17 มิถุนายน 2021
8 K

ตรงข้ามเราตอนนี้คือ ชารีฟ ลอนา ดีไซเนอร์ใหญ่แห่งสตูดิโอ Act of Kindness ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบมากมาย ทั้ง Kiatnakin Bank Boutique ตึกแถวมาดเท่ ที่ทำการธนาคารเกียรตินาคินสาขาทองหล่อ และ Magnum Cafe ผลงานชิ้นโบว์แดงที่แจ้งเกิดชารีฟในวงการ ก่อนเดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ

รวมทั้งงานดีไซน์ในนามของสตูดิโอ ตั้งแต่คลินิกทันตกรรม บ้านเซเลบดารา ไปจนถึงหน้าร้านเสื้อผ้าแบรนด์ Sretsis สาขาริมหาดหัวหิน และสาขาที่ลอนดอน โปรเจกต์ร่วมกับ House of Hackney บริษัทตกแต่งภายในระดับหรูแห่งแดนผู้ดี

ถ้าด่วนสรุปว่านักออกแบบคนนี้แสนเก่งกาจจากตัวอย่างผลงานเพียงกระผีกริ้น บอกได้เลยว่าคิดผิด 

นี่เป็นเพียงหยดเดียวของน้ำจิ้มเท่านั้น

เพราะเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด คืออุปสรรคที่ท้าทายและถาโถมเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า เริ่มต้นตั้งแต่การกีดกันไม่ให้เรียนศิลปะจากพ่อแม่ คำกระแนะกระแหนดูแคลนของคนรอบข้าง สังคมทำงานแสนป่วยจิต สู้ทนเก็บหอมรอมริบส่งตัวเองไปเรียนปริญญาโท ที่สกอตแลนด์ ทำทีสิสจนได้รับคัดเลือกเป็นทีสิสดีเด่นของภาควิชาโดยมหาวิทยาลัยและสภาสถาปนิกของสกอตแลนด์ จบมาก็รับงานในลอนดอนจนเกือบได้ถือหุ้นบริษัท แม้กลับไทยมาเปิดสตูดิโอจนประสบความสำเร็จ ก็ยังมองชื่อเสียงเงินทองว่าเป็นของน่ากลัว

ยังไม่รวมวิธีการทำงานที่โคตรแตกต่าง คือผสานความอ่อนน้อมถ่อมตนและจริงใจแบบคนต่างจังหวัด เข้ากับความกล้าคิดวิพากษ์แบบฝรั่ง รวมทั้งใช้ปัญหาในงานดีไซน์เป็นตัวตั้ง แทนที่แรงบันดาลใจหรือสไตล์เป็นเป้าหมาย

ไม่ขอขยายความมากไปกว่านี้ เชิญคุณผู้อ่านค่อยๆ เติบโตตามเส้นทางชีวิตและสัมผัสวิธีคิดฉบับชารีฟได้ตามอัธยาศัย

ชารีฟ ลอนา จากเด็กยะลาชายแดนใต้สู่สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง Act of Kindness

01 “วัยเด็กของผมคือศิลปะเลย”

เดาไม่ยากว่าชารีฟเป็นมุสลิม

แต่ที่เดายากคือภูมิลำเนาท้องถิ่นดั้งเดิมของเขาอยู่ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา บอกใครคงไม่เชื่อว่านักออกแบบหนุ่มมาดเนี้ยบ เจ้าของดีกรีปริญญาโทจากสกอตแลนด์ ใช้ชีวิตในวัยเด็กกลางทุ่งริมท่า เติบโตในสังคมอิสลามสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่แม้กรอบแนวคิดเรื่องรัฐชาติได้นิยามว่าเป็นดินแดนประเทศไทย แต่วัฒนธรรมกลับคล้ายคลึงประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซียราวกับว่าเป็นจังหวัดหนึ่ง แวดล้อมไปด้วยอบายมุขสารพัด

แต่เพราะมีพ่อแม่เป็นครูนักบุกเบิกประจำชุมชนผู้มองการณ์ไกล ยักย้ายชารีฟและพี่สาวน้องชายออกมาอยู่ห่างจากกลางหมู่บ้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้พร้อมแก่การเรียน เด็กชายชารีฟจึงมีชีวิตแตกต่างจากเพื่อนละแวกใกล้เคียง

“ตั้งแต่จำความได้ วัยเด็กของผมคือศิลปะเลย” ดีไซเนอร์คนเก่งเท้าถึงตัวเองในวัยเยาว์

“ต้องวาดรูปเล่นอยู่บ้านเพราะไม่มีเพื่อน รู้ตัวแต่แรกว่าเป็นคนมี Aesthetic มากๆ ดื่มด่ำกับการตื่นเช้าแล้วได้ยินเสียงนก หมอกลง ฝนตก ทุ่งนา เล่นว่าวในฤดูร้อน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไปเรียนหนังสือในตัวจังหวัด ได้สัมผัสความเจริญของสังคมเมือง โดยมีความบ้านนอกคอยเตือนไม่ให้หลงไปกับวัตถุ โดยเฉพาะการได้เรียนทั้งภาษาอังกฤษจากโรงเรียนคริสต์ เรียนอาหรับ และไทยกลาง ทำให้ผมเข้าใจความหลากหลายและเชื่อในศิลปะที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมตั้งแต่เด็ก”

02 Gift from God

“ณ เวลานั้น ศิลปะเป็นเรื่องของคนเมือง ทุกคนเข้าใจว่าศิลปินต้องไส้แห้ง” เขาเผยความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

เด็กชายชารีฟทู่ซี้ทำกิจกรรมด้านศิลปะมาตลอดวัยเรียน แม้ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง แน่นอนว่าพอจะเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่พ้นถูกบังคับให้เรียนต่อในคณะสายวิทยาศาสตร์ ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกพาไปพบกับคำตอบสุดท้ายว่านี่ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ของเขา

“ทรมานมาก ขังตัวเองอยู่ในหอเพราะไม่อยากร่วมกิจกรรม แต่ผมล้อเล่นกับสิ่งที่รักไม่ได้ ถ้าอยากได้ก็ต้องลงมือทำ ระหว่างรอสอบใหม่เลยฝึกวาด Perspective เอง ผลงานบิดเบี้ยวแต่ก็สำเร็จได้ตามประสา เอาหนังสือจากอาที่เป็นสถาปนิกมาอ่าน เลิกเรียนไปเดินดูหนังสือ บ้านและสวน สอบใหม่ก็ติดหลายที่แต่ไม่ได้ไป ทะเลาะกันบ้านแทบแตก” นักอยากศึกษาสถาปัตย์เล่าเรื่องวันวานอย่างออกรส

“คงเพราะพี่สาวผมเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และช่วงนั้นต้มยำกุ้ง จึงพอเข้าใจได้ว่าในฐานะข้าราชการต่างจังหวัด การส่งเรามาเรียนอาจดูไม่คุ้มค่า จนสุดท้ายพี่สาวช่วยพูดให้ ‘ทำไมไม่มองว่านี่คือพรสวรรค์จากพระเจ้า อย่าไปกีดขวางเลย คนประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเก่งในสายวิทยาศาสตร์เสมอไป’ พ่อแม่ถึงใจอ่อนยอมให้เรียน”

แต่กว่าถั่วจะสุกงอม งาก็ชิงไหม้ไปก่อน เพราะเลยช่วงรับสมัครเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยรัฐไปแล้ว มาจบที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นไม่มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ชารีฟเล็งไว้

“ผมเลยเลือกเรียนออกแบบภายในซึ่งยังถือว่าอยู่ในความสนใจอยู่ ตอนสอบเข้าเขาให้ออกแบบ Kiosk ริมทะเล ก็เข้าทางเด็กใต้อย่างเราเลย จนพอเข้าไปเรียนปีหนึ่ง เพื่อนที่สอบพร้อมกันมาทักว่ามึงโคตรโง่เลย ลงไปวาดกับพื้นทำไม คนอื่นแอบดูกันหมด เราไม่รู้ไม่สนใจเพราะมัวแต่โฟกัสสิ่งที่ทำ”

คงไม่น่าแปลกใจถ้าชีวิตมหาลัยของชารีฟจะมีความกดดันเป็นเพื่อนสนิท เพราะรู้กันดีว่าค่าเทอมมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ค่อยเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ผู้ปกครอง แต่เพราะได้เรียนสิ่งที่รัก เขาจึงทุ่มเทให้การเรียนอย่างสุดตัว

“พี่สาวสอนไว้ว่าถ้าคิดจะทำชั่วต้องฉลาด ถ้ารักจะออกนอกกรอบต้องรู้จักใช้ชีวิต ผมเลยไม่ลืมที่จะใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง แต่ก็โฟกัสกับผลงาน กระหายวิชา และอยากเรียนรู้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทำให้การเรียนไม่ตกเลย

“จนพอเข้าปีสองปีสาม พ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจ เหมือนเขาเห็นเราอยู่กับสิ่งที่รักข้ามวันข้ามคืนได้อย่างไม่ท้อ และทำออกมาได้ดี แต่กลายเป็นห่วงว่าจะมีงานทำไหม หรือจบมาเจอโลกจริงจะถูกเอาเปรียบหรือเปล่ามากกว่า เพราะเราบ้านนอกและเรียบร้อยมาก แล้วพวกเขาไม่มีความรู้ในวงการนี้เลย เลยไม่รู้ว่าสังคมจริงเป็นอย่างไร”

ชารีฟ ลอนา จากเด็กยะลาชายแดนใต้สู่สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง Act of Kindness
ชารีฟ ลอนา จากเด็กยะลาชายแดนใต้สู่สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง Act of Kindness

03 Be Humble

“ผมมีคำถามในใจตอนเรียนจบปริญญาตรี”

บอกใบ้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญในชีวิต

“ทีสิสผมคือการตั้งคำถามว่าทำไมการออกแบบโรงละครบ้านเราจึงไม่เอื้อให้วงการเฟื่องฟู หาคำตอบจนพบว่าเรารับ Grandiosity แบบฝรั่งเศสเข้ามาซึ่งขัดกับวัฒนธรรมไทย เราดูลิเกกันอย่างใกล้ชิด เวทีมัน Humble มาก จึงออกแบบ Humble Theatre ที่เข้ากับนิสัยคนไทยขึ้นมา

“ปรากฏว่าผลงานออกไป ผมโดนสบประมาทว่าคุณตั้งใจทำใหญ่แบบนี้เพื่อจะเอาชนะเพื่อน จบไปไม่มีใครรับเข้าทำงานหรอก ในขณะที่อาจารย์ที่ปรึกษาชมเชยว่าเรามีศักยภาพเรียนต่อด้านนี้ที่ต่างประเทศ แต่ความจริงผมแค่อยากพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นเลยใส่พลังไปเต็มร้อย”

ทำไมไม่มีที่ทางสำหรับเราในประเทศนี้ คำถามกระตุ้นให้ชารีฟอยากเรียนต่อปริญญาโททันทีที่เรียนจบ เขาได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้างอย่างเต็มกำลัง จึงจัดแจงขอทุนจากมหาวิทยาลัย แต่พอคำนวณเวลาใช้ทุน ปรากฏว่าอาจต้องรับอาชีพอาจารย์ยาวนานถึง 9 ปี เจ้าตัวไม่สบายใจกับเงื่อนไขนี้ เป็นอันว่าจำต้องปัดตกไปโดยปริยาย

“แต่สาเหตุอีกอย่างคือครอบครัว” เขาเฉลย

“ผมเป็นเหมือนนกที่เคยถูกขังอยู่ในกรง วันหนึ่งแข็งแรงมากพอจะออกบิน พ่อแม่จึงกลัวว่าเราจะไม่กลับมาอีกเพราะมีบาดแผลที่เขาเคยทำไว้ แต่ผมไม่ได้มองว่าเป็นบาดแผลเลยนะ ไม่เคยคิดว่านั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ไม่หวังดีกับเรา”

จากนั้น บัณฑิตหนุ่มจึงบ่ายหน้าสู่วงวิชาชีพนักออกแบบไทยอย่างเต็มกำลัง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเก็บเงินไว้ส่งตัวเองเรียนเมืองนอกให้ได้เร็วที่สุด

04 ราคาที่ต้องจ่าย

“ผมไม่ทำบริษัทไทย เพราะต้องการเอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ยอมรับความคิดเราได้”

ปมปัญหาเดิมยังคงทำงานในใจอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เจ็บปวด ทว่าเป็นแรงผลักดันอันงดงาม

“ช่วงแรกที่ทำไม่มีใครสอนงานหรือช่วยเหลือเลย ทุกคนกลับบ้านกันหมดแล้ว แต่ผมยังต้องนั่งงมหาวิธีการอยู่คนเดียว ใช้ความอดทนจนสุดท้ายก็ผ่านมาได้ อย่างโปรเจกต์ออกแบบ World Bank สาขาฮานอย ปาปัวนิวกินี และออสเตรเลีย งานออกแบบออฟฟิศที่เป็นยาขม เพราะเนื้องานน่าเบื่อมาก ไม่มีใครรับทำ แต่ผมรับเพราะเชื่อว่าดีไซน์ของสำนักงานควรเปลี่ยนได้แล้ว ต้องการสลัดขนบเดิมๆ ออก จนเจ้านายเห็นศักยภาพว่าเรานำเสนอสิ่งใหม่ๆ ได้”

ช่วงนั้น งานชิ้นไหนสำคัญที่สุด-เราชิงแทงกลางปล้องด้วยความสงสัย

“โปรเจกต์ Me by TMB” เขายิ้มภูมิใจตอนเฉลย

“เป็นการออกแบบอัตลักษณ์องค์กรใหม่ทั้งหมด แนวคิดคือธนาคารควรจะปรับแต่งได้ ทุกคนต้องมีธนาคารเป็นของตัวเอง และเลือกวิธีการทำธุรกรรมได้อย่างอิสระ เพราะเป็นยุคที่มีสมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว งานนี้สร้างความสำเร็จให้องค์กรอย่างมากจนได้เลื่อนตำแหน่ง แม้มีคนคอยซัพพอร์ต แต่ก็ยังมีหลายคนคิดสงสัย ทั้งๆ ที่เราพยายามและทุ่มเทอย่างมาก และเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำด้วยซ้ำ”

นอกจากงานประจำซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ชารีฟยังรับงานนอกอีกสารพัด ตั้งแต่รับจ้างออกแบบไปจนถึงเขียนบทความด้านดีไซน์ลง Free Magazine ไม่หมิ่นเงินน้อย ไม่คอยวาสนา เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านอย่างไม่เหน็ดหน่าย

นักออกแบบหนุ่มมุ่งมั่นสะสมทุนรอนได้พอสมควรจากการบากบั่นทำงานตลอดเกือบ 2 ปี ก่อนตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่ประเทศอังกฤษ และถือโอกาสไล่เยี่ยมชมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งแต่ลอนดอนถึงสกอตแลนด์

“ไปจบตรงหลักสูตรปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองที่ Glasgow School of Art เพราะประทับใจวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจสร้างบัณฑิตเพื่อชาเลนจ์วงการอุตสาหกรรม ไม่ได้ผลิตฟันเฟืองป้อนบริษัท และระหว่างทางก็พยายามช่วยให้นักศึกษาค้นหาตัวตนตัวเองให้เจอ ไม่จำเป็นต้องจบไปแล้วเหมือนมาจากพิมพ์เดียวกัน 

“อีกอย่างที่ชอบคือคาแรกเตอร์ของเมืองยุควิกทอเรียนที่หล่อมาก ตึกเก่าแบบเมืองในยุโรปแต่สูงกว่า ผังเมืองแบบกริดเหมือนนิวยอร์ก มีเขม่าควันจากสงครามโลกครั้งที่สองติดตามบ้านช่อง ดูเป็นเรามากที่สุด” เขาเล่าความประทับใจต่อว่าที่บ้านหลังที่สอง

ชารีฟเดินดุ่มๆ เพื่อไปกรอกใบสมัคร ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไล่กลับมาส่งอีเมลตามขั้นตอน เด็กไทยรายนี้จึงใช้ลูกตื๊อลูกอ้อนจนได้พบคณบดี และพรีเซนต์ตัวเองแบบจัดเต็มจนได้ตอบรับเข้าเรียนต่อ ด้วยเงื่อนไขว่าต้องจัดการเอกสารมาให้ครบ เขาจึงเร่งกลับมาตุภูมิ รีบจัดแจงสรรพสิ่ง ตั้งแต่เคลียร์งานจนถึงสอบภาษาอังกฤษให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน เป็นช่วงฉุกละหุกมากที่สุดในชีวิตเพราะความฝันได้เดินทางมาถึงหน้าประตู แม้ทุนยังไม่ถึงเป้าที่วางไว้และยังไม่ได้บอกลาพ่อแม่สักคำก็ต้องไป เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่โอกาสจะยูเทิร์นกลับมาหาอีก

“ขึ้นเครื่องบินไปนี่ปล่อยโฮเลยทั้งๆ ที่เกิดมาไม่เคยร้อง เพราะรู้สึกว่าเราทำได้แล้ว มันมีราคาที่ต้องจ่ายเยอะมาก ทั้งความลำบากอดทน การไม่ได้ถูกเอาใจ การทำให้พ่อแม่ผิดหวัง นี่มันเหมือนฝันเลย”

ชารีฟ ลอนา จากเด็กยะลาชายแดนใต้สู่สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง Act of Kindness

05 วัดเส้าหลิน

ชารีฟปักหลักเรียนพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ลอนดอน 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางสู่กลาสโกว

“ทุกคนสงสัยว่าทำไมไปถึงสกอตแลนด์ เรียนลอนดอนจบมาได้คอนเนกชันชัวร์ๆ แต่ตอนนั้นผมอยากเจอตัวเองเพราะรู้สึกว่ายังมีอะไรข้างในที่ปริญญาตรีสี่ปียังเค้นออกมาไม่ได้ และรู้สึกว่าอยากโฟกัสการเรียนจริงๆ กลาสโกวเป็นเหมือนวัดเส้าหลินของเรา ลอนดอนเหมาะจะเป็นเวทีแสดงผลงานมากกว่า

“พอมาเรียนจริง เรากลายเหมือนเป็นประชากรโลกที่สาม จำได้ว่าวิชา Design Method ในคลาสเถียงกันเรื่องสีแดงสวยไม่สวย เราไม่เคยถูกสอนแบบนี้เลย เวลาอาจารย์คอมเมนต์ก็บอกแค่ว่าใช้สีแดงแบบนี้มันเห่ย ไม่อธิบายเพิ่ม ความจริงสีแดงไม่ได้มีความผิด แต่สีแดงบางเฉดผิดในบริบทที่ไม่ถูกกับมันเท่านั้น”

นอกจากวิธีการสอนแตกต่างจาก อีกสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลแวดวงออกแบบเมืองนอกคือ Design Community

“ที่นี่ซัพพอร์ตกันมาก ไม่ใช่ว่าคุณทำงาน Luxury แล้วเหนือกว่าคนอื่น ดีไซเนอร์ นอกจากต้องวิพากษ์วิจารณ์เป็น วันหนึ่งที่เพื่อนร่วมวงการประสบความสำเร็จ ก็ต้องแสดงความยินดีและให้กำลังใจเป็นด้วย นี่คือสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงเราให้เข้มแข็ง มองปัญหาทั้งหมดเป็นเรื่องบททดสอบ”

ชารีฟใช้ชีวิตอย่างสมถะเพื่อให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง กระทั่งเรียนจบมาได้อย่างเก่งกาจด้วยทีสิสที่เขาสุดแสนจะภูมิใจ โดดเด่นจนคณาจารย์ออกปากชม และได้รับคัดเลือกให้เป็นทีสิสที่ดีที่สุดของสกอตแลนด์จากสภาสถาปนิกแห่งสหราชอาณาจักร แต่เหนือกว่ารางวัลสรรเสริญ คือวิธีคิดอันล้ำค่าที่ไม่มีใครขโมยไปจากเขาได้

“ตอนเรียนจบก็นั่งตกตะกอนกับอาจารย์ จนพบว่าเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะเลยในเชิงวิธีคิด แต่ตัวตนกลับยังอยู่ที่เดิม ไม่ไปไหน อาจารย์บอกว่าโลกตะวันตกกำลังจะเปลี่ยนมาถ่อมตัวแบบเอเชีย เลยอยากให้เราเก็บวิธีการทำงานที่อ่อนน้อมแบบนี้ไว้ มันทำให้เราอยู่ที่ไหนก็ได้ และจงใช้ทักษะการวิพากษ์แบบยุโรปควบคู่ไปด้วย จึงจะอยู่รอดในวงการนี้”

ชารีฟ ลอนา จากเด็กยะลาชายแดนใต้สู่สถาปนิกและดีไซน์ไดเรกเตอร์แห่ง Act of Kindness
เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของ ‘ชารีฟ ลอนา’ จากเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

06 Before Glory

“จำได้ว่าสองเดือนแรกเร่ร่อนไร้ที่อยู่”

เขาเผยจุดหักมุมอีกครั้งในชีวิต หลังจากตัดสินใจรับงานเป็นสถาปนิกในบริษัทหนึ่งกลางกรุงลอนดอนทันทีหลังเรียนจบ

“เพราะทำงานแล้วเงินเดือนยังไม่ออก โชคดีได้อาศัยอยู่หอเพื่อน แต่ก็ต้องแอบยามเวลาเข้า-ออก เดี๋ยวนี้เพื่อนยังแซวเลยว่าเป็นคุณชารีฟแล้วนะ แต่ก่อนยังนอนใต้เตียงกูอยู่เลย (หัวเราะ) จนได้อยู่ห้องพักจากเพื่อนชาวเกาหลีที่มาเช่าไว้แล้วต้องกลับไปเกณฑ์ทหาร ผมได้รับความช่วยเหลือมาตลอดเลยเข้าใจดีว่าชีวิตคือการให้โอกาส”

สถาปนิกไทยผู้นี้ไม่ย่อหย่อนต่ออุปสรรค ทุ่มเททุกทักษะ ทำงานจนฉายแววเข้าตาเจ้านาย บอสจึงชวนไปอยู่ที่บ้านที่ริชมอนด์ ย่านคนมีอันจะกินในลอนดอนด้วย เพื่อประหยัดค่าที่พัก วันเวลาล่วงไปพร้อมๆ กับพัฒนาการของชารีฟในสายอาชีพ เขาได้รับมอบหมายภาระงานที่ใหญ่ขึ้น จากพนักงานที่ต้องทำตามคำสั่งสู่ผู้ช่วยบริหารงานออฟฟิศ

“คงเพราะผมทำงานหนึ่งจนได้เรื่อง” -นั่นไง

“ตอนนั้นเป็นยุคที่บรรดาร้านแบรนด์เนมบน Regent Street ให้ดีไซเนอร์ทำ Window Display แข่งกัน ซึ่งเป็นเวทีแจ้งเกิดให้นักออกแบบหลายคน เช่น Faye Toogood ตอนนั้นออฟฟิศผ่านการคัดเลือก ผมเลยเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของงานดีไซน์ทั้งหมด ใส่ความเป็นอาร์ตลงไปด้วย ไม่สถาปัตย์จ๋าๆ งานนี้สร้างชื่อเสียงมากจนเจ้านายเสนอให้ผมร่วมหุ้น

“ผมกลับมาคิดหนักมาก เพราะไม่ได้ชอบกรุงเทพฯ แต่เมืองนี้เลี้ยงเราได้ดี เหมือนปลูกต้นไม้ในดินที่พร้อม ขณะเดียวกันก็ไม่แน่ใจว่าจะพยุงธุรกิจนี้ไปต่อได้นานแค่ไหน เพราะอังกฤษกำลังจะออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป หลายบริษัทล้มละลาย ดีไซเนอร์จบใหม่ตกงานระนาว แล้วถ้าอยู่ที่นั่น ผมปฏิเสธสถานะการเป็นพลเมืองชั้นสองไม่ได้ ระหว่างสิ่งที่อยากทำกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ผมเลือกสิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือทำให้พ่อแม่มีชีวิตที่ดีขึ้น เลยตัดสินใจกลับไทย”

นั่นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือเปล่า-เราถาม

“กำกวม ในแง่ความสำเร็จทางอาชีพ มันอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่กลับมานี่ แต่ในแง่วิถีชีวิตดีไซเนอร์ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ให้แรงบันดาลใจเลย ผมไม่ได้สัมผัสวิถีชีวิตดีไซเนอร์จริงๆ ที่นี่ พอมีชื่อเสียงหรือประสบความสำเร็จ ทุกคนทรีตเราเปลี่ยนไป ทำให้ผมอึดอัด แต่อยู่โน่นไม่มีชนชั้นวรรณะ คนมองเราที่ผลงานและหน้าที่มากกว่า

“ช่วงแรกที่กลับมาผมไม่ให้สัมภาษณ์เลย เพราะกลัวอะไรๆ จะทำให้คนอื่นมองเราผิดไป ถ้าไม่รู้จักกันคงคิดว่าผมเป็นลูกคนมีเงินที่พ่อแม่ส่งไปเรียนเมืองนอกสบายๆ ความจริง สิ่งเหล่านี้คืออนุสาวรีย์ที่สร้างมาอย่างลำบาก Work Before Glory จริงๆ ผมไม่เคยสำเร็จโดยไม่ขยับตัวหรือมีกลีบกุหลาบโรยไว้ เลยกลัวเพลิดเพลินกับชื่อเสียงแล้วหลงลืมความเป็นเด็กบ้านนอกที่มีความใฝ่ฝันนี้และทุ่มเทกับมันจนสุดตัว กลัวความสำเร็จจะพรากไฟในการทำงานไป”

07 Act of Kindness

แปลว่าตอนนี้ความเป็นเด็กคนนั้นยังอยู่?

“ยังอยู่ครบ และนี่คือวิธีการทำงานของออฟฟิศผม”

หลังจากกลับมาไทยไม่นาน ฝีไม้ลายมือที่ชารีฟฝากไว้ในวงการก่อนไปเรียนต่อ พางานถาโถมเข้ามาหานักออกแบบหนุ่มนักเรียนนอกได้อย่างสมศักดิ์ศรี จนต้องเปิดสตูดิโอ Act of Kindness ฟอร์มทีมยอดมนุษย์ขึ้นมาช่วย

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“ผมพยายามอยู่กับงานในสเกลเล็กๆ ที่ยังมีส่วนร่วมกับทุกอย่างและควบคุมคุณภาพของงานได้เต็มที่ ไม่ต้องการเป็นผู้บริหารที่ชี้นิ้วสั่ง เพราะรู้สึกว่าเราเกิดมาต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง

“อย่างหนึ่งที่ผมเชื่อ” เขาพักจังหวะ จิบกาแฟเย็น ระยะเวลาพอให้ความสงสัยของเราทำงาน

“การทำงานบนแรงบันดาลใจ เป็นเรื่องคลีเช่ในวงการดีไซน์ การเอาแรงบันดาลใจมาเป็นตัวตั้ง หลายครั้งผลลัพธ์ไม่ได้วิ่งกลับไปสู่แรงบันดาลใจนั้นเลยด้วยซ้ำ คุณแค่เอาแรงบันดาลใจมาสร้างสตอรี่ทำให้เกิด Aesthetic Quality เท่านั้น ผมทำลายโครงสร้างวิธีการทำงานแบบนี้ไปเลยเพราะเราเป็นสถาปนิก คิดเป็นวิทยาศาสตร์ มองอะไรเป็นขั้นตอนเสมอ”

แล้วถ้าไม่เอาแรงบันดาลใจเป็นตัวตั้ง แล้วเอาอะไร-เราข้องใจ

“เอาปัญหาหรือคำถามเป็นตัวตั้ง เพราะงานดีไซน์เกิดขึ้นมาจากสิ่งนี้ อันดับแรกผมจึงพยายามหาคำถามให้เจอก่อน แล้วปล่อยให้ตัวเองสนุกกับการหาคำตอบ ประสบการณ์ระหว่างนั้นจะค่อยๆ เฉลยมาทีละนิด อย่าบังคับให้ตัวเองเห็นคำตอบเดียวเพียง เพราะมีแรงบันดาลใจอันใดอันหนึ่ง เพราะมันคือการหลอกตัวเอง”

“ผมสอนวิธีคิดแบบนี้ให้น้องในทีมเสมอ ตอนแรกๆ เขาก็งงกันนะ เพราะไม่เคยถูกสอนให้คิดวิพากษ์ ปลูกฝังจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมการทำงานของเรา”

08 Never Take It for Granted

ชารีฟขยายความต่อทันทีว่า Act of Kindness คือสตูดิโอออกแบบอายุ 6 ขวบ ที่ยึดมั่นในสหวิทยาการ รวบรวมเอาสมาชิกผู้สนใจงานออกแบบหลากหลายแขนงเข้ามาประสานพลังกันทำงาน

“ถ้าเป็นคน ก็คงน่าจะรุ่นพวกผมนี่แหละ สามสิบต้นๆ” ดีไซน์ไดเรกเตอร์เล่าถึงสตูดิโอของเขาโดยใช้ความเปรียบ

“ยังไม่เป็นผู้ใหญ่มาก มีบุคลิกบางอย่างเฉพาะ หวนหาความงามในอดีต แต่ก็พร้อมปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงโดยไม่เปลี่ยนตัวตน ไม่ต่อต้านความเป็นไปของสังคม แต่ฉลาดเลือกดึงความเป็นตัวเองเข้ามาผสมยุคสมัยอย่างสนุกขึ้น Re-invent ไปได้เรื่อยๆ”

ปัจจุบัน Act of Kindness ให้บริการดูแล Design Service ครบวงจร ผลงานที่ผ่านมามีทั้งพื้นที่เพื่อการพาณิชย์และที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ตั้งแต่บ้านเซเลบดาราไปจนถึงร้านค้า คลินิกทันตกรรม และออฟฟิศธนาคาร

“ผมเชื่อว่าการทำงานตามโจทย์ลูกค้ามันลดทอนความเป็นตัวตนของนักออกแบบ ทุกปีผมจึงมีโปรเจกต์พิเศษให้ทีมได้ออกมาจากโต๊ะทำงานที่จำเจ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งตอนแรกไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จมากมาย แต่ปรากฏว่าได้ไปออกงานแฟร์ต่างประเทศ และได้รับคัดเลือกเป็น New Wave Asian Designer 

“การตั้งเป้าสิ่งใหม่ๆ และอนุญาตตัวเองให้มีความเสี่ยงบ้าง ทำให้เราไม่หมดไฟและพร้อมเรียนรู้ใหม่เสมอ ที่สำคัญคือเพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ Take it for granted ว่าเราชนเพดานแล้ว สำเร็จแล้ว พอแล้ว”

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

ไดเรกเตอร์มากความสามารถเล่าต่อด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า หัวใจของการออกแบบสำหรับเขาคือ Kindness หรือความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ปลูกฝังมาจากการเป็นเด็กต่างจังหวัด ยิ่งไปกว่านั้นคือความจริงใจและโอนอ่อนกับสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ นี่คือกุญแจซึ่งคอยหล่อเลี้ยงความฝันให้ยังมีแรงขับทะยานไปข้างหน้าได้

“อยากเห็นประเทศเรามียุคทางดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ” เขาเล่าถึงความฝันลึกๆ 

“ในเยอรมนีมี Bauhaus สิงคโปร์มียุค Tropical บ้านเราไม่ใช่ว่าเอาความเป็นไทยมาแปลใหม่เฉยๆ ผมว่ามันควร นิยามความเป็นไทยในรูปแบบใหม่ได้แล้ว อุตสาหกรรมควรขับเคลื่อนไปไกลกว่านี้ พอผมกลับไปสอนนักเรียนจึงถ่ายทอดวิชาอย่างหมดเปลือกเลย อยากให้เขาสร้างการเปลี่ยนแปลง” ชารีฟในบทบาทอาจารย์พิเศษแสดงความคิดเห็น

“สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในวงการการศึกษาแล้วอยากเปลี่ยนแปลงคือทัศนคติของอาจารย์ เด็กคือกระดาษขาว ถ้าบุคลากรยังจำกัดให้เขาอยู่ในกรอบที่คุณเคยทำมาเมื่อหกสิบปีก่อน สอนให้ซาบซึ้งกับโลก แต่คุณยังบังคับจำกัดทุกอย่างต้องอยู่ใน A2 มีหัวกระดาษ ชื่อ วันที่ ตัดสินด้วยวิธีการที่เราเคยเรียนมาในอดีต ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลิตสกรูน็อต ไม่ได้ผลิตคอมพิวเตอร์สมองกลอย่างแท้จริง” ชารีฟยกกาแฟขึ้นมาจิบดื่มครั้งที่ 2 ส่งสัญญาณว่าตอบคำถามจบแล้ว

09 คำถามสุดท้าย

บทสนทนาดำเนินมาถึงท้ายชั่วโมงที่ 2 

สถาปนิกและนักออกแบบดูจะเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่และความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งของคู่สนทนาเราอย่างเห็นได้ชัด ความสุขเคล้าความเศร้า สำเร็จเจือผิดหวัง ตามคาดสลับเหนือคาด ชีวิตอันโชกโชนนี้ได้รับอะไรจากอาชีพที่คุณยอมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มาบ้าง-เราถามคำถามสุดท้ายออกไปอย่างไม่ลังเล

“ระดับหยาบที่สุดคือผมมีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกทาง มีเงินทอง ได้เจอคนดีๆ ได้ออกไปเจอโลกกว้าง แต่ในระดับที่ละเอียดขึ้น ผมได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น ผู้ที่อาจไม่มีโอกาสมากมายอยู่ตรงหน้าเหมือนผม ผู้ที่อาจกำลังตั้งคำถามต่อแนวทางงานดีไซน์ของตัวเองหรือเผชิญอุปสรรคใหญ่เหมือนผม 

“ในระดับละเอียดที่สุด ผมได้เห็นคุณค่าของชื่อเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธมาตลอด ในสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ผมใช้มันช่วยคนอื่นได้จริง เราไม่ได้รับใช้ทุนนิยมหรือตอบสนองวงการอย่างเดียว เหตุการณ์นี้พิสูจน์ว่าดีไซเนอร์ก็คือมนุษย์ปุถุชน ทำงานเพื่อหาเงิน และช่วยเหลือสังคมได้ด้วย ไม่ได้อยู่กับความสวยงามอย่างเดียวเหมือนที่หลายคนคิด”

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือชีวิตที่แสนสนุกครบรส เป็นบทสนทนาอันวิเศษมากครั้งหนึ่ง

แต่เหนือไปกว่านั้น เราได้เห็นเส้นทางที่สุดแสนขรุขระเต็มไปด้วยขวากหนาม เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความมุ่งมั่นตั้งใจและความอ่อนน้อม (Kindness) สมชื่อสตูดิโอเป็นของมีคุณ ทำให้นักออกแบบตรงหน้าคนนี้ อยู่ร่วมกับความสำเร็จอันแสนน่ากลัวได้อย่างแล้วรอดปลอดภัย

5 ผลงานออกแบบที่ชารีฟอยากเล่าให้เราฟัง

01 Magnum Cafe

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“เป็นโปรเจกต์สุดท้ายที่ทำก่อนบินไปเรียนต่อ แล้วทำให้เกิดข้อขัดแย้ง เพราะในขณะที่เรามีชื่อเสียงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้ชีวิตอู้ฟู่ได้ แต่พ่อแม่ยังกินข้าวยำอยู่เลย เลยตัดสินใจทิ้งวงการแล้วไปเรียนต่อ เพราะอยากตัดบท กลัวตัวเองหลงระเริงกับชื่อเสียง ในเชิงวิธีคิด ผลงานนี้เกิดขึ้นจากคำถามที่ตั้งขึ้นมาว่าไอศกรีมอยู่กับศิลปะได้ไหม สรุปว่าได้ เราใช้ดีไซน์ทำให้เกิด Artistic Value ให้แก่แบรนด์ ผสานศาสตร์อื่นมาอีกหลายแขนง เป็นหลักฐานว่าแนวทางเราไม่ผิด”

02 Fun Factory

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“ชิ้นนี้เป็นทีสิสของเรา ศึกษาเมืองกลาสโกวว่าทำไมประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ แต่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูง และใช้ศาสตร์ Socio-Urban มาวิเคราะห์ เล่นกับวัฒนธรรมการทำงาน เป็นโปรเจกต์ที่อาจารย์ชอบและได้ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาด้วย เป็นจุดเปลี่ยนที่อาจารย์เข้ามาบอกว่า จากเด็กเอเชียที่ตามเพื่อนไม่ทันตอนแรก มีมุมมองความคิดเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด จนตั้งคำถามกับวัฒนธรรมที่ย้อนแย้งและเสนอวิธีแก้ปัญหาได้”

03 Studio Act of Kindness

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“ออฟฟิศนี้สะท้อนความเป็นตัวเราจริงๆ ด้วยสไตล์ คาแรกเตอร์ และอารมณ์ในการออกแบบ” 

04 Whale House

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“นี่คือโปรเจกต์บ้าน พี่โต๋ (นุติ์ นิ่มสมบุญ) ที่สนุกมาก เพราะพี่โต๋ไปทางโมเดิร์น แต่ภรรยาเขาชอบทางยุโรป ผมเลยบิดความแข็งอ่อนจากสองสไตล์ออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ จนนิยามไม่ได้ว่าเป็นสไตล์อะไรกันแน่ งานนี้ขุดสกิลล์มาใช้เยอะมาก เพราะมีแต่คำถามเต็มไปหมด (หัวเราะ)”

05 Monsoon House

เส้นทางชีวิตที่โรยด้วยขวากหนามและความพยายามของเด็กยะลาสู่มหาบัณฑิต สถาปัตยกรรมผังเมืองที่สกอตแลนด์และดีไซเนอร์เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Act of Kindness

“ชิ้นสุดท้ายขอเลือกบ้านของตัวเอง ผมคงไม่ได้ฝันอะไรไปมากกว่านี้แล้ว Monsoon House เป็นบ้านที่มีคาแรกเตอร์ที่เราคิดขึ้นมา อาจไม่ได้แปลกแต่ว่ามีความหนักหน่วงอยู่ เช่น ผมตั้งใจทำให้ทุกห้องรู้สึกว่าฝนตกตลอด เพราะผมผ่านความเจ็บปวดมาเยอะ ถ้าชีวิตเรียบง่ายจะไม่มีแรงขับเคลื่อน บ้านหลังนี้อาจเป็นตัวปิดท้ายในบทความที่ดี เพราะมันคือแบบจำลองความเป็นเรา ตั้งแต่อ่อนแอที่สุดไปจนถึงสำเร็จที่สุด”

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน