The Cloud x Central Tham

เราเดินทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์ตามคำชวนของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) โครงการภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อสังเกตการณ์ว่ากลุ่มคนตั้งใจดีลงพื้นที่จริงเพื่อช่วยชุมชนพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงได้อย่างไร

เรากลับมาพร้อมคำตอบ 2 เรื่องใหญ่ ทั้งเรื่องการผลักดันให้จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองอาหารปลอดภัย เริ่มกันตั้งแต่ปลูกผักอินทรีย์ จากเดิมเกษตรกรปลูกตามใจฉัน ท็อปส์ (Tops) เลยแนะให้ปลูกตามความต้องการของตลาด ผักเมืองหนาวบางชนิดต้องนำเข้า ปัจจุบันภูทับเบิกปลูกแล้วได้ผลผลิตดีเยี่ยมเหมือนกัน เพราะอากาศเย็นฉ่ำ แถมยังมีสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิกเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย 

ส่วนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพเป็นเรื่องที่ เซ็นทรัล ทำ เห็นความสำคัญ เลยยกพลนั่งรถกระบะบนเส้นทางดินแดงเข้าไปยังหมู่บ้านกลางหุบเขาที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึง 22 ปี เพื่อมอบแสงสว่างผ่านพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชน

สนับสนุนเพชรบูรณ์เป็นเมืองแห่งอาหารปลอดภัย

เราเดินทางจากกรุงเทพฯ ปักหมุดหมายที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากรอยยิ้มของผู้คน สถานที่แห่งนี้ต้อนรับเราด้วยอากาศเย็นสบาย ลมหนาวลู่ปะทะผิว มองไปทางไหนก็เห็นทิวไร่กะหล่ำปลีหัวเบ้อเริ่มเป็นแนวขั้นบันได

กลุ่มเซ็นทรัล ทำ ชวนเรากระโดดขึ้นท้ายกระบะไปบ้านเกษตรกรสาวที่เปลี่ยนจากการทำเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์

อ้อ! ขอเล่าก่อนสักนิด เซ็นทรัล ทำ จัดตั้งโครงการเพชรบูรณ์ เมืองแห่งอาหารปลอดภัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชวนเกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการสนับสนุนโรงเรือนจำนวน 9 หลัง สนับสนุนต้นกล้าอโวคาโดจำนวน 300 ต้น และมีสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับท็อปส์ (Tops) เพื่อรับซื้อผลผลิตผักปลอดภัยจากสมาชิกและช่วยกระจายผักปลอดภัยให้ถึงมือผู้บริโภค

จันทิมา ซ่งศิริกุลไพริน
จันทิมา ซ่งศิริกุลไพริน

รถกระบะผ่านทางดินแดงคดเคี้ยวจนส่งเราถึงหน้าแปลงผักของ จันทิมา ซ่งศิริกุลไพริน จากครอบครัวเกษตรกรที่ปลูกผักกะหล่ำด้วยสารเคมี เธอเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

“สามีเราไปเห็นคนที่เขาเล็บมือกับเล็บเท้าหลุด เพราะว่าใช้ยาฆ่าแมลงในแปลงถั่ว เขากลัวมาก เลยกลับมาบอกเรา ทำให้นึกถึงตัวเองตอนใช้สารเคมีกับแปลงกะหล่ำ ตอนนั้นมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ แล้วเราเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วด้วย

“นั่นเป็นจุดเปลี่ยนของเรา เราหันมาทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 54 และเข้าร่วมกับสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ปี 59 พอเข้าร่วมกับสหกรณ์ เราปลูกผักหลายชนิดขึ้น ทั้งผักสลัด หัวไชเท้า แครอท ถั่ว ยอดฟักแม้ว ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย” เธอเล่า

มีหนึ่งคำถามที่เราสงสัย “การเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ความยากอยู่ตรงไหน”

“ความคิด” เกษตรกรสาวตอบทันที ก่อนจะเสริมต่อว่า

“ถ้ามีความคิดตั้งใจจริงอยากทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ยากเลย 

“สำคัญต้องใจรักและซื่อสัตย์ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ ปากบอกว่าอินทรีย์แค่ไหน ผลผลิตเราก็ไม่อินทรีย์

“ตอนนี้เราได้ใบรับรองเพื่อการันตีว่าผักไม่มีสารเคมี เราภูมิใจในตัวเองที่ทุกคนได้กินผักปลอดภัยที่เราปลูก”

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

จันทิมาบอกว่าเธอใช้ปุ๋ยคอกขี้ไก่หมักเองในการบำรุงผลผลิต หากต้องหาซื้อ เธอจะซื้อจากแหล่งผลิตที่รู้ที่มาและตรวจสอบได้เท่านั้น ส่วนอีกวิธีที่เธอแนะเรา น่าสนใจมาก เธอใช้สมุนไพรกลิ่นแรงในการไล่แมลง ไม่ได้ฆ่านะ แค่ไล่แมลงให้ไกลจากแปลงผักเท่านั้น สมุนไพรมีทั้งสะเดา บอระเพ็ด สาบเสือ ตะไคร้ ข่า กระเทียมก็เคยใช้ เธอเอาไปตำสดพอละเอียด ละลายกับน้ำสะอาดและต้มน้ำอุ่นทิ้งไว้ 1 คืน เช้ามาบรรจุใส่บัวรดน้ำหรือถังฉีดพ่น เพียงเท่านี้ก็พร้อมใช้งาน

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ระหว่างเข้าร่วมกับสหกรณ์ สมาชิกจะถูกส่งไปอบรมและดูงาน ส่วนทาง สวทช. ก็เข้ามาช่วยให้ความรู้เรื่องแมลง สารชีวภาพ องค์ความรู้ตั้งแต่การปลูก ดูแลรักษา ตัดแต่งกิ่ง การบริหารจัดการแปลงผักและการเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง

สวทช. ชวนเกษตรกร 6 คน ของสมาชิกสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก เก็บเมล็ดพันธุ์เองและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม เป็นหมวดผักสลัด เพราะตรงตามความต้องการของผู้บริโภค คัดมาแล้ว 6 ชนิด ทั้งผักแก้ว บัตเตอร์เฮด คอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และเรดคอรัล

ข้อดีของการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง นอกจากจะได้สเปกผักตามตลาดกำหนด ยังป้องกันพันธุ์พืชปนกันด้วย

ยิ่งเป็นสถานที่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ยิ่งเหมาะมากในการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

เมื่อผักสดและปลอดภัยจากสมาชิก 102 คน เดินทางมาถึงสหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก จะต้องผ่านจุดรับสินค้า และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการสอนอย่างดีจากกระทรวงสาธารณสุขคอยตรวจหาสารพิษในผัก เริ่มจากการหั่นตัวอย่างผักใส่หลอดทดลอง แล้วใส่น้ำยาสกัด เขย่าสัก 10 วินาที แล้วเทใส่หลอดทดลองหลอดใหม่ นำไปจุ่มในน้ำอุ่นจนระเหยแล้วใส่น้ำยาทดสอบชุดที่ 2 เขย่าจนสารละลายในหลอดระเหยหมด จากนั้นเทลงในหลอดควบคุม รอสักนิดสีจะเปลี่ยน ถ้าเป็นสีชมพูแสดงว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นสีส้มแสดงว่ามีสารเคมีเจือปน สหกรณ์จะส่งผักคืนเจ้าของทันที

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

หลังจากมะเขือเทศราชินี ดอกหอม ต้นหอมญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น และผองเพื่อนผักปลอดภัยผ่านด่านตรวจสารเรียบร้อย จะถูกทำความสะอาดจนเอี่ยมอ่อง คัดขนาดและน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐาน จากนั้นบรรจุหีบห่อสวยงาม พักสินค้าพร้อมเข้าห้องเย็นก่อนรอจำหน่ายให้กับทางท็อปส์ (Tops) โดยการจัดตั้งโครงการเพชรบูรณ์ เมืองแห่งอาหารปลอดภัย รับซื้อผักอินทรีย์จากเกษตรกรไปแล้วกว่า 29,944,024 บาท ทำให้ชุมชนมีรายได้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

“เราอยากสอนให้เขาจับปลา เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสำคัญเลยคือเขาต้องสอนคนอื่นต่อได้” คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) บอกจุดประสงค์ของการมาเยือนเพชรบูรณ์

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้หมู่บ้านกลางหุบเขาที่ไร้แสงสว่างนาน 22 ปี

“เราอยู่ในความมืดมานาน จะมีก็แต่แสงเทียนเท่านั้น…”  

มี ใจแอ้ม ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านนาสะอุ้ง บอกเล่าความมืดมิดตลอด 22 ปี ผ่านน้ำเสียงและแววตา

มี ใจแอ้ม ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านนาสะอุ้ง

เราเดินทางเข้าไปยังชุมชนบ้านนาสะอุ้ง ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า ด้วยรถยนต์สุดสมบุกสมบัน ข้ามภูเขาหลายลูกจนนับไม่ถ้วน ดินแดงเสียดสีกับล้อยางจนฝุ่นตลบ ระยะทางร่วม 11 กิโลเมตร จากภูทับเบิก ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง ช่างนานในความคิด แต่หากคิดย้อนไปถึงคนในหมู่บ้านที่เรากำลังเข้าไปเยือน คิดไม่ตกว่าพวกเขาจะลำบากขนาดไหน

รถขยับซ้ายที ขยับขวาที จนถึงจุดหมาย ชุมชนบ้านนาสะอุ้งเป็นหมู่บ้านเล็กกลางหุบเขา มีครอบครัวอาศัยอยู่ประมาณ 77 ครัวเรือน ขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งน้ำประปาและระบบไฟฟ้า คนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งปลูกข้าวและปลูกข้าวโพด ส่วนพืชหมุนเวียนทำได้ไม่ดีนัก เพราะแหล่งน้ำอยู่ด้านล่าง ทว่าพื้นที่ทำการเกษตรต้องเดินขึ้นเนินไปบนภูเขา เส้นทางการคมนาคมยังเดินทางไม่สะดวก ยิ่งเวลามีคนเจ็บไข้ได้ป่วยจะลำบากมาก เพราะต้องทำแคร่หามคนเจ็บเดินลงภูเขาไปยังสถานรักษาพยาบาล นับรวมไปถึงเด็กวัยเรียนที่ต้องเดินเท้าไปโรงเรียนกว่า 3 กิโลเมตร

“เราเข้ามาพื้นที่ตรงนี้ตอนปี 2538 เริ่มจากศูนย์เลยครับ ตอนนั้นเป็นป่า เราพึ่งพากันเองมาตลอด ไม่มีไฟฟ้าใช้ อยู่กันแบบมืดมิด ยิ่งช่วงกลางคืน คนในหมู่บ้านไม่กล้าเดินไปไหนเลยเพราะกลัว เด็กก็ทำการบ้านกันลำบากมาก

“ผมคิดว่าไฟฟ้าเป็นสิ่งแรกที่หมู่บ้านควรมี” ผู้ใหญ่บ้านบอกกับเราด้วยความห่วงทุกข์สุขของพี่น้องในหมู่บ้าน

เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
เกษตรกรคนแรกของ สหกรณ์ผักปลอดภัยภูทับเบิก ที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

แม้ชุมชนจะอยู่ห่างไกลจนไร้คนรู้จัก แต่กลุ่ม เซ็นทรัล ทำ กลับมองเห็น และเดินหน้าอย่างตั้งใจเพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภค ด้วยการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ให้กับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มแสงสว่างอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และเพิ่มความปลอดภัยยามค่ำคืน ตลอดจนทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น

“ช่วงสองสามเดือนแรก พี่น้องตื่นเต้นกันมาก เขาดีใจมากครับ ตอนเช้าเปิดไฟทำอาหาร ตอนเย็นเดินไปมาหาสู่กัน เด็กๆ มีไฟทำการบ้าน อ่านหนังสือ ความเป็นอยู่ของพี่น้องดีขึ้นตามลำดับ ตัวผมก็ดีใจเพราะอยู่ในความมืดมานาน”

การเลือกใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) นับเป็นพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม เซ็นทรัล ทำ ไม่เพียงมองเห็นปัจจัยพื้นฐานของชุมชน แต่ยังร่วมกับโครงการ GEPP ของโคคา-โคล่า สอนชาวบ้านแยกขยะด้วยนะ เห็นแล้วก็ชื่นใจ ทุกบ้านมีถังแยกขยะและป้ายบอกประเภท นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายความยั่งยืนเรื่อง Planet หรือคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

‘เซ็นทรัล ทำ’ (Central Tham) คือโครงการที่ทุกคนในองค์กรเซ็นทรัลร่วมมือกันทำ ภายใต้แนวคิด CSV (Creating Shared Values) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน 

โดยจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับกรอบแนวคิดความยั่งยืนขององค์กร (Sustainable Framework) ใน 4 ด้าน คือ 

People (การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน) Prosperity (การสร้างรายได้ให้ชุมชนในเรื่องการพัฒนาสินค้าชุมชน) Planet (คุณภาพสิ่งแวดล้อม) และ Peace and Partnership (ความสงบสุข ศิลปวัฒนธรรม และความร่วมมือ) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ