“สวัสดีค่ะ หนูชื่อ น้องเพลง ตัวยาวยาว

“น้องหนูชื่อ น้องเพลิน ตัวอ้วนอ้วน ค่ะ

เสียงสดใสเจื้อยแจ้วของเจ้าบ้านไซส์จิ๋ว เอ่ยต้อนรับเรา-ผู้มาเยือนซึ่งเดินทางราวหนึ่งชั่วโมงจากเมืองหลวง ถึงบ้านหลังสีขาวหมดจด

บ้านชั้นเดียวดีไซน์เรียบง่าย ที่ใครขับหลงเขามาต้องจอดแวะเพราะนึกว่าคาเฟ่นี้ เป็นของ โจ้-ชรินทร์ และ ปุ๋ย-รุจิรา ไพบูลย์ศักดิ์ สามีภรรยาพลัดถิ่นและสองลูกสาววัยกำลังซน

ที่ดินทำเลถูกใจในเมืองทะเล มีธรรมชาติครบ ราบโล่งกว้าง มองไปด้านหลังสุดสายตาเห็นภูเขา รอบข้างมีเพื่อนบ้านหลักหน่วย จึงมีความเงียบสงบเป็นข้อดีอีกอย่าง

300 ตารางวาในเนื้อที่ราว 2 งาน สร้างเป็นส่วนอยู่อาศัย ซึ่งได้น้องชาย เจแปน-ชนินทร์ ไพบูลย์ศักดิ์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบให้ ส่วนที่เหลือให้ร่มไม้นานาพรรณในสวนจัดเองของโจ้ แปลงดอกไม้และเรือนผักหลังบ้านของปุ๋ยกับเด็ก ๆ อยู่

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ทั้งคู่สร้างเพื่อเตรียมตัวสำหรับการมีเด็ก ให้พวกเขาได้เติบโตเต็มที่และมีความทรงจำที่ดีกับบ้าน เลยออกแบบอย่างของเล่นทั้งรูปทรง มีความปลอดภัย และมีพื้นที่ทุกส่วน ส่งเสริมพัฒนาการผ่านความสนุกที่ได้อยู่บ้านอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ในขณะเดียวกัน เมื่อวันวัยเพิ่มขึ้น ทั้งสองแก่ตัวลง ก็ยังคงเหมาะและอยู่สบาย โดยไม่ต้องเดินเหินขึ้นบันไดสูง

เรื่องราวในบ้านของเล่นนี้เป็นอย่างไร ทั้งสามรอเล่าให้ฟังอยู่นี่แล้ว

(อยากให้บทความนี้มีเสียงฝีเท้าและเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ คลอไปด้วยเชียว)

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

บ้านของนักย้ายบ้าน

(โจ้) เรามีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง พื้นเพเราอยู่ที่ขอนแก่น ผมทำงานเป็นวิศวกร บริษัทเอกชน วางแผนจะทำบ้านหลังนี้ไว้แต่แรก แต่ลักษณะงานต้องเดินทางตลอด ไปตามต่างจังหวัด ไปอยู่ต่างประเทศ ได้ใช้ชีวิตอยู่บ้าน 1 วันถ้วน ไม่มั่นใจว่าต้องอยู่ที่ไหน เลยต้องเช่าบ้านอยู่ ที่สุดท้ายที่มาเช่าอยู่คือบ้านบึง ชลบุรี

เราอยู่ทาวน์โฮมมาก่อน ช่วงหนึ่งที่แต่งงานไปแล้วมีตัวเล็ก พอเขาเริ่มเติบโตมีพัฒนาการก็เริ่มเห็นปัญหา กังวล เพราะบ้านสองชั้น เขามีสิทธิ์คลานสำรวจไปทุกที่ มีโอกาสเกิดอันตราย ก็มองว่าเราต้องทำบ้าน ซื้อบ้านอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง คิดว่าจะอยู่ตรงไหนดี ก็มีไปดูบ้านที่กรุงเทพฯ ดูรอบ ๆ ปริมณฑลต่าง ๆ ด้วยอาชีพ เรารู้ว่าต้นทุนก่อสร้างเท่าไหร่ (หัวเราะ) ที่ต้องจ่ายให้ครอบครัวเราอยู่สบายก็หลักสิบล้านขึ้น ซึ่งเราไม่ไหว เลยตัดสินใจว่าจะสร้างเอง

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

พื้นที่ที่เราต้องการสำหรับการเลี้ยงเด็กต้องมีบริเวณกันไม่ให้รบกวนเพื่อนบ้าน เพราะลูกเรายังเล็ก ใช้เสียงมาก เราต้องการพื้นที่่ค่อนข้างโล่ง ลมผ่านตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่งคือมีพื้นที่ให้วิ่งเล่นตรงไหนก็ได้ ปั่นจักรยานได้ ไม่แออัดเกินไป ก็ไปเจอที่เขาประกาศขายในเฟซบุ๊กพอดี พอมาดูพื้นที่จริงค่อนข้างเรียบ ไม่ต้องถมหรือปรับปรุงอะไรมาก เห็นภูเขาก็เออ อยากได้บ้านที่เห็นธรรมชาติ ตอนนั้นมีเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยังไม่มีโควิด-19 ก็อยากได้ที่อากาศดี ๆ ถ่ายเท เราตัดสินใจซื้อเลยใน 30 นาที ที่ดินเป็นของเพื่อนบ้านมาก่อน เป็นเครือญาติกันหมดเลยตรงนี้ ผมก็สนิทหมดละ ความจริงแบบบ้านเสร็จก่อน น้องดีไซน์ให้ว่าใช้พื้นที่เกือบ 1 งาน (300 ตารางเมตร) แต่เราหาพื้นที่อีก 1 งานไม่ได้ ที่ตรงนี้ 2 งาน มันทำให้เรามีสวน เลยยอมจ่ายแพงขึ้นหน่อย

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

บ้านที่น้องชายออกแบบ

อยู่ได้ประมาณ 6 เดือนเข้าเดือนที่ 7 แล้ว ตอนสร้างใช้เวลาประมาณ 4 เดือนครึ่ง ตกแต่งอีกครึ่งเดือน รวม ๆ 5 เดือน แต่ออกแบบใช้เวลากว่า 1 ปี เพราะตอนแรกน้องก็ยังไม่มั่นใจว่าเราจะเอาจริงหรือไม่เอา (หัวเราะ) เขาก็ค่อย ๆ ทำ คิดไปเรื่อย ๆ ผมก็ไม่ได้ตามด้วย

(บรีฟน้องยังไง) โห! คุยกันสั้นมากเลยว่าไปออกแบบมาให้หน่อย (หัวเราะ) อยากได้บ้านที่อยู่กับครอบครัว เผื่อลูกตัวเล็กอีกคนที่จะเกิดมา คุยแค่นี้จริง ๆ เขารู้ว่าเรามีสไตล์ยังไง คืออย่างน้อยคือต้องมีพื้นที่สวน เพราะเราชอบต้นไม้ แล้วรูปแบบของบ้านเราก็ชอบมินิมอล โทนขาว ๆ เรียบ ๆ เน้นพื้นผิวที่ทำความสะอาด ดูแลรักษาง่าย มีพื้นที่ให้ทุกคนอยู่สบาย แล้วก็อยากได้บ้านที่ไม่ต้องปีนบันได ไม่ต้องคอยระวังว่าลูกจะวิ่งขึ้นลงเองมั้ย เพราะงั้นต้องเป็นชั้นเดียวเท่านั้น พอเป็นชั้นเดียวเรามองว่าในอนาคตแก่ตัวไปก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ ไม่ต้องปรับเปลี่ยนฟังก์ชันอะไร และเขาก็คิดเผื่อไว้ให้ว่าเด็กต้องการพื้นที่ประมาณไหน

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

(เจแปน) ด้วยงบกำจัดและความต้องการที่ไม่ได้มีมาก ผมเลยคุยกับพี่ว่าเราจะออกแบบด้วยธรรมชาติของผมกับเขาตั้งแต่เด็กที่ชอบใช้ชีวิตในห้องนั่งเล่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม โตมามันทำให้เรามีนิสัยอย่างหนึ่งคือชอบอยู่รวมกันตลอดเวลา รู้สึกว่าสิ่งที่นี้ทำให้ผมกับพี่มีกิจกรรมร่วมกันและได้คุยกันตลอด เราอยากให้เด็กๆ ได้ธรรมชาติตรงนี้ไปด้วย เลยออกแบบให้ห้องนั่งเล่นเป็นพื้นที่ที่พิเศษ และอยู่ได้ทั้งวัน

ผมเชื่อเรื่องการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ได้เห็นกันตลอดเวลาน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับเด็กช่วงแรกเกิด เขาก็จะมีความทรงจำว่าเห็นพ่อนั่งทำงานอยู่ เห็นแม่ทำอันนี้อยู่ ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กันแต่ในห้องนั่งเล่น เลยตัดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นมาก เช่น ห้องทำงาน ห้องสมุด ออกไป แล้วเอามากองในนี้เป็นหลัก ทำเป็น Open Plan เพื่อช่วยเรื่องการถ่ายเทอากาศและการดูแลรักษา

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม
บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

ส่วนตัวบ้านดีไซน์สะท้อนถึงเด็ก ด้วยมู้ดและรูปทรงลูกบาศก์ตัวต่อ ให้เขารู้สึกว่าบ้านหลังนี้เหมือนเป็นโลกของของเล่นชิ้นหนึ่งที่เขาอยู่อาศัยได้ ฟอร์มบ้านจะดูสบาย ๆ เข้าไปก็ไม่ได้รู้สึกซับซ้อนอะไร

สำหรับข้างใน พื้นฐานช่วงแรก เด็ก ๆ ชอบวิ่ง ก็ออกแบบให้มันวิ่งได้เรื่อย ๆ ต่อเนื่อง อย่างชานหน้าบ้านเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมที่จะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ ช่วงนี้เขาอาจชอบวิ่ง ก็เป็นลานวิ่ง พอเริ่มโต เขาอาจอยากแสดงละคร แสดงเป็นเจ้าหญิง เหมือนเป็นเวที แล้วพ่อแม่ก็ลงไปดูบนพื้นหญ้า พอเขาโตขึ้นอีก อยากเล่นกีฬา ก็กลับกันพ่อแม่ก็ไปอยู่ชานบ้าน แล้วให้เด็ก ๆ ลงมาวิ่งเล่นตรงสนามหญ้า ส่วนตัวห้องนอนก็เตรียมเผื่อไว้สำหรับเด็ก ๆ ตอนโต บ้านเลยเป็น 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

บ้านที่พี่อยากลองวิชา

(โจ้) น้องดีไซน์โครงสร้าง ผมเป็นวิศวกรไฟฟ้า ก็อยากลองวิชากับบ้านตัวเองแน่นอน พอขึ้นเป็นสามมิติแล้ว ก็มาดูแสงให้ออกมาเป็นโทนที่ล้อตามบ้านมินิมอล คำนวณตั้งแต่เสาไฟ พื้นที่ตรงนี้มันไม่มีเสาไฟฟ้า เราก็ดีไซน์ว่าต้องเข้าตัวบ้านยังไงที่จะดูเรียบร้อย ต้องปักกี่เสา แบบไหนง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อยสุด เราก็ไปคุยกับการไฟฟ้า ให้เขามาสำรวจ ส่วนสายไฟเข้าบ้านมีวิธีการเดินอยู่ 2 แบบ คือเดินลอยเอาสายไฟเข้ามากับเดินสายใต้ดิน มุดใต้ดินมันดูเรียบร้อยกว่า เราก็เลยออกแบบให้เอาลงดินเลย

เรื่องของแสดงสว่าง เรามาดูว่าพื้นที่นี้ต้องการความสว่างแบบไหน ห้องนั่งเล่น ห้องนอน อยากให้ผ่อนคลาย ก็ไม่ต้องใช้ไฟที่สว่างมาก ๆ เป็นดวงเล็ก เติม LED Strip ไฟเส้นให้ห้องมีความโมเดิร์นนิดหนึ่ง ไม่งั้นมันจะคลีนมากไป ส่วนในบ้านเราก็คำนวณระบบไฟ การติดแอร์

ห้องนั่งเล่นใช้มากสุด ก็ดีไซน์การระบายอากาศดูว่าจะเป็นยังไง บ้านวางตัวขนานทิศเหนือใต้ กระจกอยู่ทางเหนือ หน้าหนาวลมมาทางนี้เยอะ เพดานสูง 5 – 6 เมตร ทำให้ดูโล่ง เหนือฝ้ามีฉนวน 2 ชั้น ฉนวนสะท้อนความร้อน และฉนวนใยแก้วอีกทีหนึ่ง หลังคาเป็นซิงเกิลรูฟ ก็จะกันความร้อนระดับหนึ่งอยู่แล้ว

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม
บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

กำแพงบ้านเป็นอิฐมวลหนา 2 ชั้น 20 เซนฯ ได้ มีช่องว่างตรงกลาง กันเสียง กันความร้อน ไม่เห็นเสา ช่วยเรื่องบ้านเย็นแน่นอน ซึ่งเทคนิคที่ช่วยให้บ้านเย็น ต้องดูความร้อน ถ้าความร้อนมาจากดวงอาทิตย์ต้องทำฉนวนให้ดี ทำฝ้าสูง มีช่องเปิดให้ทิศทางลมเข้าได้ ส่วนสีทาบ้านก็ใช้แบบ Non Toxic ทาเสร็จเข้าอยู่ได้เลย มีเด็กด้วย ต้องเลือกที่ทั้งคายความร้อน ทนทาน เช็ดได้ เผื่อเขาขีดเขียน

ถึงแม้จะเป็นบ้านกระจกก็พยายามให้เก็บเสียง เลยใช้กระจกแบบ 2 ชั้น ติดฟิล์มใสกันยูวี พอบานกระจกบานกว้าง ต้องมีต้นไม้ให้เราผ่อนคลาย ก็ไปศึกษาว่าในการจัดสวนต้องมีต้นไม้ประเภทไหนบ้าง ไม่ใช้ไม้ผลเพราะมันมีแมลง มีสัตว์มากิน จัดการยาก เลือกต้นไม้ที่ฟอร์มสวย มีต้นสน กันเกรา ต้นโอ๊ค ต้นหลิว มันมีความพริ้วไหว ถ้ามองต้นหลิวจากห้องนั่งเล่นคิดว่าคงเป็นอารมณ์ที่ดี เลยเอามาวางตรงนี้ ต้นที่จะให้ร่มเงาในอนาคตก็เป็นกระจง ซิลเวอร์โอ๊ค ปลูกไว้เพื่อเพิ่มอารณ์ให้ตัวบ้าน

บ้านทรงของเล่นวิวทุ่งหญ้า-ภูเขา ที่ตั้งใจทำชานไว้ให้ลูกวิ่ง เติบโต เล่นสนุกได้ทุกมุม

ที่เว้นไว้ คือกะทำสนามให้ลูกวิ่งเล่น เราดูทิศทางของแดดแล้วตรงนั้นจะโดนเยอะหน่อย ต้องมีต้นไม้ที่ให้ร่มเงา เราเพิ่งมาอยู่ก็ยังไม่เห็นทิศทางแดดทั้งปี พอรู้แล้วค่อยลงต้นไม้ ทำไปดูไป เพราะบ้านต้องปรับตามฤดูกาล แล้วจะเห็นจุดที่ต้องเติม ค่อย ๆ ทำไป ถ้าเราลงทีเดียวอาจจะแก้ยาก

ห้องเดียวที่พลาด คือห้องน้ำ เราไปดูกระเบื้องในโชว์รูมเป็นแสงอีกแบบหนึ่ง พอมาปู อุ๊ย ทำไมมันมืดจัง เลยต้องรื้อออก ซึ่งเราออกแบบในคอมพิวเตอร์ คิดอยู่ในหัว ก็ลุ้นว่าทำออกมาแล้วจะดูดีไหม พอมันดูดีอย่างที่คิดก็ภูมิใจนะ

บ้านที่เล่นและเรียนรู้ได้ทุกส่วน

(โจ้) เด็กช่วงวัยเริ่มต้นต้องการการเรียนรู้ อย่างน้อยต้องเป็นที่ที่เขาได้ใช้พลัง เรื่องพัฒนาการการเรียนรู้ต่าง ๆ สิ่งของเขาต้องหยิบจับหรือขีดเขียน เรื่องการออกแบบต้องให้อยู่ได้กับเด็ก เด็กก็อยู่ได้กับบ้านด้วย

บ้านจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็ก จากการศึกษาเด็กในช่วง 3 ปีแรก จะจดจำในสิ่งที่เราป้อนเข้าไป เราอยากให้เขาเป็นคนช่างสังเกต เราต้องทำพื้นที่ให้เหมาะกับเขา จุดที่เขาสงสัยเราต้องมีความอดทนในการอธิบาย

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน
บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

เราทำบ้านเป็นพื้นที่เล่นได้ทุกส่วน อะไรที่มันจะก่ออันตรายกับเด็ก หรืออะไรที่จะทำให้เด็กมีปัญหาก็พยายามเซฟตรงนั้นไป เขาจะวิ่งไปห้องของเล่น เพื่อเอาของเล่นมาก็ได้ วิ่งข้างนอก ไปปั่นจักรยาน เราปล่อยได้ระดับหนึ่ง เพราะเรามีกระจกรอบอยู่แล้ว มองสอดส่องได้ ส่วนข้างนอกมีบ่อทรายให้น้องตักเล่น จะตัวเปียกเลอะเทอะ สาดใส่ตัวเองก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ) มีสายยางให้ฉีดทำความสะอาดก่อนเข้าบ้าน แม่ก็เขาทำที่ปลูกต้นไม้ ปลูกกุหลาบ น้องก็ช่วยพรวนดินรดน้ำ เรียนรู้เรื่องของการใช้กล้ามเนื้อมือ แล้วก็ต้นไม้ต้องการน้ำนะ ต้องการปุ๋ยนะ เราไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะโตไปเป็นอะไร เราอยากให้ลูกมีจิตสำนึกที่ดีในเรื่องของการดูแลต้นไม้ รักสัตว์ มีเรื่องของความเมตตา

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

(ปุ๋ย) ปกติน้องเพลินจะช่วยทำกับข้าว วันไหนมีแกะกระเทียมหรือเตรียมผัก จะเป็นหน้าที่พี่เพลงกับน้องเพลิน บางทีไข่เจียว พี่เพลงเป็นคนตอก น้องเพลินเป็นคนคน งานบ้านนี่เขาทำได้แล้วนะ คือการล้างจานแล้วก็การตากผ้า ชอบมาก ให้เป็นหน้าที่ของเด็ก 4 ขวบกับ 2 ขวบไปเลย (หัวเราะ)

การใช้งานบ้านเป็นการเรียนรู้ การที่เขาได้ลงมือทำ สัมผัส ช่วยเรื่องพัฒนาการของน้องมาก ส่วนตัวการเลี้ยงลูกของคุณแม่จะไม่เน้นวิชาการอะไรให้เขาปวดหัว เหมือนสมัยเราที่อนุบาลต้องท่องต้องเขียน เราให้เขาได้ใช้ชีวิต ได้ช่วยเหลือตัวเอง ใส่เสื้อผ้า ใส่รองเท้าเอง ได้ช่วยทำกิจกรรมในบ้านแค่นั้นก็พอ แล้วเขาจะมีห้องเพลย์รูมของเขาที่เล่นอยู่เองได้ ช่วงเย็นก็ปล่อยอิสระ อยากเล่นอะไรก็เล่น ไม่ต้องจำกัดว่าอยู่ในกรอบอันนี้มากเกินไป ความปลอดภัยคุณพ่อเขาคิดไว้ให้หมดแล้ว ก็ไม่น่าห่วง

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

(โจ้) อย่างประตูบานเปิดก็ออกแบบให้กว้าง สำหรับเขาที่ยังควบคุมการเดินไม่ได้ มีสิทธิ์ชนโต๊ะต่าง ๆ เราก็วางเฟอร์นิเจอร์ให้ไม่ขวางทิศทางการเดิน วัสดุต้องเป็นไม้ให้ดูซอฟต์และใช้งานง่าย พื้นเราคิดว่าลูกเราต้องล้มแน่ ๆ เลยเลือกกระเบื้องยางที่ค่อนข้างพิเศษหน่อย นิ่ม เด็กตกหรือล้มก็จะไม่เจ็บมาก ส่วนกระจกใช้กระจกลามิเนตนิรภัย แตกได้ยาก 

ชานด้านนอก คิดว่าลูกจะต้องวิ่งเล่นอยู่แล้ว ใช้พื้นเป็นหินขัด อย่างแรกคือทำความสะอาดง่ายและไม่มีรอยต่อ เราทาน้ำยาเคลือบกันลื่นได้ เวลาวิ่งเล่นก็ช่วยเซฟระดับหนึ่ง บ้านยกระดับขึ้นมาก็จริงแต่เราปูหญ้ารอบ ๆ บ้าน เขาจะตกหรืออะไรก็ไม่เจ็บมาก เป็นการเรียนรู้ไปในตัวด้วย แล้วอีกอย่างได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ให้เขาได้รู้จักทะนุถนอมต้นไม้ สัตว์หรือแมลงต่าง ๆ อย่างผีเสื้อ

ส่วนห้อง เราคิดว่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในห้องนั่งเล่นอยู่แล้ว จะทำกิจกรรม อ่านหนังสือ ดูทีวี พูดคุย เลยดีไซน์ให้เป็นห้องทานอาหารไปด้วย หรือเปิดกระจกตรงชาน เป็นพื้นที่ปาร์ตี้รวมญาติได้

(ปุ๋ย) การกินข้าวพร้อมหน้ากันสำคัญกับการเลี้ยงลูกมาก เด็กจะกินข้าวเยอะ การเลี้ยงเด็กปัญหาอีกอย่างคือการ เบื่อข้าว ถ้าเราได้ทานด้วยกันเขาก็จะเจริญอาหาร ทานได้เก่ง ทานเอง เราตัก เขาก็ตัก เราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลูกกินยาก เขาคงรู้สึก ถ้าเราทานข้าวคนเดียวบางทีมันเบื่อ กลืนไม่ลง แต่ทานกับคนที่เรารักหรือครอบครัวก็มีความสุขแล้ว มันรู้สึกอิ่มแล้ว ลูกก็รู้สึกอย่างนั้นหมือนกัน

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

บ้านของลูกให้ลูกออกแบบเอง

(โจ้) ตอนนี้มี 2 ห้อง เป็นห้องโล่ง ๆ อย่างเดียวไว้ให้เป็นห้องส่วนตัวของเขา แต่ไม่ได้ดีไซน์ไว้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าเขาจะชอบอะไร อนาคตเขาเริ่มโต รู้ว่าชอบสีอะไร เช่น คนโตเขารู้ว่าชอบสีชมพู คนเล็กชอบสีฟ้า หนูชอบสีชมพูจริง ๆ ใช่ไหม ถ้าใช่ เราก็ไปเลือกของกัน

ตั้งแต่โตมา เราชอบที่คนให้เราคิดเอง ชอบที่ได้ทำตามความรู้สึกของเรา ความชอบของเรา เราก็อยากใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้น เหมือนกัน สิ่งที่เขาคิดเอง อยากได้อะไร เขาก็จะภูมิใจ

พอเราเริ่มก่อสร้างตรงนี้ น้องบอกว่าเมื่อไหร่บ้านหลังนี้จะเสร็จ หนูอยากมาอยู่แล้ว เพราะเขาเห็นตั้งแต่เราทำฐานรากทำพื้น เขาก็มาวิ่งเล่นก็บอกว่าหนูชอบมากเลย ตอนเลือกเฟอร์นิเจอร์หลาย ๆ ชิ้นเราก็ไปนั่งไปนอนด้วยกันเกือบทุกชิ้น เราก็ถามความต้องการของเขาอยู่แล้ว หนูชอบแบบไหน ไปลองนั่ง ลองกระโดดดู ที่เขานอนอยู่ หนูชอบอันนี้ เอาอันนี้ ๆ (หัวเราะ)

เอ๊ะ! แล้วบ้านที่มีเด็กทำไมไม่รก

(โจ้) ตื่นมาก็ทำความสะอาดบ้าน (หัวเราะ) เราไม่ได้จ้างแม่บ้าน พยายามดูแลจัดการด้วยตัวเอง

(ปุ๋ย) คุณพ่อเป็นคนมีระเบียบ

(โจ้) เห็นอะไรรกไม่ได้ เพิ่งมาเป็น ผมว่าด้วยช่วงวัยหน้าที่การงานของเรา ทำให้เป็นคนต้องรอบคอบ ละเอียดหน่อย กลายเป็นว่าบ้านมันต้องคุมโทนสีขาว องค์ประกอบในบ้านก็พยายามให้มีแต่ที่ใช้งานจริง ๆ ไม่ให้มีอะไรรกหูรกตา เส้นผมที่อยู่ตรงพื้น บางทียังต้องเก็บขึ้นมาเลย ตอนนี้เรารู้สึกเพลิน ๆ ดีนะ เวลาเจอรอยเปื้อนตรงผนัง ตรงโต๊ะ ก็เช็ดให้มันอยู่สภาพเดิมตลอด เท่าที่ทำได้ แต่ปุ๋ยจะอึดอัดผม วัยรุ่นผมซกมกนะ (หัวเราะ)

(ปุ๋ย) ตอนเป็นวัยรุ่นก็รก ตอนเป็นคุณแม่ก็ยังรกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน (ขำ)

บ้านนี้มีเพลย์รูม จะแบ่งสัดส่วน แบ่งเวลา ถามว่ารกไหม รกแน่นอน แต่ว่าเราต้องเก็บ ก็คือจะให้รกแค่มุมนั้น คุณแม่เลี้ยงคนเดียวถ้าไม่ตั้งกฎหรืออะไรจะเหนื่อยมาก ถ้าสอนแต่เด็กจะสอนง่ายได้หมด พูดภาษาที่ผู้ใหญ่คุยกันไปเลย เราอย่าไปห้ามไม่ให้เขาเล่นอะไร แค่จัดพื้นที่ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้งานได้หมด ไม่อยากให้เล่นอันไหนก็เก็บ เขาจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่า เอ้า หยิบอันนี้ไม่ได้อีกแล้ว ถ้าไปบอกว่าห้ามขีดตรงนี้ แล้วทำไมถึงเอาปากกามาไว้ตรงนี้ เขียนได้ตรงนี้นะ กระดาษปากกาเขียนได้ตรงไหนคะ เขียนตรงนี้ค่ะคุณแม่ เขาก็จะเขียนในกระดาษ

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

บ้านนี้(ความทรงจำ)ดีจัง

(โจ้) แน่นอนว่าเด็กช่วงเล็ก ๆ จดจำอยู่แล้วว่าห้องนี้เขาเล่นอะไรบ้าง เขาเคยปั่นจักรยานตรงนี้ เขาปลูกต้นไม้ตรงนี้ เขาทำวิ่งไล่กัน พอเรามีพื้นที่ที่ทำกิจกรรมเยอะ ๆ เขาก็ไปเล่าให้คุณปู่คุณย่าที่ต่างจังหวัดฟังได้ ว่าที่บ้านเขามีอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้ เล่นอย่างนี้นะ ก็มีเรื่องให้เล่าและเป็นความทรงจำที่ดีสำหรับเขา มันก็เป็นความรู้สึกดีที่ออกแบบบ้านนี้ให้เราใช้ชีวิต ทำเรื่องต่าง ๆ ที่อยากทำได้ อนาคตไม่แน่ว่าอาจมีการปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือว่าจะมีสมาชิกเพิ่มเข้ามา เราดีไซน์เผื่อว่าจะต่อเติมตรงไหนได้บ้าง ณ ตอนนี้พอใจมาก

(ปุ๋ย) คุณแม่รู้สึกว่าโชคดี ตื่นมาแล้วมีความสุขจังเลย รู้สึกดีมากที่สามีเลือกสร้างบ้านแบบนี้ให้เรา การที่ตื่นมาแล้วเปิด มันเป็นห้องนอนในฝัน กระจกทั้งบาน แล้วเปิดเห็นวิว ไม่ใช่ห้องนอนอุดอู้หรือห้องนอนสี่เหลี่ยม เป็นอะไรที่ถูกใจมาก พอถูกใจมันก็มีความสุขทุกอย่างเลย จากบ้านเก่ามันไม่มีพื้นที่ แออัด ป่วยบ่อยมาก แต่ที่นี่เรายังไม่ป่วยเลย จะมีแค่น้ำมูกนิดหน่อย แค่ครึ่งวัน อากาศดีด้วย แล้วก็บ้านออกแบบมาให้รับลมอากาศถ่ายเท เรื่องการเรียนรู้ก็ตามช่วงวัยของเขา ก็ดีขึ้นมาก มีพื้นที่ได้ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย สุขภาพนี่แหละที่เห็นว่าแตกต่างมาก ยังไม่เคยเข้าโรงพยาบาลด้วย

(โจ้) กลายเป็นว่าตอนนี้เราไปโรงแรมหรือรีสอร์ต รู้สึกไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน

(ปุ๋ย) ซึ่งแต่ก่อนต้องไปทุกจังหวัด เดี๋ยวนี้ไปไหนคิดถึงบ้านจังเลย อยากกลับบ้าน มีคำนี้มาแล้ว มันไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อนเลย แล้วอยู่ชลบุรีก็ดีนะคะ มีทุกอย่างเลยภูเขา ทะเล อาหารอร่อย อีสาน เหนือ ญี่ปุ่น อะไรก็ได้

“พี่เค้กไปต่อบล็อกกับหนูมั้ยคะ”

น้องเพลงและน้องเพลินเดินมาจูงมือเราออกไปยังเพลย์รูม เป็นสัญญานว่าหมดเวลาคุย ถึงเวลาเล่นสนุกกันแล้ว

บ้านรูปทรงบล็อกตัวต่อกลางทุ่งหญ้า วิวภูเขา ที่ตั้งใจสร้างให้ลูก ๆ เล่นสนุกได้ทุกส่วน และเติบโตไปกับความทรงจำที่ดีในการอยู่บ้าน

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล