื่องอะไร

“How can culture be communicated through food and its packaging?” เราจะสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมผ่านอาหารและบรรจุภัณฑ์ได้ไหม

เราเป็นคนชอบตีโจทย์ ตอนนั้นก็ปรึกษากับอาจารย์ที่เมืองไทยว่า วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศเขามองหาอะไร อาจารย์ก็บอกว่า น่าจะเป็นเรื่องที่คนในชาติเขาไม่คุ้นเคย แล้วมันจะมีประโยชน์ต่อคนในชาติเขา เพราะอย่าลืมว่าทุกโรงเรียนเป็นธุรกิจ วิทยานิพนธ์ก็ควรจะมีผลอะไรบางอย่าง เขาน่าจะมองหามุมมองใหม่ๆ

ซึ่งเรื่องนี้ก็กระทบกับเราจริงๆ อาหารไทยในอังกฤษดังมาก ดังถึงขนาดมันฝรั่งทอดกรอบยี่ห้อดีๆ ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นรสแกงของไทย ในผับอังกฤษที่คนไปกินเบียร์กันก็มีแกงเขียวหวานขาย แต่แพ็กเกจจิ้งยังดูเป็นของจีนไม่ก็อินเดีย อาหารบางที่ก็ยังไม่ใช่ไทยเสียทีเดียว เลยอยากรู้ว่า Cultural Identity แสดงออกผ่านอาหารหรือแพ็กเกจจิ้งได้ยังไง แล้วถ้าอังกฤษจะต้องแก้ไขปัญหานี้ จะแก้ยังไง พร้อมแนะนำวิธีการบริโภคอาหารไทยแบบใหม่ ว่าถ้าจะกินให้เหมือนคนไทยจริงๆ ต้องกินยังไง ที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนอังกฤษ เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น และช่วยทำให้วัฒนธรรมของไทยชัดขึ้น ชอบมาก สนุกดี

ได้เกรดเท่าไหร่จำได้ไหม

ได้ Distinction (เกียรตินิยมอันดับ 1) (ยิ้ม)

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน