18 มิถุนายน 2020
9 K

แววตามุ่งมั่นซ่อนด้วยรอยยิ้มอันสุขุมอ่อนโยนของรูปปั้นหล่อบรอนซ์เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ขนาดครึ่งตัวที่ทอดมองไปยังริมตลิ่งแม่น้ำเปนเฟลด์ (Le Penfeld) ประหนึ่งจะย้อนรำลึกถึงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 หรือวันนี้เมื่อ 334 ปีมาแล้ว ที่คณะราชทูตสยามจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาเทียบท่าเรือขึ้นบกเป็นครั้งแรกที่ปลายถนนแซงต์ปิแอร์ (Rue St.Pierre) กลางเมืองแบรสต์ ก่อนจะเดินทางต่อโดยทางบกเพื่อนำพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ชานกรุงปารีส 

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของโกษาปานหลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน, ถนนสยาม, เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน), เจริญราชไมตรีกับฝรั่งเศสครั้งแรก

การมาในครั้งนั้นเป็นที่โจษขานร่ำลือถึงประเทศโพ้นทะเลชื่อ ‘สยาม’ ที่แทบไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน กระทั่งต่อมาถนนแซงต์ปิแอร์แห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนสยาม’ (Rue de Siam) เพื่อเป็นเกียรติแก่การมาเยือนของคณะราชทูตสยาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอดีตราชอาณาจักรอยุธยาเคยเป็นศูนย์กลางทางการค้าระดับนานาชาติ มีชาวต่างชาติเข้ามาทำมาค้าขายมากมาย ทั้งเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันไปจนถึงชาวตะวันตก ทั้งโปรตุเกส สเปน ฮอลแลนด์ อังกฤษ และโดยเฉพาะฝรั่งเศส ประเทศที่มีบาทหลวงและคณะมิชชันนารีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก 

นอกจากการทำมาค้าขายแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ด้วยเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามมีพระราชหฤทัยเปิดกว้าง และชาวสยามก็เป็นผู้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลเพื่อเผยแผ่คริสต์ศาสนา สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีพระบรมราชานุญาต และยังพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ก่อสร้างโบสถ์คริสต์ขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้ความสัมพันธ์ด้านศาสนาเป็นไปด้วยดี มีคณะมิชชันนารีเดินทางเข้ามาเพื่อประกอบกิจทางศาสนามากขึ้น และเป็นนำไปสู่การเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีในอีกหลายครั้ง 

เมื่อ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) ราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เพื่อทูลเชิญสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ทรงเปลี่ยนศาสนาแต่ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงแต่งตั้งคณะราชทูต นำโดย ออกพระวิสุทธสุนทร ตำแหน่งในขณะนั้นของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต และ ออกขุนศรีวิศาลวาจา เป็นตรีทูต เดินทางกลับไปพร้อมคณะของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ เพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสด้วย

ออกพระวิสุทธสุนทรคือใคร เหตุใดจึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำคณะราชทูตไปฝรั่งเศสในครั้งนั้น แม้บันทึกจะกล่าวถึงประวัติของท่านไว้น้อยมาก แต่ก็สรุปไว้ตรงกันว่า ท่านเป็นน้องชายของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระคลังในสมัยนั้น ทั้งสองเป็นบุตรชายของ เจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วย จึงทำให้เห็นสถานะทางสังคมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งด้วยความรู้ความสามารถในขณะรับราชการ ทำให้เจ้าเหนือหัวทรงเลือกท่านไปเป็นตัวแทนพระองค์ แม้แต่เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ก็ได้บันทึกถึงความประทับใจในเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไว้ว่า 

“เมื่อข้าพเจ้าได้พบกับออกพระวิสุทธสุนทรตั้งแต่วันแรกที่ปากน้ำ เมื่อเรือเรามาถึงเมืองไทยแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่าคนคนนี้เป็นคนมีสกุลอยู่เต็มตัว ทั้งรู้สึกว่าเป็นคนเฉลียวฉลาด อาจเป็นราชทูตไปเมืองฝรั่งเศสได้ดีกว่าใครๆ ทั้งหมด ข้าพเจ้าจึงได้แนะนำออกญาวิไชเยนทร์ให้เลือกเขาไปเป็นราชทูตกับเรา…”

คณะราชทูตสยามเดินทางโดยสารไปกับเรือกำปั่นฝรั่งเศส 2 ลำชื่อ เรือลัวโซ (L’Oiseau) และเรือมาลีญ (La Maligne) ออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ใช้เวลาในการเดินทางกว่า 5 เดือน และมาเทียบเรือขึ้นบกครั้งแรกบนแผ่นดินฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ณ เมืองแบรสต์ เมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตก ก่อนเดินทางโดยทางบกต่อไปยังพระราชวังแวร์ซายส์ มีการจดบันทึกเรื่องราวเป็นรายวันไว้อย่างละเอียดจากทั้งทูตจากราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และบันทึกของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เอง 

ทุกเมืองรายทางที่คณะราชทูตเดินทางผ่านมีหลักฐานบันทึกถึงการต้อนรับอย่างเอิกเกริกตลอดเส้นทาง จนกระทั่งวันเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซาย เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 หลังจากนั้นคณะราชทูตได้เดินทางไปท่องเที่ยวทางเหนือของประเทศฝรั่งเศสตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อีกทั้งพระราชทานเสื้อกันหนาวและเครื่องนุ่งห่มเมืองหนาวแก่คณะราชทูต จากนั้นจึงได้เดินทางย้อนกลับมายังเมืองแบรสต์อีกครั้งเพื่อลงเรือกลับกรุงศรีอยุธยา สิริรวมใช้เวลาอยู่ในประเทศฝรั่งเศสกว่า 8 เดือน

การมาในครั้งนั้นสร้างความประทับใจแก่ชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ทุกเยื้องย่างของคณะราชทูตจากสยามเป็นที่สนใจของชาวฝรั่งเศสและสื่อมวลชนที่ลงข่าวรายงานกิจกรรมของคณะราชทูตแทบทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้กล่าวชมความเป็นผู้รอบรู้ ความชาญฉลาดในวิเทโศบาย ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ตลอดจนจริยวัตรอันโอบอ้อมอารี มีมารยาท โดยเฉพาะความจงรักภักดีที่มีต่อพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งยวด อาจกล่าวได้ว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้นำภาพลักษณ์ของชาวสยามไปสู่ความทรงจำและการรับรู้ของชาวฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของโกษาปานหลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน

กว่า 3 ศตวรรษผ่านไป กระทั่งเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หรือเมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้กลับมาที่ถนนสยามกลางเมืองแบรสต์อีกครั้ง รูปหล่อโลหะบรอนซ์ขนาดครึ่งตัวของท่านถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรไมตรีอย่างเป็นทางการตรงริมฝั่งแม่น้ำเปนเฟลด์ ซึ่งสันนิษฐานตามบันทึกว่า เป็นบริเวณที่เรือกำปั่นของคณะราชทูตสยามได้มาจอดเทียบท่าเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน โดยสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหน่วยงานผู้ริเริ่มโครงการ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ผู้ก่อตั้งสมาคมครูฯ ซึ่งทรงเคยเสด็จฯ มาเยือนเมืองแบรสต์ โดยการทูลเชิญจากทางการเมืองแบรสต์เมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อทรงดูงานทางด้านการศึกษา

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน

พิธีเปิดอนุสรณ์สถานบริเวณปลายถนนสยามเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมเป็นสักขีพยานทั้งชาวไทยที่พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสเองจำนวนหลายร้อยคน จากนั้นจึงมีงานเลี้ยงรับรองภายในห้องประชุมใหญ่ ณ อาคารที่ว่าการเมืองแบรสต์ โดยมี นายฟรองซัวส์ กรุยญองดร์ นายกเทศมนตรีเมืองแบรสต์​ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ประจำกรุงปารีส และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานร่วมในพิธี 

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน

รูปปั้นโกษาปานองค์นี้มีลักษณะหล่อครึ่งตัวด้วยบรอนซ์ขนาดสูง 120 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม สวมหมวกทรงสูงหรือลอมพอก ฝีมือ อาจารย์วัชระ ประยูรคำ ศิลปินชาวไทย องค์รูปปั้นตั้งอยู่บนฐานหินแกรนิตจากแคว้นเบรอตาญ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งหินแกรนิตที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส ฐานหินแกรนิตทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้มีน้ำหนักเกือบหนึ่งตัน ความสูงเท่ากับรูปปั้น ด้านบนย่อมุมสามชั้น โดย คริสตอฟ ครินี ช่างฝีมือสลักหินพื้นบ้านชาวเบรอตาญเป็นผู้แกะสลักขึ้น ด้านหน้าของฐานติดแผ่นจารึกทองเหลืองขนาด 40 x 60 เซนติเมตร หนา 0.8 มิลลิเมตร ฝีมือช่างชาวไทยจากร้านบุญธรรมโลหะกิจ เสาชิงช้า ข้างวัดสุทัศน์ฯ สลักข้อความ 3 ภาษา ฝรั่งเศส ไทยและเบรอตง ภาษาถิ่นของแคว้นเบรอตาญ มีใจความว่า

“สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงก่อตั้งพุทธศักราช 2520 ได้มอบรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในวาระครบรอบ ๓๓๓ ปี แห่งการมาเยือนของคณะราชทูตสยาม เพื่อประดิษฐาน ณ เมืองแบรสต์ ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓”

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน
การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน

โครงการอนุสรณ์สถานโกษาปานนี้เริ่มมาตั้งแต่กลาง พ.ศ. 2562 การดำเนินงานได้เริ่มมาโดยลำดับ ตั้งแต่พิธีทำบุญทอดผ้าบังสุกุลอุทิศแด่เจ้าพระยาโกษา (ปาน) จากนั้นพระมหาราชครูศรีวิสุทธิคุณ เป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ บริเวณศาลโกษาปาน หน้าวัดสมณโกฏฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีบันทึกว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ และเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) อีกทั้งยังเป็นพระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย

เมืองแบรสต์อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูชาวไทยนัก หากแต่เมืองชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกแห่งนี้มีทัศนียภาพริมทะเลที่สวยงาม เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวทั้งเชิงธรรมชาติและประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเคยเป็นศูนย์กลางท่าเรือพาณิชย์และโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือที่สำคัญของฝรั่งเศส 

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองนี้ตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของฝ่ายนาซีเยอรมัน บ้านเมืองเก่าจึงถูกทำลายไปจนแทบหมดสิ้น ปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ มีการพัฒนาในทุกด้านตามลำดับ จึงเพียบพร้อมไปด้วยระบบสาธารณูปโภค ทั้งรถรางไฟฟ้าที่ทันสมัย มีสถานีรถไฟฟ้าชื่อ ‘สยาม’ อยู่บนถนนแสนโก้ชื่อ ‘สยาม’ เป็นเส้นทางสัญจรสายหลักที่ชาวเมืองแบรสต์รู้จักกันเป็นอย่างดี 

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน
การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน, ถนนสยาม
การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน, ถนนสยาม

นอกจากถนนสยามแล้ว อีกฝั่งของแม่น้ำเปนเฟลด์ที่ไหลผ่านกลางเมือง ยังมีร่องรอยเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่น่าสนใจ ถูกจัดแสดงไว้ภายในตูร์ตองกี (Tour Tanguy) พิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองแบรสต์ในอดีต ไฮไลต์น่าจะเป็นหุ่นจำลองขบวนอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของคณะราชทูตสยามเมื่อ พ.ศ. 2229 หุ่นจำลองเล็กๆ ในตู้กระจกสร้างขึ้นจากข้อมูลที่บันทึกไว้บวกกับจินตนาการของศิลปินเอง ซึ่งพอจะแสดงให้เห็นได้ว่า การมาของราชทูตสยามในครั้งนั้นสร้างความปราโมทย์แก่ชาวเมืองแบรสต์เพียงใด

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน, ถนนสยาม

อนุสรณ์สถานโกษาปานแห่งนี้จึงยังคงมีเรื่องราวที่น่าเล่าขานอีกมากมาย ไม่เพียงให้เราได้รำลึกถึงเรื่องของมิตรภาพระหว่างไทย-ฝรั่งเศสเท่านั้น หากยังให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิใช่เพียงสิ่งที่บันทึกอยู่ในตำราเรียนหรือเอกสารทางวิชาการเท่านั้น 

การกลับมา ณ ถนนสยามในเมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส ของ โกษาปาน หลังเคยเทียบท่า 334 ปีก่อน, ถนนสยาม

ความเป็นมาอันทรงคุณค่าน่าเล่าขานนี้ยังนำมาสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม เพื่อบอกเล่าและจุดประกายให้ชนรุ่นหลังได้ตระหนักและภาคภูมิในความเป็นชาติอันยิ่งใหญ่ของไทย ตลอดจนสายพระเนตรอันกว้างไกลแห่งองค์บูรพกษัตริย์ไทยในอดีต ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติมาช้านาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลสำคัญที่มิอาจมองข้ามไปได้ คือเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ผู้กลับมาเมืองแบรสต์อีกครั้ง และจะคงอยู่คู่ถนนสยามให้ผู้สัญจรไปมาได้เล่าขานกันสืบไป

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

Writer

Avatar

สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ

อดีตพนักงานสายการบิน Swiss Air ที่ผันตัวมาเป็นนักเดินทางช่างเขียน นอกจากหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มที่เขาเขียนพร้อมกับการเดินทาง เขายังได้หนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาต่างประเทศจากเกือบทั่วโลกมาเป็นของสะสมที่เขารัก และได้นำสิ่งนี้มาเผยแพร่เป็นภาษาถิ่นเพื่อแจกจ่ายเด็กต่างภูมิภาคต่างๆ ของไทยอีกด้วย