ชาคริต แย้มนาม กำลังลงหลักปักฐานในวัย 42 ย่าง 43 เขายื้อวัยหนุ่มของเขาได้ยาวนานกว่ามาตรฐานชายไทยหลายคน เที่ยว ทำงาน ระห่ำกับประสบการณ์ และยินดีที่จะพูดว่าได้ใช้ลมหายใจอย่างคุ้มค่าในการทำความรู้จักกับชีวิต

ก่อนย่างวัย 40 เพียง 1 ปี ชาคริต พลิกหน้ากระดาษเพื่อรู้จักกับชีวิตในบทใหม่

เขาแต่งงานกับคนรักและมีลูกชายด้วยกัน 1 คนในปีถัดมา ถนนชีวิตของเขาไม่โดดเดี่ยวดังเดิม แต่มีเพื่อนร่วมเดินทางในบทใหม่ของชีวิตอีกหลายคน ซึ่งเป็นบทที่เขาเคยฝันเอาไว้ถึงชีวิตในบั้นปลาย 

เรามีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับเขา เก็บเกี่ยวแววตาอันตื่นเต้นของคนที่กำลัง Settle Down พร้อมกับฟังเรื่องราวที่เขาได้พ้นผ่าน ความคิด ตัวตน บาดแผล เขาเล่าออกมาในจังหวะเฉพาะตัว รวดเร็ว หนักแน่น และเปี่ยมพลัง

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

รู้จักตัวเองเร็ว

น้องโพธิ์ ลูกชายของชาคริตกำลังจะครบ 3 ขวบ ในอีกไม่กี่เดือน หนุ่มน้อยกำลังซุกซนและวิ่งไปบนความไร้เดียงสา อันทำให้คนวัยผู้ใหญ่ได้มีช่วงเวลาหยุดนึกถึงวันวานของตัวเอง

เราคุยกับชาคริต ชวนให้เขาเล่าว่าในขวบวัยใกล้เคียงกัน เขาเป็นเด็กหนุ่มแบบไหน

“เราจำได้บางช่วงบางตอน อย่างตอนเด็กที่แม่ไปส่งที่โรงเรียน หรือเวลาเห็นเครื่องบินเราก็จะบ๊ายบาย เราคิดว่าพ่อเราอยู่บนนั้นเพราะพ่ออยู่เมืองนอก คือมันจะมีทั้งช่วงเวลาที่เราถูกเติมเต็ม ช่วงที่เราขาด ช่วงที่เรามีคำถามปะปนกันไป

“โตขึ้นมาเราก็เริ่มติดเพื่อน จากนักเรียนเกรด A ร่วงลงไป F เพราะว่าเล่นมาก เราจำช่วงเวลาเหล่านี้ได้ จำได้ว่าชอบกีฬา ชอบวรรณกรรม อะไรที่คนอื่นเขาไม่ชอบแล้วก็มักจะสอบตกแต่เราดันผ่าน ส่วนวิชาหลักอย่างคณิตที่เป็นการจำสูตรอะไรต่างๆ เราไม่ชอบ เราก็จะตกอันนั้น แล้วเราก็ไม่พยายามที่จะทำมันด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งเพราะเรารู้จักตัวเองตั้งแต่เด็ก”

เกรด F จากบางวิชาพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้อยากเลี้ยงแค่มด แต่อนุญาตให้ตัวเองปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ต้องการ และโอบรับเอาตัวอักษรอื่นๆ ระหว่าง A ถึง F ให้เข้ามาอยู่ในทรานสคริปต์ ซึ่งบางทีก็มองได้ว่ามันเป็นอภิสิทธิ์ของคนที่รู้จักตัวเองดีพอ

“ที่เป็นอย่างนี้ก็น่าจะเพราะแม่แหละ เราคุยกันบ่อยตั้งแต่เด็กๆ แชร์เรื่องราวที่ได้เจอมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลากินข้าวเย็น เรียกว่าเป็นครอบครัวที่คุยกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญนะ เพราะมันก็ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองไปในตัวด้วย”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

รู้จักกับโลกเร็ว

“เราเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่เองตั้งแต่สิบห้า”

ชาคริตเป็นเด็กนอก เขาเดินทางไปเรียนที่นิวซีแลนด์ตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ที่นั่นเขาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คำว่าอิสระเสรีคือสิ่งที่หอมหวนสำหรับหนุ่มวัยนั้น เพราะมันหมายถึงความสามารถในการทำตามใจตัวเองอย่างไร้กฎระเบียบ

“ช่วงที่ผลาญเงินมากมายจนโดนด่า หรือไม่ไปเรียนจนโรงเรียนต้องโทรหาแม่ เราผ่านมาหมดแล้ว ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราทำดีจนคนเขาชมให้แม่ภูมิใจก็มีหลายอย่างเหมือนกัน

“ตอนที่เรากลับมาที่ไทย ตอนนั้นอายุประมาณสิบปลายๆ เรามีความคิดว่าจะไม่เรียนมหาลัยแล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้แม่ช็อก เพราะตอนนั้นเราอยากทำงาน อยากดูแลตัวเอง บวกกับเริ่มโดนแม่ว่าว่าใช้เงินเยอะ พอมีคนเสนองานแสดงเข้ามาในช่วงที่เรากลับมาเมืองไทย ก็เลยตัดสินใจรับงาน”

จุดเปลี่ยนในชีวิตของคนบางคนมันก็เรียบง่ายเช่นนั้น เพราะจากการเดินเข้าสู่วงการครั้งนี้ 20 ปีผ่านไป เขาก็ยังคงทำงานในวงการเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การไม่เดินเข้ามหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาตามครรลอง กลับทำให้เขาได้ลงเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิต ที่พาเขาไปพบกับสิ่งที่รักจวบจนวันนี้

“พอเราทำงานไปเรื่อยๆ เริ่มรู้จักคำว่าเหนื่อยมันเป็นยังไง เริ่มรู้ว่าเงินแต่ละบาทกว่าจะหามาได้มันยาก มันเหนื่อยทั้งสมอง ทั้งช่วงเวลาทำงานที่ตั้งแต่เช้าถึงดึก ทั้งอารมณ์ ทั้งความจำ ทุกสิ่งทุกอย่าง เรื่องตลกก็คือ จากที่แค่อยากหาเงินเพื่อพิสูจน์ตัวเองกับแม่ เรากลับค่อยๆ หลงรักมัน จนการแสดงได้กลายเป็นความรักของชีวิต”

แสดงว่าคุณไม่ได้อยากเป็นนักแสดงแต่แรก ?  

ขอโทษ ที่ทำลายความโรแมนติก

“ไม่ ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นสถาปนิก มัณฑนากร อะไรพวกนั้น ก็ลงเรียนพวกกราฟิกดีไซน์ เขียนแบบ ศิลปะ แต่พอมาทำงานแล้วเราติดลมยาว ตอนหลังเลยต้องลงเรียนทางไกลในสาขาการตลาดแทน”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม
เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

จนการแสดงได้กลายมาเป็นความรัก

“จนการแสดงได้กลายเป็นความรักของชีวิต” ประโยคนี้ชาคริตบอกเล่าบนสีหน้าจริงจัง แต่แฝงอมยิ้มน้อยๆ เหมือนยามเขาเล่าถึงภรรยา ลูกชาย หรือแผนการในอนาคตที่จินตนาการไว้

ผู้อ่านอาจได้เคยได้ยินชาคริตพูดถึงความรักในแง่มุมอื่นๆ มาบ้าง แต่ความรักในการแสดง น้อยครั้งที่จะได้ฟังเขารำพันถึง

“ผมว่านักแสดงอย่างแรกเลยคือ คุณต้องทำให้ตัวอักษรที่อยู่ในกระดาษมันมีชีวิตขึ้นมา

“ละครหรือภาพยนตร์คือโลกสมมติ แต่นักแสดงต้องเชื่อในโลกสมมตินั้น เราอ่านบทเป็นร้อยๆ หน้า พร้อมไปกับเชื่อในตัวละคร และสร้างตัวตนนั้นให้มีชีวิตขึ้น ความท้าทายของนักแสดงคือ เราต้องสร้างตัวตนเหล่านั้นขึ้นมาให้ได้จากกระดาษ

“มนุษย์เรามีหลายแบบ ทั้งคนปกติ คนที่น่ากลัว คนที่มีความพิเศษกว่าคนปกติ ซึ่งอาจเป็นบทบาทที่เราอาจจะได้รับก็ได้ นักแสดงเลยต้องเป็นคนช่างสังเกต เข้าใจโครงเรื่อง เข้าใจประเภทของคน ว่าถ้าเป็นคนแบบนี้ แล้วเจอสถานการณ์แบบนี้ จะเป็นยังไง ซึ่งเอาจเริ่มสังเกตจากใกล้ตัวก่อน บ้านเรา ญาติพี่น้อง เพื่อนเรา หรือคนที่เราเคยเห็นในทีวี พอต้องมาแสดงหรือทำความเข้าใจกับตัวละครใหม่ มันก็เป็นเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ เราจะเอาคนหลายๆ แบบที่เราเคยสังเกตมาประกอบร่างกัน เพื่อสร้างสรรค์ตัวละครนั้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นท่าเดินหรือพฤติกรรมต่างๆ”

แสดงว่าสำหรับคุณ ประสบการณ์ชีวิตและการได้รู้จักคนหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญต่ออาชีพการงาน ?

“ใช่ แล้วมันก็เป็นความโรคจิตของความเป็นนักแสดงด้วย คือมันไม่ปกติหรอกที่อยู่ดีๆ เราจะต้องประกอบร่างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ศาสตร์ที่เราชอบคือ Method Acting (วิธีการเข้าถึงตัวละครแบบหนึ่ง) แหละ เราก็อ่านหนังสือของ ไมเคิล เชคคอฟ (Michael Chekhov) อะไรแบบนี้ 

“เอาเข้าจริงเราก็อยากจะ Method Acting ให้ได้มากที่สุดนะ แต่บางทีเวลามันก็ไม่ได้เอื้อ บางทีเราถ่ายพร้อมกับสี่เรื่อง มันก็ต้องปรับตลอดเวลา เราผ่านจุดแบบนั้นมา ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่เราทำงานจนเราเกลียดตัวเอง เพราะเราลืมเพื่อน ลืมทุกอย่างไปเลย ทำงานจนไม่มีชีวิตส่วนตัว เพราะเรารู้สึกว่างานมันท้าทายมากและสนุกมาก จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เลยค่อยๆ ปรับลดลงมา”

ช่วงไหนที่พีกที่สุดในชีวิตการทำงานของคุณ 

“น่าจะเป็นช่วงที่เล่นเรื่อง Bangkok Dangerous ตอนนั้นน่าจะหนักที่สุดแล้ว คือในระยะเวลาหกเดือนเต็ม เราเล่นอยู่ประมาณห้าคาแรกเตอร์ รวมเวลานอนสามวัน ไม่ถึงแปดชั่วโมง เรามีรถบ้านเป็นของตัวเอง เราหลับบนนั้น พอตื่นขึ้นมาคืออยู่อีกกองถ่ายหนึ่ง แล้วก็ต้องเปลี่ยนเป็นอีกตัวละครให้ได้ จนร่างกายเราไม่ไหว”

อะไรทำให้คุณทำงานหนักขนาดนั้น-เราถาม

“ความอยากรู้ มันท้าทายว่าเราจะทำได้ไหม”

แสดงว่าคุณรักสิ่งนี้มากเลยนะ

“มาก มันสอนให้เราเข้มแข็ง ทำให้เรามีอาชีพ ทำให้เราเลี้ยงดูครอบครัว ตอบแทนคุณแม่ได้”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

So be it! อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

หากบทสัมภาษณ์นี้เป็นภาพยนตร์ การปูตัวละครก็ได้จบลงไปแล้วในสองหัวข้อแรก หัวข้อนี้เป็นช่วงที่ผู้กำกับจะเริ่มฉายชีวิตของตัวละคร เพื่อเผยมิติความเป็นมนุษย์ของเขาออกมา

เพลงประกอบในองก์นี้จะปรับเพซซิ่งให้ระรัวขึ้น เพราะชีวิตของชาคริต สนุก เต็มที่ ดั่งปรัชญาที่เราเอามาใช้เป็นชื่อหัวข้อนี้นี่แหละ

ชาคริตทำงานหนัก เขาหาเงินเก่ง และเขาก็มีทักษะการใช้เงินไม่ด้อยไปกว่าการหามา

“เมื่อก่อนก็มีหมด เราทำงานหาเงินเองนี่ บอยทอยทั้งหลาย นาฬิกา ปืน รถ เราซื้อหมด อยากได้ก็ซื้อ อยากรู้ว่ามีแล้วมันเป็นยังไง Porshe, Ferrari, Bentley เคยมีมาหมด แต่ตอนนี้คือขายหมด เพราะไม่ได้ใช้ 

“อย่างเรื่องรถ เมื่อก่อนเรามีรถเจ็ดคัน แต่ในหนึ่งปีขับคันละแค่สองวัน เพราะเราทำงานสามร้อยหกสิบวัน ซึ่งส่วนใหญ่เราต้องนั่งรถตู้ไปทำงาน สุดท้ายเจอค่าประกันในแต่ละปี ใจมันก็หล่นเหมือนกันนะ (หัวเราะ) สุดท้ายก็มานั่งถามตัวเองว่า แล้วจะปล่อยให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นไปทำไม เราใช้ชีวิตอู้ฟู่มาสิบกว่าปี เราบอกกับตัวเองได้ว่าเคยมีแล้ว เคยใช้แล้ว ถ้าไม่ได้จำเป็นก็ขายไป”

นอกจากกล้าใช้เงิน ชาคริตเป็นคนที่กล้าใช้ชีวิตด้วย บางด้านเราได้เห็นผ่านหน้าสื่อ บางด้านไม่มีใครเห็นยกเว้นเขา แต่ชาคริตไม่ใช่คนที่ครั่นคร้ามบาดแผลในชีวิต

“มันมีแต่เรื่องให้ด่าตัวเอง แบบ เฮ้อ กูไม่น่าเลย แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงไม่ได้ไปแก้อะไร เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น ทำให้เราเข้าใจอะไรมาขึ้น หลายๆ อย่างที่เราทำ เราอาจคิดว่ามันใช่ มันถูก แต่สุดท้ายความไม่ละเอียด ความคิดแบบด้านเดียวมันก็ให้บทเรียนที่ทำให้กลับมาสอนตัวเองในหลายๆ เรื่อง มันก็คือ Live and Learn เราเรียนชีวิตทุกวัน”

ปรัชญาการใช้ชีวิตของชาคริตในวัยหนุ่มคืออะไร​

“So be it! อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

Farm and Family

ถ้าชีวิตวัยรุ่นของคนเราคือช่วงเวลาแห่งการค้นหา ทดลอง เพื่อให้ได้รู้จักกับตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนเราอาจต้องก้าวสู่วัยที่สงบนิ่งมากขึ้น หากใครติดตามชาคริต แย้มนาม ในวันนี้ คงได้เห็นภาพของเขาใช้ชีวิตอยู่กับสวนในจังหวัดจันทบุรี ขุดดิน ปลูกต้นไม้ วางแผนสร้างธุรกิจของครอบครัว สลัดภาพของชาคริตในอดีตจนหมดสิ้น

“จริงๆ แล้วเราเป็นคนชอบธรรมชาติ ที่เลือกไปเรียนที่นิวซีแลนด์ก็เพราะชอบธรรมชาติ แล้วก็คิดว่าบั้นปลายชีวิตเราอยากไปอยู่แบบนั้น ก็เลยเคยซื้อที่เก็บไว้ที่จันทบุรีเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว แต่ทีนี้พอโตมาก็มานั่งคิดว่าทำไมต้องรอบั้นปลายถึงค่อยไปใช้ชีวิตวะ ถ้าแก่แล้วเราจะมีแรงสร้างอะไรเหรอ ทำไมไม่ทำมันตั้งแต่วันนี้เลย ก็เลยลงมือไปทำ ไปใช้ชีวิต”

ชาคริตมีความรู้ในการทำสวนเป็นศูนย์ เขาเริ่มใหม่โดยอาศัยการเรียนเอาจากญาติพี่น้องของภรรยา ค่อยๆ เรียนรู้และลงมือทำ เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะได้ส่งต่อพื้นที่นี้ให้กับทายาทของเขาต่อไป

“สุดท้ายสิ่งที่เราสร้างมันจะเกิดมูลค่า มันเป็นบ้านที่เราจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัว วันหนึ่งมันก็จะกลายเป็นที่ดินของลูกเรา เป็นมรดกของลูกเรา”

จากชาคริตที่ใช้ชีวิตโลดโผนเต็มที่ อะไรที่ทำให้คุณเปลี่ยน-เราถามเขา

“ความฝันที่มาเต็มเรา การมีครอบครัวที่สมบูรณ์

“คือเราเป็นคนที่ถูกเลี้ยงมาโดยซิงเกิลมัม โดยที่คิดว่าตัวเองไม่ได้ขาดอะไร แต่ความจริงก็คงขาด Father Figure อยู่ดีแหละ ก็เลยตั้งปฏิญาณไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งได้มีครอบครัว เราอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น สมบูรณ์ แต่ก็เคยมีบางเวลาที่เราคิดว่ามันอาจจะไม่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา”

คุณเคยหมดหวังมาแล้วเหรอ-เราแอบแทรกถาม

“เรามีสุขและทุกข์ในความรักมาหลายครั้ง จนบางทีรู้สึกหมดหวังมันก็มี

“แต่สุดท้ายเราก็พบว่า เมื่อถึงเวลา เราก็ได้เจอ ซึ่งการมีครอบครัวมันทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติขึ้น เมื่อก่อนเราใช้ชีวิตมาเยอะ ทั้งเที่ยว ทั้งทำงาน คือเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตคุ้ม แต่พอมีครอบครัว มีลูก มุมมองเราก็เปลี่ยนไป เพราะเราไม่ใช่ตัวคนเดียวแล้ว เมื่อก่อนถ้าเราตายไปก็ไม่มีใครเดือดร้อน แต่เดี๋ยวนี้มันต้องคิดถึงอนาคต คิดถึงคนรอบตัว เราเลยไม่สามารถใช้ชีวิตแบบ Fearless”

การมีทำสวน ปลูกต้นไม้ ผลไม้ก็เป็นความรู้ใหม่สำหรับชาคริตไม่ต่างจากการเป็นพ่อคน เขาเรียนรู้การเป็นชาวสวนที่ดี พร้อมๆ ไปกับการเป็นพ่อ ชาคริตเล่าย้อนกลับไปให้ฟังว่า ชีวิตในบทนี้ของเขาคือการค่อยๆ เรียนรู้ทีละอย่าง ในแต่ละวัน

“เราไม่ได้คิดมาก่อนว่าเราจะเป็นพ่อแบบไหน แต่วันที่เขาคลอดออกมา สิ่งที่เราตั้งใจไว้เลยคือ เราจะไม่ใช่คนที่วางแผน 1 2 3 4 แล้วให้เขาทำตาม แต่เราจะ Go one step at a time. คือค่อยๆ เรียนรู้กันไประหว่างที่เขาเติบโต แล้วค่อยๆ ตบกันให้เข้าที่เข้าทาง แทนที่เราจะไปวางไว้ตั้งแต่วันแรกว่าลูกเราจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ มันไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรอก ทุกอย่างมัน Live and Learn”

“แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่คิดถึงอนาคตไว้เลย เพราะทุกวันนี้เราก็คิดทำธุรกิจต่างๆ เอาไว้เพื่อรองรับการเติบโตของลูก อย่างสวนที่เราทำ สุดท้ายมันก็ต้องเป็นของเขา

“เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เรายังมีเวลา ยังหายใจ ยังมีความสามารถอยู่ เราจะพยายามทำทุกอย่าง เพื่อหากวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้ว เขาจะเหนื่อยน้อยที่สุด และวันหนึ่งหากเขามีครอบครัวเอง เขาก็จะได้เรียนรู้ว่า การดูแลครอบครัวมันเป็นสิ่งที่สำคัญ”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

งาน – เงิน – ความรัก

งาน เงิน ความรัก ถ้าเป็นผู้อ่านจะเรียงลำดับความสำคัญของมันอย่างไร

เราถามคำถามเดียวกันนี้กับชาคริตในช่วงท้ายๆ ของบทสนทนา

“ถ้าตอนเป็นวัยรุ่นจะตอบว่างานมาก่อน แต่ตอนหลังมันเปลี่ยนไปเป็นเรื่องความรัก”

เงินไม่ได้อยู่ในสมการเลยเหรอ-เราถามต่อ

“ไม่เคยอยู่เลย เรากินแกลบได้ เราไม่ได้เป็นคนยึดติด ถ้าไม่มีก็ไม่มี เราเคยผ่านช่วงเวลามาหลากหลายแบบ”

คุณไม่ได้กลัวความจน ?

“ก็มันเลือกไม่ได้นี่ ถ้าวันหนึ่งมันต้องจน แต่ถึงจนเรายังมีชีวิต มันก็ต้องหาหนทางสู้ต่อไปเพื่อรักษาชีวิต

“อีกอย่าง เรื่องเงินคือเราสปอยล์ตัวเองมาหมดแล้ว มันคงเหมือนการสูบบุหรี่ที่เราเคยชินจนเหมือนเป็นกิจวัตร แต่สุดท้ายแล้วเราไม่ได้เสพติดมัน เวลาต้องไปเข้าวัดนั่งสมาธิเจ็ดคืน แปดวัน ไม่ได้สูบเลยก็ไม่ได้เป็นอะไร

“คือเรามองทุกอย่างให้มันง่ายๆ แค่นั้น สุขก็สุข ทุกข์ก็ทุกข์ ไม่มีอะไรที่จีรัง ถ้าลงไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งมันก็จะกลับขึ้นมา”

เงิน งาน ความรัก การทำสวน และบทบาทพ่อของชาคริต แย้มนาม

Writer

Avatar

คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์

นักเขียนอิสระ ที่กำลังลองทำงานหลายๆ แบบ ชอบลี้คิมฮวง ต้นไม้ เพลงแก่ๆ มีความฝันอยากทำฟาร์มออร์แกนิก และล่าสุดเขียนจดหมายสะสมลงในเพจ In the Letter

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน