ถ้าคุณเคยเสียน้ำตาให้กับหนัง เราคือเพื่อนกัน

นอกจากบทสนทนา อารมณ์ เรื่องราวของตัวละคร และบรรยากาศแวดล้อมที่ส่งอารมณ์ไปถึงต่อมน้ำตาของเราได้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบ สิ่งนั้นคือ ‘ดนตรีประกอบภาพยนตร์’

เราเชิญ Film Score Composer คนหนึ่งที่ผลงานของเขาเพิ่งได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 27 มาพูดคุย ว่าเหตุใดชายผู้นี้ถึงนำความเหงามาเป็นแรงขับเคลื่อนในการประพันธ์ จนฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์ หนังสั้น ซีรีส์ สารคดี โฆษณา มากกว่า 50 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็น มะลิลา (กำกับโดย อนุชา บุญยวรรธนะ) อนธการ (กำกับโดย อนุชา บุญยวรรธนะ) Hope Frozen (กำกับโดย ไพลิน วีเด็ล) และ ดิว ไปด้วยกันนะ (กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล)

คอลัมน์ In Design ขอชวนคุณนั่งลงบนเก้าอี้นุ่ม ๆ สีแดง มีแสงไฟสลัว ๆ จากจอฉายหนัง และชมภาพยนตร์ชีวิตเหงา ๆ ของ ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล เคล้าเพลงประกอบของเขาไปพร้อม ๆ กัน

ฟิว ชัพวิชญ์ นักประพันธ์เพลงประกอบหนัง ที่ความเหงาพาผลงานไปถึงเทศกาลหนังระดับโลก

แรกบรรเลง

ในวัย 6 ขวบ เปียโนเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เข้ามาในโลกของเด็กชายชัพวิชญ์ จากการที่คุณแม่บังคับให้เรียน ความสัมพันธ์แบบกระจองอแงของฟิวและเปียโนก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น 

มีขี้เกียจซ้อมบ้าง แข่งดนตรีบ้าง สอบเกรดเปียโนบ้างจนจบเกรด 8 ตอน ม.6 

สองมือแม่พาเล่นเปียโน อีกสองหูก็ชอบฟังดนตรีเหมือนพ่อ ฟิวเติบโตมากับดนตรี 

เขามียุคสมัยของดนตรีในแต่ละช่วงชีวิต

ช่วงประถมถึงมัธยมต้นเขาฟัง Classical Music โดยเฉพาะเพลง Clair de Lune ฉบับออร์เคสตรา

ช่วงมัธยมปลายเขาฟัง Progressive Rock ตามคุณพ่อ

ดนตรีร็อกเปิดประตูการฟังเพลงให้ฟิว หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยดนตรี Electronic, Avant Garde ไปจนถึงดนตรี Experimental ที่มีการทดลองกับวิธีการเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ 

เสียงดนตรีที่เคยฟังรินไหลผ่านปลายปากกาเป็นบทเพลงแรกในช่วงใกล้เข้ามหาวิทยาลัย 

“อยู่ ๆ ก็อยากแต่งเพลง เพราะฟังเพลงเยอะมาก เพลงช่วงแรก ๆ เป็นแนวร็อก แต่เป็นสไตล์เขียนโน้ต ไม่เคยมีใครเอามาเล่นจริง ตลก ๆ หน่อย เป็นแนว Progressive Rock เขียนเพลง 6 นาที” 

แล้วเขาก็ค้นพบตัวเองว่า ชอบที่จะ ‘ประพันธ์’ มากกว่า ‘บรรเลง’

ฟิว ชัพวิชญ์ นักประพันธ์เพลงประกอบหนัง ที่ความเหงาพาผลงานไปถึงเทศกาลหนังระดับโลก

เพลงบันดาล (ใจ)

The Piano ของ Michael Nyman เป็นสกอร์ที่ทำให้เริ่มมาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์”

เราเดินย้อนตามบรรทัดห้าเส้นของฟิว กลับไปหาแรงบันดาลใจจากนักประพันธ์คนสำคัญในชีวิต และสไตล์การประพันธ์แรกเริ่มของเขา ซึ่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ The Piano ปี 1993 ถ่ายทอดเรื่องราวของอิสตรี ผ่านการบรรเลงเปียโนของ Nyman และวงออร์เคสตราจาก Munich Philharmonic Orchestra ส่งผลให้สไตล์ของฟิวเน้นความเรียบง่ายมาแต่ไหนแต่ไร หรือที่เรียกว่าดนตรีแนว Minimalist เน้นการเล่นซ้ำ ใช้องค์ประกอบทางดนตรีน้อยชิ้นแล้วค่อย ๆ พัฒนาจากองค์ประกอบเหล่านั้น

“อย่าง Philip Glass ก็มีสไตล์มินิมอล เป็นการเล่นวนซ้ำ ส่วน Steve Reich เล่นซ้ำ แล้วค่อย ๆ เหลื่อมจังหวะ แต่อย่าง The Piano ของ Michael Nyman อาจจะเรียกว่า Romantic Minimalist หรือ Neo-classical Minimalism มีความเป็น Neo-classic ที่ฟังง่าย แต่ข้างในยังมีแพตเทิร์นของมันอยู่ เวลาเราไปดูสกอร์หรือโน้ตดนตรี จะเห็นว่ามีแพตเทิร์นเป็นแผง ๆ วิ่งซ้ำ” ฟิวเล่าให้ฟังอย่างตั้งใจ

น่าทึ่งที่เราสัมผัสถึงแนวคิดมากมายซึ่งซ่อนอยู่ในทำนองของเพลงหนึ่งที่ยาวไม่กี่นาที

ฟิว ชัพวิชญ์ นักประพันธ์เพลงประกอบหนัง ที่ความเหงาพาผลงานไปถึงเทศกาลหนังระดับโลก

ฟิวเรียนจบด้าน Music Composition และเรียนต่อสาขา Film Scoring ที่ UCLA ณ ลอสแอนเจลิส เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่เขาพบกับ Johann Johannson นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ The Theory of Everything และ Arrival ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฟิวทำงานแนวกึ่ง Experimental 

หนังสั้นเรื่องแรกที่ฟิวทำ Film Score คือ Floodbook ของ หมู-ชัยนพ บุญประกอบ และ ฟิวยังทำงานร่วมกับ อาร์ม-ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต นักตัดต่อที่เคยตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง 

“เราโตมาด้วยกัน เหมือนอาร์มพาเข้าวงการ เขาตัดหนังให้ค่าย GTH ตั้งแต่ยังเรียน แล้วก็ลากเราไปด้วย ไปลองทำสกอร์” ช่วงมหาลัย ฟิวฝากผลงาน Film Score ไว้กับหนังสั้นหลายเรื่องของ GTH 

“หลังจากนั้นก็รู้เลยว่า ตัวเองมาสาย Film Score แน่ ๆ” เขาคาดเดาอนาคตไว้แม่นยำ

หลายคนอาจคุ้นเคยกับสกอร์ของฟิวจาก อนธการ ซึ่งผ่านฝีมือการตัดต่อของอาร์มเช่นเดียวกัน “อนธการ เป็นหนังเรื่องแรกที่เปิดประตูคอนเนกชันให้ไปต่อในสายหนังอินดี้ ผู้กำกับเริ่มรู้จักเรามากขึ้น” 

ผลงานของเขาถูกนำไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 65 เข้าชิงรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง สุพรรณหงส์ และ Starpics Thai Film Award และคว้า 2 รางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง และ Starpic 

นี่เป็นการนำฟิวเข้าสู่เส้นทางนักประพันธ์ที่น่าจับตามองอย่างเต็มตัว

เก็บหนังไว้ในเพลง

เบื้องหลังผ้าใบมีศิลปิน เบื้องหลังบทเพลงมีผู้ประพันธ์ 

ฟิวพาเราสวมหมวกนักประพันธ์ และเล่าถึงกระบวนการทำงานให้ฟัง 

“กระบวนการทำงานมี 2 แบบ หนึ่ง หนังตัดเสร็จก่อนแล้วค่อยทำสกอร์ สอง ทำสกอร์ก่อน แล้วค่อยเลือกไปตัดใส่ในหนังและปรับแก้อีกทีในช่วงหลัง” ทั้งสองวิธีต่างกันที่ระยะเวลา วิธีแรกสั้นกว่า วิธีที่สองนานกว่า ฟิวชอบวิธีหลัง เพราะเขาให้เวลากับการอ่านบทและเขียนเพลงออกมาจากตรงนั้น

ฟิว ชัพวิชญ์ นักประพันธ์เพลงประกอบหนัง ที่ความเหงาพาผลงานไปถึงเทศกาลหนังระดับโลก

“อย่าง Bangkok Breaking ซีรีส์ของ Netflix ใช้วิธีนี้เหมือนกัน มีทั้ง 2 ส่วน ส่วนที่เขียนหลังตัดและเขียนก่อนตัด แต่เพลงส่วนใหญ่ประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ เขียนก่อนจากตอนอ่านบทและตอนอีพีแรก ๆ ที่ทีมงานถ่าย แล้วตัดคร่าว ๆ มาให้ดู เราก็เลยได้ Main Theme ที่ค่อนข้างแข็งแรงจากการเขียนเพลงก่อน แล้วเขาก็ไปใส่ใน Bangkok Breaking เป็นสกอร์” หรืออย่างหนังเรื่อง มะลิลา กำกับโดย นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ใช้เวลาร่วมปีครึ่ง กว่าจะได้สกอร์เกือบทั้งหมดนำไปเรียบเรียงใส่ในภาพยนตร์

“มีความคราฟต์อยู่ในนั้นเยอะ เพราะเราคราฟต์กับมันมาก ใช้เวลากับมันมาก” เขาย้ำ “จริง ๆ ไม่ค่อยมีหนังประเภทนี้ที่เขียนเพลงก่อนนาน ๆ แล้วเอาไปตัดวางบนสกอร์ เราเพิ่งรู้ว่าเพลงที่แต่งโดยที่ไม่ได้ดูภาพก่อน มันทำงานได้ขนาดนี้ ในซีนท้าย ๆ เกือบจะร้องไห้ให้กับเพลงตัวเองนะ มันไปด้วยกันได้ดีมาก น้ำตาจะไหลเหมือนกัน

“ช่วงที่ยากที่สุดสำหรับการแต่งเพลงคือช่วงคิดไอเดียตั้งต้น หลังจากนั้นมันออกมาเอง”

กว่าจะเป็น Main Theme ของ มะลิลา ที่เราได้ฟัง ผ่านการแก้ไขมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 เวอร์ชัน 

“เวอร์ชันแรกของ มะลิลา ไม่ใช่เพลงช้าแบบนี้ เป็นแบบเปียโน Ryuichi Sakamoto (นักดนตรี นักเปียโน นักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่น เคยประพันธ์เพลงในภาพยนตร์ Merry Christmas, Mr.Lawrence, The Last Emperor ฯลฯ) วิ่ง ๆ เล่น ๆ พอพี่นุชชี่มาดู เขาก็เห็นภาพในแบบของเขา เขารู้สึกว่าเพลงมันเยอะไปหน่อย เราก็ค่อย ๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือเป็นเพลงธีมที่ช้า ๆ ลอย ๆ เนิบ ๆ ในหนัง มะลิลา” 

หลังจากได้ธีมหลัก ธีมนั้นก็ถูกพัฒนาเป็นสกอร์ต่าง ๆ ของหนังเรื่องนั้น

ในภาษาคนภาพยนตร์ มีหนัง 2 ประเภทหลัก ๆ ที่เราได้ยินคือ ‘หนังแมส’ และ ‘หนังอินดี้’

เราถามคนภาพยนตร์ตรงหน้าว่ามันต่างกันอย่างไร เขาบอกว่าต่างกันที่ ‘ไอเดีย’

“การทำหนังอินดี้เปิดกว้างทางไอเดียมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าทุนน้อยกว่าด้วย พอหนังอินดี้แสดงกันช้า ๆ ก็จะมีพื้นที่ให้เพลงมากขึ้น ส่วนหนังแมสอาจมีพื้นที่ให้เพลงน้อยกว่าเช่นกัน”

ฟิวชอบบาลานซ์ทั้งสองฝั่ง 

“แต่ถ้าทำเพื่อจิตวิญญาณ ก็คงเลือกหนังอินดี้” ถ้าเขายักคิ้วหนึ่งที ฉากนี้คงดูเท่ไม่เบา

ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักประพันธ์ชาวไทยผู้ทำเพลงประกอบให้มะลิลา, อนธการ, Hope Frozen จนไปไกลถึงเทศกาลหนังระดับโลก

เสียงนั้นเสียงหนึ่ง

ตั้งแต่บทเพลงแรกที่แต่งตอน ม.6 ผ่านมาสิบกว่าปี สไตล์ของเขาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก สกอร์ของฟิวยังให้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมวลของอารมณ์บางอย่าง เขานิยามมันว่า Ambient

“Ambient เกิดจาก Synthesizer ไม่ใช่ Ambient ในเชิง Sound Effects หรือ Sound Arts มันมี Ambient ในเชิง Music ที่เกิดจากการกดไปเรื่อย ๆ ช้า นุ่ม ๆ” ผนวกกับการทดลอง ใช้เทคนิคพิเศษในการเล่นเครื่องดนตรี หรือ Experimental Music “อย่างใน มะลิลา เพลงแรก มันเกิดกลุ่มก้อนเสียงของสตริงขึ้นมา ให้มันโฟลว์ไป” เขาได้แรงบันดาลใจจากดนตรี Neo-classical ของไอซ์แลนด์เฉพาะ Ólafur Arnalds และ วง Sigur Rós ศิลปินชาวไอซ์แลนด์ ที่แผ่ซ่านความเย็น ๆ เหงา ๆ มาสู่สกอร์ของฟิว 

มากกว่าแรงบันดาลใจ เขายกให้ Hans Zimmer เป็นไอดอลในการคิดไอเดียตั้งต้น

ในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างพ่อกับลูก Zimmer เลือกใช้ Organ ที่ให้เสียงเป็น Sine Wave เป็นหลัก แทนเครื่องสายที่เป็น Saw Wave เพื่อให้ Sine Wave แทนความรักบริสุทธิ์ หรือเรื่อง Hidden Figures ที่เล่าชีวิตของผู้หญิงผิวดำกลุ่มแรกในองค์กร NASA Zimmer ก็ใช้วงดนตรีที่เป็นคนดำเล่นทั้งหมด แนวคิดเหล่านี้สะท้อนมาที่ผลงานของฟิวด้วยเหมือนกัน

“เพลงแรกใน มะลิลา เป็น Opening Track เกิดจากการมองให้เป็นสายน้ำ เพราะในหนังมีฉากเอาบายศรีไปลอยน้ำ ไอเดียของเพลงแรกก็คือ เสียงค่อย ๆ ไหลจากความถี่สูง ซึ่งเป็นสตริงแนวสูง แล้วค่อย ๆ ลงมาย่านกลาง ไปย่านต่ำ เหมือนการไหลของสายน้ำจากสูงไปต่ำ เป็นไอเดียตั้งต้นที่ซ่อนไว้”

เสียงนั้นเสียงหนึ่งนำเราไปได้ไกลกว่าที่คิด

ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักประพันธ์ชาวไทยผู้ทำเพลงประกอบให้มะลิลา, อนธการ, Hope Frozen จนไปไกลถึงเทศกาลหนังระดับโลก

The Creation of a Lonely Being

ฟิวคือสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวแทนของความเหงาโดยแท้จริง

“จริง ๆ เพิ่งรู้สึกเหงาตอนเริ่มอยู่คนเดียวช่วงมหาลัย พอไปเรียนต่อ ก็ทวีคูณเข้าไปอีก”

เขาขับเคลื่อนตัวเองด้วยความเหงา และส่งต่อความเหงานั้นในรูปแบบที่สวยงาม

“ชีวิตส่วนตัวเป็นคนเหงา กลายเป็นว่าสกอร์หลาย ๆ เรื่องที่เราทำ มีความเหงาอยู่ในนั้น”

ไม่ต้องเปิดชื่อนักประพันธ์ แค่ฟังเสียงเปียโนเหงา ๆ หรือเสียงสตริงเหงา ๆ เราก็จับได้ทันทีว่า นี่คือสกอร์ของ ฟิว ชัพวิชญ์

“ตอนทำสารคดี Hope Frozen มี Element พวกนั้นอยู่ในสกอร์เหมือนกัน พวก Piano Pad พวก Synthesizer ที่เป็น Ambience แล้วก็สตริงเหงา ๆ การใช้คอร์ดก็จะมีเอกลักษณ์อยู่ เราเอาความเหงามายัดใส่ในดนตรี เป็นเหมือนลายเซ็น เพื่อน ๆ ก็จะพูดว่า มึงทำหนังออกมาได้ดีว่ะ 

“เพราะเราสัมผัสมันโดยตรงอยู่แล้ว มันมีความโดดเดี่ยวของการทำงานคนเดียวอยู่ บางทีก็อิจฉาคนที่ทำงานบริษัทเหมือนกันนะ แต่ว่าสไตล์ของเราเหมาะกับการทำงานคนเดียวมากกว่า แค่เราต้องอยู่กับความเหงาให้ได้เท่านั้นเอง” 

ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักประพันธ์ชาวไทยผู้ทำเพลงประกอบให้มะลิลา, อนธการ, Hope Frozen จนไปไกลถึงเทศกาลหนังระดับโลก

5 บทเพลงที่เหงาที่สุดของฟิว

Scene 01

No One Can Hear Us in this Universe

เพลงนี้แต่งหลังจากอกหัก เป็นเพลงที่เหงาที่สุดของฟิว 

“หลายคนชอบเพลงนี้มาก ๆ มีคนตามมาฟังจาก อนธการ เขาขอบคุณเราที่เขียนเพลงนี้ขึ้นมา”

Scene 02

อสุภนิมิต

อสุภนิมิต (นิมิตแห่งซากศพ) เป็นเพลงประกอบช่วงท้ายของ มะลิลา ที่เกิดการจากลา

“ขนาดฟังเพลงของตัวเอง ยังรู้สึกเหงามาก ตอนดูหนังเกือบจะร้องไห้เพราะเพลงนี้เหมือนกัน พอเพลงนี้ขึ้น เรารู้สึกว่าเพลงมันทำงานมากจริง ๆ”

Scene 03

A New Memory

“เพลงนี้มีการเปลี่ยนของทำนอง ครึ่งแรกเป็นทำนองหนึ่ง ครึ่งหลังเป็นอีกทำนองหนึ่ง”

เพลงนี้เขียนขึ้นด้วยมวลบรรยากาศความเหงาใน LA ตอนฟิวกำลังเดินทางกลับ เป็นเพลงแห่งการมูฟออน และทั้งอัลบั้มเกี่ยวข้องการมูฟออนจากสิ่งเก่า ๆ เพื่อสร้างความทรงจำใหม่ ๆ

Scene 04

In Memory of Einz

เพลงนี้เขียนขึ้นมาประกอบฉากเรียกน้ำตาที่สุดใน Hope Frozen 

“เพลงนี้เราเขียนขึ้นมาด้วยความเป็นตัวเองมาก ๆ” หรือในอีกความหมายหนึ่ง เขาอาจหมายถึงความเหงาอย่างสุดขั้วหัวใจ

Scene 05

A Gas Station Theme

เพลงประกอบ A Gas Station เรื่องราวเกิดขึ้นในปั๊มน้ำมันร้างต่างจังหวัด คลุ้งไปด้วยความเหงา และเล่าเรื่องความรักข้างเดียว เกิดเป็นธีมเพลงที่ไม่สมหวังและโดดเดี่ยว บรรเลงผ่านสกอร์ของฟิว

“ก็เหงาดี” – เขานิยามความเหงาสั้น ๆ 

This is Chapavich Temnitikul

เราถามมนุษย์แห่งความเหงาว่า การประพันธ์คืออะไรสำหรับเขา

“การประพันธ์ดนตรีสำหรับเรา เหมือนการต่อจิตวิญญาณ ถ้าพูดเว่อร์ ๆ หน่อย” เขายิ้ม “มันเป็นงานที่ชอบ การนั่งอยู่กับมันเลยเป็นการฮีลลิ่งไปด้วยในตัว โดยเฉพาะการได้ทำหนังที่อยากทำ”

และดนตรีก็สอนเขาเรื่องการใช้ชีวิต

“เราเรียนรู้ที่จะบาลานซ์ชีวิตตัวเอง เป็นการบาลานซ์นี่ไม่ใช่แค่การทำงานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเงินด้วย เราต้องบาลานซ์ให้ได้ทั้งหมด ให้มีเงินกิน เงินใช้ โดยไม่สูญเสียจิตวิญญาณของตัวเอง

“ซึ่งจิตวิญญาณพวกนั้นก็เติมเต็มได้จากการทำหนังที่อิสระขึ้นนะ เพราะเราไม่ได้อยากทำหนังอิสระอย่างเดียว ยังอยากทำหนังคอมเมอร์เชียลด้วย เพื่อบาลานซ์สิ่งต่าง ๆ ในชีวิต”

ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักประพันธ์ชาวไทยผู้ทำเพลงประกอบให้มะลิลา, อนธการ, Hope Frozen จนไปไกลถึงเทศกาลหนังระดับโลก

ทุกผลงานที่ทำจะมีคุณค่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง ฟิวสัญญาว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

“เราเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ เราเป็นตัวเองไม่ได้ขนาดนั้น เรายังต้องทำเพื่อรับใช้ภาพยนต์ แค่คนดูหนังแล้วชอบหนัง เราก็ดีใจแล้ว แต่ถ้าเขาฟังเพลงประกอบหนังแล้วชอบ นั่นเป็นผลพลอยได้ 

“และสิ่งสำคัญมันอยู่ที่เราได้ทำงานที่เราชอบหรือเปล่า” 

ความฝันสูงสุดในฐานะนักประพันธ์ของเขาคืออะไร – เราถาม

“เราอยากเป็นเหมือน Ryuichi Sakamoto ครับ เขาเป็นไอดอล ทำงานส่วนตัวก็เท่ ทำสกอร์ก็เท่ ลุคเขาก็ยังเท่อีก เราอยากเป็นแบบนั้น ตอนแก่ ๆ นะ ผมขาว ๆ ใส่แว่น บอกไว้เผื่อเขามาอ่าน” 

นักประพันธ์หนุ่มหัวเราะร่วนให้กับความฝันในวัยชราของเขา

“จริง ๆ อยากเป็น Film Score Composer ต่อไปเรื่อย ๆ นั่นแหละความฝันสูงสุด”

ฟิว-ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล นักประพันธ์ชาวไทยผู้ทำเพลงประกอบให้มะลิลา, อนธการ, Hope Frozen จนไปไกลถึงเทศกาลหนังระดับโลก

Writer

Avatar

ธฤดี อุดมธนะไพบูลย์

นักคิดเต็มเวลา นักเขียนบางเวลา รักวิทยาศาสตร์ ภาษา ศิลปะ และการได้นั่งคุยกับผู้คนในวันฝนตก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ