คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ น่าจะเป็นผู้บริหารที่สนุกกับความเปลี่ยนแปลงที่สุด เขาเชื่อเรื่องการอยู่ในสถานะ burning platform หรือสถานการณ์ไฟลน ไม่ชะล่าใจและเชื่อในความสำเร็จเดิมๆ

เขามีนโยบายงดประชุมงานในวันพฤหัสบดีช่วงบ่าย เพื่อให้ทุกคนมีเวลาเป็นของตัวเอง โดยไม่ลืมที่จะตั้งเงินค่าปรับ 100 บาทต่อคน ถ้าจำเป็นต้องประชุมจริงๆ

เขาลุกขึ้นเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพราะหากไม่เปลี่ยนก็อาจจะถูกเปลี่ยนจากกระแส digital disrupt ได้

โดยตำแหน่งแล้ว คุณสมชัยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS ซึ่งคุณอาจจะรู้จักเขาในฐานะลูกหม้อของบริษัท หรืออย่างน้อยๆ ต้องคุ้นหน้าค่าตาเขาจากที่ต่างๆ

การนัดหมายระหว่างเราวันนี้ไม่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ กระดาษในมือเราจึงเต็มไปด้วยข้อคำถามยาวเหยียด ทั้งเรื่องการใช้ดิจิทัลและโซเชียลในชีวิตจริง ความรู้สึกเมื่ออ่านเจอคอมเมนต์ด้านลบเกี่ยวกับบริษัท ความเชื่อว่ารักจะเยียวยาทุกอย่างและยอมให้อภัย แอพพลิเคชันที่ใช้บ่อย คนรุ่นใหม่ที่เขารู้สึกชื่นชม และอีกหลายคำถามที่คุณสมชัยไม่เคยตอบคำถามนี้กับใครที่ไหน

การสนทนาระหว่างเราและเขา ผู้เป็นเบอร์ใหญ่ขององค์กรระดับพันล้าน แสนล้าน ไม่มีเรื่องตัวเลขกำไรขาดทุนสักเพียงนิดเดียว นั่นยิ่งทำให้เราเห็นตัวตนและวิธีคิดที่ได้ใจคนในองค์กร

ก่อนจะพบกับคุณสมชัย โปรดทำตัวสบายๆ และจับจองที่นั่งได้เลย และการสนทนานี้ไม่จำเป็นต้องปิดเครื่องมือสื่อสารและสัญญาณแจ้งเตือนใดๆ เพราะคุณสมชัยคุยสนุกมาก จนคุณลืมโทรศัพท์มือถือไปได้เลย

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ตัวจริงของผู้บริหาร AIS เป็นคนติดสมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดียมั้ยคะ

ติดน้อยมากนะ ด้วยงานผมจำเป็นต้องหัดใช้สมาร์ทโฟนที่มีอยู่ทุกรุ่น อะไรออกใหม่ มีฟังก์ชันพิเศษยังไง ต้องลองหมด แต่ชีวิตจริงผมจะใช้สมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียว

ส่วนใหญ่ใช้ทำอะไร

ส่วนใหญ่ใช้ตามเรื่องงาน ถ้าเป็นโซเชียล ผมใช้เฟซบุ๊กสื่อสารแนวคิดและสิ่งที่น่าสนใจ จากที่เคยคิดว่าจะใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่พอจับเวลาใช้ 3 – 4 ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวจริงๆ เพราะระหว่างที่นั่งคุยกันหรือทำงานเราก็มักจะเผลอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูไปด้วย

ปกติอ่านคอมเมนต์เกี่ยวกับองค์กรในโลกออนไลน์บ้างมั้ย คอมเมนต์ด้านลบส่งผลต่อการทำงานของคุณยังไง

อ่านนะ เราก็เป็นมนุษย์ เวลาใครพูดถึงเราไม่ดีเราก็เสียใจ ที่ทำได้ก็คือปรับทัศนคติของตัวเองว่าความเห็นเหล่านั้นจะทำให้เราเห็นสิ่งที่ควรแก้ไข หลายครั้งที่มีคนเข้าใจความตั้งใจเราผิดแล้วแสดงความเห็นในด้านลบ แต่หากมองให้ดีเราจะเห็นว่าท่ามกลางเรื่องลบก็มีความเห็นด้านบวกอยู่บ้าง เราก็เลือกที่จะชั่งน้ำหนักและมองเป็นบทเรียนว่าจะทำอะไร จะโพสต์อะไรก็ให้ระวัง เป็นเรื่องธรรมดานะ

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า AIS จะเป็นผู้นำ แต่ก็สามารถแพ้ได้ตลอดเวลา ทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น

เทคโนโลยีมาเร็วไปเร็วมาก เราเห็นตัวอย่างเยอะแยะเลย บริษัทมือถือระดับโลกที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ทั่วโลก ทุกๆ ปีจะมีคนเฝ้ารอเทคโนโลยีใหม่ๆ จากเขาเสมอ จนเมื่อผ่านไป 10 ปี ที่ iPhone ถือกำเนิดบนโลก มือถือระดับโลกแบรนด์นั้นก็หายไปเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสินค้าแบบฟิล์มที่ตายไปเพราะมีสิ่งใหม่อย่างกล้องดิจิทัลมาทดแทน ผมคิดว่าเป็นเพราะการที่ไม่ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับเค้า

ผมจึงบอกพนักงาน AIS เสมอว่าต่อให้เราเป็นเบอร์หนึ่งเราก็ไม่ควรดีใจ ชะล่าใจ จนไม่พยายามต่อ เพราะเชื่อในความสำเร็จแบบเดิมๆ แต่เราต้องอยู่ใน burning platform หรือสถานการณ์ไฟลน ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ทีมงานผมก็เลยเหนื่อยหน่อย เหมือนกับทำงานแบบวิ่งตลอดเวลา

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

คนรอบตัวจะบอกว่าผมเป็นผู้บริหารที่รู้จักประนีประนอมนะ บูรณาการได้ดี ผมมั่นใจว่าพันธมิตรรักผมทุกคนนะ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

แล้วคุณเชื่อในเรื่องการทำงานให้หนักมั้ย

เชื่อมาก ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าจะมีอะไรได้มาง่ายๆ

คติการทำงานของผมสั้นและง่ายมาก หนึ่ง ต้องขยัน สอง ต้องมีความซื่อสัตย์ และสาม ต้องมีความจริงใจ

ขยันคืออะไร ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ จะเป็นนักกีฬาอันดับหนึ่งของโลก เขาล้วนผ่านการฝึกฝนที่หนักทั้งนั้น ลองมองคนที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จ ทุกคนขยันทั้งหมด ไม่มีใครที่ไม่ขยันแล้วได้ ขยันเป็น hardware ขณะที่ซื่อสัตย์เป็นเรื่องของจิตใจ และการที่เราซื่อสัตย์จะทำให้เราได้รับโอกาสและความไว้วางใจให้ทำอะไรมากมาย ส่วนความจริงใจจะทำให้คุณได้รับมิตรภาพที่ดีและยาวนาน

กับดักของเด็กรุ่นใหม่ที่มักคิดถึงการประสบความสำเร็จเร็วๆ อยากเติบโตเร็วๆ คุณมีคำแนะนำแก่พวกเขายังไงบ้าง

เส้นทางมืออาชีพไม่มีทางลัด อย่าวัดผลความสำเร็จจากตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ให้ลองมองโอกาสที่ได้รับจากผลของการทำงานอย่างตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่นสิ่งที่ทำและตำแหน่งงานที่ผมได้รับวันนี้ทำให้มีโอกาสพบเจอ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด กับจอมยุทธ์จากหลากหลายแวดวง เพื่อเพิ่มมุมมองประสบการณ์ให้ผมตลอดเวลา

การทำงานกับคนหลายเจเนอเรชันส่งผลต่อนโยบายการบริหารคนของคุณยังไงบ้าง

ผมพยายามเปลี่ยนแปลงองค์กร เพราะเราวิเคราะห์บริษัทแล้วพบว่าในจำนวน 12,000 คน เป็น baby boomer แบบผมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นคนในเจเนอเรชัน X และ Y แต่ระบบที่เราทำทุกวันนี้มันตอบโจทย์คนยุค baby boomer ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนระบบที่มีเสียก่อน พนักงานเจเนอเรชัน X และ Y ก็จะไม่อยู่กับเราแน่นอน

เราพยายามเปลี่ยนระบบ และแรกๆ ก็ได้รับการต่อต้านเยอะ เช่น นโยบายไม่มีห้องทำงานส่วนตัว เปลี่ยนพื้นที่ห้องทำงานผู้บริหารเป็นพื้นที่ส่วนรวม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับนโยบายนี้ได้ คุยไปคุยมาก็ได้รู้ข้อมูลอินไซด์ว่าห้องทำงานเป็นเสมือนผลจากจากทำงานอย่างหนักมา 20 ปี เป็นหน้าเป็นตาของเขาจริงๆ เราก็พยายามอธิบาย ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ แก้ไป

อะไรทำให้เชื่อว่าทำแบบนี้แล้วจะดี

มันเป็นเทรนด์ของโลกที่เราไม่ฏิเสธ

ทีเรายังชื่นชมระบบการทำงานขององค์กรในต่างประเทศที่มีนโยบายเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานแบบเดิมๆ แบบนี้ แต่พอบอกให้ทำจริงเรากลับไม่อยากยอมรับ เพราะเคยชินกับการได้มาซึ่งเครื่องอัฐบริขาร จริงๆ เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่เข้าใจได้

นอกจากนี้ มีโนบายงดประชุมงานวันพฤหัสบดีช่วงบ่าย เหตุผลคือพนักงานเด็กๆ บ่นว่าพี่ๆ ชอบเรียกประชุมจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง แล้วความคิดสร้างสรรค์จะเกิดได้อย่างไร และหลังจากประกาศเรื่องนี้ออกไป คนกลับใช้เวลาช่วงนี้แหละนัดประชุมเพราะหาคิวนัดในช่วงปกติไม่ได้ และวิธีแก้ของผมคือออกนโยบายว่าคนที่เรียกประชุมในเวลานั้นต้องจ่ายให้ผู้เข้าร่วมหัวละ 100 บาท

โห ดีมากเลยค่ะ อยากขอไปใช้กับออฟฟิศตัวเองบ้าง

จริงๆ นโยบายเหล่านี้พอทำไปจนชินมันก็กลายเป็นเรื่องสนุก องค์กรคึกคักขึ้น ดีขึ้น พนักงานรุ่นพี่ก็ต่อต้านน้อยลง เริ่มเข้าใจมากขึ้น

ได้ยินว่า AIS สนับสนุนให้พนักงานมีชีวิตดิจิทัล เป็นนโยบายอยากให้พนักงานรักคุณหรือเปล่า

ไม่ใช่เพื่อให้เขารักเราหรอก แต่เพื่อให้เขาบริการลูกค้าให้ได้

ผมเชื่อเสมอว่าต่อให้โลกจะเปลี่ยนไปล้ำสมัยแค่ไหน คนก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และการที่ AIS เป็นเบอร์หนึ่งได้ในทุกวันนี้ก็เพราะคนของเราทุกคน เพียงแค่ว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าที่เราเคยใช้แล้วได้ผลในอดีต มาวันนี้อาจจะไม่เป็นอย่างนั้น เราจึงมีวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เรียกอย่างเข้าใจง่ายว่า FIND U หรือการค้นหาตัวเองใหม่ F มาจาก Fighting Spirit หัวใจนักสู้ I คือ Innovation อันนี้สำคัญ เรามีเงินซื้อเทคโนโลยีได้ เราจะทำ IoT Platform คู่แข่งก็ทำได้ แต่ความริเริ่มสร้างสรรค์นี่แหละที่ทำให้แตกต่าง เราจึงให้ความสำคัญกับการสร้าง Innovation Culture เป็นเหตุผลของการสร้าง R&D Centre ต่างๆ N มาจาก New Ability ขีดความสามารถใหม่ D มาจาก Digital Life สนับสนุนให้พนักงานทุกคนต้องใช้ดิจิทัลให้เป็น และ U มาจาก Sense of Urgency เรียกว่าตื่นรู้ Alert การเปลี่ยนแปลงรอบตัวตลอดเวลา

ปีใหม่ที่ผ่านมา บริษัทมอบเงินให้พนักงานทุกคนคนละ 1,000 บาท ผ่าน mPay หรือ Mobile Payment ของบริษัทเท่านั้นถ้าไม่ใช้ mPay ก็อด ถึงได้บอกว่าไปๆ มาๆ เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องสนุกในองค์กร ซึ่งครั้งนี้เราบอกว่าเป็นเงินของขวัญปีใหม่ เริ่มต้นยุคอัศวินดิจิทัล

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

แล้วกับลูกค้า คุณอยากให้ AIS เป็นองค์กรเบอร์หนึ่ง หรือเป็นองค์กรที่เป็นที่รัก

ผมอยากให้ AIS เป็นที่รักของลูกค้า แทนที่เราจะทำ CRM CEM แบบใคร เราเน้นการทำ Customer Intimacy นั่นคือผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลบริการลูกค้าต้องทำให้ลูกค้าหลงรัก เพราะเราเชื่อว่าหากใครหลงรักใคร เขาจะให้อภัย หากวันไหนที่ AIS ทำพลาด ระบบอาจจะแย่ สัญญาณอาจจะไม่ดีไปบ้าง ลูกค้าก็จะยังคงให้อภัย เพราะพอรักก็พร้อมจะเข้าใจเสมอ

สาเหตุที่โลกเรามีปัญหาทุกวันนี้เพราะการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เห็นด้วยนะ ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ายังจำเกมฮิตของรายการหนึ่งในสมัยก่อนได้ เขาจะให้ผู้เล่นเรียงแถวกัน แล้วค่อยๆ ส่งสารที่ได้รับจากสิ่งที่เห็นและได้ยินต่อๆ กันไปตามแถว เราคนดูจะเห็นว่าคนแรกกับคนสุดท้ายที่รับสารพูดไม่ตรงกัน มันเป็นธรรมชาติของการสื่อสารแบบแอนะล็อกที่จะบิดเบือนหรือตกหล่นหายไประหว่างทาง

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน นอกจากเรื่องการบิดเบือนสารแล้ว การมาของดิจิทัลยังช่วยให้การแปลงสาร ตัดต่อสาร นั้นทำได้ง่ายจนทำให้ใครต่อใครเชื่อว่าเรื่องไม่จริงบางเรื่องเป็นเรื่องจริง ทำให้ยากที่แยกข่าวจริงและปลอมออกจากกัน

แล้วการสื่อสารที่ดีควรเป็นยังไง

10 ปีก่อน แบรนด์มือถือยักษ์ใหญ่ของโลกเคยมีวลีว่า connecting people การสื่อสารที่ดีจะทำให้โลกนี้เป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดการแชร์องค์ความรู้ การช่วยเหลือกันและกัน เป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น ซึ่งก็อยู่ที่คนใช้

เพราะฉะนั้นเราต้องระวังใจยังไง

คงต้องสร้างจิตสำนึก ผมเคยคิดจะทำแคมเปญเรื่องโทรศัพท์มือถือจะสร้างสรรค์หรือทำลายอยู่ที่เราผู้ใช้งาน ถ้าใช้อย่างพอดีในทางที่ถูกต้อง ค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร เช่น ตั้งแต่มี LINE เข้ามาก็ช่วยเชื่อมการติดต่อกับเพื่อนที่ห่างหายไปนาน หรือมีคนป่วยในที่ห่างไกล การสื่อสารที่ดีก็ช่วยให้ระยะทางการช่วยเหลือนั้นสั้นลง

ทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีพวกนี้ทำให้เกิดเรื่องดีมากกว่าไม่ดี เพียงแต่พฤติกรรมผู้ใช้งานวันนี้เราทำเกินความพอดี เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถจนนำมาซึ่งอุบัติเหตุ ฟอร์เวิร์ดข้อความที่เรายังไม่แน่ใจว่าจริงรึเปล่า พอมีข้อความเข้าเราก็ต้องเข้าไปดู จนเกิดการใช้งานที่เลยเถิด ทุกวันนี้ ผมมีข้อความแจ้งเตือนในโทรศัพท์วันละหลายพันข้อความ จนต้องปิดระบบแจ้งเตือนและเปิดดูเมื่อมีเวลาว่าง

ในสมัยที่ยังไม่มีใครพูดเรื่องดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคน คุณเป็นคนแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้ ตอนนั้นคุณมองเห็นอะไร

ส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ เพราะเราอยู่วงการนี้จึงได้เห็นได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญวิทยาการนี้เร็วกว่าคนอื่นๆ จนกระทั่งหลังจากที่คนไทยรู้จักดิจิทัลจาก digital economy ของรัฐบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนต่างสนใจ พูดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา

เคยรู้สึกตื่นเต้นกับเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงบ้างมั้ย

AIS อดทนมากนะ (ตอบทันที)

ที่ผ่านมา เรารู้ตัวว่าถนัดทำระบบสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เราก็ทำสิ่งนี้ก่อน จนเมื่อถึงจุดหนึ่งช่วงที่ผมรับตำแหน่ง ผมประกาศเลยว่ายังไงเราก็ต้องทำ Fixed Broadband ต้องทำ digital platform เพิ่ม ตอนนั้นคณะกรรมการไม่เห็นด้วยนะเพราะโดยเทคนิคแล้วเราไม่มี Fixed Line ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่เพราะโลกมันเปลี่ยนไป ลูกค้าไม่ได้ใช้ระบบเราเพื่อการติดต่อสื่อสารอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่ใช้เพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัลตลอดเวลา ดูหนัง ฟังเพลง ค้นหาข้อมูล เป็นการใช้ data ในที่สุดที่บอร์ดก็อนุมัติ เราทำในจังหวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนพอดี จะเห็นว่าบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเห่อหรือวิ่งตามสิ่งที่โลกบอกว่าดีไปทุกเรื่อง เพราะถ้ายังไม่ถึงเวลาที่ใช่ก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าดี

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ย้อนกลับไปสมัยที่โทรศัพท์มือถือเครื่องใหญ่มากๆ มีแอบคิดมั้ยว่าเราจะติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้ากันในอนาคต หรือคนในสมัยนั้นมีความคิดเรื่องดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตเรายังบ้าง

คิดนะ ถ้าย้อนกลับไปดูหนังฝรั่งช่วง 20 – 30 ปีที่แล้ว มีการจินตนาการถึงเรื่องนี้อยู่ตลอด และวันนี้เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นจริงแล้ว อย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก มีการพูดถึงเรื่องนี้มา 5 – 6 ปีแล้ว แต่ช่วงนั้นยังไม่มีเครือข่ายที่พร้อมรองรับ รวมถึง device หรือเซนเซอร์ก็เพิ่งพัฒนาให้ดีขึ้น

อะไรทำให้คิดว่าเวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมที่เราจะพูดเรื่อง IoT ตอนนี้

ผมคิดว่าภายในเวลา 3 ปีตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงประเทศ สร้างสิ่งใหม่ที่ทันสมัย เปลี่ยนกระบวนการหรือระบบความเชื่อเก่าๆ ยกตัวอย่างเช่นเราทำธุรกิจร้านอาหารและต้องการขยายธุรกิจ ถ้าเป็นวิธีคิดแบบเดิมเราก็คงหาทำเลเปิดร้านขยายสาขา ต้องมีเงินลงทุนทำร้าน หาบุคลากร แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่ดีขึ้น คนสามารถใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ ถ่ายทอดสด สั่งของรับออร์เดอร์ผ่านช่องทางนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสโดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงขยายสาขาแบบแต่ก่อน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ จากการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เราเพียงแค่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอย่างไร

ซึ่งในยุคนี้ที่อะไรๆ ก็ดิจิทัลไปหมด แม้กระทั่งความรัก เรายังหาแฟนผ่านดิจิทัล คุณคิดว่ามีอะไรบนโลกนี้ที่ดิจิทัลมาแทนไม่ได้

ดิจิทัล หรือระบบสร้างรหัส 0 1 มีประโยชน์มากกับเรื่องที่ต้องทำซ้ำๆ ผมเชื่อว่าต่อให้ดิจิทัลพยายามพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ให้เท่าเทียมมนุษย์ แต่ก็ยังมีเรื่อง wisdom ตรรกะความคิดที่ซับซ้อนของคนซึ่งดิจิทัลไม่สามารถแทนได้ ผมจึงบอกเสมอว่าอย่าไปกลัว เพราะมนุษย์เรานี่ซับซ้อนที่สุดแล้ว

เวลาคิดทำโปรเจกต์ใหม่ๆ คุณมักจะเริ่มต้นจากอะไร

ต้องยอมรับว่าบริษัทที่ดีต้องมีทีมทำงาน Research and Development (R&D) กล้าลงทุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และต้องให้โอกาส หมายความว่าไม่ใช่ว่าลงทุนทำ 100 แล้วต้องได้ 100 แต่ทำ 100 ได้แค่ 10 ก็ถือว่าเก่งแล้ว AIS เราแยกฝ่าย Innovation Lab และ Innovation Center ออกมาเป็นอิสระจากการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างแพลตฟอร์ม IoT ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่เกิดขึ้น

เรามองเรื่องนี้แยกเป็น 2 ส่วนนะ ส่วนแรกคือธุรกิจจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างมั่นคง แต่ของใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องสร้างเสริม ถ้าเป็นรูปแบบบริหารจัดการองค์กรสมัยก่อนเขาจะทำ BD หรือ Business Development แต่ผมแยกออกมาเพื่อสนับสนุนให้พนักงานทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดอยู่ฝ่ายงานไหน คิด  ทำ และนำเสนอ โครงการใหม่ๆ ปีที่ผ่านมาเรามีทุน 100 ล้านบาทสำหรับ R&D โดยเฉพาะ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ทำ 100 ได้ 10 นี่โอเคจริงๆ เหรอคะ

โอ้ ได้ 10 นี่ถือว่าเก่งแล้วนะ ถึงบอกว่าให้ทำเรื่องนี้เป็นงบ R&D และต่อให้ทำ 100 เหลือ 0 ก็ต้องยอม แต่ถ้าเป็นธุรกิจ แน่นอนว่ายอมให้เป็นแบบนี้ไม่ได้

ความร่วมมือที่ชวนภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ สะท้อนตัวตนและความเชื่ออะไรของ AIS บ้าง

เราเชื่อใน ecosystem หรือระบบนิเวศแห่งโลกสื่อสาร

เราเก่งอะไร เราเก่งการให้บริการเครือข่ายและสร้างการเชื่อมโยง เราเก่งเรื่องแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมต่อ แต่เราไม่มีทางรู้ว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องการอะไร เราจึงสร้าง infastructure network เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการใช้งาน IoT สามารถคิดค้นเซนเซอร์หรือกระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น เช่น อยากรักษาอุณหภูมิของยา ซึ่งตู้เย็นทั่วไปไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ จึงทำระบบเซนเซอร์ IoT ให้คอยจับอุณภูมิแล้วส่งข้อมูลแจ้งเตือน เป็นต้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับคนที่ผลิตเครื่องมือมารองรับ

อย่างเรื่อง Internet of Things (IoT) จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเราเหมือนที่ internet เคยทำใช่มั้ย

เปลี่ยน แต่จะเป็นอีกแบบ ซึ่งบางเรื่องอาจจะเกินคาดเดา

การมาของอินเทอร์เน็ตสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายอย่างที่เรารู้กัน และ IoT ก็เป็นเวอร์ชันอัพเกรดกว่า เป็นเทคโนโลยีที่เข้าไปยุ่งกับสิ่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือ นั่นคือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นมา อย่างที่เราเห็น wearable device ต่างๆ และเมื่อถึงวันที่ทุกอย่างรอบตัวเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ พฤติกรรมคนก็จะเปลี่ยน อาจจะส่งผลให้วิถีของสังคมโดยรอบเปลี่ยน เช่น โรงพยาบาล แทนที่จะตั้งรับคนป่วย ก็เกิดโปรแกรมใหม่ มี IoT ช่วยเก็บข้อมูล คอยเตือน คอยบอกขั้นตอนดูแลสุขภาพแก่ผู้ป่วย ซึ่งเราจะเห็นเหตุการณ์ราวๆ นี้เกิดขึ้นภายใน 3 ปีนี้แน่นอน เพราะ DNA พร้อม device พร้อม network พร้อม application พร้อม อยู่ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเท่านั้นเอง และผมยังคงยืนยันว่าไม่รู้จริงๆ ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแบบไหน

ถ้าให้เลือก Thing เพียงสิ่งเดียว ที่อยากให้มีเทคโนโลยี IoT สิ่งนั้นก็คือ…

ไม่มีเลย (นิ่งคิด) เพราะผมไม่ติดกับเทคโนโลยี แว่นตาหรือ wearable ก็ไม่ใส่

ขอตอบว่าหัวใจแล้วกัน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ทำไมการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลกถึงสำคัญกับชีวิตเรา

ผมคิดว่าทำให้เราได้ตักตวงสิ่งที่เป็นประโยชน์มาอยู่ในชีวิตเรา

สมมติเราอยู่ในธุรกิจและเราเปลี่ยนไม่ทัน เราก็จะอยู่ในสิ่งที่ล้าสมัยเหมือนตัวอย่างที่เรามักจะเห็นกัน แต่ถ้าเป็นชีวิตส่วนตัว การรู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตจะเป็นประโยชน์ ดิจิทัลเข้ามาให้โอกาส อยู่ที่เราจะใช้มันแสวงหาโอกาสมากน้อยแค่ไหน และใช้มันในทางบวกหรือลบ

การอยู่ในวงการที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีอะไรที่คุณไม่อยากให้เปลี่ยนไปบ้างไหม

ผมเชื่อในวัฒนธรรมที่ดีงามแบบไทยๆ สิ่งนี้แหละที่ผมไม่อยากให้เปลี่ยนไป

เวลาทำงานบริหาร ผมชอบที่จะผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก การสนใจแต่ KPI แบบคนทำงานฝั่งโลกตะวันตกอาจจะเป็นการกระทำที่ดูไม่มีหัวใจ ขณะที่สไตล์แบบคนไทยและฝั่งตะวันออกที่สนใจว่าสิ่งที่ทำไปเขาจะรักเรามั้ย เพราะฉะนั้น จึงต้องผสมผสาน เหมือนการผสมระหว่างศาสตร์และศิลป์ หรือตรรกะและอารมณ์

และในยุคที่เราเรียนรู้เรื่องราวของคนจากความสำเร็จที่เห็นในปัจจุบัน คุณอยากให้คนรุ่นใหม่จดจำคุณในแบบไหน

ผมอยากให้เขาคิดว่าผมเป็นคนที่ไม่มีอะไร คนธรรมดาคนหนึ่งที่ผ่านการทำงานอย่างขยัน ซื่อสัตย์ และจริงใจ ก็สามารถเติบโตและอยู่ในองค์กรอย่าง AIS ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็เป็นไปได้ ถ้าคุณมีความสามารถจริงๆ คุณก็สามารถเป็นมืออาชีพได้

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

10 Questions

Answered by AIS CEO

  1. คนรุ่นใหม่ที่คุณรู้สึกชื่นชม : คนที่ทำธุรกิจที่ไม่คิดถึงตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่คิดถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย คนแบบนี้คือคนที่ผมชอบ
  2. ในยุคที่เราคุ้นชินกับความรวดเร็ว จะมีบางจังหวะที่ช้าเกินใจอยาก เปรียบกับสัญญาณอ่อนแรงโหลดไม่ขึ้น คุณมีความรู้สึกอย่างไร และทำยังไง : ผมทำใจได้นะ ไม่หงุดหงิดมาก ข้อดีข้อหนึ่งของผมคือเหมือนหุ่นยนต์ ไม่ซับซ้อน
  3. เป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์กี่กลุ่ม กลุ่มที่เข้าบ่อยที่สุดและกลุ่มแปลกที่สุดคือ : 30 กว่ากลุ่ม กลุ่มที่เข้าไปดูบ่อยสุดคือกลุ่มพนักงาน AIS ใต้ฟ้าเดียวกัน กลุ่มที่แปลกที่สุด บอกไม่ได้ครับ (หัวเราะ)
  4. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : ผมอ่านหนังสือไม่เยอะ แต่จะใช้วิธีคุยกับคนเยอะๆ มากกว่า ล่าสุด คุยกับโซเฟีย หุ่นยนต์ที่ได้สัญชาติมนุษย์เป็นรายแรก
  5. แอพพลิเคชั่นที่ชอบและอยากแนะนำต่อมากที่สุด : ผมยังใช้เฟซบุ๊กเยอะที่สุดอยู่
  6. นวัตกรรมใหม่ล่าสุดบนโลกที่อยากเห็นเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ : AI ที่ดีและแข็งแรง
  7. คำพูดที่คุณมักบอกพนักงานเสมอ : ผมพูดกับพนักงานบ่อยๆ ว่า ‘ไม่มีองค์กรไหนที่จะเหมือน AIS ที่พนักงานทำงานหนักเงินเดือนน้อยแต่มีความสุข’ พูดจริงๆ นะ แล้วทุกคนตอบรับว่า ‘เห็นด้วยค่ะ’
  8. ชมรมสมัยมหาวิทยาลัย : ผมทำกิจกรรมเยอะมาก เป็นประธานฝ่ายวิชาการขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ ที่ไม่ค่อยเรียนหนังสือ
  9. ทริปการเดินทางที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต : ทริปอินเดีย ใครรู้สึกเหนื่อยยากท้อแท้กับชีวิตให้ลองไปที่นี่
  10. คุณไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง : คำถามคุณยากจัง

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ