ถ้ายังจำขวดน้ำดื่มที่บนฉลากมีรูปและข้อมูลเด็กหายที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปีก่อนได้ The Master ของเราในครั้งนี้คือเจ้าหน้าที่เบื้องหลังการสเก็ตช์ภาพเด็กทั้งห้า ซึ่งนับเป็นคดีเด็กหายที่มูลนิธิกระจกเงาใช้เวลาติดตามนานมากสุดถึง 17 ปี

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์​ บูรณะ​ หรือ ผกก.ป้อม ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สํานักงานพิสูจน์หลักฐานตํารวจ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ คือนักสเก็ตช์ภาพคนร้ายมือวางอันดับหนึ่งของประเทศ เขาผ่านคดีระดับประเทศมากมาย ทั้งคดีคนหาย คดีอาชญากรรม ไปจนถึงคดียักษ์อย่างเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ ที่เป็นข่าวใหญ่ของ พ.ศ. 2558

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

แต่ผกก.ป้อม ไม่ได้เป็นตำรวจมาตั้งแต่แรกเริ่ม เขาเป็นนักเรียนศิลปะ ทำงานอยู่ในวงการครีเอทีฟและโฆษณาหลายปี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งสุดท้ายในฐานะ Art Director ทิ้งเงินเดือนครึ่งแสน เพื่อมาทำงานในฝ่ายศิลป์ฝ่ายเดียวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

และเมื่อเดือนที่ผ่านมา เขาเพิ่งมีนิทรรศการศิลปะของตัวเองครั้งแรกชื่อ PERSON TO PERSON ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพสเก็ตช์จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานระหว่างกระบวนการยุติธรรมและศิลปะ

เขาต้อนรับเราสู่ห้องทำงานที่มีชื่อตำแหน่งติดไว้บนกำแพงหลังโต๊ะทำงาน Forensic Artist หรือ นักสเก็ตช์ภาพคนร้าย ตำแหน่งที่เห็นชื่อก็รู้สึกถึงความเท่ ความเก๋ และอาจจะเป็นที่คุ้นเคยน้อยที่สุดในสำนักงานตำรวจ พอได้คุยกับผกก.ป้อม เลยได้รู้ว่านอกจากหน้าที่ของเขาจะเท่สมชื่อตำแหน่งแล้ว มันยังเป็นกำลังสำคัญของกระบวนการยุติธรรมอีกด้วยเช่นกัน

มูลเหตุ

ผกก.ป้อม เป็นคนเพชรบุรี ชอบเรียนวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพราะเป็นวิชาที่เขากลัวน้อยที่สุด ถ้าเป็นวิชาอื่นจะเลือกนั่งหลังห้อง ไม่นั่งหน้า แต่ครูศิลปะไม่เหมือนครูเลข ครูภาษาไทย และครูเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขาโปรดปรานวิชานี้กว่าใครเพื่อน แถมยังฝีมือดีได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดผลงานในงานกาชาดประจำจังหวัด 

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“โจทย์ตอนนั้นคือวาดรูปอะไรก็ได้ตามจินตนาการ เป็นช่วงของอะพอลโล 11 เราในวัยเด็กก็ติดตามข่าวเรื่องนี้ เลยเขียนรูปอะพอลโล มีจานบิน มีธรรมชาติ ภูเขา น้ำ ดวงอาทิตย์ที่เป็นเส้นๆ ผสมกันไปกับยานอวกาศ วาดๆ ไปไม่ได้คิดถึงผลแพ้ชนะ ปรากฏได้รางวัลชนะเลิศ ตอนกลางคืนก็ไปรับรางวัล วันรุ่งขึ้นไปเดินตลาด เจอรูปถ่ายตอนรับรางวัลติดอยู่ที่ร้านถ่ายรูปเกือบทุกร้าน” 

ความฝันของเด็กชายในวันนั้นก็เหมือนกับเด็กผู้ชายคนอื่นๆ อยากเป็นตำรวจ อยากพิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นคำตอบของเด็กๆ ส่วนใหญ่เวลาครูถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” เหมือนกับที่เพื่อนผู้หญิงของเขามักตอบว่า พยาบาลหรือครู แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ไม่มีความคิดนั้นอีก เส้นทางชีวิตของผกก.ป้อม ตรงไปที่อาชีพศิลปิน เขาเรียนต่อไทยวิจิตรศิลป์และวิทยาลัยเพาะช่าง โดยไม่มีความคิดว่าอยากโตไปเป็นตำรวจแม้แต่น้อย

“หลังเรียนจบเราทำงานหลายที่ เคยไปทำงานในโรงพิมพ์ด้วย ออกแบบการ์ด ออกแบบโปสเตอร์เล็กๆ ออกแบบนามบัตร ที่ทำงานก็โทรมๆ ทนทำไปพักหนึ่งเลยออกไปทำงานสายโฆษณา ทำอยู่ประมาณสี่ห้าปีได้ มีทั้งบริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ งานก็มีหลายรูปแบบทั้งหนังสือ นิตยสาร ออกไปช่วยนักข่าวทำงานยังเคยเลย ทำหมด เราเป็นคนที่เวลามีอะไรผ่านเข้ามาในชีวิต ถ้าทำได้ เราจะทำ”

ช่วงชีวิตที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการโฆษณา ผกก.ป้อม ก็ไม่ได้จับดินสอวาดรูปอีก จนถึงช่วงวิกฤตฟองสบู่แตกใน พ.ศ. 2540 เขาเริ่มมองอนาคตตัวเองใหม่ ก่อนจะตัดสินใจสมัครสอบเข้าเป็นตำรวจ โดยตั้งใจจะเข้ามาทำหน้าที่สเก็ตช์ภาพคนร้ายโดยเฉพาะ

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

คดีพลิก

ลองนึกภาพผกก.ป้อม ในสมัยนั้น หนุ่มวงการโฆษณา นุ่งกางเกงยีนส์ ใส่เสื้อยืด ผมปรกหน้า ตรงกันข้ามกับภาพของตำรวจโดยสิ้นเชิง เขาพลิกชีวิตจากคนทำงานสร้างสรรค์อิสระมาอยู่ใต้บังคับบัญชา เข้าอบรมในค่ายถึง 4 เดือน ตื่นตี 4 มาวิ่งออกกำลังกายและอยู่ในกฎระเบียบทุกอย่าง

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“Culture Shock มาก แต่ก็ผ่านมาได้นะ เราเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่เอาตัวรอดได้ เราเข้ามาทำตรงนี้เพราะนี่คือฝ่ายศิลป์ขององค์กร และเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการสืบสวน มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม สมัยนั้นเป็นแค่ฝ่ายหนึ่งเองนะ ตอนนี้เป็นกองกำกับแล้ว 

“ตอนที่เราเข้ามาน่าจะประมาณ พ.ศ. 2540 เป็นช่วงเวลาที่มีคดีเยอะมาก เสาร์อาทิตย์บางทีก็ไม่ได้หยุด มีกันแค่สองสามคนเป็นส่วนกลางของเขตนครบาล เวลามีคดีก็จะกระจายออกไปทำงานข้างนอกเสียส่วนใหญ่”

การสเก็ตช์ภาพคนร้ายเมื่อ 18 ปีที่แล้วเป็นช่วงรอยต่อระหว่างการใช้ดินสอกับคอมพิวเตอร์ เป็นยุคที่เครื่องแมคเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ตำรวจต้องฝึกใช้เมาส์วาดภาพในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ขอย้ำว่าเมาส์ ไม่ใช่เมาส์ปากกา

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“เอาเมาส์มาลากมันยังไม่ไปตามใจเราเลย หน้าจออยู่ตรงหน้า แต่เมาส์อยู่ข้างๆ มันไม่เหมือนเขียนบนกระดาษ เราเลยพยายามจะเอาเมาส์มาวางให้ตรงหน้าจอ แต่ตัวก็เอี้ยวผิดธรรมชาติ ก็เลยฝึกคำนวณด้วยสมอง โอเค มุมนี้คือตั้งฉาก มุมนี้ซ้ายขวา ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ก็ใช้จนคล่อง ทุกวันนี้ก็ยังใช่เมาส์ธรรมดาอยู่ ไม่ได้ใช้เมาส์ปากกา”

และบนโต๊ะผกก.ป้อม มีแผ่นรองเมาส์ความยาวประมาณหนึ่งศอกครึ่งวางอยู่

พยานปากสำคัญ

“การสเก็ตช์รูปตามคำบอกดูจะเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด” – เราเอ่ย

ผกก.ป้อม ส่ายหน้า แล้วบอกว่าสิ่งที่สำคัญและยากไปกว่านั้น คือการซักถามพยาน เพราะกว่าเราจะได้มาซึ่งตำหนิรูปพรรณ เราต้องสื่อสารกับพยานก่อน ต้องใช้หลักจิตวิทยาประกอบเพราะไม่มีใครจำได้ทุกอย่าง

“ถ้าจำทั้งหน้าอาจจะจำได้ สมมติเคยเจอใครสักครั้ง เจอกันอีกหนก็อาจจะทักกัน จำได้ เพราะมันมีความคล้ายคลึงอยู่ แต่เวลาให้การกับเจ้าหน้าที่ เราไม่สามารถอธิบายความคล้ายคลึงนั้น มันต้องบอกถึงลักษณะตำหนิรูปพรรณ โครงหน้าเป็นยังไง ตาชั้นเดียวหรือสองชั้น คิ้วหนาคิ้วบาง จมูกใหญ่จมูกเล็ก ปากหนาไม่หนา หูเป็นยังไง ทรงผมเป็นยังไง เหล่านี้ถ้าเราเจอความคล้ายคลึงอีกทีเราจำได้ แต่เราบอกเป็นส่วนๆ ไม่ได้ เมื่อกี้ขึ้นลิฟต์มานี่ คุณเจอใครในลิฟต์ไหม”

เราสองคนพยักหน้า อีกหนึ่งคนส่ายหัว

“แล้วจำหน้าเขาได้ไหม”

เราสามคนส่ายหัวพร้อมกัน

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“นี่ไง เหตุการณ์จริงๆ มันเป็นแบบนี้เลย สมมติว่าคนในลิฟต์ไปก่อเหตุ ไม่มีใครเห็น พอทางตำรวจไปดูกล้องวงจรปิด พบว่าคุณอยู่ในสถานการณ์เมื่อกี้ เลยไปขอข้อมูลลักษณะคนร้ายจากคุณ นี่คือความยากของการสเก็ตช์ภาพคนร้าย ประเด็นสำคัญคือเราไม่รู้จะมองเขาทำไม เขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เดินสวนมา ถ้าเขามองเรา เราถึงมองเขา แต่ส่วนของเราเองไม่มีเหตุในการต้องมอง 

“มันเป็นจุดสำคัญเลยนะที่ทำไมเราควรจะเป็นคนช่างสังเกต อย่างคดีระเบิดที่แยกราชประสงค์ มีคนร้ายหิ้วเป้มา วางเป้ หยิบโทรศัพท์ เดินโทรศัพท์ออกไป โดยที่ไม่มีใครสังเกตเขาเลย พอไปดูกล้องวงจรปิดเลยเห็นว่าขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปลงที่สวนลุมฯ แล้วถามว่าคนขับมอเตอร์ไซค์จะมองคนร้ายขนาดไหน นี่แหละคือความยากของงานที่ทำอยู่”

ผกก.ป้อมหยิบแฟ้มขนาดเอสี่บรรจุภาพสเก็ตช์คนร้ายจนเต็มขึ้นมาให้ดู นี่คือแฟ้มที่มีไว้ให้พยานดูความคล้ายคลึงของใบหน้าแล้วค่อยทำงานต่อ เป็นการช่วยเรียกความทรงจำของพยานอีกรูปแบบหนึ่ง

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“ในต่างประเทศเขาจะแยกเป็นชิ้นส่วน จมูกก็จมูก ปากก็ปาก คิ้วก็คิ้ว แต่เราคิดอีกวิธีหนึ่ง เราให้ดูทั้งหน้า อย่างที่เราบอกว่าสมองคนจะจำเรื่องความคล้ายเป็นอันดับแรก พยานดูแฟ้มนี้อาจจะเจอลักษณะใบหน้าที่คล้ายๆ หน้าผากอาจจะคล้าย จมูกอาจจะคล้าย บางคนปิดครึ่งหน้านี่ใช่เลย”

เขาเท้าความถึงเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์อีกครั้ง พยานปากสำคัญคนเดียวถูกซักถามตั้งแต่เช้ายันดึก กว่าจะมาถึงแผนกสเก็ตช์ภาพก็ราวๆ 5 ทุ่ม เวลานั้นพยานไม่มีกะจิตกะใจอยากจะคุยอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่ ผกก.ป้อม ทำคือช่วยเขา อธิบายให้เขาเข้าใจว่าความร่วมมือของเขามีประโยชน์แค่ไหน แล้วค่อยๆ นึกตามไปทีละจุด 

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย
พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

คนร้าย > คนหาย > ศพ

จากการสเก็ตช์ภาพคนร้าย พัฒนาไปเป็นการสเก็ตช์ภาพคนหาย จนถึงการสเก็ตช์ภาพศพ คดีที่เป็นที่พูดถึงมากๆ คือคดีน้องจีจี้ เด็กที่หายไปเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งเคยเป็นแคมเปญตามหาผ่านฉลากขวดน้ำดื่มสิงห์

“น้องจีจี้เป็นเคสแรกๆ เรามีภาพปีที่เขาหายไปคือตอนอายุเก้าขวบ แล้วเราก็ยึดตามหลักสากลว่า ถ้าอายุยังไม่ถึงสิบแปด จะสเก็ตช์ภาพใหม่ทุกๆ สามปี ถ้าเกินสิบแปดจะยืดระยะเป็นห้าปี และเดือนนี้น้องจีจี้หายไปครบสิบปีแล้ว เราเลยสเก็ตช์ภาพน้องจีจี้ตอนอายุสิบเก้า การทำภาพเด็กหายให้มีอายุเท่าปัจจุบันเรียกว่ากระบวนการ Age Progression ซึ่งทำในสหรัฐฯ เช่นกัน เราต้องลงพื้นที่ไปดูลักษณะของพ่อแม่ ดูแค่รูปถ่ายไม่พอ ต้องดูไปถึงพี่น้องเขา เพราะคนเราบางทีบางส่วนมันจะคล้ายกับพ่อบ้าง เหมือนแม่บ้าง ผสมไป อย่างน้องจีจี้มีน้อง เราก็ต้องดูว่าเขาหน้าตาแบบนี้ พออีกสามปีห้าปี หน้าตาเปลี่ยนไปยังไง”

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย
พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

ส่วนการสเก็ตช์ภาพจากศพ ผกก.ป้อม ยอมรับทันทีว่าถ้าไม่ใช้จินตนาการเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะศพส่วนใหญ่ที่มาถึงมือนักสเก็ตช์ไม่ใช่ศพที่ตายโดยธรรมชาติ แต่มักจะเป็นศพนิรนามที่โดนฆาตกรรม มีการอำพรางและทำลายศพ ผ่านการตัดชิ้นส่วน ผ่านการลอยน้ำ ทำให้ร่างเปลี่ยนสภาพจนไม่สามารถระบุชี้ตัว

“บางทีเจอแต่หัว ลายนิ้วมือก็หาพิสูจน์ไม่ได้ ช่วงเวลานี้ต้องอาศัยการสเก็ตช์ภาพ ดูจากเค้าโครง แต่ก็ต้องประเมินก่อนว่าเราทำได้ไหม ไม่ใช่ว่าเละจนไม่มีอะไรให้มอง บางคนดูไม่รู้ แต่เราพอสเก็ตช์ให้ใบหน้าชัดเจนขึ้นมาได้ มันก็เป็นประโยชน์ สองสามรายที่เป็น Case Study ก็มีความคล้ายนะ 

“เราใช้หลักการของศิลปะและตำหนิรูปพรรณ สัดส่วน เช่น การแบ่งใบหน้าเป็นสามส่วนเท่าๆ กัน ตายังมีร่องรอยของเปลือกตาไหม ริมฝีปากเป็นยังไง เราจะวิเคราะห์โดยใช้ทักษะ ประสบการณ์ วิชาศิลปะและกายวิภาค ผสมจินตนาการที่มีหลักการไปด้วย ถ้าบอกว่าไม่ใช้จินตนาการเลยก็เป็นไปไม่ได้”

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

รางวัลนำจับ

ตลอดเกือบ 20 ปี ผกก.ป้อม สเก็ตช์ภาพคนร้ายมาแล้วเป็นพันรูป ถ้าเทียบคนร้ายร้อยคน ที่เจ้าหน้าที่จับได้มีถึง 70 ถึง 80 ถ้าสังเกตในข่าว ภาพสเก็ตช์บางภาพอาจไม่เหมือนคนร้ายตัวจริงเสียทีเดียว แต่เพราะวิธีการมองของเจ้าหน้าที่สืบสวนกับคนทั่วไปไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่จะดูที่ตำหนิรูปพรรณ ในขณะที่เรามักจะยึดความคล้ายคลึงเป็นหลัก

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

“เจ้าหน้าที่จะดูภาพสเก็ตช์แล้วใช้ข้อมูลหลายๆ อย่างประกอบด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปทำคดีที่พัทยา คดีใหญ่มากเลย ทุกคนฝากความหวังไว้ที่เรา เพราะตอนนั้นไม่มีวิธีอื่นแล้ว พอถึงพัทยาทุกคนต้อนรับอย่างดี มีนักข่าว สื่อมวลชน นักสืบ เป็นห้าสิบหกสิบคนเลย เราสเก็ตช์ไปได้แค่สิบยี่สิบนาที เริ่มเห็นเค้าโครง เขาก็หายกันไปหมดเลย เพราะเริ่มรู้แล้วว่าคนร้ายน่าจะเป็นใคร แล้วสุดท้ายก็ใช่จริงๆ ด้วย 

“ความสำเร็จของการสเก็ตช์ภาพมันเลยวัดลำบาก งานของเราขึ้นอยู่กับสองส่วน หนึ่ง ภาพสเก็ตช์คนร้ายเปอร์เซ็นต์ของความคล้ายมีสูงไหม กับสอง ความจำของพยานมีมากไหม มันเลยตอบไม่ได้ว่าภาพสเก็ตช์จะออกมาคล้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกครั้งหรือเปล่า แล้วจะจับได้หรือเปล่า เพราะอย่างบางภาพก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่นักสืบก็มองออกแล้ว”

งานคือความสนุก ความกดดัน ความเครียด แต่ถึงอย่างนั้น ผู้กำกับฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากรคนตรงหน้าก็ยังเล่าเรื่องราวประสบการณ์ให้เราฟังด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

“ลองคิดดูว่าที่นั่งเฮลิคอปเตอร์ไป เสียค่าน้ำมันเท่าไหร่ นั่งไปนั่งกลับ ถ้าไปแล้วสเก็ตช์ภาพไม่ได้ หรือสเก็ตช์ออกมาแล้วจับตัวคนร้ายไม่ได้ มันกดดัน อย่างคดีระเบิดแยกราชประสงค์ที่เราไปสเก็ตช์ แล้วภาพเผยแพร่ทั่วโลกเลยนะ โอ้โห ดังเลย แต่คิดอีกมุมถ้าภาพกระจายไป แล้วจับคนร้ายมาแต่หน้าไม่เหมือนเลยนี่จะทำยังไง” 

Forensic Artist

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

ด้านหลังโต๊ะทำงานของผกก.ป้อม มีป้ายสีดำตัวหนังสือสีขาวเขียนว่า Forensic Artist หรือ นักสเก็ตช์ภาพคนร้าย เกือบครึ่งชีวิตที่เขาตั้งใจทำงานทุกวัน และมักนึกย้อนไปถึงวันที่ลงพื้นที่ พูดคุยกับพยานและผู้เสียหายอยู่เสมอ

“นั่นคือความเดือดร้อน บางคนเป็นคนแก่ทำงานลำบากมาทั้งชีวิต วันหนึ่งขายที่ได้เงินสิบล้าน ยังไม่ทันเอาเงินไปทำอะไร มีคนร้ายหลอกเอาเงินไปหมด หรือคดีฆาตกรรม ความเป็นธรรมของผู้เสียชีวิต ญาติพี่น้อง แม้กระทั่งคดีเด็กหาย เราวนเวียนไปพบปะกับคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวเป็นสิบปี เป็นความผูกพันที่เราอยากพบตัวเด็กคนนั้น 

“ทุกวันนี้ทั้งเรา ครอบครัว ตำรวจ และมูลนิธิ ก็ยังติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่คิดว่าเด็กเหล่านั้นเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งหมดนี้คือความทุกข์ของประชาชน เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำให้เราทำสิ่งที่เราทำ บทบาทของเรามันเป็นประโยชน์ที่จะช่วยได้ 

“เรามีโครงการชื่อ สเก็ตช์ภาพเตือนภัยในสังเกตจดจำ ไปพบปะนักเรียน เล่าให้เขาฟังถึงวิธีการหลอกลวงของคนร้าย เพราะเด็กๆ เขาไม่รู้หรอกว่ากลอุบายของคนร้ายเป็นยังไง เราเข้าไปหาเขา บอกเขา พร้อมกับให้เขาระวัง ถ้าเขาทำได้มันจะเป็นการปิดช่องทางของอาชญากรรม ไม่ก็เปลี่ยนจากหนักเป็นเบา”

สิ่งที่คนทั่วไปอย่างเราทำได้คือ การรับรู้สถานการณ์ อย่างน้อยเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง ยกตัวอย่างที่เขาถามเราเรื่องคนในลิฟต์ 

“ถ้าพวกคุณเดินเข้าลิฟต์ไปแล้ว เขาโยนระเบิดเข้าไปในลิฟต์ล่ะ” 

เราอึ้ง

“บางครั้งเราต้องประเมินสถานการณ์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด เช่นคดีกราดยิงที่โคราชเป็นตัวอย่าง เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา เคยเห็นแต่ในหนังในละคร เจอแบบนี้ เป็นเราเราจะทำยังไง เช่น เรากำลังขับรถเข้าห้าง ถ้าไม่ได้สังเกต ฟังเพลงโน่นนี่ ก็อาจจะเดินเข้าไปจนถึงตัวคนร้าย แต่ถ้าเรามีความระมัดระวัง สังเกตความผิดปกติจากระยะไกล เราอาจจะหลบหลีกได้”

ผกก.ป้อม ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำไว้แบบนั้น เขาเล่าให้ฟังว่า 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่งได้กลับมาจับดินสอวาดรูปอย่างจริงจัง ใครจะรู้ เร็วๆ นี้ เราอาจจะเห็นผลงานของเขาที่ไม่ใช่ภาพสเก็ตช์คนร้ายตามแกลเลอรี่ต่างๆ บ้าง

เราบอกลา ผกก.ป้อม ก่อนจะเดินลงลิฟต์ออกจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน แน่นอนว่าพยายามมองซ้ายมองขวาและรับรู้สถานการณ์ตามคำแนะนำของเขา

พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ จาก Art Director บริษัทโฆษณาสู่นักสเกตช์ภาพคนร้ายมือหนึ่งของไทย

ใครอยากชมผลงานของผกก.ป้อม สามารถไปนิทรรศการ PERSON TO PERSON ที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง(ศิลป์ พีระศรี) ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2563

*หมายเหตุ นิทรรศการ PERSON TO PERSON จบลงแล้ว

Writers

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Avatar

ภูมิ เพชรโสภณสกุล

อดีตนักศึกษาเอกปรัชญา นักหัดถ่าย นักหัดเขียน เป็นทาสแมว ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล