“ที่นี่คืออะไรครับ”

โชเฟอร์แท็กซี่ทำลายความเงียบในห้องโดยสารเมื่อรถที่เราโดยสารเคลื่อนที่เข้าใกล้ปลายทาง

เมื่อได้ยินคำถามที่ว่า ผมก็หวนนึกถึงบางคำถามที่ได้รับมานับครั้งไม่ถ้วนก่อนหน้า-ช่างชุ่ยคืออะไร

แปลกดี ทั้งที่เคยพบปะพูดคุยถึงสถานที่แห่งนี้กับเจ้าของโปรเจกต์มาแล้ว แต่แทบทุกครั้งที่มีคนถามไถ่ ผมกลับไม่อาจตอบได้ทันทีด้วยคำคำเดียวหรือประโยคสั้นๆ ว่าอาณาจักรขนาด 11 ไร่ที่มีเครื่องบินลำใหญ่จอดอยู่แห่งนี้ คืออะไร

เราจะอธิบายสถานที่ที่มีทั้งร้านอาหารบนเครื่องบิน โรงละคร โรงภาพยนตร์สารคดี แกลเลอรี่ ร้านตัดผมย้อนยุค ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านขายซีดีเพลง ร้านขายโคมไฟ ร้านเสื้อผ้า และอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยคำคำเดียวหรือประโยคสั้นๆ ว่าอะไร

ก่อนหน้านี้ผมเคยคุยกับ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น FLYNOW และเจ้าของสถานที่ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนมกราคม แม้ตอนนั้นที่ช่างชุ่ยจะเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างบ้างแล้ว แต่อะไรก็ยังไม่ชัดเจน เวลาผันผ่านจากต้นปีสู่กลางปี สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หากมองเพียงผิวเผิน ร้านรวงต่างๆ คืบหน้าไปมาก จากที่เป็นเพียงโครงสร้างว่างเปล่า วันนี้เริ่มเห็นหลายร้านพร้อมให้บริการเรียบร้อย หรือเครื่องบินที่เคยเป็นเพียงซากตั้งอยู่ วันนี้มันถูกทาสีทั้งลำและจัดไฟสะท้อนงดงามยามค่ำคืน

เย็นย่ำวันนี้ ผมนัดพบเจ้าของสถานที่อีกครั้งเพื่อฟังเขาเล่าเรื่องต่างๆ ที่ผันแปรไปและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา

โดยคาดหวังลึกๆ ว่า สิ่งที่ผมได้ยินจะทำให้ผมได้คำตอบของคำถามบนรถแท็กซี่

ช่างชุ่ย

คุณไม่มีชื่อจะตั้งแล้วหรือ

ช่าง น. ผู้ชำนาญในการฝีมือหรือศิลปกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ช่างตัดเสื้อ ช่างไม้ ช่างทอง.

ชุ่ย ว. ไม่ตั้งใจ, ไม่ละเอียดประณีต, มักง่าย, เช่น เขียนชุ่ย ๆ ทำชุ่ย ๆ พูดชุ่ย ๆ.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า ‘ช่าง’ และ ‘ชุ่ย’ ไว้อย่างนั้น ส่วนคำว่า ‘ช่างชุ่ย’ ผมลองพลิกอย่างไรก็ไม่พบความหมาย

แน่นอน, ‘ไม่พบความหมาย’ นั้นคนละความหมายกับ ‘ไม่มีความหมาย’

“ทุกวันนี้คนยังไม่รู้ว่าช่างชุ่ยคืออะไร บางคนอาจจะอนุมานว่ามันเป็นครีเอทีฟสเปซ เป็นพื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ หรือว่าเป็นพื้นที่ของศิลปะ แต่เชื่อว่าอีกจำนวนมหาศาลไม่เข้าใจอะไรเลย” สมชัยบอกผมขณะนั่งเอกเขนกอยู่บริเวณหน้าห้องสำนักงาน

ย้อนกลับไปก่อนที่ผืนดินที่ผมนั่งอยู่จะกลายเป็นภาพที่เห็น เดิมทีเขาตั้งใจสร้างที่แห่งนี้เป็นออฟฟิศใหม่ของ FLYNOW ออฟฟิศในฝันที่มีต้นไม้กระจายเต็มพื้นที่ พนักงานจะนั่งทำงานตรงไหนก็ได้ตามใจปรารถนา แต่สุดท้าย เมื่อคิดว่าหากทำเช่นนั้น คนที่ได้ประโยชน์คงมีเพียงหยิบมือเดียว นั่นคือเหล่าพนักงานไม่กี่คน เขาจึงคิดใหม่ทำใหม่ สร้างให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสเปซแห่งสุนทรียะ โดยเชิญศิลปินจำนวนมากมาร่วมกันสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างในหมวดที่ตนถนัดบนพื้นที่กว่า 11 ไร่

เขาตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า ‘ช่างชุ่ย’

“เวลาเราไปพูด ถ้าไม่รู้จักกัน เขาจะถามเราว่าช่างอะไรนะ เป็นคำที่คนยังถามเราอยู่เสมอๆ ว่า ภาษาจีนหรือเปล่า ช่างชุ้ย ฉ่างชุ่ย เหรอ เราต้องบอกว่าไม่ใช่ครับ มันคือช่างที่มันชุ่ยๆ ถ้าพูดให้สั้นคือ ช่าง-ชุ่ย แล้วเขาก็จะถามต่อว่า คุณไม่มีชื่อจะตั้งแล้วเหรอ” เขายิ้มเมื่อเล่าถึงตรงนี้

“แล้วคุณตอบว่ายังไง”

“ไม่ตอบ แต่ถามว่าถ้าตั้งชื่อเป็นช่างสมบูรณ์ ช่างเพอร์เฟกต์ ช่างมหัศจรรย์ อะไรสักอย่างนึง คุณขำไหมล่ะ ผมไม่เชื่อเรื่องความเพอร์เฟกต์ ที่นี่คุณลองดูมันด้วยใจที่เปิดกว้าง คุณจะเห็นเลยว่าความชุ่ยมีความงาม”

ผมเหลือบมองไปยังอาคารหลังต่างๆ ที่สร้างด้วยสังกะสีและหน้าต่างไม้สักเก่าเก็บซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของเขาเรียงร้อยกันสวยงามคล้ายลายผ้า Patchwork สิ่งที่เห็นไม่ใช่ผลงานของศิลปินที่ไหนทั้งนั้น เขาเล่าว่าหน้าต่างเหล่านี้ใช้แรงงานพม่าเป็นคนจัดวาง และด้วยความที่เป็นช่างชุ่ยสมชื่อสถานที่ แรงงานเหล่านั้นจึงวางหน้าต่างกลับหัวกลับหาง ตอนแรกที่รู้เขาตกใจ แต่เมื่อเห็นผลงานของช่างเหล่านั้น เขากลับยอมรับโดยไม่ได้สั่งรื้อแล้วติดตั้งใหม่

แม้มันไม่เป็นระเบียบอย่างที่คิด แต่มันก็งดงามกว่าที่คาด

“ความชุ่ยทำให้เราสุนทรีย์ขึ้น” เขาพูดถึงบางสิ่งที่ในพจนานุกรมไม่ได้ระบุ

ช่างชุ่ย

ช่างชุ่ย

เวลาฝนตกผมยกมือขอบคุณเทวดา

โชคดีที่วันนี้ฝนไม่ตก-ผมคิดในใจตอนที่มาถึงสถานที่แห่งนี้

ด้วยความที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กลางแจ้ง ผมเกรงว่าหากฝนฟ้ากระหน่ำลงมา จากที่จะได้นั่งคุยกับเขาสบายๆ อาจกลายเป็นต้องวิ่งหาที่หลบฝนแทน

“ระหว่างที่สร้างช่างชุ่ยมีอะไรเปลี่ยนไปจากภาพที่คิดไว้ตอนแรกบ้างไหม” ผมถามเขาขณะที่ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสีหลังพระอาทิตย์คล้อยต่ำ

“ที่ผ่านมา เราสื่อสารอะไรออกไปมักได้รับการตอบรับในแง่บวก แล้วเราจะทำยังไงให้พื้นที่แห่งนี้ไม่ทำให้ผู้คนผิดหวัง มันก็เลยกลับมาถาโถมผมในเรื่องของการทำพื้นที่ให้มีคุณค่าสมกับที่ทุกคนรอคอย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียงร้อยเรื่องราวทั้งหมด หรือมาตรฐานที่มากขึ้น เช่นเรื่องของการดูแลความปลอดภัย เราทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว มาตรฐานของระบบไฟฟ้าต้องดี ตอนแรกผมฝันว่าจะมีเสาไฟเก่าๆ เหมือนต่างจังหวัด ทีนี้การไฟฟ้าฯ มาบอกว่าถ้าเป็นอย่างนี้เจอไฟแรงสูงมันรับไม่ได้หรอก ไม่ปลอดภัย เสาไฟฟ้าแบบนี้มันควรจะอยู่ตามหมู่บ้านที่ทั้งหมู่บ้านมีแอร์อยู่ 2 เครื่อง” สมชัยหัวเราะให้กับความไม่รู้ของตัวเอง

นอกจากเรื่องระบบไฟที่สุดท้ายต้องทำใหม่หมดโดยมีที่ปรึกษาเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาคารต่างๆ ทุกหลังที่สร้างด้วยสังกะสีและหน้าต่างก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อฝนฟ้ามาเยือนและมาเตือน

“ตอนแรกเราคิดว่าตัวอาคารเราคงดีมากเลย ตอนกลางวันเปิดหน้าต่างให้หมด ให้ลมโชย แต่ก็เจอปัญหาคือ หนึ่ง ถ้าหน้าร้อนล่ะ ต่อให้ลมโชยยังไงก็ไม่รอด เดี๋ยวนี้คนติดแอร์แล้ว สอง เวลาฝนตก คนสมัยนี้ปิดหน้าต่างไม่เป็นแล้ว แล้วหน้าต่างเราเยอะขนาดนี้ กว่าจะเปิดทั้งหมดให้ลมโชย ให้ลมถ่ายเท แล้วพอฝนมา คุณนับดูสิว่าต้องไล่ปิดกี่บาน แล้วถ้าผมจะจ้างคนมาเปิดปิดหน้าต่างช่างชุ่ย ผมว่าไม่มีคนมาสมัครหรอก สุดท้ายเลยต้องแก้ด้วยการติดแอร์

ช่างชุ่ย

“แล้วฝนฟ้าที่ผ่านมาใน 1 เดือนมันสอนให้เรารู้ว่า ถ้าเป็นวิถีชาวบ้าน เขาอาจไม่ได้เดือดร้อนอะไร ฝนตกรั่วบ้างเล็กๆ น้อยๆ เขาถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เด็กๆ ก็วิ่งรองน้ำฝนกันอะไรกันสนุกสนาน แต่ถ้าอยู่ๆ คุณกินข้าวที่ช่างชุ่ยแล้วน้ำมันไหลมา บางคนอาจจะเขียนด่าในเฟซบุ๊กเลยก็ได้ ด้วยความที่ช่างของเราไม่ใช่ช่างฝีมือชั้นเยี่ยมอะไร ฉะนั้น ไอ้สุนทรีย์มันก็มี แต่ไอ้ความซกมกเราไม่เห็นหรอก มุงหลังคารูเบ้อเร่อเท่อเราก็ไม่เห็น สมัยสร้างเสร็จใหม่ๆ เอากะละมังไปรองน้ำได้ 10 กะละมังเต็มๆ

“เวลาฝนตกผมยกมือขอบคุณเทวดา” ว่าถึงตรงนี้สมชัยก็หัวเราะเสียงดังให้กับเรื่องตลกร้ายที่เขาต้องเผชิญ

ถ้าเป็นอย่างที่เราคาดหวังทั้งหมดคือผิดพลาด

ณ วันนี้-อีกไม่ถึง 48 ชั่วโมง ช่างชุ่ยจะเปิดให้บริการ

หากเราคลิกเข้าเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ทางการของช่างชุ่ยจะพบว่า นอกจากศิลปินที่จะทยอยมาสร้างสรรค์โปรเจกต์พิเศษต่างๆ ยังมีร้านรวงมากมายกว่า 50 ร้าน อาทิ ร้านอาหารไทยระดับโลกจากเชฟมิชลินสตาร์ ร้านรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก หรือร้านชาและขนมสไตล์ฝรั่งเศสท่ามกลางบรรยากาศสวนป่าเขตร้อน

“เป้าหมายของที่นี่ยังเหมือนเดิม เราอยากสร้างเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่มารวมตัวกัน ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน บริบทของที่นี่ไม่ได้พูดถึงเรื่องไกลตัว เราพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่พูดแล้วทำให้คนมีปัญญา แล้วเขาสามารถนำปัญญานั้นไปทำมาหากินได้ และสิ่งสำคัญคือ มันต้องทำให้ผู้คนรู้สึกมีความสุข เพราะปัญญาบางอย่างมันก็น่าเบื่อนะ อย่างเวลาเราไปเรียนหนังสือมันน่าเบื่อมาก แต่จะทำยังไงให้พื้นที่ตรงนี้ทุกคนได้ครบทั้งปัญญาและความสุขกลับบ้าน ฉะนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเท่าไหร่”

สมชัยเล่าว่าการสร้างสถานที่แห่งนี้นับแต่วันแรกไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว หรือที่เขาพูดทีเล่นทีจริงว่า กฎของที่นี่คือ ‘เด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน’

เด็ดขาด คือสั่งแล้วทำทันที ไม่แน่นอน คือพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ช่างชุ่ยช่างชุ่ย, สมชัย ส่งวัฒนา

“ที่นี่ผมทำไปรู้ไป ผมชอบฝันกลางอากาศ แล้วเอาความฝันนั้นมาเรียงร้อย ค่อยๆ ให้มันผุดขึ้นมา แล้วในลักษณะของการผุดขึ้นมาผมไม่ได้สร้างกฎตายตัว จินตนาการของผมเต็มไปด้วยโจทย์ที่เต็มไปด้วยปัญหา แล้วเราก็มาหาวิธีแก้ปัญหานั้น การยอมรับกับปัญหา ยอมรับกับมุมมองใหม่ๆ ยอมรับกับกิริยาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการแก้ปัญหา นั่นคือองค์ความรู้ที่ทำให้เราฉลาดขึ้น ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ผมรู้สึกว่า สนุก เปลี่ยนมันเถอะ อะไรที่ฝืนไม่ได้ก็เปลี่ยน แล้วคนที่มาร่วมกับผมที่ช่างชุ่ยแต่ละคนก็เรียกร้องไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ๆ บอกว่าเขาอยากจะมาขอทำเรื่องนี้ๆ ซึ่งถ้าผมดูแล้วความสามารถเขาถึง ก็ตกลงเปลี่ยนเลย ผมเลยตั้งกฎที่นี่ไว้ว่า เด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน คือคำสั่งพี่เป็นคำสั่งที่เด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน

“ผมคิดว่าตัวเองคงขีดวงไว้แล้วว่าอยากเห็นอะไรเกิดขึ้น แต่ในขณะที่วงที่ขีด ผมก็เตรียมวงให้คนอื่นขีดซ้อนไปเรื่อยๆ ด้วย โดยที่ไม่ได้หมายความว่าวงกลมของคนอื่นต้องมาซ้อนกับวงกลมของผมร้อยเปอร์เซ็นต์ คือถ้าจะไปตั้งว่าคุณต้องเป็นวงกลมเดียวกับฉัน คุณบ้าไปแล้ว แต่ถ้าวงกลมของเรามีคนมาเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ ผมว่ามันโคตรน่าสนใจเลยนะ อาณาจักรปริมณฑลมันจะเรียงร้อยกันไป ผมชอบตรงนี้ ฉะนั้น ก็อย่าไปฝันว่ามันจะเป็นไปตามสิ่งที่เราคาดหวังทั้งหมด ชีวิตจะมีอะไรล่ะ ถ้าทุกอย่างเหมือนกับที่คิดไว้เป๊ะเลย แล้วจะไปดูทำไม จะไปเห็นทำไม เหมือนเวลาคุณอยากรู้อยากเห็น พอไปดูแล้วมันไม่เหมือนที่คิดไว้ ผมว่าอย่างนี้แจ๋วกว่า

“ถ้าเกิดเป็นอย่างที่เราคาดหวังทั้งหมดคือผิดพลาดแล้ว” สมชัยสรุป

ช่างชุ่ย, สมชัย ส่งวัฒนา

ความไม่เข้าใจไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องไปตอบ

ดวงอาทิตย์บอกลาท้องฟ้า เสียงช่างเฮฮาหลังเลิกงานดังจนผมต้องหันไปมองทิศทางต้นเสียง

ที่ผ่านมา ผมเห็นข่าวช่างชุ่ยผ่านสื่อหลายสำนัก ส่วนใหญ่มักเป็นภาพตอนกลางวัน แต่ภาพที่ปรากฏตรงหน้าขณะนี้คือช่างชุ่ยยามค่ำคืนซึ่งมีเสน่ห์เฉพาะอีกแบบที่บอกไม่ได้ว่าเพราะแสงไฟหรือแสงดาว

ช่างชุ่ยคืออะไร-ผมยังคิดถึงคำถามนี้ที่ได้รับจากโชเฟอร์แท็กซี่

“ที่นี่ยังเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนอยู่ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ผมอยากจะเห็นช่างชุ่ยออกมาเป็นอย่างนี้ เพราะว่าอะไรที่มันเคลียร์มันจะไม่มีการตั้งคำถาม ถ้าคุณไปที่ไหนแล้วมีคำถาม ชีวิตมันน่าสนใจนะ ถ้าเกิดเราไม่อยากถาม ไม่อยากหาคำตอบ ชีวิตมันน่าเบื่อหน่าย ฉะนั้น ผมเองคิดว่าจะต้องมีคนตั้งคำถามกับช่างชุ่ย แล้วช่างชุ่ยก็ให้คำตอบเขา ซึ่งแต่ละคนอาจจะตั้งคำถามไม่เหมือนกัน และในแต่ละวันที่เขามาช่างชุ่ย เขาคงได้คำตอบไม่เหมือนกัน”

“แล้วเวลาที่คนถามคุณว่า ช่างชุ่ยคืออะไร คุณตอบว่ายังไง” ผมตัดสินใจถามคำถามที่เก็บกุมไว้ตั้งแต่แรกมาเยือน คำถามที่เหมือนจะง่ายแต่ก็ยาก

ผมก็บอกว่า วันไหนคุณว่างคุณลองมาเที่ยวนะ ผมว่าช่างชุ่ยน่าจะให้คำตอบให้กับคุณได้ ผมจะตอบอย่างนี้จริงๆ นะ เพราะตอบเขายังไงเขาก็ไม่เข้าใจหรอก ความไม่เข้าใจไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องไปตอบ เขาควรจะเข้ามาหาคำตอบที่นี่ และทุกคนที่มา ผมเชื่อว่าคำตอบไม่เหมือนกัน

“ระหว่างความเข้าใจกับความสงสัย ผมว่าสงสัยดีกว่า ถ้าผมทำช่างชุ่ยให้คนสงสัยได้ตลอด ตั้งแต่ช่างชุ่ยเปิดจนปิด ผมชนะแล้ว”

หลังบทสนทนาสิ้นสุด เราร่ำลากันอย่างเรียบง่ายเหมือนตอนทักทายเมื่อพบเจอ ผมเลือกเดินทางกลับด้วยรถแท็กซี่เช่นเดิม

โชคดีที่คราวนี้โชเฟอร์ไม่ถามผมว่า “ช่างชุ่ยคืออะไร”

ช่างชุ่ย, สมชัย ส่งวัฒนา

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan