12 Questions Answered by President and CEO, Q House

  1. เรื่องใหม่ล่าสุดที่ได้เรียนรู้: ผมเพิ่งรู้เร็วๆ นี้ว่า การเล่นโกะหรือหมากล้อมในกระดานขนาด 19×19 มีวิธีการเล่น 2×10170 วิธีการเล่น อะตอมในจักรวาลยังมีแค่ 1082
  2. ทริปการเดินทางที่เป็นจุดเปลี่ยนของคุณเรื่องการขนส่งสาธารณะ: ทริปที่จดจำถึงทุกวันนี้คือ ทริปเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ที่ไปดูจุดเกิดเหตุรถบัสตกเหวที่ศาลปู่โทน ถนน 304 มีนักเรียนตาย 16 ศพ ทำให้เห็นว่าหน้าที่ของเรานั้นสำคัญ การคมนาคมที่ดีส่งผลต่อชีวิต มันไม่ใช่แค่เรื่องสะดวกแต่เป็นเรื่องชีวิตคนจำนวนมาก
  3. หนังสือเล่มล่าสุดที่คุณอ่าน: Machine, Platform, Crowd: Harnessing Our Digital Future ของ Andrew McAfee และ Erik Brynjolfsson เล่าถึง 3 สิ่งที่จะควบคุมโลกอนาคต ความสัมพันธ์ของ เครื่องจักรกลกับคน (Machine กับ Mind) ตัวกลางกับสินค้า (Platform กับ Product) และคนกลุ่มใหญ่กับองค์ความรู้ที่แท้จริง (Crowd กับ Core)
  4. ลำดับคณะที่คุณเลือกสมัยเอนทรานซ์: เลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นหลัก สมัยนั้นเป็นข้อกำหนดของสังคมเลยว่าเด็กเรียนเก่งไม่เป็นหมอก็ต้องเป็นวิศวกร เราก็ตกลงกับพี่ชายแล้วให้พี่ชายเสียสละเรียนหมอ สมัยนั้นไม่มีหรอกคำว่า passion
  5. นอกจากเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี คุณคิดว่ายัง …ที่สุดในปฐพี: เป็นห่วงลูกที่สุดในปฐพี (ตอบในทันที) แต่มันอาจจะไม่ดีนะที่เขาได้รับการดูแลมากเกินไป  
  6. รองเท้าวิ่งคู่โปรด: adidas Ultra Boost 11 ครึ่ง บอกเบอร์ไปเลย คนจะได้กลัวไม่กล้ามายุ่งกับผม
  7. Quote คำพูดดีๆ ที่หยิบมาใช้เสมอ: “I am the master of my fate, I am the captain of my soul.” เราเป็นเจ้านายในชะตาชีวิตเรา เราเป็นกัปตันของจิตวิญญาณเรา จากบทกลอน Invictus ของ William Ernest Henley ที่เนลสัน แมนเดลา ใช้เป็นแรงบันดาลใจ ตอนที่ติดคุกอยู่  27  ปี
  8. ชมรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย: ตอนนั้นเป็นเด็กบ้าเรียนนิดหน่อย ไม่ได้ทำชมรม แต่เป็นหัวหน้าชั้นปีไปออกค่ายยุววิศวกรบพิธ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. คุณจะรู้สึกกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้งเมื่อคุณ…: ฟังเพลงเก่าๆ นัดเจอเพื่อนสมัยเตรียมอุดมฯ พูดคุยเฮฮาและล้อชื่อพ่อแม่เหมือนสมัยวัยรุ่น
  10. ความสนใจของคุณตอนอายุ 25 35 และปัจจุบัน: 25 สนใจเรื่องเรียน 35 เรื่องงาน ปัจจุบันเรื่องลูก
  11. ชิ้นงานศิลปะที่ติดในห้องทำงาน: รูปผลงานศิลปะของเด็กพิเศษ ที่ประมูลมาจากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ (www.nakittikoon.org)
  12. คุณไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง: การคมนาคม และเรื่องประสาทหูเทียม
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ออกจะเชยไปสักนิด ที่เรายังคงเรียกเขาว่ารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ไม่ใช่เพราะยังหาใครมาท้ารับตำแหน่งนี้ต่อไม่ได้ แต่ภาพความแข็งแกร่งวันนั้นยังคงติดตาแม้จะผ่านไปนานหลายปี

การสาธยายผลงานที่ผ่านมา อาจจะทำให้พื้นที่คอลัมน์ กัปตันทีม ของเราสั่นคลอนได้ เราจึงขอชวนคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) แลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และการทำงาน ในบทบาทปัจจุบันมากกว่า

แม้บทสนทนาด้านล่างจะเต็มไปด้วยศัพท์แสงและทฤษฎีทางความคิดสายแข็ง แบบที่คุ้นตาในหนังสือพัฒนาตัวเองฉบับอ่านยาก แต่เมื่อปรากฏอยู่ในบทสนทนาระหว่างเราและคุณชัชชาติ ตัวอย่างที่น่าสนใจทำให้เรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวเรากว่าที่เคย

ไม่ต้องเสียเวลาคาดเดาหาเหตุผลสักนิดเดียวว่า

กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครยังคงแข็งแกร่ง (และเลอเลิศ) ที่สุดในปฐพี…

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ย้อนกลับไปสมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องที่คุณมักจะสอนนิสิตอยู่เสมอคืออะไร

ผมมักจะสอนนิสิตเรื่อง growth mindset ผมเชื่อในความขยันมากกว่าความฉลาด

ตามทฤษฎีแล้ว mindset ประกอบด้วย fixed mindset คือความเชื่อว่าคนเราเก่งมาแต่กำเนิด คนกลุ่มนี้มักเชื่อว่าความฉลาดเป็นเรื่องพรสวรรค์ ปรับปรุงไม่ได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเจอความรู้สึกว่าเขาไม่เก่ง เขาจะคิดว่าเป็นความล้มเหลว เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เขามีอยู่ พยายามแวดล้อมอยู่ในสังคมที่ไม่ติกัน เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียความมั่นใจ ในขณะที่ growth mindset จะไม่กลัวความผิดพลาด คนเหล่านี้จะยอมอยู่กับพื้นที่ที่พร้อมให้ความคิดเห็นเพราะเชื่อว่าทุกอย่างความสามารถปรับปรุงและพัฒนาได้

ที่ผ่านมา คุณเป็นตัวอย่างของคนที่ใช้การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำไมคุณถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

การสื่อสารช่วยให้คนรับรู้ตัวตนของเรา แต่มันก็คงไม่จำเป็นถ้าคุณเป็นใครสักคนที่ไม่ต้องมีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับใคร สองสิ่งที่สำคัญคู่กันคือ ตัวตนของคุณต้องมีคุณภาพ และรู้จักใช้วิธีสื่อสาร หากเป็นคนมีคุณภาพแต่สื่อสารไม่เป็น มันก็ไม่มีประโยชน์ต่อคนอื่น ขณะเดียวกัน หากสื่อสารเป็นแต่คุณภาพไม่ดี ก็เหมือนสื่อสารขยะออกไป เรื่องเหล่านี้มีผลต่อการรับรู้พอสมควรนะ ถ้าเขารู้สึกว่าเราเป็นคนมีความรู้น่าเชื่อถือ การสื่อสารก็จะทำได้ง่ายขึ้น ดีกว่าที่เราพูดออกไปก็ไม่มีใครฟัง ช่วยให้เราทำงานต่างๆ ได้เต็มที่ ทั้งเชิงนโยบาย การหาแนวร่วม และกลยุทธ์ต่างๆ

ต้องยอมรับว่าอารมณ์ขันอย่างเรื่องรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุด ทำให้คนเปิดใจและเข้าถึงคุณมากขึ้น และในบทบาทผู้บริหาร คุณมีวิธีสร้างอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร

อารมณ์ขันนี่สำคัญนะ สำคัญมากด้วย เพราะโดยปกติแล้วคนเรามี 2 โหมด ได้แก่ Defense Mode และ Discovery Mode ความเครียดจะทำให้เกิด Defense Mode หรือภาวะไม่เปิดรับ ทุกคนจะสร้างเกราะขึ้นมา ไม่แสดงความคิดเห็น ปกป้องตัวเองอยู่ตลอด ขณะเดียวกัน Discovery Mode คือสถานการณ์ที่ทุกคนเปิดกว้างในการประชุม และมุ่งไปที่จุดหมายเดียวกัน ซึ่งเกิดจากอารมณ์ขันหรือ sense of humor ในการทำงาน อารมณ์ขันที่ง่ายที่สุดคือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวนี่แหละ แต่ว่าเราก็คงไม่ต้องฝืนมันนะ

พอมีอารมณ์ขันนะ เวลาเราดุขึ้นมา ลูกน้องก็จะกลัวเรามากกว่าปกติอีก ดีกว่านั่งดุทุกวัน

ดังนั้น คนที่คุณอยากทำงานด้วยจะต้องมีลักษณะที่…

หัวใจสำคัญคือ ความไว้ใจ (Trust) แล้วความไว้ใจมาจากไหน ผมจะบอกเสมอว่ามาจาก 2 องค์ประกอบ หนึ่งคือ ความเก่ง (Competent) คุณต้องมีความรู้ในเรื่องของคุณ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์พิสูจน์ให้เห็น สองคือ ความเป็นตัวตน (Integrity) เช่น คนไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว สรุปสั้นๆ คือ เก่งและดี

ดังนั้น คนที่ไว้ใจได้คือคนที่เมื่อได้มอบหมายแล้วเรามั่นใจได้ว่าเขาจะเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้เราในกรอบเวลาที่กำหนด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คุณเคยบอกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือการสร้างอารมณ์ อะไรทำให้คุณคิดแบบนั้น

มีองค์ความรู้หนึ่งที่กำลังฮิตเลยนะ คือ Thinking Fast and Slow เป็นทฤษฎีหนึ่งของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สมองคนเรามี 2 ระบบ ระบบแรก คิดเร็วๆ ใช้อารมณ์และความรู้สึก คิดหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน เป็น multitasking ระบบที่สองคือ ระบบใช้เหตุผล เป็น single task ทำงานหนักๆ คิดโจทย์ยากๆ เวลาที่สมองเราเจอกับเรื่องยากและซับซ้อน ระบบการคิดในสมองบางครั้งจะถูกเปลี่ยนเป็นระบบแรกโดยอัตโนมัติ เพราะง่ายกว่า

ในการติดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์บางครั้งก็เป็นโจทย์ที่ยากเพราะต้องเปรียบเทียบรายละเอียดหลายอย่าง บางครั้งผู้บริโภคก็จะใช้อารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ที่เคยรับรู้มา ซึ่งเป็นความคิดระบบแรก ช่วยในการตัดสินใจ การได้เห็นบ้านตัวอย่างและบรรยากาศแวดล้อมที่น่าประทับใจ ช่วยทำให้เราตัดสินใจง่ายขึ้น แต่ในระยะยาวสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณภาพของสินค้าและการให้บริการ

แล้วกับโจทย์ยากๆ หรือเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เราควรจะเตรียมรับมืออย่างไร

เรื่องบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าต้องปล่อยตามยถากรรม หัวใจสำคัญที่สุดคือต้องยอมรับความจริง

ผมอ่านเจอในหนังสือเรื่อง Good to Great ของ James C. Collins ที่รวบรวมเรื่องราวของ 11 บริษัท กับการก้าวเท้าจากบริษัทธรรมดาสู่บริษัทที่ดีที่สุดในโลก หนึ่งในคนที่เขาสัมภาษณ์คืออดีตนักบินในสงครามเวียดนาม Admiral Jim Stockdale ที่ถูกจับขังในคุกฮานอยฮิลตันถึง 7 ปี แต่เขากลับเอาชีวิตรอดมาได้

Stockdale ตอบคำถามของผู้เขียนถึงสาเหตุที่ทำให้ทหารคนอื่นค่อยๆ ตายไปเนื่องจากไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายได้ ว่าเพราะคนพวกนั้นมองโลกในแง่ดีแบบปลอมๆ หวังว่าจะได้รับอิสรภาพในอีก 6 เดือน หวังว่าจะดีขึ้น ดีขึ้น โดยไม่เตรียมรับมือกับความผิดหวัง ใจก็ค่อยๆ ล้มเหลว แต่กับคนที่ยอมรับความจริง และเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงตลอดเวลา พวกนี้จะรอดเพราะมีการวางแผนการเตรียมตัว

กับชีวิตในการทำงาน หลักในการรับมือปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นั้น ขั้นแรกคือ ยอมรับความเป็นจริง ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นความจริงที่โหดร้ายในชีวิต หรือ brutal facts คาดการณ์ และเตรียมตัวกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มีศรัทธาต่อบางสิ่งแต่ไม่ใช่คาดหวังมองโลกในแง่ดีแบบปลอมๆ

ความตั้งใจของคุณในการช่วยสังคมแบบนักธุรกิจและนักการเมือง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

สำหรับตัวผม ผมคิดว่าไม่แตกต่างกันนะ ปรัชญาการทำงานของเรา เราอยากทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรา พนักงาน เจ้าหน้าที่ คนที่ใช้บริการมีชีวิตที่ดีขึ้นทุกคนมีค่าความสำคัญเหมือนกัน ดังนั้นในคอนเซปต์นี้ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทภาครัฐหรือเอกชน สำหรับเราก็คือกรอบความคิดเดียวกัน เราอยากเห็นคนเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น กลับถึงบ้านอยู่กับลูกและครอบครัวเร็วขึ้น หรืออยากเห็นลูกบ้านเราได้รับการแก้ปัญหา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้นการทำงานไม่แตกต่างกัน ลงไปดูไซต์ ลงพื้นที่ดูแลคนเหมือนกัน ถามว่าแล้วสิ่งนี้ช่วยสังคมยังไง เมื่อชีวิตเขาดีขึ้น สังคมเราก็ดีขึ้นด้วย

แล้วสิ่งที่แตกต่าง?

หัวใจที่ทำให้แตกต่างกันคือเรื่องความไว้ใจ การทำงานในภาครัฐไม่ค่อยมีความไว้ใจกัน ถูกตั้งธงในใจว่าโกงไว้ก่อน ในขณะที่ภาคเอกชนจะเชื่อใจและให้เกียรติในฐานะคนทำงานมากกว่า แต่ประสบการณ์จากการทำงานในภาครัฐก็ทำให้เห็นมุมมองของการตรวจสอบที่เข้มข้นกว่า ที่สำคัญ ความไว้ใจนั้นมีราคา หากมีน้อยเกินไปก็จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการตรวจสอบที่ใช้เวลาและค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันหากมีมากเกินไปก็อาจเป็นช่องทางให้เกิดทุจริต วิธีการที่เหมาะสมคือหาสมดุลและนำวัฒนธรรมองค์กรเหล่านั้นมาปรับใช้บ้าง

ตอนเรียนจบใหม่ เราเคยมีความเชื่อว่าถ้าอยากช่วยชาติให้ทำงานในหน่วยงานของรัฐ

ใครบอกเหรอครับ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คิดเองเลยค่ะ ตอนนั้นยังเด็กอยู่มาก แต่สุดท้ายก็พบว่าคาแรกเตอร์และตัวตนเราเหมาะที่เรียนรู้งานในหน่วยงานเอกชนมากกว่า คุณมีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

จริงๆ ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในภาคส่วนไหนนะ มันก็ช่วยชาติได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรานิยามคำว่าชาติว่าคนในชาติ

ถ้าดูจาก GDP ของประเทศ รายได้ 80% และการจ้างงานที่เกิดขึ้นมาจากภาคเอกชน ภาครัฐเป็นเหมือนหน่วยกำกับดูแลมากกว่า ถ้าดูตัวอย่างต่างประเทศเราก็จะเห็นว่าบทบาทของเอกชนนั้นแข็งแรงกว่า ซึ่งคงต้องถามที่ตัวเรา ว่าใจเราอยากทำอะไร อยากเห็นเพื่อนร่วมงาน อยากเห็นผู้คนที่รักมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เอาเปรียบคน ผมคิดว่าอยู่ตรงไหนก็ช่วยได้ทั้งนั้น

หลายครั้งที่โครงการดีๆ เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนร่วมชี้ให้เห็นว่าสิ่งไหนคือปัญหา หัวใจสำคัญคือต้องชัดเจนว่าคุณไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สุดท้ายภาครัฐก็จะฟังเรา ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้จะแข็งแรงกว่าการทำในภาครัฐ เพราะคุณไม่ต้องทำตามกรอบ คุณทำในสิ่งที่สะท้อนความต้องการส่วนรวม และในอนาคตเราจะเห็นการรวมตัวแบบนี้มากขึ้นและเข้มแข็งกว่า ขณะที่ภาครัฐจะขยับอะไรทียากไปหมด ทำได้แค่ไปขันน็อต

เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่เก่งๆ ให้เข้ามาทำงาน ภาครัฐเองก็คงต้องเปลี่ยนใช่ไหม

ที่ผ่านมาเป็นระบบจ้างจนเกษียณ อันนี้อันตรายนะ ทำให้คนที่ทำงานไม่รู้สึกจูงใจให้เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี sense of urgency รับรู้ว่ากำลังเดือดร้อนและต้องเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่ลีกวนยูทำในลำดับต้นๆ ของการเปลี่ยนประเทศสิงคโปร์ คือเริ่มจากปรับระบบราชการก่อน และเปลี่ยนให้เป็นระบบที่มีการประเมินอย่างเข้มข้น ไม่จ้างจนเกษียณ

ถ้ามีโจทย์ให้คิดทำโปรเจกต์อะไรก็ได้ที่ไม่มีตัวเลขมากำหนด โปรเจกต์ของคุณจะออกมาเป็นยังไง

เราอยากทำแหล่งความรู้ให้กับคนที่ไม่มีโอกาส เพราะปัจจุบัน คนที่มีโอกาสเขามีวิธีหาความรู้มากมายเต็มไปหมด เรียนตามที่สนใจ มี Co-working space รองรับ แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ไม่มีโอกาสไปถึงตรงนั้น และแม้จุดมุ่งหมายไม่ใช่ผลกำไร แต่การจะทำอะไรก็ตามต้องมีตัวชี้วัดเป็นเหมือนเข็มทิศ ซึ่งเราคิดถึงการเลื่อนเปลี่ยนขั้นในสังคม (social mobility) หรือการขยับฐานะให้ดีกว่าพ่อแม่ ลดความเหลื่อมล้ำให้สังคมพัฒนาไปด้วยกัน ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อะไรคือความรู้ที่เขาควรจะรู้

นอกจาก hardware ก็ต้องมีคนที่พอมีประสบการณ์ในสาขาต่างๆ กันมาเป็น mentor แนะนำช่วยให้เขามีความรู้ในหลากหลายมิติมากขึ้น หัวใจคือต้องมีคนที่ต่างประสบการณ์มาร่วมด้วยช่วยกัน มันถึงจะเกิด การเชื่อมโยง (connect the dots) เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซปต์ Co-working space ที่นำคนต่างความเชี่ยวชาญมาอยู่ด้วยกันแลกเปลี่ยนความคิดกัน

มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นสังคมไทยดีขึ้น ผมคิดว่ามันก็ต้องเริ่มจากการให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง ว่าปัจจุบันสังคมเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างไร แล้วเรามีทางแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง ถ้ามีแพลตฟอร์มให้คนได้ทำ ผมก็คิดว่าจะมีคนมาร่วมช่วยกันเยอะมากนะ

การวิ่งที่สวนลุมฯ ทุกวันทำให้คุณเข้าใจประชาชนมากขึ้นใช่ไหม

ก็มีส่วนครับ เพราะทำให้เราเจอเพื่อนเยอะ คนหลากลายอาชีพมากเลยนะ ตั้งแต่เจ้าของโรงงานไปจนถึงแม่บ้าน รปภ. เป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้นเลย ทุกคนแต่งชุดเหมือนกัน เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น ไม่มีใครรู้ว่าใครมีฐานะเป็นอย่างไร ทำให้เราได้ฟังเรื่องราวมุมต่างๆ

ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงาน ?

หัวใจของความคิดสร้างสรรค์ คือเรื่อง Cross-discipline หรือการมองข้ามศาสตร์สาขา ไม่ใช่รู้เรื่องอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว ดังนั้นการเจอผู้คนหลากหลายสาขาจุดประกายเรา แล้วถ้าถามว่าแล้วการวิ่งช่วยในเรื่องการทำงานไหม สำหรับผม การวิ่งไม่ได้ช่วยในการทำงาน แต่การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นการทำสมาธิ เตรียมตัวว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง เป็นช่วงเวลาที่เราจะอยู่กับตัวเอง 1 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีโทรศัพท์หรือสิ่งรบกวน และการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่สมองใช้ระบบอัตโนมัติ ทำให้เราสามารถใช้เวลาคิดเรื่องอื่นได้ ในหลายครั้ง การแก้ปัญหาที่ดีๆ ก็มาจากช่วงการวิ่งนี่แหละ

บนเวทีเสวนา คุณมักพูดความสำคัญของเรื่อง Creative Disruption หรือเรื่องคลื่นลูกใหม่ที่มาไล่คลื่นลูกเก่าที่มีต่อการพัฒนาสังคม และคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราจะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

ถ้าไม่มีการทำลายล้างที่สร้างสรรค์ สังคมก็ไม่เกิดการพัฒนา จริงๆ เรื่องนี้เกิดมาเป็น 100 ปีแล้ว เราเปลี่ยนสังคมจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม เครื่องจักรไอน้ำเป็นไฟฟ้า เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เปลี่ยนไปคือระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงนั้นค่อยๆ สั้นลง เราเห็นสิ่งที่เจ๊งคาตาพวกเราเยอะมาก ส่วนหนึ่งเป็นพลังของเทคโนโลยี

คำถามที่ทุกคนควรต้องถามตัวเองคือ เรายังมีความสำคัญ (relevant) อยู่มั้ย ความรู้ที่เรามีในปัจจุบันเกี่ยวเนื่องกับสังคมกับเทคโนโลยีมั้ย ถ้าไม่มีเราต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้เกี่ยวข้องกับโลกอยู่ แต่ก่อนเราเชื่อว่าความรู้เป็น storage of knowledge เราเรียนปริญญาตรี 4 ปีเพื่อใช้ทำงานจนเกษียณได้ ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว มันเป็น flow of knowledge เพราะความรู้นั้นไหลบ่าอยู่ตลอด อะไรที่เคยเก็บไว้ในหัวนั้นไม่มีความหมาย นี่คือกระแสของ Creative Disruption อย่างน้อยเราต้องช่วยตัวเองก่อน ถ้าเราช่วยตัวเองได้ มีความรู้ที่มีความหมายกับสังคมแค่นี้ก็สามารถช่วยเหลือสังคมและส่วนรวมได้

มุมมองและแนวคิดอันแข็งแกร่งหลังโต๊ะทำงานของ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เคยได้ยินว่าคุณอยากทำ startup เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าทำจริงๆ จะออกมาเป็น startup ที่แก้ปัญหาเรื่องอะไร

ข้อมูลในอสังหาริมทรัพย์มีเยอะมาก ถ้ามีแพลตฟอร์มที่สามารถรวบรวมข้อมูลครบถ้วน พร้อมมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็จะช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น

แต่จากประสบการณ์และอายุงานแล้ว คุณยัง startup ไหว

ผมคงทำในแง่ของความรู้และประสบการณ์ที่มีมากกว่า ส่วนรายละเอียดเราละเอียดด้านเทคนิคเรื่องโปรแกรมคงต้องพึ่งเด็กรุ่นใหม่ สำคัญที่สุด คือ อย่าคิดว่าสตาร์ทอัพจะต้องเป็นเรื่องของเด็กรุ่นใหม่ทำอย่างเดียวนะ จริงๆ หัวใจของคนที่ทำสตาร์ทอัพคือ การมี Cross-discipline มีความรู้หลายๆ ด้าน จึงเป็นข้อได้เปรียบของคนที่มีประสบการณ์ ดังนั้นการมี mentor ที่ดีในสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จึงสำคัญเพราะจะช่วยมองภาพรวมและมิติที่อยู่ในหลากหลายสาขา

แล้วถ้าต้องขึ้นเวทีประกวด pitching แข่งกับเด็กรุ่นใหม่ คิดว่าจะชนะไหม

น่าจะพอไหว ผมว่าชนะหรือไม่ชนะไม่ได้อยู่ที่อายุนะ ขึ้นกับเนื้อหาและไอเดีย

จากชื่อเล่นของคุณว่า Trip อยากให้เล่าถึงการเดินทาง 3 ทริปที่เปลี่ยนชีวิตคุณ

ทริปแรก ไปเรียนต่อที่ MIT สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2530 เป็นทริปที่เปิดโลกการเรียนรู้

ทริปที่สองคือ การเดินทางจากบ้านไปโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อฟังคำวินิจฉัยว่าลูกเราหูหนวก เป็นทริปที่บอกเราว่า ความไม่แน่นอนอาจจะมาหาเราไม่อย่างทันตั้งตัว

ทริปสุดท้ายคือ เดินทางพาลูกชายไปรักษาที่ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2545 เป็นทริปที่หล่อหลอมตัวตนของเราจริงๆ

มุมมองและแนวคิดอันแข็งแกร่งหลังโต๊ะทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
มุมมองและแนวคิดอันแข็งแกร่งหลังโต๊ะทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

คุณเคยบอกว่า leadership ในความหมายของคุณ ไม่ใช่การเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆ แต่คือการเป็นผู้นำชีวิตให้กับลูกชาย

Leadership เป็น life story เราไปเรียน leadership จากหลักสูตรไหนๆ ไม่ได้หรอกมันเป็นเรื่องชีวิตที่ตกผลึกของเรา และไม่ใช่เรื่องที่จะแกล้งทำกันได้เพราะสุดท้ายแล้วมันคือตัวตนคนนั้นจริงๆ

บทบาทการเป็นรัฐมนตรีที่ผ่านมา หรือเป็นผู้บริหาร Q House ทั้งหมดนี้เป็นผลจาก life story ช่วงต้นของเรามากกว่า ช่วงที่เราบ่มเพาะและฝ่าฟันอุปสรรค ตัวอย่างหนึ่งของ life story คือเรื่องราวของเนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีประเทศแอฟริกาใต้ ความเป็นผู้นำของเขาไม่ได้เกิดขึ้นตอนเขาเป็นประธานาธิบดีหรือตอนได้รับรางวัลโนเบล แต่เป็นช่วงที่เขาติดคุกอยู่ 27 ปีที่เขาดำรงความเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ช่วงตอนที่พาลูกไปผ่าตัด ชีวิตเราต้องรวบรวมกำลังใจ พยายามหาความรู้ ฝ่าฟันอุปสรรค หล่อหลอมตัวตนของเรา โดยเชื่อว่าถ้าเราทำให้ลูกหายได้ ฟังได้ พูดได้ ไม่ว่าอะไรเราก็จะทำได้ ในบทบาททั้งนักการเมืองและผู้บริหารจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ leadership จึงไม่ใช่เรื่องโดยตำแหน่ง แต่มันคือการดำเนินชีวิตของเรา

คุณอยากให้ลูกชายจดจำคุณในแบบไหน

เรื่องนี้ผมก็ยังไม่เคยคิดเหมือนกันนะ (นิ่งคิดสักพัก) หลายวันก่อนมีคนรู้จักเสียชีวิต เขาก็ตกใจรีบส่งข้อความหาเราว่า ‘พ่ออย่าเพิ่งตายนะ’ เราก็รีบออกไปออกกำลังกายเลย

อยากให้เขาจดจำว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีกับเขา เป็นเพื่อนที่เข้าใจเขา

แล้วเราจะมีโอกาสเห็นคุณในฐานะผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครบ้างไหม

ตอนนี้ไม่คิด ขอทำงานรับผิดชอบหน้าที่นี้ให้เต็มที่ ผมเชื่อว่ายังมีคนเก่งๆ อีกเยอะ

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan