29 มิถุนายน 2021
4 K

ธุรกิจ : บริษัท สหศรีอุตสาหกรรม จำกัด และ CHAND

ประเภทธุรกิจ : อุตสาหกรรมทำเทียน

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2507 (ก่อตั้งโรงงานแรก พ.ศ. 2517)

อายุ : 57 ปี

ผู้ก่อตั้ง : ประเสริฐ อนันตกฤตยาธร

ทายาทรุ่นสาม : ภัครภณ อนันตกฤตยาธร CHAND (พ.ศ. 2564)

เมื่อไม่กี่เดือนก่อน มีร้านขายเทียนแห่งใหม่เปิดในซอยสวัสดี สุขุมวิท 31 หน้าตาไม่เหมือนร้านเทียนทั่วไปที่เราเห็นในตลาด โปรดักต์หลักๆ ไม่ใช่เทียนหอม แต่เป็นเทียนแท่งและเทียนวันเกิดที่รูปทรงแปลกตา แถมสีสันยังสวยเก๋ หลากหลาย และมีให้เลือกมากกว่า 20 เฉด

ต๊อป-ภัครภณ อนันตกฤตยาธร และ เอ็ม-นริสา โพธิกุลชนันท์ คือผู้ก่อตั้ง ‘CHAND’ ย่อมาจาก Chandler แปลว่าคนขายเทียน แบรนด์ที่อยากเห็นเทียนเป็นมากกว่าเครื่องมือให้แสงสว่าง โดยใช้วัตถุดิบที่ดีต่อร่างกาย ดีต่อธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เป็นโทนสี Pantone เพื่อตอบโจทย์สไตล์การตกแต่งบ้านหลายๆ แบบ

ฝ่ายหญิงเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานอยู่ในวงการนิตยสาร จึงได้เห็นธุรกิจหลายแบบ 

ฝ่ายชายโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คลุกคลีอยู่กับอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่เด็ก

CHAND เป็นตัวอย่างของการต่อยอดธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจใหม่ ที่อาจไม่ได้มีแนวคิดเหมือนกันเสียทีเดียว แต่เป็นการหาช่องว่างและทำสิ่งที่แตกต่างเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจที่มีอยู่ มองเห็นตลาดในปัจจุบันที่คนให้ความสำคัญกับการแต่งบ้านมากขึ้น คิดแทนลูกค้าเพื่อสร้างสินค้าที่ดีที่สุด และทำให้คนเห็นคุณค่าของของใกล้ตัวอย่างเทียน ซึ่งนอกจากจะใช้งานได้ดีแล้ว ยังมีความงามแฝงอยู่ด้วย

CHAND ทายาทโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่อยากให้เทียนเป็นมากกว่าสิ่งให้แสงสว่าง

โรงงานทำเทียนตั้งแต่เทียนไหว้พระ จนถึงเทียนวันเกิด

ธุรกิจครอบครัวต๊อปเริ่มต้นจากอากง คนจีนที่ย้ายถิ่นฐานมาประเทศไทยใน พ.ศ. 2507 อุตสาหกรรมทำเทียนสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเล็กๆ ทำกันเองในครัวเรือน ใช้หม้อต้ม 2 หม้อ ไม่มีเครื่องจักร และผลิตได้ทีละไม่มาก 

สหศรีอุตสาหกรรมเป็นโรงงานทำเทียนแห่งแรกที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนมากเป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) รับผลิตตามแบบให้กับแบรนด์ต่างๆ สมัยอากงใช้เครื่องจักรและแรงงานในการผลิตควบคู่กัน มาถึงรุ่นพ่อได้ไปเยอรมนีเพื่อหาเครื่องจักรใหม่ จากที่ใช้คนเป็นร้อยคนก็เหลือแค่หลักสิบ ผลิตคราวหนึ่งได้จำนวนมาก เทียนที่ทำมีตั้งแต่เทียนพรรษา เทียนวันเกิด เทียนแท่ง และเทียนหอม จุดเด่นคือวัสดุพาราฟิน Medical Grade ที่การันตีว่าใช้ในโรงพยาบาลได้

ยอดขายในประเทศสูงสุด คือ เทียนไหว้พระและเทียนวันเกิด เทียนไหว้พระจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ขณะที่เทียนวันเกิดผลิตให้แบรนด์ดังอย่าง Swensen’s, S&P และวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไทย ส่วนเทียนหอมหรือเทียนสวยงามจะส่งออกต่างชาติเป็นส่วนใหญ่

พอเวลาผ่านไป คนเชื่อในเรื่องศาสนาลดน้อยลง ไปวัดน้อยลง บางวัดก็เปลี่ยนมาใช้เทียนไฟฟ้าแทน ทำให้ธุรกิจที่บ้านเริ่มอยู่ตัว เพราะยอดขายเทียนไหว้พระมีสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับสองรองจากเทียนวันเกิด

ถึงอย่างนั้น ธุรกิจโรงงานทำเทียนก็ดำเนินอย่างมั่นคงมาเรื่อยๆ รับผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ จนล่าสุดมีแบรนด์สินค้าปีนเขามาสั่งทำเทียนขี้ผึ้งเอาไว้ใช้เดินป่า 

CHAND ทายาทโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่อยากให้เทียนเป็นมากกว่าสิ่งให้แสงสว่าง

หยิบเอาจุดเด่นมาต่อยอด

แม้จะมีธุรกิจครอบครัวอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีทายาทคนอื่นๆ บริหารอยู่ ต๊อปมีแนวทางของตัวเอง เขามีงานหลักเป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงควบคู่กับดีเจ จึงยังไม่กลับไปทำงานกับที่บ้าน ส่วนเอ็ม แฟนสาว เป็นคนมีแพสชันในเรื่องการทำธุรกิจ ครั้งหนึ่งก็เคยทำแบรนด์สบู่ของตัวเอง

ช่วงหนึ่งมีโอกาสได้ไปโรงงานบ่อยๆ เลยลองปรึกษาผู้ใหญ่ว่า ถ้าอยากต่อยอดสินค้าให้เหมาะกับคนยุคใหม่มากขึ้น จะเป็นไปได้ไหม แน่นอนว่าผู้ใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

ไม่ใช่เทียนของครอบครัวที่ทำอยู่แล้วไม่ดี แต่พวกเขามองเห็นอีกโอกาสหนึ่ง

ไอเดียที่นำไปเสนอผู้ใหญ่เริ่มจากข้อสังเกตว่า คนไทยไม่ค่อยใช้เทียนแท่ง อาจมีใช้บ้างช่วงไฟดับ ใช้สำหรับให้แสงสว่าง แต่ทั้งคู่มองว่าเทียนเป็นได้มากกว่านั้น เป็นได้ทั้งเครื่องประดับตกแต่ง และมีไว้สร้างบรรยากาศในห้อง 

CHAND ทายาทโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่อยากให้เทียนเป็นมากกว่าสิ่งให้แสงสว่าง

เอ็มเล่าต่อถึงช่วงที่ไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา เธอพบว่าทุกคนที่เจอใช้เทียนในชีวิตประจำวันกันหมด เพียงแต่ในบ้านเราไม่ได้มีแบรนด์เทียนให้เลือกซื้อมากนัก และที่สำคัญ นอกจากเทียนแท่งสีขาวและเหลือง หรือเทียนวันเกิดสีสดๆ ก็ไม่มีตัวเลือกอื่นมากมายนัก

“แล้วเราว่าเค้กเดี๋ยวนี้สวยเรียบ” เอ็มเล่าต่อ “เราอยากให้มีเทียนที่สวยและเข้ากัน คิดว่าถ้ามีเทียนวันเกิดที่เข้ากับเค้กให้ลูกค้าได้เลือกหลายๆ สี น่าจะสนุก เปลี่ยนสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้วให้ตรงความต้องการคนมากขึ้น พอคิดเรื่องเทียนวันเกิด เลยมาคิดเรื่องเทียนแท่งต่อ อยากให้มีครบทุกอย่าง”

CHAND ทายาทโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่อยากให้เทียนเป็นมากกว่าสิ่งให้แสงสว่าง

เทียนที่ธุรกิจครอบครัวทำจะเน้นใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เทียนวันเกิด หรือเทียนแท่งสำหรับใช้งานเวลาไฟดับ ไม่ก็ช่วงเทศกาลอย่างลอยกระทง ถ้าไม่ใช่สีขาวหรือเหลือง ก็จะเป็นสีสดๆ ไปเลย

ส่วน CHAND มีเทียนวันเกิดขายทั้งหมด 24 สีตาม Pantone มีเทียนแท่ง 2 ขนาดที่มาพร้อม 18 เฉดสี ตอบโจทย์ความชอบของคนได้อย่างครอบคลุม

ไม่แข่งกับของเดิม แต่ต้องเกื้อหนุนกันและกัน

เพราะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเทียนเหมือนของครอบครัว ต๊อปและเอ็มจึงตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มว่าต้องทำให้แตกต่าง ไม่ไปกระทบธุรกิจเดิมที่มีอยู่ เพื่อที่จะอยู่ต่อไปได้ทั้งคู่ หลังจากปรึกษาอยู่นาน ครอบครัวก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ แม้ไม่ได้แนะนำเรื่องแนวทางการทำธุรกิจเพราะมีความคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็สนับสนุนทั้งคู่อย่างเต็มที่ โดยการสอนเรื่องกระบวนการผลิต ข้อจำกัดคืออะไรบ้าง สินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานเกิดจากอะไร และต้องแก้ไขอย่างไร

พวกเขาเริ่มจากนำแม่พิมพ์เทียนวันเกิดที่โรงงานเลิกใช้ไปกว่าสี่สิบปีกลับมาปัดฝุ่น ผลิตเทียนวันเกิดที่มีขนาดใหญ่กว่าตามท้องตลาด เลือกใช้ระบบทำมือแทนเครื่องจักร โดยทำทีละน้อยๆ แต่ใส่ใจรายละเอียดมากขึ้น

จากไอเดียตั้งต้นที่เทียนวันเกิด จนถึงเทียนแท่งที่อยากให้คนใช้ในชีวิตประจำวัน เทียนถ้วยจากขี้ผึ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และเทียนหอมที่ผ่านการศึกษาก่อนผลิตเยอะมาก แม้จะมีโรงงานของครอบครัวเป็นทุนตั้งต้น ต๊อปและเอ็มกลับเลือกเดินทางที่แตกต่าง และใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติทั้งหมด 

CHAND ทายาทโรงงานเทียนเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่อยากให้เทียนเป็นมากกว่าสิ่งให้แสงสว่าง

“เทียนถ้วย Tea Light เราเปลี่ยนจากพาราฟินมาเป็นขี้ผึ้ง ไม่ใส่น้ำหอม ไม่ใส่สารสังเคราะห์ใดๆ เลย ขี้ผึ้งก็เป็นวัตถุดิบในประเทศ เอาไปใช้เพื่อสุขภาพได้ ช่วยลดปริมาณควันในอากาศ เหมาะสำหรับคนที่เป็นหอบหืดหรือภูมิแพ้ จุดข้างเตียงนอนได้ ถ้วยใส่ก็เปลี่ยนจากอะลูมิเนียมเป็นแก้วพลาสติกที่รีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ส่วนเทียนหอมทำยาก ที่โรงงานใช้พาราฟินใส่สี แต่เราทดลองทำด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างไขถั่วเหลืองและไขมะพร้าว การทำเทียนเป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องลงตัวจริงๆ และอุณหภูมิมีผลเยอะมาก เราทำงานกับนักปรุงกลิ่น โดยการเล่าเรื่องให้เขาฟัง อยากได้กลิ่นจากเนื้อเรื่องประมาณนี้ เราทั้งคู่เป็นคนเล่าเรื่อง ต๊อปมีเรื่องแปลกๆ เยอะ”

แรงบันดาลใจกลิ่นเทียนของ CHAND จึงแปลกใหม่และไม่เหมือนใคร อย่างกลิ่นหญ้าหลังฝนในสนามบอล ไปจนถึงกลิ่นยานอวกาศที่ขึ้นสนิม 

เป็นมากกว่าเทียน

ต๊อปและเอ็มไม่รู้หรอกว่าแบรนด์ของตัวเองดีกว่าในตลาดหรือไม่ ที่รู้แน่นอนคือพวกเขาพร้อมจะพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าเสมอ 

“เราคิดแทนลูกค้า” เอ็มว่าอย่างนั้น และเป็นเหตุผลที่ทั้งคู่พยายามเสาะหาวิธีการ วัตถุดิบ และวัสดุที่ดีที่สุด

CHAND เลือกทางเดินที่ดีกว่าเสมอ ถ้ารู้ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้นได้อย่างไร ก็จะเลือกทางนั้นต่อให้จะขรุขระและยากลำบากกว่าหลายเท่า

ทั้งสองอยากเปลี่ยนภาพจำของเทียน โดยทำให้เทียนสวยและปลอดภัยสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน อยากให้คนเห็นคุณค่าของมันมากกว่าเป็นเครื่องมือให้แสงสว่าง 

“เราอยากให้คนเห็นเทียนเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต ทั้งเรื่องการประดับ เรื่องบรรยากาศ จุดระหว่างมื้ออาหาร จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปในที่สุด เวลาได้ยินลูกค้าคุยกันว่า ‘น่ารักจังเลย อยากได้สีโน้น สีนี้ เอาอันไหนก่อนดี’ มันแฮปปี้ เทียนวันเกิดแต่ก่อนไม่มีใครสนใจด้วยซ้ำ แต่เราอยากให้คนพูดถึงความงามของมัน”

ให้ความสำคัญกับประสบการณ์หน้าร้าน

ในขณะที่หลายธุรกิจที่เริ่มในช่วงโควิด-19 วางแผนช่องทางออนไลน์ไว้ขายสินค้าล่วงหน้า CHAND คิดต่างและเลือกชะลอการขายออนไลน์ไปก่อน เพราะอยากให้คนมีประสบการณ์การเลือกซื้อหน้าร้าน

คนจะได้อะไรกลับไปจากร้านแบบที่ไม่ได้จากออนไลน์-เราสงสัย

“อย่างแรกเลยคือ กลิ่น” เอ็มตอบ “อย่างที่สองคือความสนุกในการได้จับ ได้เลือก ได้ลองดูหลายๆ อย่าง มีเชิงเทียนเปล่าให้ลองมิกซ์แอนด์แมตช์ สามารถสอบถามพนักงานเรื่องโปรดักต์ต่างๆ ขอคำแนะนำ หรือให้จัดเซ็ตเทียนตามโทนสีที่ชอบได้เลย” 

ประสบการณ์หน้าร้านแบบนี้ไม่ใช่ตั้งธุรกิจขึ้นมาก็มีได้ทันที พนักงานหน้าร้านเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด สิ่งที่เอ็มทำคือสอนพนักงานทุกคนให้รู้ที่มาที่ไปของสินค้าทุกชิ้น โดยให้เขาเดินดูของในร้านแล้วตั้งคำถามขึ้นมา แถมยังให้นำสินค้ากลับไปใช้ที่บ้านเพื่อให้รู้จักและเข้าใจสินค้าจริงๆ วิธีนี้จะทำให้เขาแนะนำลูกค้าได้ดี

เอ็มและต๊อปอยากให้แบรนด์นี้เป็นจุดหมายของคนรักเทียน คิดถึงเทียน ให้คิดถึง CHAND และเป็นผู้นำเทรนด์ในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ อะไรที่เป็นกระแสหรือมีคนทำเยอะแล้วก็จะไม่ไปแข่งขันกับเขา ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง ไม่รีบร้อนจนตั้งรับไม่ทัน 

แผนระยะสั้น คือการร่วมมือกับดีไซเนอร์ออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้กับเทียน และวางแผนจะร่วมงานกับร้านอาหารหรือแบรนด์เสื้อผ้า ออกแบบเทียนเพื่อใช้ในร้าน

แผนระยะยาว คือการพาแบรนด์ไปต่างประเทศ และทำให้วัฒนธรรมการใช้เทียนในประเทศเปลี่ยนไป

ธุรกิจครอบครัวในวันพรุ่งนี้

หลังเปิดตัวแบรนด์ได้ไม่นาน ครอบครัวโรงงานทำเทียนของต๊อปก็ได้เห็นว่า ไอเดียที่เคยมองว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทำได้จริงอย่างที่ทั้งคู่หวัง พร้อมเอาใจช่วยให้เติบโตไปได้เรื่อยๆ

ต๊อปบอกเราว่า ธุรกิจโรงงานเทียนที่บ้านดีมาตลอด แม้ไม่หวือหวาและมีลดลงตามพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปบ้าง แต่ยังอยู่ได้โดยไม่ต้องโปรโมต หรือทำโปรดักต์ใหม่ที่แตกต่างออกไปขึ้นมา ช่วงหนึ่งเคยทำเทียนแฟนซีเป็นโต๊ะสนุกเกอร์ แต่ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมก็เลยเลิกทำไป มีทำเทียนหอมบ้างแต่ก็ไม่ได้พัฒนาต่อ

วันหนึ่งเขาอยากเห็นโรงงานเปลี่ยนจากธุรกิจ OEM ขนาดใหญ่ พัฒนาตามความต้องการของลูกค้า เป็นแบรนด์เทียนที่แข่งขันกับธุรกิจใหญ่ๆ ในต่างประเทศได้

แต่วันนี้ขอลองก้าวไปก่อนในสเกลเล็กๆ ที่พวกเขาจะทำได้ และประคับประคองให้เดินไปอย่างมั่นคงที่สุด

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน