ธุรกิจ : พรพรรณเบเกอรี่

ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตขนมปัง

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2503

อายุ : 62 ปี

ผู้ก่อตั้ง : ชัยยุทธ ตรีเสน่ห์จิต

ทายาทรุ่นสอง : ธัญญนันทน์ ตรีเสน่ห์จิต Chapter 9

ณ ถนนเอกชัย เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดสมุทรสาคร ชุมชนเก่าแก่ ย่านการค้า และเขตอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ โรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ‘พรพรรณเบเกอรี่’ โรงงานขนมปังที่มีอายุกว่า 62 ปี

ก่อตั้งโดย คุณพ่อชัยยุทธ ตรีเสน่ห์จิต จากความคิดที่ว่า ธุรกิจโรงงานขนมในยุคนั้นมีคู่แข่งน้อยและเป็นที่ต้องการสูง จึงเก็บหอมรอมริบและนำเงินทั้งหมดมาเปิดโรงงานผลิตขนมปัง เริ่มต้นครั้งแรกที่ตลาดพลูเมื่อ พ.ศ. 2503 ก่อนจะย้ายมาที่ซอยเอกชัย 48 เมื่อ พ.ศ. 2510

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

ลูกค้าของพรพรรณเบเกอรี่โดยมากเป็นธุรกิจที่ใช้ขนมปังเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช่ผู้บริโภคโดยตรง เช่น ร้านขายไอศกรีม ร้านขายขนมปังปิ้ง สืบเนื่องธุรกิจมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง เอ๋-ธัญญนันทน์ ตรีเสน่ห์จิต ลูกสาวคนสุดท้อง เข้ามาต่อยอดพรพรรณเบเกอรี่ จากที่ส่งออกขายแค่ตามท้องตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอด จากชื่อของพรพรรณเบเกอรี่ที่อาจจะไม่ค่อยถึงหูผู้บริโภค มาเป็น ‘Chapter 9’ ธุรกิจคาเฟ่ขนมปังของคนรุ่นใหม่ พัฒนาสูตรหลากหลาย และตั้งใจสร้างแบรนด์เพื่อสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง

ปัจจุบัน ด้านหน้าซอยเอกชัย 48 จะเห็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เบเกอรี่ของพรพรรณและโรงงานอยู่ด้านหลัง ถัดมาอีกหน่อยจะเจอร้านคาเฟ่ที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องดินเผาสีน้ำตาล ด้านหลังมีอาคารสีขาวเป็นแบกกราวนด์ ให้ความรู้สึกเหมือนขนมปังสดใหม่ในถุงกระดาษ เช่นเดียวกับ Winning Product ของร้านคือ ‘โชกุปัง’

ฉันมีโอกาสได้มานั่งคุยกับเจ้าของร้านคาเฟ่ขนมปังถึงความสำเร็จของ Chapter 9 ซึ่งเธอบอกว่า 

“การเป็นทายาทรุ่นสองของเอ๋มันไม่ง่ายเลย”

ทุกอย่างมีจังหวะของมัน 

เอ๋มีพี่น้องทั้งหมดรวมตัวเองด้วยเป็น 9 คน เธอเป็นคนสุดท้อง แน่นอนว่าการเป็นทายาทรุ่นสอง ทั้งที่เป็นน้องเล็กสุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ก่อนหน้านี้เอ๋ทำงานเอเจนซี่โฆษณา แต่ด้วยอายุงานที่มากขึ้นจึงอิ่มตัว เธอจึงหาความท้าทายโดยเริ่มเรียนทำขนมในช่วงเสาร์อาทิตย์ เพราะคิดว่าถ้าวันหนึ่งต้องใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งนี้จริง ๆ ก็อยากจะลองดูสักตั้ง

เอ๋ตัดสินใจลางาน 3 เดือน เพื่อไปทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟที่ Le Cordon Bleu ก่อนจะกลับมาทบทวนและตัดสินใจคุยกับที่บ้านว่าจะออกมาทำธุรกิจนี้เต็มตัว

หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจกงสีของที่บ้านทีละนิด เพราะรู้ดีว่าธุรกิจโรงงานขนมปังนี้ยังไม่ตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ จึงได้ไอเดียทำร้านคาเฟ่ Chapter 9 ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ควบคู่กับงานวงการโฆษณา เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงผู้บริโภค ใกล้ชิดลูกค้า และเพื่อความยืดหยุ่นทางธุรกิจที่มากกว่าเดิม

ช่วงแรก Chapter 9 ไม่มีเรื่องขนมปังเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เพราะเน้นขายเค้กเป็นส่วนใหญ่ตามที่เอ๋ได้ไปเรียนมา

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

“ตอนนั้นเราแทบไม่ได้สนใจเรื่องขนมปังเลย พอใกล้ตัวมาก ๆ เราเลยมองข้าม” แต่เชฟ จัสติน ตัน สามีชาวสิงคโปร์ เห็นข้อได้เปรียบจากธุรกิจโรงงานขนมปังของที่บ้าน และเป็นจังหวะเดียวกับที่เอ๋เริ่มรู้สึกอ่อนล้ากับงานประจำ ซึ่งทำให้ทุ่มเทกับ Chapter 9 ได้ไม่มากพอ จึงตัดสินใจใช้ต้นทุนของสิ่งที่ได้จากพรพรรณเบเกอรี่มาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอย่างจริงจัง

ทีแรกเอ๋และจัสตินตั้งใจจะเข้าไปทำโดยใช้ฐานการผลิตเดิมของพรพรรณ และแตกสายผลิตภัณฑ์ สินค้าออกไปเพื่อจัด Mass Market แบบกว้าง เพิ่มมาตรฐานสินค้าเพื่อไปจับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ที่ใส่ใจและให้คุณค่าในรายละเอียดของสินค้า เช่น กลุ่มที่ให้มูลค่ากับสินค้าโฮมเมด เป็นต้น

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว

สำหรับพรพรรณ เอ๋และจัสตินเป็นเหมือนน้องใหม่ในธุรกิจกงสี ด้วยความที่เป็นมือใหม่ จึงทำให้เสียงของพวกเขาเบากว่า

การเปลี่ยนแปลงระบบในธุรกิจกงสีไม่ใช่เรื่องง่าย เธอยอมรับว่าการทำงานกับพี่น้อง ต่างกันกับการทำงานในออฟฟิศโดยสิ้นเชิง

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

“มันมีแรงต้านบางอย่างระหว่างเรา ครอบครัว และพนักงาน”

เธอเคยโดนพนักงานนินทาลับหลังจนเสียกำลังใจไปก้อนใหญ่

“ให้สัมภาษณ์แบบไม่โลกสวย ตอนแรกเราไม่อยากเข้ามา เพราะกลัวจะมีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ด้วยความที่เป็นครอบครัวเดียวกัน การพูดจาบางครั้งอาจทำร้ายความรู้สึกส่วนตัวกันได้ การปรับเปลี่ยนจึงกลายเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งปัญหาแบบนี้ไม่มีในการทำงานระบบออฟฟิศ เราไม่มีพันธะอะไรกัน ต่างคนต่างทำงาน มีปัญหาก็มาเคลียร์กันให้จบ แล้วทำงานต่อ”

น้องคนสุดท้องจึงตัดสินใจแยกฐานการผลิตทั้งหมดออกมาจากพรพรรณ เพื่อทำร้าน Chapter 9 เต็มตัว และปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองกับทุกคนที่บ้านแทน

โอกาสครั้งใหม่

จนกระทั่งโรงงานผลิตแป้งของพรพรรณ ที่ผลิตแป้งส่งตั้งแต่สมัยคุณพ่อติดต่อมาว่า มีแป้งสูตรใหม่มาให้ลองทำ เป็นแป้งที่ทางโรงงานโม่ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อการส่งออก ทำให้เนื้อสัมผัสของตัวขนมปัง Chapter 9 แตกต่างจากขนมปังของที่อื่น จึงเกิดเป็นไอเดียกลยุทธ์ ‘Winning Product’ เพื่อสื่อสารให้ลูกค้าเห็นตัวขนมปังของร้านแล้วเชื่อมโยงกับ Chapter 9 ได้ทันที

เอ๋บอกว่า “ทุกอย่างเป็นจังหวะ แป้งสูตรพิเศษนี้ จากที่เขาตั้งใจจะโม่เพื่อส่งออก ก็ส่งออกไม่ได้เพราะโควิด-19 ต่อมาพอประเทศเปิด สามีที่เป็นเชฟมิชลินที่สิงคโปร์ก็เข้ามาช่วยพัฒนาสูตรขนมปัง มันเป็นจังหวะ ๆ ไปหมด” นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคอนเนกชันในการพูดคุยติดต่อกับโรงงานผลิตแป้ง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก เจ้ตึ๋ง-สุวรรณี ตรีเสน่ห์จิต พี่สาวคนโตที่พนักงานในพรพรรณต่างเรียกกันว่า ‘เจ้ใหญ่’ ปัจจุบันเจ้ตึ๋งดูแลพรพรรณเบเกอรี่และยังให้คำแนะนำเรื่องการผลิตขนมปังในรูปแบบ Production Scale

ด้วยความที่เอ๋เคยทำบริษัทเอเจนซี่มาก่อน จึงมีทักษะในการโฆษณาสินค้าและสื่อสารออกไปให้ถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคอนเนกชันกับสื่อและคนรุ่นใหม่มากมาย ซึ่งพร้อมจะเข้ามาช่วยและสนับสนุน Chapter 9 กันอย่างเต็มที่

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

Action Speaks Louder than Words

กลยุทธ์ในการทำธุรกิจของ Chapter 9 นอกจากหา Winning Product แล้ว ยังมีการคิดสูตรขนมปังให้หลากหลาย ทำให้ขนมปังมีรสชาติที่น่าสนใจเกือบ 20 รสชาติ ยกตัวอย่างเช่น ขนมปังที่ Co-campaign กับ Hoegaarden ไอเดียนี้ได้มาตอนช่วงโควิด-19 ร้านนั่งดื่มหลาย ๆ แห่งเปิดทำการไม่ได้ จึงทดลองกับทีมทำรสเบียร์ถั่วพริกเกลือ ทาง Hoegaarden มาเห็น จึงมีการคอลแลบกันเกิดขึ้น

ยังมีการนำเอาระบบ KPI เข้ามาช่วยจัดระเบียบในการทำงานมากขึ้น แต่ด้วยความเป็นธุรกิจกงสี ในช่วงแรกอาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก “คนรุ่นเก่าจะไม่ค่อยเข้าใจกับ KPI ที่ไม่ใช่ตัวเลข” เอ๋กล่าว

เพราะสิ่งที่คนยุคเก่ามองเห็นหลัก ๆ คือกำไร ขาดทุน ทำให้ทุกคนที่บ้านตั้งคำถามมากมายระหว่างที่เธอกำลังพยายามจะเปลี่ยนแปลงระบบที่มีมานานของธุรกิจกงสี

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

แต่คงเป็นเพราะทายาทรุ่นสองคนนี้มีความคิดที่ไม่เหมือนใคร เธอมองเห็นว่าสักวันธุรกิจจะถึงทางตัน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ฉะนั้น จึงต้องสร้างบรรยากาศภายในร้าน ระบบการทำงานที่มีระเบียบมากขึ้น และการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีต่อคนกินมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการบริการที่ดีมากยิ่งขึ้น “เพราะเรารู้สึกว่าของกินดี ๆ หาซื้อที่ไหนก็ได้ แต่การบริการที่ดี ๆ ต้องฝึกฝน”

เอ๋เป็นคนที่เชื่อว่า Action Speaks Louder than Words เธอพยายามทำในสิ่งที่เชื่อ ทำให้เกิดผลลัพธ์ดี ๆ ขึ้น แล้วส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้พรพรรณต่อไป ทำให้ทุกวันนี้พรพรรณเบเกอรี่เองก็มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงระบบบางอย่างมากขึ้นเช่นเดียวกัน เอ๋เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า ในวันที่ทุกสายตาจับจ้องเธอด้วยความสงสัยในสิ่งที่เธอกำลังจะทำ ในวันนี้มันกลับกัน สายตาของทุกคนเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะสนับสนุน Chapter 9 ต่อไป

“ถึงแม้ว่า Chapter 9 จะไม่ได้ทำทุกอย่างจากพรพรรณ แต่ทุกครั้งที่มีคนสนใจ เราจะพูดถึงพรพรรณเสมอว่า นี่คือรากฐานของเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้สืบทอดธุรกิจพรพรรณโดยตรง แต่เรารับช่วงต่อมรดกของครอบครัว โดยใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากครอบครัวมาต่อยอด”

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค

จรรยาบรรณของคนทำธุรกิจ Food and Beverage

เอ๋ คือ เจ้าของร้านคาเฟ่ขนมปังคนนี้เป็นคนที่เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองด้วยความชอบ

เธอเล่าว่า “โดยธรรมชาติ ปลายทางของการทำธุรกิจคือเงิน เพราะไม่มีใครอิ่มท้องจากความภูมิใจหรอก ไม่มีใครสามารถซื้อบ้านซื้อรถได้จากความชื่นใจ ในระหว่างทาง นอกจากสถานการณ์รอบตัวที่เราต้องต่อสู้แล้ว เราเองต้องคุยกับตัวเองตลอดเวลา ให้ลดทอนบางอย่าง ตัดอีโก้ออกไป แล้วบาลานซ์ความเป็นมนุษย์กับธุรกิจให้ได้”

ในความหมายของเธอคือ การมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจของตัวเองและรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

“การทำธุรกิจจากความชอบของตัวเอง ต้องคำนึงเสมอว่า ผู้บริโภคอาจไม่ได้ชอบเหมือนเราเสมอไป คุณจะต้องไม่หิวโหยจนถึงขั้นหยิบยื่นอะไรก็ได้ให้คนกิน”

ทุกวันนี้พิษจากเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการบางเจ้าลดคุณภาพสินค้าลง เพื่อขายให้กับผู้บริโภคในราคาเดิม

“อย่าให้เศรษฐกิจบีบเราไปจนถึงขั้นนั้นเลย เพราะสุดท้ายจะกลายเป็นวงจรที่ผู้ประกอบการหวังกำไรฟู่ฟ่า ในขณะที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคของกินดี ๆ แต่กลับหาไม่ได้เลย ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่ากลัวนะ”

ปัจจุบัน การทำธุรกิจ Food and Beverage ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเงินหรือความอดทนอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่ต้องเตรียมพร้อมที่จะลงมือทำอยู่เสมอ

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทพรพรรณเบเกอรี่ ผู้ต่อยอดธุรกิจถึงมือผู้บริโภค
Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

“เราไม่มีความกลัว ความกลัวเราเป็นศูนย์ ถ้าในเชิงธุรกิจบอกว่าเดือนหน้า Chapter 9 ต้องปิดตัว เราก็พร้อมปิด อย่างไรก็ตาม เรามีแบ็กอัปในใจไว้ตลอดเวลา”

นี่คือสิ่งที่เอ๋ ทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ พูดออกมาด้วยความหนักแน่น เธอคิดและวางแผนไว้เสมอ เพราะเชื่อว่าในโลกธุรกิจไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งที่ทำได้คือการหาหนทางแก้ไขสำรองไว้ เผื่อวันที่เจอกับวิกฤตจะได้ปรับตัวทัน

‘การโตแนวข้าง’ คือสิ่งที่เอ๋ตั้งใจจะทำ เธอไม่ได้คาดหวังว่า Chapter 9 จะต้องเป็นธุรกิจที่กราฟพุ่งขึ้นไปด้านบน แต่สุดท้ายก็ตกลงเพราะตามเทรนด์ไม่ทัน ดังนั้น การเติบโตในแนวข้าง เช่น การแตกแบรนด์ หรือออกสินค้าตัวใหม่ไปเรื่อย ๆ น่าจะเป็นทางออกของธุรกิจ SMEs หรือพวกสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ๆ

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

การตัดสินใจครั้งสำคัญ

Chapter 9 จะครบรอบ 1 ปีเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้านับช่วงก่อนหน้าที่จะเริ่มทำ ‘โชกุปัง’ ด้วยก็ประมาณ 3 – 4 ปี ในช่วงนั้นเอ๋ยังคงทำงานเอเจนซี่ควบคู่ไปกับร้านอยู่ เธอใช้ชีวิตตลอด 7 วันโดยไม่ได้พัก

“ช่วง 3 – 4 ปีนั้น เราใช้ชีวิตแบบนี้จนเหมือนกึ่ง ๆ ทรมานตัวเอง กึ่ง ๆ พิสูจน์ตัวเอง ถ้าจะทำแบบนี้ เราต้องลองใช้ชีวิตอยู่กับมันดูว่าทำได้หรือเปล่า จนกระทั่งเราตัดสินใจออกจากงานมารีโนเวตร้านใหม่จนจะครบรอบ 1 ปีแล้ว เรารู้สึกว่า 3 ปีของร้านเก่ากับ 1 ปีของร้านใหม่ จังหวะของธุรกิจมันต่างกันโดยสิ้นเชิง”

Chapter 9 เปิดตัวในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังดุเดือด ในขณะที่พวกเรากำลังหวาดกลัวกับสถานการณ์ตรงหน้า ยังมีกลุ่มคนที่มองเห็นโอกาสและกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ จนทำให้เกิดเป็น Chapter 9 มาจนถึงทุกวันนี้ และก็เป็นวิกฤตโควิด-19 อีกเช่นกันที่ทำให้เธอรู้ว่าในโลกธุรกิจไม่มีอะไรแน่นอน

“การเป็นธุรกิจรุ่นสองที่อยู่ภายใต้อุตสาหกรรม F&B แทบจะเอามรดกตกทอดมาทำต่อไม่ได้เลย”

ผู้ประกอบการหลายเจ้าน่าจะรู้กันดีว่าเทรนด์หมุนเร็วแค่ไหน

“เราอยากเป็นตัวกำหนดเทรนด์ ไม่ใช่ให้เทรนด์กำหนดเรา แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการกำหนดมันนั่นแหละ”

ฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือการยอมรับ ยึดติดให้น้อยลง และพร้อมที่จะทิ้งแบรนด์ได้ทุกเมื่อ

เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้ต้องคิดแผนสำรองไว้ในหัวเสมอ ต้องสร้างสมดุลระหว่างการทำกำไรในเชิงธุรกิจกับการผลิตสิ่งที่ดีให้กับผู้บริโภคให้ได้

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

ทีมที่ดี

ลูกสาวคนสุดท้องของธุรกิจโรงงานขนมปังพรพรรณเบเกอรี่ ให้คำนิยามของธุรกิจนี้ว่าเป็น ‘โรงเรียนปฏิบัติจริง’ เพราะเป็นที่ที่ทำให้เธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า โลกของการทำธุรกิจไม่ได้สวยงามตามฝันเสมอไป ต้องมีล้มลุกคลุกคลานกันไปบ้าง ไหนจะเรื่องการรับช่วงต่อของธุรกิจกงสีที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก

แต่สิ่งที่ทำให้เอ๋ยังคงทำต่อ คือทีมของเธอ

“เราโชคดีที่มีทีมที่ดี” เธอกล่าวอย่างภูมิใจเมื่อเอ่ยถึงพนักงานทุกคนใน Chapter 9 การรับคนเข้ามาหมายถึงการรับสมาชิกที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน เอ๋เชื่อมั่นในคนมาก และแอบภูมิใจทุกครั้งที่เห็นน้อง ๆ หรือคนในทีมก้าวหน้าไปอีกขั้น

พรพรรณเน้นที่ Mass Market คือ การผลิตต้องรวดเร็วและทำได้ในปริมาณมาก ต่างกับ Chapter 9 ที่ให้ความสำคัญกับความประณีตในแต่ละขั้นตอน รวมไปถึงเทคนิคพิเศษที่ช่วยยืดอายุขนมปังโดยไม่ใช้สารเสริมหรือสารเคมีใด ๆ อีกทั้งยังช่วยดึงรสชาติของตัวขนมปังออกมาให้ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม

ทั้งสองมีกระบวนการผลิตพื้นฐานที่เหมือนกัน แต่เทคนิคพิเศษและวัตถุดิบนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้กระนั้น พนักงานจากพรพรรณก็เรียนรู้และทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม

จึงเกิดเป็นความภูมิใจเล็ก ๆ ของเอ๋และจัสติน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและความรู้ให้กับพนักงานได้

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค
Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

“เราทำให้คนคนหนึ่งที่เขาอยู่ในอาชีพนี้มาเป็นหลัก 20 – 30 ปี ได้เข้าใจในงานที่เขาทำอยู่จริง ๆ ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยเข้าใจหรอกว่าดูยังไง กลูเตน ไขมันคืออะไร แต่วันนี้เขาเข้าใจแล้ว พอเข้าใจ เขาก็เริ่มสนุกกับมัน เริ่มทำโน่นทำนี่เองได้ และต่อยอดได้”

ในช่วงแรก เธอไปขอพนักงานจากพรพรรณเข้ามาช่วยที่ร้าน

“เราคุยกันว่า ถ้าจะรับพนักงานใหม่ ทำไมถึงไม่ใช้คนที่ Know How อยู่แล้วล่ะ”

แต่เพราะเป็นน้องใหม่ขององค์กร จึงยังไม่มีใครเชื่อใจที่จะมาทำงานกับ Chapter 9 ยกเว้นแต่พนักงานจากประเทศลาวคนหนึ่งชื่อ น้อย

น้อยทำงานที่พรพรรณเบเกอรี่มาตั้งแต่สมัยที่เอ๋ยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เขาเล็งเห็นโอกาสความเป็นไปได้ และที่สำคัญคือ เขาเชื่อมั่นในตัวเจ้าของร้านคาเฟ่ขนมปังแห่งนี้

เพราะมีประสบการณ์มามากกว่า 20 ปี การทำขนมปังของน้อยจึงไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญที่จัสตินและเอ๋สอนน้อยคือความเข้าใจในวัตถุดิบ เหตุและผลของกระบวนการ รวมไปถึงขั้นตอนต่าง ๆ จนทุกวันนี้ น้อยสามารถแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ได้ ทั้งในส่วนของ Chapter 9 เองและพรพรรณเบเกอรี่

การเรียนรู้แบบหมุนเวียนเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จากเอ๋และจัสตินสู่น้อย น้องพนักงาน Chapter 9 ส่งต่อไปถึงพนักงานจากพรพรรณเบเกอรี่ ทำให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ตนเองทำกันมากขึ้น และสร้างสรรค์งานกันได้สนุกยิ่งขึ้น

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค
Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

บทเรียนของลูกคนที่ 9

“ถ้าในอนาคต Chapter 9 ต้องปิดตัวลง เราก็เชื่อว่าคนของเราที่มีสกิลล์ขนาดนี้ จะช่วยให้เราไปต่อในธุรกิจอื่น ๆ ได้”

นอกจากเป็นทีมที่มีคุณภาพแล้ว เอ๋และจัสตินก็มักถามคนในทีมเสมอถึงเรื่องความฝัน เพื่อช่วยผลักดันให้แต่ละคนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

“ไม่มีประโยชน์ที่เราจะดึงเด็กคนหนึ่งให้อยู่กับเราตลอดไป เพราะเขาเก่ง เราอยากให้เขาเก่งขึ้น เหมือนกับตัวเรา เราเองยังไม่อยากจะอยู่ร้านทุกวันเลย” เธอหัวเราะ “พอเซ็ตทุกอย่างในร้านให้พร้อม เรากับจัสตินก็แยกย้ายไปทำตามความฝัน เรายังคงคิดถึงงานเอเจนซี่อยู่ ก็เลยรวมตัวกับเพื่อนเปิดเป็นเอเจนซี่เล็ก ๆ ชื่อ ‘Second Nature’ ที่มีทั้งเรื่องขนมและงานโฆษณา เราชอบการสื่อสาร เพียงแต่อันหนึ่งเป็นการสื่อสารผ่านขนม และอีกอันคือการสื่อสารผ่านชิ้นงาน”

สุดท้ายแล้วความแน่นอนคือความไม่แน่นอน “เราไม่เชื่อในอิฐ หิน ปูน ทราย ฉะนั้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะเอา Chapter 9 ลงออนไลน์ให้หมด การโตในแนวข้างของ Chapter 9 จะหลากหลายขึ้น คุณภาพจะดียิ่งขึ้น และคนจะหาเราเจอได้ทุกที่ทุกเวลา”

ความกล้าหาญและพลังบวกที่ได้รับจากเจ้าของร้านคาเฟ่ขนมปังตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่นั่งคุยกัน ทำให้ฉันมองภาพของธุรกิจนี้กว้างขึ้นไปอีกขั้น วิสัยทัศน์ของเอ๋เป็นเหมือนลูกศรที่พร้อมจะพุ่งไปข้างหน้า เพื่อไล่ตามความฝันของตนเอง และนำทางให้ทีมไปพร้อม ๆ กัน รอยยิ้มที่มีให้กับพนักงานและลูกค้าที่แวะเวียนไปมา ยังคงอบอุ่นและให้การต้อนรับเป็นอย่างดีอยู่เสมอ

Chapter 9 คาเฟ่ขนมปังของทายาทรุ่นสองพรพรรณเบเกอรี่ ที่สร้างระบบ ทำแบรนดิ้ง และต่อยอดสิ่งที่มีให้ถึงมือผู้บริโภค

Writer

Avatar

ตรีเนตร จตุพร

นักเขียนฝึกหัดที่ชื่นชอบงานศิลปะ ธรรมชาติ และบทกวี หลงใหลในความย้อนแย้งของโลกใบนี้ เช่น การกินไอศกรีมในหน้าหนาว

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง