“ทางข้างหน้ารถทัวร์ไปไม่ได้นะพี่!”

“อ้าว แล้วข้างหน้ามีที่ให้กลับรถมั้ย”

“ไม่มีอะดิ”

“เฮ้ย! แย่แล้ว!”

ผมนั่งตัวเกร็งอยู่ที่เบาะหน้ารถ ดูคนขับรถพลาง พนักงานประจำรถทัวร์พลาง ทุกคนมีสีหน้ากระวนกระวายไม่ต่างกัน ตามโปรแกรมในวันนี้เรามีนัดกับแสงสุดท้ายของวันที่ ‘พาสาน’ อาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ ผมในฐานะคนจัดทริปและเป็นคนดูแลโปรแกรมทั้งหมดเหลือบมองดูดวงอาทิตย์สีส้มกลมโตเหนือหลังคาบ้านที่เรียงรายอยู่ในตรอกแคบ ๆ ด้วยสายตาละห้อย

เราไปไม่ทันแสงสุดท้ายของวันตามที่สัญญากับสมาชิกทุกคนเอาไว้

พนักงานประจำรถทัวร์วิ่งลงไปดูทางข้างหน้า ซึ่งเป็นซอยแคบ โค้งหักศอกอีกสองที แต่สองข้างทางนั้นมีตลาดนัด งานวัด และรถจักรยานยนต์ของชาวบ้านที่มาร่วมงานจอดเรียงรายอยู่ ผมหายใจไม่ทั่วท้อง งานนี้ถ้าจะโทษใคร ผมคิดว่าเราต้องโทษ Google Maps!

“ผมว่าผมลงไปดูทางด้วยดีกว่า ไม่รู้ว่ารถบัสจะผ่านไปได้มั้ย”

พี่คนขับรถพูดจบแล้วก็ทิ้งพวงมาลัยรถกระโดดวิ่งหายไปดูทางข้างหน้าเสียดื้อ ๆ ผมรู้สึกว่าลำไส้ของผมกำลังบิดเป็นเกลียว ลำพังดูพระอาทิตย์ตกไม่ทันก็แทบจะแย่อยู่แล้ว ถ้ารถทัวร์คันมหึมาต้องมาติดแหง็กอยู่ในซอยแคบ ๆ แบบนี้ ผมไม่รู้จะทำหน้าอย่างไรกับสมาชิกที่อยู่บนรถ ผมหันไปสังเกตอาการของพี่มัคคุเทศก์และสตาฟของบริษัททัวร์ และพบว่าไม่ช่วยอะไร เพราะทั้งสองคนนั้นสีหน้าลุ้นยิ่งกว่าผมเสียอีก

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

“ในที่นี้ท่านไหนขับรถทัวร์เป็นบ้างครับ ตอนนี้คนขับรถก็หายตัวไปแล้ว”

ผมตัดสินใจจับไมค์ พูดพร้อมกับยิ้มแห้ง ๆ ใต้แมสก์ ปรากฏว่าเรียกเสียงหัวเราะจากหมู่สมาชิกได้ครืน และสมาชิกของเราต่างชี้ไม้ชี้มือไปทางคนโน้นทีคนนี้ทีเป็นการใหญ่ให้ลุกขึ้นมาช่วยขับรถ ผมมองดูบรรยากาศบนรถแล้วก็โล่งใจ อย่างน้อยสมาชิกทุกท่านของเราก็น่ารัก ไม่มีใครแสดงออกว่าไม่พอใจหรือเกรี้ยวกราดกับเรื่องไม่คาดฝันที่อยู่ตรงหน้าเลย

“อุ๊ยดูสิ ขนาดหมายังมองเลยนะ ว่ารถทัวร์เข้ามาในซอยนี้ทำไม สงสัยหมางง เพราะไม่เคยเห็น”

สมาชิกท่านหนึ่งของเราพูดขึ้น และเรียกเสียงหัวเราะได้อีกยกใหญ่ อย่างไรก็ตาม เคราะห์ดีที่น้องหมาตัวนั้นไม่ต้องงงอีกนาน เพราะพี่คนขับรถวิ่งกระหืดกระหอบกลับมา พร้อมกับส่งสัญญาณบอกพวกเราด้วยเสียงสวรรค์ว่า “ไปได้”

พวกเราโล่งใจ แต่ก็ทำตัวลีบเล็กเต็มที่ระหว่างที่รถทัวร์แล่นผ่านโค้งหักศอกแคบ ๆ จวนเจียนจะกวาดบ้านเรือนและร้านค้าข้าง ๆ ให้พังไปทั้งแถบ รถของเราเฉือนห่างกับสิ่งของข้างทางเพียงหน่วยเซนติเมตรเท่านั้น ทว่าเราก็ผ่านโค้งเหล่านั้นมาได้

แม้จะไม่มีตะวันยอแสงที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ตั้งใจ แต่ทุกคนก็ช่วยกันฉายไฟจากโทรศัพท์มือถือกันสว่างไสวขึ้นทดแทน เพื่อถ่ายรูปกันและกันเป็นที่ระลึก ลมเย็น ๆ จากต้นแม่น้ำเจ้าพระยาพัดมาพอสบาย พร้อมกับรอยยิ้มที่แต้มพรายอยู่บนใบหน้าของพวกเราทุกคน แม้ว่าวันนี้จะจบลงอย่างไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ถ้าปราศจากเรื่องตื่นเต้นแล้วจะให้การเดินทางครั้งนั้นสมบูรณ์แบบคงเป็นไปไม่ได้

นี่แหละคือเสน่ห์ของการเดินทาง

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

อ่างทอง : ให้ดินได้เติบโต

โปรแกรมนี้เป็นทริปที่ผมตั้งใจจัดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่อยากจะพาคนรอบตัวไปรู้จักกับ ‘เมืองรอง’ ในภาคกลางของประเทศไทย จังหวัดทั้ง 4 ที่ผมเลือกมาคือ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และนครสวรรค์ ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่ผู้คนมักใช้เป็นเส้นทางขับรถผ่านไปยังภาคเหนือ และเมื่อถามว่าจังหวัดทั้ง 4 มีอะไรน่าสนใจหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้แวะชมบ้าง คำตอบของคนส่วนมากมักออกมาในทำนองที่ว่า ตัวเขาเองแทบไม่รู้จักอะไรใน 4 จังหวัดที่ว่านี้เลย และนั่นคือที่มาที่ทำให้ผมเขียนทริปนี้ขึ้น เพราะอยากชวนทุกคนมาสัมผัสเสน่ห์ของภาคกลางที่จะไม่ใช่ทางผ่านของเราอีกต่อไป

เนื่องจากทริปนี้มีเวลาจำกัดเพียง 2 วัน 1 คืนเท่านั้น ผมจึงต้องตั้งคอนเซ็ปต์ให้แต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน และเลือกบางสิ่งบางอย่างในจังหวัดนั้นมาเป็น ‘ไฮไลต์’ เพื่อพาผู้ร่วมเดินทางไปสัมผัส สำหรับจังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของเราในเช้าวันนี้ ผมเลือกศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านขึ้นมาเป็นพระเอก อันที่จริงแล้วจังหวัดอ่างทองอุดมไปด้วยแหล่งศิลปหัตถกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเครื่องจักสาน การทำกลอง หรือการทำตุ๊กตาชาววัง 

สำหรับการเดินทางครั้งนี้ ผมเลือกพาสมาชิกไปที่ หมู่บ้านตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ ซึ่งเป็นโครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดําริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร โดยปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (SACICT) 

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท
หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

ตุ๊กตาชาววังก็คือตุ๊กตาดินตัวเล็ก ๆ น่ารัก ปั้นเป็นรูปคนบ้าง สิ่งของบ้าง ที่เราคุ้นตานั่นเอง ตุ๊กตาชาววังมีความเป็นมาย้อนกลับไปตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อข้าหลวงในวังได้ประดิษฐ์ตุ๊กตาเหล่านี้ขึ้นมาและแพร่หลายออกมานอกรั้ววัง เมื่อ พ.ศ.2519 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในเขตภาคกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร และเสด็จฯ มายังบ้านบางเสด็จนี้เป็นการส่วนพระองค์ 

ชาวบ้านที่นี่เล่าให้พวกเราฟังว่าในสมัยก่อนคนที่นี่ทำธูปและเผาอิฐขาย ซึ่งมีปัญหาในการประกอบอาชีพ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ฝนตกลงมา ธูปก็ไม่แห้ง อิฐก็เสีย ชาวบ้านมีรายได้ไม่แน่นอน สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ครูศิลปาชีพมาช่วยฝึกสอนการทำตุ๊กตาชาววังแก่ชาวบ้าน เพราะทรงพระราชดำริว่าดินบริเวณนี้เป็นดินที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะนอกจากจังหวัดอ่างทองและพื้นที่ใกล้เคียงจะเป็นแหล่งเกษตรกรรมมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งดินสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญด้วย 

นักโบราณคดีมีการค้นพบแหล่งเตาสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผาที่ริมแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี และพบว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงเวลาร่วมยุคกับสมัยอยุธยา เรียกได้ว่าดินบริเวณนี้มีคุณสมบัติไม่ธรรมดาอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ตุ๊กตาชาววังกลายมาเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านบางเสด็จจนถึงทุกวันนี้

“ที่นี่เจ้านายเสด็จมาต่อเนื่องหลายพระองค์เลยค่ะ แล้วก็มีคนมาดูงาน มีนักเรียนมาหัดทำตุ๊กตาชาววังกันเยอะแต่ปีที่ผ่านมานี้มีโควิด เราไม่เจอใครมาเกือบปี ทุกท่านมาที่นี่เป็นคณะแรกเลยนะคะ คนที่นี่ดีใจมากเลยค่ะ”

ชาวบ้านบางเสด็จท่านหนึ่งบอกกับเรา และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง ผมเชิญชวนให้สมาชิกทดลองระบายสีตุ๊กตา พร้อมกับรับประทานขนมไทยชุดใหญ่ที่ชาวบ้านจัดมาให้ ทุกคนลงความเห็นกันว่าชาวบ้านจัดขนมให้เราด้วยใจจริง ๆ เพราะเราได้ขนมมัน ขนมกล้วย ขนมตาล และขนมดอกดิน ซึ่งหารับประทานได้ยากชิ้นใหญ่ ๆ คนละชิ้น และน้ำใบเตยหอมหวานชื่นใจคนละขวด ผมในฐานะคนจัดการหันไปคุยกับพี่เจ้าหน้าที่ของบริษัททัวร์ซึ่งเป็นคน ‘คุมงบประมาณ’ แล้วก็เห็นพ้องต้องกันทั้งคู่ว่าน่าทึ่งเกินคุ้ม และซาบซึ้งในการต้อนรับด้วยหัวใจของชาวบ้านที่นี่ และที่น่าชื่นใจไม่แพ้กันนั่นก็คือสมาชิกทุกคนของเราลงมือจับพู่กันแต้มสีบนตุ๊กตาอย่างเพลิดเพลิน และนั่นนำมาซึ่งรอยยิ้มแห่งความสุขของผมและทีมงาน รวมถึงชาวบ้านบางเสด็จทุกคน

“เรามีตุ๊กตาให้ท่านได้ระบายสีคนละหนึ่งตัว เมื่อระบายเสร็จแล้วจะออกมาเป็นตุ๊กตาชาววังหรือไม่ อันนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านแล้วนะครับ” ผมพูดหยอก ๆ ตามด้วยเสียงหัวเราะครื้นเครง

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

บริเวณพื้นที่ติดกันกับหมู่บ้านบางเสด็จคือวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เอาไว้ในพระราชูปถัมภ์ ปัจจุบันภายในพระอุโบสถจึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเสด็จพระราชดำเนินและของดีเมืองอ่างทอง รวมถึงชาดกเรื่อง พระมหาชนก อันงดงาม ผมกล้าพูดได้ว่าจิตรกรรมพระอุโบสถวัดท่าสุทธาวาสเป็น Unseen อันมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของจังหวัดอ่างทอง และผมก็กล้ายืนยันได้ว่าผมไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเองคนเดียว เพราะแววตาของสมาชิกทุกท่านที่มองไปยังจิตรกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถนั้นไม่ได้แตกต่างไปจากความรู้สึกของผมเลย

คุณพี่สองสามท่านจากบ้านบางเสด็จบอกกับผมว่าขอกอดหนึ่งที และขอบคุณพวกเรามาก ๆ ที่มาเยี่ยมบ้านบางเสด็จ ก่อนจะชักชวนกันมาถ่ายรูปด้วยกันที่เป็นที่ระลึกก่อนที่คณะของเราจะต้องเดินทางต่อไป

“แล้วมาอีกนะ” คุณพี่ท่านหนึ่งบอกกับผม

“ครับพี่ ผมจะมาอีกแน่นอน” ผมให้คำมั่นก่อนที่รถบัสของเราจะเคลื่อนตัวออกจากหมู่บ้านบางเสด็จ พร้อมกับรอยยิ้มและการโบกมืออำลาอย่างมีความสุขของเจ้าบ้านที่มีให้แก่แขกผู้มาเยือนทุกคน

สิงห์บุรี : คู่หล้าพระนอน

จังหวัดที่สองของเราคือจังหวัดสิงห์บุรี ผมตั้งใจเลือกให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งพระนอนศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือพระนอนจักรสีห์แห่งวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่คงมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์พระองค์สำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลายเคยเสด็จฯ มาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ และเสนาสนะทั้งหลายทั้งปวงที่เราเห็นอยู่ภายในวัดทุกวันนี้ ส่วนมากได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท
หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

เนื่องจากเรายังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวังเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 จึงใช้เวลาที่วัดพระนอนจักรสีห์ไม่นานนัก แต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เราใช้เวลาส่วนตัวของแต่ละคนอยู่ในความสงบนิ่งและความงามของพระพุทธปฏิมาเบื้องหน้า ภาพความอิ่มเอมใจของสมาชิกร่วมทริปที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ทำให้ผมนึกไปถึงจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของทริปนี้ 

นั่นคือคืนวันหนึ่งปลายเดือนเมษายน เมื่อ พ.ศ. 2562 คืนวันนั้นผมไปสังสรรค์กับเพื่อนสนิทที่ผับแห่งหนึ่งใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (จุดเริ่มต้นช่างขัดแย้งกับความสงบตรงหน้าเหลือเกินครับ) เราปรารภถึงเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มที่ไปใช้ทุนเป็นทันตแพทย์อยู่ที่จังหวัดชัยนาท และพูดคุยกันว่าเราน่าจะจัดทริปไปเยี่ยมเพื่อนคนนี้ให้ถึงจังหวัดที่เพื่อนทำงานอยู่เสียที โดยแวะเที่ยวจังหวัดอื่นด้วย

“ว่าแต่ตรงนั้นมีอะไรเที่ยวบ้างล่ะ” เพื่อนคนหนึ่งถามขึ้น

ผมรับปากเพื่อนว่าเรื่องที่เที่ยวนั้นมีแน่ ขอให้อยากไปก็แล้วกัน เดี๋ยวผมวางโปรแกรมให้ ต้นเดือนถัดมาคือเดือนพฤษภาคม ผมกับกลุ่มเพื่อนจึงได้มีทริปเล็ก ๆ กันในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง คือจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี แม้ว่าจะเป็นทริปในเมืองรอง แต่ผมก็เห็นว่าเพื่อนทุกคนก็สนุกและประทับใจกับสถานที่ต่าง ๆ ไม่น้อย รวมถึงอาหารการกินที่ครบเครื่องในราคาเป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ของพวกเรามาก ในฐานะคนวางโปรแกรม ผมก็ชื่นใจและรู้สึกว่าจังหวัดในเขตภาคกลางนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวเสียจริง

หลังจากทริปกับกลุ่มเพื่อนครั้งนั้นเอง ผมก็หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ในใจว่า ผมจะต้องทำทริปเท่ ๆ เที่ยวภาคกลางขึ้นมาให้ได้สักทริปหนึ่ง ผมจึงเอาโปรแกรมที่เคยเดินทางกับเพื่อน ๆ มาปรับเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย จนกระทั่งกลายเป็นความสุขของพวกเราในวันนี้ขึ้นมา

พระพักตร์ของพระนอนจักรสีห์เอิบอิ่มงดงามด้วยพุทธลักษณะ ผมไม่ได้ขอพรอะไรเป็นพิเศษจากท่าน ยกเว้นแต่ความตั้งใจกับตัวเองที่จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อให้การเดินทางครั้งนี้ราบรื่น หรือถึงแม้จะเจอเรื่องไม่ราบรื่นบ้าง ก็ขอให้การเดินทางครั้งนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ไม่ว่าพรวิเศษนั้นจะมีอยู่จริงบนโลกนี้หรือไม่ แต่เราก็ได้รับความสุขและความอิ่มใจอย่างยิ่งจากจังหวัดสิงห์บุรีแล้ว

หลงรักเมืองรอง นั่งรสบัสเที่ยว 4 จังหวัดภาคกลาง อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ ชัยนาท

นครสวรรค์ : แลนด์มาร์กสุดเท่

หลังมื้ออาหารกลางวันแสนอร่อย (คำว่า ‘อร่อย’ นี้การันตีจากสมาชิกของพวกเราทุกคน) ได้เวลาหนังท้องตึงหนังตาหย่อน เพราะฉะนั้นเราเผลอวูบไปครู่เดียวเท่านั้น ก็เดินทางข้ามจังหวัดชัยนาทมาถึงจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของพวกเราในวันนี้ เราแวะเปลี่ยนอิริยาบถสบาย ๆ กันที่ ฟาร์มแกะทหารช่าง ตั้งอยู่ในเขตกองพันทหารช่าง กองพลทหารราบที่ 4 ค่ายจิรประวัติ เป็นพื้นที่สําหรับการเรียนรู้การทําเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรกรรมวิถียั่งยืนของพลทหารและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ในพื้นที่ฟาร์มยังมีน้องสัตว์น่ารัก ๆ มากมาย ทั้งวัว ม้า ไก่ และที่สำคัญ มีน้องแกะมารอต้อนรับรอพวกเราให้อาหารด้วย

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท
ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท

จากฟาร์มแกะทหารช่าง เราไปพักผ่อนกันที่โรงแรม อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ และรีบออกจากโรงแรมให้ทันเวลาก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะมาถึง เพราะเรามีนัดกับดวงอาทิตย์สีส้มกลมโตที่ลอยอ้อยอิ่งแตะเส้นขอบฟ้า กระเจิงแสงสีส้มงามตาให้พวกเราได้ชักภาพเป็นที่ระลึกก่อนที่ม่านดำแห่งรัตติกาลจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุม แต่แม้ว่าพวกเราจะทำไม่สำเร็จ ก็ยังรู้สึกว่าหยดน้ำหยาดแรกของแม่น้ำเจ้าพระยายังคงยินดีต้อนรับพวกเราทุกคนอยู่

หลังมื้ออาหารเย็น ผมชวนสมาชิกไปเดินผ่อนคลายกันที่ คลองญวนชวนรักษ์ เป็นโครงการที่ส่วนราชการของจังหวัดนครสวรรค์ช่วยกันปรับปรุงพื้นที่บริเวณเกาะญวน ซึ่งเป็นลำน้ำที่รับน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสียและโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งไปสู่การพัฒนาเมืองนครสวรรค์ให้กลายเป็น Smart City ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาเมืองนครสวรรค์ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคนทั้งคนท้องที่และผู้มาเยือน

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท
ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท

สมาชิกหลายท่านบอกกับผมว่าไม่เคยนึกว่าเมืองนครสวรรค์ซึ่งเคยเป็นเมืองผ่าน และเปรียบเสมือน ‘ประตูสู่ภาคเหนือ’ เป็นเพียงแค่ประตูที่ใครหลายคนพร้อมผ่านเลยไป ในวันนี้จะมีแลนด์มาร์กเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจและยากจะหาจังหวัดไหนในประเทศไทยทำได้เหมือน ผมฟังเช่นนั้นก็เห็นจริง เพราะแลนด์มาร์กใหม่ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของจังหวัดนครสวรรค์นั้นดึงดูดผู้คนให้มาเยือนจังหวัดแห่งนี้มหาศาล และทำให้นครสวรรค์กลายเป็นเมืองที่ต้องหยุดแวะ ไม่ใช่เมืองผ่านอีกต่อไป 

ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่แต่ละท้องถิ่นควรพัฒนาต่อเป็นนโยบาย เพราะถ้าเมืองใดเมืองหนึ่งมีผู้คนนิยมแวะมาเยี่ยมเยียนแม้เพียงวันเดียวหรือแม้กระทั่งเพียงครึ่งวัน ก็ย่อมก่อให้เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในเมืองนั้นเพิ่มมูลค่ามหาศาล ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ก็ตกอยู่กับคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการพึ่งพาตนเองในระยะยาวต่อไป

เมื่อสมควรแก่เวลาเราก็เดินทางกลับที่พัก และผมสัญญากับคณะของเราว่า ผมจะพาทุกคนไปที่พาสานอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้พวกเราทุกคนมีรูปสวย ๆ ตอนกลางวันสมกับที่ตั้งใจ และเมื่อแสงสีขาวนวลของวันใหม่สาดส่องมาถึง เราก็ได้รวมตัวกันที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง ก่อนจะอำลาเมืองปากน้ำโพเพื่อหันหน้าเข้ากรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชัยนาท อันเป็นจังหวัดสุดท้ายของเราในการเดินทางครั้งนี้

ชัยนาท : เมืองเก่าแสนเพลิน

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท

จังหวัดชัยนาทต้อนรับเราด้วยทิวทัศน์อันงดงามจากมุมสูงของวัดธรรมามูลวรวิหาร อำเภอเมืองชัยนาท ก่อนที่เราจะเดินทางมุ่งหน้าสู่อำเภอสรรพยา ซึ่งมีตลาดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงคือชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา อันเป็นที่ตั้งของอาคารสถานีตำรวจภูธรหลังเก่าของอำเภอสรรพยา สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2444) จนถึงปัจจุบันโรงพักแห่งนี้มีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว และกลายเป็นแลนด์มาร์กน่ารักของชุมชน ถัดจากด้านหน้าของอาคารสถานีตำรวจเป็นถนนที่ทอดยาวไปสู่วัดสรรพยาวัฒนาราม วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของอำเภอสรรพยา ในอดีตชุมชนแห่งนี้เคยทรุดโทรมลงไป แต่ด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชน บัดนี้ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยาได้รับการปลุกขึ้นมาให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เราเดินทางไปถึงนั้นยังเป็นช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ บรรยากาศสองข้างทางยังไม่คึกคักมากนัก แต่เราก็ยังเห็นวิถีชีวิตการทำมาค้าขายของชาวบ้านในบริเวณนี้อยู่บ้าง ทั้งร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ และขนมหน้างากุยหลี ซึ่งเป็นของฝากชื่อดังอันมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีให้เราเลือกซื้อได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่เป็นปกตินัก แต่ชาวบ้านที่นี่ก็พร้อมจะส่งยิ้มทักทายผู้มาเยือนอย่างพวกเรา และทำให้การเดินตลาดเก่าที่อำเภอสรรพยาของพวกเราอบอุ่นมากทีเดียว

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท

ที่วัดสรรพยาวัฒนาราม ผมพาสมาชิกของเราไปชมของแปลกอย่างหนึ่งซึ่งพบได้ไม่มากนักภายในวัดของประเทศไทย นั่นก็คือประติมากรรมพระพุทธสรีระ (พระศพ) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ในหีบพระศพ (โลงศพ) โดยมีพระสาวกองค์ต่าง ๆ (สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระมหากัสสปะและภิกษุรูปอื่น ๆ) มาคุกเข่าอยู่ที่ปลายพระบาทซึ่งเกิดพุทธปาฏิหาริย์ยื่นออกมานอกหีบพระศพให้พระมหากัสสปะซึ่งติดภารกิจอยู่ที่อื่นและกลับมาไม่ทัน ‘ดูใจ’ พระพุทธเจ้าในคืนวันเสด็จดับขันธปรินิพพานได้สักการะ 

ในตำนานพุทธประวัติซึ่งได้รับการแต่งเติมให้มีสีสันขึ้นในวัฒนธรรมต่าง ๆ ระบุถึงปาฏิหาริย์ในช่วงการเสด็จดับขันธปรินิพพานเอาไว้หลายเวอร์ชันด้วยกัน แต่บางเวอร์ชันก็มีรายละเอียดยืดยาวมากซึ่งคงจะถึงได้ไม่หมดในที่นี้ รวมถึงอาจมีความไม่สมเหตุสมผลบางประการ พุทธประวัติฉบับไทยจึงรับเอาพุทธปาฏิหาริย์มาใส่ไว้ในวรรณกรรมของตนเพียงประการเดียว นั่นก็คือเมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราเชิญพระพุทธสรีระขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานเตรียมจะถวายพระเพลิง ปรากฏว่าเพลิงนั้นจุดเท่าใดก็ไม่ติด จนเมื่อพระมหากัสสปะซึ่งเป็นพระอรหันตสาวกรูปหนึ่งได้เดินทางมาถึงพร้อมกับหมู่สงฆ์ พระพุทธสรีระนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ยื่นพระบาทออกไปดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อพระมหากัสสปะได้สักการะพระพุทธสรีระแล้ว ทันใดนั้นเพลิงก็ติดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ประติมากรรมนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยของวัดสรรพยาวัฒนาราม และมีชื่อเรียกที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวว่าพระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับคำนี้ เพราะคำว่าปางนั้นมีความหมายว่าการทำกิริยาของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถต่าง ๆ แต่ประติมากรรมนี้เล่าเรื่องตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จึงทำให้ไม่ทรงทำกิริยาอันใดได้อีก ประกอบกับผู้ที่ทำกิริยากราบนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแต่เป็นพระสาวก และประการสุดท้ายนั่นคือพระบรมศพเป็นราชาศัพท์ที่ใช้กับสรีระสังขารแห่งองค์พระมหากษัตริย์ สำหรับพระพุทธเจ้านั้นเราใช้คำว่าพระพุทธสรีระ ผมจึงอยากเสนอให้เรียกให้ถูกต้อง เป็นประติมากรรมพระพุทธสรีระในหีบพระศพแสดงปาฏิหาริย์แก่พระมหากัสสปะมากกว่า ผมยังคิดชื่อซึ่งสื่อความหมายได้ถูกต้องที่สั้นและกระชับกว่านี้ไม่ออก อยากระดมไอเดียจากทุก ๆ ท่านเหมือนกันครับ

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท
วิหารวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี

หลังจากจบโปรแกรมที่อำเภอสรรพยาแล้วก็ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี ก่อนที่เราจะมีโปรแกรมส่งท้ายในภาคบ่ายด้วยการไปชมวัดโบราณในเขตอำเภอสรรคบุรี วัดแห่งแรกคือวัดมหาธาตุ เราสังเกตได้ว่าทั่วประเทศนั้นมีวัดมหาธาตุอยู่หลายแห่ง นักประวัติศาสตร์อธิบายว่าการประดิษฐานมหาธาตุคือการประดิษฐาน (ปูชนียวัตถุอันเชื่อกันว่าเป็น) พระบรมสารีริกธาตุภายในสถูปเจดีย์ ด้วยความมุ่งหมายจะให้สถูปเจดีย์นั้นเปรียบเสมือนหลักเมืองหรือโดยปริยายอาจหมายถึงศูนย์กลางแห่งจักรวาล 

ฉะนั้นโดยความสำคัญข้อนี้ การสถาปนามหาธาตุจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ในทุกเมือง ทำได้เฉพาะเมืองขนาดใหญ่และมีอำนาจมากเท่านั้น ถ้าไม่นับสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว เรายังมีมหาธาตุในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เช่น ราชบุรี เพชรบุรี รวมถึงชัยนาท นั่นหมายความว่าแม้ว่าในปัจจุบันชัยนาทจะเป็นเมืองรองที่เงียบสงบ แต่ในอดีตนั้นชัยนาทเคยเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญมาก่อน 

ในสมัยอยุธยาตอนต้นมีการเรียกชื่อพื้นที่บริเวณนี้ว่าเมืองแพรกศรีราชา คำว่า ‘แพรก’ หมายถึงทางแยกของสายน้ำ นั่นหมายถึงชัยนาทน่าจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมค้าขายที่สำคัญตามระบบลำน้ำในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเหตุให้ชัยนาทสร้างเสริมความมั่งคั่งและกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ได้ สำหรับโบราณสถานวัดมหาธาตุในปัจจุบัน ทั้งเจดีย์และวิหารต่าง ๆ หลายแห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นร่วมสมัยกับช่วงที่เจ้ายี่พระยา พระโอรสองค์รองของสมเด็จพระนครินทราธิราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งสมัยอยุธยาเสด็จมาครองเมืองแพรกศรีราชานี้เองเมื่อช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท
พระเจดีย์ประธานวัดพระแก้ว ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ราชินีแห่งเจดีย์จากการยกย่องของ น. ณ ปากน้ำ

เราปิดท้ายการเดินทางของเรากันที่วัดพระแก้ว ซึ่งได้ชื่อนี้มาจากการที่เคยมีผู้ขุดค้นพบพระพุทธรูปขนาดเล็กที่ทำขึ้นจากแก้วผลึกมาก่อน ที่นี่เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์สมัยอยุธยาตอนต้นที่ได้รับการยกย่องจาก น. ณ ปากน้ำ ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย กย่องว่าเป็นเจดีย์ที่มีความงามที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเป็น ‘ราชินีแห่งเจดีย์’ 

นอกจากนี้ภายในพระวิหารด้านหน้าพระเจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อฉาย พระพุทธรูปซึ่งได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 5 ของสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่การพบทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสมัยบาปวน (พุทธศตวรรษที่ 16) แปะกลับหัวอยู่ด้านหลังพระพุทธรูป ซึ่งน่าจะเกิดจากการบูรณะพระพุทธรูปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวบ้านในอดีต แต่การพบทับหลังชิ้นสำคัญนี้ก็เป็นกุญแจดอกสำคัญที่ไขความกระจ่างให้เราได้ว่า พื้นที่ของเมืองชัยนาทนั้นน่าจะเคยมีผู้คนอยู่อาศัยมาไม่น้อยกว่า 1,000 ปีแล้ว หรือตั้งแต่สมัยอาณาจักรขอมโบราณยังรุ่งเรืองนั่นเอง

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท
ทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (กลับหัว) หลังหลวงพ่อฉาย

ภาคกลางที่ต้องไปเห็น

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ในช่วงค่ำของวันนั้น รถบัสนำพาคณะของเรากลับมาถึงกรุงเทพมหานคร พร้อมกับคำสัญญาว่าเราจะได้พบกันอีกในทุก ๆ ครั้งของการเดินทาง

เมื่อผมบอกใคร ๆ ว่า ผมอยากจะชวนคนไปเที่ยวเมืองรองในภาคกลางของเรา ผมมักจะได้รับคำถามว่าเมืองเหล่านี้มีอะไรน่าสนใจ หรือแม้กระทั่งว่าใครจะอยากไปเที่ยวกับผม แต่วันนี้ผมก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมืองรองของเรามีของดีมากมาย และของดีที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องราวเล่าขานในการเดินทางครั้งนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ในแต่ละจังหวัดยังมีเพชรเม็ดงามมากมายที่ซ่อนตัวอยู่และรอให้ผู้คนภายนอกแวะมาเยี่ยมเยือน

ผมได้รับข้อความจากผู้ร่วมเดินทางของเราหลายคน ว่าทริปนี้เป็นทริปที่มีความสุขมาก ๆ หลายคนอยากจะขอตามไปเที่ยวด้วยในการเดินทางครั้งหน้า ผมตอบกลับไปด้วยความรู้สึกที่แท้จริงว่า ผมเองก็มีความสุขและอิ่มใจมาก ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสุขที่ได้เห็นสมาชิกผู้ร่วมเดินทางทุกท่านเพลิดเพลินไปกับคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เราอาจจะเคยมองข้ามไป และนี่คือเสน่ห์อันยิ่งใหญ่ของภาคกลางที่ผมอยากเชิญชวนให้ทุกท่านให้ไปสัมผัสด้วยตนเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ทริป 2 วัน 1 คืน สัมผัสเสน่ห์ภาคกลางในเมืองรอง 4 จังหวัด อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ และชัยนาท

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก