“ถ้าไม่ได้ทำทั้ง 80 สี เรายอมไม่ทำเลยดีกว่า” 

นี่คือคำพูดจากเจ้าของ ‘CHADA’ (ชาฎา) แบรนด์ยาทาเล็บสีไทยโทนราคาคุ้มค่า ที่พาเราไปเรียนรู้เรื่องราวของสีไทยเบื้องต้น จนอดไม่ได้ที่จะหลงรักชื่อสีเพราะๆ อย่างนภากาศ กลีบบัว และก้ามปูหลุด แล้วอยากขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมท่องชื่อสีไทยอีกเป็นร้อยๆ สี พร้อมกับหยิบยาทาเล็บสีสวยแปลกตาขึ้นมาเขย่าทา

 ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

2 ปีที่แล้วชาฎาถือกำเนิดขึ้นจากเพื่อนคู่คิดอย่าง ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ สองสาวรุ่นใหม่ที่อินเรื่องสีไทยโทนอย่างจริงจัง จนคิดว่าควรทำอะไรสักอย่างเพื่อถ่ายทอดความสวยงามของสีไทยออกมาให้ทุกคนได้รับรู้และได้ใช้ในเวลาเดียวกัน จนเกิดเป็นยาทาเล็บไทยๆ กว่า 80 สี

ถ้ายังเลือกไม่ได้ว่าจะหยิบยาทาเล็บสีไทยสีไหน จะลองเลือกทาทั้งสิบนิ้วไม่ซ้ำสีดูก็ได้นะ 

เริ่มจากงานวิจัยสีไทยโทน

ย้อนกลับไป บิวคือพนักงานบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจแห่งหนึ่ง ส่วนก้อยทำงานในวงการโฆษณาและเป็นเจ้าของกิจการร้านทำเล็บ ทั้งคู่โคจรมาพบกันเพราะงาน ก่อนจะค่อยๆ ทำความรู้จักและกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด

“บิวบังเอิญอ่านเจองานวิจัยของ อาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี ที่ทำเกี่ยวกับการแปลงสีไทยจริงๆ ในสมัยก่อนให้เป็นสีดิจิทัล CMYK ซึ่งใช้เวลาหลายปีมาก พอบิวเล่าให้ฟัง เราก็ชอบมาก รู้สึกประทับใจที่มีคนทุ่มเทเวลา แรงกาย และแรงใจ พัฒนาเรื่องเหล่านี้อยู่ แถมสีแต่ละสียังมีเรื่องราวในตัวเองทั้งจากวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในอดีต ยิ่งอ่านยิ่งสนุก” ก้อยไม่รอช้า รีบเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ยาทาเล็บที่ชื่อชาฎา จากจุดร่วมความสนใจเรื่องสีแบบไทยๆ อย่างจริงจัง

สีไทยโทนเป็นสีที่ใช้ในงานออกแบบของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เราอาจผ่านตากันมาบ้างตามงานจิตรกรรมไทย สีหัวโขนและสีชุดไทยสมัยก่อน ซึ่งจุดเด่นของสีแบบไทยๆ นี้อยู่ที่การผสมกลิ่นอายแบบตะวันตกนิดๆ ปนความนุ่มนวลหน่อยๆ แต่ก็ให้อารมณ์หลากหลาย เพราะมีเฉดมากมายตั้งแต่สีหวานพาสเทล ไปจนถึงสีสดฉ่ำ ทำให้เมื่อนำสีแต่ละสีมาจับคู่กัน ความรู้สึกที่ได้ก็จะแตกต่างกันตามไปด้วย

แม้จะเจือกลิ่นอายแบบตะวันตกอยู่บ้าง แต่สิ่งที่ทำให้สีไทยยังคงโดดเด่นไม่เหมือนใครคือชื่อสีเพราะๆ ที่คิดมาแล้วอย่างวิจิตรบรรจงผ่านสภาพแวดล้อมของคนไทยสมัยก่อน ทั้งสีเขียวก้านมะลิ สีดำหมึก หรือสีฟ้านภากาศ ซึ่งแต่ละสีล้วนมีความหมายและสะท้อนความเชื่อที่มีมายาวนานของคนไทย เช่น สีแดงชาดที่ให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์เหมือนอยู่บนสววรค์ ทำให้เรามักพบสีตระกูลนี้ได้ตามวัดหรือตามฉากหลังพระพุทธรูปอยู่บ่อยๆ นั่นเอง

CHADA แบรนด์ไทยที่ถ่ายทอดความงามสีไทยๆ กว่า 80 สี ในรูปแบบยาทาเล็บราคาเพียง 79 บาท
CHADA แบรนด์ไทยที่ถ่ายทอดความงามสีไทยๆ กว่า 80 สี ในรูปแบบยาทาเล็บราคาเพียง 79 บาท

ตลอดระยะเวลาที่ค่อยๆ ทำความรู้จักสีไทยโทน พวกเธอพบว่ารอบๆ ตัวยังมีคนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่หันมาประยุกต์วัฒนธรรมไทยให้ร่วมสมัยผ่านงานดีไซน์และไอเดียเจ๋งๆ พวกเธอจึงตัดสินใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเหล่านั้นบ้าง 

“ระหว่างศึกษา เราก็ขออนุญาตอาจารย์นำสีจากงานวิจัยมาใช้ทำสินค้า ซึ่งตอนนั้นก็ยังคิดไม่ออกหรอกว่าจะทำอะไรดี รู้แต่เพียงนี่คือคุณค่าของประเทศเลยนะ จะทำยังไงให้คนรับรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่” ก้อยเล่า

เพราะดูแลและบริหารธุรกิจร้านทำเล็บอยู่แล้ว ก้อยจึงนึกสนุก คิดทำสีให้ยาทาเล็บของตัวเอง เพราะเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนเล่าเรื่องสีสันที่หลากหลาย ที่คนเราจะเปลี่ยนได้บ่อยแค่ไหนก็ได้ ไม่มีเบื่อ แถมจะทำเฉดสีสนุกๆ ออกมาเป็นลูกเล่นก็ยังได้ 

สินค้าแรกภายใต้แบรนด์ชาฎาจึงเป็นยาทาเล็บ ที่พวกเธอตั้งใจนำเสนอความเป็นสีไทยออกมาได้อย่างเต็มที่

หลงเสน่ห์สีไทย

ในวันที่เรากำลังตื่นเต้นกับเทรนด์สีใหม่มาแรงจากเกาหลี หรือดูเทคนิคการทำเล็บเก๋ๆ จากฝั่งยุโรป ชาฎาก็เปิดตัวยาทาเล็บสีไทยแท้ๆ ทีเดียวพร้อมกันถึง 80 สี 

ต่อให้ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจขนาดนั้น ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นความคิดที่กล้ามาก!

“แปดสิบสีนี่ถือว่าน้อยแล้วนะ” บิวพูดติดตลก 

อาจจะจริงอย่างที่เธอพูด เพราะจากสีนับร้อย คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเลือกหยิบมาเพียงแค่ห้าหรือสิบ ยิ่งเมื่อสีเหล่านี้มาพร้อมเรื่องราวน่าสนใจที่พวกเธอสองคนยืนยันว่ายังไงก็ต้องเล่า และถ้าไม่ได้เล่าก็ขอไม่ทำเลยดีกว่า

“หลายคนอาจจะไม่รู้ ถึงที่มาและเรื่องราวของสีที่มากกว่าตาเห็น เช่นในเรื่อง รามเกียรติ์ การบอกว่าตัวละครไหนมีคาแรกเตอร์อย่างไร เขาก็บอกผ่านสี นี่ยังไม่รวมการจับคู่สีสไบกับโจงกระเบนในชีวิตประจำวันอีก อย่างคนโบราณเขาจะรู้กันว่าสีม่วงเป็นสีหายากเพราะย้อมยาก จึงใช้สีจัดลำดับชั้นคน” บิวสรุปเรื่องราวที่เธอใช้เวลาศึกษาแรมปีให้เราเข้าใจแบบง่ายๆ

CHADA แบรนด์ไทยที่ถ่ายทอดความงามสีไทยๆ กว่า 80 สี ในรูปแบบยาทาเล็บราคาเพียง 79 บาท

ยาทาเล็บทั้ง 80 สีของชาฎา ได้รับการออกแบบและคิดอย่างตั้งใจทำให้เนื้อสีมีความใกล้เคียงกับสีไทยโทนมากที่สุด อย่างสีขาวที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสีเบสิกพบได้บ่อยๆ แต่สีขาวผ่องของชาฎานั้นมีความสว่างนวล แตกต่างจากสีขาวทั่วไป หรือสีโทนดำ เทา ก็จะถูกผสมให้มีความหลากหลาย เช่น สีม่วงแก่ ซึ่งเป็นสีม่วงปนสีดำ สีกลาโหมที่เป็นสีดำปนแดง หรือสีดำเขม่า ดำเขม่ายางและขาบดำ ที่ลดหลั่นความเข้มของสีดำลงมาสร้างความรู้สึกจริงจังแตกต่างกันไป หรือจะลดความอ่อนลงเป็นสีเทากับสีดำหมึกให้ไม่ดูดุมากนักก็ได้

เช่นเดียวกับสีตระกูลแดงแบบไทยๆ ที่เป็นเอกลักษณ์และมีมากมายจนจับมามิกซ์แอนด์แมตช์ได้ไม่ซ้ำ ตั้งแต่สีเข้มเนื้อแน่นแบบแดงชาด แดงเลือดนก และทับทิมสยามที่ให้ความรู้สึกเผ็ดร้อน แล้วลดโทนความอ่อนลงมาเป็นสีสว่างแบบแดงชบา แดงมณีหรือแดงน้ำครั่ง หรือจะผลิกไปเป็นสายหวานด้วยสีเนื้อเบา โทนชมพูแบบกลีบบัว หงสบาทหรือแดงดอกกระมุดก็น่ารัก

สีโทนเขียวเป็นอีกหนึ่งตระกูลที่พบได้ไม่บ่อยนักในแบรนด์ยาทาเล็บทั่วไป แต่สีเขียวของชาฎากลับมีให้เราเลือกมากมาย ตั้งแต่โทนเข้มแบบผู้ใหญ่ที่ทาได้ทุกวันอย่างเขียวสัมฤทธิ์คุณ หรือจะเป็นสีเขียวสนุกๆ ชวนย้อนวัยหลายเฉด ที่เราจะเลือกหยิบมาทาในวันที่อยากลองอะไรใหม่ๆ เช่น  สีเขียวน้ำไหล สีเขียวก้านมะลิ เขียวมหาดไทยหรือเขียวไพร ที่ออกสว่างสดใสไม่เป็นทางการมากนัก

หรือวันไหนอยากลองทาสีง่ายๆ เข้าได้กับทุกลุค เราก็อยากขอแนะนำสีโทนน้ำเงินเข้ม แบบสีครามหรือสีกรมท่า แล้วสร้างลุคสุดน่ารักในวันสบายๆ ด้วยสีที่สว่างขึ้นไปอีก อย่างสีฟ้า สีเมฆ หรือสีตาแมว ที่มีความพาสเทลนิดๆ สว่างหน่อยๆ แถมสีฟ้าสดใสเหล่านี้เมื่อหยิบมาทาคู่กับสีโทนเหลือง-ส้ม อย่างสีน้ำผึ้ง นวลจันทร์หรือดอกกรรณิการ์ก็ยิ่งเพิ่มความน่ารักสดใสเข้าไปอีก

ปิดท้ายด้วยสองโทนสีเรียบแต่เก๋ ไม่เข้มไม่อ่อนจนเกินไป ใช้ได้ทุกวัน อย่างโทนสีม่วง ที่มีสีพวงอังกาบ เผือก นิลุบล ลูกหว้าและดอกอัญชัน และสีเอิร์ธโทนแบบไทยๆ ด้วยกลุ่มสีน้ำตาลเข้มอ่อน ที่มีให้เลือกหลายเฉด เช่น น้ำตาลไหม น้ำหมาก กรักและกากี 

CHADA แบรนด์ไทยที่ถ่ายทอดความงามสีไทยๆ กว่า 80 สี ในรูปแบบยาทาเล็บราคาเพียง 79 บาท

“คนโบราณใช้วัตถุดิบธรรมชาติในการผสมสี มีทั้งแร่ ดอกไม้ พืช ดิน เช่น ตระกูลชมพูแดงส่วนใหญ่จะมาจากดอกไม้ ส่วนพวกสีเหลืองมาจากขมิ้นกับดิน ผสมกันได้สีหลายเฉด แต่ละเฉดก็จะมีชื่อเพราะๆ ที่เราคิดว่าไม่นำเสนอคงไม่ได้” ก้อยเสริม

พวกเธอยังเล่าอีกว่าธุรกิจยาทาเล็บฝั่งเอเชียมีตัวเลือกไม่มากนัก ทำให้สีของแบรนด์ส่วนใหญ่คล้ายกันไปหมด

ความเยอะของสีจากชาฎาจึงเป็นจุดเด่น นอกจากจะมีสีให้เลือกไม่ซ้ำใครแล้ว ยังตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าผู้หญิงเราจะมีสีผิวเฉดไหน วันนี้อยากจะมีคาแรกเตอร์แบบใด ชาฎาก็มีสีพร้อมให้เลือกสรร

ว่าแล้วเราก็ขอหยิบสีตองอ่อนกับตาแมวมาทาเพิ่มความสดใสเสียหน่อย

กว่าจะเป็นยาทาเล็บทำมือที่สีดูแพงในราคาไม่แพง

จากแบรนด์ยาทาเล็บเป็นร้อยเป็นพันบนโลก อะไรทำให้ชาฎาแตกต่าง

นี่คือสิ่งที่เราสงสัย

“แม้ทุกแบรนด์จะมีสีแดง ม่วง เขียว เหมือนกัน แต่ถ้าเทียบจริงๆ จะพบว่ามันมีแดงแสด แดงส้ม แดงเลือดนก ซึ่งลูกค้าหลายคนที่ซื้อไปบอกว่าหาที่อื่นไม่ได้” ก้อยยืนยันกับเราอย่างรวดเร็ว

ถ้าคุณจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ใครๆ ก็พูดได้ เราจะขอการันตีคุณด้วยระยะเวลาเกือบปีกว่าที่ก้อยและบิวใช้ในโรงงานผลิตเพื่อแก้ไข ลองผิดลองถูก ทาเล็บแล้วทาเล็บอีก เพื่อให้ได้สีที่ออกมาตรงกับสีไทยดั้งเดิมมากที่สุด

ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

“เราผสมสีด้วยมือทั้งหมดเพื่อเอามาทำสีต้นแบบ แล้วสมมติสีที่ทำมาเราทาแล้วมันออกชมพู แต่ของจริงเราว่ามันต้องแดง ก็ต้องไปปรับใหม่ แก้กันจนเกือบเลิกทำไปแล้ว (หัวเราะ)

“เราอยากให้ทุกสีมันชัดที่สุด เพราะฉะนั้น ทุกขวดพิกเมนต์จะไม่เท่ากัน สีลูกพิกุลอาจจะทาง่ายหน่อยเพราะมันใส แต่อย่างสีแดงเลือดนกอาจจะเนื้อข้นเพราะใช้สีเยอะ ถ้าทิ้งขวดไว้จนนอนก้นจะเห็นสีแยกเป็นเฉดๆ เลย” ก้อยอธิบาย

แน่นอนว่าการปรับแก้นับสิบครั้งย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล นี่ยังไม่รวมค่าขวดที่ทำขึ้นใหม่และค่าฉลากที่ต้องสั่งทำแยกทุกชิ้นเพื่อจะได้เน้นชื่อสีเพราะๆ ให้เข้าใจกันทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าถึงจะผ่านกระบวนการมามากขนาดนี้ แต่ชาฎาก็ยังพยายามคงราคาเอาไว้ให้อยู่ที่ 79 บาท 

เป็นราคาสบายกระเป๋าที่จะซื้อแล้วซื้ออีกก็คงไม่ต้องคิดหนัก

“เป้าหมายเราคือทำมาแล้วคนไทยต้องรู้จัก เพราะฉะนั้น ราคาต้องเอื้อมถึงได้ สุดท้ายแล้วเราก็ดูว่าเราจะไหวกันที่เท่าไหร่” บิวอธิบายให้เราฟังถึงเป้าหมายแรกเริ่มของชาฎา

ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

“เราอยากให้คนที่ชอบของคุณภาพดี ราคาสูง ไม่รังเกียจที่จะใช้ เราจึงลงทุนเรื่องหีบห่อเป็นอย่างดี ขึ้นขวดใหม่ พิมพ์ฉลากใหม่ คิดเลยว่าจะทำยังไงให้กลุ่มลูกค้าข้างบนกับข้างล่างมาบรรจบกัน ทำกันจนที่โรงงานยังกระซิบว่าลดสีเหลือสักยี่สิบสีดีมั้ย (หัวเราะ)” ก้อยยิ้ม

และราคา 79 บาทนี่แหละ ที่เป็นกลยุทธ์การขายไม้ตาย นอกจากสีที่ซื้อง่าย ทาคล่องจนเจาะตลาดคนทุกวัยแล้ว ชาฎายังมีคุณสมบัติแห้งไว ใครซื้อไปก็อยากกลับมาซื้ออีก ขนาดที่ทั้งสองเล่าว่าลูกค้าบางส่วนเลือกที่จะหาซื้อสีชื่อแปลกๆ ไปสะสมไว้ที่บ้าน แถมบางทีก็ยังส่งฟีดแบ็กดีๆ กลับมาเป็นกำลังใจให้พวกเธอด้วย

“แต่ก็มีลูกค้าบางส่วนที่ส่งมาถามว่าทำไมถูกจัง” ก้อยบอก

“แล้วอย่างนี้ไม่คิดจะขึ้นราคาเหรอ” เราถาม

“ไม่นะ ฟีดแบ็กที่ได้ทำให้เรามั่นใจด้วยซ้ำว่าเรามาถูกทางแล้ว อย่างน้อยเราอาจจะไม่ได้กำไรมากมาย แต่เราว่านี่คือแรงที่ทำให้เราอยากพัฒนาต่อ” บิวเสริมในทันที

สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว

ในระหว่างที่กำลังฟังพวกเธอเล่าเรื่องแบรนด์อย่างออกรส เรายังอดคิดไม่ได้ว่าหากไอเดียเหล่านี้ไปอยู่ในมือของคนอื่น วันนี้เราจะมีโอกาสได้เห็นยาทาเล็บสีไทยโทนโลดแล่นอยู่ในตลาดมั้ย แม้ช่วงนี้เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาพูดเรื่องความเป็นไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็น้อยนักที่จะมีคนลงมือทำอย่างจริงจังและศึกษาจนเชี่ยวชาญขนาดนี้

คงต้องขอบคุณสองแรงแข็งขันของพวกเธอที่ไม่ยอมแพ้

ถ้าคุณอ่านมาถึงตอนนี้ คุณคงเข้าใจว่าคงมีอีกหลายสิบชีวิตอยู่เบื้องหลังแบรนด์ชาฎา 

คุณคิดผิดแล้ว เพราะสองแรงแข็งขันที่เราพูดถึงก็คือพวกเธอแค่สองคนนี่แหละ

ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

“ช่วงแรกๆ ที่ทำ เราแบ่งงานไปตามความถนัด ก้อยทำเอเจนซี่มาก็จะดูเรื่องแบรนดิ้ง ส่วนบิวจะดูเรื่องการตลาด จนตอนหลังเราคิดว่าสองหัวน่าจะดีกว่าหัวเดียวเลยทำด้วยกันหมด

“มันไม่เหมือนตอนที่เราทำงานออฟฟิศ ตอนนั้นเรามีเงินก้อนใหญ่จากลูกค้า จะทำอะไรก็ได้ ถึงจะทำงานมาเป็นสิบๆ ปี เราก็ว่านี่คือจุดที่ยากมากเพราะเราทำเองตั้งแต่ครีเอทีฟ แพลนเนอร์ พีอาร์ ไปจนถึงเออี ไม่เคยมีใครบอกเราว่าสิ่งที่ทำดีหรือยัง เจ๋งมั้ย มีแต่เราถามกันเองว่าชอบมั้ย เราชอบนะ แกล่ะ (หัวเราะ)” ก้อยเล่า

“เราคิดหนักมากตอนไปนำเสนองานครั้งแรก คิดตั้งแต่จะทำยังไงให้คนสนใจและทำยังไงให้คนไม่ติดภาพความเป็นไทยที่วิจิตรจนเข้าถึงไม่ได้ เราคิดไปยันการทำผม การแต่งตัว สุดท้ายเราก็มาจบด้วยชุดไทยโมเดิร์นพร้อมยาทาเล็บใส่ชะลอมจิ๋วเอาไปขายลูกค้า หรือตอนที่เราไปออกบูทงาน Wonderfruit เราก็ทำชฎาจากใบลานไปใส่ให้ฝรั่งดู เราทำทุกทางจริงๆ” บิวเสริมพร้อมเปิดรูปในมือถือที่ทำให้เราเผลออุทานคำว่าน่ารัก! ออกมาทันทีที่เห็น

CHADA แบรนด์ไทยที่ถ่ายทอดความงามสีไทยๆ กว่า 80 สี ในรูปแบบยาทาเล็บราคาเพียง 79 บาท

“แล้วทำไมต้องเป็นชฎา” เราถามเมื่อบทสนทนาดำเนินจากจุดเริ่มต้นไปไกลถึงเรื่องการออกแบบโลโก้ที่เธอได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท 

“อย่างแรก เรามองว่าชฎาคือสัญลักษณ์ของความสวย เหมือนที่เราพูดกันว่ามงลงนั่นแหละ เรามองว่าต่างประเทศมีเทียร่า มีมงกุฎ ไทยเราก็มีชฎาไง ส่ิงที่สองคือ คนที่สวมชฎาต้องเป็นคนในเวอร์ชันที่สวยแล้วแน่นอน” บิวตอบ

“ชฎาก็เหมือนแบรนด์ชาฎา เพราะชฎาเป็นงานแฮนด์เมด งานที่เน้นรายละเอียดเยอะๆ ไม่ต่างจากแบรนด์ของเราที่ทำงานแฮนด์เมดเหมือนกัน อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าพอคนสวมชฎามันเกิดพลังบางอย่างที่คาดไม่ถึงเลย เราเองก็แค่ต้องการพลังแบบนั้นในการทำสิ่งนี้ต่อไป”

ถึงตอนที่ก้อยพูดประโยคนี้จบ เราว่าเราก็สัมผัสได้ถึงพลังของชฎาจากพวกเธอทั้งสองคนแล้วล่ะ

เส้นทางสู่ผู้เชี่ยวชาญด้านสี

ลองผิดลองถูกมาขนาดนี้ อะไรคือบทเรียนสำคัญในการทำธุรกิจของพวกเธอสองคนบ้าง เราสงสัย

“ผิดครั้งหน้าจะไม่ทำอีก แบบนี้เหรอ” ก้อยหันมาถามเรา และเมื่อเราตอบว่าใช่เธอก็ตอบคำถามนี้อย่างรวดเร็ว

“มันเป็นบทเรียนที่บอกเราว่าผิดครั้งหน้าก็จะทำอยู่ดี (หัวเราะ) เพราะการทำธุรกิจ นักธุรกิจต้องคำนึงถึงการเติบโต เพราะฉะนั้น การหากำไรจากราคา 79 บาททำให้เราทำงานยากมาก แต่ถ้าย้อนกลับไปเราก็จะทำราคานี้อยู่ดี เพราะเราพบว่าคนเอื้อมถึงจริงๆ มันอาจจะไม่ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่กำลังใจที่ได้มันยิ่งใหญ่มาก 

ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

“เราชอบมากเลยที่ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกซื้อสีไทยๆ แบบก้านดอกมะลิ เมฆสนทยา หงษ์นิลตัด แล้วทาเสร็จก็ถ่ายรูปมาให้ดู วัตสันสาขาไหนที่ของเราไปลงแล้วหมดเขาก็ส่งรูปมาบอก สำหรับเรา เจ็ดสิบเก้าบาท อาจจะเป็นความคิดที่ผิดมากๆ แต่ความภูมิใจที่ได้ทำให้เราไม่เสียดาย” ก้อยอธิบายพร้อมรอยยิ้ม

“ถ้าเราพูดถึงการทำธุรกิจทั่วไปที่หวังกำไร เราคงไม่ทำสีออกมาแปดสิบสีหรอก เพราะมันยากทั้งเรื่องโปรดักชัน การผลิต การสต๊อก ทำให้เราใช้ทุนเยอะขึ้น ทำงานหนักขึ้น แต่เรารู้สึกว่าเราตั้งใจมากเกินกว่าที่จะสนใจเรื่องความคุ้มแล้ว เราคิดแค่ว่า เอาเหอะ ทำไปเลย เราสนุกกับมันมากจนไม่อยากหยุดเลย เราอยากนำเสนอสีใหม่ๆ ที่ยังเก็บตัวอยู่ออกมาอีกด้วยซ้ำ” บิวเสริม

“แสดงว่าในอนาคตเราคงได้เห็นสีใหม่ๆ อีกใช่มั้ย” เราถามกลับ

“อาจจะใช่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลอง เพราะเราอยากให้มันออกมามีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งถ้ามันยังไม่ดีพอเราก็ไม่อยากขาย แล้วเราก็อยากเล่าเรื่องสีไทยโทนด้วยสื่อที่หลากหลาย อยากทดลองทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง เพราะเราไม่เคยบอกเลยว่าชาฎาคือยาทาเล็บ แต่ชาฎาจะเป็นแบรนด์ที่ส่งต่อสีไทยโทน เพราะฉะนั้น มันจะเป็นอะไรก็ได้ เราคิดแค่ว่าซีรีส์แรกจะเป็นยาทาเล็บเท่านั้นเอง” ก้อยตอบคำถามปิดท้าย

ในอนาคตแน่นอนว่าเราอาจจะได้เห็นแบรนด์ชาฎากับยาทาเล็บสีที่ 81 82 ชาฎาที่กลายเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งชาฎาที่อาจโลดแล่นอยู่ในตลาดโลก ทุกความคิดนี้ล้วนอยู่ในขั้นตอนการทดลองและวางแผนเพื่อสร้างชาฎาที่ดีที่สุด

จนกว่าจะถึงวันนั้นเราว่าก้อยและบิวคงจะมีเพื่อนร่วมอินสีไทยโทนไปกับพวกเธออีกเป็นสิบเป็นร้อยคนแน่ๆ

ก้อย-พรชนก จิระเกียรติวัฒนา และ บิว-จุฬาพร อิกิติสิริ

Lesson Learned 

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมาชาฎาไม่เคยหยุด 

ความตั้งใจนี้เองที่พวกเธอเชื่อว่าคือสิ่งสำคัญและอยากส่งต่อให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อยากลงสนาม

“เราสองคนไม่ได้มีกำลังเงินขนาดนั้น แต่อย่าทำให้เรื่องนี้มาหยุดเรา เพราะเราเชื่อเสมอว่าความฝันที่มีมันเป็นไปได้ แค่อาจจะต้องขยันหน่อย ต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหน่อย แต่สิ่งที่เราทำ ถ้ามันมีผลดีต่อสังคมหรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ เราเชื่อว่ามันจะมีคนดีๆ อีกหลายคนที่อยากช่วยผลักดันให้มันเกิดขึ้น

“ความคิดเห็นของพ่อแม่หรือเพื่อนๆ ก็สำคัญ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เชื่อตัวเองจนมองข้ามคนรอบข้าง ความเห็นของพวกเขาอาจจะไม่ได้ดี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายๆ ครั้งมันก็เป็นการปิดรูรั่วที่เรานึกไม่ถึง” ก้อยพาเราย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเกิดแบรนด์ชาฎา

“เรามองว่าการทำธุรกิจ จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหน ยังไงมันก็มีปัญหามาให้แก้อยู่แล้ว ถ้าเราใส่ใจมันมากพอเราก็จะผ่านมันไปได้” บิวเสริม

Facebook : CHADA ชาฎา

Instagram : @chada_thecolorist

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล