22 มิถุนายน 2022
9 K

เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มีอายุ 9 ปี และมีผู้ติดตาม 2.3 ล้านคน ปัจจุบันเป็นช่องทางการสื่อสารของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้บริหารราชการกรุงเทพฯ ด้วยการถ่ายทอดสดที่มีผู้ชมไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเช้าตรู่หรือดึกดื่นแค่ไหน

บริบทของสื่อที่เปลี่ยนไป จากการต้องพึ่งสื่อมวลชนเป็นตัวกลางทำหน้าที่ส่งสาร กลายเป็นว่าใคร ๆ ก็มีช่องทางเป็นของตัวเองได้ และเทคโนโลยีก็ทำให้การสื่อสารจากหน่วยงานราชการอย่างกรุงเทพมหานคร ไม่จำเป็นต้องรายงานผลงานให้ประชาชนฟังแต่ฝ่ายเดียว แต่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรายงาน บอกเล่าปัญหาด้วย

ใครที่ติดตามไลฟ์ในเพจของ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คงจะคุ้นเคยกับคนเบื้องหน้าอย่าง ‘แอดหมู’ หรือ หมู-วิทยา ดอกกลาง ที่เป็นทั้งตากล้อง ผู้ดำเนินรายการ คนชงมุก และคนช่วยตบมุกให้อาจารย์มาตั้งแต่ตอนหาเสียง

และยังมีทีมงานสื่อสารอีกหลายชีวิตที่ร่วมกันวางแผนและทำงาน เพื่อให้เพจเฟซบุ๊ก ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่รับใช้ประชาชน อย่างที่อาจารย์ตั้งใจมาตั้งแต่เปิดเพจ

เราไปชวนตัวแทน ‘ทีมชัชชาติ’ ผู้ดูแลการสื่อสารช่องทางออนไลน์ให้อาจารย์ชัชชาติตั้งแต่ช่วงหาเสียง จนถึงปัจจุบัน มาเล่าเรื่องกลยุทธ์ ปัจจัย และแนวคิดที่ทำให้ช่องทางของอาจารย์ชัชชาติติดลมบน จนเป็นผู้ว่าฯ ที่มีคนติดตามการทำงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ได้อย่างทุกวันนี้

​​สื่อสารแบบทีมชัชชาติ เปิดกลยุทธ์ที่ทำคนติดตามการทำงานของผู้ว่ามากสุดในประวัติศาสตร์
ทีมทำงานชัชชาติ

ทุกคน ทุกเรื่องราวที่ตั้งใจและคิดมาอย่างดี ทำให้การทำงานของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทุกวันนี้ มีผู้ติดตามผ่านช่องทางออนไลน์อย่างอบอุ่น เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ของชาวกรุงเทพฯ และผู้ว่าฯ จนเราได้เห็นกิจกรรมดี ๆ ใน กทม. มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ทีมงานที่มาให้สัมภาษณ์นำทีมโดย ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ พี่ใหญ่ประจำทีม ผู้ดูแลเพจนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น และหัวหน้าทีมดูแลการสื่อสารของอาจารย์ชัชชาติ, หมู-วิทยา ดอกกลาง หรือ แอดหมู, อุ้ย-ธีรภัทร เจริญสุข นักเขียนและทนายความ รับหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้กับทีม, เอื้อย-พรพรรณ ปุณณกะศิริกุล แอดมิน LINE Official ของกลุ่ม ‘เพื่อนชัชชาติ’, มายด์-จิดาภา ไกรทอง ทีมงานน้องใหม่ที่ตั้งใจมาทำงานนโยบาย แต่มาลงเอยที่ตำแหน่งแอดมิน TikTok และ มิ้นท์-จิรัชญา มารอด TikTok Creator ผู้เป็นคนคิด มือถ่าย มือตัดคลิปต่าง ๆ ใน TikTok เพื่อนชัชชาติ

และถ้าจะให้เล่าเรื่องกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้คนติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ มากมายขนาดนี้ ก็คงต้องเล่ากันตั้งแต่แนวคิดเริ่มแรกของการใช้ช่องทางออนไลน์ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กันเลย

ถ้าเขาเชื่อใจ จะทำอะไรเขาก็เชื่อ

ปราบเริ่มเล่าว่าเพจเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2556 เมื่อครั้งที่อาจารย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากโจทย์ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่น

เขาย้อนความว่า “ตอนนั้นกำลังจะมีโครงการที่พลิกโฉมประเทศไทย คือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมันต้องใช้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท

“โจทย์คือจะสื่อสารเรื่องนี้กับประชาชน ผมจึงเสนออาจารย์ชัชชาติให้สร้างเพจเฟซบุ๊ก เพราะนอกจากประชาชนอยากรู้ว่ารถไฟจะวิ่งจากไหนไปไหน หรือใช้งบประมาณเท่าไหร่แล้ว เขายังอยากรู้ด้วยว่า คนที่ต้องการใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาลก้อนนี้ เชื่อใจได้หรือเปล่า”

จากความตั้งใจจะสร้างความน่าไว้วางใจในตัวรัฐมนตรีที่ขณะนั้นแทบไม่มีคนรู้จัก ปราบและอาจารย์ชัชชาติจึงเห็นพ้องต้องกันว่า เพจนี้จะต้องนำเสนอด้วยความเป็นของแท้และน่าเชื่อถือ (Authenticity) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการสร้างความเชื่อใจ

​​สื่อสารแบบทีมชัชชาติ เปิดกลยุทธ์ที่ทำคนติดตามการทำงานของผู้ว่ามากสุดในประวัติศาสตร์

ปราบอธิบายว่า “มันคือชุดคุณค่าที่สำคัญที่สุดที่อาจารย์ชัชชาติยึดถือ และเป็นสิ่งที่จะย่อหย่อนไม่ได้ ท่านบอกเสมอว่า เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องให้ประชาชนยังคงเชื่อมั่นและไว้ใจเรา”

ชัชชาติ is LIVE now

เพจชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไลฟ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งความตั้งใจวันนั้น คืออยากให้ประชาชนเห็นภาพการลงพื้นที่ของอาจารย์ชัชชาติ

​​สื่อสารแบบทีมชัชชาติ เปิดกลยุทธ์ที่ทำคนติดตามการทำงานของผู้ว่ามากสุดในประวัติศาสตร์
​​สื่อสารแบบทีมชัชชาติ เปิดกลยุทธ์ที่ทำคนติดตามการทำงานของผู้ว่ามากสุดในประวัติศาสตร์
บรรยากาศการลงพื้นที่และถ่ายทอดสด

ปราบเล่าว่า “วัตถุประสงค์ของการไลฟ์ คือ ให้คนเห็นไหวพริบ (Wisdom) ของอาจารย์ตอนที่อยู่หน้างาน อาจารย์ชัชชาติเป็นคนถามเก่ง อาจารย์เคยบอกว่าการที่เราจะเข้าใจปัญหาของคน ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ดีก่อน เราอยากให้คนเห็นสิ่งนั้นตอนที่อาจารย์ชัชชาติลงพื้นที่”

จากที่ตั้งใจไลฟ์แค่ในวันลงสมัครเพื่อให้คนได้เห็นตัวตน เห็นวิชา และเห็นความใส่ใจในความทุกข์และความสุขของผู้คนผ่านการตั้งคำถามของอาจารย์ กลายเป็นว่ามีคนเข้ามาดูและคอมเมนต์กันอย่างล้นหลาม จนเป็นผลดีทั้งกับยอดการเข้าถึงของเพจและได้สื่อสารกับประชาชนแบบเรียลไทม์

“อาจารย์ชอบมาก แล้วหมูก็สนุก ทำให้คนดูชอบด้วย อาจารย์เลยบอกว่า งั้นมาไลฟ์กันเรื่อย ๆ” ปราบเล่า

หมูมาช่วยเสริมจากตรงนี้ เขาเล่าว่า “อาจารย์ชัชชาติชอบที่มันเป็นช่องทางให้ประชาชนได้มาคุยกับเรา ตั้งแต่ตอนหาเสียงจนถึงตอนนี้ที่เป็นผู้ว่าฯ แล้ว อาจารย์จะอ่านคอมเมนต์เองทุกอัน เพราะอยากรู้ว่ามีใครแจ้งปัญหาอะไรไหม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร”

​​สื่อสารแบบทีมชัชชาติ เปิดกลยุทธ์ที่ทำคนติดตามการทำงานของผู้ว่ามากสุดในประวัติศาสตร์
“ผมมีหลักฐาน ผมถ่ายรูปไว้” หมูกล่าว

“ยิ่งทำ คนยิ่งมาดูเยอะ เราก็เลยทำมาเรื่อย ๆ เพราะมีคนอยากดูอยู่ เพื่อที่จะเป็นประตูสู่ประชาชน” หมูอธิบายสาเหตุที่ทำไลฟ์แบบไม่มีหยุดพัก

Prime time is your time

ในยุคก่อน การสื่อสารต้องทำผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก มีแต่สื่อโทรทัศน์เท่านั้นที่พอจะทำให้รู้สึกใกล้ชิดได้ผ่านการสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตา แต่ก็ยังเป็นการสื่อสารทางเดียวและจำเป็นต้องมีกำหนดเวลาแน่นอน

เราเลยได้เห็นหน่วยงานราชการใช้วิธีล็อกเวลามารายงานผลงานที่ทำไปแบบสม่ำเสมอ หรือไม่ก็เป็นแถลงการณ์แบบเป็นครั้งคราว ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสถานี และส่วนใหญ่จะเป็นช่วง Prime Time หรือช่วงที่คนดูโทรทัศน์เยอะที่สุด แต่จะทำได้ไม่บ่อย เพราะเป็นช่วงเวลาทำเงินของสถานีโทรทัศน์เช่นกัน

ในยุคนี้ การถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ทำได้ง่าย เป็นการสื่อสาร 2 ทางและสะดวกสุด ๆ จึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานราชการได้สื่อสาร บอกเล่าการทำงาน และรับฟังปัญหาของประชาชนได้แบบสายตรง ที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้

หมูเล่าอีกว่า “ที่สำคัญ เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำงานเพื่อไปสถานีโทรทัศน์เพื่อแถลง แต่ไลฟ์ในระหว่างทำงานเพื่อให้ประชาชนติดตามได้เลย”

ในมุมของประชาชน การติดตามดูการทำงานของผู้ว่าฯ ก็ทำได้ง่าย ในเวลาที่แต่ละคนสะดวกผ่านการดูย้อนหลัง

คลิปที่คนดูสดเยอะที่สุด คือคลิปที่ผู้ว่าฯ ไปดูการทำงานของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ฝนตกหนักช่วง 4 ทุ่ม มีคนดูพร้อมกันในช่วงเวลานั้นมากที่สุดคือ 53,000 คน และมียอด Engagement รวมการกลับมาชมใหม่หลังจากไลฟ์อยู่ที่ 10 ล้าน

เนื้อหาที่ดีต้องมีประโยชน์ (และสนุก)

หมูคิดว่าสูตรลับมัดใจคนดูในการไลฟ์แต่ละครั้ง คือ การตั้งใจทำเนื้อหาให้คนอยากดูและได้ประโยชน์ มากกว่าแค่บอกสิ่งที่ผู้ว่าฯ อยากบอก หรือแค่ทำไปเพื่อแซะ หรือเพื่อความสะใจ

หมูบอกว่า “ตั้งใจทำไลฟ์ให้ฟังกันเพลิน ๆ สอดแทรกข้อมูลไปด้วย ให้คนที่ไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อนก็เปิดฟังได้ เขาก็จะได้ความรู้ไปด้วยระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน”

ในฐานะเป็นคนในแวดวงภาพยนตร์ หมูใช้วิธีการคิดแบบคนทำภาพยนตร์มาเล่าเรื่องการทำงานของอาจารย์ชัชชาติ โดยทุก ๆ โครงการที่สื่อสารผ่านไลฟ์ เขาจะวางโครงเรื่องแบบกว้าง ๆ เอาไว้ ทำให้มันกลายเป็นการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่ายและมีพลัง

“ผมจะปรึกษากับอาจารย์ชัชชาติว่า เราจะไลฟ์อะไรบ้าง ประเด็นไหนที่ใช้ไลฟ์เปิด เราจะมีการกลับไปไลฟ์ช่วงติดตามและแก้ปัญหาต่อ จนกระทั่งไปไลฟ์รายงานเมื่อสิ่งนั้น ๆ ได้รับการแก้ไขหรือผลักดันจนสำเร็จ”

ในเมื่อการไลฟ์คือการถ่ายไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีการวางสคริปต์หรือบทให้กระชับ ตรงประเด็น ซึ่งขัดกับหลักการของโซเชียลมีเดียสุด ๆ หมูจึงเอาวิชาการเล่าเรื่องให้น่าติดตามเข้ามาใช้ในการไลฟ์ด้วย เช่น การเล่ารายละเอียดให้คนเห็นภาพ อย่างการเล่าบรรยากาศของทั้งสถานที่และเหตุการณ์ ทำให้คลิปมีมุมสนุก ตลก หักมุม เล่นมุก จากบทสนทนาของหมูกับอาจารย์ชัชชาติ หรือมีเนื้อหาที่คนไม่เคยรู้จากความรู้ของอาจารย์ และที่สำคัญคือ การสร้างความมีส่วนร่วมของผู้ชม

ปราบเสริมว่า “เพจจะไม่สื่อสารอะไรเพียงเพราะเป็นหน้าที่ประจำ อย่างการรายงานทุกกำหนดการ การโพสต์ทุกนโยบาย หรือการสื่อสารอะไรที่ไม่ได้มีประโยชน์กับประชาชน

“เพราะเมื่อใดที่เราทำอย่างนั้น มันจะไปลดทอนคุณค่า จนกลายเป็นสิ่งที่ทำไปเรื่อยเปื่อย คนจะเห็นว่าคุณทำเพราะว่าต้องทำ

“แต่เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ทำให้เป็นงานประจำ แต่เรารู้ว่าจังหวะไหนคือจังหวะที่ต้องพูด ประชาชนก็จะเห็นว่าเรื่องใด ๆ ก็ตามที่เราตัดสินใจพูด เรื่องนั้นคือสิ่งสำคัญ”

ในช่วงที่ กกต. ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง หมูยอมรับว่าการออกไปไลฟ์คือการเริ่มทำงานอย่างไม่เป็นทางการ และใช้สื่อที่มีในมือแทนอำนาจที่ยังไม่ได้มากับตำแหน่ง

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์
แอดหมูในหน้าที่

“ตอน กกต. ยังไม่รับรอง เราก็ใช้ไลฟ์ทำให้เกิดแอคชัน แต่พอเรามีอำนาจที่จะจัดการอะไร ๆ ได้แล้ว ก็ใช้การไลฟ์เพื่อรับฟังปัญหา และผลักดันการแก้ปัญหาผ่านไปตามระบบแทน”

หมูเล่าต่ออีกว่า “ผมคิดว่าการไลฟ์เป็นเหมือนปากของอาจารย์ มันคือตัวอาจารย์ที่ส่งออกมาด้วยตัวเอง แล้วก็มีคนคอยกำกับความเหมาะสม อย่างพี่ปราบ พี่อุ้ย คอยดูแล ซึ่งถือว่ามีคุณภาพสูงมาก วันแรกที่ผมถ่ายทอดสดก็ได้รับสายจากพี่ ๆ เลย เขากำชับเรื่องความถูกต้อง เรื่องกฎหมาย ว่าเราต้องไม่สัญญา ต้องระวังคำพูดต่าง ๆ บางครั้งอาจารย์จะพูดอะไรก็ต้องระวังคำพูดด้วยเหมือนกัน”

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์
อุ้ยผู้เป็น Gate Keeper ของทีม

ใช้ Soft Power ผ่านความไม่เป็นทางการ

นอกจากเราจะได้เห็นปัญญาของอาจารย์ชัชชาติผ่านไลฟ์แล้ว เรายังได้เห็นอีกหลากหลายอิริยาบถของอาจารย์ เช่น เวลาอยู่ในบทบาทพ่อของลูกชาย เมื่อไปงานรับปริญญาของ คุณแสนปิติ สิทธิพันธุ์ ที่สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่เวลาที่อาจารย์ไปรับประทานเกาเหลาเนื้อ ตอนบ่าย 3 จนทำให้คนเข้ามาให้กำลังใจมากมายด้วย

ธรรมชาติของสื่อแบบถ่ายทอดสด ไม่มีการตัดต่อ ไม่มีเทคนิคพิเศษใด ๆ มาช่วย ซึ่งนอกจากทำให้อาจารย์เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดที่สุดแล้ว ยังสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจว่า คนคนนี้ไม่มีอะไรปิดบัง

ทีมสื่อสารของชัชชาติใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่ตอนหาเสียง ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์อยู่ 2 รูปแบบ คือแอคเคานต์แบบเป็นทางการ ใช้ชื่อว่า ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ และแอคเคานต์ที่มีเนื้อหาสนุก ๆ ใช้ชื่อว่า ‘เพื่อนชัชชาติ’ ซึ่งเป็นรูปแบบการหาเสียงที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีในช่องทางใหม่เอี่ยมอย่าง TikTok ด้วย

ปราบเล่าว่า “เพื่อนชัชชาติ เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ปล่อยพลัง เน้นสนุกไปเลย เอาให้เต็มที่ และสิ่งที่สื่อสารในนามเพื่อนชัชชาติไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบแบรนดิ้งหลัก”

มายด์และมิ้นท์ ทีมงานรุ่นเด็กที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลช่องทาง TikTok บอกเราว่า “การที่อาจารย์ชัชชาติอยู่ใน TikTok คนก็ได้เห็นหลาย ๆ มุมของอาจารย์ ทำให้คนเห็นว่าอาจารย์เข้าถึงง่าย เข้าใจคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ก็ได้รู้จักอาจารย์ เพราะเห็นว่าคนนี้อยู่ในฟีด TikTok ของเขา”

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์
มิ้นท์และมายด์ แอดมิน TikTok เพื่อนชัชชาติ

คอนเทนต์ที่ยอดวิวถล่มทลาย อย่างคอนเทนต์ที่เป็นมีมในคลิปที่คนเข็นรถแล้วรถไม่ขยับ แล้วก็คลิปที่อาจารย์ชัชชาติอ่านคอมเมนต์ชาวเน็ต ทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วอาจารย์ชัชชาติรับรู้ทุกความคิดเห็นในโลกออนไลน์ และพร้อมจะรับฟัง เล่นด้วย บางทีก็มีแซวตัวเองบ้าง

พี่ใหญ่อย่างปราบบอกว่า “ถ้าคอนเทนต์แบบนี้อยู่ในช่องทางหลัก คนก็อาจจะงง ๆ กับผู้สมัครคนนี้ ว่าสรุปแล้วเป็นคนจริงจังไหม แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้คนรู้จักอาจารย์ชัชชาติมากขึ้น”

ช่องทางเพื่อนชัชชาติจึงเหมือนเป็นช่องปูทางมาสู่การไลฟ์ที่ผลักดันสิ่งต่าง ๆ ในทุกวันนี้ และไม่ทำให้คนตกใจมากไปเวลาเห็น ผู้ว่าฯ เต้นระบำ ให้เราดูผ่านไลฟ์

ไม่มีพรรค แต่มีเพื่อน

อีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้การไลฟ์ของอาจารย์ชัชชาติมีแฟนคลับเหนียวแน่น และมีท่าทีการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ อาจเริ่มมาตั้งแต่ไอเดียบ้าพลังที่อยากฟังปัญหาจากคนกรุงเทพฯ ทุกเขตในนาม ‘อาสาสมัครเพื่อนชัชชาติ’ ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็เป็นได้

ปราบเล่าให้ฟังว่า “เราสร้างระบบอาสาสมัครขึ้นมาให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อเราจะได้เช็กจริง ๆ ว่า ปัญหาที่เห็นจากงานวิจัย มันเป็นปัญหาสำหรับประชาชนจริง ๆ หรือเปล่า เราเลือกเซ็ตระบบอาสาสมัครเพื่อนชัชชาติผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่คนเข้าถึงง่ายที่สุด”

เอื้อย ผู้รับหน้าที่เป็นแอดมินของกรุ๊ปไลน์อาสาสมัครเพื่อนชัชชาติ ที่มีทั้งกรุ๊ปรวมและกรุ๊ปแยกรายเขต เล่าให้ฟังว่า “สิ่งสำคัญของความเป็นเพื่อนชัชชาติ คือ การมีส่วนร่วม อาจารย์พูดตลอดจนถึงวันที่ชนะเลือกตั้งว่า ถ้ามีแค่ตัวอาจารย์หรือทีมงาน จะทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคนไม่ได้ คนกรุงเทพฯ ทั้งหมดต้องมาช่วยกัน ทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อาสาสมัครเพื่อนชัชชาติทุกคนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่สมัครในระบบลงทะเบียน ซึ่งจะให้ระบุว่าบ้านอยู่เขตไหน สนใจปัญหาอะไร มีนโยบายหรือการพัฒนาอะไรที่อยากนำเสนอ หลังจากนั้นทีมงานก็จัดให้มี ‘ชัชชาติ Zoom Talk’ เพื่อให้อาสาสมัครรายเขตได้คุยกับอาจารย์โดยตรงผ่านหน้าจอ

เอื้อยเล่าบรรยากาศให้ฟังว่า “ก่อนคุย อาจารย์จะเข้าไปดูประวัติทุกคนล่วงหน้า ว่าในใบสมัครเขาเขียนว่าอยู่เขตไหน สนใจปัญหาเรื่องอะไร อาจารย์ทำการบ้านก่อนเข้า Zoom ทุกครั้ง แล้วก็ชวนคุย เช่น “อ้าว คุณพิชญาเป็นไง หน้าบ้านดีขึ้นหรือยัง ในซอยเจอปัญหาอะไรบ้าง รถติดไหม” แล้วก็สอบถามเรื่องปัญหาชีวิตทั่วไป รวมไปถึงนโยบายที่อยากเสนอ หรืออะไรที่อยากฝาก เราก็ได้ข้อมูลเหล่านั้นเก็บเข้ามาทำเป็นนโยบาย”

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์

นอกจากจะได้มีส่วนร่วมแล้ว อาสาสมัครเพื่อนชัชชาติทุกคนยังได้รับเสื้อ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ ส่งไปให้ถึงบ้านแบบไม่รู้ตัวมาก่อนด้วย

ปราบบอกว่า “เพราะเขาสละเวลาให้ข้อมูลเรา เราจึงเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องตอบแทนเขา”

แม้จะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่นี่ก็เป็นแผนการสร้างการมีส่วนร่วมที่ได้ผลเป็นไวรัลแบบย่อม ๆ และทำให้เสื้อและวลี ทำงาน ทำงาน ทำงาน เป็นกระแสไปได้แบบแยบยล ผ่านการกดสูตรให้มากกว่าที่คาดและไม่ขออะไรตอบแทน

กลยุทธ์สร้างความเชื่อใจ พูดน้อย ทำมาก และเน้นสร้างความร่วมมือของ ‘ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์

การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ เทคโนโลยีการถ่ายทำ การถ่ายทอดสดที่ทำได้ง่ายขึ้น และใช้งบประมาณน้อยลงหลายเท่าตัวจากเมื่อ 10 ปีก่อน น่าจะเป็นเวลาที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหลาย จะกลับมาทบทวนและคิดเรื่องสื่อที่จะใช้สื่อสารใหม่ เพราะเราเห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นโอกาสในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านการบริหารบ้านเมืองอย่างโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะลดความขัดแย้งไปได้อย่างมหาศาล อีกทั้งน่าจะทำให้บ้านเมืองนี้น่าอยู่มากขึ้นไปอีกไม่น้อย

ภาพ : ทีมสื่อสารชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น