เป็นปกติที่ผมจะไปถึงสถานที่นัดหมายก่อนถึงเวลาสัมภาษณ์พูดคุย

ระหว่างนั่งรออยู่บริเวณล็อบบี้ออฟฟิศของ Greyhound ผมสังเกตเห็นสติกเกอร์แผ่นหนึ่งติดอยู่คล้ายต้องการให้ผู้มาเยือนสังเกตเห็น บนนั้นมีประโยคภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลภาษาไทยกำกับ

“มีคนพูดว่าเวลาเราเดินเข้าไปฝ่ายรีเซปชันของแต่ละบริษัท เราจะได้กลิ่นบางอย่าง กลิ่นนี้แหละ คือกลิ่นของบริษัทนั้น กลิ่นแห่งความสุข กลิ่นแห่งความสนุก กลิ่นแห่งความทุกข์ทรมาน กลิ่นแห่งความน่าเบื่อ มันจะอยู่แถวนั้นแหละ” ภาณุ อิงคะวัต ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแบรนด์ Greyhound บอกประโยคนี้กับผมในช่วงหนึ่งหลังจากเรานั่งพูดคุยกัน

นับตั้งแต่ปี 1980 ที่ Greyhound ถือกำเนิดจนถึงวันนี้ก็เข้าสู่ขวบปีที่ 37 หากเปรียบเป็นมนุษย์ เราย่อมเห็นการเติบโตของแบรนด์นี้ทั้งในภาพกว้างและลึก จากแบรนด์แบรนด์หนึ่งถูกต่อยอดเป็นแบรนด์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Greyhound Original, Playhound, Smiley Hound หรือ Greyhound Café และ Another Hound Café ซึ่งขยายครอบคลุมจากหมวดแฟชั่น เป็นอาหารและไลฟ์สไตล์ ซึ่งการขยายเติบโตนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่อย่าง Mudman โดยตั้งเป้าชัดเจนที่จะทำให้แบรนด์ไทยอย่าง Greyhound กลายเป็น global brand ให้สำเร็จ

อย่าลืมว่าชายผู้นี้เรียนจบทางด้านกราฟิกดีไซน์ หาได้ร่ำเรียนด้านแฟชั่นหรืออาหารมาแต่อย่างใด งานที่สร้างชื่อให้เขาก่อนจะโยกย้ายมาสร้างอาณาจักรของตัวเองคืองานโฆษณาสมัยเป็นเป็นผู้บริหารของ Leo Burnett เอเจนซี่ที่เท่ที่สุดในยุคสมัยหนึ่ง และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกก่อตั้งสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก (B.A.D.) ให้วงการโฆษณาไทยและสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพฯ หรือ Bangkok Fashion Society (BFS) เมื่อหันเข้าสู่วงการแฟชั่นเต็มตัว

เขาโชคดีที่มีคอมมอนเซนส์ที่ดี เข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจว่าทำอย่างไรคนจะยิ้ม ทำอย่างไรคนจะหัวเราะ ทำอย่างไรคนจะร้องไห้ ซึ่งความเข้าใจที่ว่าบวกกับความสนใจและใส่ใจส่วนตัว ทำให้เขาพาตัวเองและบริษัทมาจนถึงวันนี้ได้

ภาณุ อิงคะวัต

ล่าสุด Greyhound Café เพิ่งตัดสินใจไปเปิดสาขาใหม่ล่าสุดที่ลอนดอนซึ่งโจทย์ที่ได้รับเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่เขาและทีมก็คลี่คลายโจทย์ได้อย่างน่าสนใจ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่อย่างไรต้องรอติดตามดูกัน

ในฐานะผู้นำ เขาบริหารสิ่งต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามากว่า 3 ทศวรรษอย่างไร และทำไมไฟในการทำงานของเขาจึงยังลุกโชนคล้ายคนหนุ่ม นี่คือสิ่งที่ผมสงสัยก่อนมาพบเจอเขา และจากการได้นั่งพูดคุยก็ทำให้ผมค้นพบบางคำตอบ

หลังบทสนทนาในห้องทำงานของเขาบนชั้น 2 ผมคิดถึงประโยคบนสติกเกอร์ที่ติดอยู่บริเวณล็อบบี้ออฟฟิศ

‘We are born either a gifted or a learner but without passion, both cannot succeed in each of their fields.’

‘ไม่ว่าจะพรสวรรค์หรือพรแสวง ถ้าปราศจากความทุ่มเทก็ย่อมไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองทาง’

คำคม

เห็นว่า Greyhound Café เพิ่งเปิดสาขาใหม่ที่ลอนดอน คุณยังตื่นเต้นเหมือนตอนเปิดร้านสาขาแรกๆ ไหม

ได้อารมณ์นั้นเลยครับ มันเป็นโจทย์ใหม่และไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย เพราะว่าตลาดร้านอาหารที่ลอนดอนเป็นตลาดที่ซับซ้อน มีการแข่งขันที่ซับซ้อนมาก มันเลยเป็นอะไรที่ใหม่และเราต้องเรียนรู้เยอะมาก เราต้องการเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกในลอนดอนที่แตกต่างจากร้านไทยที่เปิดอยู่มากมายวันนี้ แต่เราจะไปทางไหนดีล่ะ นั่นเป็น big question ของเราเลยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนเราไปดูตลาดครั้งแรกๆ

ที่ลอนดอนตอนนี้อาหารไทยพัฒนาขึ้นอย่างมาก ที่เป็นแค่ร้านไทยแบบที่เคยเป็นอาจไม่น่าสนใจแล้ว วันนี้เชฟอังกฤษเองเอาอาหารลาว อาหารไทใหญ่ ไปสร้างให้เป็นอาหารฮิต แต่ละแบรนด์เน้นคำว่า authentic ซึ่งคำว่า authentic มีความขลังในตัวอยู่แล้ว เสิร์ฟก็เสิร์ฟหม้อดินแบบแม่นาคพระโขนงเลยนะ ทุกอย่าง exotic หมด Greyhound Café ดันเป็นแบรนด์โมเดิร์น แล้วเราจะเอาไอเดียนี้ไปขายฝรั่งที่ลอนดอน เราต้องไปแข่งกับ authentic นี่คือส่วนหนึ่งที่สำคัญ เราจะทวิสต์ยังไง พรีเซนต์ตัวเองยังไงให้ออกมาเป็นไทยแต่ไม่ไทยจ๋า เห็นแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย สนุกว่ะ แปลกว่ะ ไม่เคยกิน ไม่เคยเห็น และเราก็รู้สึกโชคดีที่เมื่อเราเปิดจริงไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว (15 ธันวาคม 2560) ลูกค้าที่เข้ามาเขาสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง และที่สำคัญ สนุกกับความแปลกใหม่ที่เราสร้างสรรค์ให้เขา

ผมมีความรู้สึกว่าทุกงานมันมีความสนุกซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ ผมทำงานเอเจนซี่มา ผมรู้ทุกวันโจทย์มาเต็มไปหมด ทุกโจทย์มีความท้าทาย แหม ฟังดูเก๋นะ ความท้าทาย แต่จริงๆ แล้วมันคือโจทย์ คือปัญหาด้านการตลาดที่เขาจ้างพวกเรามาแก้ไข แต่เราจะแก้ยังไงให้มันสนุกและสวยด้วย ซึ่งสวยในที่นี้ไม่ใช่แค่ประดิดประดอยสวย แต่เป็นการนำไอเดียที่แปลกใหม่มาตอบโจทย์ได้อย่างลงตัวมากกว่า ผมโตมาอย่างนี้

เวลาคิดโปรเจกต์ใหม่คุณเริ่มต้นจากอะไร

ผมถูกสอนมาว่า big idea เป็นสิ่งสำคัญ โจทย์อะไรมาก็ตาม คุณตอบด้วย idea หรือ big idea ถ้าแค่ idea ใครๆ ก็คิดได้ big idea ต่างกับ idea เยอะมาก สมมติแต่งร้าน ผมจะประดิดประดอย ประดับประดาอะไร ผมก็ทำไป แต่นั่นมันเป็นแค่ idea แต่ big idea คือเป็น idea ที่จะต้องตอบโจทย์ทางการตลาดที่ลงตัวที่สุด คือความสวยงามใครก็คิดได้ เช่นเรากำลังจะไปทำร้านอาหารไทยที่ลอนดอน ความจริงใส่ลายกระหนกเข้าไป เพนต์ลายไทยเข้าไป มันก็เป็นไทยแล้ว แต่ Greyhound Café ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วทำยังไงให้มันกลับมาที่แบรนด์เรา ยังมีความไทยแต่ก็ยังเก็บความเป็นโมเดิร์นอยู่ ฉะนั้น วิธีการหลายอย่างที่เราทำมันจึงต้องมีสมดุลตรงนี้ให้ได้

มีอะไรที่คุณค้นพบจากการทำงานเป็นผู้บริหารบ้างไหม

การเป็นผู้บริหารไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจ้างเรามาบริหาร แต่เราก็ดันชอบทำงานเอง ผมคิดว่าเราทำไปด้วยกันทั้งสองอย่างได้ เราเป็นเหมือน conductor ของวงดนตรี ที่นักดนตรีแต่ละคนเชี่ยวชาญในแต่ละเครื่องดนตรี เราอำนวยให้เขาได้เล่นดีที่สุด และดึงเอาความสามารถของเขาออกมาให้มากที่สุด แต่นั่นแหละ ถ้ามาถึงจุดหนึ่ง เขาอาจจะหันมาถามว่า “แล้วจะเอายังไงต่อ” เราต้องมีคำตอบ เพราะในที่สุด conductor คือผู้นำ คือผู้ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบสุดท้าย

ทุกโปรเจกต์สำหรับผมจึงเป็น collaborative effort ไม่มีใครทำงานทุกอย่างได้ด้วยตัวเองหรอก เราจึงต้องรวมหัวกันตอบปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าคำตอบสุดท้ายจะมาจากทุกคนร่วมกัน อันนั้นจะกลายเป็น committee decision ที่มักจะออกมาเบลอๆ กลางๆ เอาใจทุกฝ่าย ไอเดียที่ดีมันจึงต้องชัดเจน ทางใดทางหนึ่งไปเลย

ความคิดนี้มันเริ่มมาตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ ที่ทำงานโฆษณา สมมติคุณไปถ่ายหนังเรื่องหนึ่ง เราต้องมีครีเอทีฟไดเรกเตอร์ มีผู้กำกับ มีช่างตัดต่อ มีช่างภาพ ซึ่งทุกคนมีไอเดีย สามารถช่วยกันคิดช่วยกันทำได้หมด แต่คุณจะไปทางไหนล่ะถ้าไม่มีใครหนึ่งคนที่นำทาง ในที่สุดมันต้องมีใครสักคนตัดสินใจ แล้วคนคนนั้นเข้าใจดีมั้ย ถ้าคนนั้นไม่เข้าใจแล้วตัดสินใจ for art’s sake อย่างเดียว ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อการตลาด งานชิ้นนั้นมันก็ไปตอบสนองความต้องการของคนคนนั้นเท่านั้น แต่ถ้าเขาเข้าใจด้วยว่ากำลังตอบการตลาด แบรนด์แบรนด์นี้ต้องการแบบนี้ ต้องการหวานเยิ้มคุณจะเอาเท่ไปใส่ก็ไม่ได้ หรือแบรนด์นี้ต้องการเท่ คุณจะเอาหวานเยิ้มเข้าไปใส่ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันคือความเข้าใจ แล้วในที่สุดคุณต้องตัดสินใจ

ภาณุ อิงคะวัต

ภาณุ อิงคะวัต

ซึ่งในชีวิตที่ผ่านมาคุณมักตกอยู่ในที่นั่งของคนที่ต้องตัดสินใจ

ก็ต้อง แต่ถ้าเราแบ่งงานกันทำแล้ว เขาก็ต้องตัดสินใจในเรื่องที่เขาได้รับมอบหมาย เพราะถ้าเราเข้าไปยุ่งเขาก็จะเขว แต่ถ้างานไหนผมบอกว่าผมเป็นคนดูแล เป็นเบบี้ของผม ผมไม่ปล่อย เพราะผมรู้ว่างานทุกงานมีแต่สิ่งที่จะมาตัดรอนมันลง สมมติเรามีไอเดียที่จะทำร้านขึ้นมาร้านหนึ่ง ไปถึงคุยกับดีไซเนอร์ออกแบบร้าน อ้าว เงินไม่พอ ถูกตัดแล้ว ความรู้สึกดีๆ ที่เราตั้งใจหายไปบางส่วนแล้ว แล้วเราอยากจะทำอาหารอย่างนี้ อ้าว ทำไม่ได้ ทุนไม่ถึง ก็ต้องปรับลง อะไรอย่างนี้ คือปัญหาของการทำผิดพลาดมันเยอะ มันรอที่จะมาตัดรอนไอเดียของเราอยู่แล้ว เรื่องการตัดรอนคุณไม่ต้องห่วง คุณจะเจออยู่ทุกขณะจิต แล้วมันจะมาลดทอนคุณตลอด แต่สิ่งที่คุณจะต้องทำคือ ทำยังไงคุณถึงจะดึงมันกลับเข้าไปสู่จุดที่คุณคิดว่ามันโอเค ตรงนั้นแหละที่ยาก

หลายคนมองว่าคุณเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ เวลาเจอสิ่งต่างๆ มาลดทอนอย่างที่ว่า มันเป็นความทุกข์มั้ย

มันเป็นความทุกข์ถ้าคุณคาดหวังเอาไว้แล้วมันไม่ได้ แต่ว่าพอคุณทำไปเรื่อยๆ คุณจะรู้ว่ามันเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติที่คุณจะต้องเจออย่างนี้ สตอรี่บอร์ดคุณชอบมาก คุณเดินไปถ่ายหนัง คุยกันเรียบร้อยแล้วนะ วันถ่าย เจ๋งอะ ฉากก็สวย นักแสดงก็สวย พอดูฟุตเทจมันไม่เห็นดีเลย ทำไม แอ็กติ้งไม่ดีเลย แสงไม่สวยเลย แต่พอไปตัดต่อแล้วกลับดีว่ะ พอใส่เพลงเข้าไปแล้วยิ่งดีเข้าไปอีก ทุกจุดมันผันเปลี่ยนได้หมดเลย จำไว้เถอะครับ ชีวิตคือปัญหา บริษัทเขาจ้างเรามาแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เราเลือกได้ คือเราต้องสนุกกับการแก้ปัญหา ไม่อย่างนั้นก็จบกัน

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราตัดสินใจมันถูกหรือผิด

จริงๆ ในทุกเรื่องมันไม่มีอะไรมาวัดได้หรอก งานสร้างสรรค์มันไม่มีไม้บรรทัดมาวัดถูกผิด มันไม่ใช่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง คุณอาจจะชอบนะ ที่เหลือคนเขาอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่ในเมื่อฐานะเราอยู่ฝั่ง commercial art เราไม่ได้อยู่ fine art เราก็ต้องสื่อสารกับคนอื่นด้วย

อย่าง fine art เขาไม่สนใจ ใครไม่ชอบก็เรื่องของคุณ ฉันชอบก็จบ แต่ commercial art แปลว่าต้องเป็นศิลปะที่ต้องดึงดูดใจคนจำนวนมาก เราต้องสื่อสารและเชื่อมต่อกับเขาได้ นี่คือ commercial art เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราชอบต้องทำให้คนที่เขารับสารจากเราคล้อยตามด้วย ยิ่งถ้าเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เข้าถึงคนจำนวนมาก ยิ่งต้องสามารถสื่อสารและโน้มน้าวใจคนวงกว้างให้ได้ มันยิ่งยากขึ้นไปอีก

สำหรับคุณการทำ commercial art ยากยังไง

สำหรับผมมันต้องย้อนกลับไปต้นตอของโจทย์ ซึ่งต้นตอสำหรับผมมันจะมีคำว่าแบรนด์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ โอเค ตกลงคุณจะให้คนชอบ แล้วคนคนนั้นเป็นใคร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ย้อนขึ้นไป แล้วไปสู่คำถามหลักก่อนว่าตกลงแบรนด์นี้เป็นยังไง แพงหรือถูก ขายใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ คอนเซปต์ของแบรนด์คืออะไร อะไรคือดีเอ็นเอที่ทำให้เกิดแบรนด์นี้ขึ้นมา ถ้าคุณไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ คุณไม่มีอะไรที่จะมาใช้ในการตัดสินใจ ในที่สุดมันก็จะเป็นแค่นายภาณุชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งมันก็ผิดสิในด้านคอมเมอร์เชียล เพราะแบรนด์นั้นไม่ได้เป็นแบรนด์ภาณุนี่ โอเค Greyhound อาจจะยังมีความเป็นภาณุเยอะ แต่ถ้าสมมติผมไปทำงานให้กับคนอื่นที่เป็น commercial art ทั่วไป คุณก็ต้องไม่เอาตัวคุณเข้าไป เพราะคุณกำลังทำให้กับใครสักคน สมมติคุณเป็นเอเจนซี่ คุณก็กำลังทำให้ใครสักคน เหมือนคุณเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ คุณกำลังออกแบบให้กับใครสักคน มันไม่ใช่บ้านคุณเอง เพราะฉะนั้น คุณก็ต้องหันกลับไปถามเขาว่า แบรนด์คุณคืออะไร คุณกำลังพูดกับใคร คุณต้องการจะส่งเมสเสจอะไรออกมา ถ้าคุณรู้ มันจะเป็นเครื่องมือที่มาช่วยให้มันง่ายขึ้นที่จะตัดสินใจ

คำถามเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับครีเอทีฟ มันไม่สามารถที่จะอยู่ดีๆ บอกว่าคุณชอบผมไม่ชอบ แต่มันจะต้องเริ่มมาจากคุณจะพูดกับใคร หรือหนังไวรัลเรื่องนี้คุณจะพูดกับใคร แล้วโจทย์ของคุณคืออะไร มันคือคำถามทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นคุณตัดสินใจไม่ได้ คุณจะเอาอะไรไปวัดว่าอันนี้ถูกหรือผิด นอกจากคุณบอกฉันชอบหรือฉันไม่ชอบ ก็กลายเป็นฉัน ซึ่งไม่ถูก

ถ้าอย่างนั้นตัวตนของเรายังสำคัญในงานหรือ

ในที่สุดมันก็กลับมาที่ความเป็นคุณ ความสามารถส่วนตัวของคุณ ที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาใช้ในการตัดสินแล้วก็ทำงาน เพราะฉะนั้น สำหรับผมคนเก่งสำคัญในการที่เราจะทำงานด้วย เพราะเราไม่ได้ทำงานคนเดียว มันเป็น collaborative effort อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ทีมต้องเก่ง แม้กระทั่งคนจัดดอกไม้ในร้าน ถ้าไม่เก่งร้านก็ออกมาแย่อยู่ดี ถูกมั้ย สมมติเราคิดไว้แล้วว่าเราต้องการแบบธรรมชาติ ง่ายๆ แต่คนเลือกดอกไม้เลือกมาไม่สวย ร้านมันก็ไม่สวย ในที่สุดแล้วคือคนเก่งที่เราต้องการทำงานด้วย

ภาณุ อิงคะวัต

คุณดูยังไงว่าคนไหนเป็นคนเก่ง

ไม่รู้สิ สิ่งแรกที่ผมมักจะพยายามศึกษาดูคือเขามีคอมมอนเซนส์หรือเปล่า ถ้าเป็นคนเก่งแล้วลึกลับซับซ้อนผมไม่เข้าใจนะ คอมมอนเซนส์เป็นสิ่งที่เราจะเอาไปใช้พูดกับคนวงกว้างได้ง่ายที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ย่อมเข้าใจสิ่งที่เป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แล้วค่อยเติมไอเดียเติมอะไรเข้าไปในคอมมอนเซนส์นั้น อย่างแรกคือ คอมมอนเซนส์พูดกันง่ายๆ รู้เรื่องก่อน สองคือ เรื่องรสนิยม อันนี้เริ่มยากขึ้นแล้ว แต่บางคนแค่หยิบจับอะไรก็ไม่รู้ วาดสเกตช์อะไรก็ไม่รู้นิดหน่อย เขียนอะไรก็ไม่รู้คำสองคำ ก็รู้กันแล้วว่ารสนิยมใช่ ไม่ใช่ แล้วก็ค่อยๆ ทำด้วยกันเดี๋ยวก็เริ่มรู้แล้วว่ามันลงตัวหรือเปล่า

แต่ในการทำงานอย่าหลงทางกับสไตล์นะ อย่าหลงให้ style over power message ถ้าคุณเริ่มมาจากอีกทาง ทำจนไม่รู้ว่าคุณพูดอะไร สไตล์เยอะเกิน ก็อาจจะเฟลได้ ทุกอย่างมันต้องพอดี ต้องสมดุล

คนมักจะบอกว่าคนเก่งคุมยากจริงไหม

ไม่รู้ แต่สำหรับผม คนติสต์แดกคุมยาก มันไม่เหมือนกัน คนติสต์แดกเป็นคนอยู่กับโลกของตัวเอง ไม่เหมือนกับคนที่ครีเอทีฟและรู้จักที่มาที่ไปของความคิด ถกเถียงได้ ซึ่งแบบนี้สนุกที่จะทำงานด้วย เพราะผมต้องการไอเดีย ต้องการคนที่มาเสริม คนที่มาช่วยกันผลักดันไอเดียมากกว่าคนที่แบบผมเก่งส่วนตัว ผมโชคดีที่เจอคนดีๆ เก่งๆ เยอะ เจอคนที่ทำงานด้วยกันนานๆ เข้าขากันดี ที่ Greyhound มีดีไซเนอร์ที่อยู่ด้วยกันมาเป็นสิบๆ ปี อย่างรอง (จิตต์สิงห์ สมบุญ) อยู่จนรีไทร์กันไปเลย หรืออย่างวิ (วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์) ที่ทำงานข้างผมมาเกือบ 20 ปี หรือ ต่อสิทธิ์ สฤษฎิ์วงษ์ ก็เป็นเชฟใหญ่คู่ใจผมตั้งแต่วันแรกที่เราซ้อมทำอาหารเตรียมเปิดร้าน Greyhound Café เมื่อ 20 ปีที่แล้วเลยด้วยซ้ำ

ในฐานะผู้บริหาร คุณมีไบเบิลในการทำให้คนอยู่ด้วยกันนานๆ ไหม

ผมไม่รู้บริษัทของคุณเป็นยังไง แต่ไม่ว่าบริษัทหรือธุรกิจคุณจะเป็นอะไรก็ตาม คนเข้ามาในบริษัทมาทำงาน เขาก็อยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการที่เขาได้เข้ามาพัฒนาความเติบโตของบริษัทนั้นๆ ทุกคนอยากมีผลงาน ผมเชื่อ ไม่มีใครหรอกอยากมาทำงานแล้วไม่มีผลงาน แล้วเราอำนวยให้เขาได้เกิดผลงานนั้นหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณต้องหันกลับมาดูเองว่าเราจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าเขาเป็น part of that achievement เป็นหนึ่งในทีมที่รู้สึกที่ว่าเรามาด้วยกัน เราไปด้วยกัน หรือ เฮ้ย ถ้าเจ๊ง เราก็เจ๊งด้วยกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผมที่เป็นมาตลอดเลยนะ ตั้งแต่ตอนอยู่ลีโอ เบอร์เนทท์ จนมาอยู่ที่นี่ก็คือ ผมเอาตัวเลขทุกอย่างให้พนักงานดู เขาต้องรู้ ผมไม่ต้องการให้ดีไซเนอร์ผมนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง เป็นแบบพวกออกแบบสวยต่างๆ นานาแล้วก็จบไป แล้วเสื้อคุณขายดีหรือเปล่า ตัวไหนขายดี ขายไม่ดี เดือนนี้ยอดขายเท่าไหร่ แย่หรือดี คุณต้องรู้ คุณต้องเป็นส่วนหนึ่ง คุณจะมาบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ไม่ได้ เขาต้องรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างร่วมกัน ถ้าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนี้เขาต้องเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไปของบริษัทนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นเขาแค่ทำงานอยู่ในห้องแล้วก็กลับบ้านไป

คุณทำงานกับคนรุ่นใหม่เก่งๆ มาเยอะ อะไรคือสิ่งที่คุณมักจะบอกสอนพวกเขา

อย่าคาดหวังว่าคุณทำอะไรเพื่อความสำเร็จ เช่น ฉันเปิดร้านที่ลอนดอนแล้ว ฉันจะไปสู่ความสำเร็จขั้นสุดยอด อย่าไปคิดอย่างนั้น แต่จงทำ (เน้นเสียง) สนุกกับการทำดีกว่าไหม อย่างที่คนพูด จุดหมายปลายทางไม่ใช่ปัญหา journey คือความสนุกที่ไปสู่ destination เพราะฉะนั้น ปลายทางคุณจะเปิดร้านที่ลอนดอน หรือสมมติอีก 3 เดือนคุณไปเปิดร้านที่ปารีส มันก็แค่ต่อไปเรื่อยๆ คือตราบใดที่คุณยังทำงานอยู่ มันก็ยังไปได้เรื่อยๆ สำหรับผมทุกจ๊อบคือความสนุก ผมเรียนรู้สิ่งนี้มาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำและทำและทำอย่างไม่คิดว่าต้องมีจุดจบ และทุกโครงการของท่านคือความท้าทาย คือความทุ่มเทให้งานออกมาดีที่สุด ท่านคือ role model ที่ใหญ่ยิ่ง

แล้วในยุคนี้ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่คุณเริ่มทำงาน คุณปรับตัวยังไง

สมัยหนึ่งที่เฟซบุ๊กเอย อินเทอร์เน็ตเอย เริ่มมากขึ้น ไม่รู้ทำไมผมมีความรู้สึกว่า ในที่สุด ถ้าเราไล่ลงไปที่แก่นจริงๆ มันก็คือการสื่อสาร การพูดคุยกัน เพียงแต่มันเปลี่ยนรูปแบบของเทคโนโลยีไป วันนี้เป็นโทรศัพท์มือถือที่เราคุยกัน หรือเป็นคอมพิวเตอร์ ก็แค่มันเล่นอยู่กับกิเลสของคนตลอดเวลา เท่านั้นเอง

สำหรับผม เฟซบุ๊กคือการที่ทุกคนต้องการโชว์ ต้องการเล่า หรืออินสตาแกรม ผมเรียกมันว่าอินสตาฟอร์ม คือฉันต้องฟอร์ม ต้องแต่งรูปเต็มที่ถึงจะลง ฉันต้องการถูกมองเห็น ฉันต้องการได้รับการชมเชย โพสต์ไปในเฟซบุ๊กต้องเข้าไปดูทุก 5 นาทีเลยว่าคนมาไลก์เท่าไหร่แล้ว คนมาคอมเมนต์เท่าไหร่แล้ว คนแชร์เท่าไหร่แล้ว ทั้งหมดก็คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจับแกนของมันได้ ทุกอย่างมันก็เหมือนกัน ก็วนอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าถึงถูกที่สุดไง ท่านเข้าไปถึงแก่นที่สุดแล้วของคน เฟซบุ๊กอีก 5 ปีอาจจะกลายเป็น nothing ก็ได้ อาจจะเกิดรูปแบบใหม่ขึ้นมา แต่แก่นมันไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ไปติดกับมัน แค่ดูมันจากระยะไกล ทำความเข้าใจกับมันแล้วก็ปรับใช้กับความเป็นมนุษย์มนาของคน ยังไงผมว่าเราก็ตามทัน

มีอะไรที่คุณยึดเป็นหลักในการบริหารตั้งแต่วันแรกที่เป็นหัวหน้าจนถึงวันนี้บ้างไหม

ผมเป็นคนที่โตมาจากลีโอ เบอร์เนทท์ ผมอยู่ที่นั่นมา 25 ปี ตั้งแต่ต้นผมไม่รู้เรื่องเลยว่าโฆษณาคืออะไร พอผมเข้าไปที่นั่นก็ได้อ่านหนังสือของมิสเตอร์ลีโอ เบอร์เนทท์ ซึ่งเขาเป็น creative artist ที่ลึกซึ้ง ไม่ฉาบฉวย ซึ่งหนังสือเล่มนั้นมันบอกไปถึงความคิด การดีลกับคน ความเป็นมนุษย์มนาของคน หรือ human kind ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่เราจะรู้สึกเชื่อมโยงกับคน มันเป็นสัญชาตญาณ เป็นคอมมอนเซนส์ นี่เป็นสิ่งที่ผมยึดติดนะ การที่เราเหนือเมฆเกินไป หรือสูงเกินไป ไม่มีใครเข้าใจเราหรอก อาหารของ Greyhound Café ถึงออกมาง่ายๆ ไม่ลึกลับซับซ้อน ในร้านยังมีก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อตุ๋น ยังมีข้าวมันไก่ ยังมีน้ำพริกปลาทู หรือสปาเกตตี้ อะไรก็ง่ายๆ ผมว่าอะไรที่ง่ายๆ ที่จะสื่อสารกับคนหรือเชื่อมโยงกับคน human instinct เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผม

อีกเรื่องหนึ่งที่ได้มาจากการทำงานที่ลีโอ เบอร์เนทท์ คือคำกล่าวของลีโอ ผู้ก่อตั้งบริษัท “When you reach for the stars you may not quite get one, but you will not come up with a handful of mud either.” นั่นคือ เมื่อคุณตั้งเป้าที่จะเอื้อมมือขึ้นไปไขว่คว้าหาดวงดาว ถึงแม้คุณจะไม่ได้มันมาเลยสักดวง แต่อย่างน้อยมือคุณก็จะไม่เปื้อนโคลน ล้ำลึกมั้ยครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ตั้งเป้าไปให้สูง ไปให้ไกล เถอะครับ แล้วในที่สุดคนจะรู้ คนจะเห็น คนจะเข้าใจ ว่าเราทำไปเพื่ออะไร

ภาณุ อิงคะวัต ภาณุ อิงคะวัต

ที่ล็อบบี้ออฟฟิศคุณมีสติกเกอร์ที่มีข้อความ ‘We are born either a gifted or a learner but without passion, both cannot succeed in each of their fields.’ ติดไว้ ประโยคนี้สำคัญยังไง

คือแพสชันมันมาพร้อมกับเรื่องการเอื้อมไปหาดาว คือถ้าคุณไม่มีแพสชันคุณก็แค่เสร็จ แต่แค่เสร็จกับทำให้ดีที่สุดมันไม่เหมือนกัน หรือแค่ดีกับดีมากมันไม่เหมือนกัน ฝรั่งเขาถึงบอกว่า good กับ great มันไม่เหมือนกัน แค่ good มันไม่พอ ต้อง great แล้วสุดท้ายต่อให้คุณไม่เก่งที่จะไปถึง great แต่ถ้าคุณพยายามที่ผลักให้มันไปเกิน good มันย่อมกลายเป็นสิ่งที่ดีกว่าอยู่แล้ว

10 Questions Answered by President and CEO, Greyhound

1. เมนูอาหารที่ชอบที่สุด : ชอบอาหารพวกเมนูเส้น โดยเฉพาะเส้นบางๆ แบบเส้นหมี่ วุ้นเส้น สปาเกตตี้ หรือโซบะ แต่จะอร่อยจริงหรือเปล่าขึ้นอยู่กับเอาไปทำอะไร
2. สิ่งที่คุณกำลังอยากได้มากๆ ตอนนี้ : อยากได้สูตรก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสเด็ดครับ เพราะเป็นก๋วยเตี๋ยวรสชาติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครและกำลังสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวเรือ ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำใส
3. ปีใหม่ที่ผ่านมา คุณไปไหนมา : ไปบ้านเพื่อนที่ปากช่อง อากาศดีมาก เป็นบ้านส่วนตัวอยู่ในหุบเขาไร่องุ่น บ้านสวย บรรยากาศดี และที่สำคัญคือ ได้อยู่กับเพื่อนสบายๆ เราขนอาหารและเครื่องปรุงไปกันเพียบ ไปทำกันแบบจัดเต็ม แบ่งหน้าที่กัน คนนั้นทำอาหารเช้า คนนี้ทำกลางวัน อีกคนทำอาหารเย็น มันสนุกเพราะเราได้อยู่กับเพื่อนสนิทจริงๆ ได้นอนและได้เล่นทำกับข้าวกัน
4. คุณไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง : ตอน Greyhound รับรองชนะแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่ Greyhound คงเป็นตอน street food แถบถนนพระราม 4 ผมว่าผมไล่ทานมาตลอดทั้งเส้นทางแล้ว
5. คนรุ่นใหม่ที่คุณรู้สึกชื่นชมผลงาน : ผมชื่นชมคนหิว คนบ้า คนเก่ง ใครก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์เล็กหรือใหญ่ คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า
6. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : งานเก็บเมล็ดพันธุ์คืองานสุดท้ายในชีวิตผม โดย โจน จันใด นี่ก็คนบ้าอีกหนึ่งคนที่ผมทึ่ง
7. นอกจากออฟฟิศ สถานที่ที่คุณไปบ่อยที่สุดในกรุงเทพฯ : แถบตลาดคลองเตย เรื่องมีอยู่ว่า ทุกวันหลังเล่นยิมเสร็จประมาณ 4 ทุ่ม ผมจะขับรถกลับบ้านทางถนนพระราม 4 และจะผ่านตลาดคลองเตยประจำ แถบนี้มีอะไรซุกซ่อนอยู่เยอะมาก เช่น ตลาดที่เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งคุณจะได้ผักและผลไม้สดกว่าในราคาถูกกว่าตามซูเปอร์มาร์เก็ตเกินครึ่ง และมีร้านเลือดหมูใบตำลึง ร้านก๋วยเตี๋ยวที่เนื้อเหมือนเนื้อวากิวเลย รถเข็นวุ้นกะทิ แผงขายขนมถ้วย แผงข้าวเหนียวหน้าต่างๆ เช่น สังขยา ปลาป่น หน้ากระฉีก ที่อร่อยพอๆ กับร้านป้าเจือที่หัวหิน ในราคาถูกเกินความอร่อยมากๆ เพราะลูกค้าหลักเขาคือคนทำงานช่วงดึกแถวในตลาด
8. นอกจาก Greyhound สาขาลอนดอน สถานที่ที่คุณรู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดในลอนดอนตอนนี้คือ : ลอนดอนเคยเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ถนนต่างๆ เคยเต็มไปด้วยร้านค้าเล็กๆ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว แต่ globalization ทำให้ลอนดอนกลายเป็น another big city ไปมากขึ้นทุกที แต่วันนี้ก็ยังพอมีถนนช้อปปิ้งเล็กๆ เช่นแถบ Shoreditch และแถบ Borough Market ที่ยังเก็บความรู้สึกของ local street และตลาดอย่างที่ลอนดอนเคยเป็นได้อยู่
9. คุณเสียน้ำตาครั้งล่าสุดตอนไหน : ตอนที่เลี้ยงส่งพนักงานกลุ่มที่เกษียณและเกษียณก่อนกำหนด กลุ่มนี้มีหลายๆ คนที่เป็นพนักงานเก่าแก่ของ Greyhound หลายคนเป็นพนักงานมาตั้งแต่วันแรกจนกลายเป็นเพื่อนสนิท แต่ก็ต้องทำใจ ทุกสิ่งในโลกต้องหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
10. เรื่องล่าสุดที่ชีวิตได้เรียนรู้ : ชอบคำพูดนี้ของ Simon Sinek มากครับ เขาว่า “People don’t buy what you do. They buy what you believe.” มันทำให้เราต้องหันมาถามตัวเองบ่อยๆ ว่าเรากำลังถูกกระแสนำพาไป หรือให้เงินชักพาไป หรือเรากำลังทำในสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan