ณ ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ที่เป็นแบบอย่างของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ทุกกระบวนการเกิดขึ้นที่นี่ และยังเป็นชุมชนที่ยกระดับตัวเองจากชุมชนตกสำรวจ ดินไม่ดี มีสารเคมีจากยาฆ่าแมลง รายได้จากผลผลิตไม่เป็นธรรม สู่การจัดตั้ง ‘สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด’ ยึดหลักการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน

การทำเกษตรอินทรีย์จากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 30 ปี มีปัญหายิบย่อยระหว่างทางบ้าง จนกระทั่งในตอนนี้ มีผู้ที่เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุน ส่งเสริมให้การเกษตรอินทรีย์ที่แม่ทาเป็นไปด้วยความราบรื่นและขยายวงกว้างมากขึ้น นั่นคือ ‘เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)’ โครงการเพื่อสังคมภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล

เซ็นทรัล ทำ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขไม่ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง หรือวิธีใดวิธีหนึ่ง การแก้ให้เกิดมวลสั่นสะเทือนต้องแก้ที่ตัวแปรสำคัญอย่างระบบเศรษฐกิจและการเมือง

ถึงอย่างนั้น การลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย 

เซ็นทรัล ทำ จึงส่งเสริมให้ทุกคนลงมือทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham
โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

สิ่งนี้เองคือความตั้งใจที่ ‘เซ็นทรัล’ กำลัง ‘ทำ’

ภายใต้ 6 แนวทางการขับเคลื่อน ได้แก่ แนวทางแรก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส อย่างเท่าเทียม แนวทางที่สอง ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย แนวทางที่สาม พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ในส่วนของแนวทางที่ 4 5 6 เป็นเรื่องทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร รวมถึงฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน

ครั้งนี้ที่แม่ทา เซ็นทรัล ทำ กำลังช่วยสนับสนุนศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยวชุมชน (พื้นที่ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน) การทำการเพาะเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ (ศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์อินทรีย์กรีนเนท) และการส่งเสริมด้านการตลาด (สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาจำกัด) การพัฒนากระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ การสนับสนุนโรงบรรจุผักและรถห้องเย็นขนผัก เพื่อควบคุมอุณหภูมิในการขนส่งผลิตผล

พื้นที่ข่วงชีวิต วิถียั่งยืน

“หัวใจสำคัญคือ ต้องเรียนรู้ก่อนว่าพื้นที่ของคุณเป็นยังไง”

ก้าวแรกก่อนลงมือทำ คือการศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ต้องการจะทำก่อน การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนจึงเกิดขึ้น เพื่อให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มตั้งแต่ศูนย์ว่าพื้นที่แบบนี้ต้องปลูกอะไรแบบไหน การเพาะเมล็ดอินทรีย์ต้องทำยังไง ไปจนถึงเรื่องที่ว่า ถ้าได้ผลผลิตมาแล้วจะขายที่ไหน ขายให้ใคร ซึ่ง อั๋น-อภิศักดิ์ กำเพ็ญ ผู้ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กรีนเนท ตัดสินใจไม่สอนเรื่องนี้ในรูปแบบคอร์สเรียนระยะสั้น เพราะเขามองว่า

“สมมติถ้าจะสอนทุกเรื่องภายใน 3 วันจบ มันก็จะได้แค่ Input เข้าไป เดี๋ยวกลับบ้านก็ลืม มันต้องมีการฝึก การเรียนรู้ และค่อย ๆ ซึมซับรายละเอียดจากการลงมือทำ เลยทำเป็นการเรียนรู้แบบระยะยาวครับ”

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

การเรียนรู้ระยะยาวในแบบที่อั๋นว่า คือการเรียนรู้ที่ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ทุกคนแค่มาเจอกันแล้วใครอยากรู้เรื่องอะไรก็ลงพื้นที่ไปทำสิ่งนั้นจริง ๆ ไม่ใช่การเรียนรู้ในรูปแบบให้สาร รับสาร กลับบ้าน

อย่างเช่นเรื่องการจัดการดิน ผู้เรียนก็ต้องลองไปเดินสำรวจดิน หยิบดินขึ้นมาดูว่าเป็นยังไง แล้วลองมาวิเคราะห์องค์ประกอบของดินว่ามีอะไรบ้าง การจะทำให้ดินดีขึ้นมาต้องเริ่มมาจากอะไร สอนในทฤษฎีเบื้องต้นและให้ชาวบ้านกลับไปทำกับพื้นที่ของตัวเอง หากมีปัญหาอะไรก็มาคุยกันได้ตลอด

“นิยามความยั่งยืน คือการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน” อั๋นว่า เขาจึงเน้นกระจายความรู้สู่คนรุ่นใหม่ สอนให้เข้าใจพื้นฐาน เพื่อให้พวกเขาต่อยอดเทคนิคต่อไปได้เอง

“ถ้าคุณเข้าใจตัวเอง คุณจะปลูกอะไร พื้นที่คุณเป็นแบบไหน มันเป็นเรื่องที่เราอยากให้คนได้ตระหนัก เพราะภาคอีสานก็จะเป็นแบบหนึ่ง ภาคใต้แบบหนึ่ง ภาคกลางก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ภาคเหนือเองก็ต่างกัน เช่น ภาคเหนือที่นี่ เหนือเชียงรายหรือเหนือแพร่ก็ยังต่างกัน ถ้าคุณเข้าใจตรงนี้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะเห็นหนทางสร้างความยั่งยืนในพื้นที่นั้น ๆ ได้” 

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

นอกจากนี้ ด้านหลังพื้นที่สอน ยังมีที่ว่างสำหรับเด็ก บางทีพ่อแม่มาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ก็พาลูกมาด้วยได้ ให้เด็ก ๆ มาวิ่งเล่นกัน มาไถสเก็ตบอร์ด วาดรูป เล่นกับควาย เลี้ยงไก่ เพราะอั๋นหวังสร้างบรรยากาศ สร้างการเรียนรู้ ให้ที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ ได้ด้วย และอีกนัยหนึ่งคือการแทรกซึมวิถีธรรมชาติให้เข้าไปอยู่ในชีวิตคน 

และคนที่ว่านั้น ต้องไม่ใช่ใคร กลุ่มใด หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่หมายถึงทุก ๆ คน

“เราไม่ชอบทำโปรเจกต์ที่ทำแล้วจบ แต่เราชอบที่จะทำไปด้วยกัน ถ้าวันหนึ่งที่เราโตได้ เราก็จะไปช่วยเพื่อนข้างเคียง ตำบลข้างเคียง เคยอยู่ที่นี่มาก่อนแล้วเขาก็ย้ายไปพัฒนาที่อื่นต่อ เพราะแม่ทาเริ่มอยู่ได้ มีสหกรณ์ เริ่มมีเงินหมุนเวียน เมื่อเราช่วยให้เขาอยู่ได้ เขาก็จะพัฒนาไปทำเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้”

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

ศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์อินทรีย์กรีนเนท

จากศูนย์การเรียนรู้ของอั๋น ส่งต่อมาที่ศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์อินทรีย์กรีนเนทของ ปุ้ย-มัทนา อภัยมูล ผู้จัดการศูนย์เกษตรอินทรีย์กรีนเนท ที่ทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่หลังเรียนจบ นับช่วงเวลาได้ประมาณ 18 – 19 ปี

“ครอบครัวเราทำประเด็นอินทรีย์ พ่อเราเป็นผู้นำชุมชน ก่อตั้งกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์มาก่อนในตอนเริ่มต้น ด้วยความที่เราสัมผัสกับยุคบุกเบิกมาตั้งแต่ 6 ขวบ ในยุคพ่อแม่คือที่ดินไม่พอ น้ำไม่พอใช้ ป่าโดนทำลาย สารเคมีเข้าสู่ชุมชน ตอนนี้เลยถึงเวลาที่เป็นยุคต่อยอดครอบครัว”

เมื่อเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นอินทรีย์ งดใช้สารเคมี ดินและระบบนิเวศจึงถูกทำลายน้อยลง ณ ตอนนี้เรียกได้ว่าแม่ทาคือต้นแบบความออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้แต่บ้านเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการวิสาหกิจชุมชนโดยตรง ก็ปลูกพืชสร้างรายได้ เลี้ยงชีพตัวเองกันเป็นกิจวัตร

การเพาะพันธุ์เมล็ดเกษตรอินทรีย์เริ่มต้นจากการสำรวจและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ในชุมชนตัวเองก่อน โดยมองจุดเด่นของชุมชนว่ามีเมล็ดพันธุ์ไหนน่าสนใจ และน่าจะเป็นพืชที่สร้างอาชีพให้กับกลุ่มได้ หลังจากนั้นก็เอามาวิจัยและคัดพันธุ์ โดยการศึกษาทดลองปลูกดูลักษณะพันธุ์ รวมถึงขยายพันธุ์ให้เกษตรกรในชุมชน

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตที่นี่ทั้งหมดเป็นแบบยั่งยืน นั่นคือการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เปลี่ยนพันธุกรรมเดิม คัดเลือกพันธุ์ที่แข็งแรง เข้ากับสภาพอากาศบ้านเราได้ เพราะปุ้ยมองว่า “เรามองที่ความยั่งยืนของเกษตรกรมากกว่าจะลดต้นทุน สร้างรายได้” 

ตอนแรกปุ้ยก็ทำแค่เมล็ดพันธุ์ แต่นับจากนั้น 2 ปี เธอก็เริ่มผลิตต้นกล้าจำหน่ายด้วย เพราะมีกลุ่มเชื่อมกับทางสหกรณ์อยู่แล้ว ประกอบกับมีคนในชุมชนหรือนอกชุมชนเองที่ต้องการต้นกล้า ง่ายต่อการนำไปปลูกมากกว่าการเพาะเมล็ดเอง ซึ่งในเรื่องกระบวนการ ทุกอย่างต้องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่เซ็นทรัล ทำ เข้ามาช่วยสนับสนุน 

โมเดลเกษตรอินทรีย์แม่ทา โครงการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกับ Central Tham

“ทางเซ็นทรัล ทำ มาช่วยในระหว่างทางที่เราต้องการ ช่วยด้านการจำหน่าย โดยจัดให้มีโรงเรือน เพราะบางครั้งพืชเจอปัญหาฟ้าฝน ปลูกมา 5 – 6 เดือน สุดท้ายเสียหาย แล้วก็มีโรงแพ็กและเครื่องเป่าทำความสะอาด พอมาทำเรื่องเมล็ดแล้วมันก็จะสัมพันธ์กับเรื่องกฎหมาย จึงต้องมีอาคารที่ชัดเจน มีพื้นที่แพ็กชัดเจน มีอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์เงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งเซ็นทรัล ทำ เขามาสนับสนุนในส่วนนี้” 

การที่เซ็นทรัล ทำ เข้ามาช่วยสนับสนุนในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผลผลิตเป็นอย่างมาก และมากไปกว่านั้น เมื่อชาวบ้านเห็นว่าสิ่งนี้ทำแล้วเลี้ยงชีพได้และไปได้ดี จึงก่อเกิดเป็นคลื่นที่พัดพาคนในชุมชนให้มาทำด้วยกัน

“พอเป็นสิ่งที่เรารัก ที่เราชอบอยู่แล้ว แล้วเราดันมีกลุ่ม เพื่อนฝูง น้อง ๆ กลับมารวมตัวกัน ยิ่งเหมือนเพิ่มพลังให้เรา ถึงจะท้อบ้างบางช่วงแต่เราก็ยังมีเพื่อน ที่สำคัญคือเรามีเครือข่าย เรามีโซนอีสาน โซนใต้ และอีกหลาย ๆ เครือข่ายที่มีใจเดียวกัน คิดแนวทางเดียวกัน และอีกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสัญญาณที่ดีมาก คือการมีคนรุ่นใหม่มาร่วมด้วย”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

แม่ทาถือว่าเป็นโมเดลตัวอย่างหนึ่งของการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ชุมชนอื่นได้เป็นอย่างดี เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะทุกคนต่างมาเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ มวลความรู้เกษตรอินทรีย์แม่ทาได้ขยายวงกว้างต้อนรับคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสนใจ มีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาขอฝึกงานที่นี่ เพื่อลองดูว่าการทำเกษตรอินทรีย์ตอบโจทย์หรือสร้างโอกาสให้ชีวิตอย่างไรได้บ้าง

“พี่ว่าสิ่งนี้มันยั่งยืนกับทั้งตัวเอง สิ่งแวดล้อม และสังคม เพราะการทำเกษตรอินทรีย์พ่วงไปกับหลายมิติ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม อย่างที่เขาว่ากัน มันสัมพันธ์กันหมด พี่คิดว่าสิ่งที่ทำสร้างแรงบันดาลใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนที่มาพบเจอ อย่างน้อยก็เป็นจุดเล็ก ๆ ที่จะไปสะกิดใจเขา แล้วแต่ว่าจะเป็นประเด็นไหนของแต่ละคน เพราะทุกคนมาจากครอบครัวหรือพื้นที่ต่างกัน อาจจะเติมฝันให้เขาได้ไปคิดต่อ” 

นี่คือมุมมองความยั่งยืนและความเชื่อมั่นในการขยายผลของดีที่มีในบ้านเกิด จากคนที่โตที่แม่ทามาทั้งชีวิต

“พี่คิดว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ยั่งยืนที่สุด คือยั่งยืนในความสุขของพี่ พี่เติบโตมาแนวนี้ พี่ชอบวิถีชีวิตแบบนี้ ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่ชุมชนที่มีพื้นที่ปลอดภัย มีอาหารปลอดภัย รู้ที่ไปที่มาของวัตถุดิบ มีผู้คนที่เข้าใจเรา รู้สึกเลยว่าฉันอยู่ที่นี่สุดยอดแล้ว เชียงใหม่มีความสุขที่สุดแล้ว”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา

หากต้นน้ำคือการให้ความรู้ กลางน้ำคือการลงมือเพาะพันธุ์เมล็ด ปลายทางก็คือการทำให้ผลผลิตเหล่านั้นขายได้

“กว่าจะฝ่าฟันอุดมการณ์ว่าการทำเกษตรอินทรีย์เลี้ยงครอบครัวได้จริง แค่ด่านแรกก็ยากแล้วกับการเปลี่ยนใจคน” โด้-สราวุธ วงศ์กาวิน เจ้าหน้าที่การตลาดรวบรวมผลผลิตอินทรีย์แม่ทา เปรยความในใจถึงด่านแรก ก่อนที่ทุกสิ่งจะเกิดขึ้นกระทั่งวันนี้ 

อย่างที่รู้กันดีว่าการดิ้นรนมาทำงานในสังคมเมือง ดูมั่นคง เลี้ยงตัวเองได้ เป็นมายาคติที่คงอยู่ในหลายพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะปัจจัยคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานกระจายไปไม่ทั่วถึง อย่างเรื่องดินน้ำสะอาด ไฟฟ้าทั่วถึง การคมนาคมสะดวก ฯลฯ ในบางพื้นที่ยังเป็นเรื่องหาได้ยากหรืออาจจะยังไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนต้องหาทางสร้างตัว หาทางไปสู่ความสบายมากกว่าจุดที่เป็นอยู่ หลายครั้งไม่ใช่พวกเขาไม่อยากอยู่บ้านหรือสร้างอาชีพจากทรัพยากรที่มี แต่เป็นเพราะไม่รู้จะเริ่มยังไง ทำแล้วจะไปต่อได้ไหม วิธีที่ยั่งยืนคืออะไร

เมื่อก่อนประเทศส่งเสริมอุตสาหกรรมปฏิวัติเขียว ใช้สารเคมีเร่งผลผลิต เลยทำให้ดินเสื่อมโทรม “ตอนผมเล็ก ๆ เห็นปลาในน้ำเป็นโรค เราไม่รู้เกิดจากอะไร พอโต อ้อ ยาฆ่าแมลง ซึ่งพวกเราเองก็กินเข้าไปด้วย” 

โด้เล่าว่าองค์ความรู้ของคนรุ่นก่อนไม่ได้มีมากเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากสมัยนี้มีสื่อให้ความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ประจวบกับจังหวะที่คนเริ่มป่วยเยอะขึ้นจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี เขาเลยเริ่มทำสิ่งนี้จากศูนย์ เริ่มโดยที่ยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไง มีเพียงเป้าหมายเดียว คือทำยังไงก็ได้ให้ผลผลิตพวกนี้ขายได้ เขาตัดสินใจอย่างไม่ลังเลด้วยเซนส์ที่ว่า “เรารู้สึกว่าเรามาถูกทาง” 

“เรื่องการทำการตลาดที่ผมทำอยู่ตอนนี้ คือผมจบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมันคนละโลกกันเลย ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แต่ผมมีใจรัก ผมคิดว่าทำยังไงก็ได้ให้ขายได้ แค่นั้นเลยจริง ๆ ผมไม่มีพื้นฐานเลยว่าจะต้องทำโปรโมชันอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำไปโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ได้ทุกวันนี้จึงมาจากการสั่งสมประสบการณ์”

ในตอนแรก เขาเริ่มจากการผลิตกินเอง เหลือกินก็ค่อยเอาไปขาย พอการสื่อสารไวขึ้น การตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ชาวชุมชนทั้งหลายเลยมานั่งจับเข่าคุย สรุปบทเรียนว่าขาดเรื่องอะไร ทำมานานจะ 30 ปีแล้ว ทำไมยังขยายผลได้ไม่มากพอ

“เมื่อก่อนเราผลิตไม่เป็น จะไปบอกใครว่านี่เป็นผลผลิตที่ดีนะ ออร์แกนิกนะ ซื้อเถอะ ซึ่งผู้บริโภคยังไม่ค่อยเข้าถึง การขยายผลเลยน้อย ต้องวางแผนการผลิตแต่แรก ไม่ใช่ปลูกไปก่อนเดี๋ยวขายได้เอง เพราะสุดท้ายภาระจะตกที่เกษตรกร ทั้งต้นทุนที่เสียไป แรงงาน ผลผลิตเหลือทิ้ง” หลังจากตกผลึกได้ ทีมสหกรณ์ก็ขยับขยายหาช่องทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งนั่นเป็นจังหวะเดียวกับที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้ามา ช่วยทำให้ผักได้รับการยอมรับและมีมาตรฐาน

“เซ็นทรัลมาถูกจุดมาก เป็นจุดคอขวดที่แม่ทาขาด มันเป็นเรื่องของการตลาด การค้าขาย และเรื่องของการสนับสนุน”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

หลังจากผลผลิตส่งมาถึงที่นี่ ก็เข้าสู่กระบวนการแพ็ก โดยหัวใจสำคัญคือ ผักต้องสะอาดมาจากแปลง อันไหนสะอาดแล้วก็แบ่งตามออเดอร์เพื่อไปเข้าแพ็ก ซึ่งอุณหภูมิในห้องต้องเย็นพอสำหรับรักษาอายุผัก “เมื่อก่อนเราคัดแยกกันในห้องธรรมดา ไม่มีแอร์ ทีมเซ็นทรัล ทำ เห็นเขาก็บอกว่าต้องเย็นทั้งผักและคน เขาเลยสนับสนุนติดแอร์ให้ มาทีละอย่างตามความเหมาะสม”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

จากการมีห้องเย็นสำหรับแพ็กผัก ทำให้ยืดอายุผักได้นานขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 3 เป็น 6 วัน และต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนรถห้องเย็นขนผักแทนการใช้ซาเล้ง ซึ่งมีอุณหภูมิความเย็นเพียงพอ ทำให้ผักสดคงคุณภาพไปได้ถึงปลายทาง ถือเป็นการสร้างมาตรฐานของสหกรณ์ และลดปริมาณพืชผักเสียหาย

ตั้งแต่ผลผลิตได้วางขายที่ท็อปส์ การขายก็กระจายไปเยอะ เหมือนได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

“พอสินค้าแม่ทาขึ้นห้าง คนก็รู้จักเยอะขึ้น พอการตลาดดีขึ้น คนทำก็มากขึ้น พื้นที่ก็ขยายไปหลายครอบครัว”

การสนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นในด้านการตลาดที่เซ็นทรัล ทำ ส่งผลแผ่ขยายเป็นวงกว้าง ไม่ได้หยุดแค่ผักไม่เหี่ยวหรือคนมีรายได้เสถียรขึ้น

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีผลผลิตหรือธุรกิจไหนมั่นคงไปตลอด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่โด้และทีมเข้าใจดี เขาจึงมีความคิดที่เปิดกว้างอยู่เสมอ “อีก 5 ปี 10 ปี สมมติเขาประกาศว่าน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมูมันกินไม่ได้นะ มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเกิดว่ามีประกาศห้ามกินมันหวานขึ้นมา ก็ต้องเปลี่ยนไปกินอย่างอื่น คือเราพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปกับมัน เรามีดิน มีน้ำ มีอากาศ เราไม่กลัวอะไร เพราะอาหารสำคัญที่สุด ท้ายที่สุดก็ต้องกิน”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน
ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

จะขายอะไรก็ได้ มีแค่สิ่งเดียวที่ทีมตั้งเป้าคือ ‘ทำยังไงก็ได้ทุกวิถีทางให้สิ่งนั้นขายออกได้อย่างมีคุณภาพ’

“ผมไม่เคยคิดว่ามันอยู่ตัวแล้วแหละ ไม่เคยคิด ยิ่งผมทำเรื่องการตลาดยิ่งเข้าใจเรื่องนี้เลย ไม่มีอะไรแน่นอนในโลก คิดว่าที่ผมปลูกมันหวานญี่ปุ่น มันจะเป็นตัวยั่งยืนของแม่ทาไปตลอดเหรอ ไม่ใช่เลย มันก็เป็นแค่ช่วงนี้ แล้วผมก็จะทำมันให้ดีที่สุด แค่นั้นแหละ” 

การท่องเที่ยววิถีชุมชน

สุดท้ายสิ่งใหม่ที่กำลังอยู่ในกระบวนการคิดและลงมือทำ คือการทำให้ตำบลแม่ทาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนครบครันทั้งเรื่องอาหาร กิจกรรม ไปจนถึงที่พัก

“พวกเราต้องการพัฒนาที่นี่ให้เป็นฟาร์มสเตย์ เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่ใช้ความร่วมมือกันของคนในชุมชน พาคนในชนบทกับคนในเมืองมาเจอกัน”

ชุมชนแม่ทาร่วมกับเซ็นทรัล ทำ มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนให้แข็งแรง สร้างอาชีพให้คนกลับบ้าน

วิวทิวเขาเบื้องหลังลานกว้างในภาพตรงหน้านี้ คือพื้นที่ของโฮมสเตย์ในรูปแบบฟาร์มสเตย์ที่จะสร้างขึ้นในอนาคต “เมืองกับชนบทมันเริ่มใกล้เข้ามา และคนเมืองก็จะมาเรียนรู้ได้ เช่น ไปเดินป่า เชื่อเลยว่าที่นี่เป็น Hiking แบบ Hidden Place คุณจะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ที่ตรงนี้ไม่เคยมีใครมา ไม่ได้มีแลนด์มาร์ก ไม่มีน้ำตกสวยอะไรหรอก แต่มันมีธรรมชาติที่เป็นอยู่แบบนี้”

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการดึงศักยภาพพื้นที่ พัฒนาสร้างอาชีพให้คนกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านได้ เพราะทุกพื้นที่มีของดีไม่แพ้กัน แต่ปัญหาคือการกระจายความเจริญและคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมเข้าไม่ถึงทุกคน คนในพื้นที่เลยต้องลุกขึ้นมาทำอะไรที่พอทำได้ โดยชุมชนแม่ทาได้รับการสนับสนุนจาก ‘เซ็นทรัล ทำ’ ทำร่วมกันเพื่อหวังขับเคลื่อนให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์