เมื่อสำรวจชีวิตของผู้บริหารอย่าง พิชัย จิราธิวัฒน์ ผมค่อนข้างสงสัยว่าส่วนผสมทั้งหลายอยู่ในตัวคนคนเดียวกันได้อย่างไร

ด้วยตำแหน่ง, ชายผู้นี้เป็นทั้งกรรมการบริหารผู้แทนบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือเป็นอาณาจักรค้าปลีกที่ใหญ่ยักษ์ และเป็นทั้งกรรมการผู้จัดการค่ายเพลงทางเลือกอย่าง SPICYDISC

ด้วยความสนใจ, ชายผู้นี้สามารถยกเคสธุรกิจที่น่าสนใจและนวัตกรรมกระแสหลักมาบอกเล่าได้ทันทีเมื่อบทสนทนาวกไปถึงเรื่องนั้น ในขณะเดียวกัน เวลาฟังเพลง ดูภาพยนตร์ หรือเสพงานสร้างสรรค์ เขากลับสนใจสิ่งที่เป็นกระแสรองมากกว่ากระแสหลัก

จะว่าเขาคือผู้บริหารที่อินดี้ที่สุดคนหนึ่งก็ไม่ผิดนัก

แม้ว่ากันด้วยฐานะ เพียงรายได้จากธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลก็เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงตัวเขาได้โดยไม่ต้องมาเสี่ยงกับธุรกิจที่ยากขึ้นทุกวันอย่างธุรกิจดนตรีด้วยซ้ำ แต่ด้วยเชื่อในดนตรี เชื่อในทางเลือก เชื่อว่าบ้านเราไม่ควรมีเพียงค่ายใหญ่ 2 ค่าย เขาจึงยังทำ SPICYDISC มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แล้ว

ส่วนผลงานเพลงภายใต้การบริหารของชายที่มีทั้งเลือดนักธุรกิจและศิลปินผู้นี้จะถูกหูถูกใจคนฟังเพียงใดก็อยู่ที่ว่าเอารสนิยมใครเป็นที่ตั้ง-แต่ก็ดีกว่าไม่มีทางเลือกใช่ไหม

ล่าสุดค่าย SPICYDISC ของเขากำลังจะจัดงานดนตรีประจำปีของค่ายอย่าง ‘Melody of Life’ ซึ่งจัดมาเป็นครั้งที่ 11 ในวัน 24 – 25 มีนาคม นี้ ที่เซ็นทรัลเวิลด์

ความน่าสนใจคือนอกจากเป็นพื้นที่ให้วงไม่ดังแต่มีคุณภาพแล้ว งานนี้ยังตั้งใจสื่อสารเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมให้กับคนที่มาร่วมงาน ฉะนั้น นอกจากได้ฟังเพลงที่อยากฟัง เรายังได้ฟังความจริงที่อาจไม่อยากฟัง แต่จำเป็นต้องฟัง เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ไข

เช้าหนึ่งในวันอากาศร้อน เรานัดกันเพื่อสนทนาถึงหลายๆ เรื่องราวที่ผมสงสัย ทั้งเรื่องส่วนผสมที่น่าสนใจในตัวชายผู้นี้ รวมถึงงานดนตรีประจำปีที่กำลังจะมาถึง ส่วนบทสนทนาเป็นอย่างไร ลองไล่สายตาอ่านดู

พิชัย จิราธิวัฒน์

คุณเป็นทั้งผู้บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล และค่ายเพลงอินดี้อย่าง SPICYDISC จริงๆ แล้วจิตวิญญาณคุณเป็นพ่อค้าหรือศิลปิน

จริงๆ สนใจทั้งสองอย่าง

สมัยก่อนเราเกิดมาจน ปู่ผมย้ายมาจากเมืองจีน มีร้านขายกาแฟริมแม่น้ำ พ่อกับลุงผมต้องคอยเฝ้าร้าน แต่รายได้ไม่ใช่มาจากการขายกาแฟ แต่มาจากคนที่เอาเรือมาฝาก ก็เก็บวันละบาท แล้วคนมาฝากเยอะมาก เลยเริ่มมีเงินขึ้นมา

ตอนที่ผมเกิดได้ 6 วัน ที่บ้านก็เอาไปให้ตากับยายเลี้ยง แล้วผมก็อยู่อาศัยตรงภัตตาคารผ่านฟ้า ตรงข้ามโรงหนังเฉลิมไทย พวกอาๆ ผมเขาก็ชอบฟังเพลง เราเลยเป็นดีเจตั้งแต่เด็ก ชอบฟังเพลงก็เปิดไปเรื่อย ตอนนั้นเป็นแผ่นเสียงแผ่นเล็ก ตอนอนุบาลจะไม่ไปเรียนถ้าไม่ได้ฟังเพลงก่อน แล้วเนื่องจากบ้านอยู่ตรงข้ามโรงหนังเฉลิมไทยซึ่งมีฉายหนังฝรั่ง ผมเองก็ชอบดู มีความคิดอยากทำหนังด้วย แต่เราอยู่ในครอบครัวพ่อค้าคนจีน ก็ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นมาเริ่มทำธุรกิจก็ชอบ

ซึ่งจริงๆ 2 อย่าง ทั้งธุรกิจห้างสรรพสินค้าและธุรกิจเพลงมันคล้ายกัน มันแค่คนละด้าน คือการทำอะไรเราต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ในการทำงานว่าสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร แล้วลูกค้าต้องการอะไร เราจะเห็นว่าที่เมืองนอกคนหนึ่งทำงานธนาคารอยู่ดีๆ ก็โดนซื้อตัวมาทำหนัง หรือคนนี้ทำอยู่บริษัทเครื่องดื่ม ก็โดนย้ายมาทำงานบริษัทเพลง ซึ่งคนพวกนี้ไม่ใช่ว่าต้องถนัดอย่างเดียว คนพวกนี้เขามีวิธีคิด พอมาทำแล้วจับจุดได้ก็บริหารได้

คุณเคยเล่าว่าตอนเด็กๆ ที่บ้านยังไม่รวยชีวิตลำบาก อยากรู้ว่าความลำบากมันมีข้อดีบ้างไหม

เฉยๆ นะ ผมเป็นคนไม่ค่อยคิดมาก เพราะชอบทำงาน มีงานก็ทำ เป็นคนไม่เครียด เพราะมันไม่ช่วยอะไร จะคิดทำไม คุณต้องละทิ้งให้หมด อะไรที่มันเลยไปแล้วเอากลับมาไม่ได้ก็ต้องเดินต่อ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

สมัยก่อน ตอนอายุ 20 ผมอยู่ที่อเมริกา แล้วอยากทำอะไรของตัวเอง ไม่อยากยุ่งกับที่บ้าน ผมก็เลยเปิดร้านอาหารจีนชื่อ Wok Fast คือตอนแรกจะเปิดร้านอาหารไทย แต่พอไปทำเซอร์เวย์ อาหารที่คนอเมริกาชอบกินอันดับ 1 ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์คืออาหารอิตาลี พวกพิซซ่า พาสต้า รองลงมาเป็นอาหารจีนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาหารไทยมีแค่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ อ้าว แล้วบอกคนชอบอาหารไทย ก็เพราะว่าเขากินแค่ในแอลเอ นิวยอร์ก ไม่ใช่ทั้งประเทศ

เสร็จแล้วถามว่าเราจะขายยังไง ซึ่งมันจะ fast food คือไปกินตามศูนย์ กับ convenience food ที่มาส่งที่บ้าน เราก็มองว่า convenience food ไม่มีคู่แข่ง เพราะว่าตอนนั้นที่อเมริกามีแค่ Domino Pizza มันไม่มีใครส่งที่บ้าน เราก็เลยทำอาหารจีนแล้วส่งตามบ้าน มีแค่ครัวเท่านั้น ปรากฏว่าขายดีมาก

แล้วบังเอิญตอนนั้นมีเหตุการณ์ตำรวจทำร้ายคนดำ ที่แอลเอสู้กันทั้งเมือง แล้วคนที่เป็นหัวหน้าตำรวจไม่ยอมลาออก ทีนี้ลาออกภาษาอังกฤคือ Leave the office เราเลยคิดว่าถ้าเอาตัวตำรวจมาเล่นจะโดนฟ้องมั้ย แล้วมีคนบอกว่าที่อเมริกาถ้าเป็น public figure เล่นได้ ไม่โดนฟ้อง เราก็เลยไปเช่าบิลบอร์ด เอารูปตำรวจแปะ แล้วก็เขียนว่า ‘ถ้าไม่ว่างออก หรือไม่อยากออก ให้โทรมา’ ได้ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ดังไม่หยุด ออกทีวี ฮอลลีวูดชอบมาก ได้ทำ catering ให้งานออสการ์จนมี 14 สาขา ตอนนั้นอายุประมาณ 25 – 26 อยู่อเมริกา 14 ปี กะจะไม่กลับแล้ว ตอนหลังพ่อบอกว่าขยายเยอะขนาดนี้บ้าหรือเปล่า ธุรกิจที่ไทยก็ไม่มีใครดู ไปหาเรื่องทำที่นั่นอีก จนเรากลับมาไทยหุ้นส่วนก็โกงกันแหลก ซึ่งตอนนั้นเป็นการกลับเมืองไทยหลังจากไม่ได้กลับมาเป็นสิบปี พอกลับมามันก็สนุก มีงานแฟตฯ มีอะไร ก็เลยช่างมัน ปิดร้านที่นั่นไปเลย

แล้วอะไรทำให้นักธุรกิจอย่างคุณลุกขึ้นมาเปิดค่ายเพลงอินดี้

พอกลับมาทำธุรกิจที่ไทยเราก็สนิทกับน้องๆ เพราะชอบเรื่องเพลงเรื่องหนัง แล้วเราเคยฟังเพลงอินดี้ตอนอยู่ที่อเมริกา พอกลับมาเราจึงไม่เข้าใจว่าทำไมมันมีแค่ค่ายเพลงใหญ่ 2 ค่าย แล้วค่ายก็เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ แล้วสมัยก่อนมันมีรายการทีวี ตอนกลางคืน 2 ค่ายก็จองกันไป มันก็เหมือนโดนบังคับให้ฟัง แทนที่เด็กๆ จะสามารถเลือกเอง ในขณะเดียวกัน พวกเพื่อนๆ นักดนตรีเขาก็อยากจะทำอะไรที่เขาอยากจะทำ แต่เขาก็ทำไม่ได้ เพราะค่ายบังคับให้ทำแต่อย่างนี้ เราก็เลยคุยกับน้องๆ ว่าทำได้นะ แต่ห้ามเจ๊ง

พอเปิด SPICYDISC จุดยืนคือเราอยากทำเพลงให้มีคุณภาพ แล้วก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้บริโภคฟัง ถามว่า เฮ้ย ค่ายนี้เพลงร็อกเหรอ ไม่ใช่ เพราะเรามีหมด แต่ว่าคนฟังกลุ่มนี้จะฟังคล้ายๆ กัน ก็เลยเริ่มตรงนี้ ก็ดีใจที่วงการเพลงเริ่มมีหลายค่าย ตอนหลังเริ่มมีค่ายทางเลือกอื่นๆ ซึ่งทำให้มีสีสันในวงการ แต่ถ้าไม่มีเลยก็น่าเป็นห่วง

พิชัย จิราธิวัฒน์ พิชัย จิราธิวัฒน์

น่าเป็นห่วงยังไง

สมมติอาหารประเภทฮอตพอตมียี่ห้อเดียว มันคงไม่ใช่แล้ว เพลงก็เหมือนกัน พอมีหลายยี่ห้อมันกลายเป็นผู้บริโภคได้เปรียบ มีตัวเลือกในการฟัง พอการแข่งขันเกิดขึ้นหรือมีหลายชอยส์ นักดนตรีก็ต้องพยายาม input ตัวเอง ฉะนั้น คนฟังก็จะได้เพลงที่มีคุณภาพมากขึ้นๆ ใหม่ขึ้นๆ

ในมุมคนทำธุรกิจ การมีหลายค่ายมันหมายถึงคู่แข่งที่เยอะขึ้นด้วย คุณไม่กลัวเหรอว่าจะมาแย่งฐานคนฟัง

เรื่องนี้เราไม่อยากเรียกว่าคู่แข่ง อาจจะเรียกว่าเห็นตลาด ซึ่งตอนผมกลับมาไทยใหม่ๆ ศิลปินไทยวาดรูปเก่ง ทำหนังเก่ง แต่งเพลงเก่ง แต่อาจจะไม่ได้ฟัง ไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็นเยอะ อย่างเมืองนอกศิลปินจะไปดูอาร์ตแฟร์ตลอดเวลา แต่เมื่อก่อนเมืองไทยมันไม่มี เดี๋ยวนี้ดีขึ้นเยอะ พอมันหลากหลายในประเทศ ศิลปินก็สามารถ input ตัวเองได้ มันก็กว้างขึ้น เกิดการพัฒนาตัวเอง ได้เห็นซึ่งกันและกัน และเห็นของต่างประเทศ

การทำค่ายอินดี้หวังรวยจากมันคงยาก ทำไมยังทำ

จริงๆ ไม่ได้อยากจะทำ แต่ทำเพราะอยากจะช่วยให้วงการเพลงมีอะไรที่แตกต่าง แล้วก็อยากให้นักดนตรีแสดงออกสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ เราไม่ได้ไปตั้งกรอบให้เขาเยอะ ดังนั้น ศิลปินที่มาอยู่กับเราค่อนข้างแต่งเพลงเองเป็น เล่นจริง ร้องจริง ไม่ใช่เป็นป๊อปไอดอล ตอนเริ่มทำมันก็เป็นค่ายเล็กๆ

อาจจะไม่ได้ทำให้รวย แต่เราว่าเราก็บริหารได้ดี แล้วเราพยายามตอบโจทย์ลูกค้าและสปอนเซอร์เรา คือเราต้องวัดว่ายอดขายเขาต้องเพิ่มด้วย ซึ่งอันนี้เป็นด้านดีของผม เพราะเราทำสองฝั่ง เป็นผู้ซื้อและผู้ขาย บางทีหลายคนเขาไม่ได้เป็นผู้ซื้อ ดังนั้น เขาก็จะพยายามขาย ซึ่งลูกค้าไม่อยาก สมมติเอาโลโก้มาปิดปกเทป ไม่มีใครอยากได้หรอก แต่เราจะเข้าใจทั้งสองฝั่ง ดังนั้น เราจะพยายามประนีประนอม แต่เรื่องอยากรวยวันนี้คงไม่ได้หวัง แต่คงไม่ได้กะขาดทุน (หัวเราะ) ให้มันอยู่ไปได้ แต่ว่าถ้ามันมีกำไรดีขึ้นก็จะดี

แล้วเคยได้ยินใครดูถูกสิ่งที่เราทำมั้ยว่ามันก็เป็นแค่ของเล่นคนรวย

มีคนพูดอยู่แล้ว แต่คือเรารู้ตัวเองว่าเราทำอะไรอยู่ ดังนั้น เรื่องพวกนี้เราปล่อยวาง ไม่ค่อยแคร์ เราจะแคร์ถ้าคนที่เรารักหรือพ่อแม่เราไม่ชอบมากกว่า ส่วนคนข้างนอกให้พูดไปเถอะ

ในฐานะผู้บริหาร พนักงานออฟฟิศกับศิลปินนั้นรับมือด้วยวิธีการที่ต่างกันไหม

แตกต่าง การบริหารศิลปินอาจจะยากนิดนึง เพราะว่าเขาอารมณ์เยอะ ฉะนั้น วิธีบริหารมันจะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นพนักงานฝั่งเซ็นทรัลเราก็จะคุย ให้ความเข้าใจ เขาก็จะเข้าใจ แต่ศิลปินต้องเข้าใจอารมณ์นิดนึง คุณก็คงรู้ว่าคนละอย่าง นักเขียนก็เหมือนกันแหละ ผมรู้ บรรณาธิการบอกไม่ให้เขียนอย่างนี้ก็จะเขียน มันก็จะยากนิดนึง ก็เป็นศิลปินน่ะ

พิชัย จิราธิวัฒน์

แล้วอย่างคุณเป็นผู้บริหารที่มีความเป็นศิลปินด้วย มันยิ่งทำให้คุณมีอีโก้ไหม

ผมไม่มีเลยนะ ผมฟังหมด ใครพูดผมก็ฟัง ชอบด้วยซ้ำ ชอบคุยกับเด็กๆ ชอบไปกินเหล้ากับเด็กๆ เราได้อะไรใหม่ๆ เราไม่ชอบอะไรที่มันน่าเบื่อ กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะว่าเราแอ็กทีฟมาก ชอบเห็นธุรกิจอะไรใหม่ๆ เกิด ชอบฟังเพลงแนวใหม่ ชอบดูหนังแปลกๆ หนังฮอลลีวูดเราก็ไม่ดู เราก็จะดูแต่หนังอาร์ต หนังฮอลลีวูดมันเป็นสูตร ดูไปก็น่าเบื่อ เปิดมาแล้วกลางเรื่องก็แย่ พอตอนจบก็ชนะ เหมือนกันทุกเรื่อง

ฟังเพลงก็ฟังเพลงอินดี้ ดูหนังก็ดูหนังอาร์ต คุณสนใจอะไรในสิ่งที่เป็นทางเลือกเหล่านี้

เราอยากหาอะไรหรือเสพอะไรที่มันทำให้เราได้อะไรใหม่ๆ เราอยากเห็นอะไรที่มันครีเอทีฟ ที่มันแตกต่าง ที่ไม่จำเจ ดังนั้นเราชอบพวกนี้ เวลาไปดูร้านค้าปลีกต่างประเทศที่ญี่ปุ่นเราก็ไปดูอะไรพวกนี้นะ ร้านอะไรที่ใหม่ๆ แปลกๆ อย่างมูจิที่มีร้านใหม่ซึ่งเป็นสินค้าชุมชนอย่างเดียวแล้วเก๋มาก เราก็อยากไปดูว่ามันคืออะไร เผื่อมาช่วยพัฒนาพวกสินค้าชุมชนบ้านเรา

คุณเสพสิ่งอินดี้ แต่แบรนด์ที่คุณบริหารอย่างกลุ่มเซ็นทรัลนั้นแมสมาก มันไม่ย้อนแย้งกันเหรอ

ลูกค้าสำคัญสุด คือเซ็นทรัลมันใหญ่มาก ซึ่งเราต้องการขายของที่คนอยากจะซื้อ ไม่ใช่ของที่เราอยากจะขาย ไม่อย่างนั้นคุณก็เจ๊งสิครับ ใหญ่ขนาดนี้ (หัวเราะ) เข้าใจไหม แต่เราก็แอบใส่อะไรที่เป็นทางเลือกเข้าไป เรามี Open House เรามี Siwilai City Club มี Think Space พวกนี้เราคิดขึ้นมา เรามีสถานที่เยอะแยะในศูนย์การค้าที่ไม่ได้ทำเงินให้เรา แต่เราคิดว่า เฮ้ย มันเจ๋งว่ะ แต่มันไม่ได้แมสนะ มันบาลานซ์

แต่ในการทำค่าย เรื่องเพลงเรื่องอาร์ตเราว่ามันควรจะกล้าแสดงออก เราต้องการเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้ผู้ฟัง เสนอ 10 อย่างอาจจะได้สัก 5 อย่าง ก็โอเค แต่อันนี้มันคืออะไรที่ใหม่จริงๆ แล้วคนเขาเลือกฟัง ส่วนศูนย์การค้าเป็น destination ที่คนต้องมา ดังนั้น ต้องมีครบทุกอย่างให้เขา

เท่าที่ฟังคุณดูไม่ชอบอะไรที่เดาได้ แล้วในการทำธุรกิจที่คุณพยายามหาสูตรสำเร็จมั้ย

ไม่ มันดิ้นได้ตลอด เราจำไม่ได้แล้วว่าใครพูด แต่เขาบอกว่า ”บริษัทที่เคยใหญ่มหาศาลแล้วเจ๊งเขาไม่ได้ทำผิดนะ เขาแค่ทำสิ่งที่ตัวเองถูกมาตลอดแล้วไม่เคยเปลี่ยน” คุณต้องปรับเปลี่ยนไง เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ทำไมตอนนั้นลุกขึ้นมาจัดงาน Melody of Life

Melody of Life ก็เหมือนงานแสดงศิลปะในด้านเพลง ให้คนสามารถแสดงออกอะไรใหม่ๆ ดังนั้น จะเห็นว่าสัก 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นวงไม่ค่อยดัง แต่มีคุณภาพ

คือสมัยก่อนยังไม่มีใครจัดคอนเสิร์ตที่รวมวงเยอะขนาดนี้ จริงๆ ทางแฟต เรดิโอ เริ่มก่อน เป็นคอนเสิร์ตที่วงอินดี้เยอะๆ ตอนนั้นก็ร่วมกับทางแฟตฯ แหละ จัดอีกงานหนึ่ง แต่ไม่อินดี้ทั้งหมด ผสมครึ่งๆ ซึ่งถ้าวงอินดี้มาเล่นเวทีนี้ คนกลุ่มแมสเขาก็จะเห็นด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ ตอนนั้น

พิชัย จิราธิวัฒน์

เห็นว่าในงาน Melody of Life มีส่วนที่พูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย อยู่ๆ ทำไมจึงเรื่องสนใจเรื่องนี้

เขาบอกว่าถ้าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 1 องศา พายุจะรุนแรงขึ้น 20 เท่า เราก็จะเห็นน้ำท่วมบ่อยขึ้น ผมอยากจะปลูกฝังเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย อย่างเมื่อปีที่แล้วมีแผ่นดินไหวที่เนปาล ทาง WWF ก็ทำแผ่นดินไหวจำลองที่สั่นเท่ากับของจริงมาอยู่ในงาน

หรืออย่างปีนี้เวทีเราจะเป็นวัสดุรีไซเคิลหมด จะมี exhibition ซึ่งเอาเงินไปบริจาคให้มูลนิธิ แล้วปีนี้จะเยอะขึ้นกว่าเดิม มีการร่วมกับองค์กรอย่าง UNICEF มาจำลองห้องเรียนในงาน แล้วก็จะมี WWF มาสื่อสารเรื่องการปลูกป่า เพราะเราต้องการให้เด็กที่มางานนี้เข้าใจ ซึ่งเราต้องการเน้นเรื่องนวัตกรรมทุกปี แต่ถ้าใช้คำว่า innovation มันก็จะซ้ำ ปีนี้เราเลยใช้ชื่อ Future Factory เป็นเหมือนโรงงานสร้างสรรค์ที่เราผลิตขึ้นมา เป็นการเล่นคำ แต่หัวใจหลักของงานนั้นเหมือนเดิม คือให้เด็กมาแชร์เรื่องปัญหาโลกร้อน

จากวันแรกที่เปิดค่ายกับวันนี้ วงการเพลงเปลี่ยนไปแค่ไหน

เรื่องเพลงอาจจะไม่ได้เปลี่ยนมาก แต่เรื่องการขาย เรื่องการตลาด เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่เหมือนเดิม สมัยก่อนสื่อเก่าคือวิทยุกับทีวี เดี๋ยวนี้วิทยุกับทีวีก็แย่แล้ว วิทยุอาจจะไปเร็วหน่อย เด็กมาถึงก็เอาบลูทูธต่อในรถ ไม่ฟังแล้ววิทยุ ผู้บริโภคสามารถเสพอะไรที่ตัวเองต้องการได้ทันที หรือไม่รอดูละครแล้ว ดูยูทูบ อย่างเดียวที่ยังเหมือนเดิมคือดูฟุตบอล ที่ต้องดูพร้อมกัน ไม่อย่างนั้นรู้ผลก่อน นอกนั้นเปลี่ยนไปหมดเลย

บางอย่างออกไปแล้วไม่ดัง มันอาจจะไปดังในอีกปีสองปีก็ได้ มันไม่ใช่ไทม์มิ่งแบบเมื่อก่อน สมัยก่อนเวลาออกซีดีชุดนึงต้องพยายามโปรโมตให้ครบปี แล้วก็เลิก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ Mild ชุดหลังสุดนี่ 3 ปีครึ่งมั้ง ตัดซิงเกิลออกมาเรื่อยๆ เพราะมันดังอยู่ ก็ต้องโปรโมตให้สุด เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปอีก แทนที่จะปล่อยทีละซิงเกิล ก็ปล่อยทีละ 3 เพลง 5 เพลงก็มี

แล้วทุกวันนี้คุณยังซื้อซีดีมั้ย

ถ้าแผ่นที่ชอบยังซื้ออยู่ เพราะว่าเรื่องคุณภาพเสียงเป็นหลักเลย แล้วมันก็มีเสน่ห์ มันเป็น physical ที่คุณได้จับ ทุกวันนี้คนเริ่มมาถ่ายรูปกล้องฟิล์ม เพราะมันมีความลึก ความมีมิติมันดีกว่าดิจิทัล ซึ่งผมลืมไปแล้ว จนเมื่อวานมีน้องเอารูปมาให้ดู เออ เข้าใจแล้ว มันไม่เหมือนกัน แต่ถามว่าจะกลับมาแซงดิจิทัลหรือเปล่า ไม่มีทาง

มีอะไรไหมที่เคยใช้ในการบริหารได้ผล แต่ทุกวันนี้ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ผมคิดว่าอะไรก็ตามถ้ามันไม่มี innovation สมัยนี้ไม่เวิร์ก เด็กเบื่อ มันต้องมีอะไรแปลกใหม่ ต้องมีสตอรี่ที่แข็งแรง เด็กเขารู้แล้วว่าไอ้นี่ bullshit ไอ้นี่ของจริง ดังนั้น พวกของสะสมหรือพวกเสื้อผ้าก็จะต้องเล่าว่าแบรนด์นี้มายังไง ของชิ้นนี้มายังไง คือมันต้องมีสตอรี่ มีที่มาที่ไปที่เป็นตัวตนจริงๆ

ถามว่าเพลงป๊อปสมัยนี้เปลี่ยนไปมั้ย เปลี่ยน เมื่อก่อนเอาคนร้องเพลงไม่เป็นมาขึ้นเวทีแล้วก็ลิปซิงค์ สมัยนี้คนเริ่มจับได้ ดังนั้น นักร้องป๊อปตัวจริงก็ต้องร้องเพลงเก่ง มันเหมือนเดิมไม่ได้ เต้นก็ต้องเต้นเป๊ะ มันจะไม่เหมือนเดิม เพราะคนสมัยนี้เขาโตขึ้น สมัยก่อนเพลงอินดี้นั้นเริ่มฟังตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยปี 1 แต่เดี๋ยวนี้ ม.2 ม.3 ก็เริ่มฟังแล้ว

แล้วมีเรื่องอะไรที่คุณมักเน้นย้ำกับคนรุ่นใหม่มั้ย

เยอะ หนึ่ง เรื่องนวัตกรรม ต้องมีอะไรใหม่ตลอด สอง ทำงานต้องมีทีมเวิร์ก ต่อให้คุณเป็นศิลปินเดี่ยวแต่ถ้าคุณไม่ทำงานกับทีม เขาก็ไม่อยากทำให้คุณหรอก มันต้องเป็นทีมเวิร์กอยู่แล้ว

คุณดูสิ หนังกี่เรื่องในฮอลลีวูดเขาแฝงเรื่องทีมเวิร์กตลอด หรืออย่างฟุตบอล ต่อให้คุณมีดาวรุ่งเต็มทีม หรือเป็นนักเตะดังๆ คุณก็แพ้ตลอดถ้าแข่งกันเด่น นักดนตรีก็คล้ายๆ กัน วงนี้มา ไอ้นี่ก็จะโชว์กลอง ไอ้นี่ก็จะโซโล่แหลก ฟังไม่รู้เรื่อง ในขณะที่บางทีมไม่ได้มีตัวเก่งเยอะ แต่ชนะตลอด เพราะว่ามีทีมเวิร์กที่ดี ซึ่งนี่คือสำคัญ

พิชัย จิราธิวัฒน์

9 Questions

Answered by   SPICYDISC’s   President

1. เพลงที่ฟังบ่อยที่สุดในปีนี้

San Francisco Street ของวง Sun Rai ช่วงนี้ฟังบ่อยสุดแล้ว

 

2. แผนกไหนที่เดินบ่อยที่สุดในเซ็นทรัล

แผนกแผ่นเสียง แต่ปิดไปหมดแล้ว ตอนนี้สงสัยเป็น Tops มั้งครับ เพราะชอบไปดูสินค้าชุมชนที่เราสนับสนุนว่ายังดีอยู่รึเปล่า เลยไปดูบ่อยหน่อย

 

3. มีหนังเรื่องไหนที่อยากแนะนำให้ลูกน้องดูบ้างช่วงนี้

เรื่อง Lady Bird ผมว่าได้สาระ ตลก สนุก มันเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่แม่กับลูกสาวทะเลาะกันทั้งวัน ตีกัน แต่ในที่สุดยังไงเขาก็รักกัน แล้วอีกเรื่องคือ Call Me by Your Name เจ๋งมาก และซาวนด์แทร็กซูเปอร์เจ๋ง เพลงเพราะทุกเพลง

 

4. คอนเสิร์ตล่าสุดที่ดู

The xx Live in Bangkok

 

5. สิ่งที่กำลังอยากได้ในชีวิต

สิ่งของเฉยๆ แต่อยากให้เกษตรกร ชุมชน โรงเรียน ของคนไทยแข็งแรงขึ้น เพราะว่าเราทำเรื่องนี้อยู่แล้วมันเหนื่อย

 

6. คุณเป็นอาจารย์สอนวิชาอะไรได้บ้าง

Management ก็ได้นะ เมื่อก่อนเคยสอนที่จุฬาฯ

 

7. ถ้าต้องไปพูดในงานปัจฉิมนิเทศ แล้วมีเวลาให้แค่ 10 วินาที คุณจะบอกอะไร

ทำสิ่งที่อยากทำ แล้วตั้งใจทำให้ดีที่สุด นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะเด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยตั้งใจ แล้วบางทีก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากทำอะไร ทุกคนที่จะมาสมัครงานกับผม ผมจะถามคำแรกเลยว่า จริงๆ แล้วตัวเองอยากทำอะไร

 

8. ถ้าย้อนเวลากลับไปบอกอะไรสักอย่างกับตัวเองในวัย 20 ปี ได้ อยากบอกอะไร

อย่าไปเสียเวลามากกับเรื่องที่ไร้สาระ (หัวเราะ) คือเด็กๆ เราเห็นอะไรก็อยากทำหมด แต่พอโตขึ้นมันต้องเลือก ต้องโฟกัส ไม่ใช่เห็นอะไรก็ทำหมด คิดดีๆ ก่อนว่าตัวเองอยากทำอะไร

 

9. แล้วถ้าถามตัวเองในวัย 80 ปีได้สักอย่าง อยากถามอะไร

แฮปปี้กับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ทุกวันนี้หรือยัง แล้วได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำครบหรือเปล่า

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล