อีสเตอร์ปีนี้ตรงกับเดือนเมษายน มาก่อนหน้าวันสงกรานต์เพียงวันเดียว และเป็นปีแรกในชีวิตของผม (และหลายๆ ท่านเลยทีเดียว) ที่ต้องประกอบพิธีกรรมร่วมมิสซาออนไลน์กันโดยไม่ได้ไปโบสถ์ เพราะพิษโคโรนาไวรัสทำให้รัฐบาลของหลายๆ ชาติต้องสั่งปิดศาสนสถาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีปรากฏว่ามีบาทหลวงหรือนักบวชป่วยด้วยโรคนี้ แต่ในอิตาลี อันเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนานิกายคาทอลิกนั้น มีบาทหลวงที่ติดโรคนี้และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 90 ท่าน และในสำนักชีบางแห่งก็ติดเชื้อกันทั้งอารามทีเดียว พิธีอีสเตอร์ของปีนี้จึงเงียบเหงากว่าทุกปี แต่ก็เป็นโอกาสให้เราไตร่ตรองชีวิตที่ผ่านมากับตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ศาสนจักรคาทอลิกกับการรับมือโรคระบาดตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
พระสันตะปาปาฟรังซิสอวยพรชาวโรมและชาวโลกในวิกฤตโคโรนาไวรัส หน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรที่กรุงโรม
โดยไม่มีคริสตชนเข้าร่วมพิธี เนื่องจากนโยบายป้องกันการระบาดของไวรัส
ภาพ : www.vermontcatholic.org/vatican

ในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ หลายต่อหลายคนก็เริ่มแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตใจ ซึ่งหากไม่ใช่ไสยศาสตร์ก็ไม่พ้นศาสนา ซึ่งกรณีแบบนี้ ถ้าหากไร้เหตุผลเกินไป ก็จะกลายเป็นความงมงายไปได้ง่ายๆ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วในเกาหลีใต้ ที่ผู้นำลัทธิแปลกๆ ลัทธิหนึ่ง อ้างว่าเป็นสาขานิกายของคริสต์ศาสนา เรียกร้องให้ผู้ศรัทธาจัดชุมนุมในที่สาธารณะ จน COVID-19 ระบาดไปทั่วประเทศ และในที่สุดผู้นำก็ต้องออกมาคุกเข่าขอโทษต่อสาธารณชน 

มีตัวอย่างของการติดเชื้อเพราะการชุมนุมทางศาสนามากมายหลายศาสนา อย่างที่เราทราบกันดี ขณะที่สมณรัฐอย่างวาติกัน ต้องออกมางดการสวดภาวนาในที่ศาสนสถานตามนโยบายของรัฐบาล และสมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำอธิษฐานผ่านวิดีโอคอลแทน ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีในช่วงเวลานี้

การแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตใจนั้นผิดหรือไม่

ในโลกสมัยใหม่ เราอาจคิดกันว่าถ้าป่วยก็ไปหาหมอ ถ้าไม่สบายใจค่อยไปหาพระ จัดแบ่งหน้าที่กันให้ถูกที่ถูกทาง ดังนั้น การสวดมนต์คงไม่ช่วยอะไรหรอกมั้ง แต่ในทางคริสต์ศาสนา การวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ใช่เรื่องผิด และศาสนาคริสต์กระแสหลักก็มีแนวคิดว่า ทุกสิ่งที่พระองค์ประทานให้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ก็นับว่าเป็นพระพรทั้งนั้น ซึ่งรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล ยารักษาโรคต่างๆ ดังนั้น การรักษาพยาบาลด้วยกระบวนการทางการแพทย์ จึงถือเป็นพระพรการรักษาของพระเป็นเจ้าแบบหนึ่ง (และถ้าหายแล้วก็อย่าลืมขอบคุณคุณหมอที่รักษาเราด้วย) 

แต่เราก็เห็นว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มลัทธิแปลกๆ ในต่างประเทศที่ปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับชาวสาธารณสุขมากพอสมควร เช่น ปฏิเสธการถ่ายเลือด ปฏิเสธวัคซีน ไม่ยอมเข้ารับการรักษาเอาแต่สวดภาวนาอยู่ในบ้าน ซึ่งถือว่าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงภยันตรายแท้ๆ เมื่อผู้ป่วยตายลงก็ไปโทษพระเจ้าแทน ซึ่งไม่ค่อยจะแฟร์เท่าไร

ศาสนากับโรคระบาดในยุคโบราณ

เราอาจจะเคยสงสัยว่า ในอดีตที่ระบบสาธารณสุขยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ คนโบราณที่หมดหนทางกับการรักษาด้วยตำรายาพื้นบ้านแล้ว เขาเสาะแสวงหาที่พึ่งพิงทางจิตใจกันอย่างไร

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปในยุคกลาง หลายครั้งเกิดโรคระบาดที่ควบคุมไม่ได้ ผู้คนล้มตายนับล้านๆ เพราะสุขอนามัยไม่เจริญเพียงพอ (ในยุคที่ยุโรปไม่มีส้วมและใช้ถนนหนทางแทนส้วม) โรคสำคัญที่สุดในยุคนั้นคงไม่พ้น กาฬโรค ไข้ทรพิษ ฝีดาษ ไข้หวัดต่างๆ อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นแล้วตายอย่างรวดเร็วและตายจำนวนมากเป็นใบไม้ร่วง 

การเกิดของชุมชนเมืองที่ค่อนข้างแออัดและสกปรกในศตวรรษที่ 13 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้โรคระบาดทำงานได้อย่างเต็มที่ จนชาวบ้านแทบจะหมดอาลัยตายอยากในชีวิต การที่กล่าวว่ายุคกลางเป็นยุคของศรัทธา ส่วนหนึ่งก็มาจากโรคระบาดที่ทำให้ชีวิตกับความตายอยู่กันใกล้แค่เอื้อมนี่แหละ คนก็ไม่กลัวตายกันแล้ว เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่การไม่เตรียมตัวเพื่อพบกับความตายต่างหาก ที่จะนำไปสู่หายนะในโลกหน้า

สมัยโบราณเชื่อกันว่า โรคระบาดเกิดจากพระพิโรธของพระเจ้าต่อบาปของมนุษย์ (ปัจจุบันไม่ได้เชื่อแบบนี้แล้ว) ดังนั้นบรรดาชาวบ้านจึงต้องหันไปพึ่งพาวิงวอนขอความเมตตาปรานีจากพระเป็นเจ้า ผ่านทางมิสซาบนบาน (Votive Mass) ซึ่งเป็นพิธีมิสซาที่ประกอบขึ้นเพื่อวอนขอต่อพระเจ้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ คำภาวนาและขบวนแห่ บรรดานักบุญต่างๆ สถาปนาขึ้นเป็นผู้ช่วยเหลือมนุษย์ที่ยังมีชีวิต และเชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าทุกข์โศกได้ ดังนั้นแม้ว่าจะมีนักบุญจำนวนมากที่เป็นผู้อุปถัมภ์ของโรคภัยไข้เจ็บชนิดเฉพาะอยู่แล้ว เช่น โรคตาของนักบุญลูเซีย มะเร็งเต้านมของนักบุญอากาธา นักบุญฮิวจ์แห่งคลูนี อาจช่วยเหลือด้านไข้หวัด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงเป็นวงกว้าง ก็มีองค์อุปถัมภ์เฉพาะทางเช่นกัน 

นักบุญองค์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและค่อนข้างโด่งดัง ได้แก่ นักบุญเซบาสเตียน (St. Sebastian) แม้ว่าท่านจะไม่ได้ตายด้วยโรคระบาด แต่การถูกธนูของทหารโรมันยิงจนร่างพรุน เพราะไม่ยอมละทิ้งความเชื่อในศาสนาคริสต์ ก็ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่า ลูกศรนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนโรคระบาดที่ท่านยอมรับไว้แทนเหล่าคริสตชน ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ก็พากันนำรูปของท่านออกแห่ ด้วยเชื่อว่าจะป้องกันโรคร้ายได้ 

ในทวีปเอเชียของเราก็มีบางประเทศที่รับเอาความศรัทธาเกี่ยวกับนักบุญเซบาสเตียนมาใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น ในแคว้นเกราละทางอินเดียใต้ มีขบวนแห่ท่านอย่างมโหฬาร จบด้วยการถวายลูกศรทองคำอันเล็กๆ แด่ท่าน (ไม่ทราบว่าท่านจะชอบใจหรือเปล่า) และในบางความเชื่อท้องถิ่นของอินเดีย นับถือท่านยิ่งกว่าพระเยซูหรือแม่พระเสียอีก และบางทีก็เชื่ออย่างงมงายเสียด้วยว่าใครที่ทำให้ท่านไม่พอใจจะโดนสาป 

ศาสนจักรคาทอลิก กับ การรับมือโรคระบาด ตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน

นักบุญที่สำคัญอีกองค์หนึ่งคือ เซนต์ร็อค (St. Roch) ท่านเกิดในศตวรรษที่ 14 เป็นผู้มีจิตใจเมตตา คอยช่วยเหลือรักษาผู้ที่ติดโรค และทำการอัศจรรย์รักษาโรคของผู้ป่วยได้ แต่ตัวท่านเองกลับติดโรคระบาดที่ท่อนขา (ปัจจุบันเชื่อว่าท่านอาจถูกปรสิตเช่นพยาธิรบกวน) จึงต้องอาศัยอยู่ในป่าและมีสุนัขมาคอยเลียแผลให้ ต่อมาท่านถูกเข้าใจผิดจากญาติมิตรว่าเป็นสายลับ จึงถูกจับเข้าคุกและตายในนั้น ด้วยความที่ท่านเป็นโรคโดยตรง จึงมีการแสดงศรัทธาต่อท่านเป็นพิเศษ รวมไปถึงชุมชนคาทอลิกในไทยด้วย ซึ่งเราก็มีโบสถ์เซนต์ร็อคอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

นักบุญเซนต์ร็อค ศิลปะฟิลิปปินส์ สัญลักษณ์ของท่านคือมีสุนัขมาเลียแผลที่ติดเชื้อจากโรคระบาด
ภาพ : ปติสร เพ็ญสุต
ศาสนจักรคาทอลิก กับ การรับมือโรคระบาด ตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
รูปนักบุญเซบาสเตียนเคียงคู่กับนักบุญเซนต์ร็อคในฐานะองค์อุปถัมภ์ของผู้ติดเชื้อโรคระบาด 
ภาพ : wikimedia.org/saint-sebastian-and-saint-roch

โรคระบาดในสังคมคาทอลิกสยาม

เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาในไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้ว่าเหล่ามิชชันนารีจะมีเทคโนโลยีทางการรักษาพยาบาลติดตัวมาด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะระงับโรคระบาดได้ชะงักงันทันที เมื่อเกิดโรคระบาด แพทย์สยามอาจจะโทษว่าเป็นเรื่องของลมเพลมพัด เช่น อหิวาตกโรคในสมัยโบราณก็เป็นโรคที่มาจากลมเปลี่ยนทิศ (อหิ แปลว่า งู วาตะ แปลว่า ลม) ซึ่งแท้จริงแล้ว เชื้อโรคอหิวาต์มากับน้ำที่สกปรกต่างหาก 

สมมติฐานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเช่นนี้ จึงทำให้โรคระบาดแพร่ไปรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อทุกเรือนมีความตายมาเยือน และเหล่ามดหมอควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ที่พึ่งทางใจก็เกิดจำเป็นขึ้นมา ชาวพุทธในสยามมีพิธีที่เรียกว่าการสวดพระปริตร โดยเฉพาะ ‘อาฏานาติยปริตร’ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ประกอบในราชสำนักช่วงโรคอหิวาตกโรคระบาด ในสมัยรัชกาลที่ 2 หลังพระสงฆ์เจริญพระปริตรแล้ว ก็มีการยิงปืนใหญ่ที่เรียกกว่า ‘ปืนอาฏานา’ ขับไล่วิญญาณชั่วร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาดด้วย 

และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ราชสำนักสยามก็จะกำหนดให้เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกแห่ เช่น พระพุทธรูปสำคัญ หรือพระบรมสารีริกธาตุ การแห่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และดูเหมือนว่าจะเป็นหน้าที่ของไพร่บ้านพลเมืองที่ต้องช่วยกันเข้าร่วมขบวนแห่ด้วย

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานว่าเกิดโรคระบาดขึ้นในกรุงศรีอยุธยา บรรดาบาทหลวงก็จัดขบวนแห่รอบหมู่บ้านคาทอลิกในอยุธยา เพื่อวิงวอนต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้บรรเทาความเจ็บไข้ มีหลักฐานว่าบรรดาบาทหลวงเข้าไปถวายคำแนะนำบางประการให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ เพื่อให้พระองค์ทรงประกาศให้ประชาชนปฏิบัติในช่วงโรคระบาดด้วย เข้าใจว่าอาจจะเป็นวิธีการป้องกันภัยจากเชื้อโรคด้วยวิธีการแพทย์แบบยุโรปในสมัยนั้น

และเมื่อ 200 ปีก่อนพอดิบพอดี ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดอหิวาตกโรคขึ้นอย่างหนัก ในกรุงเทพฯ ผู้คนล้มตายมากมาย เรียกได้ว่ามีคนตายแทบทุกบ้าน ในราชสำนักก็มีการสวดอาฏานาติยปริตรเช่นกัน (ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลนักตามที่รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายไว้ว่า โรคระบาดครั้งนั้นร้ายแรงจนผู้ไปร่วมพิธี กลับมาถึงบ้านก็ล้มตายกันทีเดียว) ซึ่งพิธีกรรมเช่นนี้เป็นพิธีกรรมในพุทธศาสนา ที่ชาวคริสตังเข้าร่วมมิได้ ดังนั้นพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ก็ได้ออกกฎเกณฑ์ห้ามชาวคาทอลิกไว้ว่า 

“เมื่อยิ่นติว (Gentile แปลว่าคนต่างศาสนา) ทำสายสิญจน์ล้อมเมืองแลยิงอาตะนา (คือการยิงปืนขณะที่พระภิกษุสวดอาฏานาฏิยปริตร) คือไล่ผีห่าผีร้ายนั้น พระสมัย (หมายถึงพระศาสนจักรคาทอลิก) ห้ามมิให้คริสตังยิงปืนในกำแพงก็ดี นอกกำแพงก็ดี แม้นจะยิงเล่นเพลานั้นก็ห้ามเหมือนกัน” 

ถ้าใครทำก็ต้องโทษอินแตร์ดิกโต (Interdict) คือห้ามรับศีลศักดิ์สิทธิ์ทุกประเภท แม้ตายก็ไม่ให้ฝังในป่าช้า เป็นโทษที่รุนแรงทีเดียวในยุคที่ศาสนายังมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนค่อนข้างมาก อีกทั้งในสมัยนั้น แนวคิดการมีส่วนร่วมเชิงศาสนสัมพันธ์ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นนัก และการเป็นคริสตังก็ต้องประพฤติตัวอย่างเคร่งครัด ไม่อาจเข้าร่วมพิธีกรรมต่างศาสนาได้ ส่วนการป้องกันโรคระบาดด้วยที่พึ่งทางจิตใจ ในศาสนจักรคาทอลิกก็มีแนวทางประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว 

คดีเป็ดไก่ : คาทอลิกไทยกับโรคระบาด

ทีนี้ก็มาถึงข้อพิพาทที่เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันทั้งเอเชียทีเดียว เพราะเป็นกรณีแปลกๆ ที่เกิดขึ้นในบางกอก เกี่ยวพันกับราชสำนักและโรคระบาด และพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยการกำจัดโรคระบาด โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2392 เกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นในบางกอกอีก มีบันทึกไว้ว่า

“โรคระบาดเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่มีคนเสียชีวิตแล้วในแต่ละวันนับร้อยคน ในไม่ช้าคงมีคนตายถึงพันคนต่อวัน ยังไม่ถึง 15 วัน โรคร้ายนี้ได้คุกคามผู้คนมากกว่า 5,000 คนแล้วทั่วกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง จำนวนนี้เป็นหนึ่งในสิบของประชากร เป็นการยากที่จะพรรณนาถึงสภาพอันน่าสังเวชนี้ ทั้งถนนหนทางและแม่น้ำลำคลอง ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นที่น่าเจริญตาเจริญใจ ได้แปรสภาพไป มีแต่ความเงียบที่น่าสลดหดหู่อยู่ทั่วไป ทุกคนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านของตนเพื่อรอคอยความตาย ไม่มีฟืนเพียงพอที่จะเผาศพคนตาย ส่วนศพที่ไม่ได้ฝังจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ข้างวัด หรือนำไปโยนทิ้งในแม่น้ำ สิ่งนี้เป็นที่พบเห็นอยู่ทั่วไป”

(อ่านรายละเอียดต่อได้ใน พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ : “มิตรที่ดี สนิทสนม และจริงใจ” ในรัชกาลที่ 4 : นักพิมพ์และนักเขียน โดย สมศรี บุญอรุณรักษา)

ในเหตุการณ์ครั้งนี้มีบรรดาคริสตชนไทยเสียชีวิตกว่า 300 คนและมิชชันนารีบางคนก็ติดเชื้อด้วย แต่อาจจะไม่ร้ายแรงจึงไม่มีการสูญเสีย

ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 3 โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลทั้งพระนคร ทั้งทรงพระดำรัสขอสัตว์ต่างๆ จากบรรดาขุนนางคาทอลิก โดยมิได้ทรงแจ้งเหตุผลที่แท้จริง ในทัศนะของชาวต่างชาติ พวกเขาได้ข่าวมาว่า โหรหลวงกราบทูลต่อพระเจ้าอยู่หัวว่า บรรดาชาวต่างชาติกระทำบาปฆ่าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหารทุกวัน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ และเป็นที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ในรัชสมัยของพระองค์ ไม่ทรงโปรดการปาณาติบาตอันเป็นบาปกรรมมาก โดยเฉพาะการกินเนื้อสัตว์ใหญ่ ดังนั้น จึงต้องทำบุญปล่อยสัตว์ต่างๆ เพื่อแก้เคราะห์กรรม ทั้งพระองค์เองก็ทรงประกาศว่าจะทรงปฏิบัติธรรม ถือศีลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทรงประกาศมิให้ฆ่าสัตว์และห้ามขายเนื้อสัตว์ในตลาดด้วย และหากขัดพระบรมราชโองการ ก็ถือว่าปฏิเสธการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะบำบัดโรคร้ายในพระนครหลวง

เมื่อบรรดาบาทหลวงในบางกอกทราบว่า ทางราชสำนักขอสัตว์ต่างๆ ไป ก็เข้าใจว่าจะนำสัตว์เหล่านั้นไปทำพิธีกรรมเพื่อสะเดาะเคราะห์ ขับไล่อุบาทว์ให้พ้นจากบ้านเมือง ซึ่งเป็นการกระทำพิธีนอกศาสนา จึงประกาศห้ามเสีย แต่รัชกาลที่ 3 ก็ทรงยืนยันว่าไม่ได้นำสัตว์ไปประกอบพิธีกรรม หรือนำไปปล่อยในวัดพุทธแต่อย่างใด จะทรงเลี้ยงเพื่อความสำราญเท่านั้น กระนั้นบรรดาบาทหลวงชาวต่างชาติก็ยังห้ามขุนนางคาทอลิกไม่ให้ถวาย เนื่องจากเชื่อว่าพระองค์จะนำสัตว์เหล่านั้นไปเลี้ยง โดยมีจุดประสงค์เพื่อต่อพระชนมายุของพระองค์เอง ซึ่งก็เป็นความเชื่อนอกศาสนาที่บรรดาคาทอลิกไม่ควรสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเช่นกัน

เมื่อบรรดาบาทหลวงห้ามปรามเหล่าขุนนางคาทอลิกมิให้ถวายสัตว์ต่างๆ แด่พระเจ้าอยู่หัวเสียแล้ว พระองค์ทรงทราบความก็กริ้วมาก ทรงตรัสถามบรรดาขุนนางที่มาเข้าเฝ้าว่า “การปฏิเสธเช่นนี้ แสดงว่าบรรดาบาทหลวงและหัวหน้าคริสตัง แสดงตัวเป็นกบฏใช่หรือไม่” พวกขุนนางก็ยืนยันว่าเป็นกบฏ จึงโปรดให้ประกาศปิดโบสถ์เสีย และขับไล่บรรดาบาทหลวงให้ออกไปพ้นพระราชอาณาเขต และจะทำลายโรงเรียนต่างๆ เสีย หากบรรดาคริสตังมิได้นำสัตว์มาถวายภายในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2392

 บรรดาขุนนางคาทอลิกพยายามโน้มน้าวให้ท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์เปลี่ยนใจ ถวายสัตว์ในฐานะเครื่องบรรณาการให้แด่พระเจ้าอยู่หัว แต่ท่านก็ยังไม่เห็นด้วย พวกขุนนางจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าอิศเรศรังสรรค์ (ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระองค์ทรงมีเมตตาสงสารพวกคริสตัง ทรงดำริว่าการดื้อดึงเช่นนี้ อาจทำให้งานแพร่ธรรมในสยามที่ฝ่าฟันมานานปีต้องล่มสลายลง จึงโปรดฯ ให้เชิญท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์มาเข้าเฝ้า และเกลี้ยกล่อมให้ท่านเข้าใจนโยบายทางด้านการปกครองของสยามว่า พระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ได้เป็นการคุกคามกลุ่มคริสตชน ทั้งไม่ได้เป็นเรื่องฝ่ายศาสนาหรือบังคับให้ชาวคริสต์ปฏิบัติกิจกรรมนอกศาสนา พระองค์ต้องการของถวายบรรณาการ เพราะต้องการเห็นความจงรักภักดีของพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น จึงขอให้ท่านสังฆราชเห็นแก่บรรดาคริสตังสยาม และงานที่บรรดามิสชันนารีกระทำมาเนิ่นนาน

สังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นบาทหลวงที่อาศัยในกรุงเทพฯ มานาน จึงเข้าใจขนบธรรมเนียมสยามได้ไม่ยากนัก ในที่สุดท่านก็เปลี่ยนใจ และเกรงว่าการถือเคร่งครัดเกินไปของบรรดาบาทหลวงต่างชาติบางท่าน อาจจะนำความพินาศย่อยยับมาสู่บรรดาคาทอลิกสยาม ท่านจึงจัดแพะ แกะ นกยูง เป็ด ไก่ ให้ขุนนางคาทอลิกนำไปถวายในพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงคลายพระพิโรธต่อชุมชนคาทอลิก แต่กระนั้นก็โปรดให้ขับบาทหลวงต่างชาติที่ปฏิเสธพระดำรัสของพระองค์ออกไป 8 องค์ จนเหลือแต่ท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์เพียงผู้เดียว ซึ่งก็สร้างภาระใหญ่หลวงให้ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านต้องเดินทางเยี่ยมเยียนโบสถ์ต่างๆ ในท้องถิ่นห่างไกลด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ช่วยเหมือนเดิม 

กระนั้นก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ในอีก 2 ปีถัดมา ก็ทรงอนุญาตให้บรรดาบาทหลวงเหล่านั้นกลับมาทำงานในสยามได้ดังเดิม

ศาสนจักรคาทอลิก กับ การรับมือโรคระบาด ตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
ท่านสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ผู้ยุติคดีเป็ดไก่ในสมัยรัชกาลที่ 3
ภาพ : หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ศาสนจักรในยุคปัจจุบันยังไม่ทิ้งประเพณี

ในปัจจุบัน พระศาสนจักรเลิกคิดแบบผู้คนในยุคกลางไปนานแล้วว่า โรคระบาดเป็นผลมาจากบาปของมนุษย์ที่เร่งพระพิโรธของพระเจ้า ทัศนะว่าจะมี ‘จตุอาชา’ วิ่งมาจากสุดขอบโลก เพื่อลงโทษมนุษย์ในวันสิ้นพิภพดังที่ปรากฏพระคัมภีร์วิวรณ์ ออกจะดูผิดที่ผิดทางและเด๋อด๋าถ้าใครยกมาพูดกันตอนนี้ แต่ประเพณีปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งดีงามและช่วยพยุงจิตใจของคนที่กำลังว้าวุ่นนั้น ไม่ควรจะทิ้งขว้างเสีย แม้ผู้คนอาจจะมองว่าการทำพิธีกรรมหรือวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจจะไม่ได้ช่วยให้โรคระบาดหายไป แต่การมีที่พึ่งทางใจก็ช่วยให้อุ่นใจมากขึ้น บรรดานักบวชศาสนบริการจึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะช่วยให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพระเป็นเจ้ายังประทับอยู่กับเขา และยังเป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจมโนธรรมของตัวเองระหว่างที่พักอยู่บ้านไปด้วย

 พระศาสนจักรคาทอลิกและบางนิกายยังยึดถือธรรมเนียมดั้งเดิมในการภาวนาเพื่อวิกฤตโรคระบาดไว้อย่างเหนียวแน่น ในสันตะสำนัก สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงประกอบพิธีมิสซาและอวยพร ‘โรมและโลก’ แบบบออนไลน์ ขณะเดียวกันก็เชิญพระรูปต่างๆ ที่ชาวอิตาลีในสมัยกลางเคยนำออกแห่ในยามเกิดโรคระบาด ออกมาอวยพรผู้คนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกางเขนแห่งการอัศจรรย์ ที่เคยช่วยระงับโรคระบาดในศตวรรษที่ 16 หรือรูปแม่พระแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์สำคัญของเมือง รวมทั้งผ้าห่อพระศพแห่งตุรินอันโด่งดังด้วย 

บรรดาบาทหลวงต่างก็อัญเชิญพระธาตุของนักบุญต่างๆ ออกมาอวยพรชาวเมือง โดยเฉพาะพระธาตุของนักบุญสำคัญๆ ประจำเมือง ซึ่งไม่ค่อยได้เชิญออกมา กลายเป็นสิ่งค้ำชูจิตใจอีกครั้ง 

โรคระบาดอาจจะอยู่กับเราอีกนาน แต่ถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการป้องกันทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ เราจะพบว่าพระเป็นเจ้าทรงประทับกับเรามานานกว่านั้นเสียอีก 

ศาสนจักรคาทอลิก กับ การรับมือโรคระบาด ตั้งแต่ 200 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน
กางเขนแห่งอัศจรรย์ จากโบสถ์นักบุญ St. Marcellus ในโรม โบสถ์แห่งนี้เคยถูกไฟไหม้จนเหลือแต่เถ้าถ่านใน ค.ศ. 1519 แต่กางเขนนี้ที่แขวนไว้เหนือพระแท่นกลับยังคงเป็นปกติ นอกจากนี้ในศตวรรษที่ 16 เคยเกิดโรคระบาดใหญ่ในโรม ชาวบ้านเชิญกางเขนออกแห่จนถึงมหาวิหารนักบุญเปโตร ถูกทางการห้ามเพราะเกรงจะติดเชื้อ แต่ชาวบ้านก็ยังคงแห่กันต่อไป และเมื่อนำกางเขนกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิม โรคระบาดก็ยุติลง ปัจจุบัน พระสันตะปาปาฟรังซิสโปรดให้นำกางเขนนี้ไปประดิษฐานไว้ในมหาวิหารนักบุญเปโตรใจกลางกรุงโรม
ภาพ : aleteia.org/2020/03/26/miraculous-crucifix

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช