กว่าเมืองหลวงประเทศไทยจะมีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ที่เปิดให้ทุกคนเข้าชมฟรีที่ใจกลางเมือง ประชาชนและกลุ่มศิลปินผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่ 24 ปีที่แล้ว

ปีนี้หอศิลป์ร่วมสมัยแห่งนี้อายุครบรอบ 10 ปี ไม่ใช่เวลาที่นานนักบนหน้าประวัติศาสตร์ แต่ก็นานพอที่จะปลูกฝังศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยให้ประชาชนชาวไทย และบ่มเพาะดูแลศิลปินจำนวนมากให้เติบโต

ใครที่ตามข่าว BACC ช่วงนี้ คงรู้ว่าศูนย์ศิลปะที่ดำเนินงานด้วยภาษีของประชาชนมาตลอด กำลังประสบปัญหาหนักเรื่องงบประมาณจนเกือบถึงขั้นตัดน้ำตัดไฟ เนื่องจากสภากรุงเทพมหานครไม่อนุมัติเงินสนับสนุนตลอดทั้งปีนี้ และก่อนหน้านี้ยังแสดงความประสงค์จะเข้ามาบริหารที่นี่เอง แทนที่คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเป็นช่วงเวลาที่ไม่ง่ายสำหรับ ครูป้อม-ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้รับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมาได้เพียง 7 เดือน

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

คนจำนวนไม่น้อยรู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงคนนี้ในฐานะประธานชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง ประธานคณะกรรมการสรรหาศิลปินศิลปาธร อนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไต้หวัน

ในฐานะลูกศิษย์เอกศิลปการละครที่เรียนกับครูป้อมทุกปี ยืนตบมือยินดีในวันที่ครูได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 4 ปีก่อน (ช่วงนั้นใครๆ ก็เรียกครูว่า ‘อัศวิน’) ฉันรู้จัก ผอ. คนนี้ในฐานะครูที่เล่าประวัติการละครกับเทศกาลละครทั่วโลกให้ฟัง เปิดหนังอินดี้ประหลาดๆ ให้ดู ทั้งยังชักชวนสารพัดละครจากยุโรปมาแสดงที่คณะ และบางครั้งยังเล่นละครหรือกำกับเอง

“To be, or not to be, that is the question…”

แฮมเล็ตรำพึงกับตัวเองว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายจากไป ฉันนึกถึงบทละครโด่งดังที่ครูเคยสอนในห้องเรียน แม้ชีวิตไม่ร้าวรานโศการะดับตัวเอกของเชกสเปียร์ แต่ภาวะเปราะบางของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครก็ชวนกังขา

ไม่ใช่คำถามว่าอยู่หรือไปหรอก ยังไงเขาก็สู้ต่อ

แต่ผู้บริหารคนนี้จะโอบอุ้มประคองที่นี่ต่อไปอย่างไร

These are the questions.

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ตอนนี้สถานการณ์ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นอย่างไร

ล่าสุด (วันที่ 1 ตุลาคม 2561) หอศิลป์ได้งบประมาณค่าน้ำค่าไฟของปีนี้และปีหน้าแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจัดนิทรรศการ กิจกรรม การศึกษา รองผู้ว่าฯ รับเรื่องว่าจะไปหาวิธีช่วย ขอเวลา 2 สัปดาห์ครับ

หลายคนคิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้วตั้งแต่หลายเดือนก่อน พอผู้ว่าฯ บอกว่าจะไม่ยุ่งกับหอศิลป์แล้วถ้าประชาชนไม่ต้องการ ก็คือจบเรื่อง แต่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์งบประมาณเป็นอย่างไร

ตอนที่เขาฉลองกันผมไม่ได้ดีใจด้วยเลยนะ ผมรู้อยู่แล้วว่าการที่ กทม. จะยึดไปบริหารทันทีเป็นไปไม่ได้ ถึงในสัญญาเขาจะเขียนว่า กทม. จะเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ เพราะหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดย กทม. อยู่บนพื้นที่ของ กทม. ถ้าเขาเห็นว่ามูลนิธิบริหารงานไม่ดี เขาก็ยกเลิกสัญญาได้ แต่สัญญาเราก็ยังมีอยู่ถึงสิงหาคม ปี 2564 ส่วนของผมหมดปี 2565 ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ยังไงก็ตาม เราก็จะทำให้ได้ ผมมั่นใจว่ามูลนิธิฯ ต้องได้ต่อสัญญา และได้บริหารหอศิลป์ต่อหลังปี 2564

บางคนพูดว่าหอศิลป์อยู่ในทำเลทองขนาดนี้ จะมีผลประโยชน์ทางธุรกิจมาเกี่ยวข้องรึเปล่า ซึ่งนั่นอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ผมก็ทำส่วนของผมให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในเวลานี้

ปัญหางบประมาณนี้เกิดจากอะไร

สภากรุงเทพมหานครมองว่าสัญญาของหอศิลป์ไม่ถูกต้อง ทำให้จ่ายงบประมาณไม่ได้

มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเซ็นสัญญาโอนสิทธิ์ใช้หอศิลป์จาก กทม. เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 มีกำหนด 10 ปี มีเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน เช่น มูลนิธิสามารถให้เช่าพื้นที่ห้องประชุม ห้องออดิทอเรียม กับประชาชนในราคาที่ยุติธรรม ให้เอกชนเช่าพื้นที่ร้านค้าได้ เป็นรายได้ของมูลนิธิ

แต่สิ่งที่ห้ามทำคือการเก็บค่าเข้าหอศิลป์ ค่าเข้าชมนิทรรศการ ค่าเข้าร่วมกิจกรรม และต้องจัดกิจกรรมให้กับบุคลากรในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนักเรียน ครูอาจารย์ อย่างน้อยปีละ 2,000 คน ที่เหลือคือต้องจัดนิทรรศการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ อย่างน้อยขนาดละ 1 ครั้ง

จากเดิมที่เซ็นสัญญาโอนสิทธิ์ มูลนิธิฯ ได้รับเงินสนับสนุนจาก กทม. ทุกปี ราว 40 – 45 ล้านบาท เป็นงบส่วนใหญ่ประมาณ 55% – 60% ของเราที่นำมาบริหารจัดการ ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนอื่นๆ เราขอสปอนเซอร์ และหารายได้อื่นเพิ่มเติมจากการบริหารพื้นที่ อย่างปีที่แล้วเราได้งบ 45 ล้าน เราหาได้เอง 37 ล้าน รวมเป็น 82 ล้าน เราใช้ไป 75 ล้าน ที่เหลือเราก็เก็บไว้ใช้ปีถัดไป

เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2560 เขาพิจารณางบประมาณปี 2561 คือตั้งแต่ 1 ตุลาคมปี 2560 – 30 กันยายน 2561 แต่แทนที่ให้งบอุดหนุนมา เงินนี้กลับไปอยู่ที่สํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ซึ่งขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร หอศิลป์ต้องทำเรื่องเบิกจ่ายไปตามระเบียบราชการ ซึ่งเราก็ทำเรื่องเบิกไปแต่เบิกไม่ได้ ด้วยขั้นตอนต่างๆ ของราชการ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ทำไมถึงเบิกงบประมาณไม่ได้

ในสัญญาระบุว่า กทม. คือผู้ให้สิทธิ์ ผู้ให้สิทธิ์ไม่สามารถจ่ายเงินให้กับผู้รับสิทธิ์ได้ หมายถึงค่าน้ำค่าไฟ ที่ผ่านมาเขาให้เงินอุดหนุนมา แล้วมูลนิธิฯ ก็จ่ายเอง นั่นจึงถูกต้อง แต่สภา กทม. เขาท้วงติงว่าสัญญาไม่ถูกซะทีเดียว สวท. ก็เลยเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็ช่วยจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้

แล้วสามารถแก้ไขสัญญา เพื่อให้เบิกงบประมาณใหม่ได้ไหม

ได้ครับ แต่กรรมการมูลนิธิฯ ชุดเดิมหมดวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2561 ต้องรอกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่ ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการสรรหาอยู่ และยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหากรรมการมูลนิธิฯ อย่างเป็นทางการจาก กทม. สัญญาจึงแก้ไขไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่ยากและคนยังไม่เข้าใจ

สรุปง่ายๆ ตอนนี้หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครขาดทุนทุกเดือนตั้งแต่ขาดเงินสนับสนุน และระบบที่มีก็เหมือนโดนใส่กุญแจมือ มีคนมาดูนิทรรศการ ดูหนัง ฟังเสวนาเยอะ แต่ไม่มีใครจ่ายเงิน ไม่มีรายได้เข้ามา เงินที่เราเก็บจากปีก่อนๆ มันก็หมดไปเรื่อยๆ เหลือไม่เยอะ มันปริ่มมากจนถึง 1 ตุลาคมปีหน้า

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ


สิ่งที่คนทั่วไปจะช่วยหอศิลปกรุงเทพฯ ได้คืออะไรคะ

ช่วยมาหอศิลป์ ซึ่งตอนนี้ก็มาเยอะแล้วนะครับ 8 เดือนที่ผ่านมานี้ มีคนเข้าชมที่นี่มากกว่าช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว 13 เปอร์เซ็นต์ อาจเพราะมันเป็นข่าวเยอะมั้ง (หัวเราะ) คนจำนวนมากมาหอศิลป์ครั้งแรกปีที่แล้ว ตอนที่มีนิทรรศการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 คนก็คิดว่ามีงานแบบนี้ด้วยเหรอ อยากไปจังเลย เดือนตุลาปีที่แล้วมีคนเข้าหอศิลป์ประมาณ 2 แสนคน เยอะมากเป็นสถิติ เราก็หวังว่าช่วง Bangkok Art Biennale หอศิลป์จะกลับมาคึกคักอีกรอบ

และถ้าอยากจะบริจาค เรามีกล่องบริจาค และมีหมายเลขบัญชีกับ QR Code ให้โอนเงินง่ายๆ ห้างร้านหรือธุรกิจเอกชนก็ช่วยได้ครับ เราได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังแล้วว่าการบริจาคเงินให้มูลนิธิหอศิลป์เป็นสาธารณะกุศล ควรลดหย่อนภาษีได้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ตอนนี้มีความช่วยเหลือหลายรูปแบบจากเพื่อนๆ ของหอศิลป์ เช่น วิทยากรหรืออาจารย์หลายคนขอไม่รับค่าตัวเพราะรู้สถานการณ์ของเรา แล้วบริจาคเงินค่าตอบแทนให้หอศิลป์แทน

ถ้ามีบริษัทใหญ่ใจป้ำให้เงินจำนวนมาก ครูจะรับไหม

ปกติเขาก็ต้องมีเงื่อนไขเนอะ เช่น ใช้พื้นที่จัดกิจกรรม ติดโลโก้ เราก็มีฝ่ายธุรกิจที่คอยดูแล อย่างเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีงานนิทรรศการ ‘ฝากไว้ในแผ่นดิน 140 ปี บี.กริม’ เขาให้ค่าเช่าพื้นที่ 1 ล้านบาท และงานที่เขาให้ศิลปินทำก็ขายได้เงินมาอีกล้านกว่าบาท มีคนซื้อ แต่ก็ยังไม่หมด ยังซื้อได้ เงินก็เข้าหอศิลป์

เขาจงใจช่วยเรา เพราะจะจัดงานครบรอบ 140 ปีตามห้าง ตามโรงแรมก็ได้ แต่ว่าเขาก็อยากทำเพื่อศิลปะ และอยากจัดแสดงประวัติของบริษัทเขาด้วย ถามว่าเป็นงานคอมเมอร์เชียลไหม ก็กึ่งๆ นะ เป็นงานที่คนทั่วไปก็ได้ความรู้ และได้แรงบันดาลใจจากงานศิลปะด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ก่อนมาเป็นผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ อาชีพที่ครูเคยทำคืออะไรบ้าง

อาชีพแรกที่ผมทำคือเป็นครูที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งหมด 25 ปี 9 เดือน 1 วัน ผมอยากเป็นครูตั้งแต่เด็กๆ เพราะแม่เป็นครู แววความเป็นครูออกตั้งแต่ป.2 ป.3 ผมกลับมาบ้านแล้วเรียกหมามาที่โรงรถ มันมีกระดานอยู่ ผมก็เขียนกระดานแล้วสอนสิ่งที่เรียนมาให้หมาฟัง วันต่อๆ มาก็ไปเรียกเด็กแถวบ้านมานั่งเรียนด้วย ผมชอบสอนหนังสือ

ผมเริ่มเป็นครูตั้งแต่อายุ 19 ปี 10 เดือน สมัยนั้นคนรุ่นผมสอบเทียบกันเยอะ จังหวะนั้นที่คณะมีอาจารย์ลาออกพอดี ผมก็สมัครเป็นอาจารย์เลย แต่สมัยนี้เป็นไปไม่ได้แล้ว ผมสอนวิชาประวัติการละคร และวิชาภาพยนตร์ สอนอยู่ 2 ปีก็ไปเรียนโทต่อที่ Northwestern University หลังจากนั้นก็ไปเรียน ป.เอก แต่ไม่จบเพราะปัญหาหลายอย่าง เลยกลับมาเป็นอาจารย์ต่อ นั่นคืออาชีพที่หนึ่ง

อาชีพที่สองคือเป็นนักวิจารณ์ เป็นงานฟรีแลนซ์ ผมเขียนบทวิจารณ์การแสดงให้หนังสือพิมพ์ The Nation ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบัน แต่เขียนน้อยลง แต่เดิมเขียนอาทิตย์ละ 2 เรื่อง ตอนนี้เขียน 2 อาทิตย์เรื่อง เพราะไม่ค่อยมีเวลาไปดูละคร

ตอนอยู่ที่อักษรฯ ผมก็ได้ทำงานบริหารบ้าง ได้เป็นกรรมการบริหารคณะ เป็นหัวหน้าภาควิชา และเป็นหัวหน้าโครงการศิลปะการแสดงนานาชาติ คือร่วมงานกับสถานทูตต่างๆ หรือองค์กรวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อจัดการแสดงที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล



การบินไปช้อปปิ้งละครต่างๆ มาลงที่คณะอักษรฯ นี่เป็นอาชีพด้วยรึเปล่า

มันบวกกันทุกอย่าง จริงๆ ผมไม่ได้ช้อปปิ้งหรอก เพราะช้อปปิ้งต้องมีเงิน ผมเป็นคนดูแล้วก็ไปคุยกับคนนั้นคนนี้ว่างานนี้น่าเอามาลงที่เมืองไทย แล้วให้เขาออกเงิน 

งานของผมคือหาสิ่งใหม่ๆ แล้วไปหาคนนั้นคนนี้มาช่วย แล้วมันก็ต่อเนื่องกันไป มันเริ่มจากการไปเอง การไปเทศกาลการแสดงเหมือนการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม เราจะได้ไปเห็นละครใหม่ๆ ซื้อบทละครใหม่ๆ มาสอนหนังสือลูกศิษย์ เพราะศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนรุ่นใหม่อย่างลูกศิษย์ผมเป็นคนยุคดอทคอม มีความรู้เยอะมากที่ได้จากอินเทอร์เน็ต บางทีเขาก็มีโอกาสได้ไปดู เขาไปไกลขนาดไหนแล้ว เราก็ต้องสู้กับเขาให้ได้ถึงจะสอนเขาได้

พอกลับมาคุยกับสถานทูตนั้นนี้ เขาก็เริ่มให้เราไป แล้วมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ และเกี่ยวข้องกับทุกอย่างที่เราทำ ตอนผมไปดูละครที่เทศกาลในฝรั่งเศส ผมเขียนวิจารณ์การแสดงที่ดู แล้วก็เอาบทละครงานนั้นมาสอนหนังสือ ต่อมาก็พัฒนากลายเป็นละครภาษาไทยที่คณะ แล้วยังมีการพิมพ์หนังสือภาษาไทย/ฝรั่งเศสออกมา สุดท้ายผู้กำกับเรื่องนั้นก็มาทำละครเรื่องใหม่ของเขาที่อักษรฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ


อาชีพของครูก็ดูสนุกอยู่แล้ว ทำไมถึงมาเป็น ผอ. หอศิลปกรุงเทพฯ 

(หัวเราะ) มีแต่คนถามประโยคนี้ ถึงเวลาหนึ่งผมค้นพบว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มีประโยชน์กับคนไม่กี่ร้อยกี่พันคนในแต่ละปี คือคนที่เรียนกับผม ลูกศิษย์บางคนไม่เคยดูละครเวที ไม่เคยดูหนังอินดี้ ก็ได้ดู และมันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาจะเรียนต่อไป ไม่ว่าเขาจะเอกญี่ปุ่น เอกสเปน เอกอิตาเลียน หรือคนดูละครเวทีบางคนก็ไม่คิดว่าจะได้ดู Hamlet ของ Globe Theatre มันเป็นโครงการในฝันที่เราทำให้เขามาเล่นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จนได้

แต่สุดท้ายแล้วผมก็อยากทำงานกับคนกลุ่มใหญ่กว่านั้น ถ้าอยู่ที่จุฬาฯ ผมก็จะทำแบบเดิมต่อไปก็ได้ แต่จะทำแบบนี้จนถึงเกษียณเหรอ มันยังมีอะไรน่าทำอีก และผมกล้าเสี่ยง ผมไม่อยากอยู่ใน Comfort Zone ปลายปีที่แล้วหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเปิดรับสมัครผู้อำนวยการ ผมเห็นว่าที่นี่น่าจะตอบโจทย์ของผมได้

ตอนที่สมัครงานที่นี่ ครูรู้รึเปล่าว่าหอศิลปกรุงเทพฯ มีปัญหา

ไม่รู้ เพราะตอนที่สมัครเป็นช่วงพีกของหอศิลป์ช่วงกันยา-ตุลาปีที่แล้วเป็นขาขึ้นมาก คนเข้าหอศิลป์มาก สปอนเซอร์ก็เข้า ปลายเดือนธันวาที่เขาจะรับผม มูลนิธิก็บอกว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ แล้วตอนนี้มีงบประมาณ 40 ล้านอยู่ที่ สวท. และกำลังทำเรื่องเบิกจ่าย

คนก็ถามว่าถ้ารู้ว่ามันจะยุ่งขนาดนี้ ผมจะมามั้ย ผมก็มานะ เพราะผมประเมินแล้วว่าผมไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นอีกแล้วถ้าอยู่ที่มหาวิทยาลัย ถึงขั้นที่ว่าถ้าผมเกษียณที่จุฬาฯ ผมจะถือว่าผมล้มเหลวในชีวิต เพราะผมไม่ได้จบปริญญาเอกด้วย ในแง่ความก้าวหน้าของอาจารย์ ผมมาเกือบสุดแล้ว ผมไม่สามารถทำอะไรมากกว่านี้ได้แล้ว

ถ้าอยู่ต่อไปก็เป็นผู้ช่วยคณบดี รองคณบดี แล้วไงต่อ มันไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประชาชนคนทั่วไปและวงการศิลปะ เพราะฉะนั้น ยังไงผมก็มาที่นี่ ที่นี่ผมทำอะไรได้เยอะกว่า ผมมีเวลาอีกอย่างน้อย 15 ปีที่จะทำงานให้ประโยชน์กับคนอื่นๆ ก่อนถึงเวลาเกษียณปกติ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ


ปัญหาที่ครูอยากแก้ไขในวงการศิลปะไทยคืออะไร

ผมเห็นว่าบ้านเรามีการแบ่งแยกศิลปะแต่ละแขนงชัดเจนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่เรียนละครเต้นไม่เป็น นักศึกษาที่เรียนเต้นก็เล่นละครไม่เป็น คนที่เรียน Visual Art ก็เล่นละครไม่เป็น ที่เมืองนอก คนรุ่นใหม่ๆ ไม่พูดแล้วว่างานที่ทำเป็นละครเวทีหรือการเต้น ก็บอกไปเลยว่ามันเป็น Performance Art ซึ่งคนที่ทำงานแบบนี้มีความสามารถหลายอย่างในตัวเอง

ปกติผมก็ดูงาน Visual Art อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ดูเยอะเท่าการแสดง ผมมองว่ามันเป็นสิ่งใหม่ให้ผมศึกษา แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คุยกับศิลปินวิชวลอาร์ตรุ่นใหม่ๆ เขาบอกว่าอยากเรียนแอ็กติ้ง ในขณะที่คนรุ่นเก่าๆ อาจคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา แต่คนรุ่นใหม่เปิดกว้างมาก เขาคิดว่าศิลปะทุกแขนงมันเชื่อมโยงต่อเนื่องกันได้ เขาไม่รู้นี่ว่าในอนาคตงานของเขาจะต้องการทักษะอะไรบ้าง ถ้าคนที่เรียนจบมาก็ร่วมมือกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สนุกขึ้น ข้ามสาขาขึ้น

ประสบการณ์การเป็นครูช่วยในการทำงานเป็นผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ อย่างไร

ต้องพูดว่าประสบการณ์ทำงานด้านละครช่วยมากกว่า เพราะคนดูมีส่วนสำคัญมากสำหรับศิลปะการละคร สมมติเราจัดละครตอนทุ่มครึ่ง คนดูอยู่กับเราถึงสามทุ่มครึ่ง เราเป็นห่วงว่าคนดูจะเข้าใจมั้ย สิ่งที่เราตั้งใจทำสื่อสารไปถึงคนดูรึเปล่า นี่เป็นสิ่งที่แตกต่างจากงานทัศนศิลป์ ซึ่งหลายงานยังเน้นพิธีเปิด หลังจากนั้นก็มีคนพาเดินชมแหละ แต่ยังไม่ได้สื่อสารกับคนดูทุกคนร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันทำให้เราปรับใช้กับที่นี่ ว่าเราจะสื่อสารสิ่งที่ศิลปินต้องการกับผู้ชมยังไง

คำว่าผู้ชมนี่หมายถึงใครก็ได้เลยนะ เพราะหอศิลป์ดำเนินการด้วยภาษีของประชาชน ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาที่นี่ต้องเข้าใจ ไม่ว่าการศึกษาระดับไหน ฐานะทางเศรษฐกิจแบบไหน เป้าหมายหนึ่งของผมคือทำให้วินมอเตอร์ไซค์และตุ๊กตุ๊กที่อยู่หน้าหอศิลป์เข้ามาดูงานในนี้ ใครๆ ก็เข้าหอศิลป์ได้ เพราะเราใช้ภาษีของเขาอยู่ นี่คือสิ่งที่พยายามทำ แต่ยังไม่สำเร็จนะครับ ก็ค่อยๆ ทำไป


แปลว่าหอศิลป์กรุงเทพฯ ต้องจัดงานที่เข้าใจง่ายๆ รึเปล่า

ไม่ใช่ครับ ไม่เกี่ยวกับตัวงาน อยู่ที่วิธีการสื่อสารมากกว่า นี่เป็นปัญหาที่ผมรับมาเต็มๆ และจะแก้ไขต่อไป ถ้าฝ่ายนำชมหรือฝ่ายการศึกษาของเราจัดการให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจศิลปะ และเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไปได้ เราก็ต้องทำให้คนทั่วไปได้ด้วย เพราะคนทั่วไปที่สมัยเด็กไม่มีหอศิลป์เขาก็จ่ายภาษี ที่นี่ก็เป็นที่ของเขาเหมือนกัน เราก็ต้องสื่อสารกับเขาด้วย

ผมไม่ชอบเรียกที่นี่ว่าหอศิลป์ฯ ถ้าไม่รีบพูดมาก จะพูดชื่อเต็มๆ ซึ่งสื่อความหมายได้ดีกว่า คือหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพราะมันมีคำว่าวัฒนธรรมอยู่ด้วย กาแฟดริปก็เป็นวัฒนธรรม ไอศครีมทุเรียนก็เป็นวัฒนธรรม ห้องสมุดศิลปะที่มี Wi-Fi และน้ำดื่มให้ฟรีก็เป็นวัฒนธรรม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน

ยังไงคะ

ตัวอย่างเหมือนตอนผมสอนห้องเรียนเล็กๆ ผมจะเปิดโอกาสให้คนที่เรียนได้เรียนรูปแบบที่เขาอยากเรียน ห้องเรียนของผมไม่มีสอบ ผมให้เขาทำโครงการอะไรก็ได้ตอนกลางภาคและปลายภาค ที่เกี่ยวข้องกับละครที่เราเรียน โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

รุ่นพี่คุณที่อยู่เอกภาษาไทยบ้าลิเกมาก ขนาดสมัครเข้าคณะลิเก เขียนการ์ตูนคู่มือดูลิเก เป็นแฟนพันธุ์แท้ลิเก ตอนเขาเรียนแฮมเล็ตกับผม สิ่งที่เขาทำคือแปลงแฮมเล็ตเป็นบทลิเก ทั้งที่ลักษณะตัวละครไม่เหมือนกัน ตัวละครฝรั่งจะมีดีชั่วปนกันไป แต่ลิเกต้องมีตัวเอกตัวร้ายชัดเจน แต่เขาทำได้ มีตัวเอก ตัวร้าย ตัวรอง นางเอก นางรอง ครบ

บางคนอยากเป็นแอร์โฮสเตส เลยออกแบบสายการบินที่ได้แรงบันดาลใจจากแฮมเล็ต บางคนชอบทำอาหาร เขาทำเมนูอาหารเป็นแซลมอนราดน้ำแดงๆ เหมือนเลือดมาให้กิน อีกคนชอบทำน้ำสมุนไพร ก็ทำน้ำสมุนไพรที่ได้แรงบันดาลใจจากตัวละครต่างๆ ซึ่งดื่มได้จริง ท้องไม่เสีย

ผมว่าสิ่งนี้ใกล้เคียงกับหอศิลป์มาก แต่ละคนที่เข้ามาในนี้มีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้แตกต่างกัน ช่วงวัยต่างกัน สิ่งที่เขาอยากจะได้และได้รับไม่เหมือนกัน เหมือนสิ่งที่ผมเจอมาตลอดการเป็นอาจารย์ของผม แล้วเราก็ต้องศึกษาและประเมินผลตลอดว่าเขาได้รับจริงรึเปล่า หรือมาเซลฟี่อย่างเดียว

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

จุดเด่นของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครคืออะไร

ความหลากหลายเรื่องกิจกรรมที่เราทำ มีศิลปะหลายแขนง ทั้งทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ ละคร ภาพยนตร์ วรรณกรรม อาหาร ผมอยู่ที่นี่ทั้งวันได้โดยไม่ต้องออกไปไหน ทำงานที่นี่มา 7 เดือน ผมเคยไปมาบุญครองแค่ 5 ครั้งเอง เพราะผมไม่มีความจำเป็นต้องออกไปเลย

ถ้าผมอยากกินอะไร ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ที่นี่ก็มี ร้านกาแฟที่ผมชอบ ร้านไอศครีมที่ผมชอบ ก็อยู่ที่นี่ ห้องสมุดก็มี เมื่อไหร่เครียดก็ขึ้นไปดูงานศิลปะ แล้วบางวันเย็นๆ ก็มีละครให้ดู บางวันผมมาที่นี่ตั้งแต่ 8 โมงเช้า และอยู่ถึง 5 ทุ่ม ตึกที่นี่ใหญ่มากนะ มีอะไรให้จัดการตลอดเวลา

วันก่อนเห็นครูไปนั่งที่เคาน์เตอร์ Information ด้วย เป็นวิธีการบริหารงานของ ผอ. แบบหนึ่งรึเปล่า

มันมีหลายสาเหตุครับ ผมอยากเจอคนทั่วไป อยากรู้ว่าเขามาถามอะไร เราจะได้ปรับปรุง เช่น ป้ายไม่ชัด ตัวหนังสือเล็กไป และอยากรู้ว่าเขามาเพื่ออะไร เช่น นักท่องเที่ยวจีน 2 คนมาชูมือถือรูปไอศครีมทุเรียน ผมก็ First Floor บางคนก็ Toilet เราก็ชี้ให้ ผมมั่นใจว่าเราเป็นหนึ่งในสถานที่ราชการที่ห้องน้ำสะอาดที่สุด (หัวเราะ)

อีกสาเหตุหนึ่งคือคนเราขาด ถ้าเรามีงบประมาณเต็ม เราก็หาคนมานั่งที่เคาเตอร์ประชาสัมพันธ์ได้ทุกเคาน์เตอร์ ตอนนี้มีหลักๆ แค่ที่ชั้น 5 ถ้าว่างผมก็ลงไปข้างล่าง ผมชอบกินกาแฟร้านนั้นอยู่แล้ว โต๊ะนั้นก็เป็นโต๊ะกินกาแฟของผม บางทีก็เอางานไปนั่งทำ

ให้ผมอยู่ในห้องทำงานเกิน 2 ชั่วโมง ผมอยู่ไม่ได้ มันแคบและไม่ได้เจอคน

งั้นเช้าจรดเย็นของ ผอ. หอศิลปกรุงเทพฯ ไปที่ไหนบ้าง

ผมเดินตรวจทุกชั้น เมื่อกี้ผมลงไปร้านกาแฟเพื่อคุยกับศิลปินฝรั่งเศสที่มาติดงาน แล้วขึ้นไปดูเขาติดงานที่ชั้น 8 แล้วก็เดินไปหน้าตึก ไปถ่ายรูปกราฟฟิตี้ลานจอดรถก็ดู คุยกับยาม แม่บ้าน ดูห้องสมุดว่ามีคนเข้ามั้ย มีคนบ่นอะไรรึเปล่า คุยกับร้านแต่ละร้านว่าเขามีปัญหาอะไรมั้ย คนเข้ามากหรือน้อย หรือทางเข้ามีคนมากน้อยแค่ไหน ช่วงไหนมาเยอะเพราะอะไร

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

สิ่งที่ครูปรับปรุงที่นี่ไปแล้ว มีอะไรบ้าง

เราปรับตัวตามธรรมชาติการเรียนรู้ของคน  ตั้งแต่เข้ามาทีมงานจะรู้ว่าผมบ้า QR Code มาก เพราะคนที่เข้ามาหอศิลป์ส่วนมากเป็นนิสิตนักศึกษา ไลฟ์สไตล์ของเขาไม่ใช่หยิบสูจิบัตรไปเป็นเล่มๆ เขาเห็น QR Code แล้วก็สแกนอ่านในมือถือ ตอนนี้ทุกนิทรรศการของเราจึงมี QR Code และมีสูจิบัตรน้อยลง แต่พิมพ์ให้ตัวใหญ่ขึ้น สำหรับคนที่สแกนไม่เป็น หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการตัวหนังสือใหญ่ๆ

ก่อนหน้านี้เรามีนิทรรศการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม เลยมีโครงการ BACC BYOB ปกติคำนี้ย่อมาจาก Bring your own beer หรือ Beverage แต่ของเราคือ Bag ให้เอาถุงมาเองโดยไม่มีถุงพลาสติก เพราะเรารู้สึกว่าถ้ามีนิทรรศการสิ่งแวดล้อมแล้วยังแจกถุงพลาสติก จะทำนิทรรศการไปเพื่ออะไร

เราเลยขอความร่วมมือจากร้านค้าทุกร้าน และถ้าใครอยากได้จริงๆ ก็ขาย 10 บาท เพราะปีนี้หอศิลป์ครบรอบ 10 ปี แล้วเราก็มีร้านตาวิเศษสำหรับให้ยืมถุงผ้าฟรี ถ้าผมมีถุงผ้าเหลือๆ ผมก็เอาไปบริจาคเขา เดี๋ยวคนก็ได้ใช้ ผมใช้ถุงผ้า 2 ใบก็พอ แต่ชีวิตเราได้รับถุงผ้าแจกฟรีตลอดเวลา ส่วนกระดาษที่ใช้ภายในออฟฟิศก็ใช้สองหน้าได้สบายมาก

ตอนนี้มีกราฟฟิตี้ ‘Save our forests’ ผมก็เริ่มคิดแล้วว่าเราจะทำอะไร

ส่วนอื่นๆ นอกจากนิทรรศการ ห้องสมุดตอนนี้ก็มีคนใช้เยอะขึ้น เพราะมีไวไฟฟรี น้ำดื่มฟรี พอเปลี่ยนไฟเป็นขาวแทนเหลือง ทีนี้คนนั่งเต็มทุกวัน ปลั๊กไฟก็เปิดให้ใช้ฟรี ผมว่าเปลืองไฟไม่เยอะหรอก ใครจะมานั่งอ่านหนังสือทำการบ้านอะไรก็ได้ นักเรียนนักศึกษาต้องการที่เงียบๆ ใจกลางเมืองสำหรับนั่งทำการบ้านโดยที่ไม่ต้องซื้อกาแฟ จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนที่นี่เป็น Co-working Space ด้วย เพราะเราก็ทำแล้ว

ใครจะอ่านหนังสือศิลปะมากน้อยแค่ไหนไม่เป็นไร เพราะก่อนเดินไปถึงห้องสมุด คุณได้เห็นศิลปะในนิทรรศการแล้ว ต่อให้คุณมาเข้าห้องน้ำเฉยๆ คุณก็ได้เห็นศิลปะแล้ว คนทำงานออฟฟิศแถวนี้เดินมากินเกี๊ยวที่นี่ก็ได้เห็นงานศิลปะ เราทำให้เห็นแล้วว่าที่นี่เป็นอะไรได้หลายอย่าง

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

แล้วสิ่งที่จะปรับปรุงต่อไปในอนาคตคืออะไร

ที่ผมบอกว่าศิลปวัฒนธรรมมันคาบเกี่ยวกัน ตอนนี้เราเป็น Multidisciplinary อยู่ แต่ยังไม่เป็น Interdisciplinary นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ ทั้งส่วนของศิลปินและผู้ชม เราอยากให้คนที่มาดูนิทรรศการมาดูละครด้วย หรือคนดูละครขึ้นไปดูนิทรรศการด้วย

ดังนั้น งานที่เราวางแผนไว้ในปีหน้าก็จะมีการวางแผนที่รัดกุมและเชื่อมโยงขึ้น อย่างช่วงปลายปี เดือนพฤศจิกายนจะมีนิทรรศการ LGBTQ แล้วก็จะมีการแสดง ภาพยนตร์ และเสวนาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย แทนที่จะเป็นนิทรรศการตัดขาดจากส่วนอื่น เราจะทำงานเป็นหมวดหมู่มากขึ้น และหวังว่าคนที่เข้ามาจะได้องค์รวมทั้งหมดไป

เรื่องที่ครูประทับใจตั้งแต่มาทำงานที่นี่คืออะไร

ข้อเท็จจริงคือคนที่มาหอศิลป์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ศิลปิน ไม่ใช่คนเรียนศิลปะ แต่เป็นคนทั่วๆ ไป คนส่วนน้อยในประเทศนี้นะครับที่ได้เรียนศิลปะ และคนส่วนน้อยลงไปอีกที่เป็นศิลปิน เราจึงต้องสนใจคนดูนักศึกษาที่มาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กสายวิทย์นะ เราจะทำยังไงให้เขาเข้าใจศิลปะในชีวิต เพราะไม่ว่าชีวิตคุณจะเป็นวิทยาศาสตร์ขนาดไหน มันก็ต้องมีศิลปะอยู่ด้วย และในอนาคตเราน่าจะมีประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น

เมื่อเดือนพฤษภาคมมีนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ ซึ่งจัดโดยภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขาสอนให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพันธุ์ไม้หายากอย่างละเอียดด้วยศิลปะการวาดภาพ มันแสดงให้เห็นว่าศิลปะกับวิทยาศาสตร์มันเชื่อมโยงกันตลอดเวลา แต่การจัดระบบการศึกษาแยกมันออกมา การที่คณะวิทยาศาสตร์สามารถมีนิทรรศการภาพสีน้ำที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครได้ สิ่งนี้บอกอะไรหลายอย่าง เราก็เลยคิดว่าต้องทำอะไรแบบนี้มากขึ้น

ช่วงนั้นผมเจอเด็กนิสิตปี 1 คณะวิทยาศาสตร์ 4 คนที่เพิ่งสอบเสร็จแล้วมาเดินเที่ยวหอศิลป์ เราก็เออ สมัยก่อนถ้าสอบเสร็จ เราก็ไปดูหนังหรือกินเหล้า แต่นี่เขามาเดินหอศิลป์ เขาเดินดูภาพวาดนิทรรศการพฤกษศิลป์ของอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง แล้วเดินขึ้นไปเรื่อยๆ ไปดูนิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA ที่ชั้น 7 ผมว่าเรื่องนี้เจ๋งนะ เพราะที่นี่มีงานที่เกี่ยวข้องกับเขา มันถึงพาเขาไปได้

นี่คือจุดเด่นด้านความหลากหลายของหอศิลป์ที่เราต้องทำให้คนเห็นความเชื่อมโยงนี้ให้ได้ แน่นอนว่านิสิต 4 คนนี้ไม่ได้โตขึ้นมาเป็นศิลปินแน่ๆ เขาเลือกแล้ว ผมไม่รู้ว่าเขาจะสนับสนุนงานศิลปะรึเปล่า แต่ผมมั่นใจว่าเขาจะมาหอศิลป์อีก สิ่งนี้ผมว่าสำคัญมาก

แล้วผมก็เจอนิสิตอีกกลุ่มเมื่อเร็วๆ นี้จากคณะอักษรฯ เขามาที่นี่ตั้งแต่ 11 โมงวันอังคาร ซึ่งน่าประหลาดใจมาก เพราะปกตินิสิตจะมาที่นี่หลังเลิกเรียน จะว่าโดดเรียนก็ไม่น่าใช่ เขามากับอาจารย์ฝรั่งเศส ตอนนั้นคือวิชาเรียน French Conversation ของเขา ในนิทรรศการศิลปะ ‘ฉันคือเธอ’ ของพี่วสันต์ สิทธิเขตต์

โอ้โห งานนั้นรุนแรงทีเดียว

ศัพท์ใหม่เยอะมากแน่นอน และคนฝรั่งเศสสนใจการเมืองอยู่แล้ว คุยการเมืองกันได้สนุกมากแน่ ถ้าไปนั่งร้านกาแฟแล้วกินครัวซองต์ก็ไม่เหมือนแบบนี้แน่ ถามว่าเขามาเรียนศิลปะหรือเปล่า ก็ไม่ แต่เขาได้อะไรกลับไป

ผมอยากให้ครูทุกคนเห็นว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ โปรแกรมการศึกษาที่เราจะทำต่อไป ไม่ใช่แค่อบรมครูศิลปะ แต่ทำให้ครูทุกวิชาเห็นว่ามาสอนหนังสือที่นี่ได้ นี่คือสิ่งที่ต่างประเทศทำอยู่ ครูที่อังกฤษที่พานักเรียนไปดูละครอย่าง ‘พระเจ้าเฮนรี่ที่ 4’ บางทีไม่ใช่ครูละครนะ เป็นครูประวัติศาสตร์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีแต่ครูศิลปะที่พานักเรียนเข้าแกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ จะเรียนตามชั่วโมงหรือมาเรียนเองก็ได้

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ


ครูจะกลับไปเล่นละครอีกมั้ยคะ

เพิ่งมีคนชวน แต่ไม่มีเวลา กลัวไปทำละครเขาเจ๊ง แต่ก็อยากเล่นนะ ถ้าสถานการณ์มันเรียบร้อยและผมไม่ต้องอยู่ที่นี่ถึง 4 ทุ่ม ก็ไปซ้อมกับเขาได้ ตอนนี้ทำงาน 7 วันเลย


คำถามสุดท้าย ถ้าไม่เป็น ผอ. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ครูจะทำอะไรต่อ

ไม่ได้คิดเลย ที่มาสมัครงานที่นี่เป็นการสมัครงานครั้งที่ 2 ในชีวิต ครั้งแรกคือเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ผมมั่นใจว่ามูลนิธิฯ จะได้ต่อสัญญา ดังนั้น ยังมีเวลาคิดอีก เพราะทุกอย่างที่พูดไปตะกี้ต้องใช้เวลา และยังมีอุปสรรคที่เข้ามาอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ยังเป็นบรรยากาศที่เรามีความสุข

ช่วงหลังๆ ที่ผมสอนหนังสือ ปีที่แล้วผมไม่สบายบ่อยมาก ไข้หวัดใหญ่เอบีอะไร ผมเป็นครบทุกสายพันธุ์แบบเดือนเว้นเดือน ตั้งแต่มาที่นี่ ปัญหาอุตลุดขนาดไหน ไม่เคยป่วยเลย แปลกมาก เหมือนศิลปะบำบัด เวลาเหนื่อยหรือเครียดผมก็ขึ้นไปดูงานศิลปะ คุยกับคนนั้นคนนี้ เจอคนใหม่ๆ ไม่ก็เจอลูกศิษย์ทุกวัน แล้วที่นี่ก็เป็นที่นัดเจอเพื่อนด้วย

วันก่อนมีคอนเสิร์ตที่ออดิทอเรียม ผมงานยุ่งจนไปนั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบไม่ได้ ก็ไปแอบฟังเขาซ้อมในห้องสตาฟฟ์ชั้นบน แค่ 2 เพลงก็ฟินแล้ว เหมือนได้พักผ่อนเลย

ปวิตร มหาสารินันทน์, หอศิลปกรุงเทพฯ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล