“You have not lived today until you have done something for someone who can never repay you” – John Bunyan (1628-1688)

“คุณไม่ควรบอกว่าคุณมีชีวิตที่สมบูรณ์ ถ้าคุณยังไม่เคยทำอะไรโดยไม่หวังผลตอบแทน” คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเจ้าของห้องทำงานที่ชั้นบนสุดของอาคารทำการ อธิบายความหมายของคำที่ติดอยู่บนผนัง

อินทนิล, บางจาก

นัดหมายพิเศษระหว่าง The Cloud และ คุณชัยวัฒน์ กัปตันทีมของ ‘บางจาก’ เกิดขึ้นสบายๆ ในบ่ายวันศุกร์

บทสนทนาที่ว่าด้วยพลาสติกจากพืช ที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการผลิตและผลกระทบเชิงระบบ ซึ่งมากกว่าประโยชน์เรื่องการย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินว่า ‘อินทนิล’ แบรนด์ร้านกาแฟ ของ บางจาก บริษัทพลังงานที่มีภาพจำว่ารักและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม หลังจากเปิดทำการสาขาแรกเมื่อปี 2549 และมุ่งมั่นสร้างแบรนด์กาแฟรักษ์โลกเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกธรรมดามาใช้แก้วพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพเป็นเจ้าแรกตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน เป็น ECO BRAND รายเดียวในตลาดกาแฟและผู้นำกาแฟออร์แกนิก

วันนี้ อินทนิลลุกขึ้นมาทำอะไรสนุกๆ เพื่อโลกอีกแล้ว อย่างการออกแบบและเปลี่ยน ‘ฝาใหม่ ไม่หลอด’

เช่นเคย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้ยินเรื่องการลดใช้หลอด แต่เราก็ไม่คิดว่าอินทนิลจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนฝาแก้วใหม่แบบยกดื่ม ในเมื่อไหนๆ ก็ต้องมีฝาเครื่องดื่ม ทำไมไม่ทำให้ฝาเครื่องดื่มและหลอดเป็นสิ่งเดียวกันไปเลย

ไม่นานมานี้ เราเริ่มเปลี่ยนการอุดหนุนกาแฟด้วยแก้วพลาสติกของร้านออฟฟิศ มาเป็นแก้วส่วนตัวที่มาพร้อมฟังก์ชันรักษาความร้อน-เย็น เพียงเพื่อส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้ว เราทำอะไรให้โลกได้มากกว่านั้น

และเมื่อบทสนทนาจบลง ความคิดเรื่องแก้วกาแฟพลาสติกของเราก็เปลี่ยนไป ไม่ถึงกับเรียกร้องการรักษ์โลกในบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดหรอก เราแค่อยากมีโอกาสเล่าเรื่องที่ฟังมา ให้คุณฟังเท่านั้นก็พอ

อินทนิล, บางจาก อินทนิล, บางจาก

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่สถานีบริการน้ำมันเริ่มคิดและเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเอง

สิ่งแรกที่คนคิดถึงปั๊มน้ำมันคือ ห้องน้ำ เมื่อขับรถมาระยะทางหนึ่ง น้ำมันใกล้หมดพอดี พร้อมๆ กับที่รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำ และเป็นธรรมดาที่คนขับรถ 1 – 2 ชั่วโมงจะเกิดการเมื่อยล้า ชาหรือกาแฟจึงเป็นตัวกระตุ้นทำให้สดชื่นตื่นตัว มีเรี่ยวแรงขับรถต่อไปได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขามีกฎหมายเลยว่าหากขับรถติดต่อกัน 4 ชั่วโมงต้องหยุดพัก 30 นาที ซึ่งกิจกรรมที่เหมาะสมแก่เวลามากที่สุดคือการพักดื่มกาแฟในร้านกาแฟ ดังนั้น ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเหล่านี้

ธุรกิจร้านกาแฟพรีเมียมในปั๊มกำลังเป็นกระแส เหมือนยุคหนึ่งที่ปั๊มน้ำมันให้ความสำคัญกับร้านสะดวกซื้อหรือเปล่าคะ

เราเปิดร้านกาแฟอินทนิลมานานแล้ว นับตั้งแต่สาขาแรกก็เป็นเวลา 12 ปีแล้ว เพียงแต่เราค่อยๆ ขยายสาขาออกไป

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยเปลี่ยนไป จากที่เคยชอบกินโอเลี้ยงชาดำเย็น ก็เริ่มติดใจรสชาติ มองหากาแฟที่กลมกล่อมมากขึ้น ไปจนถึงต้องการกาแฟคุณภาพดีจากเมล็ดกาแฟออร์แกนิก ผมว่าเป็นเทรนด์ที่ค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมพวกเรา ถามว่ายังกินโอเลี้ยง ชาเย็น ชาดำเย็น อยู่มั้ย เราก็ยังกินอยู่

อินทนิล, บางจาก อินทนิล, บางจาก

จากขนาดธุรกิจที่ต่างกัน การทำร้านกาแฟอินทนิลสร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจหลักอย่างไร

เป็นเรื่องที่เสริมกันมากกว่า ในเมื่อรถได้พัก ได้เติมพลัง คนก็ควรได้พักเหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ดื่มกาแฟแต่ก็ยังมีเครื่องดื่มอื่นๆ ตอบโจทย์ ขณะที่การทำแบรนด์อินทนิลก็ช่วยสร้างภาพจำใหม่ของแบรนด์ด้วย

ถ้าสังเกต จะเห็นว่าตลอดระยะเวลา 4 ปีมานี้ บางจากเราต้องการที่จะเป็นแบรนด์ที่สื่อสารกับคนยุคมิลเลนเนียมมากขึ้น จริงๆ เราและเด็กรุ่นใหม่มีอะไรที่เหมือนกันเยอะมาก บางจากเรามีภาพจำเรื่องการคิดถึงและดูแลโลก ดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ก็มีความคิดทำนองนี้ด้วยเหมือนกัน เงินทุกบาทที่เขาจ่ายไปเขารู้ถึงคุณค่า หรือการมองหารว่าเขาได้ทำดีกับโลกใบนี้อย่างไรบ้าง เพียงแต่ว่าคลื่นระหว่างเรายังไม่ตรงกัน

ยังไง?

ถ้าถามผม ผมว่าบางจากเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงมาก เพียงแต่ว่าก็โตเป็นผู้ใหญ่ไปตามอายุ สมัยก่อน ท่าทีของบางจากจะมีลักษณะเหมือนผู้ใหญ่สอนเด็ก หรือครูสอนนักเรียนตลอดเวลา ยังจำได้ดีช่วงแรกที่ทำงาน มีคนบอกว่าแบรนด์บางจากเหมือนลุงแก่ๆ คนหนึ่ง

วันนี้เราจึงพยายามพูดตรงๆ ตอบสิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากฟังเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เขาอยากเห็น ซึ่งวิธีหนึ่ง ได้แก่ การนำไลฟ์สไตล์เข้าไปใส่ในแบรนด์มากขึ้น มีความเป็นสีเขียวมากขึ้น พร้อมทั้งตีความสีเขียวเหล่านั้น เช่น กาแฟมาจากเมล็ดกาแฟออร์แกนิก รสชาติกลมกล่อมตอบโจทย์ ทำเมนูที่หวานน้อย หากใครชอบหวานก็ให้เลือกเพิ่มเติมน้ำตาลตามชอบ

แต่สิ่งที่เราคิดมาก่อนหน้านั้นคือ เราคิดถึงพลาสติก ซึ่งจริงๆ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มานาน เป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มใช้แก้วพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และยังใช้อยู่ถึงวันนี้

อินทนิล, บางจาก

อินทนิล, บางจาก

ในเมื่อพลาสติกที่ย่อยสลายได้เป็นสิ่งที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แล้วทำไมถึงมีคนใช้ไม่เยอะ

เป็นเรื่องของไก่กับไข่ (อะไรเกิดก่อนกัน) อย่างที่รู้กัน เหตุผลข้อแรกคือ ราคา

ด้วยธรรมชาติของการผลิตพลาสติกทั่วไป ใช้น้ำมันในการผลิตน้อย แต่ให้พลาสติกจำนวนมาก ต้นทุนต่อหน่วยจึงถูก คิดง่ายๆ ราคาของพลาสติกพวกนี้ถ้าเป็นพลาสติกที่มาจากน้ำมันราคาจะประมาณ 1/3 ของพลาสติกที่ทำจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นั่นแปลว่าจากต้นทุนที่เคยจ่าย 1 บาท ร้านกาแฟต้องเปลี่ยนมาจ่าย 3 บาท หากตัดสินใจใช้แก้วพลาสติกชีวภาพนี้ กำไรที่เคยมีก็จะลดน้อยลงไป ทำให้ร้านไม่ค่อยอยากใช้ พอคนไม่ค่อยใช้ก็ยิ่งไม่มีคนผลิต นั่นทำให้ต้นทุนที่เคยสูงอยู่แล้ว สูงขึ้นไปอีก

สิ่งที่เราทำคือ ต้องทำให้ผู้บริโภครับรู้เรื่องนี้ จนส่งผลให้เรียกร้องต้องการใช้แก้วที่เป็นพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเมื่อสร้างความต้องการแก้วพลาสติกพิเศษในตลาดก็จะส่งผลให้การผลิตต่อหน่วยถูกลงต่อไป แน่นอนต้นทุนแก้วของเราแพงกว่าชาวบ้าน เราก็คิดว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องที่เราคืนให้กับสังคม เราสื่อสารทางตรงกับผู้บริโภคของเราว่า คุณได้ทำดีกับโลกใบนี้

ทุกครั้งที่ได้ยินว่าการลดใช้หรือเปลี่ยนการใช้งานพลาสติกจะช่วยโลกอย่างนั้น อย่างนี้ ยอมรับว่าเรานึกไม่ออกว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นสร้างผลกระทบแค่ไหน แต่พอได้ฟังว่าการที่ผู้บริโภคอย่างเราตระหนักรู้เรื่องนี้ส่งผลต่อ Demand หรือความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพ จนอาจจะทำให้ตลาดการผลิตพลาสติกเปลี่ยนไป เริ่มใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่คิดถึงโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ใช่ ทุกคนยังกินเท่าเดิมหมด เพียงแค่แก้วใบนี้ย่อยสลายได้

เราเขียนไว้ข้างแก้วเลยว่า 100% Made from plant แปลว่าแก้วนี้ทั้งแก้วทำจากใบไม้ กิ่งไม้ หรืออะไรก็ตาม ไม่ได้ทำมาจากน้ำมัน ซึ่งจะย่อยสลายได้

อินทนิล, บางจาก อินทนิล, บางจาก

พอจะเล่าอย่างง่ายๆ ให้คนนอกวงการอย่างเราเข้าใจตามไปด้วยได้ไหมคะ ว่ากระบวนการผลิตพลาสติกจากพืชเป็นยังไง

ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ ใบไม้ ต้นหญ้า ชานอ้อย ฟางข้าว ทุกอย่างมีโมเลกุลที่แปลงสภาพสุดท้ายออกมาเป็นสิ่งที่คล้ายกับน้ำตาลได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนประกอบของคาร์บอนอยู่ คาร์บอนเหล่านั้นก็เหมือนน้ำมัน จากนั้นผ่านกระบวนการหมัก กระบวนการดอง แยกโมเลกุลโดยใช้ไฮโดรเจนความดันสูง และอื่นๆ จนแปลงสภาพเป็นพลาสติก เพียงแต่ว่าในกระบวนการทั้งหมดนี้มีต้นทุนที่มหาศาลมาก เพราะน้ำมันที่เรารู้จักผ่านกระบวนการหมักใต้พื้นโลกมาเป็นล้านปี มันก็จะกลั่นง่ายขึ้น คิดดูว่าเรากำลังลัดขั้นตอนกระบวนการที่ควรเกิดขึ้นล้านปีให้เหลือเพียง 10 – 15 ชั่งโมง

ข้อดีของพลาสติกเหล่านี้คือ ใช้แล้วไม่หมดไป เราปลูกข้าวทุกปี รวมถึงพืชอื่นๆ ที่ปลูกได้ตลอด ไม่มีวันใช้แล้วหมดไป ต้องรออีกล้านปีเพื่อขุดขึ้นมาอีกที

อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจน หลังจากกาแฟอินทนิลเป็นแบรนด์ที่ใช้พลาสติกจากผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

วันนี้ทั้งอินทนิลและบางจากเราตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันผมคิดว่ากระบวนการที่เราให้ความรู้ผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ Plant คืออะไร Plastic from plant แปลว่าอะไร และดีต่อโลกอย่างไร ถ้าสื่อสารเรื่องนี้ออกไปมันก็คงจะดีขึ้น

ช่วงเวลานี้ ถือเป็นเรื่องดีที่คนออกมาพูดผลกระทบที่เกิดจากพลาสติกกันมากขึ้น นกและเต่าตายเพราะกินพลาสติก แต่แล้วยังไงต่อ เป็นเรื่องที่เราเห็นมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว และก็พยายามเปลี่ยนและสื่อสารเรื่องนี้ ปลูกจิตสำนึก เหมือนคนไทยเมื่อ 10 ปีก่อนเราไม่เข้าคิวกันนะ วันนี้คนไทยอย่างน้อยก็ 70 – 80% ก็เข้าคิวกันเป็นแล้ว ปัญหาเรื่องพลาสติกก็เช่นกัน

8 Questions Answered by President and CEO of Bangchak

  1. ไอเทมรักษ์โลกที่อยากแนะนำให้คนรู้จัก: อะไรก็ได้แต่อยากให้เลิกใช้หลอด
  2. กาแฟเมนูโปรด: เอสเพรสโซ
  3. คำพูดที่มักจะพูดเสมอ: ทำไมนิ เป็นคำพูดที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังได้โอกาสทบทวนสิ่งที่คิดและพูดออกมา
  4. สิ่งแรกที่ทำเมื่อไปที่ปั๊มน้ำมันบางจาก: เดินเข้าไปในร้าน Spar
  5. รองเท้าวิ่งคู่โปรด: Skechers
  6. เรื่องใหม่ล่าสุดที่ได้เรียนรู้: เรียนรู้ตลอดเวลาเพราะต้องเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ เรื่องล่าสุดที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ วันนี้ คือเรื่องเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ เราไม่เคยรู้เลยว่าโลกใบนี้มีเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น 6 พันล้านเครื่อง ข้อมูลนี้กำลังจะบอกเราว่า หนึ่ง เครื่องใช้เหล่านี้ใช้ไฟเยอะมาก สอง เรามัวแต่คิดเรื่องผลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมจนลืมว่านี่ก็เป็นต้นเหตุของ CFC ที่ทำให้โลกร้อนเหมือนกัน ใกล้ตัวกว่าที่คิด
  7. ในช่วงเวลาบ่ายวันอาทิตย์จะบังเอิญพบคุณได้ที่:สนามฟุตบอลหรือสนามจักรยานที่สุวรรณภูมิ
  8. ถ้ามหาวิทยาลัยเชิญคุณไปเป็นอาจารย์พิเศษ คุณจะสอนวิชาอะไร: เราเป็นคนชอบนั่งคุยถาม-ตอบมากกว่าจะบรรยาย ถ้าต้องไปพูดในชั้นเรียนคงจะเป็นลักษณะการเสวนาหรือสนทนาร่วมกันมากกว่า

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ