วันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมใน พิธีเจ้าเซ็น หรือ พิธีแห่เจ้าเซ็น พิธีกรรมสำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่มัสยิดผดุงธรรมอิสลาม ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ไม่เคยเห็น หรือไม่ทราบว่าเป็นพิธีแบบไหน ก็เลยขอนำเรื่องราวเท่าที่ได้ไปสัมผัสมาแบ่งปันให้กันครับ

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

พิธีแห่เจ้าเซ็น : มรดกพิธีกรรมสำคัญที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยามาถึงสมัยปัจจุบัน

พิธีเจ้าเซ็นนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายชื่อ บางคนเรียกพิธีตะซิยัต พิธีอาชูรอ พิธีมะหะหร่ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์เท่านั้น จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซ็น หลานตาของท่านนบีมุฮัมหมัดและญาติพี่น้องอีก 72 คนที่กัรบะลาอ์เมื่อ ฮ.จ. 61 (ตรงกับ พ.ศ. 1223) โดยจะจัดขึ้นในช่วง 10 วันแรกของเดือนมุฮัรรอม หรือที่คนไทยเรียกว่าเดือนมะหะหร่ำ โดยทำการจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ ณ ช่วงเวลานั้นขึ้น

พิธีแห่เจ้าเซ็นนั้นมีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานในสำเภากษัตริย์สุลัยมาน ซึ่งบันทึกโดยอิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม อาลักษณ์ของคณะราชทูตเปอร์เซียของกษัตริย์สุลัยมานแห่งราชวงศ์เศาะฟะวียฮฺ และจดหมายเหตุการเดินทางสู่สยามของบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด และแม้เวลาจะเคลื่อนผ่านจากสมัยอยุธยาสู่สมัยธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์แล้ว พิธีนี้ก็ยังคงสืบทอดต่อลงมา และยังมีโอกาสได้แสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวด้วย โดยเกิดขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้ไปจัดพิธีแห่เจ้าเซ็นที่พระนั่งสุทไธสวรรย์ติดต่อกันถึง 2 ปี ในระหว่าง พ.ศ. 2359 – 2360

ยิ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงรับพิธีแห่เจ้าเซ็นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเสด็จพระราชดำเนินเข้ารวมงานพิธีแห่เจ้าเซ็นที่กะดีหลวง พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้ง ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงพระราชเงินและเทียนสีผึ้งให้แก่กะดีหลวงในงานแห่เจ้าเซ็น และเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิธีที่กะดีหลวงในงานแห่เจ้าเซ็นเช่นกัน 

รวมถึงในสมัยของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จพระราชดำนเนินไปร่วมพิธีแห่เจ้าเซ็น ณ กะดีเจริญพาศน์เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496

บันทึกจากสายตาคนนอก : พิธีเจ้าเซ็นในวันอาชูรอ (ภาคเช้า)

เมื่อผมเดินทางไปถึงมัสยิดผดุงธรรมอิสลามพร้อมกับคุณพ่อ ผู้คนทั้งชายหญิงสวมชุดสีดำเดินกันขวักไขว่ บ้างทำความสะอาด บ้างจัดเตรียมพื้นที่โดยรอบมัสยิด ผู้ชายบางคนเริ่มเอาผ้าสีขาวที่เรียกว่ากะฝั่นหรือกัฟฟาหนี่ ผ้าที่ใช้ห่อร่างคนตายมาสวมทับเสื้อสีดำ เครื่องหมายแห่งความไว้อาลัยขั้นสูงสุดต่ออิหม่ามฮุเซน ผมเลยเข้าไปชมภายในมัสยิดก่อนเพราะคุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต บอกว่า เข้าไปดูก่อนจะได้เห็นว่าข้างในเขาจัดอะไรยังไงบ้าง 

พอเข้าไปข้างในมัสยิดก็เห็นเลยว่าแตกต่างจากที่มาคราวก่อนมาก ทั้งการดาดเพดานด้วยผ้าสีดำ สัญลักษณ์แทนความโศกเศร้าจากความตายของอิหม่ามฮุเซนที่ปกคลุมฟ้าดิน และผ้าสีแดงเพื่อระลึกถึงแผ่นดินกัรบะลา และตำแหน่งที่อิหม่ามอะลีที่ถูกลอบสังหารระหว่างการละหมาด (บิดาของอิหม่ามฮุเซ็น) ทั้งแผงกะหนาต แผงไม้ประดับกระดาษตอกลายอย่างวิจิตร ซึ่งจำลองฉากสถานที่ฝังศพของท่านอิหม่ามฮุเซนที่ตั้งบังซุ้มมิหร็อบเอาไว้ รวมถึงจ้ลด่น สัญลักษณ์แทนวอบนหลังอูฐ ที่ตั้งด้านหน้ารายล้อมด้วยธงและหางนกยูง รวมถึงมินบัรที่ขยับไปตั้งไว้ด้านข้าง ทำให้บรรยากาศภายในที่ปกติจะให้ความรู้สึกสงบกับดูเข้มขลังขึ้นมามาก

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

จากนั้นผมก็เดินทะลุประตูด้านหลังมัสยิดไปยังโรงโต้ระบัตเพื่อชมโต้ระบัตหรือตุ้มบุต เครื่องแห่ขนาดใหญ่ที่สุดในพิธีเจ้าเซ็นที่เสมือนเสลี่ยงคานหามขนาดใหญ่ จำลองสถานที่ฝังศพของอิหม่ามฮุเซน ซึ่งได้รับการประดับตกแต่งอย่างสมบูรณ์ด้วยชะด่า สัญลักษณ์ของผู้ผลีตามวิถีศาสนา กระดาษเงินกระดาษทองที่ฉลักอย่างงดงาม พร้อมด้วยเครื่องภูษา ลูกปัดแก้ว กระดาษสี โดยตรงกลางนำส้นดูกหรือหีบศพจำลองของอิหม่ามฮุเซนขึ้นติดตั้งบนโต้ระบัต และนำคัมภีร์อัลกุรอานไว้ตรงกลาง

ผมเคยเข้ามาชมโต้ระบัตนี้มาก่อน แต่นั่นเป็นก่อนพิธีเจ้าเซ็นจึงเป็นเพียงโครงไม้ขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะการตกแต่งโต้ระบัตมีเฉพาะในช่วงพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น ก่อนจะแยกส่วนเหลือแต่โครงเหมือนเดิม นอกจากนี้ก็เริ่มเห็นคนเริ่มแต่งองค์ทรงเครื่องให้กับทั้งม้าที่จะแทนด้นยะหน่า ม้าของท่านอิหม่ามฮุเซน รวมถึงจตุรงคบาทที่คอยดูแลม้าและบ้ายี่หนู่ที่เริ่มแต่งชุดสีขาวและประแป้งตามร่างกายแล้ว 

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

พอแต่งกายกันเรียบร้อยแล้ว พวกผมก็ออกมายืนสังเกตการณ์ด้านข้าง ขบวนก็ค่อย ๆ เคลื่อนมานำโดยม้าด้นยะหน่าที่มีจตุรงคบาทโดยรอบ ตามมาด้วยโต้ระบัตซึ่งมีชายประมาณ 20 คนแบกมาที่บริเวณหน้ามัสยิด จากนั้นก็เริ่มมีการประกอบขบวน ทั้งบ้ายี่หนู่ ทั้งคนแบกจ้ลด่น รวมถึงชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่เริ่มมารวมตัวรอบ ๆ โต้ระบัต ก่อนเริ่มแห่รอบหน้ามัสยิด พร้อมกับการขับโศลกมะระเสี่ยไปด้วย 

แม้จะฟังไม่ออก แต่ก็สัมผัสได้ว่าบรรยากาศเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยน ยิ่งพอถึงตอนที่มีการล้มหนู่ ซึ่งเป็นกิริยาที่บ้ายี่หนู่ 2 คนจะล้มตัวขวาง เพื่อห้ามมิให้อิหม่ามฮุเซนออกไปเผชิญหน้าศัตรูแล้วเกลือกกลิ้งไปบนพื้นลาน และคร่ำครวญถึงอิหม่ามฮุเซน บรรยากาศรอบ ๆ ตัวยิ่งดูหม่นเศร้าขึ้นไปอีก ขนาดผมฟังโศลกแทบไม่ออก แต่รู้สึกสะเทือนใจไปด้วยเลย

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

จากนั้นจึงเริ่มแห่รอบมัสยิดโดยการเวียนซ้ายหรืออุตราวรรต ซึ่งถือเป็นทิศอวมงคลในหลายศาสนา ผมไปร่วมเดินตามคำชวนของคุณธีรนันท์ พร้อมกับความรู้สึกจากการล้มหนู่ที่ยังอยู่ข้างใน เลยตัดสินใจจะปล่อยสมองแล้วเดินสัมผัสบรรยากาศไปเรื่อย ๆ ก่อนจะถอยออกมาหลังจากเดินไปได้ 2 – 3 รอบ ทำให้ได้เห็นขบวนทั้งหมด 

เริ่มต้นจากคนเชิญธงสี 6 คู่ ประกอบด้วยสีแดง เขียว ดำ ขาว ฟ้าและเหลือง ต่อด้วยคณะจ่าปี่-จ่ากลอง คนแบกจ้ลด่นที่เดินเซไปมาเหมือนอูฐเดิน ด้นยะหน่าและจตุรงคบาท คนถือระบั่นซึ่งเป็นเครื่องหอม คนเชิญปั้นหย่า สัญลักษณ์รูปมือโลหะและคนเชิญซ้ลฟะก๊าต สิ่งแทนดาบซุลฟิกอร์ดของอิหม่ามฮุเซน คนแบกโต้ระบัต ก่อนจะตามด้วยชายหญิงที่เดินร่วมขบวนด้วย ซึ่งมีแทบทุกวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงวัยทั้งที่เดินด้วยตัวเองและนั่งรถเข็น 

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย
พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

ภาพที่เห็นตรงหน้านี้เหมือนกับที่ผมได้เห็นบนจิตรกรรมฝาผนัง ณ อุโบสถ วัดโพธิ์ปฐมาวาส จังหวัดสงขลา ซึ่งแทบทุกส่วนทุกจุดของอาคารเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาเอาไว้ กลับแทรกภาพเล็ก ๆ ภาพนี้เอาไว้ที่บานแผละ ณ วันที่ผมเห็นครั้งแรก ผมรู้แค่ว่าภาพนี้เป็นภาพพิธีเจ้าเซ็น แต่ไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่อยู่บนผนังนั้นแม้แต่น้อย จนมาวันนี้ เมื่อได้เห็นพิธีกับตา ผมถึงได้เข้าใจผนังนั้นอย่างถ่องแท้ แล้วยิ่งรู้สึกโชคดีมากขึ้นไปอีกที่มีโอกาสได้เห็นพิธีนี้กับตา

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

ขบวนวนรอบมัสยิดอยู่หลายรอบจึงมาหยุดที่หน้ามัสยิด ก่อนจะนำเอาปั้นหย่าและซ้ลฟะก๊าตผูกไว้กับคานหน้ามัสยิดแล้วคนก็เริ่มทยอยเข้าไปข้างใน ผมตามเข้าไปนั่งฟังด้านในด้วย นักริว่าหยัตก็เริ่มเล่าบั่นที่ 11 เกี่ยวกับอิหม่ามฮุเซนที่ตัดสินใจออกไปเผชิญหน้ากับศัตรูและได้ออกไปพร้อมกับอะลี อัสกัร บุตรคนเล็กเพื่อขอน้ำจากศัตรู แต่สุดท้ายถูกธนูยิงที่คอจนเสียชีวิตด้วยภาษาไทยและภาษาอาหรับ ซึ่งน้ำเสียงที่เล่านั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ที่เต็ม ยิ่งพอเล่าถึงตอนที่อะลี อัสกัรเสียชีวิต เสียงที่เล่ายิ่งกระชากอารมณ์ทำให้ขนลุกซู่ แต่นั่นเทียบไม่ได้กับอีกหลายคนในมัสยิดที่ร้องไห้ออกมา เมื่อเล่าจบ พวกผู้ชายก็เดินวนรอบจ้ลด่นที่ยกเข้ามาพร้อมกับตีหน้าอกแล้วตะโกนว่า ยาฮูเซน ก่อนจะออกไปแล้วเริ่มเวียนรอบมัสยิดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีการมะต่ำหรือตีหน้าอกเป็นจังหวะไปด้วย

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

จนเมื่อการเวียนรอบมัสยิดครั้งนี้เสร็จสิ้น ก็มียกจ้ลด่นกลับมาไว้ในมัสยิดเหมือนกัน เอาปั้นหย่ากับซ้ลฟะก๊าตกลับมาผูกไว้กับคานหน้ามัสยิดอีกครั้ง และมีการนำโต้ระบัตกลับมาตั้งไว้เพื่อให้ทุกคนเวียนแบบอุตราวรรต ในครั้งนี้มีการคนชักมะระเสี่ยเป็นคนนำพร้อมกับอ่านโศลกไปด้วย ยิ่งในช่วงท้าย ๆ ที่เริ่มสวดว่า 

“ยาอิมาม ยาฮูเซน ยาฮะซัน ยาฮูเซ็น ยาเมาลา  ยาชะฮีด ชากะลีฟ ยาฮูเซ็น” พร้อมกับการมะต่ำหรือการตีอกเป็นจังหวะที่ยิ่งผ่านไป จังหวะยิ่งเร่งเร้าขึ้นเรื่อย ๆ เสียงตีอกยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

พิธีแห่เจ้าเซ็น เมื่อชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีสำคัญของมุสลิมชีอะห์ในวันสุดท้าย

พอทุกอย่างสงบลง ผู้นำก็จะกล่าวคำอำลาแทนอิหม่ามฮุเซนต่อทุกคนที่เข้าร่วมพิธี แล้วทุกคนก็ยืนสงบนิ่ง ก่อนจะมีการนำโต้ระบัตมาตั้งเพื่อให้คนเดินลอดผ่าน เริ่มจากชาย ปิดท้ายด้วยผู้หญิง แล้วทุกคนจึงแยกย้ายกันไป มีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน เป็นเมนูที่ทำจากเนื้อวัวซึ่งผมทานไม่ได้ แต่เขาก็ใจดีเตรียมอาหารที่ทำจากไก่ให้ได้ทานกัน โดยพวกผมนั่งทานอยู่ภายในโรงโต้ระบัต พร้อมกับโต้ระบัตที่นำมาเทียบไว้ในโรงเพื่อเตรียมสำหรับพิธีในช่วงสุดท้าย

  พิธีเจ้าเซ็นในวันอาชูรอ (ภาคบ่าย)

พอทานเสร็จ ผมก็ไปยืนพิจารณาโต้ระบัตอีกครั้ง พอมีเวลามอง ยิ่งเห็นความงดงาม เห็นรายละเอียด เห็นสัญลักษณ์ที่แทรกอยู่ในโต้ระบัตที่ได้รับการออกแบบและจัดทำอย่างประณีต ทั้งลูกศรหลากสี ดอกไม้ประดิษฐ์ และอื่น ๆ ที่ยิ่งกระตุ้นให้ผมอยากไปชมโต้ระบัตของกะดีแห่งอื่น ๆ ว่าจะมีการประดับตกแต่งเหมือนหรือต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ระหว่างที่ถ่ายภาพผมก็ได้ยินเสียงละหมาด จึงเก็บภาพต่ออีกสักพัก ก่อนไปนั่งรอบริเวณหน้ามัสยิดเพื่อรอพิธีในช่วงบ่าย พอเสียงละหมาดเงียบลง ก็เห็นขบวนที่นำมาโดยคนถือระบั่นที่มีคนแบกหีบ 7 หีบที่ถูกคลุมไว้ด้วยผ้าสีต่าง ๆ ภายในบรรจุสัญลักษณ์ในพิธีเจ้าเซ็นที่ใช้ไปในตอนเช้า ค่อย ๆ นำไปเก็บในอาคารหลังหนึ่งที่ผมนั่งอยู่ข้างหน้าพอดี ก่อนกลุ่มนักดนตรีจะเริ่มตีกลอง 

พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา

ระหว่างนั้น ภายในมัสยิดก็เริ่มการเล่าริว่าหยัตบั่นสุดท้าย ว่าด้วยความตายของอิหม่ามฮุเซน ถ้าคิดว่าบรรยากาศในช่วงเช้าเศร้าแล้ว บรรยากาศนั่งช่วงบ่ายยิ่งดูเศร้าขึ้นไปอีก ทั้งจากน้ำเสียงของนักริว่าหยัต ทั้งจากเสียงสะอื้นของผู้คนในร่วมฟังการอ่านโศลกนี้ สักพัก ม้าด้นยะหน่าและจตุรงคบาทก็ปรากฏขึ้นและเริ่มโดยวนด้านหน้ามัสยิด จนเมื่อริว่าหยัตจบลง ผู้คนในมัสยิดก็ทยอยกันออกมาแล้วเริ่มวิ่งตามม้าด้นยะหน่าที่มีคนจูงให้วิ่งรอบมัสยิด ระหว่างวิ่ง เสียงมะระเสี่ยก็ดังขึ้นพร้อมกับการมะต่ำ แต่ครั้งนี้จังหวะของมันเร็วและถี่ยิ่งกว่าเมื่อเช้าอีก

พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา

หลังจากวนรอบมัสยิดอยู่หลายรอบ ทุกคนก็เริ่มเคลื่อนไปยังจุดสุดท้าย นั่นก็คือภายในโรงโต้ระบัตซึ่งเปรียบเสมือนกระโจมคาราวาน ซึ่งมีการเวียนแบบอุตราวรรตอีกครั้ง พร้อมกับมะระเสี่ยและมะต่ำอย่างเป็นจังหวะรอบโต้ระบัต ในครั้งนี้เปรียบเสมือนโลงศพของท่านอิหม่ามฮุเซนที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว

พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา

ในระหว่างนี้ ผมได้ขึ้นไปชมพิธีจากบนชั้นลอยภายในโรงโต้ระบัตแห่งนี้ ซึ่งนอกจากผมจะเห็นโต้ระบัตในมุมใกล้กว่ามองจากด้านล่าง ยังได้เห็นพิธีทุกอย่างที่เกิดขึ้นข้างล่างอย่างชัดเจน เห็นกิริยาของผู้คนที่เริ่มจากการเดินพร้อมกับมะต่ำเบา ๆ แล้วจึงเร่งขึ้น ๆ แล้วช้าลง แล้วเร่งขึ้นอีก แล้วช้าลง แล้วเร่งขึ้นอีก สลับกันเช่นนี้อยู่พักใหญ่ พร้อมกับบทมะระเสี่ยที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แม้ผมจะฟังไม่ออกแม้แต่คำเดียวก็ตาม

พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา

หลังจากเร่งแล้วช้า ช้าแล้วเร่งอยู่พักใหญ่ ด้นยะหน่า ม้าของอิหม่ามฮุเซนก็ถูกจูงเข้ามาในโรงโต้ระบัต ก่อนจะเริ่มวิ่งไปรอบ ๆ โต้ระบัตหลายรอบพร้อมกับผู้คนที่วิ่งตามม้าไป พอทุกอย่างสงบ ม้าหยุดนิ่ง ทุกคนนั่งลง อิหม่ามของมัสยิดผดุงธรรมฯ ก็เดินเข้ามาหาด้นยะหน่าในฐานะของบีบีซะกีนะฮ์ ธิดาของอิหม่ามฮุเซน และเริ่มถามม้าว่า เหตุใดจึงกลับมาโดยไม่มีอิหม่ามฮุเซนกลับมาด้วย แล้วเหตุใดม้าจึงเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด แล้วจึงเริ่มเลิกผ้าที่คลุมอานม้าเผยให้เห็นสิ่งที่ถูกปดปิดไว้ตั้งแต่เช้า ผ้าที่ถูกทาด้วยสีแดงและลูกธนูจำลองที่ปักอยู่ได้ปรากฏขึ้นต่อสายตา

พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา
พาสังเกตการณ์ 'พิธีแห่เจ้าเซ็น' มรดกพิธีกรรมสำคัญของมุสลิมชีอะห์ที่ข้ามกาลเวลาจากอยุธยา

แล้วจึงเริ่มมีการจูงม้าให้ออกวิ่งอีกครั้งพร้อมกับมะระเสี่ยที่ดังขึ้น มะต่ำที่ดังขึ้นสะท้อนก้องไปทั่ว แม้แต่ผมที่เป็นคนนอก ฟังมะระเสี่ยไม่ออกยังถูกบรรยากาศพาไป จนเกือบจะเผลอวางกล้องแล้วมะต่ำร่วมไปกับผู้เข้าร่วมพิธีไปด้วย แต่ก็ยั้งไว้เพราะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกควรรึเปล่า ได้แต่มองพิธีที่ค่อย ๆ ผ่านไป เห็นม้าด้นยะหน่าที่ถูกจูงออกไปนอกโรงโต้ระบัต แต่พิธียังคงดำเนินต่อ เสียงฝีเท้า เสียงมะระเสี่ย เสียงมะต่ำ ยังดังอยู่ในจังหวะที่ช้าสลับเร็วเหมือนเดิม 

ผมมาทราบทีหลังว่า บทรำพันที่ได้ยินนี้มีทั้งการตัดพ้อต่อชะตากรรมของอิหม่ามฮุเซน การสาปแช่งต่อผู้ที่กระทำต่ออิหม่ามฮุเซน และบทร่ำร้องต่อพระเจ้า ก่อนที่ในช่วงท้าย ทุกคนจะยืนล้อมโต้ระบัตและขอสันติภาพของอัลลอฮ์จงมีแต่ทุกคนที่เข้าร่วมพิธี เมื่อเสียงสงบลง ทุกคนต่างเดินมุ่งไปยังโต้ระบัต สัมผัสมือและศีรษะกับโต้ระบัตเพื่อเป็นการอำลา ก่อนพิธีจะสิ้นสุดลง

เมื่อพิธีจบลง ก็มีการนำอาหาร น้ำ และขนมเลี้ยงแก่ผู้เข้าร่วมพิธีทุกคน หนึ่งในนั้นคือขนมชื่อขนมฮะลิส่าหรือขนมอาชูรอ ขนมอวมงคลที่ทำขึ้นเฉพาะพิธีเจ้าเซ็นนี้เท่านั้น เป็นขนมที่ทำจากเนื้อไก่ มีแกะผสมเล็กน้อยพร้อมด้วยเครื่องเทศหลายชนิด พร้อมกับมีน้ำตาลเป็นเครื่องจิ้ม พอได้ลองทานดู รสชาติของมันอธิบายไม่ถูก ไม่ได้อร่อยแต่ก็กินได้เรื่อย ๆ 

ความเข้าใจที่อยากส่งต่อ

สิ่งที่ผมได้ถ่ายทอดออกมาเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวของพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า พิธีนี้กินเวลายาวนานถึง 10 วัน ผมได้เห็นแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น แม้จะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในพิธี แต่ก็เป็นเพียงส่วนสุดท้ายของพิธีนี้แล้ว ยังมีทั้งการตระเตรียมก่อนเริ่มพิธี พิธีที่จัดขึ้นก่อนหน้า ลำดับพิธีการที่มีการจัดเรียงอย่างประณีตจากวันที่ 1 มาสู่วันที่ 10 ที่ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผมอยากจะแบ่งปันให้กับผู้อ่านทุกท่านคือ ‘ความเข้าใจ’ ครับ เวลาเรามองไปยังสิ่งที่ไม่เคยเห็นและไม่เข้าใจ หลายคนพยายามทำความเข้าใจโดยการถามหรือการค้นหา แต่หลายคนเลือกที่จะปล่อยความไม่เข้าใจเอาไว้อย่างนั้น ซึ่งความไม่เข้าใจนี้หลายครั้งนำพาความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ หรืออาจเลยเถิดไปเป็นความขัดแย้งเลยก็ได้ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกเราแบบนั้นอยู่เสมอ หวังว่างานชิ้นนี้ของผมจะช่วยให้เราเข้าใจพิธีนี้ เข้าใจพวกเขามากขึ้นแม้เพียงเสี้ยวเดียวก็ยังดีครับ

สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณคุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต ที่อนุญาตให้ผมและอีกหลายท่านได้เข้าไปสังเกตการณ์และเรียนรู้เรื่องราวของพิธีที่เก่าแก่และสำคัญพิธีนี้ และช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในบทความนี้ด้วย

เกร็ดแถมท้าย

  1. ท่านที่สนใจรายละเอียดของพิธีเจ้าเซ็นแบบทุกขั้นทุกตอน พร้อมคำอธิบายแบบแน่น ๆ ขอแนะนำให้อ่านวิทยานิพนธ์ของคุณธีรนันท์ ช่วงพิชิตเรื่อง พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการธำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมชีอะห์ในสังคมไทย ซึ่งอธิบายเรื่องราวของพิธีนี้แบบทุกขั้นทุกตอนอย่างละเอียดยิบ 
  2. พิธีเจ้าเซ็นเป็นพิธีที่จัดกันแบบปิด ไม่ได้เปิดให้คนนอกเข้าไปสังเกตการณ์ ดังนั้นการเข้าไปชมพิธีนี้จะต้องขออนุญาตเข้าไปเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น
  3. ในอดีต พิธีเจ้าเซ็นจะจัดตามวันและเวลาเดิมตามปฏิทินทุกปี ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน หากเทียบกับปฏิทินแบบปกติที่เราใช้กันคล้ายกับประเพณีของจีนอย่างสารทจีน ตรุษจีน แต่ในปัจจุบันหลายมัสยิด หลายกะดีจะเลือกจัดประเพณีแห่เจ้าเซ็นในวันอาทิตย์ เพื่อให้สะดวกต่อผู้มาเข้าร่วมพิธี แต่ก็ยังมีหลายที่ที่ยังยึดตามแบบที่ปฏิบัติกันมานานอยู่
  4. ผมใช้คำว่า ‘กะดี’ แทนคำว่า ‘มัสยิด’ เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายคำว่า ‘กะดี’ ว่า โรงที่ประชุมทำพิธีฝ่ายศาสนาอิสลาม นิกายเจ้าเซ็น

 

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ