“ผมจะไม่พูดนาน เพราะวันนี้ควรเป็นวันที่พวกคุณทุกคนสนุก ถ้าพูดนานเดี๋ยวผมร้องไห้”

คุณชนินทธ์ โทณวณิก เริ่มต้นประโยคนี้บนเวทีงานเลี้ยงรอบสุดท้ายของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

ชายวัย 62 ปีผู้นี้เป็นรองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล หรือถ้าจะเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เจ้าของโรงแรมดุสิตธานี ผู้รับไม้ต่อจากคุณแม่ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้ง

เราคงไม่ต้องเสียเวลาแนะนำความสำคัญของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ

โรงแรมอายุ 49 ปีแห่งนี้ปิดตัวลงเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มกราคม 2562 ก่อนจะปิดก็มีงานเลี้ยงและกิจกรรมอำลามากมาย

คืนวันศุกร์ที่ 4 มกราคม เป็นวันที่แขกจะได้พักในโรงแรมแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม ป็นวันที่แขกจะได้ใช้บริการส่วนต่างๆ ของโรงแรมเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแต่งงาน หรือการรับประทานอาหารในห้องอาหารต่างๆ (ซึ่งต้องรอคิวหลายชั่วโมง)

คืนนั้น แขกและพนักงานทุกคนออกมายืนรวมตัวกันด้านหน้าโรงแรมเพื่อจดจำภาพสุดท้ายของโรงแรมแห่งนี้ ด้วยการดูไฟที่ค่อยๆ ปิดลงทีละชั้น ทีละชั้น จนหมดทั้งตึก

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ปิดตัวลงด้วยภาพนั้น

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม ดุสิตธานีเปิดโรงแรมให้เราจัดกิจกรรม Walk with The Cloud 13 : ดุสิตธานี กรุงเทพ ให้เราพาผู้อ่านเข้าไปเดินชมและฟังประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุมของโรงแรมแห่งนี้เป็นกลุ่มสุดท้าย เช่นเดียวกับการเปิดครัวทำอาหารรับรองแขกเป็นครั้งสุดท้าย

แต่นี่ยังไม่ใช่การรับแขกครั้งสุดท้าย

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม มีการจัดการเลี้ยงอำลาอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย โดยมีแขกคือพนักงานทั้งหมด และความพิเศษคือ ในค่ำคืนนี้พนักงานทุกคนจะได้พักในห้องพักของโรงแรมดุสิตธานี ถือเป็นแขกกลุ่มสุดท้ายที่ได้ใช้บริการ

“สองสามเดือนก่อนโรงแรมปิด โดยเฉพาะสองสามสัปดาห์สุดท้าย ผมไม่เคยเห็นแขกเข้ามาดุสิตมากขนาดนี้มาก่อน ผมคิดว่าทุกคนน่าจะภูมิใจที่มีส่วนร่วมกับที่นี่ สิ่งที่ลูกค้าพูดเหมือนกันหมดก็คือ พวกคุณพนักงานทุกคนของโรงแรมนี้ดีมาก นี่คือสิ่งที่ทำให้พวกเราภูมิใจ อีก 4 ปีโรงแรมดุสิตธานีจะกลับมาใหม่ เราจะแก้จุดที่คิดว่าไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ อย่างห้องพัก ถ้าเสร็จออกมาน่าจะดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย บางทีการทำงานเราอาจจะต้องมีความฝัน และความบ้านิดหน่อย”

นี่คือข้อความส่วนหนึ่งที่คุณชนินทธ์กล่าวกับพนักงานทุกคนซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นแขกกลุ่มสุดท้ายของโรงแรม

ส่วนบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เกิดขึ้นก่อนงานเลี้ยงนั้นเล็กน้อย จะบอกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ของคุณชนินทธ์เรื่องโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ครั้งสุดท้ายก็คงไม่ผิด

นี่คือวิธีการบริหารงานแบบไทยๆ วิธีการดูแลคนแบบไทยๆ เพื่อทำให้โรงแรมไทย ชื่อไทย ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ สู้กับโรงแรมต่างชาติได้

ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี

ทำไมถึงเลือกให้แขกกลุ่มสุดท้ายของโรงแรมดุสิตเป็นพนักงาน

เราตกลงกันตั้งแต่แรกว่าเราจะไม่ปิดไปแบบเงียบๆ เหมือนที่โรงแรมส่วนใหญ่ทำ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ มาเกือบ 50 ปี ผมคิดว่าหลายคนผูกพันกับเรา เราอยากดูแลทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของดุสิต เราจึงมีการเลี้ยงขอบคุณแขกประจำ เลี้ยงสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนเรามาตลอด มีเลี้ยงคนกลุ่มต่างๆ ค่อนข้างเยอะ กลุ่มหนึ่งก็คือพนักงาน ตั้งแต่ประกาศไปว่าโรงแรมจะปิดตัว เราไม่ได้รับพนักงานใหม่เข้ามาเยอะ พนักงานที่มีโอกาสไปโรงแรมอื่นที่ดีเขาก็ออกไปบ้าง จำนวนพนักงานเราเลยเหลือน้อย แต่ทุกคนก็ทำงานอย่างทุ่มเท นี่คือการขอบคุณพนักงานครั้งสุดท้าย ก่อนที่เราจะเลี้ยงต้อนรับพนักงานในอีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อโรงแรมใหม่เปิด

การให้พนักงานเกือบ 500 คนพักในโรงแรมคืนนี้ สิ่งนี้จะมีความหมายกับพนักงานยังไง

ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะเห็นว่ามันสำคัญมากหรือน้อย แต่นี่คือการขอบคุณเขา ก่อนโรงแรมแห่งนี้จะปิด พวกเขาคือแขกกลุ่มสุดท้ายที่ได้พักในโรงแรม อย่างน้อยอาจจะเป็นสิ่งที่เขาไม่ลืมตลอดชีวิต

พวกเขาจะได้พักในห้องพักหรูที่คนดังทั้งหลายเคยมาพักด้วยไหม

ใช่ เราให้เขาจับสลากกันว่าใครจะได้ห้องไหน บางคนอาจจะได้ห้องสูท หวังว่าจะอยู่ในความทรงจำของเขา

พนักงานทั้งหมดมาเป็นแขก แล้วใครจะดูแลพวกเขา

งานเลี้ยงเย็นนี้เราจ้างทีมข้างนอกเข้ามาช่วยบริการ ส่วนห้องพัก ห้องทั้งหมดทำไว้เรียบร้อยแล้ว ทุกคนใช้บริการได้เลย พรุ่งนี้เช้าทุกคนก็ช่วยกันเก็บผ้าปูเตียงผ้าเช็ดตัวลงมา ต้องช่วยนิดหนึ่ง เพราะไม่มีใครเหลือแล้ว ตอนแรกพวกเขาจะไม่ยอมพัก เพราะเกรงใจฝ่ายแม่บ้านที่ต้องทำงานต่อ สุดท้ายทุกคนเลยอาสาเก็บห้องเอง

พรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นที่โรงแรมดุสิต

เราจะเริ่มเก็บของ ซึ่งมีเยอะมาก บางส่วนก็ให้โรงแรมในเครือ บางส่วนก็เก็บไว้เพื่อจะเอากลับมาใช้กับโรงแรมใหม่ บางส่วนก็จะประมูลขาย มีลูกค้าเยอะมากมาติดต่อขอซื้อเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นไปเก็บเป็นที่ระลึก เราก็ยินดี

แล้วพนักงานเหล่านี้จะไปไหน

เรายินดีจ้างเขาให้อยู่ต่อ ก็หาอะไรให้ทำ คงมีหลายทางเลือกทั้งย้ายไปทำที่โรงแรมในเครือของเรา พนักงานที่อายุมากไม่อยากย้ายไปไหน เราอาจจะหาโครงการในกรุงเทพฯ เพิ่ม เพื่อให้พนักงานย้ายไปอยู่โครงการใหม่ เราอยากเอาร้านอาหารของโรงแรมออกมาเปิดข้างนอกด้วย ถึงเวลาเปิดโรงแรมใหม่ จะได้บริการต่อได้อย่างต่อเนื่อง ชื่อของดุสิตธานีก็จะไม่หาย พนักงานบางส่วนก็อยากเกษียณ ในช่วงสองสามปีที่เรารู้ว่าจะปิด คนที่เกษียณแล้วเราก็ยังขอให้เขาทำต่อจนโรงแรมปิด บางคนหกสิบกว่า บางคนก็เจ็ดสิบกว่า

หลังจากประกาศว่าโรงแรมจะปิด ชีวิตคุณวุ่นวายกับเรื่องอะไรมากที่สุด

สิ่งที่ยุ่งที่สุดก็คือ ต้องเจอคน ถ่ายรูปกับคน มอบหนังสือดุสิตธานีให้เขา เซ็นชื่อให้ มีคนมาหาผมมากกว่าเมื่อก่อน 10 เท่า มีพนักงานเก่าของเราที่อยู่ในเมืองไทยและต่างประเทศเข้ามาเยอะ แขกก็มีมาจากทั้งไทยและต่างประเทศ มีคนเดินทางจากต่างประเทศมาเพื่อใช้เวลาในโรงแรมช่วงสามสี่วันก่อนปิดค่อนข้างเยอะ เราเคยจัดงานแต่งงานอาจจะเป็นหมื่นคู่ คนเหล่านี้ก็กลับมา บางคนก็มาจากต่างจังหวัด เหมารถมาเลย เป็นความภูมิใจที่โรงแรมนี้สร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับคนเยอะ

วันสุดท้ายที่เปิดทำการก็ยังมีคนมาแต่งงาน

ครับ พ่อแม่เขาเคยแต่งงานที่นี่ พอรู้ว่าโรงแรมจะปิดเลยให้ลูกรีบแต่งงาน จะได้มาแต่งที่นี่

ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี

หลังจากประกาศปิดโรงแรม คุณได้รับจดหมายและอีเมลส่งมาด่าเยอะมาก ทำไมคุณถึงตั้งใจเก็บทุกฉบับไว้อย่างดี

ก็ควรจะเก็บนะ พอถึงวันที่โรงแรมเปิดใหม่ ผมจะเอาไปใส่ห้องสมุดในโรงแรมใหม่ให้คนมาดู แต่ต้องคิดก่อนว่าจะถูกฟ้องไหม เพราะเขาด่าแรงมาก

ทำไมต้องด่าแรงขนาดนั้น

ตอนแรกผมก็โกรธนะ แต่พอคิดอีกที เขาต้องผูกพันกับโรงแรม บางคนเขียนจดหมายส่งอีเอ็มเอสมา เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ถ้าเขาไม่รักโรงแรมขนาดนี้ คงไม่ทำ คิดได้แบบนั้นเราก็เก็บไว้หมด อีเมลด้วย มีผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเป็นคนแรกที่แต่งงานที่นี่ แต่งก่อนโรงแรมเปิด มาขอพบผม เขาบอกว่าเสียดาย ทำไมไม่หาวิธีเก็บไว้ พอลองถอยหลังมามอง ก็ดีใจนะ แปลว่ามีคนผูกพันกับตึก ดังนั้นตึกใหม่ที่เราจะสร้างจึงต้องเก็บบุคลิกของโรงแรมเก่าไว้

เรียกว่าคุณโตมาในโรงแรมดุสิตธานีได้ไหม

ผมใช้ชีวิตที่นี่ตั้งแต่ก่อนโรงแรมเปิด ผมเห็นที่นี่ตั้งแต่เริ่มออกแบบ เริ่มก่อสร้าง คุณแม่มาเดินตรวจงานก็พาผมไปด้วย มีประชุมอะไรก็พยายามดึงผมไปนั่งฟัง ไม่รู้เรื่องก็จับไปนั่งฟัง ไปคุยงานต่างประเทศ ไปดูงานโรงแรมอื่นก็พาผมไปด้วย ไปวิ่งเล่นที่ล็อบบี้โรงแรมอื่น พอโรงแรมสร้างเสร็จกลับจากโรงเรียนคุณแม่ก็พาเดินดูโรงแรม

ตอนเด็กๆ คิดไหมว่าโตมาต้องดูแลโรงแรมต่อจากคุณแม่

คิด ถึงตั้งใจเรียน เรียนเร็ว จบเร็ว เพราะรู้ว่าต้องมาช่วยคุณแม่ ผมเรียนปริญญาโทตอนอายุ 19 จบตอน 21 เป็นอาจารย์จุฬาฯ ตอนอายุ 22 เป็นอาจารย์จุฬาฯ ที่จบปริญญาโทด้วยอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง คุณแม่เห็นว่าผมไปอยู่เมืองนอกนาน เลยอยากให้ไปทำอย่างอื่นก่อน ผมไปสมัครเป็นอาจารย์ที่คณะบัญชี จุฬาฯ ช่วงที่ว่างก็เข้ามาดูโรงแรม แต่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็ค่อยๆ ทำไป สอนอยู่ 4 ปี คุณแม่ก็บอกว่าถึงเวลาแล้ว เลยลาออกมาทำโรงแรมเต็มตัว แต่ก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษอยู่พักนึง

ความยากของการบริหารโรงแรมคืออะไร

ข้อดีคือคุณแม่สร้างฐานไว้ดี ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นในบางเรื่อง แต่เรื่องที่หนักที่สุดมีสองสามเรื่อง เราไม่ได้อยากแข่งกับโรงแรมไทย เราพูดตั้งแต่สมัยคุณแม่ว่า ถ้ามีเจ้าของโรงแรมคนไทยหรือผู้ลงทุนคนไหนมาปรึกษา คุณแม่จะช่วยเสมอ คุณแม่และผมจะให้เวลากับหอการค้า สมาคมโรงแรมไทย เข้าไปสนับสนุนเขา เพื่อให้โรงแรมโดยเฉพาะโรงแรมตามต่างจังหวัดทำงานได้ดีขึ้น เราเชื่อว่าถ้าอุตสาหกรรมโรงแรมดี ก็จะดีกับทุกคน เราจะดีคนเดียวไม่ได้

ปัญหาอย่างที่สองคือ ต้องบอกตรงๆ ว่าคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ เห็นความสำคัญของแบรนด์ต่างประเทศมากกว่าแบรนด์ไทย ชอบแบรนด์หรูของต่างประเทศ หรือดูถูกแบรนด์ไทย แต่เด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างจะดี เขาไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นแบรนด์ฝรั่ง ดังมาจากเมืองนอกหรือเปล่า คุณแม่ยืนยันว่าเราจะเป็นโรงแรมไทย ชื่อไทย ตั้งแต่วันแรก ต้องยอมรับว่าหลายคนไม่เชื่อ หลายคนไม่สนับสนุน เป็นเรื่องที่แปลก

อะไรทำให้ท่านผู้หญิงสนใจความเป็นไทยตั้งแต่แรก

คุณแม่อาจจะเป็นผู้หญิงคนไทยคนแรกๆ ที่ไปเรียนต่างประเทศ เมื่อเจ็ดสิบกว่าปีที่แล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้หญิงไทยคนหนึ่งกล้าไปเรียนที่นิวยอร์กคนเดียว ไปแบบไม่รู้จักใคร ตอนนั้นก็เก่งมากแล้ว ผมคิดว่าการเป็นผู้หญิงเอเชียที่ไปต่างประเทศ อาจจะถูกดูถูกมั้ง อาจจะมีคนว่าว่าเราดีไม่พอ ไม่มีความสามารถพอ คุณแม่เป็นคนไม่ยอมแพ้ ตอนกลับมาจากต่างประเทศเลยพยายามทำอะไรที่เป็นไทย ทำให้ดี คุณแม่เป็นคนกล้า ไม่กลัวคน ไม่งั้นไม่กล้าสร้างโรงแรมนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว สมัยก่อนไม่มีการศึกษาด้านการเงิน ด้านลูกค้า คุณแม่คิดแค่อยากจะสร้างแล้วก็สร้างเลย

อะไรทำให้ท่านผู้หญิงมั่นใจว่าสร้างโรงแรมใหญ่ขนาดนี้แล้วจะรอด

ผมไม่คิดว่าคุณแม่คิดหรือไม่คิดว่าจะรอด คิดแค่ประเทศไทยต้องมีโรงแรมไทยที่ดี ก่อนดุสิตธานี ไม่เคยมีโรงแรมคุณภาพดีที่ลงทุนโดยคนไทย บริหารโดยคนไทย ชื่อไทย โรงแรมไทยส่วนใหญ่อาจจะระวังเรื่องการเงิน ไม่กล้าสร้างโรงแรมที่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมที่ราคาถูกหน่อยหรือใช้ชื่อฝรั่ง คุณแม่เป็นคนแรกที่สร้างโรงแรมชื่อไทยสไตล์หรู

ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี

ความเป็นไทยที่เลือกมาใช้ในโรงแรมดุสิตเป็นความเป็นไทยแบบไหน

หลายอย่างนะ 50 ปีที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตเป็นตึกที่คนยอมรับว่ามีความเป็นไทยมากที่สุดในเชิงสถาปัตยกรรม การตกแต่งโรงแรมก็เน้นความเป็นไทยที่สุด ใช้ผ้าไหม ผ้าฝ้าย การดูแลพนักงานเราก็ใช้การบริหารพนักงานแบบไทย ดูแลเขาคล้ายๆ ครอบครัว การบริการลูกค้า เราก็ใช้หลักความเป็นไทย

การดูแลพนักงานแบบครอบครัวเป็นยังไง

50 ปีที่แล้วมีบริษัทคนไทยส่งพนักงานไปเรียนต่างประเทศ เพื่อกลับมาบริหารงานในโรงแรม ส่งไปที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลนะ ไม่ใช่กระจอกๆ สามสิบกว่าปีที่แล้ว เราเป็นบริษัทแรกที่สร้างโรงเรียนขึ้นมาเพื่อป้อนพนักงานให้อุตสาหกรรม ไม่ใช่สร้างห้องฝึกอบรมพนักงานของตัวเองเหมือนที่หลายๆ คนทำ แต่เราสร้างโรงเรียนการโรงแรม สิ่งนี้คงบอกได้ว่าเราไม่ได้คิดเรื่องเงินอย่างเดียว แต่เราคิดว่าจะช่วยอุตสาหกรรมได้ยังไง คุณแม่เป็นคนคิดแบบนั้น

วิธีบริหารของโรงแรมดุสิตต่างจากเครือโรงแรมอื่นๆ ไหม

ถ้าคุณดูสถาปัตยกรรมของโรงแรมจะเห็นว่ามีไทยกับฝรั่งปนกัน คุณแม่คงเข้าใจว่า ถ้าเป็นไทยจ๋าคงไม่ได้ การบริหารโรงแรมก็เหมือนกัน ระบบอะไรบางอย่างก็เป็นอินเตอร์ แต่วิธีการดูแลคนอาจจะเป็นแบบไทยมากหน่อย เวลาเราไปอยู่ต่างประเทศก็พยายามทำแบบนี้

การดูแลแขกแบบไทยๆ เป็นยังไง

ถ้าเราดูแลพนักงานให้ดีแบบไทย เขาก็จะไปดูแลลูกค้าให้ดีแบบไทย ในการบริหาร เข้าถึงคน พูดคุยกับคน ดุสิตไม่ค่อยเหมือนโรงแรมอื่นๆ ที่อื่นฐานเขาเป็นฝรั่งแล้วพยายามแต่งตัวให้เป็นแบบไทย จับความเป็นไทยเข้าไปใส่ แต่เราเริ่มจากความเป็นไทย แล้วดึงวิธีทำงานแบบฝรั่งเข้ามา

ความเป็นไทยจะแข่งกับฝรั่งได้ยังไง

เนื่องจากเราเริ่มช้ากว่าคนอื่น ด้วยขนาด เครือข่าย ความใหญ่ เราสู้บริษัทต่างชาติไม่ได้ เขาใหญ่กว่าเราห้าเท่าสิบเท่า มีเครือข่ายเยอะกว่าเรา แมรีออทมีหมื่นโรงแรม เรามีร้อยโรงแรม ถ้าเราเหมือนเขา โอกาสที่จะสู้เขาก็ยาก สิ่งที่เราต้องทำให้ไม่เหมือนคนอื่นคือ เราต้องเป็นบริษัทที่มีความเป็นไทย จุดขายที่ไม่เหมือนใครคือ เราเป็นบริษัทไทยแท้ๆ ถ้าคุณต้องการอะไรที่เป็นอเมริกันจ๋าก็ไปไฮแอท ไปโฟร์ซีซันส์ ไปริทซ์-คาร์ลตัน ต้องการอะไรที่เป็นยุโรปคุณก็ไปแอคคอร์ ถ้าต้องการความเป็นไทย ความรู้สึกแบบไทย มีร้านอาหารไทยที่ดี คุณก็มาอยู่กับเรา

ข้อดีของเราก็คือ เวลาไปเปิดโรงแรมในยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ถ้าคุณบอกว่ามาจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง บางทีคนไม่ยอมรับ แต่ถ้าบอกว่ามาจากไทย คนส่วนใหญ่ยอมรับ โชคดีที่เขาเคยมาเที่ยวประเทศไทย มีความรู้สึกที่ดีกับคนไทย กับการใช้ชีวิตแบบคนไทย ทุกอย่างมันง่ายขึ้น

เคยมีเครือโรงแรมต่างชาติมาขอซื้อกิจการไหม

เยอะมาก แต่คุณแม่บอกว่า ไม่ ความตั้งใจของคุณแม่คงไม่เปลี่ยนไป นี่คือโรงแรมไทย บริษัทไทย ชื่อไทย เราก็ทำของเราแบบนี้แหละ ถึงจะเล็กหน่อย แต่เราอยากเป็นบริษัทไทยที่ดี เป็นตัวแทนประเทศไทยที่ดี

ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี

เราจะได้เห็นแบบโรงแรมดุสิตโฉมใหม่เมื่อไหร่

เดือนเมษายน บอกตามตรง ทำมาแล้วผมแก้เยอะ

ไม่ดีตรงไหน

โรงแรมใหม่ต้องเป็นตัวแทนของโรงแรมเก่า คงไม่มีใครรู้ว่าโรงแรมเก่าคืออะไรมากเท่าผม บางทีคนใหม่เข้ามาแล้วไม่เข้าใจ เขาตีความไปอย่างหนึ่ง ความเป็นไทยมีหลายความหมาย อย่างน้ำตกมีได้หลายความหมาย ในที่สุดแล้วพอถึงเวลาโรงแรมใหม่เปิด ไม่ว่าจะสร้างดีหรือไม่ดี เสียงวิจารณ์ก็จะตกอยู่กับบริษัทดุสิต แล้วทุกคนก็จะชี้นิ้วมาที่ผม ผมเลยพยายามระวังเรื่องนี้

ความเป็นดุสิตเก่าที่จะอยู่ในร่างดุสิตใหม่มีอะไรบ้าง

หลายอย่างนะ สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของโรงแรมเราก็แก้ เช่นห้องพัก อะไรที่ดีก็เก็บไว้ เช่น ล็อบบี้ที่เข้ามาแล้วเห็นวิว ถ้าคุณไปดูล็อบนี้ของโรงแรมห้าดาวในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ผมคิดว่าไม่มีโรงแรมไหนมีวิว แม้แต่โอเรียนเต็ลซึ่งเป็นโรงแรมเก่า คุณก็จะเห็นสวนนิดหนึ่ง แต่ไม่เห็นวิว สาเหตุที่คุณแม่เอาล็อบบี้ไว้ชั้นสอง มีสะพานขึ้น เพราะอยากให้เข้ามาในล็อบบี้แล้วเห็นวิว โรงแรมใหม่ของเราล็อบบี้จะมีวิวสวย สวนก็เป็นสิ่งสำคัญ มีความหมายว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ สถาปัตยกรรมต่างๆ ก็มีความหมาย เราพยายามเอาไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

สถาปนิกงงไหมว่าจะเก็บอะไรนักหนา

งงครับ อย่างที่บอก โรงแรมใหม่ต้องมีบุคลิกของโรงแรมเก่า ถ้าเราไม่ได้ชื่อดุสิตธานี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์คิดไว้เมื่อ 50 หรือ 70 ปีที่แล้วเมื่อตั้งบริษัท มันก็จะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าจะเอาจุดนั้นมาเป็นรากฐานเราก็ต้องทำอีกแบบ

คืนสุดท้ายที่โรงแรมดุสิตธานีให้บริการ คุณมองไฟที่ค่อยๆ ดับลงทีละชั้นด้วยความรู้สึกอะไร

ผมบอกคุณตรงๆ นะ สองสามเดือนหลังผมเบลอ ไม่รู้เรื่องแล้ว คงคิดมากด้วย เศร้าด้วย เลยจำอะไรไม่ค่อยได้ ผมเริ่มรู้สึกแย่ตั้งแต่เมื่อ 18 เดือนที่แล้ว พอประกาศว่าจะปิดก็รู้สึกแย่มาตลอด เพราะหนักใจ เรารู้ว่าล็อบบี้ ห้องอาหารไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าดูห้องพัก ระบบงานโครงสร้าง โรงแรมเรามีปัญหาค่อนข้างเยอะ

ถ้าอยากให้โรงแรมอยู่ต่อไปอีก 50 ปี ไม่ทำวันนี้ อีก 10 ปี ข้างหน้าก็ต้องทำ เลยรีบตัดสินใจทำดีกว่า ในวันที่ผมยังมีแรงทำอยู่ เพราะมันจะดีถ้ามีคนที่อยู่มาตั้งแต่ตอนก่อสร้างโรงแรมตอนแรก อย่างน้อยก็มีความต่อเนื่องในการวางแผน ออกแบบ ถ้ารออีก 10 ปี ผมอาจจะไม่ไหว คนรุ่นใหม่ก็อาจจะรู้ไม่พอ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณแม่สร้างไว้ให้โรงแรมนี้ ถ้าเก็บได้เราก็อยากเก็บ

ความหนักใจคือ จะสร้างโรงแรมใหม่ยังไงให้คนกรุงเทพฯ ยังรู้สึกดี แล้วก็เป็นโรงแรมที่ดีตามที่คุณแม่หวังไว้ ยังแข่งกับชาวต่างประเทศได้ดี ถ้าไม่ใช่ดุสิตแล้วใครจะมาทำแบบนี้ มันไม่มีคนอื่น ผมหวังว่าจะมีโรงแรมไทยมาแข่งกับต่างประเทศได้เยอะขึ้น

เสียน้ำตาบ้างไหม

ก็มี (ทีมงานช่วยตอบว่า มาก) เพราะคุณแม่บอกว่าให้เก็บโรงแรมนี้ไว้ ผมก็เลยคิดนาน เราไม่ต้องการให้ใครรื้อตึกแล้วสร้างใหม่ เราต้องมีจุดยืนว่า เราจะยืนตรงไหน จุดยืนนั้นต้องช่วยให้เราแข่งขันได้ ถ้าเราสร้างเป็นโรงแรมสมัยใหม่ ความแตกต่างเมื่อเทียบกับโรงแรมห้าดาวอื่นๆ คืออะไร ก็ไม่มี เราต้องทำโรงแรมของเราให้มีบุคลิกเป็นไทยที่สุด คุณไปเดินดูโรงแรมที่เปิดใหม่ 5 แห่ง คุณถามตัวคุณเองสิว่ามีอะไรที่เป็นไทย ทุกที่มีสีคล้ายๆ กัน การออกแบบโรงแรมยุคใหม่ค่อนข้างเรียบ เป็นมินิมอล ถ้าคุณไปเดินดูโรงแรมใหม่ที่นิวยอร์ก ลอนดอน ดูไบ มันก็เหมือนกันหมด ผมว่านี่คือปัญหาของธุรกิจโรงแรม ถึงจุดหนึ่งมันบอกไม่ได้ว่าอะไรคือสัญลักษณ์ของประเทศไทยในโรงแรม

โรงแรมดุสิตโฉมใหม่จะไม่มินิมอล

ไม่ ต้องเราเป็นไทย ต้องสีสันเยอะ คนมาเมืองไทยเขาต้องการเห็นสีสัน คุณไปเดินดูโรงแรมเชนที่กรุงเทพฯ เทียบกับฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ คุณบอกไม่ได้เลยว่ากำลังอยู่ที่ประเทศไหน เพราะมันเหมือนกันหมด เราไม่ต้องการอย่างนั้น

ชนินทธ์ โทณวณิก, ดุสิตธานี

ความรู้สึกวันเปิดโรงแรมกับวันปิดโรงแรมต่างกันยังไงบ้าง

ตอนเปิดโรงแรม ตอนนั้นผมยังเด็ก ยังเรียนอยู่มัธยม จำได้ว่าชวนเพื่อนที่โรงเรียนมาแล้วก็งง เพราะคนเยอะมาก คนเกือบทั้งกรุงเทพฯ มาที่นี่ เพราะเป็นตึกใหญ่ตึกแรกในประเทศไทย คนที่ไม่ได้รับเชิญก็มา วันนั้นงงมาก ไม่มีที่ยืน ส่วนวันปิดไฟ ส่วนใหญ่ผมอยู่กับลูกค้า อยู่กับพนักงาน เป็นวันที่เสียใจที่สุดวันหนึ่งตั้งแต่ทำงานมา

คุณนอนที่โรงแรมบ้างไหม

ส่วนใหญ่จะนอนช่วงที่มีปัญหา เวลามีปัญหาที่เกิดขึ้นหน้าโรงแรม ตอนแรกคุณแม่จะมาเดินอยู่ในโรงแรม มาคุยกับพนักงาน กินข้าวกับพนักงาน สามสิบสี่สิบปีหลังผมมาแทนคุณแม่ นั่นคือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ ถ้าพนักงานเห็นว่าเจ้าของมาเดินอยู่ด้วย มาอยู่ดูแลเขา ความรู้สึกจะเป็นแบบหนึ่ง ถ้าไม่มีเจ้าของอยู่ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่คุณถามว่าบริหารงานแบบคนไทยเป็นยังไง จุดเล็กๆ ที่ผมถูกสอนมาตลอดก็คือ ถ้ามีเรื่องอะไรเราต้องอยู่กับพนักงาน เดินให้พนักงานเห็น ระเบิดจะลง น้ำจะท่วม ก็ต้องเดินให้พนักงานเห็น เป็นแบบนี้มาตลอด

ช่วงที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ คุณก็เปิดห้องพักของแขกให้พนักงานพัก

ใช่ ตอนมีปัญหาการเมืองก็เปิดให้พนักงานพัก ถ้าไม่เปิดให้พัก เขาจะกลับยังไง เดินทางลำบาก ไม่ปลอดภัย ถ้าใครเป็นห่วงบ้านอยากกลับก็กลับ แต่ถ้าคนไหนอยู่ เราก็บอกให้เขาพักที่โรงแรมเลย ทานอาหาร ทำทุกอย่างในโรงแรมเลย เราก็ดูแล

คืนนี้อยากนอนที่นี่เป็นครั้งสุดท้ายไหม

ไม่หละ วันปิดลูกๆ ผมก็มานอนกันนะ แต่ผมไม่มา มันไม่ไหวน่ะ ถ้านอนคงนอนไม่หลับ ขออยู่ห่างหน่อยดีกว่า

โรงแรมดุสิตธานีมีความหมายกับชีวิตคุณยังไง

ผมอยู่ที่นี่ตั้งแต่ก่อนเปิด ช่วงก่อสร้าง ที่นี่ไม่ใช่ตึก แต่คือชีวิตของผม ในช่วง 40 ปีที่มาทำงานอยู่ที่โรงแรมดุสิตผมพยายามทำโน่นทำนี่อยู่เรื่อย บางอย่างก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางอย่างก็ประสบความสำเร็จ บางอย่างเคยประสบความสำเร็จ อยู่ๆ ไปก็ไม่ประสบความสำเร็จ เวลาผ่านไป เมื่อก่อนเคยดังที่สุด แต่วันหนึ่งก็ต้องเลิกทำ โรงแรมใหม่ต้องเป็นตัวแทนโรงแรมเก่าที่ดีที่สุด หวังว่าจะทำชื่อเสียงให้ประเทศ นั่นคือจุดประสงค์ของดุสิตธานี

ถ้าคืนนี้คุณต้องกล่าวคำลากับโรงแรมดุสิตธานี คุณจะบอกที่นี่ว่าอะไร

โรงแรมดุสิตธานีใหม่จะดีกว่าเก่าไม่ใช่แค่ของที่อยู่ในโรงแรม แต่ผมจะทำให้ที่นี่เป็นที่ที่มีความหมายและศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เชิดหน้าชูตาให้ประเทศไทย

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan