วินาทีนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่านี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 

ถนนและเมืองที่เงียบสงัดกลายเป็นองค์ประกอบใหม่ของชีวิตผู้คนไปโดยปริยาย

หลังจากรัฐบาลประกาศปิดเมืองหรือ Lockdown โดยขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และสถานบริการต่างๆ ให้ปิดทำการจนถึงสิ้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นไปได้ว่าเส้นตายดังกล่าวอาจจะขยับออกไป หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์แบบเบ็ดเสร็จ

กลุ่มเซ็นทรัล คือผู้นำธุรกิจค้าปลีกและบริการที่เป็นหลักสำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจไทยมากว่า 7 ทศวรรษ นอกจากแนวคิดสำคัญที่มุ่งพัฒนาให้แต่ละพื้นที่ที่มีห้างสรรพสินค้าของเซ็นทรัลอยู่เติบโตไปด้วยกันพร้อมกับธุรกิจแล้ว สิ่งที่ทำให้เซ็นทรัลเข้าถึงหัวใจของคนไทยได้เป็นอย่างดี คือการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values : CSV) ที่ตั้งเป้าการทำธุรกิจในระยะยาว โดยสำเร็จไปพร้อมกับสังคมอย่างยั่งยืนด้วย 

เพราะทุกภาคส่วนล้วนมีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่กระทบกับความเป็นอยู่ของผู้บริโภค ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกแบรนด์นี้จึงปรับทัพครั้งใหญ่ และใช้ศักยภาพที่มีเพื่อช่วยเหลือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดโดยไม่รอช้า

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

ดูแลทุกคนเพราะคนคือหัวใจของธุรกิจ

เมื่อไฟดวงสุดท้ายของร้านค้าปิดลงเพื่อสนองต่อมาตรการของภาครัฐ เหลือเพียงซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารที่ยังเปิดให้บริการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การดูแลผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งลูกค้า ผู้เช่าพื้นที่ และพนักงานที่ได้รับผลกระทบ จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ โดยมีมาตรการดังนี้

1. ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการด้วยความเข้าใจ

กลุ่มเซ็นทรัลพิจารณาไม่เก็บค่าเช่าผู้ประกอบการที่ต้องปิดร้าน ขาดรายได้ ขณะเดียวกันยังลดค่าเช่า 10 – 50 เปอร์เซ็นต์ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ด้วย แม้จะเป็นรายได้สำคัญในฐานะผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่ในเวลานี้ ความอยู่รอดของคู่ค้าคือเรื่องที่สำคัญมากกว่า โดยปรับช่องทางในการขายสำหรับร้านค้า ทั้งการเปิดให้ขายสินค้าแบบซื้อกลับบ้าน (One Call One Click และ Drive Thru Pick Up) สำหรับลูกค้าที่เดินทางมาใช้บริการที่ศูนย์การค้าทุกสาขา

2. ดูแลความสะอาด ยกระดับมาตรการความปลอดภัย

การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ถือเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากในช่วงที่ผู้คนกังวลเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยนี้ ทางเซ็นทรัลจึงได้จัดหาอุปกรณ์และเพิ่มระดับการทำความสะอาดในพื้นที่ศูนย์การค้าให้มากขึ้น ทำความสะอาดลิฟต์ บันไดเลื่อน และทุกจุดสัมผัสสำคัญในพื้นที่ทุก 30 นาที ติดตั้งระบบดักจับเชื้อโรคที่เครื่องปรับอากาศ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทุกวัน นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี (UV-C Disinfection Robots) ที่รับรองจากองค์การอนามัยโรคมาใช้งานในพื้นที่เซ็นทรัล ฟู้ดฮอลล์ โดยเริ่มต้นจากสาขาชิดลม และจะขยายไปถึงสาขาอื่นๆ รวมทั้งท็อปส์ มาร์เก็ตด้วย 

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ
เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

3. เพิ่มช่องทางออนไลน์ อำนวยความสะดวกลูกค้า

ในฐานะผู้นำด้านค้าปลีก สิ่งที่เซ็นทรัลให้ความสำคัญเสมอคือการบริหารจัดการประสบการณ์ของลูกค้าแบบไร้รอยต่อ แม้ว่าห้างสรรพสินค้าที่ถือเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้จะต้องปิดเป็นการชั่วคราว แต่ลูกค้าก็ยังสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่แพลตฟอร์ม Central Online รวมทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซ JD Central และยังอำนวยความสะดวกด้วยบริการ Chat & Shop ทางไลน์และ Call & Shop  ซึ่งเป็นผู้ช่วยช้อปปิ้งที่รู้ใจ ช่วยจัดหาสินค้าที่ต้องการได้ทุกประเภท ไปจนถึงช่องทางการชำระเงินและบริการจัดส่งสินค้า ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกขับรถมารับหรือเลือกรับสินค้าที่บ้านก็ได้ 

โดยสร้างความมั่นใจด้วยการทำความสะอาดทุกขั้นตอนการจัดส่ง ทั้งพนักงานจัดส่ง การทำความสะอาดสินค้า ไปจนถึงการส่งมอบถึงมือลูกค้า ซึ่งทางศูนย์การค้าเข้มงวดเรื่องการเว้นระยะห่างต่อกัน (Physical Distancing) และเพิ่มช่องจ่ายเงินพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ คนพิการ และสตรีมีครรภ์ ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดทำการ

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ
เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

4. ดูแลพนักงานอย่างดีและทั่วถึง

ส่วนมาตรการในการดูแลพนักงานและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นั้น กลุ่มเซ็นทรัลได้ทำความสะอาดทุกพื้นที่สำนักงานและการปฏิบัติงาน มอบหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงให้กับพนักงานทุกคน เพื่อป้องกันตนเอง ออกกฎเพิ่มเติมไม่อนุญาตให้พนักงานเดินทางไปต่างประเทศเพื่อปิดความเสี่ยง และขอให้พนักงานที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเฝ้าระวังและสังเกตอาการที่บ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน สนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน และให้พนักงานที่หน้าร้านยังเปิดอยู่สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีช่องทางการติดต่อที่สำคัญ คือระบบสื่อสารภายในองค์กร รวมทั้งเครือข่ายขนาดใหญ่ของ The 1 ที่เซ็นทรัลนำข้อมูลมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมสแกนตามจุดต่างๆ วางแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทั่วทั้งศูนย์การค้า และกลุ่มเซ็นทรัลยังช่วยประสานงานเพื่อให้พนักงานได้รับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม จัดสวัสดิการเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับพนักงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินตามสมควร รวมถึงซื้อประกันกลุ่มโรค COVID-19 เพื่อคุ้มครองพนักงานที่มีมากถึง 8 หมื่นคนทั่วประเทศ เพื่อสร้างความอุ่นใจว่าคนในครอบครัวเซ็นทรัลจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด 

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

ลูกค้าและพนักงานล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้า นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เซ็นทรัลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

‘เซ็นทรัลทำ’ ใช้ศักยภาพของบุคลากรและช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้มแข็งเพื่อช่วยสังคม

การทำธุรกิจในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากอดีตอย่างมาก มุมมองที่มีต่อภาพรวมเปลี่ยนไปและครอบคลุมมากกว่าเรื่องของลูกค้าและพนักงานเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่รวมถึงคู่ค้า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน และภาคสังคมด้วย 

เรื่องนี้อธิบายจุดยืนของ ‘เซ็นทรัลทำ’ ได้เป็นอย่างดี 

ด้วยเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์ขององค์กรและผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เซ็นทรัลจึงเน้นการทำธุรกิจอย่างมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ตามแนวคิดของการสร้างคุณค่าร่วมหรือ CSV ที่ทำเสมอมา ทั้งด้านการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสนับสนุนอาชีพคนพิการ การสร้างโอกาสให้เกษตรกรรวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อม

1. บริจาคช่วยโรงพยาบาลเพื่อรับมือผู้ป่วยโรค COVID-19

เช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ไม่เพียงกระทบมิติทางเศรษฐกิจแต่ยังมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนและวงการสาธารณสุขที่ถือเป็นผู้ด่านหน้าสำคัญในตอนนี้ เซ็นทรัลจึงได้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์จำเป็นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ รวมกว่า 40 ล้านบาท ผ่านทางแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เพื่อนำไปสนับสนุนโรงพยาบาลกว่า 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ เป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 20 แห่ง และโรงพยาบาลในต่างจังหวัด 10 แห่ง

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

เพื่อความถูกต้องตามกระบวนการที่เหมาะสมและความโปร่งใสในการดำเนินการ กลุ่มเซ็นทรัลได้ประสานงานกับบุคคลสำคัญของวงการแพทย์ในแต่ละส่วน ทั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ศาสตราจารย์นายแพทย์ รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการรวมคุมยาสูบ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส อดีตนายกแพทยสมาคมโลก ซึ่งทุกท่านได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดี

นอกจากนี้เซ็นทรัล ยังให้ความสำคัญกับจังหวัดสงขลาและพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบหน้ากากรวม 3,000 ชิ้น ผ่านสภากาชาดจังหวัดนราธิวาส สาธารณสุขจังหวัดยะลา ศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดปัตตานี และผลิตกล่องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 150 กล่อง มูลค่ากว่า 150,000 บาท ส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่นี้ และแจกจ่ายหน้ากากผ้ากว่า 6,000 ชิ้น ให้กับโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบทั่วทุกภาค

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

2. เชื่อมความรู้สู่ชุมชนเพื่อรับมือวิกฤตการณ์

สำหรับความช่วยเหลือเพื่อชุมชนนั้น ได้ร่วมมือกับกรมอนามัยเพื่อแจกหน้ากากผ้า 2 หมื่นชิ้นให้กับชุมชน ครู นักเรียนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งสอนให้คนในชุมชนทำหน้ากากผ้าด้วยตนเอง ทำคลิปให้ความรู้ในการป้องกันตนเองผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนสนับสนุนการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อมอบให้กับพระสงฆ์ ผู้สูงอายุ และคนในชุมชนร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสากล ซึ่งจัดตั้งตามดำริของพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง

3. ปรับทัพพนักงาน ฝึกอาชีพ เพื่อช่วยสังคม

สิ่งสำคัญที่สุด คือการใช้ศักยภาพทั้งองค์ความรู้ด้านสินค้าทุกประเภทที่มีของพนักงานและช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแรงที่สุดของเครือเซ็นทรัลมาช่วยเหลือสังคม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งถือเป็นการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจ คนในองค์กร และทุกส่วนที่เชื่อมโยงถึงกัน 

ทั้งการโยกย้ายพนักงานจากบางแผนกอย่าง B2S และ PowerBuy มาเติมในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง ท็อปส์ มาร์เก็ต หรือเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เนื่องจากยังเป็นส่วนสำคัญที่เปิดให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่เพียงยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ต้องใช้พนักงานเพิ่มมากขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการจัดเรียงสินค้า การจัดการสต็อกสินค้าและการจัดส่งสินค้า

ขณะเดียวกันยังนำความเชี่ยวชาญของกลุ่ม Central Marketing Group (CMG) ที่มีแบรนด์สินค้าแฟชั่นยอดนิยมจำนวนมากมาใช้ในการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อกระจายให้คนในทุกกลุ่มธุรกิจได้ใช้งาน นำไปบริจาคให้กับบุคคลภายนอก และยังเป็นการฝึกพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้กับพนักงาน เพื่อนำไปผลิตด้วยตนเองต่อด้วย 

นอกจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ยังให้พนักงานทุกสาขาประกอบหน้ากากป้องกันละอองฝอยหรือ Face Shield เพื่อส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ถึง 6 หมื่นชิ้น ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการทำงานของด่านหน้าวงการสาธารณสุขไทยที่กำลังรับศึกหนักในตอนนี้

4. ต่อยอดองค์ความรู้สู่นวัตกรรมเพื่อคุณหมอ

ธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างอย่างไทวัสดุก็ได้ใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือคิดค้นอุปกรณ์ครอบร่างผู้ป่วยบนเตียง เพื่อป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของแพทย์และพยาบาล โดยเปิดอบรมให้กับพนักงานเพื่อร่วมกันผลิตและส่งมอบให้กับ 30 โรงพยาบาล จำนวน 150 ชิ้น

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

ขณะที่ธุรกิจอาหารก็ยังช่วยจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มให้กับโรงพยาบาลหลักทั้ง 6 แห่งในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเติมพลังให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอย่างหนักด้วย 

นอกจากนี้ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง PowerBuy ได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตเพื่อให้แพทย์ได้ใช้งานให้คำปรึกษากับผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ และติดตามอาการคนไข้ผ่านแอปพลิเคชันของโรงพยาบาลราชวิถี รวมทั้งสนับสนุนการแพทย์ฺระยะทางไกล (Telemedicine) เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานของ PowerBuy ซึ่งเชี่ยวชาญการใช้งานอุปกรณ์และแบรนด์สินค้าเหล่านี้ก็พร้อมให้บริการอย่างเต็มที่ 

เรื่องราวการใช้ศักภาพที่มีปรับทัพพนักงานเพื่อช่วยเหลือสังคมในแบบ เซ็นทรัลทำ

5. ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่องและฟันฝ่าบททดสอบนี้ไปด้วยกัน 

กลุ่มเซ็นทรัลเชื่อในศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ไทย จึงสนับสนุนการทำประกันชีวิตให้กับหมอและพยาบาลทั่วประเทศผ่านเครือข่ายแพทยสภา และยังเปิดห้องพัก 24 ห้องในโรงแรมแกรนด์เซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์เพื่อให้ผู้บริหารและอาจารย์แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดได้ใช้บริการเพื่อพักผ่อนในวันที่ 1 – 30 เมษายน พ.ศ. 2563

สำหรับความช่วยเหลือระยะถัดไปจะครอบคลุมไปที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ซึ่งอาจต้องรองรับการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต จึงได้สนับสนุนเงิน 6 ล้านบาทเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในจังหวัดใหญ่ทั้งภูเก็ต อุดรธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชลบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีข้อจำกัดมากกว่าพื้นที่อื่น

นี่คือสิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ทำตามพันธะสัญญาที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและเติบโตไปพร้อมกับสังคม ไม่ใช่ในฐานะของพันธมิตรทางธุกิจ แต่เป็นเพื่อนที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปข้างหน้าด้วยกัน เป็นการสร้างคุณค่าร่วมที่คำนึงถึงรอยยิ้มและคุณภาพชีวิตของผู้คน (People) สร้างการจ้างงาน สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนไปสู่ความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน (Prosperity) ขณะที่การดำเนินธุรกิจยังต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Planet) การจัดการขยะ รวมทั้งบริการจัดการห่วงโซ่คุณค่าเพื่อส่วนรวม เพื่อที่จะช่วยให้สังคมได้ยืนหยัดอย่างแข็งแรงและสอดประสานกันในทุกมิติที่เกื้อกูลกัน (Peace & Partnerships) อย่างยั่งยืนต่อไป

เพราะยังมีความหวัง ทุกชีวิตจึงมีความหมาย

เพราะยังเชื่อในพลังใจของคนไทย จึงจับมือกันเดินไปข้างหน้า

และเซ็นทรัลก็ยังจะเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศและร่วมฟื้นฟูประเทศไทยผ่านวิกฤตพร้อมกลับมามีความสุขอีกครั้ง อย่างที่เป็นเสมอมา

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass