3 กุมภาพันธ์ 2021
30 K

ผมเร่งฝีเท้าไปยังอาคารสีครีมขลิบเขียวที่งามเด่นด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกเพราะใกล้เวลานัดหมายสำคัญ ต้นไม้สูงใหญ่ที่ยืนต้นอยู่เรียงรายช่วยบังแดดบ่ายอันร้อนระอุ ลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาพัดมาเบาๆ นำความสงบและสดชื่นมาให้ ไม่กี่นาทีต่อมาผมก็ได้พบ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระนัดดาหรือหลานปู่ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้ซึ่งได้กรุณาต้อนรับผมที่ ‘ห้องแดง’ อันเป็นห้องรับแขกที่ตกแต่งไว้อย่างงดงามด้วยเครื่องเรือนร่วมสมัย

นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งที่หม่อมราชวงศ์นริศราอนุญาตให้ผมนำผู้อ่าน The Cloud เข้ามาเยี่ยมเยือนในพื้นที่ส่วนบุคคลซึ่งปกติไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชม นอกจากในวาระพิเศษเท่านั้น เช่นวันนี้

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน
หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ พระธิดาใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระนัดดาหรือหลานปู่ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

“จะเริ่มเล่าจากตรงไหนก่อนดีคะ” 

หม่อมราชวงศ์นริศราเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม ผมรีบหยิบสมุดจดคำถามขึ้นมา สายตาเหลือบไปที่คำถามข้อแรก ถึงเวลาแล้วที่ผมจะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อายุกว่าร้อยปีแห่งนี้พร้อมๆ กัน

บ้านหรือวัง

“เราควรเรียกว่าวังจักรพงษ์หรือบ้านจักรพงษ์ดีครับ” ผมเริ่มคำถามแรก 

“บางคนก็เรียกที่นี่ว่าวัง บางคนก็เรียกว่าบ้าน แต่ท่านพ่อได้ทรงบรรยายไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ อย่างชัดเจนว่า วังปารุสก์นั้นถือเป็นวัง แต่ที่นี่เป็นแค่บ้านเท่านั้น” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าวนำ และทำให้ผมกลับไปสืบค้นข้อความในพระนิพนธ์เล่มดังกล่าวมาอ่านซ้ำอีกครั้ง

“การเรียกที่อยู่ของข้าพเจ้าไม่ว่าที่ไหนว่า ‘วัง’ ข้าพเจ้าก็ไม่ชอบ ยิ่งบ้านท่าเตียนเป็นบ้านขนาดธรรมดา จะเรียกว่าวัง ข้าพเจ้าเห็นไม่เข้ารูปเลย จึงขนานนามว่า ‘บ้านจักรพงษ์’ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป”

นี่คือข้อความที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงบันทึกไว้ และเป็นข้อความเดียวกันกับที่หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าวถึง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

“เวลาทูลกระหม่อมปู่เสด็จมาที่นี่ ท่านก็ทรงเขียนไว้ในบันทึกว่า ‘วันนี้ไปบ้านท่าเตียน’ โปรดเสด็จล่องเรือจากบ้านท่าเตียนไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาในคืนเดือนหงาย ตอนนั้นท่านทรงเลิกกับหม่อมย่า (หม่อมคัทริน จักรพงษ์ ณ อยุธยา หรือ คัทริน เดนิตสกี) แล้ว และกำลังทรงสนิทเสน่หาท่านหญิงชวลิต (หม่อมเจ้าชวลิตโอภาส รพีพัฒน์) เลยเสด็จมาลงเรือกันบ่อยมากทั้งสองพระองค์ บันทึกส่วนพระองค์ที่กล่าวถึงนี้ทรงเขียนขึ้นในช่วงสี่ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ตอนนี้กำลังแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนพิมพ์เผยแพร่” 

บ้านท่าเตียนหรือบ้านจักรพงษ์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 ขณะนั้น ‘ทูลกระหม่อมปู่’ มีพระชนม์ 25 พรรษา โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระมารดา ได้ทรงซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเตียนพระราชทานพระราชโอรสพระองค์นี้

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

“แต่ทูลกระหม่อมปู่ไม่ได้ประทับค้างคืนที่นี่เลยตลอดพระชนม์ชีพ เพราะประทับที่วังปารุสก์เป็นหลัก เพียงแต่เสด็จมาบ้านจักรพงษ์เพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ เสด็จมาเปลี่ยนฉลองพระองค์ก่อนเสด็จงานพระราชพิธีในวังหลวง เสด็จมาเสวยพระสุธารสหรือพระกระยาหารกับพระญาติและพระสหายสนิทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินที่มีโฉนด เพราะทรงซื้อด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ จึงยังเป็นบ้านที่สืบทอดต่อมาถึงลูกหลานจนทุกวันนี้” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่า

ต่อมาใน พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ใช้บ้านจักรพงษ์เป็นที่ประทับชั่วคราวของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (พระราชอิสสริยยศในขณะนั้น) เมื่อครั้งเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยหลังทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2463 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทิวงคตเมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ บ้านจักรพงษ์จึงกลายเป็นบ้านที่ไร้ผู้อาศัยอยู่นานหลายปี จน พ.ศ. 2481 เมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ และเสกสมรสกับ หม่อมเอลิสะเบธ (นามเดิม Elisabeth Hunter) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เสด็จกลับมาประทับที่บ้านจักรพงษ์เป็นประจำทุกปี

“ท่านพ่อเสด็จกลับมาอีกทีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตอนนั้นท่านทรงสมรสกับหม่อมแม่แล้ว สภาพบ้านก็พออยู่ได้ แต่ไม่มีเครื่องเรือนอะไรสักเท่าไหร่ เพราะข้าวของสูญหายไปหลายอย่าง อีกช่วงคือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นอีกช่วงที่บ้านค่อนข้างร้าง เพราะไม่มีใครอาศัย ไปติดสงครามอยู่ที่อังกฤษกันนานหลายปี แทบติดต่อประเทศไทยไม่ได้เลย พอจบสงครามโลกประมาณ พ.ศ. 2489 ท่านพ่อก็จะเสด็จกลับจากอังกฤษมาที่นี่ในช่วงฤดูหนาวทุกปีกับหม่อมแม่ พอดิฉันเกิดก็ตามเสด็จกลับมาด้วย จำได้ว่านั่งเรือเดินสมุทรกลับมาเมืองไทย”

มาริโอ ตามาญโญ หรือ เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์

“แล้วใครคือสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านจักรพงษ์ครับ ผมเห็นบางข้อมูลก็ระบุว่าเป็น มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) บ้างก็ระบุว่าเป็น เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey)” ผมสอบถามหม่อมราชวงศ์นริศรา

“ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่าใครเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านจักรพงษ์ แต่จากการสืบค้นข้อมูลจึงพอสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นมาริโอ ตามาญโญ ความที่เป็นสถาปนิกหลวงคนสำคัญ และเป็นบุคคลที่รัชกาลที่ 5 ทรงไว้วางพระราชหฤทัย” 

มาริโอ ตามาญโญ เป็นสถาปนิกชาวอิตาลี เข้ารับราชการในกระทรวงโยธาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นเวลา 25 ปี เขาเป็นสถาปนิกที่มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมสำคัญมากมาย เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ สถานีรถไฟกรุงเทพ ห้องสมุดเนียลสันเฮย์ส พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น รวมทั้งวังปารุสก์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถเคยประทับ

“ส่วนเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ นั้น เป็นสถาปนิกที่มาออกแบบต่อเติมอาคารชั้นสาม บริเวณที่มีเฉลียง ซึ่งฮีลีย์ก็เป็นสถาปนิกที่ทูลกระหม่อมปู่ทรงสนิทสนมด้วย”

เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ เป็นสถาปนิกชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ นอกจากรับราชการแล้ว ฮีลีย์ยังเปิดสำนักงานออกแบบเป็นธุรกิจส่วนตัวอีกด้วย ผลงานของฮีลีย์มีปรากฏอยู่มากมายบนแผ่นดินไทย เช่น ตำหนักทิพย์ ตึกเทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ ในเขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นต้น

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านจักรพงษ์นั้นเป็นแบบอิตาเลียนวิลลาหลังคาสูง มีมุขที่อาคารกลางเพียงมุขเดียว จุดเด่นคือหอคอยสูงตระหง่าน ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงหอนี้ไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความว่า

“การอยู่ที่ท่าเตียน ข้าพเจ้าชอบมากเพราะข้าพเจ้ารักแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่สุด อีกประการหนึ่งจากหอคอยบนยอดตึก เราเห็นวิวกรุงเทพฯ ได้อย่างน่าเอ็นดู เห็นหลังคาของตึกรามอันงดงามในพระบรมมหาราชวังและวัดโพธิ์ ทางตรงกันข้ามแม่น้ำก็เห็นได้ทั้งวัดอรุณฯ และวัดกัลยาฯ เป็นที่ชื่นตาชื่นใจแก่ข้าพเจ้ามาก” 

ปัจจุบันหอดังกล่าวเป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งพระอัฐิของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ด้วย

ท่านพ่อและหม่อมแม่

ภาพถ่ายและภาพวาดที่ปรากฏอยู่มากที่สุดในบ้านจักรพงษ์ คือพระรูปของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และภาพของหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา ท่านพ่อและหม่อมแม่ของหม่อมราชวงศ์นริศรา

“จริงๆ แล้วรัชกาลที่ 7 รับสั่งกับท่านพ่อไว้ว่าอย่าทำซ้ำรอยทูลกระหม่อมปู่อีก นั่นคืออย่าแต่งงานกับสตรีต่างชาติ แต่เมื่อท่านพ่อได้ทรงพบกับหม่อมแม่ก็เกิดความรักขึ้นทันที พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์พีระ ซึ่งทรงเป็นนักแข่งรถที่ชนะรางวัลระดับกรังด์ปรีซ์ในยุโรปหลายสนาม ได้ทรงแนะนำให้ทั้งสองรู้จักกัน ตอนนั้นท่านพ่อถึงกับรับสั่งกับพระองค์พีระว่า ‘อย่าให้ฉันได้เจอผู้หญิงคนนี้อีก เพราะฉันจะหลงรัก’ แต่ในที่สุดก็ช่วยไม่ได้” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าพร้อมรอยยิ้ม

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และภาพของหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา

“ดิฉันจำท่านพ่อไม่ได้มาก เพราะอายุยังน้อย และท่านสิ้นเมื่อดิฉันอายุเพียงเจ็ดขวบ ที่จำได้คือท่านพ่อโปรดเล่าเรื่องไทยๆ ให้ฟัง อย่างเรื่อง สังข์ทอง ตอนนั้นยังเป็นเด็กเล็กๆ ท่านจึงทรงเล่านิทานหรือวรรณคดีให้ฟัง ไม่ได้ทรงเล่าเรื่องทูลกระหม่อมปู่มากนัก อย่างเรื่องประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ทรงเล่าเลย แต่ดิฉันได้มีโอกาสมาอ่านเองจากพระนิพนธ์ของท่านเมื่อตอนที่โตขึ้น ก็เหมือนได้ฟังท่านเล่าด้วยพระองค์เอง อย่าง เกิดวังปารุสก์ นั้นเป็นหนังสือที่รักมาก เพราะเป็นหนังสือที่ทำให้อ่านภาษาไทยได้จนแตกฉาน”

ส่วนหม่อมแม่นั้น หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าว่าสนิทกันมาก เป็นเหมือนสองสหายที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปไหนด้วยกัน

“หม่อมแม่เป็นคนสนุก ชอบพาไปเที่ยว ไปสงขลา ไปเชียงใหม่ ไปหลายจังหวัด เดินทางกันพอสมควร แล้วก็ชอบไปหัวหินมากๆ ไปอยู่กันนานหลายสัปดาห์ ท่านเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบป่าเขา เคยไปล่องแม่น้ำแคว แม่น้ำสาละวิน ไปผจญภัยแล้วก็ไปวาดรูป ท่านวาดรูปเก่ง แล้วหม่อมแม่ก็ไปเป็นครูไปสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนราชินี มีเด็กเรียนกับท่านมากมายหลายรุ่น แล้วก็จำได้ว่าท่านพูดภาษาไทยเพี้ยนมาก ตอนนั้นเราเป็นเด็กเราก็อายว่าทำไมแม่พูดไม่ชัด มานึกถึงตอนนี้แล้วคิดว่าท่านเป็นคนที่ปรับตัวเก่งมากๆ” หม่อมราชวงศ์นริศรารำลึกถึงวัยเยาว์อย่างสนุกสนาน

สำหรับมุมโปรดของหม่อมเอลิสะเบธ คือเฉลียงหน้าห้องนอนชั้นบนที่มักจะใช้เป็นที่รับประทานอาหารเช้าของทั้งคู่ 

“ดิฉันก็จะไปนั่งทานอาหารเช้ากับท่านก่อนไปเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา จำได้ว่าจะมีหนังสือพิมพ์ที่ส่งมาจากต่างประเทศ เป็นแอร์ เมล แล้วเป็นกระดาษที่จับแล้วเกิดเสียงดังกร๊อบแกร๊บ เพราะเป็นกระดาษน้ำหนักเบาและบางมาก ยังจำเสียงเวลาหม่อมแม่พลิกกระดาษขณะอ่านหนังสือพิมพ์ได้ดี ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้จักแอร์ เมล กันแล้ว ส่งไลน์หากันเร็วกว่า” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้หม่อมราชวงศ์นริศราได้มีโอกาสใช้ชีวิตกับท่านพ่อเพียง 7 ปี แต่สิ่งที่ส่งผ่านจากท่านพ่อมายังหม่อมราชวงศ์นริศราคือความรักในหนังสือ ประวัติศาสตร์ และการประพันธ์

“ที่เลือกทำสำนักพิมพ์ River Books ก็เพราะชอบอ่านหนังสือมาก โดยเฉพาะ เกิดวังปารุสก์ เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่สอนให้อ่านภาษาไทยอย่างจริงจัง อีกอย่างคือความสนใจด้านประวัติศาสตร์ไทย ความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย หนังสือที่ River Books ผลิตมีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะเป็นหนังสืออันเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ เล่มแรกที่ผลิตคือ จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ ตามมาด้วย แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเล่มที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่นเรื่องปราสาทเขมรในไทย ฯลฯ 

“อีกกลุ่มหนึ่งเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับ Pop Culture อย่าง Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins and The Romance of Escape ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับโรงภาพยนตร์เก่าๆ อีกกลุ่มหนึ่งคือการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เช่น ผลงานของคุณวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ S.E.A. Write ได้แก่ เรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทย เช่น ผลงานของ ลอว์เรนซ์ ออสบอร์น (Lawrence Osborne) เรื่อง Hunters in the Dark ชื่อภาษาไทยคือ เกมล่าท้ากรรม

หม่อมราชวงศ์นริศราเปิดเผยว่า สำนักพิมพ์กำลังพิจารณานำพระนิพนธ์ เกิดวังปารุสก์ ตอนที่ 3 ของท่านพ่อ โดยปรับปรุงเชิงอรรถให้ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมทั้งหาภาพประกอบใหม่ๆ และจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง เพื่อรักษาวรรณกรรมที่สำคัญเล่มนี้ให้คงอยู่ต่อไป

จากความทรงจำที่นำมาสู่การอนุรักษ์

ในวัยเด็กครั้งที่หม่อมราชวงศ์นริศราตามเสด็จท่านพ่อกลับมาจากอังกฤษและได้เห็นบ้านจักรพงษ์นั้น

“เป็นบ้านเก่าๆ สีตุ่นๆ คล้ายสีเผือก ไม่สวยเลย ที่จำได้คือร้อนมากๆ และเต็มไปด้วยยุง กลางคืนต้องนอนในมุ้งใหญ่เบ้อเริ่ม ที่มุ้งจะมีโซ่สอดเย็บขมวดไว้ที่ปลายมุ้งเพื่อดึงให้มุ้งตึงแนบติดพื้น มุ้งจะได้ไม่ปลิวและยุงจะบินเข้าไปในมุ้งไม่ได้ ตกกลางคืนก็นอนห้องข้างบนด้านติดถนนซึ่งร้อนมากจนนอนไม่หลับ สมัยนั้นยังมีรถราง ก็จะได้ยินเสียงรถรางวิ่งผ่านไปมา ซึ่งเสียงดังมากๆ”

นอกจากนี้บริเวณรอบๆ บ้านยังโล่งและปราศจากต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น ในบ้านเองก็โล่งเพราะเครื่องเรือนจำนวนมากสูญหายไปในขณะที่ปราศจากผู้อยู่อาศัย

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

การบูรณะฟื้นฟูอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้นราว พ.ศ. 2528 เมื่อหม่อมราชวงศ์นริศราเดินทางกลับมาอาศัยที่บ้านจักรพงษ์เป็นการถาวร

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

“ห้องที่เริ่มปรับปรุงก่อนคือห้องที่ปัจจุบันเรียกว่าห้องเขียว ซึ่งเดิมเป็นเฉลียงรับลมแม่น้ำ ดิฉันตัดสินใจเปลี่ยนบริเวณโปร่งให้เป็นบริเวณปิด โดยกั้นกระจกปิดทุกมุม เพราะยุงเยอะเหลือเกิน ลมก็ไม่ค่อยมี เรือที่สัญจรไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ส่งเสียงดัง เราก็อยากมีห้องนั่งเล่นสบายๆ แบบไม่เป็นทางการ เป็นห้องสังสรรค์ง่ายๆ กับสมาชิกในครอบครัวหรือคนสนิท” 

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

หม่อมราชวงศ์นริศราชี้ให้ชมภาพเก่าของพื้นที่บริเวณห้องเขียวซึ่งเคยชำรุดทรุดโทรมมาก ความที่เคยเป็นเฉลียงโล่งจึงเผชิญทั้งฝน แดด และลม แต่ปัจจุบันนี้ห้องเขียวกลับมาสว่างงดงามสดใส และเป็นพื้นที่ที่สมาชิกครอบครัวใช้มากที่สุด ทั้งนั่งเล่น สังสรรค์ และทำงานไปด้วย

ห้องแดง

จากห้องเขียวซึ่งเคยเป็นบริเวณนอกตัวอาคาร เราตามหม่อมราชวงศ์นริศราเข้ามาในอาคารหลังงามเพื่อชมห้องแดง ซึ่งเป็นดั่งห้องรับแขกอย่างเป็นทางการ และเป็นห้องสำหรับจัดพิธีสงฆ์ในวาระสำคัญ สิ่งที่สังเกตได้ทันทีคือเพดานที่สูงโปร่ง ภายในโล่งด้วยปราศจากเสาระเกะระกะ ทั้งนี้เพราะสถาปนิกออกแบบอาคารให้มีผนังหนาทึบ เพื่อรองรับน้ำหนักอาคารสูง 3 ชั้นหลังนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งเสาค้ำยันภายใน

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

“เมื่อก่อนห้องแดงก็เป็นห้องโล่งๆ อย่างที่เล่าไปแล้วว่าเครื่องเรือนจำนวนหนึ่งสูญหายไประว่างช่วงเวลาหลายปีที่ไม่มีใครอยู่ ทุกอย่างที่เห็นในนี้ดิฉันเป็นคนไปซื้อหามาประดับ ส่วนมากมาจากเวิ้งนาครเขษม แล้วก็มีบางส่วนที่รื้อของที่เคยเก็บไว้ใต้ถุนบ้านมาแต่งผสมบ้าง ก็ค่อยๆ แต่ง ค่อยๆ พัฒนามาเรื่อยๆ ตลอดช่วงกว่าสามสิบปีที่ผ่านมา”

เมื่อก่อนที่บ้านจักรพงษ์ไม่มีภาพประดับตกแต่งใดๆ จึงทำให้รู้สึกว่าขาดชีวิตชีวา ดังนั้นจึงมีการนำภาพสำคัญๆ จากพระตำหนักที่คอร์นวอลล์ อันเคยเป็นที่ประทับในอังกฤษกลับมายังเมืองไทย และพระรูปสำคัญที่สุดในห้องนี้คือพระรูปพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่ปรากฏเด่นอยู่ตรงกลาง

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

“พระรูปท่านพ่อนำกลับมาจากคอร์นวอลล์ เป็นพระรูปที่วาดโดยศิลปินในยุค 1930 ชื่อว่า J.P. Barraclough ส่วนใต้พระรูปท่านพ่อมีเอกสารที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระนามแก่ท่านพ่อ นั่นคือคือพงษ์จักร ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเปลี่ยนเป็นจุลจักรพงษ์”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงเล่าเกี่ยวกับพระนาม ‘พงษ์จักร’ ที่ได้รับพระราชทานเมื่อแรกประสูติไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ความว่า

“ย่านั้นพอได้ข่าวว่ามีหลานคนแรกก็ทรงตื่นเต้นและหายกริ้วหมดเลย มาทอดพระเนตรหลานของท่านอย่างเร็ววัน เอาพระทัยใส่ในการจัดห้องหับและการดูแลทุกอย่าง ฯลฯ

“ในเมื่อเวลาสมควร ย่าได้ขนานนามให้ข้าพเจ้าว่าพงษ์จักร คือกลับนามจักรพงษ์ของพ่อเท่านั้นเอง แต่เรียกกันตามธรรมดาว่าหนู และสำหรับคนทั่วไป ข้าพเจ้าก็ท่านหนูตั้งแต่บัดนั้น” 

เมื่อแรกประสูติได้ทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจนต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘จุลจักรพงษ์’ และพระราชทานสถาปนาพระยศขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

ด้านตรงข้ามกับภาพเขียนสำคัญมีรูปปั้นม้างามสง่าตั้งอยู่ นั่นคือรูปปั้นม้าตัวโปรดของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นามว่ารามุชกา (Ramushka)

“รามุชกาเป็นม้าโปรดของทูลกระหม่อมปู่ ในหนังสือ ถึงลูกชายเล็ก ที่รวบรวมพระราชหัตถเลขากว่าสามร้อยฉบับที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีไปพระราชทานทูลกระหม่อมปู่ และลายพระหัตถ์ที่ทูลกระหม่อมปู่ทรงส่งกลับมาทูลเกล้าฯ ถวายก็มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่ทูลกระหม่อมปู่พระชนม์สิบหกพรรษา ท่านได้เสด็จแทนพระองค์รัชกาลที่ 5 ไปเฝ้าสุลต่านที่อิสตันบูล สุลต่านได้ประทานม้าให้หนึ่งตัว เป็นม้าอาหรับ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นม้ารามุชกาหรือไม่ แต่ถ้าพิจารณาจากภาพวาดม้าอาหรับตัวนั้นและหุ่นรามุชกาตัวนี้ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก เมื่อทูลกระหม่อมปู่ทรงสำเร็จการศึกษาจากรัสเซียและเสด็จกลับเมืองไทย ก็ได้ทรงนำม้าตัวโปรดกลับมาด้วย ยังมีเอกสารเรื่องการลำเลียงรามุชกาจากรัสเซียกลับเมืองไทยเก็บรักษาไว้” 

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงนำรามุชกามาเลี้ยงไว้ที่วังปารุสก์ ได้มีการค้นพบบันทึกส่วนพระองค์ที่ทรงเล่าว่าโปรดเสด็จทรงม้ารามุชกาไปยังที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เป็นประจำ ทรงบันทึกเส้นทางไว้ด้วยว่าเสด็จไปที่ไหน ผ่านถนนสายใด ทรงแวะพบกับใครหรือเสวยพระกระยาหารที่ไหน เมื่อรามุชกาตาย จึงโปรดให้หล่อเป็นรูปปั้นไว้

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

ของสำคัญอีกอย่างที่นำมาใส่กรอบกระจกประดับไว้ในห้องแดง คือฉลองพระองค์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เพิ่งค้นพบเมื่อ 10 ปีก่อนจากห้องใต้ดินของบ้านจักรพงษ์ ภายใต้ฉลองพระองค์มีพระรูปเมื่อยังทรงพระเยาว์ขณะที่ทรงฉลองพระองค์องค์เดียวกันนี้

“สิ่งของที่ประดับห้องต่างๆ ในบ้านจักรพงษ์มักเป็นสิ่งของที่มีประวัติ มีคุณค่าทางจิตใจ และชวนให้รำลึกถึงทุกๆ พระองค์อยู่เสมอ” หม่อมราชวงศ์นริศรากล่าว

ห้องเสวย

ถัดจากห้องแดงเป็นห้องสำคัญอีกห้องนั่นคือห้องเสวย 

“ปัจจุบันห้องเสวยเป็นห้องทานข้าวของครอบครัว โต๊ะไม้ที่เห็นเป็นโต๊ะใหม่เพราะโต๊ะเดิมกว้างเกินไป คุยแล้วเหนื่อย ฟังกันไม่รู้เรื่อง” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ 

“พวกเครื่องเรือนที่ใช้ประดับเป็นของที่ซื้อมาภายหลังโดยเลือกให้อยู่ในยุคเดียวกัน อย่างตู้ที่เห็นก็เป็นตู้ไม้เก่าที่ซื้อจากจากเวิ้งนาครเขษม ซึ่งดีใจมากเพราะขนาดเข้ากับแนวกำแพงพอดี เลยได้นำมาใส่เครื่องเงิน เครื่องเขิน เครื่องเบญจรงค์ เครื่องกระเบื้องที่เคยเก็บไว้ที่ห้องใต้ดิน หลายชิ้นเป็นของที่ตกทอดมาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ เป็นเครื่องเงินฝีมือช่างไทยจีนที่ละเอียดประณีต รวมทั้งเครื่องเงินของช่างฝีมือจากล้านนา”

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

ภาพเขียนสำคัญในห้องเสวย คือพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 5 ซึ่งวาดจากพระองค์จริงที่กรุงโรม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 ลงสีโดย คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli)

หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าว่า เมื่อท่านพ่อยังมีพระชนม์อยู่นั้น ผู้ที่ถวายการดูแลคือ ขุนพิสดาร จุลเสวก ซึ่งมีญาติที่ทำอาหารเก่งจนเป็นแม่ครัวเอกประจำบ้านจักรพงษ์ทำหน้าที่ปรุงพระกระยาหารถวาย

“ตอนเด็กๆ ดิฉันจำได้ว่าชอบเข้าไปในครัวซึ่งมีตั่งใหญ่เบ้อเริ่มตั้งอยู่ ดิฉันก็จะขึ้นไปนั่งบนตั่งแล้วดูแม่ครัวตำน้ำพริก แม่ครัวก็จะนุ่งผ้าลายไทย เคี้ยวหมากจนปากสีแดงแดงสด ความจริงก็ดูน่ากลัวอยู่นะคะ” หม่อมราชวงศ์นริศราเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะ

“แต่ความเป็นเด็กก็อยากรู้ว่าเขาทำอะไรกัน อยากไปลองตำน้ำพริกกับเขาบ้าง แล้วการเข้าไปในครัวก็เหมือนเป็นการหนีจากตัวบ้านที่ทุกคนคอยดูแลเราแบบคุณหนูแล้วไปอยู่ในครัวที่สนุกกว่า เป็นพื้นที่ที่ผู้ใหญ่ไม่ตามเข้าไป เราก็เล่นซนได้เต็มที่เลย ไม่ต้องเป็นคุณหนู” เมื่อจบประโยคนี้เสียงหัวเราะก็ดังขึ้นจากทุกคนอีกครั้ง

ในเวลาต่อมา เมื่อตัดสินใจเปิดธุรกิจโรงแรมจักรพงษ์ วิลลา หม่อมราชวงศ์นริศราได้ตัดสินใจนำอาหารหลายเมนูที่เป็นตำรับดั้งเดิมของบ้านไปรับรองแขก ก่อให้เกิดผลตอบรับดีเกินคาด 

“อาหารที่เสิร์ฟให้แขกก็เป็นอาหารที่มาจากตำรับของแม่ครัวคนนี้ กล้วยทอดเป็นเมนูเด็ดที่จำได้ว่าอร่อยมาก ทุกวันนี้แขกที่ได้ลองทานกล้วยทอดของเราก็ติดใจกันมากๆ หลายคนบอกว่าอร่อยที่สุดเท่าที่เคยทาน เมนูบางอย่างเราก็เปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้เป็นเมนูทางเลือกสุขภาพ เช่น ยำถั่วพู ถ้าเป็นสูตรดั้งเดิมจะต้องใส่เนื้อสัตว์อย่างหมูและกุ้งลงไป แต่เราลองทำยำถั่วพูที่เป็นมังสวิรัติ แต่สูตรน้ำยำยังเป็นสูตรดั้งเดิม ก็กลายเป็นเมนูขึ้นชื่อของที่นี่”

โถงกระไดและห้องทรงพระอักษร

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

จากห้องเสวย ผมตามหม่อมราชวงศ์นริศรามาชมงานศิลป์สำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณโถง นั่นคือกระได 

“กระไดบ้านจักรพงษ์นี้เป็นกระไดดั้งเดิมที่ดิฉันชอบมากๆ เพราะเป็นกระไดไม้ที่ออกแบบได้สัดส่วนลงตัว มีลวดลายเรียบๆ ที่งดงาม ลองสังเกตที่ราวจับจะเป็นร่องที่เวลาจับแล้วสบายมือมากๆ ก่อนหน้านี้เดินทางไปอังกฤษและติดล็อกดาวน์อยู่ที่นั่นนานมาก ไม่สามารถกลับเมืองไทยได้ สิ่งที่คิดถึงที่สุดก็คือกระไดไม้อันนี้” หม่อมราชวงศ์นริศราเล่าพร้อมรอยยิ้ม ก่อนชี้ชวนให้ผมเหลือบตาดูเพดานไม้ด้านบนที่สลักลายงดงาม พร้อมประดับด้วยโคมไฟโบราณ ซึ่งล้วนเป็นของดั้งเดิมคู่บ้านจักรพงษ์

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

ใกล้ๆ กับกระไดมีภาพสำคัญอีกภาพที่ได้มาโดยไม่คาดฝัน

“รูปนี้เป็นรูปจากฟิล์มกระจกสมัยที่ท่านพ่อทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแฮร์โรว์ เมื่อเสด็จไปเรียนที่อังกฤษใหม่ๆ การพบพระรูปนี้ก็มีเรื่องราวน่าสนใจมาก คือมีคนอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์ม ในฟาร์มนั้นมียุ้งข้าวและมีกองฟางกองใหญ่ ปรากฏว่าในกองฟางนั้นมีหีบซ่อนอยู่ พอเปิดหีบออกมาก็พบฟิล์มกระจกอยู่หลายแผ่น ซึ่งเป็นรูปนักเรียนแฮร์โรว์ในสมัยก่อน แล้วกลายเป็นว่าหนึ่งในฟิล์มกระจกนั้นเป็นพระรูปท่านพ่อ เขาเองก็ไม่ได้รู้จักท่านพ่อแต่เห็นพระนามสะกดเป็นภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ ก็เลยใช้ข้อมูลตรงนั้นในการสืบค้นจนติดต่อมาที่เรา และมีโอกาสเดินทางมามอบให้ถึงเมืองไทย”

บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่หาคำอธิบายได้ยากจริงๆ 

ห้องตรงข้ามกับพระรูปสำคัญที่เพิ่งกล่าวถึง คือห้องที่สำคัญที่สุดอีกห้องของบ้านจักรพงษ์ นั่นคือห้องทรงพระอักษร

“ห้องนี้เป็นห้องที่ท่านพ่อทรงใช้เพื่อนิพนธ์หนังสือหลายต่อหลายเล่ม อย่าง เกิดวังปารุสก์ ก็มาจากโต๊ะตัวนี้ เก้าอี้ก็เป็นตัวเดิมของท่าน มีภาพถ่ายทีมรถแข่งของพระองค์พีระกับท่านพ่อ ของหลายอย่างล้วนเป็นของที่มีมาตั้งแต่สมัยท่านพ่อยังมีพระชนม์ บางอย่างก็นำมาตกแต่งเพิ่มเข้าไปในช่วงหลัง ห้องนี้ก็มีมุมนั่งเล่นของครอบครัวในบางเวลา แล้วก็เคยเป็นห้องซ้อมดนตรีของวงสิบล้อที่ เล็ก-จุลจักร จักรพงษ์ เคยเป็นมือกีตาร์และร้องนำ 

“พรมที่เห็นนี้นำมาติดตอนหลังนะคะ เพราะเล็กบอกว่าจะดีกับการฟังเสียง แต่ตอนหลังดิฉันต้องมาขอคืนเพื่อเก็บไว้เป็นอนุสรณ์ถึงห้องทรงงานของท่านพ่อ” หม่อมราชวงศ์นริศราเผยพร้อมรอยยิ้มอีกครั้ง ผมแอบคิดในใจว่า โอ้โห ห้องทรงงานของท่านตาได้กลายมาเป็นห้องซ้อมดนตรีของหลานชายคนเก่งในเวลาต่อมา

เยี่ยมบ้านจักรพงษ์ บ้านท่าเตียนของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ ในการดูแลของทายาทปัจจุบัน

บุกเบิกบูทีกโฮเต็ลด้วยโรงแรมจักรพงษ์ วิลลา

เมื่อชมตัวบ้านจักรพงษ์เสร็จ ผมมีโอกาสไปเดินเล่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมชมโรงแรมจักรพงษ์ วิลลา ซึ่งหม่อมราชวงศ์นริศราบุกเบิกขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน

“ช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ก็เกิดแนวความคิดว่าจะทำโรงแรมขึ้นในบริเวณบ้านจักรพงษ์ คิดว่าเป็นโรงแรมแรกๆ ของเมืองไทยที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะบูทีกโฮเต็ล และก็ประสบความสำเร็จเพราะได้รับรางวัล Best Boutique Hotel ถึงสองครั้ง ดิฉันนำบ้านไทยที่ซื้อเก็บไว้จากอยุธยามาดัดแปลงเป็นห้องพักสำหรับแขก อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวด้วย เพราะชอบบ้านไทย อยากอยู่บ้านไทย แต่ได้มาอยู่บ้านแบบอิตาลีเสียนี่” เมื่อประโยคสัมภาษณ์นี้จบลงก็เรียกเสียงฮาจากผมอีกครั้ง

โรงแรมจักรพงษ์ วิลลา

“ดิฉันก็เลยสานฝันด้วยการนำบ้านไทยโบราณมาทำเป็นโรงแรม และก็คิดว่าตรงนี้เป็นบริเวณที่เหมาะมากสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย โรงแรมก็สงบร่มเย็นเพราะเป็นสวน นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ เพราะเมื่อก่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะอุดมไปด้วยเรือนแพหรือเรือนไม้ลักษณะนี้”

ปัจจุบันโรงแรมจักรพงษ์ วิลลา มีห้องพักเพียง 3 ห้อง บรรยากาศจึงสงบเงียบเป็นส่วนตัว ผู้มาพักสามารถชมทัศนียภาพอันงดงามของวัดสำคัญอย่างวัดอรุณฯ อย่างเต็มตาตื่นใจ และยังเต็มอิ่มกับอาหารตำรับพิเศษที่สืบทอดมาจากแม่ครัวเก่าแก่ของบ้านจักรพงษ์อีกด้วย

และแล้วก็ถึงเวลาที่สายตาผมเหลือบมายังคำถามข้อสุดท้ายในสมุดจด

“คุณหญิงรู้สึกอย่างไรที่เกิดมาเป็นลูกท่านพ่อ หลานทูลกระหม่อมปู่ และได้อยู่ในบ้านจักรพงษ์ครับ” ผมเอ่ยถาม

“รู้สึกว่าเป็นความภูมิใจและเป็นความโชคดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างอะไรจากคนทั่วๆ ไป เราก็คือคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เป็นแม่ เป็นย่า เป็นคนที่ทำงานหนัก และได้เลือกทำงานหนังสือที่ตัวเองรัก เป็นคนที่มีลูกน้องที่ต้องดูแล และมีบ้านจักรพงษ์ที่ต้องคอยบำรุงรักษา เพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์บางช่วงของเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งคนไทยรู้จักดี และเป็นเจ้านายที่ทรงสร้างสรรค์วรรณกรรมสำคัญให้กับแผ่นดินไทย” หม่อมราชวงศ์นริศราตอบคำถามข้อสุดท้าย พร้อมกับที่ผมปิดสมุดลงด้วยความอิ่มเอมใจ

ผมกราบลาหม่อมราชวงศ์นริศราด้วยความขอบคุณ คืนนั้นเมื่อกลับถึงบ้าน ผมไปยืนเล็งอยู่หน้าตู้หนังสือ ก่อนหยิบพระนิพนธ์ ‘เกิดวังปารุสก์’ ออกมาเริ่มต้นอ่านใหม่อีกครั้ง

ขอขอบพระคุณ

หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ผู้ให้สัมภาษณ์

เอกสารอ้างอิง 

เกิดวังปารุสก์ พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน