ถ้าคุณไม่ใช่คนทำหนัง ทุกครั้งเวลาดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง คุณอาจจะสังเกตแค่นักแสดงนำ เสื้อผ้าหน้าผม ฉากต่อสู้สุดมัน Special Effect ว่าสมจริงแค่ไหน โลเคชันสวยๆ ที่น่าไปตามรอย หรือบางครั้งถ้าไม่มีไดอะล็อก คุณอาจจะเงี่ยหูฟังดนตรีประกอบดูสักหน่อย ก่อนจะเปิด Shazam หาว่าเพลงนั้นคือเพลงอะไร

น้อยคนนักที่จะนึกถึงทีมงานนับร้อยชีวิตที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวตรงหน้าเป็นอย่างแรกๆ ทีมงานที่ซักซ้อมไดอะล็อกกับนักแสดงนำ ทีมงานที่แต่งแต้มสีสันบนใบหน้าและสไตล์คอสตูมที่คุณชื่นชอบ ส่วนฉากต่อสู้ที่ว่ามัน เบื้องหลังคือการออกแบบท่วงท่าและเอฟเฟกต์พิเศษต่างๆ และคนที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นคือผู้ช่วยผู้กำกับ ชื่อที่คุณจะเห็นก็ต่อเมื่อนั่งดู End Credit ตอนจบเรื่องเท่านั้น

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

ชาลี สังขะเวส (หรือที่เราขออนุญาตเรียกว่า คุณพ่อชาลี) คือผู้ช่วยผู้กำกับกองภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ผู้ไม่มีพื้นฐานการเรียนและประสบการณ์เกี่ยวกับการทำหนังเลยแม้แต่ครั้งเดียว เขาเริ่มจากตำแหน่งล่ามแผนกไฟ แล้วค่อยๆ พัฒนาจนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ต้องบริหารจัดการทุกอย่างในกองถ่าย เป็นเหมือนคนกลางที่ประสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน

รายชื่อผลงานของคุณพ่อชาลีมีทั้งหมด 4 หน้ากระดาษ ถ้านั่งนับจริงๆ ก็คงร่วมร้อยเรื่อง ทั้งหนังโฆษณาและภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น The Deer Hunter (1978), Rambo III (1988), Shooter (1988), The Beach (2000), Bridget Jones: The Edge of Reason (2004), Around the World in 80 Days (2004), Only God Forgives (2013) และล่าสุดคือบทบาทผู้ช่วยผู้กำกับของกองแอคชันของภาพยนตร์ Netflix ชื่อ Extraction (2020) 

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction
ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

นอกจากนี้ เขายังเคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอีกนับไม่ถ้วน ทั้ง Pepsi, L’Oréal, Kenzo, Korean Air, Volkswagen, Lacoste, Sony, Guinness Beer, Qantas Airways และ American Express แต่แม้จะคลุกคลีกับวงการภาพยนตร์มาตั้งแต่ยังหนุ่ม กลับไม่มีครั้งไหนเลยที่เขาอยากผันตัวไปอยู่หลังกล้องเพื่อเป็นผู้กำกับ 

คุณพ่อชาลีและครอบครัวมาเจอเราที่ร้านกาแฟใกล้บ้าน ทั้งคุณแม่และลูกชายก็ทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์เหมือนกัน คุณแม่แอบกระซิบบอกเราทันทีที่เจอว่า “พ่อเขาไม่ค่อยได้ออกสื่อ เขาจะไม่ค่อยพูด” แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คุณพ่อชาลีเป็นคนเก่งที่ไม่คิดว่าตัวเองเก่ง และไม่ได้คิดว่าประสบการณ์ในกองถ่ายที่มีมาหลายสิบปีจะพิเศษตรงไหน เขาแค่รู้สึกว่ามันคืองานที่รักและต้องตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ระหว่างการคุยกันจึงมีเสียงคุณแม่และลูกชายเสริมอยู่เรื่อยๆ

“พ่อเล่าเรื่องนี้สิ” 

“มีเรื่องนี้ด้วยนะ”

“เรื่องนั้นก็สนุก”

เราได้รู้ว่าผลงานเรื่องล่าสุดที่ผู้ช่วยผู้กำกับกองถ่ายระดับโลกคนนี้ดูคือซีรีส์เกาหลีเรื่อง Goblin และเพราะชีวิตการทำงานของคุณพ่อมีแต่เรื่องน่าเล่า เวลาชั่วโมงครึ่งของสายวันนั้นจึงผ่านไปไวเหมือนโกหก 

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

01

Life was like a box of chocolates. You never know what you’re gonna get.

Forest Gump (1994)

คุณพ่อชาลีจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก่อนไปเรียนต่อปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ San Francisco State University เขาใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกามาตลอด 11 ปี หลังเรียนจบ เขาเดินทางกลับมาประเทศไทยโดยไม่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงว่าอยากทำอะไร สิ่งที่นำติดตัวกลับมาด้วยในตอนนั้นคือใบปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ประสบการณ์ชีวิตเต็มกระเป๋า และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว ดูๆ แล้ว 3 อย่างนี้รวมกันก็ไม่เท่ากับอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับในกองถ่ายเป็นแน่

“ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้สนใจวงการนี้เลย เด็กๆ ไม่ค่อยคิดอะไร ไปเรื่อย หนังในโรงผมก็ไม่ชอบดูด้วยซ้ำ ผมรำคาญ เดี๋ยวคนนี้พากย์หนังให้เพื่อนฟัง เดี๋ยวอีกคนถีบเบาะ แบ็กกราวด์และความชอบที่มีมันไม่ได้มาทางนี้เลย แต่บังเอิญที่พี่ชายกับคุณกยาทิพย์ ชวนไปทำหนังเรื่อง The Deer Hunter ตอนนั้นน่าจะปี 1978 ที่ รอเบิร์ต เดอ นิโร (Robert De Neiro) กับ คริสโตเฟอร์ วอลเคน (Christopher Walken) แสดงนำ มันเป็นจังหวะที่เรากลับจากเมืองนอกพอดี เขาเห็นว่าภาษาเราได้ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เลยให้ไปเป็นล่ามของแผนกไฟ ตอนนั้นสนุกมาก ได้เจอดาราดังๆ ช่วงที่ทำเรื่องนั้นผู้กำกับไมเคิล ซิมิโน ( Michael Cimino) ก็เรียกไปใช้งานในเซตบ่อยๆ ทำโน่นทำนี่ ตอนหลังเลยได้เป็นตำแหน่ง PA (Production Assistant) ไปโดยปริยาย

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“แล้วบังเอิญพี่ชายผมทำแผนกนี้อยู่แล้ว เขามาชวนก็เลย เอ้า ลองดู อยู่แผนกผู้ช่วยผู้กำกับไปแบบไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้นยังไม่เข้าใจตำแหน่งนี้เลยนะ คิดว่าก็คงช่วยผู้กำกับเรื่องจิปาถะทั่วไป ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ ผู้ช่วยผู้กำกับ หรือ AD (Assistant Director) ของกองหนังฝรั่งเป็นอีกแผนกหนึ่งที่แยกไปโดยเอกเทศ และทุกคนให้เกียรติแผนกนี้ เพราะเป็นคนควบคุมเซต คอยบริหารงานทั้งหมด สั่งคนโน้นคนนี้ได้ คนถึงไม่ค่อยชอบแผนก AD เพราะเราต้องด่า ต้องว่าอะไรเขาตลอดเวลา 

“แต่เราคิดแบบระบบฝรั่ง เลิกงานปุ๊บ เราก็ไปขอโทษ เรื่องงานคือเรื่องงาน ไม่มีการติดค้างอะไรต่อกัน วันพรุ่งขึ้นก็คุยกันเหมือนเดิม เราจะไปโกรธเขาหรือเขาจะมาโกรธเราไม่ได้ เพราะในการทำงานเราต้องคุยกันตลอด ถ้าโกรธกัน ไม่ถูกกัน เขาทำงานไม่ได้ เราก็ทำงานไม่ได้ แต่มันดีอย่าง งานของเราไม่กี่เดือนมันก็จบ คนที่เราไม่ชอบจะผ่านไป เรื่องใหม่มาคนนี้อาจจะไม่ได้มาทำงานกับเราแล้ว แต่ถ้ามาเจออีกก็ไม่เป็นไรเพราะอีกไม่กี่เดือนก็จบแล้ว ถึงบอกว่าบางครั้งมันเหมือนการเมือง คือไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในวงการกองถ่ายภาพยนตร์”

“ไม่มีมิตรแท้และคัตรูถาวรในวงการกองถ่ายภาพยนตร์” เราทวนคำพูดอีกครั้ง 

ถ้าเปรียบเทียบกองถ่ายภาพยนตร์เป็นร้านอาหาร ผู้ช่วยผู้กำกับก็คงเป็นผู้จัดการร้านที่คอยจัดการและบริหารทุกส่วน รวมฝ่ายอาหาร ฝ่ายเครื่องดื่ม ฝ่ายของหวาน ฝ่ายทำความสะอาด ฝ่ายบัญชี ให้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างราบรื่น และถ้าโชคร้ายมีปัญหาผิดพลาดขึ้นมา ก็ต้องเป็นผู้จัดการนี่แหละที่รับผิดชอบทั้งหมด

“มันคือการบริหารจัดการทุกอย่างในกองถ่าย งานเริ่มจากเราได้สคริปต์มาเรื่องหนึ่ง เราต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ใส่ Scene Number สร้างตารางการถ่ายทำ ทำ Breakdown ให้ทุกคนในกองฯ รู้ว่าเรื่องนี้จะถ่ายกี่วัน วันไหนถ่ายซีนอะไร ต้องคุยกับทุกแผนกเราต้องรู้ทุกรายละเอียดในสคริปต์ หลุดไม่ได้ สมมติเขาเขียนว่าซีนนี้ต้องมีม้านั่งกลมๆ แล้วเราไม่ได้ใส่ไปใน Breakdown ว่าต้องมีม้านั่งแบบนี้ ทีมอุปกรณ์ก็จะไม่ได้เตรียมมา เราต้องตอบคำถามอย่าง ล็อกถนนหรือยัง กั้นนี่หรือยัง นักแสดงมาหรือยัง แผนกเอฟเฟกต์พร้อมไหม โปรดิวเซอร์จะมาถามเรา ผู้กำกับจะมาถามเรา ใครๆ ก็มาถามเรา และทุกคนพร้อมจะโทษผู้ช่วยผู้กำกับคนแรก หน้าที่เราคือทำให้ไม่เกิดสิ่งนี้” 

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

02

You can’t live your life for other people. You’ve got to do what’s right for you, even if it hurts some people you love.

The Notebook (2004)

จากล่ามของแผนกไฟมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ต้องคอยดูแลทุกอย่างในกองถ่าย จากงานที่รับเพราะยังไม่มีงานอย่างอื่นทำ มาเป็นอาชีพทำยาวมาจนเลยวัยเกษียณ เขาบอกว่าตัวเองชอบการทำงานแบบระบบกองถ่ายภาพยนตร์ฝรั่ง ยิ่งพอทำเสร็จได้ดูหนังที่ตัวเองทำมันสนุก มันตื่นเต้น ในแบบที่ไม่ได้เคยได้จากการดูหนังคนอื่น ตั้งแต่นั้นมาก็เลยอยากทำหนังมาตลอด

Off Limits (1988) คือเรื่องแรกที่ทำแผนก AD ได้เจอกับแฟนก็เรื่องนี้ ตอนนั้นราบรื่นดี เพราะเราชินกับระบบฝรั่งอยู่แล้ว ตอนอยู่เมืองนอกก็ทำงานช่วยครอบครัวอยู่แล้ว ทำปั๊ม ทำร้านอาหาร ทุกอย่างต้องตรงเวลา มันเลยง่ายสำหรับเรา… ก็ไม่ใช่ง่ายหรอก แต่มันไม่ยากมาก เราค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัวไปเรื่อยๆ เรื่องนั้นยังไม่ได้รันกองเอง มี AD ฝรั่งมา นักแสดงเรื่องนั้นคือ วิลเลม เดโฟ (Willem Dafoe) สนิทกันมากเลย ไปเที่ยว ไปกินข้าว เป็นคนน่ารักมาก​”

วงการภาพยนตร์ในสมัยนั้นมีแต่หนังไทย จนช่วงที่ต่างประเทศนิยมทำหนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม กองถ่ายภาพยนตร์จึงเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะเข้าประเทศเวียดนามเพื่อไปถ่ายทำไม่ได้ คุณพ่อชาลีเลยมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของกองหนังฝรั่งมากมาย จนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของตำแหน่งนี้

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“ก่อนถ่าย ฝ่าย Production จะเป็นคนรับผิดชอบ แต่พอวันถ่าย AD จะเป็นคนดูแลทุกอย่างหน้าเซตให้เสร็จตามตารางให้แต่ละวัน ถ้าสมมติวันไหนมีถ่ายฉาก Effect ก่อนถ่ายก็ต้องมี Safety Meeting หัวหน้าแผนก Effect ต้องมาคุยกับเรา บอกว่าจะมีอะไรบ้าง ทุกคนห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย เราต้องเป็นคนจัดการทุกอย่าง รถพยาบาลจะอยู่ตรงไหน จอดตรงไหน รถน้ำมาจอดตรงไหน ก่อนที่จะถ่ายฉากสำคัญ 

“ตอนถ่ายทำจะราบรื่นหรือไม่ราบรื่นขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมแค่ไหน ถ้าเราพร้อมแล้ว ปัญหามันจึงไม่ใช่ความผิดพลาด แต่เป็นอุบัติเหตุ อย่างตอนถ่าย The Beach ที่ภูเก็ต เรือล่ม ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) ตากล้อง ผู้กำกับลงไปว่ายน้ำกัน กล้อง อุปกรณ์ตกน้ำหมด คลื่นสูง อันตราย และน่ากลัวมาก เพราะตรงที่เราถ่ายมันเป็นรอยต่อของสองน้ำ น้ำข้างในกับน้ำข้างนอกมาเจอกัน เป็นฉากที่ลีโอนาร์โดต้องหนีลงเรือเล็ก พอน้ำมาเจอกับคลื่นก็เลยหมุน เราอยู่บนเรืออีกลำเลยไม่ตกน้ำไปกับเขาด้วย แต่ตกใจมากเพราะตอนนั้นลูกยังเล็กอยู่เลย (หัวเราะ)

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“อีกทีหนึ่งเป็นหนังฝรั่งเศส เจอเหตุการณ์รถเบรกแตกที่ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย เป็นฉากขับรถ แล้วผู้กำกับดันไปแคสต์นักแสดงที่ขับรถไม่เป็น เลยต้องใช้วิธีพ่วงรถเอา ปรากฏว่าตอนลงเขา รถเบรกแตก เลี้ยวไปเลี้ยวมา ผู้กำกับและทีมงานอยู่บนรถหมด ผมคิดว่าจะตัดสินใจยังไงดี พอมองไปข้างหน้าเห็นโค้งสุดท้ายก็ เอาวะ โดดดีกว่า ผมนึกว่าตัวเองจะโดดคนเดียว ที่ไหนได้ ตุบๆๆๆ ตามมาเป็นแถว มีแต่คนไทยโดด ฝรั่งไม่โดด พอโดดกันเยอะรถเลยเบาลง มันเลยไปคาติดอยู่ตรงต้นไม้ โชคดีมากไม่มีใครตาย หรืออีกเหตุการณ์ก็เฮลิคอปเตอร์หมุน สภาพอากาศแย่มาก เชียงรายเหมือนกันนี่แหละ พอลงมาได้ ผู้ช่วยฝรั่งอีกคนที่มาจากอิสราเอลขอลาออกกลับบ้านไปเลย”

“นี่มันไม่ใช่แค่บริหารจัดการแล้ว มันคือการเอาชีวิตไปเสี่ยงด้วย” เราคิดในใจ ความปลอดภัยคือหัวใจหลักของอาชีพนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่หนึ่งชีวิต สองชีวิต แต่หมายถึงคนเป็นร้อย และเหมือนคุณพ่อชาลีจะได้ยินความคิดของเรา

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“กลัวเหมือนกันนะ แต่มันเป็นอาชีพเรา ตอนนั้นอายุยังน้อย ยังพอไหว ถ้ามาตอนนี้ให้ทำแบบนั้นไม่ไหวแล้วแหละ (หัวเราะ) ยิ่งในน้ำนี่กลัวมาก เคยนั่งเรือกลับจากเกาะพีพีมาภูเก็ต ถ่ายเสร็จตอนเย็นๆ มืดๆ เรือดันไปตายแถวๆ เกาะที่เขาทำรังนก กลัวจะโดนยิงเอา

“หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้การถ่ายทำปลอดภัยที่สุด และเสร็จตามกำหนดการที่วางแผนไว้ หนังใหญ่ๆ จะมีแผนก Safety แต่ถ้ากองไม่ใหญ่ก็เป็นหน้าที่ของเรา สมมติหมายคือห้าสิบวัน เราก็ต้องถ่ายให้เสร็จในห้าสิบวัน นอกจากมีพายุเข้า ฝนตก นักแสดงไม่สบาย มีเรื่องหนึ่ง เกรต้า สคาชชี่ (Greta Scacchi) ถูกมะพร้าวหล่นใส่หัวที่ภูเก็ต นั่งอยู่กับนักแสดงอีกคน ไม่ได้ถ่ายอยู่ด้วยนะ นั่งเฉยๆ แล้วตอนหลังถ้าหนังฝรั่งมาถ่ายใต้ต้นมะพร้าว เราต้องให้เก็บลูกมะพร้าวให้หมด เวลาอยู่ในเซต AD สั่งใคร ทุกคนต้องทำตาม แม้แต่โปรดิวเซอร์ก็ต้องทำ เราวิ่งไล่ตะเพิดไปหมด คนไม่ค่อยชอบพวกเราหรอก เพราะบางทีเราโวยวาย พูดจากระโชกโฮกฮาก เพราะเราต้องดูแลให้ทุกคนกลับบ้านด้วยความปลอดภัย มีความสุข ไม่ใช่ลูกเมียต้องมาจากกันเพราะว่ามาถ่ายหนัง ผมจะพูดเสมอว่า มันก็แค่หนัง Just a movie ไม่ต้องเอาความปลอดภัยของตัวเองไปแลกขนาดนั้น”

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

03

It’s not personal. It’s strictly business.

The Godfather (1972)

นอกจากการแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวอย่างจริงจัง เหมือนคำคมจากหนังเรื่อง The Godfather ที่บอกว่า It’s not personal. It’s strictly business. ระบบการทำงานในกองถ่ายต่างประเทศยังให้ความสนใจกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของทีมงาน โดยเฉพาะเรื่องชั่วโมงการทำงานจนถึงกับมีสหภาพแรงงานคอยคุ้มครองอยู่ เราคุยกันถึงข่าววงการโปรดักชันในไทย ที่ทีมงานกองถ่ายทำงานต่อเนื่องถึง 16 – 17 ชั่วโมง ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนโลกอินเทอร์เน็ตเมื่อสองสามวันก่อนหน้า 

“เราไม่เจอแบบนี้ในกองถ่ายฝรั่ง เพราะมันมีเรื่องเงินโอทีเข้ามาเกี่ยวข้อง โอทีเขาเยอะมาก โปรดิวเซอร์ก็ไม่อยากให้เกิน เพราะเกินทีงบมันบานปลาย แม้แต่จะกินข้าวตอนเที่ยงเลต AD ก็ต้องคุยกับ Production Producer ว่าวันนี้ขอกินข้าวเลตสิบห้านาทีได้ไหม โปรดิวเซอร์ต้องเป็นคนอนุมัติ เพราะบางแผนกถ้าเลยเวลาหกชั่วโมงแล้วยังไม่ได้กินข้าว จะต้องจ่ายค่าโอทีให้เขา ถ้านักแสดงนี่คิดเป็นนาทีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกสตั๊นท์แมนทั้งหลาย หนังฝรั่งจะมีสหภาพ เขานับเวลาทำงานจาก Door to Door สิบสองชั่วโมง คือตั้งแต่ออกจากโรงแรมถึงเซต แล้วกลับถึงโรงแรม จะเลิกเกินเวลานี่เรื่องใหญ่ ต้องแจ้งล่วงหน้า

“แล้วเขามีกฎว่าทีมงานต้องเว้นอย่างน้อยสิบชั่วโมงถึงจะเริ่มงานอีกวัน แย่สุดคือแปดชั่วโมง ถ้าเลิกเที่ยงคืนจะมาเรียกอีกทีตอนตีห้าหรือหกโมงเช้าไม่ได้ เพราะมันมีผลต่อความปลอดภัย มีผลต่อสุขภาพของทีมงาน นอนพอไหม ขับรถปลอดภัยไหม”

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

คุณพ่อชาลีสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับของกองภาพยนตร์ต่างประเทศมาเรื่อยๆ จนได้เป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่บริษัทประกันกล้าการันตีให้ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการถ่ายทำในประเทศต้องมีบริษัทประกันรับรอง และเขาจะพิจารณาจากผู้ดูแลรับผิดชอบกองนั้นๆ ในสมัยก่อนที่คนทำไม่เยอะ ทุกครั้งที่จะมีหนังฝรั่งมาถ่ายทำในเมืองไทย เขาจะเลือกคนไทยจากประวัติการทำงานเก่า แล้วเรียกมาสัมภาษณ์ เหมือนการสมัครงานทั่วไปนั่นแหละ

“เขาเรียกมาคุย คุยทั่วไป คุยธรรมดาเลย คุณทำเรื่องนี้มาเหรอ เป็นยังไงบ้าง ดูบุคลิก ดูทัศนคติ เขาไม่มานั่งเจาะจงเรื่องงาน ไม่ได้ถามว่าถ้าเจอปัญหาในเซตแบบนี้จะทำยังไง หรือทำงานกับคนโน้นคนนี้สนุกไหม เรื่องนั้นเป็นยังไง เพราะถ้าอยากรู้ว่าทำงานอะไรมา มันมีใน CV หมดแล้ว ตอนนั้นมันไม่มีโซเชียล คนบางที่ไม่ได้ทำเรื่องนี้ อยากให้เรซูเม่สวยๆ ก็แอบใส่เรื่องที่ไม่เคยทำไป เขาคุยแป๊บเดียวก็รู้เลย”

คุณพ่อชาลีบอกว่าตัวเองเปลี่ยนจากผู้ช่วยผู้กำกับที่ใจร้อนมากๆ ไม่พอใจอะไรก็ด่าไปก่อน ทำให้มีคนไม่ชอบเขาเยอะ มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ใจเย็นขึ้น แต่ก็ยังยึดหลักที่เขาบอกว่า “เราโวยวายเรื่องงาน ไม่ได้โวยวายเรื่องเขา จบงานก็จบ” และแม้จะผ่านมาหลายสิบปี อาชีพนี้ก็ยังสร้างความสุขให้เขา แถมยังมีเรื่องเล่าในกองถ่ายอีกเยอะ

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“มีเรื่องสนุกๆ เยอะ ผมเคยทำกับผู้กำกับจอห์น วู (John Woo) เรื่องหนึ่ง เขามีฉากหนึ่งตั้งกล้องไว้ตรงริมแม่น้ำแคว แล้วก็มีเนิน เขาอยากให้ฝูงควายเป็นสิบตัววิ่งลงมาหากล้อง ควายมันเห็นกล้องก็เลยไม่ลงมา จอห์น วู ไม่ยอม วันรุ่งขึ้นกลับมาอีก หาวิธีไล่ควายทุกอย่าง เสียเวลาไปอีกวันหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นผู้กำกับใหญ่แบบนี้เราต้องยอมเขา โปรดิวเซอร์ก็ต้องยอมเขา

“หรืออย่าง นิโคลัส วินดิง เรฟิน (Nicolas Winding Refn) ผู้กำกับเรื่อง Drive กับ Only God Forgives ตอนนั้นเขามาถ่ายโฆษณา เซตเป็นโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ มีดาบซามูไร เขาไม่แฮปปี้กับลูกค้า เพราะฉากจบที่คุยกันก่อนเป็นอย่างหนึ่ง ผู้กำกับก็โอเค แต่พอมาหน้าเซตจะเปลี่ยนฉากจบเป็นอีกแบบหนึ่ง ผู้กำกับเลยอารมณ์เสีย คว้าดาบซามูไรทำลายเซตหมดเลย พังหมดเลย โชคดีที่ถ่ายเสร็จแล้วแหละ วันต่อมาลูกค้าไปนั่งไกลมาก”(หัวเราะ)

04

It comes down to a simple choice, really. Get busy living, or get busy dying.

Shawshank Redemption (1994)

ความสุขที่ 2 ของคุณพ่อชาลีเกิดขึ้นตอนที่ทุกอย่างที่เขาบริหารจัดการให้สำเร็จลุล่วงฉายอยู่บนจอเงิน และมีคนดูสนุกไปกับมัน ส่วนความสุขแรกอยู่ในทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่าจะได้ไปออกกอง ไปเจอเพื่อนฝูง ทีมงาน ช่างไฟ เดินกินกาแฟ 

“ไม่เคยคิดจะเลิกทำเลยนะ มันเหมือนได้ไปเจอเพื่อน เจอคน ได้ทำงานแล้วมีความสุข ใครจ้างถ้ายังทำไหวก็ไปทำ ความสนุกมันอาจจะสู้สมัยก่อนไม่ได้ ทั้งในแง่ของการทำงาน มีเพื่อนฝูง ฝรั่งมาเมืองไทยอยากได้เราเป็นเพื่อน เราก็อยากได้ฝรั่งเป็นเพื่อน เรายังมีเพื่อนฝรั่งที่เดี๋ยวนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่เยอะแยะ ทีมงานก็รักกัน วงการเดี๋ยวนี้มันค่อนข้างเป็นธุรกิจ มาแล้วก็ไป เพื่อนที่แท้จริงน้อย มีเหมือนกัน แต่น้อย แต่เวลาได้ดูหนังที่ทำก็ยังมีความสุขมากๆ ฉากนี้เราทำ ฉากนั้นเราทำ ความสุขมันคนละแบบ แต่บางทีดูฉากที่เราทำก็ เฮ้ย กูพลาดไปได้ยังไง หลุดไปได้ยังไง วันก่อนดู Extraction กันสามคน พ่อ แม่ ลูก ฉากนี้ของเราๆ แต่มันมีฉากหนึ่งที่ฝ่ายซาวนด์บอกว่า อย่าทำเสียงดังนะ ซีนนี้จะมีไดอะล็อก เราก็เลยไปบอกเอ็กตร้าว่าห้ามทำเสียงดัง เอ็กตร้าก็ให้ความร่วมมือดีมาก บางคนทำดิน จอบไม่ถึงพื้นเลย กลัวเสียงดัง (หัวเราะ) คนดูไม่ได้สังเกตหรอก แต่เราเป็นคนทำ เราเห็น”

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

สำหรับหลายอาชีพ การขยับจากตำแหน่งที่มีคำว่า ‘ผู้ช่วย’ ข้างหน้า ถือว่าเป็นการเติบโตอีกขั้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่กับคุณพ่อชาลี ผู้รักในสิ่งที่ทำมาตลอด และไม่เคยอยากขยับไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีคำว่า ‘ผู้ช่วย’ เลยสักครั้ง

“เวลาไปทำโฆษณาเขาก็ชอบถามว่า คุณไม่เคยกำกับเลยเหรอ แต่เราไม่ชอบ ไม่อยากกำกับ ไม่อยากให้คนมาถามอะไรมากมาย ซึ่ง AD ก็เป็นตำแหน่งที่คนถามเยอะ แต่มันคือการถามในสิ่งที่เรารู้ เราตอบได้ ไม่ได้ถามว่าจินตนาการเราเป็นยังไง อันนั้นเราไม่อยากบอกหรือเราบอกไม่ได้ก็ไม่รู้ (หัวเราะ) สิ่งที่เขาถามในฐานะ AD คือสิ่งที่เราเตรียมตัวมา เราจำแม่นมาก สคริปต์นี่อ่านห้าหกรอบ จำ Scene Number ได้ ซีนนี้ๆ มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เวลาไป Scout เราจะรู้หมดว่า ซีนร้านกาแฟต้องมีอะไรบ้าง มีใครบ้าง คุยอะไรกันบ้าง เก้าอี้ต้องล้ม เก้าอี้ต้องหักไหม เราจำ Scene Number ของโลเคชันได้ทั้งเรื่องเลย”

“แต่หนังมันมีเป็นร้อยซีนนี่คะ” เราถามขึ้น

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

“แต่ต้องจำให้ได้ เพราะมันดีกับตัวเราเอง ถ้าเป็น AD แล้วตอบไม่ได้ จะ Look Bad มากเลย สมมติคนเดินมาถามว่า พี่ ฉากต่อไปถ่ายที่ไหน ยังไง ถ้าเราบอก ไม่รู้ มึงไปถามผู้กำกับสิ เราก็ดูแย่ เราต้องคุยกับผู้กำกับและตากล้อง อ่านสคริปต์แล้วต้องแตกออกมาว่า ห้องนี้ควรมีเอ็กตร้ากี่คน มีเด็กเสิร์ฟไหม มีลูกค้าไหม ถ้าสู้กันห้าคนพอไหม มีดับเบิ้ลไหม มีสตั๊นท์แมนไหม ถ้าต้องล้มไปบนโต๊ะแล้วโต๊ะต้องหัก คุณอยากได้กี่เทค ถ้าสามเทคพอไหม เราก็ต้องประสานงานไปทางแผนกพร็อปว่าซีนนี้จะถ่ายสามเทค ต้องมีโต๊ะสามตัว แทงกันเลือดออก เอาเลือดจากแผนกไหน เสื้อผ้าต้องเตรียมกี่ชุด สามชุดใช่ไหมเพราะเราจะล้มสามที 

“หน้าที่เราคือเป็นตัวกลางระหว่างผู้กำกับกับทีมงาน เราต้องคุยกันก่อนถ่ายแล้วแต่ละแผนกกลับไปทำการบ้านของตัวเอง พอวันถ่าย AD ก็ต้องค่อยประสานงานแก้ปัญหา เช่น แผนกเสื้อผ้ามาบอกว่า เสื้อมีไม่พอ มีแค่สองตัวเองพี่ ทำอย่างนี้ได้ไหม หรือหลบได้ไหม ต้องบอกเราให้หมดทุกอย่าง เพราะผู้กำกับจะดูแค่มอนิเตอร์ ดูนักแสดง แล้วก็สื่อสารกับคนอื่นผ่านเรา ถ้าเราเตรียมตัวดี ของเราพร้อม ปัญหาหน้าเซตจะน้อยมาก ถ้าเราไม่เป็นที่ไว้ใจกับทีมงาน ตอบคำถามไม่ได้ก็ไม่น่าเชื่อถือ จะทำให้เราทำงานลำบากมากไปด้วย”

05

It’s just a movie.

Charlie Sungkawess

“ถ้ามีคนรุ่นใหม่เดินมาหาคุณพ่อแล้วบอกว่าอยากเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ คุณพ่อจะแนะนำเขาว่าอะไร”

“โอ้ย อย่าเป็นดีกว่า หนีไป (หัวเราะ) ผมบอกลูกตลอดว่ามันเหนื่อย ความรับผิดชอบเยอะ การที่เราทำกับบริษัทนี้มาทุกเรื่อง ไม่ได้แปลว่าเรื่องต่อไปเขาจะจ้างเราอีก วัฏจักรมันไม่ได้เป็นแบบนั้น บริษัทนี้อาจจะจ้างเรามาตลอด เรื่องหน้าเขาอาจจะไม่จ้างเราก็ได้ 

“จริงๆ งานทุกอย่างมันมีหลักเหมือนๆ กัน เราต้องเอาใส่ใจ อ่อนน้อมถ่อมตน อย่าทะนงตัว คอยสังเกตและไม่ประมาท แล้วมันจะทำได้เอง ที่สำคัญคือต้องพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ อย่าหยุดนิ่ง อย่างผมอายุมากแล้ว แต่ก็ยังต้องดูอินเทอร์เน็ต ดูโปรแกรมเพื่อพัฒนาตัวเอง ถ้าคอมพิวเตอร์เราไม่เป็นนี่เด็กแซงหน้าเราไปหมดแน่นอน แต่ชีวิตในที่ทำงานเรามีความสุขมาก เราได้เจอดาราดังๆ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.), เฮเลน ฮันต์ (Helen Hunt), ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ผู้กำกับดังๆ ก็มีแฟรงคลิน เจ. แชฟฟ์เนอร์ (Franklin J. Schaffner), นิโคลัส วินดิง เรฟิน (Nicolas Winding Refn), แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) ตากล้องตุ๊กตาทองก็ทำด้วยกันเยอะมาก 

“ถือว่าโชคดี แต่มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะก็มีบางคนอยากมาทำหนังเพราะอยากเจอดารา สมัยก่อนลูกน้องจบนอกเยอะ พูดภาษาอังกฤษเก่ง คล่องปรื๋อเลย อยากทำเพราะอยากเจอดารา มาถึงคุยเก่ง แต่งานไม่ได้เลย มาคุยอย่างเดียว แต่ทำเรื่องเดียวแล้วก็หายไป ไม่รุ่ง”

จากที่คุยกับคุณพ่อชาลีมาหนึ่งชั่วโมงกว่าก็พอเห็นภาพแล้วว่า งานของเขาทั้งเหนื่อย ทั้งกดดัน และต้องเสี่ยงตาย เพราะมันคือการจัดการสิ่งที่จะกระทบกับชีวิตคนอื่น แต่แววตาของเขาขณะเล่าเรื่องเหล่านี้ให้เราฟังดูจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่าทำไมทุกวันนี้ก็อยากทำอาชีพนี้อยู่ และคงจะยังไม่วางมือเร็วๆ นี้

“ไม่วางหรอก (หัวเราะ) เรายังมีความสุขกับมันอยู่ นอกจากจะทำไม่ไหวหรือไม่มีคนเรียกเราไปทำแล้ว หนังฝรั่งมันสอนให้เรารับผิดชอบ ตรงเวลา นัดใครก็ไม่สาย ไปก่อนไม่เป็นไร ดีเสียอีก ไปไหนก็ปลอดภัยไว้ก่อน และผมไม่ได้คิดว่าถ้าได้ทำหนังกับผู้กำกับหรือนักแสดงคนไหนแล้วจะพอ ชีวิตนี้เลิกทำได้ เพราะเราจะได้เรียนรู้จากทั้งคนเก่งและไม่เก่ง คนที่เราชอบและไม่ชอบ ผู้กำกับกับนักแสดงเป็นแค่ส่วนประกอบ ผมทำหนังเพราะผมรักและผมอยากทำ ได้ทำกับคนดังก็ดีใจ มันเป็นผลพลอยได้ แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักของเรา”

ในวันนี้ วันที่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้ คุณพ่อชาลีกลับไม่ได้มองว่าเป็นวิกฤตด้วยเหตุผล 2 ข้อ หนึ่ง เพราะว่าชีวิตทั้งชีวิตเขาเป็นแบบนี้มาตลอด งานของเขาไม่เคยแน่นอน และสอง ก็เหมือนอย่างที่เขาว่า… สุดท้ายมันก็แค่หนัง

ชาลี สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับกองหนังฮอลลีวูดในไทยตั้งแต่ The Beach จนถึง Extraction

ขอบคุณภาพจาก เอกวัฒน์ สังขะเวส

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ

Photographer

Avatar

ปรีชญา จงศรีสวัสดิ์

ช่างภาพที่เชื่อว่าการตายอย่างมีคุณภาพคือการตายด้วยของกินที่ดีและอร่อย