พอถึงช่วงปีใหม่ อีเวนต์ไหว้พระขอพรปีใหม่ก็จะกลับมาอีกครั้ง มีทั้งเซ็ตไหว้พระ 9 วัด 9 มงคล และไหว้พระ 10 รัชกาลให้ท่านได้เลือกสรร แต่ถ้าให้เขียนวัดทั้งหมดก็ควรจะเปลี่ยนไปเขียนหนังสือพาเที่ยวชวนไหว้พระแทน ดังนั้น ผมเลยขอเลือกวัดขึ้นมาวัดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าดูมีอะไรน่าสนใจ แม้จะไม่ได้มีอาคารเยอะแยะ แต่ก็มีของเด็ดที่น่าจะเรียกได้ว่า มีหนึ่งเดียวเท่านั้น พอเดากันได้ไหมครับว่าวัดอะไร ไม่สิ ไม่น่าจะต้องเดาเพราะขึ้นจั่วหัวบทความซะขนาดนั้น งั้นเราไปชมวัดชนะสงครามฯ กันเลยดีกว่า

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

วัดชนะสงครามฯ เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า ‘วัดกลางนา’ เพราะในอดีตรอบๆ วัดเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งอาราม และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น ‘วัดตองปุ’

ซึ่งเหตุที่ตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัดตองปุนั้นมี 2 กระแส กระแสแรกกล่าวว่า ชื่อตองปุมีที่มาจาก ‘หมู่บ้านตองปุ’ หมู่บ้านของชาวมอญในหงสาวดีที่ต่อมาคนเหล่านี้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัด แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่ามาจากชื่อ ‘วัดตองปุ’ วัดพระรามัญในสมัยอยุธยา ซึ่งมาจากการที่รัชกาลที่ 1 ทรงตั้งพระราชาคณะฝ่ายรามัญสำหรับพระนคร โดยให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญมาอยู่ที่วัดนี้นั่นเอง

แต่ไม่ว่าที่มาจากที่ใด ต่อมาหลังจากทำสงครามชนะพม่า 3 ครั้ง นับแต่สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 สงครามท่าดินแดงและสามสบ พ.ศ. 2329 และสงครามป่าซาง นครลำปาง พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่เป็น ‘วัดไชยชนะสงคราม’ แต่ภายหลังตัดเหลือเพียง ‘วัดชนะสงคราม’ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน 

อ้อ เผื่อใครสงสัย (ต่อให้ไม่สงสัยแต่ผมจะบอก) คำว่า ‘ตองปุ’ แปลว่า ที่รวมพลทหารไปออกรบนะครับ

วัดชนะสงครามแห่งนี้ต่อมาได้รับการทำนุบำรุงกันมาเรื่อยๆ ในทุกรัชกาล ทั้งจากเจ้านายฝ่ายวังหน้าเอง เช่น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ โปรดให้รื้อพระที่นั่งพิมานดุสิตาและให้นำไม้มาสร้างกุฏิที่วัดแห่งนี้ หรือเจ้านายฝ่ายวังหลวงอย่าง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ก่อสร้างที่บรรจุอัฐิที่เฉลียงท้ายพระอุโบสถวัดชนะสงคราม โดยกั้นผนังระหว่างเสาท้ายพระอุโบสถ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัดนี้ได้เป็นอย่างดี

วัดชนะสงครามมีพระอุโบสถเป็นอาคารหลักของวัด อาคารแบบไทยประเพณีที่เหมือนจะหาได้ทั่วไป แต่ลองดูที่หน้าบันนะครับ เราจะพบ 2 สิ่งที่น่าสนใจ อย่างแรก แม้ว่าหน้าบันจะประดับด้วยรูปพระนารายณ์ทรงครุฑแบบที่วัดหลายแห่ง แต่ของวัดชนะสงครามเพิ่มช่องหน้าต่างเอาไว้ใต้รูปพระนารายณ์ทรงครุฑด้วย แต่ไม่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงต้องทำเช่นนี้

อีกอย่างหนึ่งให้ลองสังเกตที่กรอบหน้าบันครับ ถ้าเป็นวัดส่วนใหญ่ กรอบจะมีนาคสะดุ้ง ทำให้กรอบหน้าบันมีความคดโค้ง แต่ของที่นี่ทำเพียงรวยระกา ตัดนาคสะดุ้งออก จึงกลายเป็นกรอบที่ยาวลงมาไม่คดโค้งคล้ายหน้าจั่วบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งนี่ถือเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้าที่พบได้ตามวัดหรือวังที่สร้างโดยเจ้านายฝ่ายวังหน้าครับผม ซึ่งถือเป็นจุดที่ต่างจากสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหลวงที่จะมีนาคสะดุ้งเสมอ

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

อีกอย่างหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้า นั่นก็คือ ใบเสมาครับ ตามปกติแล้ว ใบเสมาจะตั้งอยู่บนฐานหรือในซุ้มล้อมรอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศใช่ไหมครับ ใบเสมาของที่นี่ก็อยู่ทั้ง 8 ทิศเหมือนกัน และมีใบเสมาบนฐานตั้งอยู่ข้างหน้าพระอุโบสถด้วย แต่มีเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น ในขณะที่ใบเสมาใบอื่นๆ อยู่บนผนังเลยครับ โดยข้างนอกจะอยู่ที่มุมทั้งสี่ส่วนด้านในจะอยู่ที่ด้านทั้งสี่ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์และความไม่เหมือนใครของงานสถาปัตยกรรมสกุลช่างวังหน้าครับ

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

พอเราเข้าไปข้างในเราจะพบกับพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าเป็นประธานของอาคาร ล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กอีก 15 องค์ รวมเป็น 16 องค์ พระประธานองค์นี้มีพระนามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘หลวงพ่อปู่’

พระองค์นี้เป็นพระประธานเดิมมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดปลายนา ดังนั้น จึงยังคงพุทธศิลป์แบบพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาเอาไว้ และถือเป็นพระปฏิมาที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมีตำนานกล่าวว่าก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทออกรบ พระองค์เสด็จมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้และทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง และยังมีเรื่องเล่า หลังสงครามเก้าทัพ พระองค์ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์และทรงถวายฉลองพระองค์ลงยันต์คลุมองค์พระประธานและโปรดให้แม่ทัพนายกองทำเช่นกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาก่อนจะโปรดเกล้าฯ ให้โบกปูนทับไว้อีกชั้นหนึ่ง 

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

นอกเหนือจากพระพุทธรูป ภายในพระอุโบสถหลังนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีก ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติที่อยู่ผนังโดยรอบ ซึ่งแม้จะเป็นงานที่วาดขึ้นใหม่ ไม่ใช่งานโบราณอายุนับร้อยปี แต่ก็มีความเก๋ไก๋ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวาดรูปเทวดาขณะกำลังสำแดงฤทธิ์แบบมีเพียงแค่ลายเส้น ซึ่งถ้าเรามองผ่านๆ อาจจะคิดว่า ช่างวาดไม่เสร็จหรือเปล่า จริงๆ เสร็จแล้วครับ แต่ช่างจงใจวาดแบบนี้เพื่อบอกว่า เทวดาเหล่านี้กำลังแสดงฤทธิ์แต่ไม่สำแดงร่าง คนทั่วไปจึงมองไม่เห็นและไม่รู้ว่า รอบๆ ตัวมีเหล่าเทวดาอยู่ด้วย ลองดูในฉากประสูติหรือฉากเสด็จออกมามหาภิเนษกรมณ์ก็ได้ครับ 

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

หรือจะเป็นธรรมาสน์ที่ตั้งอยู่หน้าพระประธานที่อาจจะดูเหมือนธรรมาสน์ทั่วไป แต่ธรรมาสน์นี้มีความพิเศษครับ เพราะเป็นเครื่องสังเค็ดจากงานพระเมรุมาศของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สังเกตได้จากด้านหลังพนักธรรมาสน์จะมีพระนามาภิไธยย่อ ‘จปร’ และข้อความระบุว่า ‘ทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพ พ.ศ. 2453’ ซึ่งถือเป็นของพิเศษเพราะมีแต่วัดสำคัญๆ เท่านั้นที่จะมีธรรมาสน์เช่นนี้ ใครที่ไปวัดไหนแล้วเจอธรรมาสน์หน้าตาแบบนี้ก็อย่าลืมลองส่องข้างหลังพนักดูครับ เผื่อจะเจอธรรมาสน์แบบนี้

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า
วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

แต่ไฮไลต์หนึ่งของพระอุโบสถหลังนี้อยู่หลังพระประธานครับ บริเวณนี้มีการทำเฉลียงกั้นห้องทำเป็นคูหาบรรจุอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้าครับ โดยแบ่งเป็นออกเป็น 5 กรอบ แต่ละกรอบจะมีช่องทรง 6 เหลี่ยมบรรจุพระอัฐิโดยมีชื่อของเจ้านายฝ่ายวังหน้าแต่ละพระองค์อยู่

ซึ่งชื่อที่ผมเชื่อว่าน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง เช่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เป็นเพียงพระองค์เดียวที่ช่องบรรจุพระบรมอัฐิของท่านแยกออกมาต่างหากไม่ได้อยู่ในกรอบ แต่อยู่ระหว่างกรอบที่ 3 และ 4 และมีกรอบเป็นของพระองค์เอง

หรือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ช่องของท่านจะอยู่ในกรอบที่ 2 ในช่องของท่านเขียนว่า ‘พระองค์เจ้าชายฤกษ์ (สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)’ หรือ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย ช่องของท่านจะอยู่ในกรอบที่ 5 ในช่องท่านเขียนว่า ‘พระองค์เจ้าชายรัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ’

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร อารามหนึ่งเดียวที่หลังพระประธานมีคูหาอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า

เห็นไหมครับ แม้ว่าวัดชนะสงครามจะไม่ได้มีอาคารอะไรมากมาย มีพระอุโบสถเป็นอาคารประธาน มีศาลารายอยู่รอบและมีเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบอยู่ข้างหน้า และมีรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2545 แต่กลับมีของมีค่าน่าสนใจให้ดูขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าใครไปเที่ยวที่ไหนแล้วเจอวัดที่มีแต่โบสถ์หลังเดียวหรือเจดีย์องค์เดียวก็อย่าได้ประมาท ภายในความน้อยนั้นอาจจะซ่อนความมากเอาไว้ก็เป็นได้ครับ


เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดชนะสงครามฯ ตั้งอยู่บนถนนจักรพงษ์ใกล้กับบางลำพู ถนนข้าวสารเลยครับ ถือว่าเดินทางมาง่ายมากๆ จะมาด้วยรถส่วนตัวหรือจะนั่งรถเมล์มาก็ตัวเลือกเยอะแยะ โดยป้ายรถเมล์อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดครับ ใครสะดวกวิธีไหนก็เลือกเอาตามสะดวกเลยครับ
  2. แถมใกล้กับวัดชนะสงครามฯ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นย่านบางลำพู ย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ หรือถนนข้าวสาร ศูนย์รวมแบ็กแพ็กเกอร์ที่จะคึกคักมากๆ ในช่วงสงกรานต์ และเต็มไปด้วยอาหารอันหลากหลาย หรือถ้าชอบเที่ยววัด ก็มีทั้งวัดบวรนิเวศวิหารหรือมัสยิดจักรพงษ์ ก็น่าสนใจไม่แพ้กันครับ
  3. แต่ถ้าใครสนใจงานศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้า ลองไปชมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เลยครับ เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าเลยครับ หรือถ้าจะอยากจะชมวัด ลองไปชมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์หรือวัดบวรสถานสุทธาวาสหรือวัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ก็ได้ครับ 
  4. ส่วนใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ขอแนะนำหนังสือสัก 2 เล่ม เล่มแรกคือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลกับงานศิลปกรรมตามแบบพระราชนิยม ของ ณัฏฐภัทร จันทวิช เล่มนี้จะให้ภาพและข้อมูลเกี่ยวกับวังหน้าและงานศิลปกรรมสกุลช่างวังหน้าได้ดีเล่มหนึ่งเลยครับ ส่วนอีกเล่มเป็นหนังสือเกี่ยวกับวัดสำคัญในกรุงเทพชื่อ บางกอกบอกเล่าเรื่อง (วัด) ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครครับผม

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ