ไชย ไชยวรรณ คือกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียร์

โดยทั่วไป ข้อมูลถัดไปมักจะกล่าวถึงชายผู้นี้เรื่องภารกิจหน้าที่ ขนาดอาณาจักรธุรกิจ และตัวเลขอีกหลายชุด

แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องนั้นเท่าไหร่นัก

เราสนใจวิธีบริหารงานของเขา วิธีบริหารที่เขาบอกว่า บริหารงานแบบโลกตะวันตก บริหารคนแบบโลกตะวันออก

เขาหลงใหลปรัชญาตะวันออก ทั้งจีน ญี่ปุ่น และธรรมะ

หลงรักนิยายจีนกำลังภายใน

เชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์

เขาสนใจแก่นของปรัชญามากกว่าทฤษฎี เขาว่าถ้าเข้าใจแก่นของมัน เราเอาไปประยุกต์ใช้กับอะไรก็ได้

ความคิดในการบริหารของเขาหลายเรื่องถือว่าสร้างสรรค์แบบนอกกรอบ และทุกเรื่องอยู่บนพื้นฐานความงามและความหมายของชีวิตมนุษย์

บทสนทนาต่อไปนี้อาจเปรียบได้กับตำราการบริหารคนที่ง่าย งาม และยังไม่มีใครเขียน

อย่างที่เขาบอก “ทุกคนมีตำราหนึ่งเล่มให้เราเรียน”

นี่คือตำราที่บนหน้าปกเขียนว่า ไชย ไชยวรรณ

คุณบริหารงานแบบโลกตะวันตก บริหารคนแบบโลกตะวันออก สองโลกนี้คิดต่างกันอย่างไร

โลกตะวันตกเก่งด้านการสร้าง Business Model แต่โลกตะวันออกเข้าใจคุณค่าความเป็นคน เพราะจิตวิญญาณของโลกตะวันออกเป็นเรื่องความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ เข้าใจปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย เห็นคุณค่าของตัวเองและเห็นคุณค่าของผู้อื่น เห็นคุณค่าการสร้างความสุขให้กับตัวเองและผู้อื่น

ทำไมสองโลกนี้ถึงคิดต่างกัน

โลกตะวันตก ภูมิศาสตร์เป็นภูเขา ทุกอย่างต้องคิดแบบตรรกะว่าต้องใช้ม้ากี่ตัวถึงจะข้ามภูเขาลูกนี้ไปได้ แต่อย่างคนไทยอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง ถ้านั่งเรือแล้วขี้เกียจพาย เดี๋ยวน้ำก็พาเราไปถึงจุดหมายได้ เรามีความสบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรที่เป็นตรรกะมาก

ถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์โบราณ คนโลกตะวันตกส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าเร่ร่อน ย้ายถิ่นฐานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง พยายามยึดประเทศต่างๆ จนเกิดเป็นการล่าอาณานิคม แต่โลกตะวันออกไม่ใช่แบบนั้น คนตะวันออกส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวนา วิถีชีวิตต่างกัน ผมถึงมองว่าเราต้องมองธุรกิจแบบโลกตะวันตก รู้ให้ทันโลกตะวันตกเพราะเราต้องแข่งขันข้ามโลก แต่ต้องบริหารองค์กรแบบโลกตะวันออก เข้าใจคุณค่าของคน

คุณเรียนในโลกตะวันตกมาตั้งแต่เด็ก อะไรทำให้เชื่อโลกตะวันตกแค่ครึ่งเดียว

ผมไปเรียนอยู่หลายปีเลยค้นพบว่าฝรั่งไม่ได้เก่งกว่าเราทุกเรื่อง กลับมาก็ลองใช้สิ่งที่เรียนมาจากตะวันตก พบว่ามีข้อที่ไม่เหมาะกับนิสัยคนไทย อย่างเช่นในอดีตตัวแทนประกันมาจากคนหลากหลาย เขามีรายได้ไม่มาก พอได้จับเงินก็มีโอกาสทุจริต เราก็ใช้วิธีแบบฝรั่งคือ ปราบปราม ใครทุจริตก็จับ วันหนึ่งผมก็ตั้งคำถามว่า ต้องจับพวกนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ เขาทุจริตเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เพราะการศึกษาน้อย รายได้น้อย ทำไมไม่ทำให้เขารู้ว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่า พูดอีกมุมก็คือ อิคิไก แล้วเขาส่งต่อคุณค่านั้นถึงผู้อื่นได้ เขาคิดแบบนั้นแล้วจะทุจริตไหม เราเลยปรับทัศนคติของตัวแทนไทยประกันใหม่ คุณไม่ใช่แค่คนขายประกัน แต่คุณกำลังเอาคุณค่าของการขายประกันชีวิตไปมอบให้คนอื่น ซึ่งมันต้องใช้เวลาสื่อสาร และใช้วินัยด้วย

ถ้าคิดแบบฝรั่ง จะลดการทุจริตแบบใช้ KPI (Key Performance Indicator ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) แต่ถ้าคิดแบบตะวันออก คุณเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานได้ แล้วตัวเลขทุจริตจะหายไปเอง

การสร้างทัศนคติที่ดีให้พนักงาน ประเมินผลแบบ KPI ได้ไหม

ถ้ายึดวิธีคิดแบบฝรั่ง วัดผลไม่ได้แน่นอน เราจะวัดความดีของพนักงานด้วยอะไร แต่การสร้างทัศนคติที่ดีให้เกิดกับคนในองค์กร ถ้าเกิดขึ้นแล้วทุกอย่างจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี สิ่งหนึ่งที่คุณจะรู้ได้ในระยะยาวก็คือ องค์กรของคุณจะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน องค์กรขนาดใหญ่ในโลกตะวันตกหลายแห่งล้มเหลวเพราะใช้ KPI เป็นตัวขับเคลื่อนโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของคนในองค์กร

ไทยประกันใช้ KPI ในมุมไหน

KPI ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อลงโทษ แต่ทำให้คุณรู้ว่าถ้าคุณทำไม่ถึง คุณต้องนำกลับมาทบทวนหาข้อบกพร่อง ทำซ้ำ เพื่อแก้ไขมัน เมื่อคุณรู้สึกตัวว่าต้องเรียนรู้และปรับปรุงตัวตลอดเวลา ตัวคุณเองก็จะพัฒนา ความยั่งยืนก็จะเกิดกับองค์กรโดยอัตโนมัติ ถ้าเปรียบกับแนวคิดของญี่ปุ่นก็คือ ไคเซ็น หรือ Improvement after Improvement เป็นกระบวนการเดียวกับอิทธิบาท 4 ในเชิงพุทธ

ถ้าคุณอยากทำอะไรให้สำเร็จต้องมี ฉันทะ แปลว่า รักในงาน รักในองค์กร ภาษาอังกฤษคือ Passion มีแล้วจะเกิดกำลังใจ แรงบันดาลใจในการทำงาน วิริยะ คือขยัน พากเพียร กล้าเปลี่ยนแปลง จิตตะ คือมุ่งมั่น หรือมีสมาธิในการทำงาน วิมังสา คือทบทวนข้อดีข้อเสีย ข้อผิดพลาด หรือประเมินผลงาน ซึ่งจะทำให้เราเกิดปัญญา มันคือเรื่องเดียวกับไคเซ็น

การบริหารคนแบบตะวันออกน่าสนใจยังไง

ญี่ปุ่นมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร เพราะมาจากรากเหง้าของเขาที่ใช้หลักเซน ส่วนจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงหลายอย่าง ส่วนหนึ่งมาจากเขาเรียนรู้สิ่งที่โลกตะวันตกบอก แต่เขามีแนวคิดแบบขงจื๊อ เล่าจื๊อ ซึ่งมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาในจีน และมีจิตวิญญาณค้าขายมาตั้งแต่อดีต นี่คือสิ่งที่ฝรั่งกลัว ศาสนาพุทธก็สอนให้เราอยู่แบบพอดีๆ ทางสายกลาง มีอุเบกขา คือวางตัวเป็นกลาง เรานำสิ่งพวกนี้มาใช้ในการบริหารงาน บริหารคนได้

มีแนวคิดไหนบ้างที่หลายประเทศในโลกตะวันออกเชื่อเหมือนกัน

‘โอโมเทะนาชิ’ คือจิตวิญญาณการให้บริการแบบญี่ปุ่น ถ้าเป็นคนไทยก็คือคำว่า ใส่ใจ ญี่ปุ่นหมายถึงระหว่าง โฮส กับ เกสต์ แต่สำหรับไทยประกัน เราเปรียบลูกค้าเป็นเหมือนคนในครอบครัวของเรา เป็นที่มาของคำว่า ‘คิดเคียงข้าง’ เราจะเป็นคู่คิดที่เคียงข้างทุกชีวิตของลูกค้า นั่นคือสิ่งที่ผมสอนตัวแทนประกันให้รู้สึกว่า ตัวคุณจะมีคุณค่าต่อเมื่อคุณดูแลชีวิตคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนในครอบครัว และคุณให้บริการด้วยใจ ผมเรียกว่า Heart Made คือคำว่าใส่ใจ เอาใจไปใส่ในการทำทุกๆ เรื่องที่คุณทำให้กับลูกค้า

อิจิโกะ อิจิเอะ หมายถึงการเจอกันเพียงครั้งเดียวในชีวิต แล้วอาจจะไม่เจอกันอีก ถ้าเป็นคนไทยจะเรียกว่า น้ำใจ ความเอื้ออาทร เมื่อเราเจอใครสักคนหนึ่ง เราต้องมองว่าคนคนนั้นอาจจะมีความหมายกับเรา แล้วเราก็แสดงน้ำใจออกไป มีความใกล้เคียงกัน ผมเชื่อว่าแนวทางแบบโลกตะวันออกเหมาะสมกับคนไทย

แนวคิดการบริหารคนแบบตะวันออกอันไหนที่คุณคิดว่าชนะโลกตะวันตกแบบเด็ดขาด

ผมอ่านตำราเรื่องการบริหารคนมาเยอะ จนได้เจอหนังสือเล่มหนึ่งของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต คือธรรมะในการบริหารปกครองคนด้วยพรหมวิหาร 4 ท่านอธิบายสั้นๆ อ่านแล้วเข้าใจ เลิกอ่านหนังสือที่ฝรั่งทั้งหลายเขียนเลย เมตตา คือปรารถนาให้ลูกน้องมีความสุข กรุณา คือช่วยให้เขาพ้นทุกข์ เขามีปัญหาก็เข้าไปช่วยเขา มุทิตา คือยินดีเมื่อเขาได้ดี ประสบความสำเร็จ ถ้าเขาไปเป็น CEO บริษัทอื่น เขาก็จะนึกถึงเราในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นโค้ชเขา อุเบกขา คือเมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นมาแล้วเราวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ปัญหาระหว่างทีมงานก็จะไม่เกิด

ทั้งหมดนี้คือแก่นในการบริหารปกครองคน ถ้าเป็นนิยายจีนกำลังภายในก็บอกว่า ถ้าคุณเข้าใจแก่น ไม่มีกระบี่ก็เหมือนมีกระบี่อยู่ในมือ

พรหมวิหาร 4 เป็นเรื่องที่เราท่องกันได้ แต่ไม่มีใครเอามาใช้กับการทำงาน

เราท่องกันมาตั้งแต่เด็กว่า พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่พอผมถามลูกน้องว่า รู้ไหมว่าเมตตาแปลว่าอะไร เขาตอบว่า ไม่รู้ครับ เมตตาคือการปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข ถ้าเราจับแก่นตรงนี้ได้ จะเกิดความรัก ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความผูกพันจะเกิดขึ้นได้ คนในองค์กรต้องเข้าใจกัน จริงใจต่อกัน ต้องไม่ทิ้งกัน ต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ถ้ามีปัญหาในองค์กร จะใช้ธรรมะข้อไหนมาแก้ดี

อริยสัจ 4 มีปัญหาคือ ทุกข์ หาสาเหตุของปัญหาคือ สมุทัย วิธีแก้ปัญหาคือ นิโรธ ลงมือปฏิบัติคือ มรรค ไม่ต่างจาก PDCA (Plan, Do, Check, Action) ของฝรั่ง เมื่อเห็นปัญหาก็หาสาเหตุ เกาให้ถูกที่ แล้วลงมือแก้ นี่คือแก่น ตีความตรงนี้เข้าใจก็ใช้ได้ตลอดชีวิต

ถ้าอยากเป็นเจ้านายที่ลูกน้องรัก

ถ้าอยากเป็นที่รักของคนอื่น ต้องมีสังคหวัตถุ 4 ประกอบด้วย ทาน รู้จักให้ แบ่งปัน เสียสละ ปิยวาจา ให้คำปรึกษา พูดจาด้วยความปรารถนาดีต่อคนอื่น อัตถจริยา ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อเขาตกทุกข์ได้ยาก สมานัตตา เป็นคนอ่อนน้อม ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่ทิ้งลูกน้อง ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทำแบบนี้ก็จะเป็นที่รัก

เป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับทุกองค์กร

อย่างสตาร์ทอัพหรือ SME ถ้าเกิดปัญหาคุณก็ใช้อริยสัจ 4 แก้ปัญหา ระหว่างคุณทำงานกับทีมงาน ถึงคุณจะใช้หลัก OKR (Objective & Key Results การตั้งเป้าหมายรายบุคคลในองค์กรให้มีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน) แต่สุดท้ายเวลาคุณสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นในองค์กรก็ต้องใช้พรหมวิหาร 4 ต้องใช้สังคหวัตถุ 4 มันคือแกนของศาสนาพุทธ ถ้าเราเข้าใจศาสนาพุทธถึงแก่นแท้ ไม่ต้องลึกซึ้งก็ได้ ผมก็ไปไม่ถึงระดับลึกซึ้ง เอาแค่แก่น เราก็จะเอาแก่นเหล่านี้มาใช้กับชีวิตได้

แนวคิดเหล่านี้ดีกว่าทฤษฎีฝั่งตะวันตกยังไง

ถ้าเข้าใจปรัชญาเหล่านี้แล้วเอาไปใช้ มันง่ายกว่าการอ่านตำราเยอะเลย ไม่เชื่อลองกลับไปอ่านปรัชญาการใช้ชีวิตแบบจีนหรือญี่ปุ่น อ่านดีๆ อิคิไกก็ไม่มีอะไร คือการตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วมีความสุข มีแพสชันที่จะลุกไปทำงาน ถ้าไม่มีแพสชัน ผลลัพธ์งานก็จะออกมาไม่ดี ริเน็นที่บอกว่าอยากเป็นธุรกิจแบบต้นสนหรือต้นไผ่ ก็คือถ้าคุณคิดแบบตะวันตกจะ Maximize Profit ทุกปี แสดงว่าคุณมีความโลภ แต่ถ้าคุณคิดแบบญี่ปุ่น Optimize Profit ได้กำไรมาก็แบ่งปัน ตอนนี้ฝรั่งก็เริ่มมาแนวนี้แล้วคือ CSR

คุณไม่เชื่อเรื่องการทำกำไรสูงสุด

ผมเรียนมาแบบตะวันตกล้วนๆ แล้วก็พบว่าฝรั่งคิดแบบวิทยาศาสตร์และตัวเลข กำไรสูงสุดคือ ปีนี้ได้ 100 ปีหน้าต้องได้ 120 ปีถัดไป 150 ฝรั่งมีแรงขับคือการทำกำไรสูงสุด แล้วบอกให้ดูดีว่าทำให้ผู้ถือหุ้นได้เงินเพิ่ม บริษัทแข็งแรงขึ้น แต่ผู้บริหารต้องรับความเสี่ยงที่จะทำให้มีกำไรสูงสุดไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริหารอาจจะต้องผลักดันบางอย่างที่ผิดๆ

แต่ศาสตร์ตะวันออกยืนอยู่บนปรัชญา ศาสนาพุทธก็เป็นปรัชญา คำว่ากำไรที่เหมาะสม (Optimize Profit) ไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น ฝรั่งมีคำว่า Life in the Fast Lane มีคำว่าตายตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แต่คนตะวันออกไม่มีคำเหล่านี้ กำไรที่เหมาะสมคือ การรู้จักแบ่งปัน ไม่ได้ให้กำไรไปอยู่ที่ผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แต่นำมาแบ่งปันให้คนในองค์กร เมื่อเห็นรอยยิ้มหรือทำให้คนในองค์กรมีความสุข ทุกอย่างจะยั่งยืน มันคือปรัชญาที่ไม่ได้อยู่บนตัวเลข

คุณมองเรื่องจริยธรรมของผู้บริหารอย่างไร

ในอเมริกามีคำว่า Integrity Dignity มีคำว่า Good Governance หรือธรรมาภิบาล เพราะกฎหมายของอเมริกาบอกว่าไม่มีศาสนาประจำชาติ จึงไม่สามารถใช้แนวคิดของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาใช้กับประเทศเขาได้ คนไทยเราก็ไปเรียนรู้หลักธรรมาภิบาลเหล่านี้มา แต่สำหรับผม Integrity Dignity คือคำเดียวในพุทธศาสนา หิริ โอตตัปปะ พูดง่ายๆ คือเราละอายต่อการทำชั่ว นั่นคือศักดิ์ศรีของมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่เรามี แล้วหยิบสิ่งเหล่านี้ออกมา ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าประเทศอื่น

เหมือนฉันทะในทางพุทธก็คือแพสชัน เราอาจจะมีพรสวรรค์ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เรามีเท่าเทียมคือพรแสวง ความสามารถในการแสวงหาที่ดีนั้นต้องเกิดจากการที่เรามีแพสชัน นี่คือสิ่งที่ผมแตกหน่อออกมา ทุกอย่างเริ่มจากสิ่งง่ายๆ

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

คนเข้าใจว่าผมเป็น CEO แบบนักบริหาร แต่ผมเป็น Entrepreneur แบบ Strategist แล้วผมก็พบว่าการเป็นผู้ประกอบการหรือนักวางกลยุทธ์ก็ต้องบริหารคน คนคือสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กร การบริหารคนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานที่ไทยประกันช่วงปี 2525 จากบริษัทประกันชีวิตที่เล็กที่สุดจนถึงวันนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากคนในองค์กรล้วนๆ ต่อให้มีผู้นำที่เก่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่คนในองค์กรไม่ร่วมมือ มุ่งมั่น ผูกพัน ความสำเร็จก็เกิดขึ้นไม่ได้ เราจึงต้องสร้างความรักความผูกพันในองค์กร ทำให้ที่นี่เป็นเหมือนบ้าน เป็นที่มาของคำว่า Value of People หรือ People Business

ทำยังไงให้ตัวแทนประกันมีแพสชัน

ผมอยากให้ตัวแทนทุกคนเป็นคนดีและคนเก่ง เพราะจะทำให้เขามีคุณค่าในตัวเอง และส่งต่อคุณค่านั้นสู่สังคมได้ ผมจะสอนคนขายประกันตลอดเวลาว่า ถ้าทุกเช้าที่คุณตื่นขึ้นมาแล้วคุณได้ดูแลชีวิตคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของคุณ นั่นคือคุณได้สร้างคุณค่าให้เกิดกับตัวเองและกับคนอื่นด้วย มันเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจนะ เพราะฉะนั้น เมื่อคุณภูมิใจในอาชีพนี้ คุณต้องรักษาศักดิ์ศรีของตัวคุณและอาชีพนี้เอาไว้

เขาไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนประกัน แต่เป็นคู่คิดและเป็นทุกคำตอบเรื่องประกันชีวิตให้กับลูกค้า เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนจิตวิญญาณให้เขามีทักษะในการสร้างความไว้วางใจ ความผูกพันกับลูกค้าของเขา ซึ่งก็ตรงกับโอโมเทะนาชิ ตรงกับอิจิโกะ อิจิเอะ

อะไรคือเหตุผลที่จะทำให้คนซื้อประกันชีวิต

ความรัก ถ้าไม่มีความรัก เราจะไม่ซื้อประกันชีวิต เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีใครอยากใช้ จะใช้ก็ต่อเมื่อเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต เราซื้อประกันเพราะเรารักคนในครอบครัว รักคนที่อยู่ข้างหลัง อยากให้เขามีอะไรเป็นหลักประกัน อยากให้ลูกเรียนจบ อยากให้ภรรยาอยู่ต่อได้ ถ้าเป็นคนโสดก็คือรักตัวเอง ถ้าเกษียณแล้วเขามีเงินออมพอจะดูแลตัวเอง มีสิทธิ์คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลถ้าเจ็บป่วย กรมธรรม์ประกันชีวิตคือกระดาษแผ่นเดียว แต่เป็นกระดาษที่เต็มไปด้วยคุณค่าของความรัก คุณค่าของชีวิต กระดาษแผ่นนี้จะส่งต่อความรักไปยังคนที่เขารักได้

ผมเคยอ่านพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ความว่า คนเราควรมีชีวิตที่กว้างขวางมากกว่ามีชีวิตที่ยืนยาว ความหมายคือ เราควรสร้างคุณค่าของตัวเอง ถ้าเราเห็นคุณค่าและสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เราก็สามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับผู้อื่นในสังคมได้ ผมจึงใช้พระราชดำรัสของพระองค์ในการทำธุรกิจประกันชีวิต

แก่นของไทยประกันคือ คุณค่าของความรัก คุณค่าของชีวิต และคุณค่าของมนุษย์ คุณค่าของมนุษย์คือ เราเห็นคุณค่าของคนในองค์กร คุณค่าของลูกค้า คุณค่าของผู้ถือหุ้น และคุณค่าของคนในสังคม

คุณเป็นผู้บริหารที่มีทักษะในด้านการสื่อสารที่ดีมาก เริ่มสนใจสิ่งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ บริษัทยังเล็กผมเลยได้ดูหลายหน่วยงาน ตอนแรกถูกส่งไปดูงานฝึกอบรม ผมก็ไปร้านหนังสือดวงกมล หาหนังสือเรื่องการฝึกอบรมมาอ่าน ก็ไม่มี เลยมาควานหาด้วยตัวเองว่าฝึกอบรมคืออะไร ผมพูดไม่เป็นแล้วจะไปบรรยายอะไรได้ สุดท้ายก็พบว่า คนทำฝึกอบรมไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง คนพูดเก่งคือวิทยากร เราคือคนที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จ จะสื่อสารอย่างไรให้คนจบ ป.4 เข้าใจว่าขายประกันทำอย่างไร คนบรรยายต้องบรรยายภาษาชาวบ้านให้เขาเข้าใจ เอกสารต้องง่าย ต้องเป็นรูป มันคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมต้องไปเรียนรู้เรื่องนี้

วันดีคืนดีก็ต้องมาคุมฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฉันก็ไม่เคยเรียนประชาสัมพันธ์ แล้วก็มาค้นพบว่า ประชาสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการตลาด ยุคนี้เรียก Mar Com (Marketing Communication) แต่ในอดีตทุกคนมองว่าประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณาแบบเชยๆ โบราณๆ ไทยประกันชีวิตเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ใช้คำว่า Mar Com กับการสื่อสารองค์กร เด็กๆ ก็งงว่ามันแปลว่าอะไร หนูจบนิเทศฯ มาจะทำได้เหรอ ผมบอกว่า คุณทำได้เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน แต่คุณไม่รู้ว่ามันแตกแขนงออกมา

เทคนิคในการสื่อสารของคุณคือ

ผมพูดไม่เก่ง แต่ผมมีอาชีพเป็น CEO ที่ต้องสื่อสาร เลยต้องเอา Sound กับ Visual มาช่วย มีตัวแทนประกันคนหนึ่งทำงานกับเรามาตั้งแต่ยังสาว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นคนที่เก่งมาก ทุกคนรักเธอหมด วันหนึ่งเธอเสียชีวิต ผมอยากไว้อาลัยให้เธอในงานประชุมใหญ่หมื่นคน ผมไม่สามารถพูดให้คนซึ้งได้ ผมบอกออร์แกไนเซอร์ว่า ผมจะเริ่มต้นพูด แล้วขอให้เปิดเพลง เขียนถึงคนบนฟ้า ของ พิง ลำพระเพลิง แล้วมีภาพของพี่คนนี้บนจอ ถ้าคนหมื่นคนฟังแล้วไม่ร้องไห้ คุณเตรียมร้องไห้ เพราะผมจะไม่จ่ายเงิน (หัวเราะ)

ได้ยินว่างานต่อไปของคุณ ออร์แกไนเซอร์ก็กำลังร้องไห้

เป็นงานคืนวันเกียรติยศของตัวแทนประกันที่ประสบความสำเร็จ เราจัดที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ใช้เชฟมือหนึ่งที่เป็นชาวจีน ถ้าเป็นเมนูปกติกินแล้วก็แค่นั้น แต่ผมอยากได้เมนูที่มีเรื่องราว ผมบอกออร์แกไนเซอร์ให้ไปบอกเชฟว่า ให้ทำเมนูตามชื่อต่อไปนี้ ไปคุยกับเชฟยังไงก็ได้ ผมจ้างคุณแล้ว คุณไปเคลียร์มาให้ได้

เมนูแรกชื่อ ‘ไม่มีอดีต ไม่มีปัจจุบัน’ ให้ทำอาหารจากมาม่าและปลากระป๋อง มีไข่ต้มด้วยก็ได้ ให้เชฟทำมาให้สวยเลย ผมอยากจะบอกว่า ก่อนที่ตัวแทนที่ประสบความสำเร็จจะมาถึงจุดนี้ เขาเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย ชีวิตวันนั้นเขาอาจมีแค่น้ำเปล่ารองท้อง ตื่นมากินแค่มาม่าหรือขุดปลากระป๋องมายำ หรือกินแค่ไข่ต้ม ผมจะพูดกับตัวแทนประกันเองว่า นี่คือเมนูแรกที่เราจะให้คุณหวนนึกถึงอดีต เพราะความยากจนในอดีตคือแพสชันที่ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จในวันนี้ มันเป็นกิมมิกที่จะทำให้เรารู้สึกปีติ

เมนูที่สอง ‘ความฝันใต้เงาจันทร์’ ถ้าคุณไม่มีความฝัน คุณก็ไม่มีแรงบันดาลใจ แพสชันของคุณก็จะไม่เกิด เชฟทำอาหารอะไรมาก็ได้ตามคอนเซปต์นี้

เมนูที่สาม ‘หาญท้าชะตาฟ้า’ ถ้าคุณมีความฝันคุณต้องหาญ ภาษาจีนพูดว่า ชะตาฟ้าชะตามนุษย์ ถ้าฟ้าลิขิตให้คุณเก่งแต่คุณไม่ลงมือทำ คุณก็เป็นคนเก่งไม่ได้

เมนูที่สี่ ‘โอกาสของผู้กล้า’ คุณจะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับโอกาส

เมนูที่ห้า ‘ชีวิตที่มีคุณค่า’ คุณจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีชีวิตที่มีคุณค่า หรืออิคิไก

เมนูสุดท้าย ‘สร้างด้วยหัวใจ’ ทุกอย่างคุณต้องสร้างด้วยหัวใจ หรือ Heart Made

ตัวแทนประกันจะได้อะไรจากการกินอาหารเหล่านี้

ถ้ากินอาหารของเชฟมิชลิน ใครๆ ก็ทำได้ แต่เมนูแบบนี้ไม่มีใครทำให้คุณ เพราะเป็นเมนูที่สร้างจากเรื่องราวของคุณ เขาก็จะชื่นชมแล้วลุกขึ้นแล้วฮึดสู้ เพื่อที่ปีหน้าจะได้กลับมาที่งานนี้อีกครั้ง

คุณให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ยุคนี้อย่างไร

คนรุ่นใหม่มองความสำเร็จที่รวดเร็ว แต่บางครั้งคนเราต้องอดทนอดกลั้น ความสำเร็จที่มาเร็ว บางทีมันก็ล้มเหลวได้ ความสำเร็จที่ค่อยๆ เกิดขึ้นจะทำให้เรามีภูมิต้านทานที่แข็งแรง คนรุ่นใหม่เห็นไอดอลหลายคนไม่ต้องเรียนจบก็รวยได้ เช่น สตีฟ จ็อบส์ หรือมหาเศรษฐีในโลกนี้และหลายๆ ท่านในเมืองไทย แต่ท่านเหล่านั้นเป็นแค่ไม่กี่คนในประชากรทั้งหมด ถ้าเราไปศึกษาชีวิตเขาจะพบว่าเขามีแพสชันบางอย่าง

คนรุ่นพ่อแม่เราเป็นมหาเศรษฐีเพราะมีแพสชันที่อยากหนีความยากจน ถ้าไม่ต้องการหนี เขาจะไม่ทำงานหนักขนาดนี้ ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่อยากใช้เงิน ซื้อของไปให้ท่านก็บอกว่า เอามาทำไม มันแพง ต้องมัธยัสถ์ เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องแบ่งปันข้าวสาร ต้องมัธยัสถ์ แต่คนรุ่นที่สองเริ่มไม่มีแพสชัน เพราะตัวเองเกิดมาสบายแล้ว แพสชันที่มีคือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัวอยู่ต่อได้อย่างยั่งยืน

แล้วคนรุ่นใหม่ที่เปิดร้านกาแฟ ถือว่ามีแพสชันเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ไหม

เด็กรุ่นใหม่บางคนที่บ้านมีฐานะ เรียนจบปริญญาโทมาแล้วอยากเป็นบาริสต้า ก็ไม่ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ที่ขายโอเลี้ยง ขายกาแฟ เพียงแต่บาริสต้าดูดีกว่าหน่อย แต่ต่างกันที่ถ้าเด็กล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แค่กลับไปบ้านพ่อแม่ก็มีข้าวให้กิน แต่สมัยก่อนถ้าคุณขายโอเลี้ยงแล้วคุณล้ม คุณจะไม่มีกิน เด็กรุ่นใหม่มองว่าอะไรก็ตามที่ฉันรักที่ฉันชอบคือแพสชัน แต่ไม่ใช่ เพราะคุณไม่มีสิ่งที่ Drive คุณจริงๆ นักจิตวิทยาอาจจะบอกว่า ตัว Drive คือปมด้อยที่คุณอยาก Drive ให้เป็นปมเด่น คนรุ่นพ่อมีปมด้อยคือความยากจน วันนี้ฉันต้องทำให้เป็นปมเด่นให้ได้

ถ้าเราเจอแพสชันที่แท้จริง ก็จะประสบความสำเร็จได้

ถ้าไปดูคนที่ประสบความสำเร็จ ทุกคนต้องมีทัศนคติเชิงบวกด้วย ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้ง คุณจะลุกขึ้นได้ แล้วสิ่งที่ตามมาในเชิงพุทธศาสนาก็คือ เราจะเกิดปัญญา ถ้าคุณมีทัศนคติเชิงลบเมื่อไหร่ คุณล้มแล้วจะไม่ลุก

ตอนเริ่มงานใหม่ๆ คุณพ่อให้คำแนะนำอะไรบ้าง

ท่านไม่ค่อยได้สอนวิธีการทำงาน ท่านปล่อยให้ผมเรียนรู้และมีประสบการณ์เอง สิ่งที่ท่านสอนคือนำปรัชญาคำสอนจีน ส่วนใหญ่เป็นของขงจื๊อ เล่าจื๊อ มาพูดให้ผมฟัง เป็นการเตือนสติ บางทีท่านก็นั่งคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไป พอฟังแล้วเราต้องตีความให้เป็น ใครชอบอ่านหนังสือจีนกำลังภายในจะนึกออกว่าพวกเคล็ดวิชาพระเอกจะตีความได้ แต่คนอื่นตีความไม่ออก

คุณชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายในหรือ

หนังสือคือแหล่งความรู้ที่ทำให้ผมต่อยอดในเรื่องอะไรก็ได้ เป็นคลังความรู้เหมือนลิ้นชักยาจีน ในชีวิตผมอ่านหนังสือหลากหลายมาก ผมหยิบโน่นนี่นั่นมาอ่านตลอด ตั้งแต่ เพชรพระอุมา เรื่องผี ป.อินทรปาลิต ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนรุ่นใหม่ผมก็อ่านงานของอาจารย์เกตุวดีนะ อ่านแล้วก็ให้คนไปตามหาชวนอาจารย์มาบรรยาย

นิยายจีนมักแฝงปรัชญาจีน เพราะจีนเติบโตมากจากลัทธิ ไม่ใช่ศาสนา ไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เล่าจื๊อ สิ่งเหล่านี้ปนเข้ามาอยู่ในชีวิตและวัฒนธรรมจีนตั้งแต่ต้น จากที่อ่านเรื่อยๆ เพื่อความบันเทิงก็ได้ข้อคิดเอามาใช้ทำงานหรือใช้ในชีวิตประจำวัน อย่าง สามก๊ก ก็สอนให้รู้จักคน ตัวละครแต่ละตัวมีนิสัยไม่เหมือนกัน ทำให้เรารู้ว่าในชีวิตจริงมีคนประเภทนี้อยู่ด้วย

ผมอ่านมาตั้งแต่ยุคที่นิยายจีนกำลังภายในเล่มละบาท มันมียุคของมันนะ ยุคแรกเป็นเรื่องอภินิหาร กำลังภายใน หลังจากนั้นยุคกิมย้งหรือโกวเล้งก็เน้นที่ปรัชญามากขึ้น มาถึงยุคของหวงอี้จะมีเรื่องวิทยาศาสตร์เข้าผสม ยุคนี้ผมไม่ได้อ่านแล้ว มันต้องใช้เวลาเยอะมาก ไม่ทันนักเขียนยุคหลังๆ แล้ว

นิยายจีนเล่มโปรดของคุณคือ

ไม่มี ตำราที่ดีที่สุดไม่ได้อยู่ในตำรา แต่มันคือประสบการณ์ของคนที่เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว การศึกษาไม่มี อยากค้าขายก็ไม่มีทุน เลยมาสมัครขายประกัน นี่คือหนังสือที่บอกผมเรื่องชีวิตคนคนหนึ่ง การคุยกับพวกเขาทำให้เราตกผลึกบางอย่าง ทุกคนมีตำราหนึ่งเล่มให้เราเรียน

ได้อะไรจากการอ่านนิยายฝรั่งบ้างไหม

ตอนผมเรียนบริหารธุรกิจที่อังกฤษ มีวิชาเลือกระหว่างงานของเชกสเปียร์กับวิจารณ์วรรณกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผมไปเถียงกับอาจารย์ว่าผมเลือกบริหารธุรกิจ ทำไมต้องเรียนวรรณกรรมด้วย อาจารย์บอกว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คุณคงไม่ได้คุยกับคนอื่นแค่เรื่องของธุรกิจอย่างเดียว คุณต้องคุยเรื่องอื่นด้วย เช่น ศิลปะ สังคมศาสตร์ สุดท้ายก็ต้องเรียน ภาษาอังกฤษผมก็ไม่แข็งแรงมากเลยเลือกวิจารณ์วรรณกรรม ตอนแรกสงสัยว่าตัวเองจะไปไม่รอด แต่วิธีการสอนเขาดี เขาให้ไปดูละคร ไปทำความเข้าใจตัวละครด้วย อย่างเรื่อง Death of a Salesman ก็ต้องวิเคราะห์ว่า ทำไมอาร์เธอร์ มิลเลอร์ ถึงเขียนเรื่องนี้ แง่มุมของเรื่องนี้คืออะไร ทำให้ผมเข้าใจเซลส์แมน สิ่งนี้ติดตัวมาถึงทุกวันนี้ เวลาเราดูหนังก็จะดูอีกมุม ไม่เหมือนคนดูทั่วไป

ได้ใช้ประโยชน์จากการดูหนังแบบนักวิจารณ์ไหม

เวลาบรีฟผู้กำกับโฆษณาผมก็บอกว่า อยากได้ไฮไลต์แบบฉากในเรื่อง Dead Poets Society ที่ตอนจบทุกคนขึ้นไปยืนบนโต๊ะเพื่อแสดงให้เห็นว่า โรบิน วิลเลียมส์ คือครูที่ดีที่สุด เข้าใจไหมครับผู้กำกับ ผมจะสื่อสารด้วยวิธีการของเขา ไม่ใช่วิธีการของนักการตลาด เพราะเราควรสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของเราด้วยวิธีการของเขา ถ้าสื่อสารด้วยวิธีการของเรามันไม่สำเร็จหรอก

ไทยประกันชีวิตน่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่แบรนด์เดียวของไทยที่ใช้เอเจนซี่โฆษณาเดิมต่อเนื่องเกือบ 20 ปี อะไรทำให้ไทยประกันชีวิตไม่เปลี่ยนใจจากโอกิลวี่

ถ้ามองในมุมการตลาด การเปลี่ยนเอเจนซี่บ่อยๆ จะช่วยเสนอมุมมองการตลาดใหม่ๆ ได้ แต่ไทยประกันชีวิตไม่ได้ใช้งานโฆษณาในลักษณะของการตลาด แต่ใช้เพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับสาระ ได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า คุณค่าแห่งความรัก คุณค่าแห่งชีวิต และคุณค่าแห่งมนุษย์ หนังของไทยประกันสร้างอยู่บนแกนนี้ ไม่ใช่การโฆษณาผลิตภัณฑ์ เอเจนซี่จึงต้องรู้จักเราในระดับที่ลึกจริงๆ ถึงจะผลิตงานในระดับที่คลาสสิกได้

คุณอยากให้คนได้อะไรจากการดูหนังโฆษณาไทยประกัน

อยากให้นำความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการดูหนังไปมอบให้คนที่เขารัก ลูกๆ ดูโฆษณาบางเรื่องจบแล้วก็จะหันไปคิดถึงตัวเองว่าทำอะไรไว้กับพ่อแม่บ้าง ได้ส่งมอบความรักคืนให้พ่อแม่หรือเปล่า คนที่เป็นพ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งลูกสาวท้องก่อนแต่งเราควรจะทำอย่างไรกับสิ่งนี้

การทำหนังแต่ละเรื่องกับคุณกรณ์ (กรณ์ เทพินทราภิรักษ์-ครีเอทีฟ) และคุณต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย-ผู้กำกับ) เราถือว่าทุกชิ้นเป็นอนุสาวรีย์แห่งการทำงานของเรา ยังมีอีกหลายเรื่องนะที่ไม่ได้คลอด ด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่ทั้งหมดเป็นหนังที่ดีนะ

แล้วหนังโฆษณายุคแรกใครเป็นคนทำ

หนังโฆษณาทั้งหมดของไทยประกันชีวิตทำโดยเอเจนซี่ 2 เจ้า เจ้าแรกเป็นของคนไทยชื่อ C V T & Bersia เขาเป็นคนคิดสโลแกน ‘ความสุขที่คุณดื่มได้’ ของเบียร์คลอสเตอร์ ‘รับรองจะติดใจ’ ของน้ำมันพืชมรกต เขาคิดสโลแกน ‘ด้วยรักและห่วงใย’ ให้ไทยประกัน และทำหนังโฆษณาให้เราจนได้รับรางวัลตั้งแต่ต้น ผูกพันกันเป็นสิบปีก่อนที่เขาจะวางมือ เราถึงมาทำงานกับโอกิลวี่

ธุรกิจประกันภัยถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีบ้างไหม

ถ้าเราเข้าใจและรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีจะ Disrupt เราไม่ได้ เราต้องรู้จักตัวเอง Reinvent Business Model และ Reinvent ตัวเองขึ้นมาใหม่ เราลดงานประจำได้ด้วยการใช้ AI ถ้าเราใช้หัวใจควบคุมเทคโนโลยีนั้น เราก็จะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้

AI สังเคราะห์ข้อมูลให้เราได้ แต่เราต้องใช้ข้อมูลด้วยความเอื้ออาทร ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจลูกค้า ถึงจะนำข้อมูลนั้นมาสร้างความผูกพันและมิตรภาพกับลูกค้าได้

เช่นเรามี Big Data แล้วรู้ว่าวันนี้ลูกค้าเสียคนที่เขารัก ถ้าเรามองลูกค้าในระดับของมนุษย์ที่ลึกซึ้งกว่าระดับของลูกค้า เราก็จะเอาสิ่งนี้มาสร้าง Business Model ใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ส่งข้อความไปแสดงความเสียใจ แต่โยนข้อมูลนี้ไปให้ตัวแทนประกันไปพบลูกค้าไปแสดงความเสียใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ฉะนั้นเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือมันเปลี่ยนเร็วมาก

อะไรคือสิ่งที่เทคโนโลยีทดแทนไม่ได้

หนึ่ง ความรัก สอง ความคิดสร้างสรรค์ คุณอาจจะมี AI มาช่วยผ่าตัดหรือวินิจฉัยโรค แต่สุดท้ายในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณคงไม่อยากให้ AI มาบอกว่าคุณเป็นโรคร้ายแรง คุณอยากให้หมอที่มีความรู้สึก มีความเข้าใจคุณมาอธิบายมากกว่า เพราะสิ่งที่หมอกำลังถ่ายทอดเรื่องโรคให้คุณ เขาใช้หัวใจพูด

ทีมงานบอกว่า คุณจดความคิดต่างๆ ในกระดาษเก็บไว้เยอะมาก

นึกได้ผมก็เขียนไปเรื่อย นี่ไงครับ ผมเขียนว่า (เปิดข้อความที่เขียนไว้อ่านให้ฟัง)

การรดน้ำต้นไม้ไม่ได้รดที่ยอด แต่ต้องรดให้ลึกไปถึงราก ที่สำคัญ ต้องรดด้วยใจ หมายความว่าผู้บริหารที่ดีต้องคิดถึงความสุข ความทุกข์ ของคนอื่นมากกว่าของตนเอง ผู้บริหารที่ดีไม่ต้องเป็นพระเอก แต่ทำหน้าที่สนับสนุนเขาอยู่ข้างหลัง รับฟังให้มาก ห่วงใยปรารถนาดีอยากให้ลูกน้องมีความสุข มีเมตตาไปพร้อมกับการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน และอย่าใจดีจนเป้าหมายเราพร่าเลือน

ความอบอุ่นที่มีให้กันจะทำให้ความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายแข็งแกร่งขึ้น

ใจดีแล้วก็ต้องมีวินัย ต้องแยกออกจากกัน

มีคำสอนเกี่ยวกับการเป็นผู้นำบ้างไหม

หัวหน้าต้องเป็นสมอง กุญแจ และกาวใจ เป็นหัวสมองคือ คิดแทนคนอื่นเป็น เป็นกุญแจคือ เมื่อมีปัญหาต้องคอยแก้ไขปัญหาให้เขา และเมื่อเกิดการขัดแย้งกัน ต้องเป็นกาวใจ หัวหน้าที่ดีต้องมี 3 อย่างนี้

แล้วนิยามของกำไรที่เหมาะสมแบบไทยประกัน

กำไรน้อยแต่มีความสุขมาก เรากำไรน้อยลงสักนิด แต่ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า เพราะเราเอาเงินก้อนนั้นไปทำให้รอยยิ้มของลูกค้าเกิดขึ้น กำไรน้อยลงแต่จ่ายโบนัสให้พนักงานมากขึ้นก็ได้เห็นรอยยิ้มของคนในองค์กร สุดท้ายกำไรน้อยลงสักนิด ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า รอยยิ้มของคนในองค์กร เราก็จะได้เห็นรอยยิ้มของตัวเราเอง นั่นคือคุณค่าของชีวิต และนั่นคือคุณค่าของมนุษย์ และนั่นจะแสดงความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า ริเน็น

10 Questions Answered

by CEO of Thai Life Insurance

  1. งานประเภทไหนที่ต้องดูแลด้วยตัวเอง ปล่อยไม่ได้เด็ดขาด : เรื่องเกี่ยวกับการบริหารคน
  2. หนังสือที่เพิ่งอ่านจบ : ปัญญาอนาคต ของ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เราควรจะสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ในโลกที่ไม่แน่นอน อีกเรื่องของ เคน โมหงิ เรื่องอิคิไก คือความหมายของการมีชีวิต
  3. การทำงานในวัยนี้ต่างจากตอน 25 35 45 อย่างไร : 25 เป็นคนไฟแรง อยากเปลี่ยนแปลงโน่นนี่ อยากสร้างโลกใหม่ แต่โตขึ้นก็พบว่าเรายังขาดทักษะและประสบการณ์ที่ต้องใช้เวลาสร้างและสะสม 35 เริ่มมีทักษะและประสบการณ์มากขึ้น แต่มักจะขาดความเข้าใจ ความเห็นใจเพื่อนร่วมงาน เพราะมองเป้าหมายในการทำงานเป็นสำคัญ 45 เริ่มเข้าใจเรื่องคุณค่าของสิ่งต่างๆ เริ่มเข้าใจทุกเรื่องๆ กว่าตอนอายุยังน้อย ตอนนี้ผมอายุ 60 กว่าแล้ว เราต้องถือว่าเราเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เราเรียนรู้ไม่จบหรอก ทุกวันมีเรื่องใหม่ๆ มาให้เราเรียนรู้เสมอ
  4. คนที่คุณทานข้าวกลางวันด้วยบ่อยที่สุด : ทานคนเดียว ตารางผมค่อนข้างแน่น ส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือผมทานเร็วมากเพื่อไปทำอย่างอื่น อีกอย่างคือประชุมไม่จบเลยต้องทานกับผู้ร่วมประชุม ถ้าตอนเย็นยังประชุมไม่เสร็จก็มีทานมื้อเย็นในห้องประชุมอีก
  5. สิ่งที่คุณใช้เวลาด้วยมากที่สุดนอกเวลางาน : ผมนึกไม่ออกจริงๆ เพราะตลอดเวลาคือเวลางาน เสาร์-อาทิตย์ก็ยังไปเยี่ยมตัวแทนประกันชีวิต
  6. เคยขายประกันไหม : ไม่เคย นี่คือสิ่งที่ตลกมาก ผมขายไม่เป็น ไม่รู้จะขายยังไง แต่ผมพูดให้คนขายประกันอินได้ ทุกวันนี้เวลาซื้อประกันผมยังต้องถามลูกน้องเลยว่าตกลงแบบไหนดี (หัวเราะ)
  7. ถ้าอยากขายประกันให้คุณซื้อ : มีกฎว่าห้ามผมซื้อประกันจากตัวแทนคนใดคนหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเขาจะเอาชื่อผมไปบอกลูกค้าว่าคุณไชยยังซื้อกับเขาเลย ถ้าผมจะซื้อผมจะไปถามที่หน่วยงานโดยตรง อยากได้แบบนี้มีอะไรให้เลือกบ้าง เอาเบี้ยถูกๆ แต่คุ้มครองสูงๆ นะ
  8. สิ่งที่คุณพูดให้พนักงานฟังในการประชุมประจำปี : ให้นโยบายกับสร้างแรงบันดาลใจ ผมเชื่อว่าการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวไม่ได้แยกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะอาชีพขายประกันอาจต้องทำงาน 7 วัน เราไม่รู้หรอกว่าลูกค้าจะเข้าโรงพยาบาลวันไหน ผมมักจะแนะนำการใช้ชีวิตให้เป็นพลังให้เขาดำเนินชีวิตต่อได้
  9. ของสะสม : ไม่มีครับ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งรู้สึกว่าไม่ควรสะสม สมัยอายุยังน้อย ผมสะสมแผ่นเสียง แล้วก็ซีดี ผมฟังเพลงหลากหลาย มีทุกแนว
  10. ความสุขในวันนี้คือ : ผมไม่รู้เลย ไม่เคยคิดมาก่อนเลย การใช้ชีวิตแบบพอเพียงมั้ง ทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วเชื่อว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นสิ่งนั้นดีเสมอ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ