‘แพงระยับ’

ใครรู้จัก CHANINTR เป็นอันรู้กันว่าสินค้าและของตกแต่งบ้านที่แบรนด์หรูหรานี้รวบรวมมาจากทั่วโลก ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ ราคาดุเดือดไม่เบา แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ลงและทำให้ CHANINTR ยืนหนึ่งในวงการ คือรสนิยมความงามที่ดีเลิศ คุณภาพสินค้าที่ทนทาน และการดูแลบริการแบบมืออาชีพ 

เบื้องหลังสินค้าของตกแต่งบ้านที่งามเหมือนเสกออกมาจากแคตตาล็อกหนังสือตะวันตก ชนินทร์ สิริสันต์ เริ่มต้นจากธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์สไตล์ตะวันตก ก่อนเปลี่ยนเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าตกแต่งบ้านในปี 1994 ทุกวันนี้ธุรกิจของเขาครอบคลุมถึงการตกแต่งทุกส่วนในบ้านและออฟฟิศ ตั้งแต่โซฟา โคมไฟ ม้านั่งในสวน เก้าอี้ทำงาน ฝักบัว ผ้าเช็ดตัว ไปจนถึงช้อนชา แถมยังมี CHANINTR Residences ที่นำของ Luxury ทั้งหมดมาตกแต่งบ้านหลักร้อยล้านบาทในโครงการ WINDSHELL 

เรานัดพบผู้ก่อตั้งแบรนด์อันเป็นตำนานนี้ที่ CHANINTR CRAFT ตึกสีขาวแสนสวยในทองหล่อที่รวมแบรนด์สแกนดิเนเวียนและญี่ปุ่นที่เน้นแนวคิดแฮนด์เมดไว้ด้วยกัน ทุกสิ่งสวยงามเหมือนนิทรรศการงานดีไซน์ชั้นดี ท่ามกลางสินค้าหรูหราเหล่านี้ บทสนทนาของเราแทบไม่มีเรื่องฟุ่มเฟือย 

เราคุยกันเรื่องดีไซน์กับชีวิต บ้าน ความงาม และการทำธุรกิจที่ดี ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กว่าจะมานั่งบนโซฟาสีขาวสะอาดไร้ที่ติ ในตึกใหม่ที่เขาล้อมก้ามปูยักษ์ไว้ตรงกลาง นักธุรกิจคนนี้ผ่านอะไรมามากมาย กว่าจะบุกเบิกตลาดการตกแต่งบ้านเมืองไทยเข้าสู่ยุคร่วมสมัย 

ขอเชิญทำความรู้จัก CHANINTR ผ่านชนินทร์

บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจยั่งยืนแบบ ชนินทร์ สิริสันต์ แห่งแบรนด์ CHANINTR

ได้ข่าวว่าตั้งแต่มีโควิด สินค้าของ CHANINTR ขายดีมาก ๆ 

เรียกว่าทั้งวงการ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่เป็นทั่วโลก ธุรกิจสายนี้โชคดีนะครับ เพราะว่าทุกคนก็ต้องอยู่บ้าน ทุกคนก็คงหาทางทำยังไงให้ชีวิตในบ้านดีขึ้น โซฟาเริ่มเก่าแล้ว นั่งไม่ค่อยสบายก็อยากเปลี่ยน หรือเก้าอี้ทำงานตอน Work from Home ก็อยากใช้ของดี ๆ ให้ไม่ปวดหลัง  มันเกิดคำถามและการสำรวจตัวเองว่า สุขภาพชีวิตและของที่มีอยู่ในบ้านมันพอมั้ย หรือควรจะปรับปรุง 

ตอนแรกที่ทุกคนตกใจ ทุกอย่างก็หยุดชะงักไปหมด แต่เวลาผ่านไปเดือนสองเดือนก็เกิดการช้อปปิ้ง ที่เห็นชัดที่สุดคือส่วนธุรกิจออฟฟิศ โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ของ Herman Miller พอทุกคนไม่เข้าออฟฟิศ งานแต่งออฟฟิศก็หยุดไปเลย แต่เก้าอี้ออฟฟิศสำหรับ Work from Home ยอดขึ้นไป 10 เท่า จนของไม่พอ สั่งแล้วต้องสั่งอีก

สำหรับเมืองไทยนี่ยังถือว่าน้อย เทียบกับประเทศรวย ๆ อย่างอเมริกายิ่งกว่านี้อีก ยอดขายของบริษัทที่อยู่แถบนั้นเพิ่มขึ้นมาก ปัญหาที่ตามมาคือผลิตไม่ทัน เพราะหลายโรงงานต้องปิดไป ก็เลยเกิดความผันผวนมากในการผลิต การขนส่ง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือระยะเวลาที่ต้องรอเนี่ยก็นานขึ้น ราคาก็สูงขึ้น เพราะความต้องการมันสูงกว่าปกติ ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเข้าที่ เรื่องนี้เป็นทั่วโลก มันดึงกันไปดึงกันมา แก้ไม่ง่าย 

ตอนนี้รสนิยมแต่งบ้านของคนไทยเหมือนกับในเมืองนอกไหม

ผมว่าเหมือนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ผมเริ่มธุรกิจมา สมัยนั้นคนที่มีกำลังซื้อ คนที่ไปศึกษาต่างประเทศมา กลับมาก็อยากจะได้ของที่กลิ่นอายเหมือนเมืองนอก ซึ่งถ้าสั่งช่างทำอาจจะไม่เหมือนสักทีเดียว ผมเริ่มจากการเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งของตัวเอง ออกแบบตามสไตล์ของอเมริกา อังกฤษ ซึ่งตอนหลัง ๆ จะเห็นว่าเกือบทุกอย่างมันกลายเป็นสไตล์ต่างประเทศ เช่น อเมริกัน อิตาเลียน พวกอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตเป็นคอนโดมิเนียม การใช้ชีวิตของคนไทยเราเปลี่ยนไป เฟอร์นิเจอร์ก็เปลี่ยนตาม

เวลาเลือกเฟอร์นิเจอร์เข้ามา คุณรู้เลยไหมว่าอันไหนขายได้แน่นอน

ไม่รู้หรอกครับ ทุกอย่างมีความเสี่ยง หลัง ๆ ก็เรียกได้ว่าต้องลองผิดลองถูก นี่เราเพิ่งลองสั่งเตียงมา 20 กว่าเตียง ผมว่าบางทีถ้าเรามีสูตรสำเร็จมากเกินไป เราก็จะไม่ได้ลองอะไรใหม่ เราก็จะไม่รู้ เราต้องสร้างระบบที่พลาดได้ ลองแล้วเห็นทันทีว่าอะไรขายดี อย่าง Wishbone Chair รู้กันว่ามันเป็น Best Seller ทั่วโลก ตอนแรกขายไม่ค่อยดีเพราะว่าของเลียนแบบเยอะมาก มันเป็นเก้าอี้ตัวหนึ่งที่โดนก็อปปี้มากที่สุดแล้ว แต่ว่าเมื่อมีของจริงมาเมืองไทย คุณค่าของมันก็ยังอยู่ เพราะเห็นชัดถึงคุณภาพ แล้วคุณค่าบางทีก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ คนที่สนใจหรืออยากจะ Collect ของก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเดี๋ยวนี้เก้าอี้ตัวนี้สร้างยอดขายได้ดีที่สุดของแบรนด์นี้

บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจยั่งยืนแบบ ชนินทร์ สิริสันต์ แห่งแบรนด์ CHANINTR

อะไรคือวิธีการเลือกแบรนด์มาร่วมงานด้วย

เวลาเราจะร่วมธุรกิจกับใครก็เหมือนแต่งงานกัน ผมต้องไปดูโรงงาน ต้องไปเจอเจ้าของแบรนด์ แล้วคุยว่าเขามีแนวความคิดตรงกันไหม ใช้เวลากว่าจะหาแบรนด์ที่ใช้ได้จริง ๆ พวกแบรนด์ใหญ่ ๆ ยิ่งเป็นการลงทุนใหญ่ ต้องให้พื้นที่โชว์รูมกับเขาเยอะ เพราะเรารู้ว่าเราต้องอยู่กับเขาอีกนาน เขาเองก็ไม่ได้ให้สิทธิ์เราง่าย ๆ ส่วนใหญ่เขาต้องศึกษาพาร์ตเนอร์ค่อนข้างเยอะ ให้ชัวร์ว่าเรามีทั้งสถานที่ดีให้ไหม จะลงทุนให้ไหม คือความพร้อมด้านการเงิน การตลาด เรื่องคนเรื่องอะไร สารพัดอย่าง  

เราอยู่มานาน แล้วลักษณะเราไม่ค่อยชอบอะไรง่าย ๆ สั้น ๆ ด้วย ทำอะไรก็พยายามทำให้มันดีให้นาน อาจจะ Traditional อาจจะ Old School นะ แต่ผมคิดว่าถ้าทำให้นานก็ลงทุนให้ดี ถ้าเกิดทำแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ไม่ทำดีกว่า

วงการนี้มีคนหลายประเภท มีพวกระยะสั้นคือเป็นเหมือนตัวแทนแบรนด์อิตาลี 10 แบรนด์ หน้าที่เขาคือหาดีลเลอร์ว่าปีนี้เจ้าไหนน่าจะจะขายได้ดีสุด ขายไม่ดี ปีถัดไปเขาก็สลับใหม่ ขอแค่ยอดขายดีที่สุด ซึ่งประเภทแบบนั้นเราก็จะไม่เอาตั้งแต่ต้น เพราะเราถือว่าถ้าเราทำแบรนด์ไหน เราก็จะต้องทุ่มเท คือทำทุกอย่างเหมือนเราเป็นพาร์ตเนอร์ของเขาจริง ๆ ให้มันเกิดให้ได้ ก็เลยทำงานค่อนข้างหนัก 

เราค่อนข้างช้า ก็อาจจะโดนคนอื่นเยาะเย้ยนะ แต่เพราะเราทำมานาน พวกแบรนด์ดี ๆ ต่างประเทศที่ให้ความสำคัญว่าใครจะเป็นตัวแทนเขา เขาก็จะมาหาเรา น้อยครั้งที่เราจะออกไปหา ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ต่างประเทศที่มีสตอรี่ แล้วเขาเห็นว่าเราน่าจะแนวทางเดียวกัน และเขาต้องคิดแบบระยะยาว ผมบอกกับแบรนด์ทุกเจ้าที่ติดต่อมาว่า ตลาดไทยเนี่ยเป็นตลาดที่ยาก ยากมาก ๆ ภาษีนำเข้าของไทย 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ใช่ของฟรีเทรด ภาษีอีก 20 เปอร์เซ็นต์  ของแพง ๆ ของคุณเนี่ย พอมาถึงที่นี่มันยิ่งไปกันใหญ่ ต้องใจเย็น ๆ เราไม่ได้ตั้งราคาทุกอย่างให้เท่ากับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เราพยายามให้อยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างมาก 25 เปอร์เซ็นต์ แล้วเราก็รับมือค่าใช้จ่าย ที่เหลือก็อยู่ที่ว่าแบรนด์เขาจะถูกกับตลาดไทยรึเปล่า ซึ่งอันนี้ใช้เวลาหลายปีจริง ๆ กว่าจะสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์พวกสแกนดิเนเวีย

เวลาที่เริ่มทำแบรนด์เป็นกลุ่มพวกนี้ คนไทยส่วนใหญ่เขารู้จักแต่ IKEA ซึ่งเขาเก่งมาก โดยเฉพาะเรื่องปรับราคา คนอาจจะไม่เข้าใจว่าสไตล์คล้าย ๆ กัน ทำไมราคาต่างกันเป็นสิบเท่า ซึ่งมันก็ยาก เราต้องค่อย ๆ ปูทาง ทุบ ๆ ตี ๆ กว่าจะสร้าง CHANINTR CRAFT สำหรับงานแนว ๆ นี้ เพราะว่าเราได้ทดลองจากที่เล็ก ๆ ไม่ถึงร้อยตารางเมตร ยังขายได้ ก็ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นมา

ลูกค้าก็เห็นว่าเราเป็นยังไง ผมจะไม่เป็นตัวแทนแบรนด์ที่ผมไม่เห็นว่าเจ้าของเขา Stand Behind สินค้าของเขา ผมเคยเจอเคสว่าเก้าอี้ 20 – 30 ตัวเสีย มันเป็นปัญหาเรื่องดีไซน์แน่นอน แต่เขาไม่ยอมรับผิดชอบ บอกผมว่าเขาไม่เกี่ยว ง่าย ๆ สั้น ๆ เลย เราก็รับผิดชอบแทนลูกค้าเลย ลูกค้าไม่ต้องทำอะไร แล้วผมก็ยกเลิกแบรนด์นั้นไปทันที 

แต่ส่วนใหญ่ไม่เกิดอะไรแบบนี้หรอกครับ แบรนด์ส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสินค้าของเขา มั่นใจในของที่ทำ Trust เป็นเรื่องสำคัญมาก ลูกค้าต้องวางใจในสินค้าและตัวเราได้ ซึ่งเราก็ลงทุนเรื่องช่าง เรื่องการซ่อมแซมด้วย มีเทรนนิ่งให้ช่างซ่อมของเรา เผื่อมีปัญหาอะไร เรามีเวิร์กชอปเล็ก ๆ มาเพื่อซ่อมแซมวัสดุแทบทุกอย่าง

บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจยั่งยืนแบบ ชนินทร์ สิริสันต์ แห่งแบรนด์ CHANINTR

การทำธุรกิจที่ Honest มาก ๆ ในโลกทุกวันนี้ยากขึ้นไหม

ไม่ได้รู้สึกอย่างงั้นนะครับ คือถ้าพาร์ตเนอร์ดี ของดี พื้นฐานดีตั้งแต่ต้นเนี่ย เราก็ไม่ต้องคิดมาก ทีมมาร์เก็ตติ้งก็พูดได้เต็มปาก ทุกอย่างที่เราทำก็มาจากแบรนด์ที่เขาทำจริง ๆ ไม่ค่อยมีเคสที่เราต้องไปทำอะไรให้มัน Beyond ความจริง สำหรับผมมันไม่ได้ยาก แบรนด์ที่เราทำก็ค่อนข้างสมบูรณ์แบบในตัวเขาเอง

เราอาจจะเป็นรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาในวงการ ตอนที่ผมเริ่มก็มีเจ้าเดียว ภาษีนำเข้าตอนนั้น 40 เปอร์เซ็นต์ หนักมากกว่าตอนนี้เยอะ ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามาทำ ด้วยเวลา ด้วยการดูแลลูกค้ามาตลอด เราก็ได้ขยายจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ตามบ้าน ไปถึงครัว ตู้เสื้อผ้า ห้องน้ำ และการตกแต่งออฟฟิศด้วย เราพยายามฟังลูกค้า จริง ๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ก็เน้นจิปาถะ ฟังลูกค้า ตามใจลูกค้า แล้วเราก็พยายามดูว่าลูกค้าสนใจอะไรจริง ๆ

คนอื่นเขาขายของที่ถูกกว่า ทำเร็ว ๆ กว่าตั้งมากมาย ทำไมคุณไม่เชื่อธุรกิจแบบนั้น

ผมชอบเรื่องคุณภาพกับเรื่องดีไซน์มาตั้งแต่เด็ก ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้เยอะ ดีไซน์ที่ดีก็ไม่จำเป็นว่าต้องราคาสูงนะครับ แต่ส่วนใหญ่ที่ผมเจอ ดีไซน์ที่ดีเมื่อมาพร้อมคุณภาพ มันยั่งยืนกว่า อยู่ได้นานกว่า แล้วก็มีอิทธิพลกับสังคม เวลาพูดเรื่อง Sustainability แบรนด์เดนนิช ญี่ปุ่น เขาเล่าให้ผมฟังมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว มันอยู่บนพื้นฐานของเขาตั้งแต่เริ่มต้น เราก็รู้สึกว่าอยากร่วมงานด้วย เพราะว่าเขาดี รักษ์โลก คิดถึงวัสดุทุกอย่างว่าความเป็นมายังไง เราก็รู้สึกมั่นใจกว่าเวลาเราเอาไปขายลูกค้า หรือจะต้องเป็นตัวแทนโปรโมต เรารู้สึกสบายใจ

แบรนด์ไหนที่คุณค้นพบแล้วรู้สึกทึ่ง 

มีแบรนด์เล็ก ๆ ที่ผมชื่นชมมาก เคยได้ยินชื่อแบรนด์ PP Møbler บ้างไหมครับ เล็กกว่า Carl Hansen & Søn หลายเท่า มาจากประเทศเดนมาร์กเหมือนกัน คงลักษณะเดียวกัน คือมีเวิร์กชอปทำงาน แล้วเวิร์กชอปเขาน่ารักมาก เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่มีมุมเยอะมาก ใต้ถุนบ้านเป็นที่เก็บไม้ เก็บสิ่งที่ตัดเป็นล็อต ๆ มาแล้ว ซอกมุมตามช่องก็มีที่อบไม้ ไม้เป็นสิ่งที่เขาเน้นมากที่สุด เพราะไม้ทั่วไปใช้เวลาอบราว 2 ปี แต่ไม้เขาเนี่ยอายุเกิน 100 ปี แค่นึกภาพต้นทุนของตัวเนื้อไม้ที่เก่าอยู่แล้ว มาอบอีกหลายที ความชื้นนี่เหลือน้อยมาก เพราะฉะนั้นไม้เขาจึงนิ่งและแข็งมาก จากนั้นจึงค่อยเอาไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ทีละตัว

เวิร์กชอปอันนี้ทำให้เราเห็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ มันโฮมเมดจริง ๆ ผิดแผกจากโรงงานที่ใหญ่โต เขาไม่ได้มีทุนมาก แต่ก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้คุณภาพสูงที่สุด ซึ่งในบรรดาแบรนด์เดนนิช ราคาเขาสูงที่สุด ลูกค้าเห็นอาจจะงงว่าแตกต่างกับแบรนด์อื่นตรงไหนบ้าง ของเขาอาจจะหนากว่านิดหนึ่ง มีนู่นมีนี่นิดหน่อย มีคาแรกเตอร์จริง ๆ เฟอร์นิเจอร์อย่างนี้อยู่ไปสักพัก บางทีมันเหมือนมีสปิริตของมันเอง 

เวลาเห็นของก็อปปี้ Wishbone หรือ PP Møbler เนี่ย คนทั่วไปดูไม่ออก แต่ผมเข้าใกล้แล้วจะเห็นความผิดเพี้ยนทันที เป็นเรื่องที่ทั้งดีและไม่ดี เพราะมันก็เป็นภาระทางใจ ของก็อปปี้นี่วันแรกมันสวยดี แต่ยิ่งเวลาผ่านไป 3 ปี 5 ปี เราจะยิ่งเห็นชัดมากขึ้นว่ากาวเริ่มหลุด เชือกถักเปลี่ยนสี ไม่เหมือนของพวก PP Møbler หรือ Carl Hansen & Søn ที่ยิ่งเก่ามันจะยิ่งสวยสง่ามาก

บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจยั่งยืนแบบ ชนินทร์ สิริสันต์ แห่งแบรนด์ CHANINTR
บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจยั่งยืนแบบ ชนินทร์ สิริสันต์ แห่งแบรนด์ CHANINTR

แรก ๆ ลูกค้าของ CHANINTR คือใคร ในเมื่อของก็แพง คนไทยก็ไม่รู้จัก 

คือคนที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพชีวิต ซึ่งเราเริ่มตั้งแต่ Day 1 ด้วยแนวความคิดว่าอยากให้ Everyday Life ดีขึ้นด้วยของใช้ของตกแต่งภายในบ้าน คนที่มาซื้อตั้งแต่ต้นเป็นคนที่เห็นความสำคัญของบ้าน เห็นความสำคัญของชีวิตในบ้าน แล้วก็อยากให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยการตกแต่งบ้าน พูดแบบกว้าง ๆ ทุกคนที่เป็นลูกค้าเราเป็นคนที่มีวิชันหรือมีโปรเจกต์ตลอดเวลา 

เฟอร์นิเจอร์ชิ้นแรกที่คุณตกหลุมรักคืออะไร

อืม อาจจะเป็นพวกเก้าอี้ที่เป็นพวก Modern ที่ซื้อมือสองตอนเด็ก ๆ ตอนสมัยเรียนผมชอบดูพวกของเก่า ของวินเทจ ชอบเก้าอี้ Wireframe แบบ Mesh เก้าอี้แบบ Florida นอกจากนี้ก็จะเป็นพวกสแกนดิเนเวีย ผมชอบของพวกนี้มานาน แต่ว่าก็รู้อยู่ว่ามันขายยาก ก็เลยเพิ่งมากล้าตอนหลัง ๆ  

ธุรกิจเราเริ่มจากนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของ Baker ซึ่งค่อนข้างเป็นแบรนด์ High-end ของอเมริกา และ McGuire เป็นแบรนด์หวายที่ผมชอบมาก เขาเป็นคนอเมริกันมาอยู่ที่ฟิลิปปินส์ เขาทำให้งานหวายที่เราคุ้นเคยกันไปถึงอีกขั้นหนึ่ง ดีเทลการมัดข้อต่าง ๆ ซับซ้อน ดีไซน์มีทั้งคลาสสิก ทั้งโมเดิร์น แล้วก็ใช้วัสดุธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มต้นที่อยากเอาของพวกนี้เข้ามาใช้ เขาชอบวิธีการที่เราจัดโชว์ อยากให้เราเป็นตัวแทน นั่นคือจุดเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าของเรา 

คุณเรียนรู้เรื่องดีไซน์จากอะไร

นิวยอร์ก ผมโตที่นั่นตั้งแต่เด็กจนจบ ป.ตรี มีอะไรอาร์ต ๆ เยอะแยะที่ทำให้เราสุขใจ ตอนเด็กผมวาดรูปในสมุดทั้งวัน ไม่ค่อยคุยกับใคร เริ่มต้นจากรถมั้ง เด็กผู้ชายก็วาดแต่รถ โตมาหน่อยก็วาดตามซีรีส์ที่ชอบดู ช่วงวัยรุ่นก็ชอบเสื้อผ้า ช่วงซัมเมอร์กลับมาเมืองไทยก็ออกแบบเสื้อยืด ไปหาเสื้อผ้าที่จตุจักรมาทำลวดลายใหม่ แล้วก็เอากลับไปขายที่อเมริกา เป็นธุรกิจแรกและเป็นงานอดิเรกช่วงอายุ 16 – 18 ทำไปขายเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน หลังจากนั้นก็เริ่มไปติดต่อพวกร้านค้าในนิวยอร์ก เดินไปบอกเขาว่าเรามีเสื้อผ้าที่ออกแบบเองจากเมืองไทย สนุกครับ รู้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าชอบเรื่อง Business ที่ผสมกับเรื่องดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรืออะไรก็ตาม 

แล้วทำไมถึงเลือกเรียนการเงิน

(หัวเราะ) คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างกังวล ถ้ามาสายศิลปะไม่น่าจะได้ ก็เลยเห็นว่าถ้าชอบธุรกิจ ให้ไปเรียนทางภาษีด้วย ผมก็เลยเรียนการเงิน แต่ว่าเลือกสายได้ ผมเรียน Higher Economics กับ Higher Art คือทั้งเศรษฐศาสตร์และอาร์ตพร้อมกัน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเลือกแบบนี้ 

ช่วงเรียนก็ทำงานร้านเสื้อผ้าชื่อดังที่นิวยอร์กแล้วก็ร้านอาหารไทยไปด้วย เริ่มสัมผัสโลกการทำงาน ตั้งแต่กวาดถนนหน้าร้าน จัด Display ทำทุกสิ่งทุกอย่าง พวกร้านในนิวยอร์กเป็นร้านแฟชั่น มีพวกดาราดังมาซื้อของ ผมขายเสื้อผ้า ก็เลยคุ้นเคยกับการ Operate ร้าน การทำพวกรีเทล 

สนทนากับ ‘ชนินทร์ สิริสันต์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ถึงความงามและธุรกิจยั่งยืน

จากงานแฟชั่น กลับมาสู่เฟอร์นิเจอร์ได้ยังไง

ทั้งหมดมันก็คือเรื่องดีไซน์แล้วก็คุณภาพของโปรดักต์ สมัยเด็ก ๆ ก็อาจจะชอบแฟชั่นมากแหละ แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็คือเรื่องดีไซน์ ยิ่งเห็นเฟอร์นิเจอร์มากขึ้นก็ยิ่งเก็บมากขึ้น ตอนนั้นโลกมันค่อนข้างสนุก 

เทรนด์เฟอร์นิเจอร์เมืองไทยตอนคุณกลับมาเป็นยังไง เฟอร์นิเจอร์หลุยส์ ๆ พวกนี้รึเปล่า

(พยักหน้า) ตอนนั้นเฟอร์นิเจอร์หลุยส์เยอะมาก แล้วทุกอย่างก็สั่งทำ ใครอยากได้อะไรก็เรียกช่างมา ยุคสมัยนั้นมีช่างดี ๆ เยอะจากเซี่ยงไฮ้ งานโมเดิร์นมีน้อยมาก 

ภาพรวมของวงการเฟอร์นิเจอร์จริง ๆ มีหลากหลายสไตล์มาตลอด แต่ว่าสัดส่วนจะเป็นครึ่ง ๆ บางช่วงคลาสสิกมาหนัก ก็จะกินสัดส่วนเยอะ บางช่วงมินิมอลก็เยอะหน่อย ถ้าดูนาน ๆ ก็จะเห็นแนวเทรนด์ เห็น Movement ส่วนใหญ่จะมาเป็นธีม วางขายสักประมาณ 4 – 6 ปีก็จะหายไป เฟอร์นิเจอร์เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเยอะ ช่วงที่คนมีเงินเยอะ ก็จะเห็นอะไรที่แสดงความรวยออกมาเยอะ อย่างตอนที่ยุโรปร่ำรวยมากก็มีงานแกะสลัก ลงทอง แต่งาน Modernism เริ่มตั้งแต่ช่วงบาวเฮาส์ แล้วเกิดเป็น Segment ใหม่ยุคต้น 90 เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ

ในระยะเกือบ 30 ปีของแบรนด์ ช่วงเวลาไหนที่คุณต้องปรับตัวเป็นพิเศษ

ในแง่สไตล์ แต่ละสไตล์มีฐานลูกค้าอยู่ตลอด แต่ว่าบางช่วงเราก็อาจจะเสียเปรียบที่เราช้า ไม่มีแบรนด์นู้นแบรนด์นี้ ช่วงแรก ๆ เราหนักไปทางพวกแบรนด์แทรดิชันแนล อเมริกัน โมเดิร์นอิตาเลียนก็จะน้อยหน่อย หลัง ๆ เห็นมามากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็คอยดูว่าแบรนด์ไหนเป็นแบรนด์ที่ดี มีหลักการเหมือนเรา ให้ความสำคัญเรื่องดีไซน์และคุณภาพเหมือนกับเรา และเป็นของที่เราคิดว่าเป็นตัวแทนเขาได้ระยะยาว อย่าง Minotti เป็นแบรนด์ที่ขายดีมากของเรา เป็นแบรนด์ที่เรียกว่าท็อปมาก ๆ ของโมเดิร์นอิตาเลียน แนวคิดเขาเป็นแบบ Family Business ระยะยาว เพราะฉะนั้นเราก็โอเค 

สนทนากับ ‘ชนินทร์ สิริสันต์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ถึงความงามและธุรกิจยั่งยืน

คิดว่าแบรนด์ของคุณมีผลให้คนไทยรสนิยมดีขึ้นรึเปล่า

คนไทยรสนิยมดีอยู่แล้ว ผมคิดว่าเราเป็นชาติที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์ เรื่องดีไซน์ เรื่องอาร์ต คนไทยมีพื้นฐานมาตลอด การมีแบรนด์และดีไซน์ใหม่ ๆ ต่างประเทศเข้ามาให้เลือกยิ่งดีมากขึ้น มีของให้เรียนรู้ทดลองมากขึ้น เอามาลองมิกซ์แอนด์แมตช์ หรือเอามาให้ดีไซเนอร์หรือลูกค้าลองสัมผัสมากขึ้น มันก็สร้างมิติใหม่ ๆ 

อะไรคือคำแนะนำของคุณต่อคนทั่วไป เวลาจะซื้อของแต่งบ้านสักชิ้น

บอกแล้วคงไม่ค่อยดีต่อยอดขายผม (หัวเราะ) แต่ก็อยากให้ลูกค้า Appreciate มัน เข้าใจแต่ละชิ้นที่ซื้อ บางทีรีบทำทุกอย่างให้มันจบ ๆ ไปอาจจะดีสำหรับธุรกิจ คือปิดยอดขายได้อะไรได้ แต่เฟอร์นิเจอร์เนี่ย เราต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจมัน ต้องใช้เวลาให้มันซึมซับเข้าไป ก่อนซื้อต้องพยายามเข้าใจแต่ละห้อง แต่ละมุมที่เราจะใช้สัมผัสของ 

เลือกของต้องคิดลึกนิดหนึ่ง ไม่อยากให้เอาอะไรก็ได้ไปใส่ห้องให้มันเต็ม ในที่สุดก็เราจะไม่ได้ใช้มัน เสียดายทั้งเงินทั้งของด้วย เฟอร์นิเจอร์เหมือนสมาชิกของครอบครัว พออยู่กับมัน เราก็จะเห็นมันแก่ไปด้วยกัน ไม่ได้แปลว่าให้เลือกของแพงนะครับ แต่ต้องเลือกให้ชัวร์

ออฟฟิศคุณสวยขนาดนี้ แล้วบ้านของคุณตกแต่งแบบไหน

เป็นที่รวมของที่ชอบ ผมชอบหลายสไตล์หลายแบรนด์นะ ของสแกนดิเนเวียนผมก็ชอบ ของโมเดิร์นผมก็ชอบ แต่ว่าการที่เราเอามาอยู่ด้วยกันให้มันมี Harmony ได้ก็สำคัญนะครับ ผมพยายามเลือกสัดส่วนและพีเรียดที่มันไปด้วยกันได้ ส่วนใหญ่ก็จะมีแบรนด์ Liaigre มี McGuire พวกงานเดนนิชก็มี ของเก่าจีนก็มีพวกงานหมิง ผสมกันเบา ๆ เรียบ ๆ แบบหลุยส์ ๆ แกะเยอะ ๆ ไม่ค่อยมี (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ชอบประมาณนี้

ผมชอบของที่ True Honest สิ่งที่มันซื่อตรงกับตัวมันเอง ไม่ชอบกระเบื้องที่เลียนแบบไม้ กระเบื้องที่เลียนแบบหิน ถ้ามันมีของจริงที่ดีอยู่แล้ว ก็ใช้ของแบบนั้น ผมเข้าใจนะว่าคนให้ความสำคัญกับความทนทานเอี่ยมอ่อง แต่ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกอย่างดูใหม่เอี่ยม มันจะรู้สึกเฟค ๆ ไม่จริงน่ะ ผมมีโต๊ะหินอ่อนขาว ก็ไม่สนใจเลยถ้ามันจะมีรอย มันเป็นความทรงจำตรงจุดนั้นจุดนี้ มันมีคาแรกเตอร์ที่เกิดจากเวลาและการใช้งาน มันเป็นร่องรอยของการใช้ชีวิตร่วมกับของ บางทีเห็นลูกค้าซื้อของที่เป็นทองแดงแล้วเอาไปใช้ทะนุถนอมให้ใหม่เอี่ยม ผมก็ว่าน่าเสียดาย ของพวกนี้ต้องใช้ถึงจะคุ้ม

สนทนากับ ‘ชนินทร์ สิริสันต์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ถึงความงามและธุรกิจยั่งยืน

เราจะได้เห็นอะไรในอนาคตของ CHANINTR 

เห็นสิ่งที่เราเป็นมาตลอด เราคิดตลอดว่าอนาคตคืออะไร ผมชอบเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี ก็เลยคอยดูตลอดเวลา พยายามคิด Solution อะไรใหม่ ๆ ปีนี้เราศึกษาเรื่องโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ชัดเจนขึ้นกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่เราเป็นตัวแทน แล้วก็ผลิตสินค้าใหม่ของ CHANINTR ที่เราพัฒนาร่วมกับดีไซเนอร์ระดับโลก ซึ่งเราก็จะผลิตแถว ๆ นี้ เพื่อให้การขนส่งไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

ทำไมต้องเอาเทรนด์หรือนโยบายสิ่งแวดล้อมระดับโลกมาจับกับแบรนด์

เพราะเป็นเรื่องที่อยู่เฉยไม่ได้จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่เห็นกับตา (มองไปนอกหน้าต่าง) ทุกวันนี้อากาศข้างนอกเป็นแบบนี้ มันกระทบ Purpose ของบริษัทคือเรื่อง Living Well ทั้งน้ำท่วมเอย ไฟดับเอย เขาพูดกันว่าโควิดนี่เทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาไม่ได้เลย สุดท้ายทุกคนต้องหันมา ธุรกิจจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ อะไรที่เราทำได้ก่อน ทำได้เร็ว ก็รีบทำ ทำให้สุดกำลังในทุกปีที่เราทำได้ 

ปีที่ผ่านมาเราปลูกต้นไม้ไป 50,000 ต้น คิดเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท คุณจะซื้อแค่ถ้วยใบเดียวหรือโต๊ะหนึ่งตัว เราก็ปลูกชิ้นละ 1 ต้น เท่ากับจำนวนของที่เราขายไป อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไม่มากพอนะครับ แต่มันง่าย และได้ผลเร็ว เราก็ทำก่อน แล้วเราก็พยายามเข้าร่วมอีเวนต์ธุรกิจที่ชักชวนให้คนมีเป้าหมายสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ตั้งเป้าหมายและแสดงผลงานทุกปี เรื่องไหนที่เราไม่รู้ก็พยายามศึกษาจากคนอื่นให้เข้าใจว่าเราจะต้องทำยังไงบ้าง ตึกนี้ทั้งตึกกำลังจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานโซลาร์ ซึ่งเราคำนวณว่ามันจะคืนทุนใน 1 ปี ในแง่การดำเนินการมันอาจไม่มี Return มากนัก แต่ระบบมันดีกว่า เราก็ต้องทำ 

ไม่รู้ลูกค้าจะชอบมั้ย แต่ว่าเราต้องกล้าเสี่ยง กล้า Disrupt รูปแบบธุรกิจตัวเองบ้าง อย่างเก้าอี้ Aeron ของ Herman Miller เราก็เปิดให้เช่าแบบ Subscription ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มที่เรียกว่า Pergo หารแล้วตกวันละ 60 บาท ถูกกว่ากาแฟแก้วเดียวอีก แล้วเรานั่งเก้าอี้ทำงานทั้งวัน มันช่วยเรื่องสุขภาพและการทำงานได้ เบื่อก็เปลี่ยนคืนบริษัทได้ 2 เดือนที่ผ่านมาออกไปแล้ว 400 ตัว เราตกใจกันมากเลย 

ระบบให้เช่าออนไลน์แบบนี้จะมีมากขึ้นในธุรกิจของเรา เพราะมันดีต่อธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในภาวะเริ่มต้นมาก ๆ แรก ๆ คนไทยอาจจะยังไม่อินหรือหรือไม่เข้าใจ ยังอยากซื้อเป็นเจ้าของมากกว่าเช่า แต่ตอนที่ผมเริ่มขายเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียก็เป็นแบบนี้ ไม่เป็นไรที่เราจะเริ่มเร็วกว่า เรื่อง Subscription เป็นเรื่องใหญ่มาก

หลายคนพูดตรงกันว่าเทรนด์การเช่าในต่างประเทศมาแรง ทั้งเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ รถ บ้าน ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ความหมายของคำว่า Ownership เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ทั่วโลกหลายคนไม่มีความรู้สึกว่าต้องเป็นเจ้าของอะไร ไม่มีรถสปอร์ตก็ไม่เป็นไร เดินทางไปไหนก็เช่ารถ อยากไปพักที่ไหนสวย ๆ ก็เช่า Airbnb พอโมเดลพวกนี้ซึบซับเข้ามาในวัฒนธรรม เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง 

จริง ๆ พูดไปมันก็กระทบธุรกิจผมนะ แต่สมมติ Developer จะทำห้องตัวอย่างในเซลส์ออฟฟิศ ซึ่งจะตั้งอยู่แค่ปีสองปี เก็บของไว้ต่อก็ไม่ได้ใช้ ยกเข้ายกออกก็อาจจะเสียหาย เปลืองค่าใช้จ่ายอีก เรายินดีให้เช่าเพราะรูปแบบมันยั่งยืนกว่า หรือในช่วงออกแบบ ถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยนได้ 

ต้นทุนของการเป็นเจ้าของมันแพงกว่าแค่วันที่เราจ่ายเงินซื้อ มันมีเรื่องการดูแลรักษา การขนย้ายอะไรต่าง ๆ ยิ่งเราเป็นเจ้าของน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อโลกมากขึ้นเท่านั้น

Sustainable แปลว่าเราต้องมี Wealth ลดลงไหม

จริง ๆ ผมคิดว่าถ้าเกิดเราลงทุนธุรกิจใน 5 – 10 ปีข้างหน้า ด้าน Environmental Technology หรืออะไรแนว Sustainability น่าจะไปในเชิงที่ดีมากนะ กองทุนด้านนี้ก็มีเยอะแยะ ไปหาดูได้เลย เพราะว่าทุกอย่างจะไปทางนั้นหมด ยิ่งลูกค้าสนใจ ดีมานด์ก็ยิ่งเพิ่ม แรก ๆ ราคาทุกอย่างเพื่อความกรีนอาจจะสูง แต่มันต้องลดลงมาเรื่อย ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนกว้างขึ้น

สนทนากับ ‘ชนินทร์ สิริสันต์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นำเข้าเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน ถึงความงามและธุรกิจยั่งยืน

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล