ในช่วงหลายปีมานี้ หลายธุรกิจเล็กใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่เซ็นทรัลพัฒนาได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด และนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานและพัฒนาทุก ๆ โครงการเรื่อยมา

“เราอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้คน ชุมชน และสังคมที่เราอยู่” คุณโอ-ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บอกทันทีที่บทสนทนาเริ่มต้น ทำให้รู้ว่าการปรับแบรนด์ดิ้งขององค์กร บนแนวคิด Imagining better futures for all ไม่ได้แค่เพียงเปลี่ยน Identity ใหม่ให้สะดุดตาและเข้าถึงท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แต่ตอกย้ำหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยตลอด 40 ปี นับแต่วันแรกที่ คุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ตั้งใจจะทำศูนย์การค้าที่ดีที่สุดในประเทศไทยเพื่อคนไทย

“ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และคนไทยทุกคน คือสิ่งสำคัญมาตั้งแต่วันแรก” และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานหรือริเริ่มโครงการใหม่ทุกครั้ง เพราะเชื่อว่าคุณภาพชีวิต คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา หากผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนจะดีขึ้น เมืองจะดีขึ้น และประเทศก็จะดีขึ้น

PURPOSE

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาโครงการแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย คือ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรูปแบบศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

เวลาล่วงเลยไป 40 ปี นอกจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่อยู่ในใจคนไทยแล้ว เซ็นทรัลพัฒนายังขยายเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหลัก 37 แห่ง รวมถึงโครงการที่อยู่อาศัย 22 แห่ง โรงแรม 2 แห่ง และออฟฟิศชั้นนำอีก 10 แห่ง

“บริษัทเรายึดมั่นและดำเนินการในเจตนารมณ์ที่ชัดเจนและแน่วแน่มาโดยตลอด ที่จะทำให้มาตรฐานคุณภาพชีวิตให้คนและชุมชน รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพราะสองเรื่องนี้แยกออกจากกันไม่ได้”

คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับเซ็นทรัลพัฒนา คือ การสร้างสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความสัมพันธ์ ให้ผู้คนได้มาพักผ่อน พบปะกัน รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่นให้เติบโตร่วมกัน สร้างอาชีพและรายได้ ปลุกสำนึกรักบ้านเกิด จ้างตำแหน่งงานที่ทำงานใกล้บ้านและชุมชนของตัวเองได้

คุณโอเล่าต่อว่า บริษัทเติบโตขึ้นทุกวัน มีธุรกิจในเครือเกิดขึ้นใหม่มากมาย มีพนักงาน ผู้ประกอบการ และร้านค้าอีกนับไม่ถ้วน แต่ยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิมที่ชัดเจน ด้วยเป้าหมายที่สร้างอิมแพคให้กับประเทศมากขึ้น โดยสื่อสารผ่านแคมเปญแบรนด์ดิ้งให้นักลงทุน คู่ค้า พนักงาน และลูกค้า เห็นภาพใหญ่ภาพเดียวกัน และใช้โอกาสครบรอบ 40 ปีปรับเปลี่ยน Brand Identity ของบริษัท คือ เซ็นทรัลพัฒนา รวมถึงโลโก้ของแต่ละสาขาด้วย

IDENTITY

“ผมภูมิใจที่เราตั้งใจทำสิ่งนี้มาตลอด 40 ปี”

ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่องค์กรไม่ว่าใหญ่หรือเล็กหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป และเซ็นทรัลพัฒนาเองก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเนิ่นนาน

“ผมว่าทุกคนสามารถมีบทบาทได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็ก บางคนมีส่วนร่วมได้ แต่ถ้าคุณเป็นองค์กรใหญ่ ก็ควรจะสร้างอิมแพคได้มากและนาน”

Imagining better futures for all คือแนวคิดของเซ็นทรัลพัฒนาในวันนี้

อนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน คือการได้ส่งต่อโอกาสให้กับคน สร้างสถานที่ดี ๆ ให้ชุมชน ที่จะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ของทุกชีวิตในสังคม

FOR EVERYONE

นับแต่วันแรก เซ็นทรัลพัฒนา พัฒนาพื้นที่และประสบการณ์ที่สร้างความสุขให้กับทุกความสัมพันธ์ที่มีความหมาย​และมีคุณค่า​ พร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต ทำงาน พบปะ เรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์​แห่งความสุขร่วมกัน

“โดยการพัฒนาศูนย์การค้าของเรา เรามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความต้องการ​ของลูกค้าทุกแห่ง สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้คนที่หลากหลาย ​รวมไปถึงการผสมผสานส่วนผสมอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ท้องถิ่น และร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น”

หากยกตัวเลขให้เห็นภาพมากขึ้น เซ็นทรัลพัฒนามีส่วนช่วยสร้างเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจและสร้างการจ้างงานมากกว่า 150,000 ตำแหน่ง รวมถึงการให้พื้นที่ศูนย์การค้า เปิดตลาดเพื่อช่วยเหลือผู้คนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การทำโซน Hug Thai ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากภูมิภาคต่าง ๆ และตลาดจริงใจของโครงการเซ็นทรัลทำ (Central Tham) ซึ่งอยู่ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล เริ่มต้นจากการช่วยเกษตรกรขายผัก ผลไม้ ส่วนหนึ่งขายในท้องถิ่น อีกส่วนกระจายไปทั่วประเทศโดยเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล และมีช่องทางการขายที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาหลายแห่งทั่วประเทศ

ภายในองค์กรยังให้ความสำคัญกับคุณค่าทางสากล ทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ความเท่าเทียม และความแตกต่าง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเซ็นทรัลพัฒนามีพนักงานหลากหลาย ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศหรือความบกพร่องทางร่างกาย และที่ผ่านมาก็มีผู้บริหารระดับสูงหลายท่านเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับ คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ ซีอีโอหญิงคนปัจจุบัน

เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เซ็นทรัลพัฒนาให้ความสำคัญ เหมือนที่คุณโอบอกว่า “คนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน เราจะเป็นแบรนด์ที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อเราใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม”

เซ็นทรัลพัฒนาตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นองค์กร Mixed-use Developer รายแรกที่เข้าสู่ Net Zero Carbon Emission ให้ได้ภายในปี 2050 โดยมีแผนงานโร้ดแม็ปลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษจากธุรกิจสุทธิเป็นศูนย์ ในธุรกิจศูนย์การค้า ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรมทั่วประเทศ ผ่านการลดการใช้พลังงานให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้ CFC และสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือ Clean Energy  ให้ได้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกโครงการให้ได้ถึง 1 ล้านต้นโดยเร็วอีกด้วย

LOGOS

หลังจากเปลี่ยนแบรนด์ให้เป็น CPN เมื่อหลายปีก่อน เซ็นทรัลพัฒนาเลือกที่จะกลับมาใช้ชื่อเต็มเป็น Central Pattana อีกครั้ง เพราะคำว่า ‘พัฒนา’ คือดีเอ็นเอที่แท้จริงของธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังนำเลขไทยมาใช้เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของภาษา แสดงถึง Local Spirit ได้ดี

ถ้าก่อนหน้านี้ผู้อ่านได้เห็นข่าวเปิดตัวโลโก้ใหม่ของทุกทั่วประเทศ และเปลี่ยนชื่อจากเดิมที่เคยต่อท้ายด้วยคำว่า ‘พลาซา’ หรือ ‘เฟสติวัล’ ให้เป็นชื่อเรียกตามที่คนในชุมชนเรียกกัน อย่างเซ็นทรัลเชียงใหม่ เซ็นทรัล อุบล หรือเซ็นทรัล นครศรี

การรีแบรนด์เซ็นทรัลพัฒนาที่ตั้งใจเข้าถึงชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอนาคตที่ดีขึ้น

“เพราะเราเชื่อเรื่อง Customer Champions เรายกให้ลูกค้าเป็นหัวใจในการทำงาน ในการพัฒนาโครงการอะไรก็ตาม เราจะเริ่มต้นที่ลูกค้าเสมอ

“แม้แต่โลโก้ของแต่ละสาขา ก็มาจากแนวคิดที่แสดงอัตลักษณ์และความภูมิใจของท้องถิ่น นำมาผสมกับความเรียบและโมเดิร์น เราอยากให้คนท้องที่ภูมิใจกับเมืองของเขา”

โฉมใหม่ของโลโก้นี้เป็นฝีมือระดับอินเตอร์และเป็น Exclusive Collaboration ระหว่างเซ็นทรัลพัฒนา และ North สตูดิโอออกแบบจากสหราชอาณาจักร โกลบอลเอเจนซี่ระดับโลก นำทีมโดย Jeremy Coysten ผู้ทำงานกับเซ็นทรัลพัฒนามากว่าสิบปีแล้ว

แนวคิดในการออกแบบคือ Central + Location เป็นการทำให้ Central เข้าไปผสมผสานในทุก ๆ ท้องถิ่น ด้วยแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ และประวัติศาสตร์อันยาวนานของแต่ละท้องถิ่น มาร้อยเรียงเป็นโลโก้ใหม่ อาทิ

เซ็นทรัล อยุธยา ใช้รูปทรงของเจดีย์มาวาดลวดลาย

เซ็นทรัล เชียงใหม่ เซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต และเซ็นทรัล เชียงราย นำภูมิทัศน์ของไร่นา เส้นโค้งของไร่ชาบนภูเขาทางภาคเหนือมาเป็นแรงบันดาลใจ

การตีความลวดลายของเครื่องปั้นดินเผาและอักษรโบราณให้ออกมาเป็นโลโก้ของสาขาภาคอีสาน อย่างเซ็นทรัล อุดร และเซ็นทรัล ขอนแก่น

หรือสาขาล่าสุดเซ็นทรัล จันทบุรี ที่ออกแบบจากอัตลักษณ์อันโดดเด่นของจันทบุรี ชุมชนริมน้ำจันทบูร และลวดลายของเสื่อกกจันทบูร เป็นต้น

การรีแบรนด์ในวาระครบรอบ 40 ปีเซ็นทรัลพัฒนา ด้วยเป้าหมายเพื่อเข้าถึงชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างอนาคตที่ดีขึ้น

เจเรมี่เล่าว่า ความท้าทายของโครงการนี้คือการแตกแขนงแบรนดิ้งจากเดิมที่มีแค่ ‘พลาซา’ และ ‘เฟสติวัล’ ไปเป็นมากกว่า 30 แบรนด์ โดยแต่ละสาขาต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ในเวลาเดียวกันก็ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับสาขาอื่น ๆ ด้วย

Imagining better futures for all

หลายธุรกิจรีแบรนด์เพื่อตอบรับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ขณะที่แนวคิดของเซ็นทรัลพัฒนามีความตั้งใจอยู่แล้วว่า for All นั้นหมายถึง จะไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง

จากการวิจัยพบว่าแบรนด์ที่มีเจตจำนงและคาแรกเตอร์ชัดเจนจะเติบโตขึ้น 2 เท่า และ 90 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มมิลเลนเนียลมีแนวโน้มจะเลือกบริโภคธุรกิจที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มองธุรกิจมากกว่าผลกำไร แต่ต้องการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมโลก

“เรายังทำเพื่อทุก Stakeholder พอเป็นองค์กรใหญ่ก็มีผู้เกี่ยวข้องเยอะ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้เช่า ผู้ประกอบการ พนักงาน แล้วอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องมีนักลงทุนด้วย ดังนั้น Sense of Purpose ของเรายังเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม แต่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับจุดยืนของธุรกิจต่าง ๆ มาก จุดยืนขององค์กรคืออะไร ตรงกับจุดยืนของเขาไหม เวลาเขาเลือกองค์กรที่จะเข้าไปทำงาน ก็จะมีความคิดความอ่านที่ลึกขึ้น

“แต่ไม่ใช่แค่คนที่จะเข้ามาร่วมงานกับเราและอยากสร้างอิมแพคให้กับสังคม เราหวังว่าลูกค้า ผู้เช่า เขาจะเห็นความตั้งใจ เข้าใจ และอยากเข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน โดยหวังว่าจะทำให้ Loyalty ที่เหนียวแน่น เป็น Ecosystem ครบถ้วนยิ่งขึ้น”

ในขวบปีที่ 40 เซ็นทรัลพัฒนายังคงตั้งใจสร้างอิมแพคครั้งใหญ่ และมีแผนขยายไปในอีก 30 จังหวัดทั่วประเทศ แต่สังคมอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงได้ด้วยมือของใครคนใดคนหนึ่ง เหมือนที่คุณโอทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “สุดท้าย เราต้อง ‘ร่วมแรง ร่วมใจ’ สร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับสังคมและเศรษฐกิจไปด้วยกันกับทุกคน”

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง